ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระพิมพ์"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
หน้าใหม่: <center></center> {| class="wikitable" |ประวัติพระพิมพ์ ตำนานพระพิมพ์ | | | |} {| class="wikitable" |'''ประ...
 
{{ตรวจลิขสิทธิ์}}
บรรทัด 1: บรรทัด 1:
{{ตรวจลิขสิทธิ์}}
<center></center>
<center></center>
{| class="wikitable"
{| class="wikitable"

รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:43, 16 กันยายน 2561

ประวัติพระพิมพ์ ตำนานพระพิมพ์
ประวัติพระพิมพ์ ตำนานพระพิมพ์

        เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  (พระพุทธเจ้า)  ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสนาแห่งศาสนาพุทธ  ได้เสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว  ณ  ตำบลสาลวัน  แขวงเมืองกุสินารา  ประเทศอินเดีย  บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในสมัยนั้น  ก็พากันโศกเศร้าอาลัยในพระองค์  เหล่ามัลลกษัตริย์ซึ่งครองเมืองกุสินาราก็ช่วยกันจัดงานถวายพระเพลิงแล้ว  เหล่า            มัลลกษัตริ์ก็ร่วมกันคิดสร้างพระสถูปสำหรับบรรจุพระบรมธาตุไปไว้ ณ เมืองกุสินารา  แต่เหล่ากษัตริย์ต่างเมือง  ต่างก็ต้องการจะเชิญพระบรมธาตุไปไว้ให้พลเมืองของตนเคารพบูชา  แต่เหล่ามัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราไม่ยอมให้

        จนเกือบจะเกิดการสู้รบกันเพื่อแย่งพระบรมธาตุ  กระทั่งโทณพราหมณ์ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยให้ปรองดองกัน  เหล่ามัลลกษัตริย์จึงยินยอมแบ่งพระบรมธาตุให้แก่กษัตริย์เมืองต่าง ๆ  เหล่ากษัตริย์เมืองกุสินาราจึงพากันสร้างพระสถูปเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในบ้านเมืองของตน  เพื่อเป็นที่สำหรับประชาชนผู้เคารพเลื่อมใสศรัทธาได้สักการบูชา  จึงเกิดมีพระธาตุเจดีย์ขึ้นเป็นครั้งแรก  (คำว่า  เจดีย์  หมายถึง  สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการเคารพบูชา)  และถือเป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า 

        ตามพุทธประวัติได้กล่าวถึงตอนเมื่อพระพุทธองค์  (พระพุทธเจ้า)  ทรงประชวรใกล้จะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน    พระอานนท์เถรเจ้าผู้เข้าเฝ้าถวายการพยาบาลได้ทูลปรารภว่า  “แต่ก่อนมาเหล่าภิกษุพุทธสาวกได้เคยเฝ้าแหนพระองค์เป็นนิจ  เมื่อพระองค์เสด็จเข้าสู่พระนิพพานแล้วต่างมิได้เฝ้าแหนพระองค์ต่อไปก็จะพากันว้าเหว่”  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้สร้างสังเวชนียสถานไว้  4  แห่ง  สำหรับเหล่าพุทธสาวก  เมื่อใดใคร่จะเห็นพระองค์ให้ไปปลงธรรมสังเวช  ณ  ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง  คือ 

        1.  ที่พระองค์ประสูติ  ณ  ป่าลุมพินี  แขวงเมืองกบิลพัสดุ์

        2.  ที่พระองค์ตรัสรู้พระโพธิญาณ  แขวงเมืองคยา

        3.  ที่พระองค์ประทานปฐมเทศนา  ณ  ตำบลอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวงเมืองพาราณสี

        4.  ที่พระองค์เสด็จเข้าสู่พระนิพพาน  ณ  ตำบลสาลวัน  แขวงเมืองกุสินารา นอกจากนี้ในภายหลังได้เกิดเป็นที่สังเวชนียสถานเพิ่มขึ้นอีก  2  แห่ง  คือ

        5.  พระสถูปบรรจุพระอังคาร  ณ  แขวงเมืองปิบผลิวัน

        6.  พระสถูปบรรจุทะนานโลหะตวงพระบรมธาตุ  ณ  แขวงเมืองกุสินารา 

        ทั้ง  6  แห่งนี้  เป็นสังเวชนียสถานที่เกี่ยวเนื่องกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงนับเป็น  บริโภคเจดีย์  ซึ่งหมายถึง  สิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการเคารพบูชา  ต่อมาได้เกิดมีสถานที่เกี่ยวข้องกับพระองค์และตามพุทธประวัติอีกหลายแห่ง  ที่พากันนับเป็นสถานที่ระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แต่งสถานที่ที่พุทธบริษัทนิยมไปนมัสการเคารพสักการบูชาพระองค์  ยังคงเป็นเพียงสังเวชนียสถานทั้ง  4  แห่ง  ดังกล่าวข้างต้น 

