ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เหตุการณ์ 14 ตุลา"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Horus (คุย | ส่วนร่วม)
Horus (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 50: บรรทัด 50:


== สาเหตุ ==
== สาเหตุ ==
{{เพิ่มอ้างอิง}}

เหตุการณ์เริ่มมาจากการที่จอมพล [[ถนอม กิตติขจร]] [[รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514|รัฐประหารตัวเอง]] ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งนักศึกษาและประชาชนมองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจตนเองจากจอมพล [[สฤษดิ์ ธนะรัชต์]] นอกจากนี้ จอมพล ถนอม กิตติขจร จะต้องเกษียณอายุราชการเนื่องจากอายุครบ 60 ปี แต่กลับต่ออายุราชการตนเองในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกไป ทั้งพลเอก [[ประภาส จารุเสถียร]] บุคคลสำคัญในรัฐบาล ที่มิได้รับการยอมรับเหมือนจอมพล ถนอม กิตติขจร กลับจะได้รับยศ[[จอมพลในประเทศไทย|จอมพล]] และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ประกอบกับข่าวคราวเรื่องทุจริตในวงราชการ สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างมาก
เหตุการณ์เริ่มมาจากการที่จอมพล [[ถนอม กิตติขจร]] [[รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514|รัฐประหารตัวเอง]] ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งนักศึกษาและประชาชนมองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจตนเองจากจอมพล [[สฤษดิ์ ธนะรัชต์]] นอกจากนี้ จอมพล ถนอม กิตติขจร จะต้องเกษียณอายุราชการเนื่องจากอายุครบ 60 ปี แต่กลับต่ออายุราชการตนเองในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกไป ทั้งพลเอก [[ประภาส จารุเสถียร]] บุคคลสำคัญในรัฐบาล ที่มิได้รับการยอมรับเหมือนจอมพล ถนอม กิตติขจร กลับจะได้รับยศ[[จอมพลในประเทศไทย|จอมพล]] และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ประกอบกับข่าวคราวเรื่องทุจริตในวงราชการ สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างมาก



รุ่นแก้ไขเมื่อ 04:16, 14 ตุลาคม 2563

เหตุการณ์ 14 ตุลา
วันมหาวิปโยค
วันมหาปิติ
วันที่14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 (50 ปีที่แล้ว)
สถานที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สาเหตุ
  • ระบอบเผด็จการทหาร
  • การฉ้อราษฎร์บังหลวงในรัฐบาล
เป้าหมาย
  • การเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย
  • ให้ถนอมลาออก
วิธีการการเดินขบวน, การแจกใบปลิว, การจลาจล
ผล
  • นายกรัฐมนตรีลาออก และ "3 ทรราช" เดินทางออกนอกประเทศ
  • แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ และจุดเริ่มต้นของ "การทดลองประชาธิปไตย"
คู่ขัดแย้ง
จำนวน
500,000+ คน (14 ตุลาคม 2516)
ความเสียหาย
เสียชีวิต77 คน[1]
บาดเจ็บ857 คน[1]

เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ วันมหาวิปโยค หรือ วันมหาปิติ เป็นเหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บกว่า 800 คน และมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก

การประท้วงนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุหลายประการ คือ ประเทศไทยได้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมานานเกือบ 15 ปีตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกอบกับข่าวการฉ้อราษฎร์บังหลวงหลายอย่างในรัฐบาล รวมทั้งรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ข่าวการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการตีพิมพ์ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชน นำไปสู่การเดินแจกใบปลิวของนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6–9 ตุลาคม มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกทหารจับกุม ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้ชื่อว่า "13 ขบถรัฐธรรมนูญ"[2] ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินประท้วงในถนนราชดำเนิน โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมหลายแสนคน รัฐบาลจอมพลถนอมประกาศยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนสลายตัว

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ผู้ประท้วงบางส่วนเดินทางไปพระบรมมหาราชวังเพื่อขอพบผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อตกลงสลายตัวแล้วจู่ ๆ ก็เกิดเหตุระเบิดแถวพระบรมมหาราชวังและเริ่มการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงโดยมีการระดมรถถังและเฮลิคอปเตอร์ ฝ่ายผู้ประท้วงมีผู้เข้าร่วมเพิ่มเป็นประมาณ 500,000 คน จนฝ่ายความมั่นคงถอนกำลังออกไปในช่วงเย็น และในเวลา 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเผยแพร่พระราชดำรัสทางโทรทัศน์ว่ารัฐบาลทหารลาออกแล้ว หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ปะทะกันอีกเล็กน้อยในวันที่ 15 ตุลาคม แต่ผู้ชุมนุมสลายตัวเมื่อทราบว่าบุคคลสำคัญในรัฐบาลสามคนที่เรียกว่า "3 ทรราช" เดินทางออกนอกประเทศแล้ว

หลังเหตุการณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเริ่มต้นของ "ยุคการทดลองประชาธิปไตย" ที่สิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา และรัฐประหารปี 2519; ผู้เสียชีวิตได้รับยกย่องเป็น "วีรชนเดือนตุลา" และมีแผนก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาเพื่อเป็นอนุสรณ์ แต่การก่อสร้างนั้นกว่าจะแล้วเสร็จก็ล่วงไปถึงปี 2541[3]: 266–9  นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชยิ่งมีบทบาทในการเมืองไทยมากขึ้น โดยสังคมมองว่าเป็นคนกลางระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ของสังคม

สาเหตุ

เหตุการณ์เริ่มมาจากการที่จอมพล ถนอม กิตติขจร รัฐประหารตัวเอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งนักศึกษาและประชาชนมองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจตนเองจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นอกจากนี้ จอมพล ถนอม กิตติขจร จะต้องเกษียณอายุราชการเนื่องจากอายุครบ 60 ปี แต่กลับต่ออายุราชการตนเองในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกไป ทั้งพลเอก ประภาส จารุเสถียร บุคคลสำคัญในรัฐบาล ที่มิได้รับการยอมรับเหมือนจอมพล ถนอม กิตติขจร กลับจะได้รับยศจอมพล และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ประกอบกับข่าวคราวเรื่องทุจริตในวงราชการ สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างมาก

การพบซากสัตว์ป่าสงวน

ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกกลางทุ่งนาที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มีนักแสดงหญิงชื่อดังในขณะนั้นคือ เมตตา รุ่งรัตน์ โดยสารไปด้วย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้นพบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิงล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน สร้างกระแสไม่พอใจในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น ปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ 4 มหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" จำหน่ายราคา 5 บาท จำนวน 5,000 เล่ม[4] เปิดโปงเกี่ยวกับกรณีนี้ ผลการตอบรับออกมาดีมาก จนขายหมดในเพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง และได้รับการขยายผลโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในชมรมคนรุ่นใหม่ออกหนังสือชื่อ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" ที่มีเนื้อหาตอนท้ายเสียดสีนายกรัฐมนตรี เป็นผลให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี สั่งลบชื่อนักศึกษาแกนนำ 9 คนซึ่งเป็นผู้จัดทำหนังสือ ออกจากสถานะนักศึกษา ทำให้เกิดการประท้วงจนนำไปสู่การชุมนุมระหว่างวันที่ 21–27 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท้ายสุด ดร.ศักดิ์ต้องยอมคืนสถานะนักศึกษาทั้ง 9 คน และ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

การเริ่มต้นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

6 ตุลาคม 2516 มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น จากนั้น บุคคลเหล่านี้ราว 20 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น ประตูน้ำ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ส่งถึงรัฐบาลเกี่ยวกับสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ แต่ทางตำรวจนครบาลนำโดย พลตำรวจตรีชัย สุวรรณศร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล[5] จับได้เพียง 11 คน และจับทั้ง 11 คนนี้ขังไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน และนำไปขังต่อที่เรือนจำกลางบางเขน ก่อนหน้านั้นตั้งข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนภายหลังจากนั้น ตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นคอมมิวนิสต์ โดยห้ามเยี่ยมห้ามประกันเด็ดขาด จากนั้น ได้มีการประกาศจับนาย ก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และตามจับนาย ไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนมอีก เป็นผู้ต้องถูกจับทั้งหมด 13 คน โดยกล่าวหาว่า นาย ไขแสง สุกใส อยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิวครั้งนี้ บุคคลทั้ง 13 นี้ถูกเรียกขานว่าเป็น "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษาและประชาชนอย่างมาก นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งขณะนั้นกำลังสอบกลางภาค แต่ทางองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศและติดป้ายขนาดใหญ่ไว้ว่า "งดสอบ" พร้อมทั้งยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยบุคคลทั้ง 13 ก่อนเที่ยงวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม แต่เมื่อถึงเวลาแล้ว รัฐบาลก็หาได้ยอมกระทำไม่ และพลตรีประกอบ จารุมณี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เรียกผู้แทนหนังสือพิมพ์เข้า ไปกำชับเกี่ยวกับรายงานข่าว ในตอนบ่าย ของวันที่ 13 ตุลาคม 2516

