รายชื่อตัวละครในเพชรพระอุมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พ.ต.ไชยยันต์ อนันตรัย)

ตัวละครในเพชรพระอุมา เป็นรายละเอียดของตัวละครจากเพชรพระอุมา แยกตามตัวละครหลักและตัวละครรอง ตามแต่ปรากฏในแต่ละภาค ได้แก่ภาคแรกไพรมหากาฬ - แงซายจอมจักรา ในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายและภาคสมบูรณ์จอมพราน - มงกุฎไพร ในการออกติดตามหาเครื่องบิน บี 52 และระเบิดนิวเคลียร์

ตัวละครหลักภาคแรก[แก้]

พรานนำทาง[แก้]

รพินทร์ ไพรวัลย์
พรานใหญ่ผู้นำคณะเดินทางของเชษฐา วราฤทธิ์ ออกติดตามค้นหาคุณชายชดและหนานอิน อายุประมาณ 33 ปี รูปร่างเล็กและผอมเกร็ง สูงราว 5 ฟุต 7 นิ้ว ผิวคล้ำและใบหน้าไม่เคยปรากฏรอยยิ้ม มีฝีมือในการยิงปืนแม่นยำ อดีตนักเรียนทหารจากสามประเทศ และนายตำรวจยศร้อยตำรวจเอก มีโรคไข้มาลาเรียเป็นโรคประจำตัว รพินทร์เป็นนายพรานที่ได้รับการยกย่องจากชาวบ้านในแถบหมู่บ้านหนองน้ำแห้ง ในด้านของการเป็นผู้นำหมู่บ้านสู่ความเจริญ และเจริญรอยในฐานะพรานล่าสัตว์ตามผู้เป็นบิดา ที่ฝึกสอนและถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับการล่าสัตว์ให้ รวมทั้งวิชาคาถาอาคมต่าง ๆ[1] และเป็นคู่อริขมิ้นกับปูนคู่กับหม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ หญิงสาวผู้เป็นนายจ้างและคนรัก
พรานบุญคำ
พรานมือขวาของรพินทร์ ไพรวัลย์ กะเหรี่ยงผู้มากด้วยเวทมนตร์คาถาอาคม อายุประมาณ 55 ปี รูปร่างเล็ก ผอมสูงและเกร็ง มีแผลเป็นบริเวณใบหน้า ผมหยิกขอดติดหนังศีรษะ[2] นิสัยทะลึ่งตึงตังและหยาบโลน สัปดน มีฉายาว่า "ไอ้คำพรานเสือ" เนื่องจากยิงเสือโคร่งได้ถึง 22 ตัว ขึ้นชื่อว่าเป็นพรานอาวุโสที่สุดในบรรดาพรานคู่ใจทั้ง 4 ของรพินทร์ ไพรวัลย์ อดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโปงหอม ติดสอยห้อยตามรพินทร์เนื่องจากเคยได้รับการช่วยชีวิตจากการถูกเสือตะปบ บุญคำเป็นคู่อริกับส่างปา พรานต่องสูคนรับใช้และผู้ติดตามของมาเรีย ฮอฟมัน ที่ภายหลังมาร่วมคณะเดินทางด้วย
พรานจัน
พรานมือซ้ายของรพินทร์ ไพรวัลย์ ผู้มีประสาทสัมผัสและความชำนาญในการได้ยินและดมกลิ่นอย่างดีเยี่ยม รูปร่างเล็ก ลักษณะท่าทางและผิวพรรณบ่งบองถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความลำบากตรากตรำ เดินขากระเผลกเนื่องจากโดนงูกะปะกัด จันมีความสามารถพิเศษในการเลื้อยไปบนบกได้เช่นเดียวกับงูเนื่องจากเป็นคนตัวเล็กและน้ำหนักของร่างกายเบา อดีตได้รพินทร์ช่วยชีวิตเอาไว้หลังจากไปเจ้าชู้กับหญิงสาวชาวกะเหรี่ยง เป็นเหตุให้ถูกชายฉกรรจ์ภายในหมู่บ้านกะเหรี่ยงรุมทำร้าย[3] จึงเห็นบุญคุณและติดสอยห้อยตามผู้ที่มีพระคุณตลอดชีวิต
พรานเส่ย
พรานกะเหรี่ยงหนุ่ม 1 ใน 4 พรานคู่ใจของรพินทร์ ไพรวัลย์ อายุประมาณ 20 ปี[4] รูปร่างแข็งแรง ทรหดอดทน เส่ยเป็นลูกชายของพรานเก่าของคุณอำพล ผู้อำนวยการบริษัทไทยไวล์ดไลฟ์ (ผู้แนะนำให้รพินทร์รับจ้างเป็นพรานนำทางให้แก่คณะของเชษฐา) ที่ถูกหมีควายทำร้ายจนพิการ เส่ยเป็นพรานหนุ่มที่มีฝีมือในการยิงปืนจัดว่าพอใช้ แต่ก็ไม่ดีมากนักในยามเกิดเหตุการณ์คับขัน มีหญิงสาวชาวกะเหรี่ยงชื่อยะขิ่น ลูกสาวหัวหน้าหมู่บ้านพุเตยเป็นคนรัก แต่เส่ยก็ไม่สมหวังในความรัก เมื่อยะขิ่นและทุกคนภายในหมู่บ้านพุเตยตายทั้งหมู่บ้านด้วยโรคอหิวาห์[5]
พรานเกิด
พรานกะเหรี่ยงหนุ่ม เพื่อนคู่หูร่วมผจญภัยในการล่าสัตว์และติดตามรพินทร์ ไพรวัลย์ ของเส่ย 1 ใน 4 พรานคู่ใจของรพินทร์ที่มีอายุไล่เลี่ยกัน รูปร่างสูงชะลูด แลดูอ้อนแอ้นแบบผู้หญิงแต่แข็งแกร่งและทรหดอดทนแบบผู้ชาย[4] เกิดอาศัยอยู่กับบิดาตามลำพัง แต่ภายหลังบิดาประสบอุบัติเหตุถูกกระทิงเหยียบตาย ก่อนสิ้นใจได้ฝากฝังเกิดไว้กับรพินทร์ให้ช่วยดูแลต่อไป เกิดจึงมาอยู่กับรพินทร์ในฐานะเด็กภายใต้การปกครอง เป็นพรานหนุ่มที่มีฝีมือในการยิงปืนได้พอใช้ แต่ก็ไม่ค่อยดีนักเช่นเดียวกับเส่ย แต่สามารถควบคุมสติสัมปชัญญะได้ดีกว่าเส่ยในยามเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