        ในครั้งแรกพุทธบริษัทที่สร้างพระสถูปหรือเจดีย์ต่าง ๆ มิได้ปั้นองค์พระเป็นพระพุทธรูปไว้เป็นลวดลายในพุทธประวัติหรือสร้างไว้เป็นเอกเทศต่างหาก  กระทั่งเป็นเวลาล่วงเลยพุทธกาลมาแล้วหลายปี  จนไม่มีใครจดจำพุทธลักษณะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประการหนึ่ง  และหากจะปั้นโดยคาดเดาก็เกรงจะผิดเพี้ยนเป็นที่ลบหลู่พระบารมีแห่งพระองค์ท่านอีกประการหนึ่ง  จึงนิยมสร้างสิ่งสมมุติแทนพระองค์  ซึ่งสังเกตเห็นได้จากลายการปั้นแกะสลักในโบราณวัตถุก่อนสมัยที่จะมีพระพุทธรูป  ช่างปั้นแกะสลักในสมัยนั้นมักจะใช้ภาพดอกบัวแทนตอนประสูติ  ใช้พระแท่นอาสนะภายใต้โพธิพฤกษ์แทนตอนตรัสรู้  ใช้พระธรรมจักร  และภาพกวางแทนตอนทรงแสดงปฐมเทศนา  ณ  ตำบลอิสิปตนมฤคทายวัน  ใช้พระสถูปแทนตอนเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน  ณ  ตำบลสาลวัน  แขวงเมืองกุสินารา  เป็นต้น 

        การที่ไดนำเรื่องพระเจดีย์ต่าง ๆ มากล่าวในตอนต้น  ก็เพื่อให้ทราบว่าก่อนที่จะมีพระพุทธรูปบูชาและพระพิมพ์ได้มีสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพสักการะถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอะไรบ้าง  และองค์พระพุทธรูปบูชาก็ดี  พระพิมพ์ก็ดี  นับเนื่องเป็นอุเทสิกะเจดีย์  อีกสถานหนึ่งด้วย 

        เมื่อพุทธกาลได้ผ่านไปแล้วประมาณ  200  ปี  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช  ได้มีอานุภาพทางสงครามขึ้นในทวีปยุโรป  ได้ยกพลพวกฝรั่งชาวกรีก  (หรือที่ชาวตะวันออกเรียกว่าชนชาวโยนก)  เป็นทัพใหญ่เที่ยวปราบปรามประเทศต่าง ๆ ขยายราชาอาณาเขตมาทางทิศตะวันออกจนถึงแผ่นดินของประเทศอินเดีย  แต่ยังมิได้แผ่อำนาจได้หมดประเทศ     พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ถึงแก่ทิวงคต  (สวรรคต , ตาย)  ในอินเดีย  ราชอาณาเขตที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชรวบรวมไว้ก็แตกเป็นหลายพวก  ชาวกรีกที่เป็นแม่ทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ต่างตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน  ครองบ้านเมืองหลายอาณาเขตด้วยกัน  และได้ชักชวนชาวกรีกจากภูมิลำเนาเดิมให้มาตั้งตนทำมาหากินในท้องถิ่นที่ตนสร้างขึ้นใหม่  เป็นเหตุให้ชาวกรีกมาอยู่ในแผ่นดินว่า  อาณาเขตคันธารราฐ  เป็นจำนวนมาก  ในประเทศคันธารราฐนั้นชาวเมืองส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาสืบมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช  เมื่อชาวกรีกเข้ามาอยู่ในเมืองคันธารราฐได้สนิทสนมและมีการสมรสกับชาวพื้นเมือง  จึงพลอยมาเลื่อมใสศรัทธานับถือพระพุทธศาสนาด้วย  มาจนถึงประมาณ  พ.ศ.363  มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง  ทรงพระนามว่า  พระเจ้ามิลินท์  (เป็นองค์เดียวกับที่เรียนกว่า  พระยามิลินท์  ที่สนทนาโต้ตอบกับพระนาคเสน ในเรื่องมิลินท  ปัญหา)  พระองค์ทรงมีอานุภาพมากได้ทำสงครามแผ่อาณาเขตจนถึงมคธราฐและทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ทั้งได้ทำนุบำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรืองในประเทศคันธารราฐจนเกิดมีการสร้างพุทธปฏิมากรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในแบบที่ต่างไปจากเดิม 