โดยก่อนหน้านี้ใน วันที่ 10 ตุลาคม 2516 รัฐบาลมีมติให้ตั้งศูนย์ปราบจลาจลที่กองอำนวยการป้องกันและปราบปราม คอมมิวนิสต์สวนรื่นฤดี โดยมีจอมพล ประภาส จารุเสถียร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และพลเอก กฤษณ์ สีวะรา เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อดำเนินการปราบปรามจลาจล และการก่อความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้น

ก่อนหน้านั้น มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้เข้าพบ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ณ บ้านพักที่ย่านเอกมัย เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ได้เสนอว่า หากจะจัดการชุมนุม ควรจะจัดในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพราะจะตรงกับวันที่มีตลาดนัดที่สนามหลวงด้วย จะทำให้ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก[6]

เหตุการณ์จลาจลและการสั่งปราบการชุมนุม

การเดินขบวนครั้งใหญ่จึงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ออกไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีแกนนำเป็นนักศึกษาและมีประชาชนเข้าร่วมด้วยหลายแสนคน (เชื่อว่ามากกว่า 400,000 คน) เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม รัฐบาลรีบตกลงรับข้อเรียกร้องและสัญญาว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2515 ผู้ชุมนุมบางส่วนยอมสลายตัว แต่มีนักศึกษาราว 200,000 คนปฏิเสธไม่ยอมสลายตัว และผู้นำคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตัดสินใจพาผู้ชุมนุมไปพระบรมมหาราชวังเพื่อขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[7]

วันที่ 14 ตุลาคม นักศึกษาเคลื่อนขบวนถึงพระบรมมหาราชวังและพบกับผู้แทนพระองค์ ซึ่งถ่ายทอดพระราชกระแสขอให้นักศึกษาสลายตัว ซึ่งนักศึกษายินยอม ฝ่ายรองผู้บัญชาการตำรวจสั่งให้ตั้งสิ่งกีดขวางเพื่อให้นักศึกษาออกได้ทางเดียว ทำให้นักศึกษาที่มีจำนวนมากออกจากพื้นที่ได้ลำบาก ทั้งนี้ ไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัดว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ในช่วงเช้าตรู่ เกิดระเบิดขึ้นแถวพระบรมมหาราชวังและตำรวจเริ่มต้นปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรง ต่อมาในช่วงสาย เกิดเหตุทำลายทรัพย์สินและความรุนแรงเมื่อสถานการณ์บานปลาย รัฐบาลระดมรถถัง เฮลิคอปเตอร์และทหารราบเพื่อช่วยตำรวจ[7][8] มีผู้เสียชีวิต 77 คน และได้รับบาดเจ็บ 857 คน และอาคารหลายหลังใกล้กับถนนราชดำเนินถูกวางเพลิง รวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร โรงแรมรัตนโกสินทร์ กองสลากกินแบ่งรัฐบาล กองตำรวจนครบาลผ่านฟ้า[ต้องการอ้างอิง]

จำนวนผู้ประท้วงเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 500,000 คนอย่างรวดเร็วเมื่อผู้เห็นใจฝ่ายนักศึกษาเข้ามาช่วย สุดท้ายทหารถอนกำลังออกในเวลาเย็น ต่อมาเวลา 19.15 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศว่า จอมพล ถนอม กิตติขจร ขอลาออกจากตำแหน่งแล้ว และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[7][8] แต่เหตุการณ์ยังไม่สงบ กลุ่มทหารเปิดฉากยิงปืนเข้าใส่นักศึกษาและประชาชนอีกครั้ง หลังจากพระราชดำรัสทางโทรทัศน์เพียงหนึ่งชั่วโมง นักศึกษาพยายามพุ่งรถบัสที่ไม่มีคนขับ เข้าใส่กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยผู้ชุมนุมนับพันยังไม่วางใจในสถานการณ์ จึงประกาศท้าทายกฎอัยการศึก ในเวลา 22:00 นาฬิกา และประกาศว่าจะปักหลักชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตลอดทั้งคืน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ถูกหลอกอีกครั้ง[ต้องการอ้างอิง]

ในเวลาหัวค่ำของวันที่ 15 ตุลาคม ได้มีประกาศว่าจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และวันที่ 16 ตุลาคม 2516 ผู้ชุมนุมและประชาชน ต่างพากันช่วยทำความสะอาด พื้นถนนและสถานที่ต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหาย[9][ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]

หลังเหตุการณ์

อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน

ภายหลังเหตุการณ์นี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และสำหรับผู้เสียชีวิต ได้พระราชทานเพลิงศพที่ทิศเหนือท้องสนามหลวง และอัฐินำไปลอยอังคารด้วยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศและกรมตำรวจที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อ่าวไทย

ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2516 กองทัพอเมริกาในประเทศไทยก็ใช้กฎอัยการศึกประหารชีวิต เทพ แก่นกล้า ซึ่งมีความผิดในข้อหาใช้ปืนยิงนายทหารอเมริกันเสียชีวิต

หลังจากนั้นการเกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนเกิดขึ้นโดย ในวันที่ 24 มกราคม 2517 มีการเผาหมู่บ้านนาทราย ที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย[10]เหตุการณ์ครั้งใหญ่ได้แก่เหตุการณ์จลาจลแยกพลับพลาไชย ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ถึง 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 การจลาจล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย และเหตุการณ์ร้ายแรงที่รองลงมาเกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ที่ศาลากลางจังหวัดพังงา ได้มีผู้ก่อการร้ายโยนระเบิดเข้าไปในกลุ่มผู้ประท้วง ส่งผลให้ มีประชาชนเสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บ 17 ราย และในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2519 มีการเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษาประชาชนนับแสนคน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ถนนวิทยุ กรณีนี้ได้กลายเป็นเหตุรุนแรงเมื่อคนร้ายโยนระเบิดใส่ขบวนแถวของประชาชนเมื่อเคลื่อนไปถึงหน้าบริเวณโรงภาพยนตร์สยาม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน

ในระหว่าง มกราคม พ.ศ. 2517 ถึง สิงหาคม พ.ศ. 2519 ได้เกิดเหตุการณ์ กลุ่มแกนนำ นักศึกษา ผู้นำกรรมการ ผู้นำชาวนา ถูกสังหารด้วยอาวุธปืนและระเบิด อีก อย่างน้อย 85 ราย[11]อาทิ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน มานะ อินทสุริยะ ไพโรจน์ พงษ์วิริยพงศ์ พิพัฒน์ กางกั้น สำราญ คำกลั่น ประจวบ พงษ์ชัยวิวัฒน์ สอิ้ง มารังกูล แสง รุ่งนิรันดรกุล อมเรศ ไชยสะอาด สมสิทธิ์ คำปันติบ สนอง ปัญชาญ ปรีดา จินดานนท์ ชวินทร์ สระคำ เฮียง สิ้นมาก อ้าย ธงโต ประเสริฐ โฉมอมฤต โง่น ลาววงศ์ มงคล สุขหนุน เกลี้ยง ใหม่เอี่ยม พุฒ ปงลังกา จา จักรวาล บุญทา โยธา อินถา ศรีบุญเรือง สวัสดิ์ ตาถาวรรณ พุฒ ทรายดำ บุญรัตน์ ใจเย็น กมล แซ่นิ้ม นิพนธ์ เชษฐากุล แก้ว เหลืองอุดมเลิศ ธเนศร์ เขมะอุดม[12]โดยทางตำรวจไม่สามารถจับคนร้ายได้แม้แต่รายเดียว

ในช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำกรรมการ ผู้นำชาวนา และนักศึกษาแล้ว ยังนับเป็นยุคทองของการชุมนุมประท้วง กล่าวคือพระสงฆ์ได้จัดการชุมนุมประท้วงขึ้น เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2518โดยพระภิกษุสามเณรจากวัดมหาธาตุ และวัดต่างๆ หลายร้อยรูปทั่วประเทศ มาชุมนุมกันที่ลานอโศก วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ข้อเรียกร้องก็คือ ขอให้ทบทวนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่สร้างระบอบเผด็จการในหมู่สงฆ์ ด้วยการสร้างองค์กรมหาเถรสมาคมมาเป็นเครื่องมือ แม้แต่ตำรวจก็ได้จัดการชุมนุมประท้วงโดยในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ตำรวจภูธรระดับผู้กองทั่วประเทศได้จัดการชุมนุมที่โรงแรมนารายณ์และในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ตำรวจบางส่วนได้เข้าไปทำลายทรัพย์สินบ้านซอยสวนพลู

คณะรัฐมนตรีมีมติให้ก่อสร้าง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง โดยกว่าจะผ่านกระบวนต่าง ๆ และสร้างจนแล้วเสร็จนั้น ต้องใช้เวลาถึง 28 ปี

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประชาชนต่าง ๆ จากหลายภาคส่วน โดยไม่มีนักการเมืองร่วมอยู่ด้วยเลย และใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นที่ร่าง เรียกกันว่า "สภาสนามม้า" นำไปสู่การเลือกตั้งในต้น พ.ศ. 2518 ช่วงนั้นเรียกกันว่าเป็นยุค "ฟ้าสีทองผ่องอำไพ" แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบ มีการเรียกร้องและเดินขบวนของกลุ่มชนชั้นต่าง ๆ ในสังคม ประกอบกับสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศรอบด้านจากการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์และผลกระทบจากสงครามเวียดนาม แม้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ นำไปสู่เหตุนองเลือดอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2519 คือ เหตุการณ์ 6 ตุลา