คณะนายจ้าง[แก้]

พันโท หม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์
พี่ชายคนโตของราชสกุลวราฤทธิ์ อดีตทูตทหารบกประจำสหรัฐอเมริกา อายุประมาณ 35 ปี รูปร่างสูงใหญ่และน่าเกรงขราม ผิวขาว ไว้หนวดเหนือบริเวณริมฝีปาก ลักษณะและบุคลิกบ่งบอกถึงฐานะอันเป็นราชนิกูลผู้สูงศักดิ์ ใจดีและรักน้องพร้อมคอยปกป้องเสมอ คุณชายเชษฐาเป็นคนที่มีบุคลิกภายในตัวของตัวเองที่แลดูสง่างาม เยือกเย็นและมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนแม้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และมีลักษณะที่แลดูองอาจ เข็มแข้งบึกบึนสมกับการเป็นนายทหาร[6] ในอดีตเคยเป็นนักกีฬายิงธนู คุณชายเชษฐาเป็นหัวหน้าคณะในการออกติดตามหาพรานชดหรือคุณชายอนุชา น้องชายคนกลางของราชสกุลวราฤทธิ์ และเป็นเพียงคนเดียวที่รพินทร์ ไพรวัลย์ นายพรานผู้นำทางให้ความเคารพและยำเกรงโดยจริงใจ
แพทย์หญิง หม่อมราชวงศ์หญิงดาริน วราฤทธิ์
น้องสาวคนเล็กของราชสกุลวราฤทธิ์ ศัลย์แพทย์เกียรตินิยมและนักมานุษยวิทยา อายุประมาณ 27-28 ปี รูปร่างสูงโปร่งและเพรียว ผิวสีน้ำผึ้ง ใบหน้ารูปไข่ นัยน์ตาโตและคมกริบ จัดเป็นหญิงสาวที่มีความสวยงามทั้งรูปร่างและใบหน้า อารมณ์ร้อนฉุนเฉียวง่ายและเอาแต่ใจตัวเอง เป็นนักกีฬายิงปืนของสมาคมกีฬายิงปืนแห่งประเทศไทยที่มีฝีมือในการยิงปืนเป็นเยี่ยม [7]และนักกีฬาขี่ม้าผาดโผน คุณหญิงดารินเป็นคู่กัดกับรพินทร์ ไพรวัลย์ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน และภายหลังได้แปรเปลี่ยนเป็นความรัก เป็นนักเดินป่าที่มีความแข็งแรง อดทนไม่แพ้ชายชาตรี มีน้ำใจเอื้ออารีต่อทุกๆคน
หม่อมราชวงศ์อนุชา วราฤทธิ์ / พรานชด
พี่ชายคนรองของราชสกุลวราฤทธิ์ อายุประมาณ 33-34 ปี [8] รักอิสระ อารมณ์ร้อนและมักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคุณหญิงดาริน น้องสาวคนเล็กเสมอ ไม่มีหน้าที่การงานเป็นหลักเป็นฐาน ในอดีตคุณชายอนุชามีเหตุให้ทะเลาะกับบิดา เนื่องจากน้อยใจและรู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่ได้รับความยุติธรรมในการที่ต้องเสียหญิงคนรักให้แก่พี่ชายไป เป็นเหตุให้ละทิ้งฐานะอันเป็นราชนิกูล ชักชวนพรานเดินป่าคู่ใจชื่อ หนานอิน ท่องเที่ยวเร่ร่อนผจญภัยไปในป่ากว้าง และไปค้นหาขุมทรัพย์เพชรพระอุมาอันเป็นตำนานเลื่องลือ คุณชายอนุชาเป็นคนที่มีฝีมือในการล่าสัตว์และแกะรอยเป็นเยี่ยม มีปืน.450 ไนโตรเอ็กเปรส เป็นอาวุธคู่ใจ
พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย
เพื่อนชายคนสนิทของดาริน วราฤทธิ์ อายุประมาณ 33-34 ปี รูปร่างแข็งแรง กำยำล่ำสันตามแบบฉบับของนายทหาร อารมณ์ดี ร่าเริง เจ้าสำราญและเป็นนักเสี่ยงโชคชั้นเซียนและมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ แม้จะเผชิญชะตากรรมในหน้าสิ่วหน้าขวาน ไชยยันต์เป็นลูกชายของตระกูลเศรษฐีที่มีฐานะพอสมควร ไม่ร่ำรวยจนล้นฟ้า มีน้องสาวเพียงคนเดียว ภายหลังจากที่บิดามารดาตาย ผู้เป็นลุงรับเอาไชยยันต์มาอุปการะเลี้ยงดูเหมือนลูก สถานภาพโสด เคยเป็นนายทหารปืนใหญ่และผ่านหลักสูตรในการก่อการวินาศกรรม รวมทั้งมีความชำนาญในด้านการใช้วัตถุระเบิดเป็นอย่างดี[9]