        จากที่ได้กล่าวมา  หลังจากพุทธกาลล่วงแล้ว  ช่างก่อสร้างของพุทธบริษัทไม่นิยมปั้นพระพุทธรูปประดับตามพระสถูป  แต่พวกชาวกรีกซึ่งไม่เคยถือข้อห้ามในการทำรูปเคารพ  และตามศาสนาเดิมของชาวกรีกเองก็นิยมปั้นรูปเทพเจ้าที่ตนนับถือไว้สักการบูชา  ดังนั้นเมื่อชาวกรีกที่หันมานับถือศาสนาพุทธก็ไม่ชอบแบบพื้นเมืองเดิมที่ทำรูปสิ่งอื่นสมมุติแทนพระพุทธรูป  จึงคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นเครื่องประดับเจดีย์และสถานที่ต่าง ๆ   เป็นเหตุให้พระพุทธรูปเกิดมีขึ้นในแคว้นคันธารราฐเป็นครั้งแรกในโลก 

        พระพุทธรูปที่ช่างชาวกรีกคิดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น  นับเป็นจินตนาการอันล้ำเลิศของช่างในการสร้างสรรค์ให้มีพุทธลักษณะที่ทำให้ผู้พบเห็นสามารถเข้าใจได้ทันทีว่านั่นคือ  พระพุทธรูปแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทั้งมีพุทธลักษณะงดงามประทับใจแก่ผู้เลื่อมในใสพระพุทธศาสนา  โดยมีเค้าพระพักตร์งามคล้ายเพทเจ้าของชาวกรีก  บนพระเศียรมีพระเกตุมุ่นเมาลีประดับ  ผิดกับพระสาวกทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจได้ว่าองค์ใดเป็นพระพุทธรูป  อันถือเป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้  นอกจากนี้พระรัศมีก็ทำเป็นประภามณฑลรูปวงกลม  อยู่หลังพระเศียรตามแบบรัศมีของเทพเจ้าชาวกรีก  จีวรก็ทำเป็นริ้วรอยผ้ามีทั้งห่มคลุม  (การห่มผ้าโดยคลุมไหล่ทั้ง  2  ข้าง)  และห่มดอง  (การห่มผ้าโดยเฉวียงบ่า)  พระอิริยาบถของพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ก็จินตนาการตามพุทธประวัติ  ตั้งแต่ปางประสูติจนถึงปางเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน  โดยครั้งแรกคิดสร้างเป็นลวดลายพุทธประวัติประดับเจดีย์ก่อน   ต่อมาได้คิดสร้างพระพุทธรูปเป็นพระประธานไว้เป็นที่สักการบูชา  จึงนับว่าองค์พระพุทธรูปเป็นอุเทสิกะเจดีย์อีกสถานหนึ่งด้วย 

        การที่ช่างชาวกรีกได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นลวดลายประกอบกับพุทธประวัติประดับเจดีย์ก็ดี  หรือสร้างพระพุทธรูปเป็นพระประธานไว้เป็นที่สักการบูชาก็ดี  ช่างชาวอินเดียและชาวพื้นเมืองอินเดียในชั้นแรกคงจะไม่เห็นด้วย  เพราะชินต่อการสักการบูชาสิ่งที่ได้คิดสมมุติแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น  ฉะนั้นในตอนหลังจึงเกิดมีตำนานพระแก่นจันทน์ขึ้น  ตามตำนานพระแก่นจันทน์ได้กล่าวไว้ว่า  “เมื่อพระพุทธเจ้า  เสด็จไปประทานเทศนาโปรดพระพุทธมารดาและทรงค้างอยู่ในดาวดึงส์สวรรค์พรรษาหนึ่งนั้น  พระเจ้าประเสนชิตแห่งกรุงโกศลราชเมื่อมิได้เห็นพุทธองค์มาช้านานเกิดความรำลึกถึงจึงตรัสสั่งให้นายช่างทำพระพุทธรูปขึ้นด้วยแก่นจันทน์แดง  ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ  ครั้นพระองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์มาถึงที่ประทับ  ด้วยพระบรมพุทธานุภาพบันดาลให้พระพุทธรูปแก่นจันทน์เลื่อนหลีกไปจากพระพุทธอาสน์  แต่พระตถาคตเจ้าตรัสสั่งให้รักษาพระพุทธรูปนั้นไว้

