เลฟ ลันเดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เลฟ ดาวิโดวิช ลันเดา)
เลฟ ลันเดา
ลันเดาใน ค.ศ. 1962
เกิดเลฟ ดาวีโดวิช ลันเดา
22 มกราคม ค.ศ. 1908(1908-01-22)
บากู จักรวรรดิรัสเซีย (ปัจจุบันคือบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน)
เสียชีวิต 1 เมษายน ค.ศ. 1968(1968-04-01) (60 ปี)
มอสโก สหภาพโซเวียต (ปัจจุบันคือมอสโก ประเทศรัสเซีย)
สุสานสุสานโนโวเดวิชี มอสโก
พลเมืองจักรวรรดิรัสเซีย
สหภาพโซเวียต
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรัฐบากู
มหาวิทยาลัยรัฐเลนินกราด (อนุปริญญา, 1927)
Leningrad Physico-Technical Institute (D.Sc., 1934)
คู่สมรสK. T. Drobanzeva (แต่งงาน 1937; ลูก 1 คน) (1908–1984)
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ (1962)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาฟิสิกส์ทฤษฎี
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกนิลส์ โปร์
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอกAlexei Alexeyevich Abrikosov
Aleksandr Ilyich Akhiezer
Igor Ekhielevich Dzyaloshinskii
Lev Gor'kov
Isaak Markovich Khalatnikov
Lev Petrovich Pitaevskii
ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆเยฟเกนี ลิฟชิซ

เลฟ ดาวีโดวิช ลันเดา (รัสเซีย: Лев Дави́дович Ланда́у) เป็นนักฟิสิกส์คนสำคัญของสหภาพโซเวียตในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีผลงานที่โดดเด่นในหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านฟิสิกส์ของสสารควบแน่น ลันเดาเกิดเมื่อวันที่ 9(22) มกราคม พ.ศ. 2451 ที่เมืองบากู จักรวรรดิรัสเซีย ได้รับรางวัลทางวิทยาศาสตร์ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นรางวัลเลนิน รางวัลสตาลินรวมถึงรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ใน พ.ศ. 2505

ประวัติ[แก้]

ชีวิตในวัยเยาว์และการศึกษา[แก้]

เลฟ ดาวีโดวิช ลันเดาเกิดในครอบครัวของวิศวกรปิโตรเลียม ดาวิด ลวาวิช ลันเดากับภรรยาคือ ลูบอฟ เวียนีอามินอฟนา โดยอัจฉริยภาพทางด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ของเขานั้นได้แสดงออกมาตั้งแต่อายุยังน้อย ลันเดาศึกษาแคลคูลัสอนุพันธ์และปริพันธ์ตั้งแต่ที่เขามีอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น ด้วยวัยเพียง 13 ปีลันเดาจบการศึกษาระดับมัธยมปลายแต่ด้วยอายุที่น้อยเกินไปทำให้ทางครอบครัวไม่ได้ให้เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยทันที แต่ในอีก 1 ปีต่อมาลันเดาสามารถสอบเข้าศึกษาได้ในคณะฟิสิกส์และคณะเคมีของมหาวิทยาลัยบากู ซึ่งถือว่าเขาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยที่สุดในเวลาต่อมาเขาเลือกศึกษาต่อในคณะฟิสิกส์เพียงคณะเดียว ลันเดาศึกษาที่มหาวิทยาลัยบากูเพียง 2 ปีการศึกษาก็ได้ย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเลนินกราดตามคำแนะนำของอาจารย์ต่อแม่ของเขาใน พ.ศ. 2467 ซึ่งเวลานั้นเลนินกราดได้ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียต ลันเดาศึกษาที่มหาวิทยาลัยเลนินกราดเพียง 2 ปีก็จบการศึกษาพร้อมกับการตีพิมพ์บทความทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกออกมา ใน พ.ศ. 2469 ลันเดากลายเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกของสถาบันฟิสิกส์และเทคนิคแห่งเลนินกราดซึ่งเวลานั้นลันเดาได้ทำงานวิจัยด้านกลศาสตร์ควอนตัม

การไปทำงานและศึกษาที่เดนมาร์ก[แก้]

ใน พ.ศ. 2472 เลฟ ลันเดาได้เดินทางไปทำงานวิจัยและศึกษาต่อนอกสหภาพโซเวียต โดยช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เขาได้พบและทำความรู้จักกับนิลส์ โปร์ที่สถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีแห่งโคเปนเฮเกน โดยโปร์ได้เอ็นดูและชื่นชอบในตัวของลันเดาเป็นอย่างมาก โดยลันเดาได้ทำการศึกษาปัญหาทางฟิสิกส์ที่ำกำลังเป็นที่สนใจในเวลานั้นและมักจะถกเถียงกับโปร์เป็นประจำ ลันเดาใช้เวลาช่วงนี้ในการศึกษาปัญหา diamagnetism ของโลหะโดยใช้หลักทฤษฎีควอนตัมในการอธิบาย รวมถึงการค้นพบระดับพลังงานควอนตัมของอิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่ภายใต้สนามแม่เหล็กที่คงที่ ซึ่งระดับพลังงานนี้ได้รับการเรียกในเวลาต่อมาว่าระดับพลังงานลันเดา