คณะผู้ร่วมเดินทาง[แก้]

แงซาย
กะเหรี่ยงลึกลับ คนรับใช้ในคณะเดินทางและองครักษ์ส่วนตัวของดาริน วราฤทธิ์ อายุประมาณ 32 ปี (ตามคำให้สัมภาษณ์จากปากคุณ พนมเทียน แงซายอ่อนกว่าพรานใหญ่แค่ปีเดียว) รูปร่างสูงใหญ่แข็งแรง กำยำล่ำสัน ผิวสีทองแดง[10] อดีตนายทหารกองโจรกะเหรี่ยงยศร้อยโทและคู่ปรับตัวฉกาจของรพินทร์ ไพรวัลย์ แงซายเป็นกะเหรี่ยงที่มีลักษณะรูปร่างผิดแปลกไปจากกะเหรี่ยงหรือชาวเขาธรรมดา อาสาสมัครขอเป็นคนรับใช้ในการเดินทางออกติดตามค้นหาพรานชดและหนานอินโดยไม่ขอค่าตอบแทน มีหน้าที่คอยปกป้องพิทักษ์ดาริน เป็นคนร่าเริง อารมณ์ดี มีฝีมือในการต่อสู้และใช้อาวุธปืนอย่างยอดเยี่ยม แงซายร่วมเดินทางไปกับคณะของเชษฐาเพื่อให้ได้ไปถึงเนินพระจันทร์และมรกตนคร สถานที่ซึ่งเป็นการเปิดเผยฐานะที่แท้จริงที่ปกปิดมาตลอดการเดินทาง
มาเรีย ฮอฟมัน
หญิงสาวลูกครึ่งเยอรมัน-ฝรั่งเศส มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา[11] นักนิรุกติศาสตร์ อายุประมาณ 23 ปี รูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรง ร่าเริง เป็นภรรยาของสเตเกล ฮอฟมัน ที่ตายจากการถูกโจมตีของสางเขียวและถูกจับไปเป็นเชลย ภายหลังได้ร่วมเดินทางไปกับคณะของเชษฐาในการออกติดตามหาพรานชดและหนานอิน มีฝีมือในการยิงปืนดีเยี่ยม เป็นพรานล่าสัตว์มาแต่กำเนิดรวมทั้งได้รับการสั่งสอนมาจากผู้เป็นบิดา มาเรียเป็นหญิงสาวที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจชาย โดยเฉพาะกับไชยยันต์ อนันตรัย และภายหลังได้ตกลงใจใช้ชีวิตร่วมกันหลังจากเดินทางกลับจากเมืองมรกตนครของแงซาย
ส่างปา
พรานต่องสู พรานฝีมือดีและคนรับใช้ผู้ติดตามของมาเรีย ฮอฟมัน รูปร่างเล็ก ผอมเกร็ง[12] ทั้งชีวิตอยู่ได้ด้วยกัญชา เป็นหมอรักษาอาการบาดเจ็บจากการถูกสัตว์มีพิษกัด มีแท่งยาดูดพิษซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ส่างปาเป็นคนช่วยชีวิตของแงซายเอาไว้หลังจากที่ขุนพลวรมันต์นำร่างของแงซายมาคืนตามสัญญา หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในอาณาจักรนิทรานคร และถูกตัวหกขากัดจนเกือบตาย ส่างปาเป็นคู่อริกับบุญคำ สมุนมือขวาของรพินทร์ ที่ทะเลาะกันประจำเมื่อพบหน้าซึ่งกันและกัน ส่างปาได้รับตำแหน่งแพทย์หลวงประจำเมืองมรกตนครจากแงซาย และชักชวนให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันหลังจากที่ชิงเอาราชบัลลังก์กลับคืนมาจากสิงหราและรหัสยะได้สำเร็จ
คะหยิ่น
หัวหน้ากะเหรี่ยงหมู่บ้านหล่มช้าง อายุประมาณ 50 ปี รูปร่างสูงใหญ่กำยำ ลักษณะท่าทางเหี้ยมเกรียมและดุดันแต่กลัวผีมากกว่าสิ่งใด คะหยิ่นเป็นกะเหรี่ยงดงที่คณะเดินทางของเชษฐาและรพินทร์มาพบที่หล่มช้าง และได้ดารินช่วยรักษาลูกชายที่บาดเจ็บให้ มีความโอ้อวดในด้านฝีมือการยิงปืนของตนเอง ดารินจึงแกล้งด้วยการท้าแข่งขันยิงปืน จนสุดท้ายก็ยอมรับในฝีมือของดารินและขอติดตามร่วมคณะเดินทางไปด้วย คะหยิ่นมีความสามารถในด้านการเลื้อยได้เหมือนงูเช่นเดียวกับจัน มองเห็นได้อย่างดีในที่มืด[13]และพูดภาษาพม่าได้

ตัวละครรองภาคแรก[แก้]

ครูพราน[แก้]