        เพื่อสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างสร้างพระพุทธรูปเมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว”  ความที่กล่าวในตำนานประสงค์จะอ้างว่า  พระพุทธรูปแก่นจันทน์องค์นั้นเป็นต้นแบบของพระพุทธรูปซึ่งสร้างกันออกมาภายหลัง  หรืออีกนัยหนึ่ง  คืออ้างว่าพระพุทธรูปนั้นมีขึ้นโดยมีพระบรมพุทธานุภาพและเหมือนพระพุทธองค์  เพราะองค์พระแก่นจันทน์เป็นแบบอย่างสร้างขึ้นแต่ในครั้งพุทธกาล  ทำให้เกิดข้อคิดสันนิษฐานขึ้นว่าช่างและชาวพื้นเมืองอินเดียที่ยึดถือสิ่งสร้างสมมุติแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่สักการะอย่างแน่นแฟ้น  ไม่ยอมรับแบบอย่างที่ช่างชาวกรีกสร้างพระพุทธรูปบูชาขึ้น  จึงทำให้นักปราชญ์ในสมัยนั้นได้คิดตำนานแก่นจันทน์ขึ้น

        โดยอ้างว่าได้มีพระพุทธานุญาตให้ใช้พระแก่นจันทน์เป็นแบบอย่างสร้างพระพุทธรูปบูชามาแต่ครั้งพุทธกาล  จนทำให้ช่างและชาวพื้นเมืองอินเดีย  เกิดความเชื่อถือยอมโอนอ่อนผ่อนตามคติช่างชาวกรีก  เป็นสาเหตุให้ช่างชาวอินเดียหรือจะเรียกว่าช่างชาวพื้นเมือง  ได้คิดออกแบบสร้างพระพุทธรูปบูชาแตกต่างไปจากช่างชาวกรีก  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการกำเนิดศิลปะแบบมถุราตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  7 – 8  เป็นต้นมา   และได้สืบสกุลศิลปสร้างศิลปะสร้างพระพุทธรูปพระพิมพ์ยุคต่าง ๆ มาจนทุกวันนี้ 

        การกล่าวถึงสาเหตุของการสร้างพระพุทธรูปนั้น  เพื่อเป็นฐานข้อมูลนำไปสู่ที่มาของการสร้างพระพิมพ์ที่มีกำเนิดภายหลัง  หากแต่มีความสัมพันธ์กับการสร้างพระพุทธรูป  ซึ่งจะกล่าวในบทเรียนขั้นต่อไป  ส่วนต้นกำเนิดพระพิมพ์ได้เกิดขึ้นดังมูลเหตุต่อไปนี้ 

        ในที่สังเวชนียสถานที่พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตไว้จำนวน  4  แห่ง  รวมกับที่ซึ่งนิยมกันว่าพระพุทธองค์ได้ทรงทำปาฏิหาริย์อีกจำนวน  4  แห่ง  ซึ่งบ่อเกิดแห่งพระเจดียสถานทั้ง  8  แห่งนี้  มีสัตบุรุษพากันไปบูชาปีละจำนวนมาก  พวกสัตบุรุษด้งกล่าวปรารถนาจะได้สิ่งหนึ่งมาเป็นของสำคัญเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึกถึงว่าตนได้ศรัทธาอุตสาหะไปถึงที่แห่งนั้น  เมื่อมีประเพณีสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้น

        คนที่อยู่ในบริเวณสถานที่ตั้งของพระเจดีย์คิดทำพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตาม พระอิริยาบถ ตามด้วยพระบริโภคเจดีย์เหล่านั้น  ทั้งแกะแม่พิมพ์ขึ้นจำนวนมากมาย  สำหรับจำหน่ายแก่สัตบุรุษ  ให้ซื้อหากันได้ทั่วหน้าในราคาถูกจึงเกิดมีพระพิมพ์ขึ้นด้วยเหตุประการนี้  ซึ่งพระพิมพ์ที่ทำจำหน่าย  ณ  สถานที่ตั้งเจดีย์ทั้ง  8  แห่งนั้น  เป็นพระพุทธรูป  8  ปางต่างกัน  คือ

        1.    ปางประสูติ  ทำเป็นรูปพระราชกุมารโพธิสัตว์ยืน  มีรูปพระพุทธมารดา  และรูปเทวดาเป็นเครื่องประกอบ

        2.    ปางตรัสรู้  ทำเป็นพระมารวิชัย  (พระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  พระหัตถ์  (มือ)  ซ้ายหงายวางบนพระเพลาพระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ  (เข่า)  นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณี  (พื้นดิน)  ในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้)