นอกจากนี้ เหตุการณ์ 14 ตุลา ยังนับเป็นการลุกฮือของประชาชนครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จในยุคศตวรรษที่ 20 และยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ภาคประชาชนในประเทศอื่น ๆ ทำตามในเวลาต่อมา เช่น ที่ เกาหลีใต้ในเหตุการณ์จลาจลที่เมืองกวางจู เป็นต้น[13]

ไฟล์:1 11.jpg
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อเวลา 23:30 นาฬิกาของวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้เปิดตัวหนังสือมา 2 เล่ม ชื่อ "ลอกคราบ 14 ตุลา ดักแด้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย" และ "พันเอกณรงค์ กิตติขจร 30 ปี 14 ตุลา ข้อกล่าวหาที่ไม่สิ้นสุด" โดยมีเนื้อหาอ้างอิงจากเอกสารราชการลับในเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งมีเนื้อหาว่าทั้ง พ.อ.ณรงค์ และจอมพลถนอม มิได้เป็นผู้สั่งการในเหตุการณ์ 14 ตุลา[14] และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ยังได้กล่าวอีกว่า พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่นิสิต นักศึกษา และประชาชนในการชุมนุม แต่ก็เป็นการชี้แจงหลังเกิดเหตุมาเกือบ 30 ปี และเป็นการชี้แจงเพียงฝ่ายเดียวโดยที่ฝ่ายครอบครัวของทาง พล.อ.กฤษณ์มิได้มีโอกาสชี้แจงกลับ คำกล่าวของพ.อ.ณรงค์ ขัดแย้งกับ นายโอสถ โกศิน อดีตรัฐมนตรีที่ใกล้ชิดกับ พล.อ.กฤษณ์ ซึ่งระบุว่า พล.อ.กฤษณ์ เป็นบุคคลสำคัญที่ไม่ยอมให้มีการปฏิบัติการขั้นรุนแรงแก่นักศึกษา

พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันประชาธิปไตย" เป็นวันสำคัญของชาติ ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 30 ปี[15]

รายชื่อ 13 ขบถรัฐธรรมนูญ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Ashayagachat, Achara (3 October 2016). "Few crisis lessons learned". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 3 October 2016.
  2. 14 ต.ค. ครบรอบ 41 ปี 'วันมหาวิปโยค' เรียกร้องประชาธิปไตยไทย, ไทยรัฐ .วันที่ 14 ต.ค. 2557
  3. Thongchai Winichakul (2002). "Remembering/ Silencing the Traumatic Past". In Shigeharu Tanabe and Charles F. Keyes eds., Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos. Honolulu: University of Hawaii Press.
  4. e-book บันทึกลับจากทุ่งใหญ่, 2516
  5. http://www.14tula.com/activity/book14tula13kabod.pdf
  6. ชีวลิขิต โดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช : กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2548 ISBN 9789749353509
  7. 7.0 7.1 7.2 Ross Prizzia and Narong Sinsawasdi, "Evolution of the Thai student Movement (1940–1974)", Asia Quarterly, vol 1, 1975.
  8. 8.0 8.1 Kraiyudht Dhiratayakinant, ed., Thailand—Profile 1975, Bangkok: Voice of the Nation, 1975
  9. ประวัติศาสตร์การศึกษา วันมหาวิปโยค 14 ตุลา 16 - 6 ตุลา 19 โดย แปลก เข็มพิลา ISBN 974-7753-87-1
  10. 2.3.2 การเคลื่อนไหวอื่นๆ ของขบวนการนักศึกษา
  11. ผู้ถูกสังหารทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 - กุมภาพันธ์ 2519
  12. บันทึก 6 ตุลา 3.4 ความรุนแรงและการลอบสังหาร พ.ศ. 2518
  13. หนังสือ มาร์ค เขาชื่อ... อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. พ.ศ. 2548, ISBN 978-974-93358-1-9
  14. ณรงค์โยนพล.อ.กฤษณ์ ต้นเหตุความรุนแรง14ต.ค.
  15. สภาฯกำหนด 14 ตุลาคม เป็น "วันประชาธิปไตย" ผู้จัดการรายวัน 22 พ.ค. 2546
  16. http://www.14tula.com/activity/book14tula13kabod.pdf

แหล่งข้อมูลอื่น