หนานอิน
พรานนำทางคู่ใจพรานชด ประชากร หรือ ม.ร.ว.อนุชา วราฤทธิ์ น้องชายคนกลางของตระกูลวราฤทธิ์ที่ละทิ้งฐานะอันเป็นราชนิกูล บุกป่าฝ่าดงเพื่อค้นหาขุมทรัพย์เพชรพระอุมาอันเป็นตำนานเล่าขาน อายุประมาณ 50 ปี[14] รูปร่างผอมบาง มีบ้องกัญชาติดตัวในย่ามอยู่ตลอดเวลา มีวิชาคาถาอาคมเก่งกล้าพอตัว ในอดีตหนานอินเคยบวชเณรและร่ำเรียนจนเป็นพระ เก่งทั้งทางโลกและทางธรรม แต่สึกออกมาเป็นพรานล่าสัตว์ในอายุเกือบ 30 ปี สถานภาพโสด ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอน[15]เป็นคนช่วยชีวิตแงซายตอนเด็ก ๆ ให้รอดพ้นจากอันตรายในการตามล่าของสิงหรา
หนานไพร
ครูพรานของรพินทร์ ไพรวัลย์ อายุมากกว่าหนานอินประมาณ 4 - 5 ปี เป็นพรานลาวเซิงที่เก่งกาจในด้านวิชาพรานในการเข้าป่าล่าสัตว์ มีเวทมนตร์คาถาอาคมและไสยศาสตร์ ในอดีตเคยบวชเป็นเณรและพระธุดงค์ แต่บวชได้ไม่นานก็ต้องสึกจากเพศบรรพชิตมาเป็นพรานล่าสัตว์ดังเดิม ติดฝิ่นอย่างรุนแรง[16] หนานไพรเป็นคนเล่าตำนานขุมทรัพย์เพชรพระอุมาให้รพินทร์ฟังก่อนตายหลังจากได้รับบาดเจ็บจากกระทิงขวิดหนึ่งปี[17] เป็นคนสั่งสอนและถ่ายทอดวิชาคาถาอาคมต่าง ๆ ให้แก่รพินทร์ รวมทั้งประสบการณ์ในการเดินป่าและอาถรรพณ์ของป่าที่หนานไพรเคยประสบมา

อาณาจักรนิทรานคร[แก้]

มันตรัย
ราชปุโรหิตแห่งอาณาจักรนิทรานคร อายุประมาณ 50 ปี รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าตอบ ผิวแห้งติดกระดูก นัยน์ตาลึกใหญ่ ศีรษะโล้นเลี่ยน นุ่งห่มร่างกายด้วยผ้าที่ย้อมเปลือกไม้สีคล้ำ สวมลูกประคำห้อยคอ[18] มักใหญ่ใฝ่สูงในอำนาจวาสนา ต้องการครอบครองอาณาจักรนิทรานคร แอบหมายปองในตัวจิตรางคนางค์ มกุฎราชกุมารี พระธิดาในพระเจ้ามหิทธิเดชะ กษัตริย์ผู้ครอบครองอาณาจักรนิทรานคร รักษาพระเจ้ามหิทธเดชะด้วยการควักนัยน์ตาข้างหนึ่งของตนเองเพื่อปรุงยารักษา[19] แต่บังอาจกราบทูลขอจิตรงคนางค์เป็นการตอบแทน แต่ภายหลังที่จิตรางคนางค์สิ้นพระชนม์ด้วยยาพิษ กลับแปรเปลี่ยนมาหมายปองพันธุมวดี พระธิดาในกษัตริย์ชัยสุริยาแทน
พันธุมวดี
ธิดากษัตริย์ชัยสุริยา กษัตริย์ผู้ครอบอาณาจักรนิทรานครลูกพี่ลูกน้องของจิตรางคนางค์ มกุฎราชกุมารี ลักษณะรูปร่างงดงามทั้งหน้าตาและกิริยา ไร้ซึ่งฝีมือทางด้านวิทยายุทธ แต่มีความสามารถทางด้านนาฏศิลป์และร่ายรำ ต่อมาได้รับการสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารีแห่งอาณาจักรนิทรานครเช่นเดียวกับจิตรางคนางค์ ที่ภายหลังสิ้นพระชนม์ด้วยยาพิษ[20] พันธุมวดีมีวรมันต์เป็นขุนพลคู่พระทัย คอยปกป้องภยันอันตรายต่าง ๆ รวมทั้งมันตรัย ราชปุโรหิตที่บังอาจเอื้อมหมายปองในตัวของพระองค์ ภายหลังอาณาจักรนิทรานครล่มสลายถูกฝังอยู่ภายใต้ผืนแผ่นดิน พันธุมวดีถูกมันตรัยจองจำดวงวิญญาณไว้และนำร่างบรรจุลงในโลงแก้ว บังคับให้กลายร่างเป็นค้าวคาวยักษ์คอยออกสูบเลือดในตอนกลางคืน[21]
วรมันต์
ขุนพลคู่พระทัยพันธุมวดี นางพญาแห่งอาณาจักรนิทรานคร เป็นชายรูปร่างสูงใหญ่ มีฝีมือทางด้านวิทยายุทธ ถูกมันตรัยสาปให้วิญญาณอยู่ภายในร่างของก็องกอย อาศัยอยู่ภายในป่ารอบอาณาจักรนิทรานครที่ล่มสลาย ลักษณะรูปร่างเหมือนเด็ก ใบหน้ามีขนาดเล็กแต่เหี่ยวย่นเช่นคนสูงอายุ ผิวคล้ำ จมูกแบนแฟบมองเห็นรูกลวงกลางใบหน้า ฟันด้านล่างครอบฟันในแถวด้านบนในลักษณะใบหอกสามซี่เรียงกัน มีเขี้ยวสองคู่ที่ริมฝีปาก นัยน์ตากลมโต ผมยาวเป็นกระเซิง ช่วงขายาวเรียวแต่แขนสั้นและเต็มไปด้วยขนรุงรัง ท้องป่อง มีกลิ่นเหม็นสาบคล้ายกลิ่นศพ เมื่อได้รับบาดเจ็บไม่มีเลือดออกจากบาดแผล[22]มีรอยเท้ากว้างประมาณ 3 นิ้ว ลักษณะคล้ายกับรอยเท้าลิงเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการวิ่งเขย่ง[23]