        3.    ปางปฐมเทศนา  ทำเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิก็มีนั่งห้อยพระบาทก็มี (เช่นนั่งเก้าอี้มีพระหัตถ์เบื้องขวาทำนิ้วกรีดเป็นวงกลมเป็นเครื่องหมายถึงพระธรรมจักร)

        4.    ปางเสด็จจากดาวดึงส์  มักทำเป็นพระลีลา  แต่ทำเป็นพระยืนก็มี  มีรูปพระพรหมกับพระอินทร์อยู่สองข้างเป็นเครื่องประกอบ

        5.    ปางมหาปาฏิหาริย์  ทำเป็นพระพุทธรูปมีดอกบัวรองหลายองค์ด้วยกัน  มักมีรูปเทวดาและรูปมนุษย์เดียรถีย์ เป็นเครื่องประกอบ

        6.    ปางทรมานช้างนาฬาคีรี  ทำเป็นพระพุทธรูปลีลา  มีรูปพระอานนท์และรูปช้าง  บางทีมีแต่รูปช้าง เป็นเครื่องประกอบ

        7.    ปางทรมานพระยาวานร  ทำเป็นพระพุทธรูปนั่งอุ้มบาตร  มีรูปวานรเป็นเครื่องประกอบ

        8.    ปางมหาปรินิพพาน  ทำเป็นพระพุทธรูปบรรทม  มักมีรูปพระสถูป  รูปพระสาวกและรูปเทวดาเป็น เครื่องประกอบ 

        พระพุทธรูป  8  ปางนี้ถือว่าเป็นพระชุดนิยมสร้างรวมกันในงานศิลปะชิ้นเดียวมีให้เห็นครบปรากฏทั้ง 8 ปาง สันนิษฐานว่าเกิดจากสัตบุรุษผู้ที่ได้พยายามไปบูชาพระบริโภคเจดีย์ครบทั้ง  8  แห่ง  แล้วสร้างขึ้นเพื่อฉลองความศรัทธาอุตสาหะแน่นอน 

       การสร้างพระพิมพ์เมื่อแพร่หลายไปถึงประเทศอื่น  คนในประเทศนั้น ๆ เห็นเป็นของที่สร้างกันง่ายจึงนิยมทำตาม  โดยประสงค์แจกจ่ายให้คนทั้งหลายได้พระพุทธรูปไปบูชาง่ายขึ้น  แต่การสร้างพระพิมพ์เพื่อให้คนนำไปบูชา  ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในการสืบอายุพระศาสนาให้ถาวร  ต่อมาภายหลังโดยเฉพาะในประเทศไทยถือตามคติของประเทศลังกาว่า  พระพุทธศาสนาจะยั่งยืนอยู่ได้เพียง  5,000  ปี  ดังนั้นจึงชอบสร้างพระพิมพ์สลักคาถา  เย  ธมฺมาฯ  ไว้เบื้องหลังแล้วบรรจุไว้ในพระสถูป  ผู้ที่ค้นพบพระพิมพ์ที่สร้างไว้จะหันมานับถือพระพุทธศาสนาใหม่ 

        ตามที่ได้กล่าวถึงกำเนิดพระพิมพ์มาตั้งแต่ต้น  ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานขึ้นว่าคติการสร้างพระพุทธรูปที่ช่างชาวกรีกคิดสร้างองค์พระแทนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น  คงจะสร้างพระพุทธรูปด้วยศิลาหรือปูนปั้น  ประดับพระสถูปในระยะแรก  เพราะจากหลักฐานพบว่าการสร้างพระสถูปลวดลายประดับนั้นสร้างจากเรื่องบางตอนของพุทธประวัติตามคติดั้งเดิม  ซึ่งเดิมจะสร้างรูปเป็นเครื่องหมายแทน  เช่น  ใช้รูปธรรมจักรและกวางแทนปางปฐมเทศนา  หรือใช้รูปพระสถูปแทนปางเสด็จเข้าสู่ปรินพพานเป็นต้น  ดังนั้นในสมัยต่อมาที่ช่างชาวกรีกคิดสร้างพระพุทธรูปเมื่อครั้งที่สร้างพระสถูปในสมัยที่ตนทำ

        จึงสร้างพระพุทธรูปแบบลอยทั้งองค์พระ  ที่มุ่งสร้างเพื่อเป็นพระประธานประดิษฐานในองค์พระสถูปหรือวิหารคงจะเป็นการสร้างหลังจากคิดบรรจุพระพุทธรูปลงในลวดลายประดับพระสถูปมาแต่เดิม  ส่วนพระพิมพ์นั้นคงจะเกิดขึ้นภายหลังจากการสร้างพระพุทธรูปในลวดลายประดับพระสถูปและสร้างพระพุทธรูปเป็นองค์พระประธาน  อย่างไรก็ตามการสร้างพระพุทธรูปในรูปแบบของพระประธานและพระพิมพ์คงจะมีระยะไม่ห่างไกลกันนัก  เพราะพุทธศิลปะอยู่ในสมัยเดียวกัน  คือสมัยคันธารราฐในพุทธศตวรรษที่ 7 – 10 

        จากการค้นคว้าหาหลักฐานมาประกอบข้อสันนิษฐานในเรื่องนี้พบว่าจากบันทึกใน  “ตำนานพระพิมพ์  ของศาสตราจารย์  ยอร์ช  เซเดซ์”  เกี่ยวกับการสร้างพระพิมพ์  ได้กล่าวไว้ว่า

   “ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไม่นานนัก  ประเพณีการสร้างพระพุทธรูปโดยวิธีการกดด้วยแม่พิมพ์แล้วประทับด้วยตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ พบแต่ในพุทธศาสนาเท่านั้น  ทั้งที่พบในมณฑลทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย  มณฑลยูนานในประเทศจีน  หรือตามถ้ำต่าง ๆ ในแหลมมาลายู  ทั้งบนฝั่งทะเลญวน  ล้วนเป็นแบบอย่างของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น  ไม่ปรากฏเป็นฝ่ายศาสนาอื่นใด” 

และจากการวินิจฉัยของศาสตราจารย์ฟูเช  พบว่า  พระพิมพ์ต่าง ๆ นั้น  มีมูลเหตุมาจากสังเวชนียสถานที่สำคัญของพระพุทธเจ้า  4  แห่ง  คือ  

        1.  สถานที่ประสูติ  ณ  สวนลุมพินีวัน  ตำบลลุมมินเดย  แขวงเมืองกบิลพัสดุ์

        2.  สถานที่ตรัสรู้  ณ  แขวงเมืองพุทธคยา

        3.  สถานที่แสดงปฐมเทศนา  ณ  ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน  แขวงเมืองพาราณสี

        4.  สถานที่ปรินิพพาน  ณ  ตำบลสาลวัน  แขวงเมืองกุสินารา 

        ซึ่งสอดคล้องกับการสร้างพระพุทธรูปที่กล่าวมาข้างต้น  และสาสตราจารย์ฟูเช  ยังกล่าวไว้ว่า  ไม่สู้จะเป็นการยากอะไรที่จะคิดว่า  ตามธรรมดาของพวกสัตบุรุษที่จะต้องนำอะไรมาเป็นที่ระลึกจากสังเวชนียสถานอันสำคัญทั้ง  4 ตำบลเหล่านั้น  อะไรเล่าจะเป็นสิ่งแรกในสิ่งที่เคารพนับถือกันที่ได้ทำขึ้นโดยพิมพ์บนผืนผ้า  หรือทำด้วยดิน  ด้วยไม้  ด้วยงา  หรือด้วยแร่ตามที่มีในเมืองกบิลพัสดุ์  เมืองพุทธคยา  และเมืองกุสินารา  ปรากฏอยู่อย่างชัดเจนแล้วว่า  ในเมืองทั้งสี่นี้เมืองไหนมีปูชนียสถานอันเป็นที่รูจักแพร่หลายชนิดใดและทั้งได้มีหนังสืออีกหลายเรื่องที่อธิบายถึงปูชนียสถานอันสำคัญ ๆ เหล่านี้ไว้ว่าได้แก่อะไรบ้างสิ่งที่จะได้เห็นก่อนสิ่งอื่นในเมืองกุสินารา  ก็คือสถานที่ที่พระพุทธเจ้า  เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ทำเครื่องหมายโดยสร้างพระสถูป  ขึ้นไว้ตรงนั้นตังแต่เดิมมา  เช่นเดียวกับเมืองพาราณสี  ทำรูปเสมาธรรมจักรขึ้นไว้  หมายถึงปาฏิหาริย์อันอัศจรรย์  รูปเสมาธรรมจักรนี้จะต้องมีมฤคคู่หนึ่ง  (กวางคู่)  อยู่ด้วยเสมอ  เป็นสิ่งนับถือที่เมืองพุทธคยาก็คือต้นโพธิ์ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับที่โคนต้น  เมื่อได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ  แต่สำหรับที่เมืองกบิลพัสดุ์นั้นไม่มี  ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่  ส่วนสามเมืองนั้นไม่มีสิ่งที่น่าสงสัยเลย  คือที่เมืองพุทธคยาต้องเป็นเป็นโพธิ์ที่เมืองพาราณสีต้องเป็นเสมาธรรมจักร  และที่เมืองกุสินาราจะต้องเป็นพระสถูปแน่นอน” 