หุบเขานิลกาญจน์[แก้]

วายา
เจ้าแห่งลิงผู้ปกครองฝูงลิงจำนวนมากภายในหุบเขานิลกาญจน์ อายุประมาณ 60 ปี รูปร่างสูงใหญ่ กำยำ ร่างกายปกคลุมด้วยเส้นขนสีดำปนน้ำตาล มีรูปร่างลักษณะคล้ายครึ่งคนครึ่งลิง ใบหน้าเรียวยาว หน้าผากสูง ริมฝีปากยื่นหนา กรอบตาลึก แผงอก หัวไหล่เต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ[24] วายาเป็นต้นตระกูลของเผ่าพันธุ์มนุษย์ชาติ นีแอนเดอร์ธอลส์ แมน เดิมมีมนุษย์อาศัยอยู่กับบิดามารดาภายในถ้ำเหนือยอดเขา แต่ถูกสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์เช่นไดโนเสาร์สามเขาบุกขึ้นไปทำร้าย บิดามารดาตายเหลือเพียงวายาเท่านั้นที่รอดชีวิต ลิงที่อาศัยในหุบเขานิลกาญจน์ สงสารวายาที่กำพร้าบิดามารดา จึงเก็บมาเลี้ยงและให้ดำรงตำแหน่งเจ้าแห่งลิง
ฤๅษีโกฑัญญะ
ฤๅษีชาวเนปาลผู้บำเพ็ญเพียรและตบะ จนถึงขั้นได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุพระอรหันต์ บำเพ๊ญเพียรภาวนาด้วยระยะเวลากว่า 90 ปี จนร่างกายเปลี่ยนจากเนื้อหนังของมนุษย์กลายเป็นหิน มีเศษใบไม้และหยากไย่รุงรังปกคลุมร่างกาย ฤๅษีโกฑัญญะบำเพ็ญเพียรตบะอยู่เหนือยอดเขาภายในหุบเขานิลกาญจน์ และเป็นจุดศูนย์รวมความเคารพและความศัทธราของวายาและฝูงลิงในหุบเขานิลกาญจน์ ล่วงรู้ด้วยญาณวิเศษถึงอดีตและจุดมุ่งหมายในการเดินทางของแงซาย รวมทั้งอดีตชาติของรพินทร์และดาริน แงซายเป็นผู้พบฤๅษีโกฑัญญะโดยบังเอิญ ในขณะสำรวจรอบ ๆ บริเวณถ้ำของวายา ก่อนพารพินทร์ เชษฐา ดารินและทุกคนในคณะไปนมัสการ[25]และฝากตัวเป็นลูกศิษย์

มรกตนคร[แก้]

เมยานี
บุตรสาวเพียงคนเดียวของผู้เฒ่าอรชุน อดีตแขนขวาของกษัตริย์วิษณุพรหมนาถ กษัตริย์แห่งมรกตนคร อายุประมาณ 21-22 ปี รูปร่างสูงใหญ่แข็งแรงเยี่ยงบรุษเพศ ใบหน้าคมเข้ม ผิวขาว นัยน์ตาคม ผมยาวดำเป็นมัน[26] เชี่ยวชาญเก่งกาจในทักษะด้านการต่อสู้บนหลังม้า และการใช้ศาสตราวุธทุกประเภท เช่น ดาบ ธนู ง้าว รวมถึงเล่ห์กลต่าง ๆ ในการรบ โดยได้รับการฝึกฝนจากอรชุนผู้เป็นบิดา เมยานีเป็นกำลังสำคัญในการรบแบบกองโจร ได้รับมอบหมายจากอรชุนให้เป็นผู้ไปรับตัวแงซายเมื่อเข้าเขตมรกตนคร ก่อนจะพามาหลบซ่อนตัว และร่วมมือกับแงซายและรพินทร์ ไพรวัลย์ พร้อมด้วยทุกคนในคณะเดินทาง กอบกู้ราชบัลลังก์คืนจากสิงหราชและรหัสยะ ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นราชินีแห่งมรกตนคร
อรชุน
อดีตนายทหารเอกเบื้องซ้ายคนสำคัญของกษัตริย์วิษณุพรหมนาถ กษัตริย์แห่งมรกตนคร เป็นชายสูงวัย ผมขาวเป็นดอกเลาทั่วทั้งศีรษะ นัยน์ตาเป็นประกายแวววาวแจ่มใส ปราดเปรียว แข็งแรง สง่างามตามแบบชายชาติทหาร ที่เต็มไปด้วยพละกำลัง อำนาจและความเฉียบขาด[27] อรชุนมีบุตรสาวคนเดียวคือเมยานี และมีความสามารถทางด้าน โหราศาสตร์ และดาราศาสตร์ ตามที่ได้ร่ำเรียนวิชาจากจากมหาปุโรหิตประจำราชวงศ์เทพแห่งอาณาจักรมรกตนคร จนเก่งกล้าสามารถอ่านฤกษ์ยามและดวงดาวบนท้องฟ้าได้ทุกดวง[28] สามารถล่วงรู้ถึงการมีชีวิตอยู่และกลับมายังมรกตนครของแงซาย จึงมอบหมายให้เมยานีผู้เป็นบุตรสาว ออกไปรับตัวแงซายก่อนที่กองทัพของรหัสยะจะไปถึง
รหัสยะ
พระอนุชาของกษัตริย์สิงหรา กษัตริย์แห่งมรกตนคร ที่แย่งชิงราชบัลลังก์จากกษัตริย์วิษณุพรหมนาถ เป็นชายฉกรรจ์ รูปร่างล่ำสัน แข็งแรง มีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่คล้ายกับรอยแผลที่เกิดจากดาบ พาดผ่านปลายดั้งจมูกลงมาถึงมุมขากรรไกรด้านขวาของใบหน้า นัยน์ตาลุกโพลงและแข็งกระด้าง ไว้หนวดเครา หน้าตาเหี้ยมโหดและดุร้าย[29] รหัสยะดำรงตำแหน่งอุปราชแห่งมรกตนคร เป็นผู้จับกุมตัวรพินทร์ ไพรวัลย์ เชษฐา วราฤทธิ์ ดาริน วราฤทธิ์และทุกคนในคณะเดินทางเป็นเชลย นำไปคุมขังไว้ภายในคุกใต้ดินรวมกับอนุชา วราฤทธิ์และหนานไพร ภายหลังแงซายท้าทายรหัสยะให้ต่อสู้ด้วยจนกระทั่งตายในสนามรบ
กุตะมะ
อดีตนายทหารเอกเบื้องขวาคนสำคัญของกษัตริย์วิษณุพรหมนาถ กษัตริย์แห่งมรกตนคร คู่กับอรชุน เป็นชายสูงวัย ผมขาวเป็นดอกเลาทั่วทั้งศีรษะ เป็นหม้ายเนื่องจากภรรยาตาย ไม่มีบุตรไว้สืบสกุล[30] กุตะมะเคยเป็นอดีตเพื่อนรักของอรชุน และรักเอ็นดูเมยานีราวกับบุตรสาว รวมถึงการถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ให้ ระหว่างเกิดการแย่งชิงราชบัลลังก์ของสิงหรา กุตะมะทรยศกษัตริย์วิษณุพรหมนาถและอรชุน โดยอ้างว่ามีผู้เอาดาบมาจ่อคอบิดามารดาของตนเพื่อบังคับให้ทรยศ และกลายมาเป็นนายทหารเอกคนสำคัญของกษัตริย์สิงหรา ภายหลังกุตะมะยอมทรยศสิงหรา ซ้อนแผนเปลี่ยนฝ่ายเพื่อช่วยเหลืออรชุนกอบกู้ราชบัลลังก์คืนแก่แงซาย และตายด้วยคมหอกขณะออกรบเคียงข้างจักราชในเวลาต่อมา
วาชิกา
แม่มดชราผู้เรืองเวทย์ เก่งกล้าทางด้านคาถาอาคม สามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าในอนาคตอย่างแม่นยำ แต่เดิมวาชิกาเป็นหญิงสาวพรหมจรรย์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์แห่งมรกตนครมาโดยตลอด จนถึงสมัยของกษัตริย์วิษณุพรหมนาถ วาชิกาไม่สามารถยับยั้งร่องรอยการเหี่ยวย่นและความชราของตนเองได้ จำเป็นจะต้องใช้เลือดของหญิงสาวพรหมจรรย์หล่อเลี้ยงร่างกายอาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้คงสภาพร่างกายไว้ แต่กษัตริย์วิษณุพรหมนาถไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่โหดร้าย จึงถูกสิงหรากำจัดและแย่งชิงราชบัลลังก์ภายใต้ความเห็นชอบและยุยงของวาชิกา ภายหลังแงซายแย่งชิงราชบัลลังก์กลับคืนมาได้ และได้เผาทำลายร่างชราของวาชิกาด้วยผ้าเปื้อนเลือดประจำเดือนของหญิงพรหมจรรย์คนหนึ่งในมรกตนครนั้นเอง โดยพรานบุญคำเป็นคนไปหามา[31]

ตัวละครหลักภาคสมบูรณ์[แก้]

คณะนายจ้าง[แก้]

พันตรีเชิดวุธ ไกรรณยุทธ
นายทหารหนุ่ม บุตรชายพลโทวิชัย ไกรรณยุทธ ตำแหน่งเจ้ากรมข่าวทหารบก ที่ปรึกษาของผู้บัญชาการทหารสูงสุด อายุ 36 ปี สถานภาพโสด[32] ภูมิลำเนาเดิมอยู่ปัตตานี แต่มาเติบโตที่กรุงเทพมหานคร ดำรงตำแหน่งนายทหารคนสนิทของบิดา เชิดวุธเป็นคนหนุ่มที่ใจถึง วู่วามอารมณ์ร้อน ฉลาดหลักแหลมและมีไหวพริบปฏิภาณดีเยี่ยม[33] เป็นคนไทยเพียงคนเดียวในคณะนายจ้าง ร่วมกับนายทหารจากอเมริกาออกติดตามค้นหาเครื่องบิน บี 52 และระเบิดนิวเคลียร์ มีรพินทร์ ไพรวัลย์เป็นพรานนำทาง รักพวกพ้อง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้ร่วมเดินทางด้วยกัน โดยเฉพาะกับคริสตินา กรูบิล ที่แอบหลงรัก
ด็อกเตอร์บิลล์ สแตนลีย์
หัวหน้าคณะเดินทางจากอเมริกา ที่ได้รับมอบหมายจากฐานทัพให้ออกติดตามค้นหาเครื่องบิน บี 52 และระเบิดนิวเคลียร์ ที่หายสาบสูญในดินแดนสนธยาที่ไม่ปรากฏบนแผนที่โลกในประเทศไทย อายุประมาณ 45 - 46 ปี รูปร่างสูงใหญ่ กำยำแข็งแรง นัยน์ตาสีฟ้า แววตาลึก ลักษณะเป็นนักคิดผู้มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในด้านอาวุธนิวเคลียร์[34] ทรหดอดทน เป็นสุภาพบุรุษทั้งกายและจิตใจ เป็นผู้ใหญ่ใจดี มีจิตวิทยาสูง[33] นิสัยใจเย็น สุขุมรอบคอบและมีเหตุผลในการตัดสินใจ รักเพื่อนพ้องและคอยเป็นห่วงเป็นใยทุกคนในคณะเดินทาง และเป็นผู้ห้ามการทะเลาะวิวาทระหว่างเชิดวุธและคีธในการเดินทางเสมอ
พันเอกลาร์รี่ คีธ
นายทหารเสนาธิการ หนึ่งในคณะนายจ้างออกติดตามค้นหาเครื่องบิน บี 52 และระเบิดนิวเคลียร์[35] อายุไม่เกิน 40 ปี เป็นหนุ่มฉกรรจ์ รูปร่างล่ำสัน แข็งแรง ตัดผมสั้นเกรียนแบบทหารจีไอ กล้ามเนื้อแขนแข็งแรงเป็นมัด ๆ กรอบตาลึก มีความชำนาญในด้านการบินและเจ้าหน้าที่ติดต่อสื่อสาร ใจร้อน วู่วาม ลักษณะภายนอกอวดดี บ้าดีเดือดและยโสโอหัง แต่แก่นลึกภายในเป็นคนไม่เอาไหน งุ่มง่าม เชื่องช้าและขี้กลัวจนเกินเหตุ เอาตัวรอดได้ยากในเวลาเกิดวิกฤตขึ้นกับคณะเดินทาง[36] คีธแต่งงานมีครอบครัว มีบุตร 3 คน และมักทะเลาะกับเชิดวุธตลอดการเดินทาง เนื่องจากแสดงความหึงหวงอิสซาเบล แพทย์สาวในคณะเดินทางที่เป็นหญิงคู่ขาของตน
คริสตินา กรูบิล
หญิงสาวลูกครึ่งตุรกีและเยอรมัน นักเคมีฟิสิกส์ หนึ่งในคณะนายจ้างออกติดตามค้นหาเครื่องบิน บี 52 และระเบิดนิวเคลียร์ อายุประมาณ 32 ปี[37] รูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาว ผมยาว นัยน์ตาสีฟ้า ชื่อเดิมคือไลลา อามิเตจ[38] นิสัยเงียบครึม พูดน้อยและยิ้มยาก ค่อนข้างไว้ตัว รักเพื่อนพ้อง รักหมู่คณะและมีความรับผิดชอบสูง ภายนอกฉลาดลึก เฉียบขาดและดุดันแต่ภายในอ่อนหวาน บางครั้งโหดร้ายแล้วแต่สถานการณ์ทางอารมณ์ที่แปรปรวน คริสตินาเคยเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเคยร่วมงานกับบิลล์เกี่ยวกับพลังงานด้านปรมาณู[39] เคยเป็นครูฝึกสอนสายลับหญิงเกี่ยวกับการสังหารมนุษย์ และอดีตนักเรียนแพทย์ที่เคยประสบเหตุ ทำคนไข้ตายตอนเรียนแพทย์ปีสุดท้าย นามจริงๆคือ ไลล่า อาร์มิเตจ
อิสซาเบล มูร์
แพทย์ด้านอายุรเวช โดยเฉพาะโรคในเขตเมืองร้อน และนักธรณีวิทยาความสามารถระดับอาจารย์ที่ทำการสอนในมหาวิทยาลัย[40] อายุประมาณ 30 ปี รูปร่างกะทัดรัด ผมสีแดงยาวเคลียไหล่ นัยน์ตาสีน้ำตาล[41] ผิวคล้ำเล็กน้อย นิสัยร่างเริง สนุกสนามและขี้เล่น ค่อนข้างเจ้าชู้ เปิดเผย ฉายาค้างคาวดูดสเปิร์ม และเข้ากับคนอื่นได้ง่าย ไม่จริงจังกับชีวิต อิสซาเบลเคยเป็นนักกีฬาว่ายน้ำโอลิมปิกเหรียญทองแดง[42] และนักกีฬาขี่ม้ากระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง[43] เป็นน้องเล็กสุดในคณะเดินทางทั้งหมด และเป็นต้นเหตุของการทะเลาะวิวาทระหว่างเชิดวุธและคีธเสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น สามารถเอาตัวรอดได้อย่างคล่องตัว ไม่เป็นภาระให้แก่คนอื่นในหมู่คณะ

ตัวละครอื่น ๆ[แก้]

เนวิน
นักแสวงหาโชคลาภชาวพม่าเมาะลำเลิง ผู้สืบทอดเชื้อสายจากมังมหานรธา นายทหารชั้นแม่ทัพในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ผู้เขียนลายแทงสมบัติขุมทรัพย์เพชรพระอุมาที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดจากมังมหานรธาสู่คนในตระกูล เนวินออกติดตามค้นหาขุมทรัพย์ตามลายแทง บุกป่าฝ่าดงผจญกัยตามลายแทงสมบัติจนกระทั่งเป็นไข้ป่าและตายในเวลาต่อมา ก่อนตายเนวินได้รับการช่วยเหลือจากรพินทร์ ไพรวัลย์ และมอบแผนที่ลายแทงสมบัติขุมทรัพย์เพชรพระอุมาให้เป็นการตอบแทน พร้อมกับเล่าถึงมหาสมบัติ ป่าดงดิบ สางเขียวและเทือกเขาพระศิวะตามที่ได้ไปพบเห็น และกำชับห้ามไม่ให้แพร่งพรายให้ใครรู้โดยเด็ดขาด
มังมหานรธา
อดีตแม่ทัพนายทหารของสมเด็จพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ผู้ปกครองประเทศพม่า เมื่อคราวกรุงหงสาวดีเกิดศึกสงคราม มังมหานรธาเล็ดลอดหลบหนีภัยมาได้ บุกป่าฝ่าดงผจญภัยไปจนกระทั่งถึงเมืองมรกตนคร ในปี พ.ศ. 2120 และเป็นชาวพม่าเพียงคนเดียวที่ได้มีโอกาสได้เห็นขุมทรัพย์เพชรพระอุมา แต่ก็ต้องตายด้วยน้ำมือของแม่มดวาชิกาที่ทรยศต่อมังมหานรธา ไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้แก่กัน ก่อนตายมังมหานรธาหลบหนีการตามล่าของวาชิกา ไปหลบซ่อนภายในถ้ำเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเทือกเขาพระศิวะ บริเวณถันพระอุมาที่เป็นทางขึ้นสู่มรกตนคร และใช้เลือดของตนเองเขียนแผนที่ลายแทงขุมทรัพย์เพชรพระอุมาไว้
สเตเกล ฮอฟมัน
นักผจญภัยชาวเยอรมัน สามีของมาเรีย ฮอฟมัน อายุประมาณ 55 ปี รูปร่างสูงใหญ่ ล่ำสันและแข็งแรง ไว้หนวดเครา[44] จนได้รับฉายา "นายเคราเหลือง" อารมณ์ขัน ร่าเริงสนุกสนาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความชำนาญในเรื่องแร่ธาตุและสมุนไพร[45] รวมทั้งภูมิประเทศ เคยเป็นศาสตราจารย์สอนด้านธรณีวิทยาในซอร์บอน-มิวนิก พูดภาษาชาวเขาได้เกือบหมด เคยแต่งงานมีครอบครัว 3 ครั้ง แต่หย่าร้างทั้ง 3 ครั้ง มีบุตรกับภรรยาเก่าหลายคน ก่อนจะแต่งงานกับมาเรีย ฮอฟมันเป็นครั้งที่ 4 เมื่อประมาณ 3 ปีมาแล้ว[46] ภายหลังถูกสางเขียวฆ่าตายด้วยลูกดอกอาบยาพิษในขณะอาบน้ำในลำธารกับมาเรีย ฮอฟมัน

อ้างอิง[แก้]

  1. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนนาคเทวี เล่ม 3 หน้า 4678, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 4678
  2. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนมงกุฎไพร เล่ม 3, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7505
  3. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1971
  4. 4.0 4.1 พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 1, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544 หน้า 89 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 1 หน้า 89" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  5. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2187
  6. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 1 หน้า 19, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 19
  7. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมหากาฬ เล่ม 4 หน้า 337, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 337
  8. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 1, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7030
  9. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนอาถรรพณ์นิรานคร เล่ม 1, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 5317
  10. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3530
  11. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนอาถรรพณ์นิทรานคร เล่ม 4, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 6344
  12. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 3, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2878
  13. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 4, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3009
  14. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจิตรางคนางค์ เล่ม 3, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544 หน้า 3504
  15. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนนาคเทวี เล่ม 3, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 5008
  16. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 4 หน้า 1263, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544 หน้า 1236
  17. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจิตรางคนางค์ เล่ม 3 หน้า 3512 - 3513, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3512 - 3513
  18. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 2 หน้า 3994, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544 หน้า 3994
  19. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจิตรงคนางค์ เล่ม 2 หน้า 3285, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3285
  20. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแต่ปางบรรพ์ เล่ม 1 หน้า 5371, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544 หน้า 5371
  21. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนนาคเทวี เล่ม 4 หน้า 5334, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 5334
  22. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1 หน้า 3630, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544 หน้า 3630
  23. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1 หน้า 3725, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3725
  24. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 2 หน้า 7312 - 7314, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7312 - 7314
  25. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 2 หน้า 7389, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7389
  26. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 2 หน้า 9225 - 9226, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 9225 - 9226
  27. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 3 หน้า 9677, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 9677
  28. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 4 หน้า 9712, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 9712
  29. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 2 หน้า 8964, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 8964
  30. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 2 หน้า 9304, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 9304
  31. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 4 หน้า 9964, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 9964
  32. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมพราน เล่ม 1 หน้า 196,สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 196
  33. 33.0 33.1 พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไอ้งาดำ เล่ม 2 หน้า 1923,สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1923
  34. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมพราน เล่ม 1 หน้า 158 - 159,สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 158 - 159
  35. พนมเทียน, เพชรพระอุมา จอมพราน เล่ม 1 หน้า 158 - 159,สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 158 - 159
  36. พนมเทียน, เพชรพระอุมา มงกุฎไพร เล่ม 3 หน้า 7413,สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7413
  37. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมพราน เล่ม 1 หน้า 181, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 181
  38. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไอ้งาดำ เล่ม 4 หน้า 2334, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2334
  39. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมพราน เล่ม 1 หน้า 162 - 163, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 162 - 163
  40. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแต่ปางบรรพ์ เล่ม 1 หน้า 5523, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 5523
  41. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนมงกุฎไพร เล่ม 3 หน้า 7481, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7481
  42. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมพราน เล่ม 2 หน้า 383, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 383
  43. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนมงกุฎไพร เล่ม 4 หน้า 7700, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7700
  44. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 3 หน้า 2884 - 2885, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2884 - 2885
  45. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 3 หน้า 2884, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2884
  46. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 3 หน้า 4218, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 4218