        พระพิมพ์จึงเสมือนอนุสาวรีย์ของสังเวชนียสถานนั้น ๆ ได้ประการหนึ่ง  อีกทั้งพระพิมพ์ยังอธิบายลักษณะเฉพาะของสถานที่หรือวัดต่าง ๆ ที่สร้างพระพิมพ์นั้น ๆ จนเป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์อันเป็นที่มาของเอกลักษณ์พิมพ์ทรงของพระแต่ละประเภท  แต่ละตระกูล  และแต่ละวัดที่ปรากฏในปัจจุบัน 

        พระพิมพ์นั้นมีข้อยุติมาแต่เดิมแล้วว่าเป็นของที่ใช้นับถือได้เหมือนอย่างอนุสาวรีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์แต่ด้วยเหตุที่ความนิยมนับถือรูปหล่อเจริญมากขึ้นในภายหลัง  และการสร้างรูปพระพุทธเจ้า  หรือรูปเคารพอย่างอื่น ๆ ในทางศาสนา  ถือกันว่าเป็นมูลแห่งกุศล  แต่การหล่อรูปด้วยโลหะ  แกะด้วยไม้  หรือสลักด้วยหิน  เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไปไม่ได้  ผู้มีทรัพย์น้อยที่ปรารถนาในกุศล  เพื่อหวังให้ตนมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นในชาติหน้า  จึงพากันสร้างรูปบูชาด้วยก้อนดิน  ซึ่งถือว่าเป็นหนทางได้บุญกุศล  โดยไม่ต้องอาศัยสติปัญญาของชนชั้นสูง  หรือทรัพย์สมบัติมากมายก็สร้างได้  โอกาสที่ความปรารถนาจะสำเร็จแห่งมรรคผลที่ต้องการสามารถเป็นจริงได้  จึงเกิดการสร้างรูปเคารพด้วยดินกันขึ้นเป็นจำนวนมาก  บางครั้งสร้างกันรายหนึ่งถึง  84,000  องค์  ตามพระธรรมขันธ์  เหล่านี้ล้วนเป็นมูลเหตุแห่งการสร้างรูปพระพุทธเจ้าด้วยดิน  ซึ่งได้พบมากมายตามถ้ำต่าง ๆ ในแหลมมาลายู  ฝีมือที่ทำดูเหมือนจะเป็นฝีมือของพวกฤๅษีที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการแสวงบุญกุศล 

        หากมองย้อนลงไปจะพบว่า  ในบรรดาผู้ค้าขายเครื่องหอมธูปเทียน  เครื่องบูชา  ตามสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนาครั้งโบราณจะต้องมีแม่พิมพ์คอยขายแก่เหล่าสัตบุรุษผู้มาสักการะ  ณ  สถานที่นั้น ๆ ด้วย  ประโยชน์ของการใช้แม่พิมพ์นั้น  ก็เพื่อพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าซึ่งพวกสัตบุรุษซื้อเอาไปเป็นที่ระลึก  รวมถึงทำเพื่อถวายไว้ต่างเครื่องสักการะตามวัดต่าง ๆ 

        แม่พิมพ์สมัยโบราณจะเป็นแผ่นทองแดง  แกะอย่างลึก  และมีด้ามสำหรับถือ  เมื่อการใช้แม่พิมพ์เจริญแพร่หลายมากขึ้น  กระทั่งเกิดมีการใช้แม่พิมพ์เพื่อสร้างแม่พิมพ์ใหม่  พิมพ์ต่อ ๆ กันจนมีจำนวนมากให้ปรากฏตกทอดมาถึงยุคหลัง  พระพิมพ์โบราณโดยมากมีคำจารึกอักษรตัวเล็ก ๆ ไว้ข้างบนบ้าง  ข้างล่างบ้าง  ข้างหลังบ้าง  เป็นภาษาสันสกฤตก็มี  ภาษามคธก็มี  เป็นตัวอักษรเทวนาครี  ซึ่งเป็นอักขระที่นิยมใช้แพร่หลายในประเทศอินเดียตอนเหนือก็มี  กระทั่งเป็นตัวอักษรของพวกอินเดียฝ่ายใต้ก็มี  รวมไปถึงตัวอักษรของบรรดาเมืองประเทศราชที่อยู่ระหว่างประเทศอินเดีย  และจีนอีกด้วย  ซึ่งพบได้จากหลายสถานที่  หลายรุ่นอายุความเก่า  หากแต่คำจารึกเหล่านั้นมักมีความหมายที่เหมือนกันเสมอโดยเป็นคาถาอ่านว่าดังนี้ 

        เย  ธมฺมา  เหตุปปฺภวา        เตสํ  เหตุ  ตถาคโต  (อาห)

        เตสํ  จ  โย  นิโรโธจ        เอวํ  วาที  มหาสมโณติ. 

        แปลได้ความดังต่อไปนี้  “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ  พระตถาคตทรงแสดงเหตุของธรรมเหล่านั้นและความดับของธรรมเหล่านั้น”  เป็นพระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้ ใจความย่อแห่งพระคาถาซึ่งมีเพียง  4  บาทนั้น  เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาส่วนหนึ่งซึ่งอาจช่วยให้เห็นถึงความจริงอันเพียงพอสำหรับจะเลือกเฟ้นการอธิบายของคำสั่งสอนส่วนอื่น ๆ ได้ไม่ใช่เพียงแต่เท่านั้น  จากหนังสือเก่า ๆ หลายเรื่องกล่าวไว้ว่า  โดยใจความแห่งพระคาถาอันนี้เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าได้อัครสาวกทั้ง  2  คือ  พระสารีบุตร  และพระโมคคัลลานะ  ซึ่งภายหลังในสังฆมณฑล  (วงการคณะสงฆ์)  นับถือกันว่าเป็นที่  2  รองจากพระศาสดาจารย์เจ้าลงมา 

        ธรรมอันเป็นเหตุให้ได้มาซึ่ง  2  อัครสาวกผู้ประเสริฐ  ย่อมเป็นธรรมที่วิเศษบทหนึ่ง  และยกย่องให้เป็น  “สัมฤทธิ์มนต์”  สำหรับจะโน้มน้าวจิตใจของผู้ที่ไม่เคยได้สดับฟังพระธรรมมาก่อน  ดังนั้นจึงไม่มีธรรมข้อใด  หรือบทใด  ดีไปกว่านี้ที่จะใช้จารึกบนพระพิมพ์  ซึ่งถือเป็นวัตถุเบาพกพาสะดวก  มีขนาดพอเหมาะ  งดงามสมควรแก่การที่จะใช้ช่วยประกาศพระพุทธวจนะอันดีนี้ให้แพร่หลายออกไป 

        เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  เราอาจคิดได้ว่าบุคคลผู้ได้ทำรูปพระพิมพ์แล้ว  และบรรจุไว้ในถ้ำ  รวมถึงพระสถูปต่าง ๆ เป็นจำนวนตั้งหลายพันองค์นั้น  จะต้องคิดถึงการประกาศศาสนาในอนาคตอันไกล  และหวังว่าจะเป็นเครื่องช่วยประกาศศาสนาให้แพร่หลายไปได้อีกหลายพันปี  จึงนับเป็นความเชื่อของเหล่า  พุทธมามกะ  ว่าเมื่อครบอายุพระพุทธศานาจะเสื่อมลง  การพบเห็นรูปพระศาสดาจารย์เจ้า  (พระพุทธเจ้า)  และคาถาย่อมซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระองค์อาจเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้พบเกิดความเลื่อมใส  และเชื่อถือขึ้นอีก  ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือความส่วนหนึ่งจากบันทึกของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดซ์  ในตำนานพระพิมพ์ 

        สรุปคือ  การเกิดของพระพิมพ์ในชั้นต้นเป็นการทำแทนของหรือทำเพื่อเป็นของที่ระลึกแก่ผู้เดินทางไปแสวงบุญยังสังเวชนียสถานนั้น ๆ และได้เกิดวิวัฒนาการกลายเป็นรูปพระพิมพ์ต่อมาความเจริญแพร่หลายของพระพิมพ์  สืบเนื่องจากการที่เป็นสิ่งของซึ่งทำกันได้ง่าย ๆ แม้ผู้ที่ไม่ค่อยมีฐานะ  ก็สามารถสร้างบุญกุศลจากการสร้างพระพิมพ์  เพื่อสืบทอดพระศาสนา  หรือกิจกรรมตามความเชื่อศรัทธาของตนได้  โดยมิใช่เรื่องเหลือวิสัยจะกระทำ  พระพิมพ์จึงมีให้พบเห็นมากมาย  ถ่ายทอดกันมาจากยุคสู่ยุค  จากรุ่นสู่รุ่น  จนถึงปัจจุบันมิห่างหายไปจากอารยธรรมของพุทธศาสนาด้วยศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา