ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ผ้าขาวม้า"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
บรรทัด 56: บรรทัด 56:
==== '''1. วัตถุดิบและส่วนประกอบ''' ====
==== '''1. วัตถุดิบและส่วนประกอบ''' ====


==== 1.2 เส้นใยฝ้าย ====
==== เส้นใยฝ้าย ====
เป็นเส้นใยแท้ที่ทำมาจากต้นฝ้าย โดยส่วนของฝ้ายที่จะนำมาทำเป็นเส้นใยนั้น ได้มาจากส่วนของดอก หลังจากนั้นนำมาตีเกลียวให้เป็นเส้นๆ และนำมาทอผ้า
เป็นเส้นใยแท้ที่ทำมาจากต้นฝ้าย โดยส่วนของฝ้ายที่จะนำมาทำเป็นเส้นใยนั้น ได้มาจากส่วนของดอก หลังจากนั้นนำมาตีเกลียวให้เป็นเส้นๆ และนำมาทอผ้า



รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:34, 29 พฤศจิกายน 2560

ผ้าขาวม้า หรือ ผ้าเคียนเอว เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่คนไทยใช้มาแต่โบราณ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจที่อยู่กับคนไทยมานานหลายยุคสมัย ที่ทุกท้องถิ่นต้องมีไว้ใช้ จนกลายเป็นผ้าสามัญประจำบ้านของชาวไทย มีลักษณะเป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความกว้างประมาณ 2 ศอก ยาวประมาณ 3-4 ศอก เป็นผ้าสำหรับผู้ชายใช้นุ่งแบบลำลอง ความกว้างจึงเท่ากับระยะจากเอวถึงกลางหน้าแข้ง ความยาวเท่ากับระยะพันรอบตัวแล้วเหลือเศษอีกเล็กน้อย โดยมากทอเป็นลายตารางหมากรุกเล็กๆ นิยมใช้ด้ายหลายสีทอสลับกันไปมา ซึ่งมักจะได้จากการทอด้วยเครื่องทอผ้าที่เรียกว่า “กี่” และจะทอเป็นขนาดยาวประมาณ 20-30 เมตรต่อการทอแต่ละครั้ง แล้วจึงตัดแบ่งออกเป็นผืน ผืนละ 1 วา หรือ ประมาณ 1 เมตรครึ่ง โดยสีและลวดลายของผ้าขาวม้าจะแตกต่างกันไปตามความนิยมของท้องถิ่น โดยภาคกลาง ผ้าขาวม้าจะมีลวดลายเป็นตารางลายสก๊อต และของภาคอีสานจะเป็นแบบตารางเล็กๆ

ประวัติ

“ผ้าขาวม้า” ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นภาษาเปอร์เซียที่มีคำเต็มว่า “กามาร์บันด์” (Kamar Band) ซึ่ง “กามาร์” นั้นหมายถึง เอว หรือ ท่อนล่างของร่างกาย ส่วน “บันด์” หมายถึง การพัน รัด หรือ คาด โดยเมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจะหมายถึง เข็มขัด ผ้าพัน หรือ คาดสะเอว ซึ่งคำว่า “กามาร์บันต์” ยังปรากฏอยู่ในภาษาอื่นๆ อีก เช่น ภาษามลายู มีคำว่า “กามาร์บัน” ภาษาฮินดี้ใช้คำว่า “กามาร์บันด์” เช่นเดียวกับภาษาเปอร์เซีย แต่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “คัมเมอร์บันด์” (Commer band) หมายถึง ผ้ารัดเอวในชุดทัคซิโด้ (Tuxedo) ซึ่งเป็นชุดสำหรับงานราตรีสโมสร [1]

ผ้าขาวม้าเป็นผ้าโบราณ คนไทยรู้จักการใช้ผ้าขาวม้าตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับยุคสมัยเชียงแสน โดยในสมัยเชียงแสนผู้หญิงมักจะนุ่งผ้าถุง ส่วนผู้ชายใช้ผ้าเคียนเอว (ผ้าขาวม้า) ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมมาจากไทยใหญ่ แต่ชาวไทยใหญ่ใช้ผ้าขาวม้าในการโพกศรีษะ โดยคนไทยเรียนรู้จากเชียงแสนโดยใช้มาเคียนเอว จากนั้นเริ่มปรับประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น ใช้ห่อเก็บสัมภาระเดินทาง ห่ออาวุธ นุ่งเวลาอาบน้ำ เช็ดตัว หรือปูนอน [2]

โดยหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นว่าคนไทยเริ่มใช้ผ้าขาวม้าในสมัยเชียงแสน มีปรากฏให้เห็นจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จ.น่าน และเมื่อดูการแต่งกายของหญิง - ชายไทยในสมัยอยุธยาจากภาพเขียนในสมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 จะเห็นชาวอโยธยานิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่า คาดพุง หรือนุ่งโจงกระเบนแล้วใช้ผ้าขาวม้าคล้องคอตลบห้อยชายทั้งสองข้างไว้ด้านหลัง ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์ ความนิยมใช้ประโยชน์ไม่จำกัดแต่เพียงเพศชายเหมือนในอดีต และไม่จำกัดเฉพาะทำเป็นเครื่องตกแต่งร่างกาย [2]

ผ้าขาวม้าเป็นอาภรณ์อเนกประสงค์ มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนใหญ่ทอมาจากฝ้าย แต่ก็มีที่ทอจากเส้นไหมด้วยเช่นกัน หรือบางท้องถิ่นทอจากเส้นด้ายดิบและเส้นป่าน นิยมทอสลับสีเป็นลายตาหมากรุก หรือเป็นลายทาง โดยมากผลิตในแถบภาคเหนือหรือภาคอีสาน มีขนาดโดยทั่วไปกว้างประมาณ 3 คืบ ยาว 5 คืบ คุณสมบัติที่สำคัญของผ้าขาวม้าคือ เป็นผ้าทอลายทางตรงและขวางตัดกันมีขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอเหมาะ ใช้งานได้หลากหลายสารพัดนึกยิ่งใช้นานยิ่งนุ่ม ซับน้ำได้ดี แห้งเร็ว ทนทานนานนับปี บางประเภทเป็นผ้าทอจากเส้นไหมราคาสูง มักใช้เป็นผ้าพาดไหล่ จนกระทั่งมีการนำผ้าขาวม้ามาเป็นชุดไทยพระราชทานชุดคาดเอว ถือเป็นจุดสำคัญที่ผ้าขาวม้าได้กลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ไทยสำหรับราคาจะแตกต่างกันออกไปตามวัสดุที่ใช้ (ถ้าเป็นผ้าไหมเนื้อดีจะมีราคาแพง นิยมใช้แตะพาดบ่าหรือพาดไหล่) ในยุคแรกคนไทยจะเรียกผ้าสารพัดประโยชน์ผืนนี้ว่า “ผ้าเคียนเอว” ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “ผ้าขาวม้า” ในภายหลัง [2]

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของผ้าขาวม้ายังมีการถ่ายทอดผ่านความเชื่อจากเรื่องเล่า “นิทานกำเนิดผ้าขาวม้า” จากบันทึกของผ้าขาวม้ารำลึกตามรอยผ้าขาวม้าของพ่อ กล่าวว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีช่างทอผ้าผู้หนึ่งเกิดอุตริไปปัสสาวะรดต้นไม้ใหญ่ในป่าที่มีนางไม้สิงสถิตอยู่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นางไม้ด้วยความโกรธแค้นจึงแปลงร่างเป็นมดคันไฟเข้าไปกัดบริเวณที่ลับช่างทอผ้าจนบวมแดง ช่างทอผ้าหลังจากโดนนางไม้กัด(มดคันไฟ) ทุนรนทุรายอยู่หลายวัน ทั้งแสบทั้งคัน คิดว่าไม่นานอาการคงจะดีขึ้น คิดเพียงว่าแค่มดคันไฟกัดเดี๋ยวเดียวคงหาย ต่อมาปรากฏว่าอาการไม่ดีขึ้น ภรรยาของเขาจึงรีบไปตามหมอมารักษาอาการของช่างทอผ้า ซึ่งไม่มีวี่แววว่าจะหาย ต่อมาเดือดร้อนถึงพระภูมิเจ้าที่ประจำบ้านที่อดสมเพชเวทนาไม่ได้ จึงได้มาเข้าฝันช่างทอผ้าในค่ำคืนหนึ่ง เพื่อบอกถึงสาเหตุความทุกข์ทรมานของช่างทอผ้าและบอกวิธีการแก้ไข

ในฝันพระภูมิบอกกับช่างทอผ้าว่า ให้เขาทอผ้าฝ้ายเป็นลายตารางหมากรุก สลับสีสลับลายให้สวยงามแล้วนำไปกราบไหว้ขอขมากับนางไม้ตรงบริเวณต้นไม้ที่ช่างทอผ้าไปยืนปัสสาวะรด โดยให้นำผ้าที่ทอนั้นไปพันไว้โคนต้นไม้เป็นเวลาสามวัน หลังจากสามวันแล้วให้นำผืนผ้านั้นกลับมานุ่งแทนเสื้อผ้าเป็นเวลาสามวัน แล้วช่างทอผ้าก็จะหายจากอาการที่เป็นอยู่

วันรุ่งขึ้นพอช่างทอผ้าตื่นขึ้นมาได้เล่าความฝันให้ภรรยาฟัง ภรรยาถามเขาว่าได้ไปปัสสาวะรดต้นไม้ใหญ่จริงหรือไม่ ช่างทอผ้าตอบว่าจริง นางจึงบอกให้สามีรีบเร่งไปขอขมากับนางไม้ตามที่พระภูมิเจ้าที่มาเข้าฝันโดยเร็ว หลังจากนั้นช่างทอผ้าได้ทำการขอขมากับนางไม้ตามที่พระภูมิเจ้าที่ อาการของช่างทอผ้าได้หายเป็นปลิดทิ้ง แม้นเขาจะหายจากอาการคันแล้ว เขาก็ยังนุ่งผ้าขาวม้าที่ใช้ขอขมานางไม้มาโดยตลอด มิหนำซ้ำเขายังได้แจกจ่ายผ้าขาวม้าให้กับเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ได้นำไปใช้ประโยชน์อีกด้วย ซึ่งภายหลังผ้าขาวม้าจึงได้รับความนิยมเรียกกันติดปากว่า “ผ้าขมา” ผ้าที่ใช้แทนการขอโทษหรือแทนคุณ จนกระทั่งปัจจุบันได้เพี้ยนมาเป็น “ผ้าขาวม้า” ในที่สุด

คำบอกเล่าเกี่ยวกับความเชื่อของผ้าขาวม้ายังเกี่ยวข้องกับเรื่องเวทมนต์ ดังเรื่องเล่าเกี่ยวกับ หลวงพ่อพรหมวัดช่องแค ตำบลตากฟ้า อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ชาติภูมิเดิมเป็นชาวตำบลบ้านแพรก อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2477 ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญถึงรหัสปริศนาผ้าขาวม้าของชาวบ้าน จึงนำเอาผ้าขาวม้าของชาวบ้าน ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี ซึ่งมีรกรากจากชาวเวียงจันทน์ นำมาเสกด้วยพุทธาคม เป็น “ผ้าขาวม้ามหาเวทย์” เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น การขึ้นบ้านใหม่ ชาวบ้านจะนำผ้าขาวม้ามาผูกไว้ที่เสาเอกแขวนไว้ที่ขื่อ ซึ่งมีความเชื่อว่าสามารถป้องกันขโมยวัว ควาย เป็ด ไก่ได้ บางแห่งนำไปขับไล่สิ่งไม่ดี เช่น นก หนู แมลง เพลี้ยกระโดด ไม่ให้ไปทำลายข้าวที่ตั้งไว้ในท้องไร่ท้องนา [3]

ผ้าขาวม้าในภาคต่างๆ [4]

ภาคเหนือ

ภาคเหนือ จะเรียกผ้าขาวม้าว่า “ผ้าหัว” “ผ้าตะโก้ง” หรือ “ตาโก้ง” ซึ่งหมายถึงผ้าลายตาราง ผ้าเตี่ยว

  1. ผ้าขาวม้าจังหวัดแพร่ ปัจจุบันการทอผ้าขาวม้าของจังหวัดแพร่ มักจะพบในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสูงเม่น อำเภอสอง และอำเภอร้องกวาง การทอลักษณะแบบ “จก” ที่บริเวณของผ้าขาวม้าด้วย เรียกว่า “ผ้าขาวม้ามีเชิง” เชิงของผ้าขาวม้าจะมีเทคนิคการจกลวดลายเพิ่มเติมเข้าไปในตัวผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นลายหมากรุก หรือลวดลายเรขาคณิตทั่วไป ส่วนลายที่จกจะเป็นลายสัตว์ตามคตินิยม ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละกลุ่มชน เช่น  ลายนก ลายช้าง ลายม้า เป็นต้น
  2. ผ้าทอจังหวัดน่าน การทอผ้าของชาวน่านมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังปรากฏภาพฝาผนังในวัดภูมินทร์ ผ้าขาวม้าชาวน่านจะเรียกกันว่า “ผ้าตะโก้ง” ส่วนมากมักนิยมทอด้วยฝ้าย เส้นฝ้ายนั้นทำเองตั้งแต่ปั่นฝ้าย ย้อมสี และสีที่ใช้ทอมักจะเป็นสีจากเปลือกไม้กลัด ไม้ประดู่ มะเกือ ใบสัก เป็นต้น เดิมจะนิยมทอผ้าขาวม้าเป็นสีแดงดำ ซึ่งเป็นสีดั้งเดิม แต่ปัจจุบันนิยมทอผ้าขาวม้าให้มีสีคลาสสิคมากยิ่งขึ้น โดยเน้นสีเขียว ฟ้า น้ำตาล เป็นสีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ บริเวณชายผ้ามักจะจกลายช้าง ลายม้า ลายเจดีย์ ลายยกดอกลวดลายที่ทอเน้นเกี่ยวกับความเชื่อ ความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ใช้ ผ้าทอของจังหวัดน่านจะคล้ายคลึงกับจังหวัดแพร่ แต่จะแตกต่างกับผ้าขาวม้าของที่อื่นตรงบริเวณเชิงผ้าที่มีการจกลายเพิ่มเติม แต่ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าของจังหวัดต่างๆ ก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การทอผ้าของจังหวัดแพร่และน่านจึงมีการถ่ายทอดความรู้ไปให้จังหวัดอื่นๆ บางพื้นที่จึงมีการทอผ้าขาวม้าและจกลายบริเวณเชิงผ้าเพิ่มเติมด้วย จัดว่าเป็นการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมอีกทางหนึ่ง

ภาคอีสาน

ภาคอีสาน จะเรียกผ้าขาวม้าว่า “ผ้าแพ” “ผ้าแพอีโป้” ในภาคอีสานจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ผ้าแพรขาวม้าจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายตาหมากรุก และผ้าแพรใส้ปลาไหล หรือผ้าแพลิ้นแลน และในพจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน ก็จะเรียกว่า “ผ้าขัดด้าม” “ผ้าขาวด้าม” หรือ “ผ้าด้าม”

  1. ผ้าขาวม้าจังหวัดศรีสะเกษ ผ้าทอของจังหวัดศรีสะเกษได้รับอิทธิพลมาจากลาว  สำหรับผ้าขาวม้าของศรีสะเกษนั้นจะมีการทอด้วยไหมและฝ้าย ผ้าขาวม้าที่ทอด้วยผ้าไหมจะทำในโอกาสพิเศษ หรืองานพิธีสำคัญเท่านั้น ส่วนลายของผ้าขาวม้าที่ทอจะเป็นลายเส้นขัดเป็นตารางหมากรุก นิยมใช้สีกั้น 2 หรือ 3 สี ในการทอจะใช้ “เขา” เพียง 2 เขาเท่านั้น วิธีการสร้างลายจะสับหูกเส้นเครือหรือเส้นยืนด้วยสีต่างกัน หรือจะใช้เส้นด้ายสีต่างกันพุ่งสลับกันตามต้องการ
  2. ผ้าขาวม้าจังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันมีการทอมากในกิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ บ้านเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ชาวสุรินทร์มักใช้ผ้าขาวม้าในการแต่งกายประจำจังหวัดใน พิธีกรรมที่สำคัญตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายมักจะมีผ้าขาวม้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ลายผ้าขาวม้าของจังหวัดสุรินทร์จะเป็นผ้าลายตารางสีแดงดำ เขียวเข้ม และชาวสุรินทร์จะมีผ้าข้าม้าประจำตระกูลเมื่อสิ้นบุญผู้อาวุโสมักจะมอบผ้าขาวม้าไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน
  3. ผ้าขาวม้าจังหวัดมหาสารคาม ปัจจุบันการทอผ้าขาวม้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมหาสารคาม จะอยู่ที่บ้านหนองหิน ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เอกลักษณ์โดดเด่น คือ เป็นผ้าขาวม้าทอมือ ด้วยสีธรรมชาติ มีการพัฒนาลวดลายให้ทันสมัยมากขึ้น ผ้าขาวม้าคุณภาพดีของกลุ่มยังถูกจัดส่งไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากทางจังหวัดให้พัฒนาด้านการตลาด มีการตั้งชื่อสินค้าในนาม “ศิลาภรณ์”  และนำผ้าขาวม้าที่เป็นผ้าฝ้ายคุณภาพดี มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตัดเย็บเป็น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ผ้าห่มเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสีสันที่สวย สดใส ทันสมัย และมีการย้อมสีตามคำสั่งของลูกค้าผ้าขาวม้าบ้านหนองหิน มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะคุณภาพดี และตัวแทนของกลุ่มได้ไปจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เมืองทองธานีหลายครั้ง
  4. ผ้าขาวม้าจังหวัดขอนแก่น จัดได้ว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมีความวิจิตรพิสดารตระการตา ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เป็นลายเฉพาะของผ้าขาวม้าจังหวัดขอนแก่น ลายผ้าขาวม้าจะเป็นลาย “หมี่กง” ซึ่งเป็นต้นแบบและเป็นลายเก่าแก่ของผ้าเมืองขอนแก่น ส่วนสีจะเน้นที่สีม่วง แดง เขียว จัดเป็นสีดั้งเดิมของผ้าขาวม้าขอนแก่นและทำการทอลักษณะแบบ 3 ตะกอ จึงทำให้ผ้ามีลักษณะที่หนาเนื้อผ้าแน่น
  5. ผ้าขาวม้าจังหวัดอุดรธานี มหัศจรรย์ผ้าขาวม้าอเนกประสงค์ ภูมิปัญญาชาวบ้านชุมชนดอนอีไข ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นเทศบาลตำบลหนองสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ให้ทอผ้าขาวม้าพื้นบ้าน เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ในหลายรูปแบบ เช่น ลายขาวดำ ลายขัดพื้น มีทุกสีให้เลือก นอกจากนั้นยังมีเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ตัดเย็บจากผ้าขาวม้าจำหน่ายทั้งของสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ในราคาตั้งแต่ 400-1,000 บาท
  6. ผ้าขาวม้าจังหวัดยโสธร บ้านหัวเมือง ตำบลหัวเมือง อำเภอชนะชัย จังหวัดยโสธร เป็นหมู่บ้านคนขยัน ตั้งอยู่ในทุ่งกว้าง เขตรอยต่อทุ่งกุลาร้องไห้ ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนจากประธานกลุ่มแม่บ้าน หลังจากเสร็จสิ้นฤดูการทำนาหันมาทอผ้าขาวม้า ทอผ้าห่ม ซึ่งเป็นงานทอในขั้นพื้นฐาน เพื่อเก็บไว้ใช้เองในครอบครัว และใช้เป็นของฝากของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ  เมื่อเหลือก็นำมาจำหน่าย ชาวบ้านรวมกลุ่มกันได้เหนียวแน่นจึงได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานพัฒนาชุมชนและมีการพัฒนาในด้านการตลาดมากขึ้น

ภาคกลาง

ภาคกลาง เรียก “ผ้าขาวม้า” ซึ่งมีผลิตกันโดยจะทอเป็น ผ้าฝ้ายทอเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามักมีลายตาหมากรุก ลายสก็อต ลายทาง และมีสีสันและขนาดของลวดลายแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น โดยทั่วไปมักใช้เส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยโทเรเป็นหลัก

  1. ผ้าขาวม้าพระนครศรีอยุธยา ผ้าขาวม้าผืนเล็กใช้ทอผืนแคบ และจะมีบางผืนที่ทอผืนใหญ่เป็นพิเศษเอาไว้สำหรับตัดเป็นเสื้อผ้า หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ลวดลายคละสลับกันเป็นตารางหมากรุกประมาณครึ่งนิ้ว และมีสองสีสลับด้าน ด้านตามยาวของปลายทั้งสองข้าง ทำเป็นลายริ้วสลับสีกัน เช่น ขาวแดง ขาวแดง แดงดำ ขาวน้ำเงิน
  2. ผ้าขาวม้าจังหวัดนครสวรรค์ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าผ้าขาวม้ามักจะทอกันอยู่แถบตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาว และอีกที่หนึ่งที่นิยมทอในปัจจุบัน บ้านตะเคียนเลื่อน ตำบลเกาะหงส์ อำเภอเมือง สีของผ้าขาวม้าจะเป็นสีที่ตัดกันทอเป็นลายตาสก๊อต นิยมใช้เส้นด้ายฝ้ายในการทอผ้าขาวม้า เพราะฝ้ายจะมีความนิ่มเนื้อละเอียด
  3. ผ้าขาวม้าจังหวัดกาญจนบุรี จะมีสีสันสดใสหลากสีด้วยกัน ผ้าขาวม้าผืนหนึ่งมักจะใช้สีที่ทอสลับกันประมาณ 4 สี สำหรับสีของเส้นไหมที่ทอเมื่อ 2 สีขดไปเกิดซ้อนกันก็จะทำให้ได้สีใหม่ขึ้นมา ทำให้มีสีสันสวยงามมากขึ้น สำหรับผ้าขาวม้าของจังหวัดกาญจนบุรีมิได้มีเพียงลวดลายเดียวที่มีหลากหลายลวดลาย ซึ่งให้ความงดงามต่างจากถิ่นอื่น
  4. ผ้าขาวม้าจังหวัดชัยนาท จะมีลักษณะเป็นผ้าทอด้วยไหมประดิษฐ์ด้วยโทเรและฝ้ายออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะนิยมทอด้วยโทเร เป็นลายสก๊อต ลายทาง หรือลายสี่เหลี่ยม และผ้าขาวม้าของตำบลเนินขาม อำเภอหินตามีชื่อเรียกว่า “ผ้าขาวม้า 5 สี” คือ สีแดง เหลือง ส้ม เขียว ขาว โดยจะการย้อมผ้าจะทำเช่นเดียวกันกับผ้ามัดหมี่ คือ การมัดแล้วย้อมเป็นสีต่างๆ
  5. ผ้าขาวม้าจังหวัดลพบุรี ณ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จัดได้ว่าเป็นแหล่งทอดผ้าพื้นเมืองที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณะผ้าดั้งเดิมของอำเภอบ้านหมี่จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะชาวอำเภอบ้านหมี่เป็นชาวไทพวนที่อพยพมาจากประเทศลาว ดังนั้นผ้าขาวม้าอำเภอบ้านหมี่จึงถือว่าเป็นผ้าความม้าที่มีลวดลายสีสันสวยงาม และเป็นผลงานของผ้าทอมือที่ประณีตมาก
  6. ผ้าขาวม้าจังหวัดราชบุรี ผ้าขาวม้าจังหวัดราชบุรี ส่วนใหญ่จะทออยู่ 2 ลวดลาย คือ ลายหมากรุก และลายตาปลา เป็นผ้าขาวม้าที่สวยงามเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ราคาถูก และสีไม่ตก สำหรับผ้าขาวม้าของจังหวัดราชบุรีจะรู้จักการในนาม “ผ้าทอบ้านไร่” แต่ในปัจจุบันผ้าขาวม้าของจังหวัดราชบุรีมีชื่อเสียงโด่งดังมาก จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของคนรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนาสี ลวดลาย รูปแบบให้ผ้าขาวม้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยมากขึ้นในชื่อ “Pakamian”

ภาคใต้

ภาคใต้ เรียกว่า "ผ้าขาว"

ลักษณะของผ้าขาวม้า

ผ้าขาวม้า เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่คนไทยโดยทั่วไปรู้จักกันดีมีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนใหญ่ทอมาจากฝ้าย แต่บางครั้งอาจทอจากเส้นไหม ในบางท้องถิ่นนิยมทอจากเส้นด้ายดิบและเส้นป่าน นิยมทอสลับสีกันเป็นลายตาหมากรุกหรือเป็นลายทาง โดยมากผลิตในแถบภาคเหนือหรือภาคอีสาน มีขนาดความกว้าง-ยาวแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะกว้างประมาณ 3 คืบ ยาว 5 คืบ อายุของการใช้งานจะประมาณ 1-3 ปีสำหรับราคาก็จะแตกต่างกันออกไปตามวัสดุที่ใช้

คุณสมบัติของผ้าขาวม้า

ดูแลรักษาง่าย สวมใส่สบาย ไม่อบร้อน ระบายอากาศได้ดีมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สามารถทนความร้อนสูงได้ประโยชน์ของผ้าขาวม้าใช้ทำความสะอาดร่างกาย, ปูรองนั่ง, โพกศรีษะกันแดด, นุ่มแทนกางเกง, ห่มคลุมร่างกาย, นุ่งกระโจมอกแทนผ้าถุง, ม้วนหนุนหัวแทนหมอน ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้, คลุมโต๊ะ, ซับเหงื่อ, ผูกเป็นเปล, คลุมเวลาผลัดเปลี่ยนผ้า, เป็นผ้าเช็ดตัว, เป็นผ้ากันเปื้อน

กระบวนการผลิตผ้าขาวม้า

1. วัตถุดิบและส่วนประกอบ

เส้นใยฝ้าย

เป็นเส้นใยแท้ที่ทำมาจากต้นฝ้าย โดยส่วนของฝ้ายที่จะนำมาทำเป็นเส้นใยนั้น ได้มาจากส่วนของดอก หลังจากนั้นนำมาตีเกลียวให้เป็นเส้นๆ และนำมาทอผ้า

- กี่ทอผ้า หรือ กี่กระตุก เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นไม้ โดยผู้ทอจะใช้ขาเหยียบไม้ และจะใช้มือกระตุกเขยิบไม้ใหม่ สับเปลี่ยนกันจนเกิดเป็นผ้าทอออกมา

- สี ในการจับคู่สีที่ใช้ในการทอผ้าขาวม้าจะขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของผู้ทอผ้าขาวม้าในผืนนั้นๆ ส่งผลให้ผ้าขาวม้ามีสีและลวดลายที่มีความหลากหลายและต่างกัน โดยจะใช้เทคนิคของการสลับสีของเส้นยืนและเส้นพุ่ง ให้เกิดลวดลายและการสลับสีที่สวยงาม ซึ่งสีที่ใช้ในการย้อมเส้นใยนั้นจะเป็นใช้สีที่มาจากธรรมชาติ เช่น

โทนสีแดง ได้จาก ครั่ง ดอกมะลิวัลย์

โทนสีเหลือง ได้จาก ดอกคูณ แก่นขนุน

โทนสีน้ำเงิน ได้จาก ใบบวบ  ใบตะขบ

โทนสีดำ ได้จาก ต้นแคน มะเกลือ  เป็นต้น

ซึ่งข้อดีของสีย้อมผ้าที่สกัดจากธรรมชาตินั้น จะไม่เป็นพิษต่อร่างกาย และเกิดความปลอดภัยต่อการใช้งานมากที่สุด

2. ขั้นตอนการผลิต

ในการทอผ้าขาวม้าแต่ละผืนนั้น จะต้องเตรียมเส้นฝ้ายด้วยการนำกอฝ้ายมาเข็นเป็นเส้น หลังจากนั้นนำเส้นฝ้ายไปย้อมสีจากธรรมชาติ และนำมาใช้ในการทอผ้าฝ้าย โดยมีขั้นตอนการผลิตดังนี้

1. เลือกสีเส้นฝ้ายที่จะนำมาใช้ในการผลิต

2. นำเส้นฝ้ายมาสาว เพื่อนำไปขึ้นหัวม้วนตามลวดลายที่ต้องการ

3.สืบหูกด้วยการนำเส้นฝ้ายที่ได้ขึ้นหัวม้วนมาสืบเข้าฟันฟืมและร้อยตะกอตามลายที่ต้องการ

4. ทอเป็นผืนผ้าตามที่ต้องการ

การดูแลเก็บรักษาผ้าขาวม้า

 - สามารถซักได้ด้วยมือและเครื่องซักผ้า ยิ่งซักผ้าจะยิ่งนุ่ม

 - ซักในน้ำอุณหภูมิสูงและรีดด้วยความร้อนค่อนข้างสูงได้เช่นเดียวกัน

 - ควรใช้ผงซักฟอกอ่อน /ไม่มีฟอกสีถ้าจะให้ดีใช้น้ำยากซักผ้าแบบอ่อนแบบซักผ้าเด็ก

กรรมวิธีการผลิต

อุปกรณ์ในการทำผ้าขาวม้า

  1. ด้ายโทเร
  2. ไหมประดิษฐ์
  3. อุปกรณ์ปั่นด้าย
  4. อุปกรณ์ควงด้าย
  5. อุปกรณ์ขึงด้าย
  6. ที่หวีด้าย
  7. ที่เก็บตระกอ
  8. กระสวย (ตัววิ่งด้าย)

ขั้นตอนในการทำผ้าขาวม้า

  1. เตรียมด้ายประดิษฐ์ที่ยังไม่ได้ม้วนใส่ในหลอดแปปมาใส่ โดยนำด้ายประดิษฐ์มาคล้องใส่ในอุปกรณ์ การปั่นด้าย เพื่อด้ายจะได้ม้วนออกมาใส่ในหลอดแปปโดยการใช้อุปกรณ์ในการควงเป็นตัวในการปั่นด้าย หลังจากนั้นจึงควงด้าย ควงด้ายใส่หลอดแปปจนหมดโดยการปั่นต้องมีคนปั่นด้วย 1 คน และอีกคน 1 เป็นคนเรียงด้าย เพื่อไม่ให้พื้นที่ในการเรียงด้ายไม่เว้นว่าง ควรทำให้เต็มหลอด และไม่ให้ด้ายที่ควง พันกัน
  2. นำด้ายมาขึงไว้บนอุปกรณ์การทอกี่กระตุกด้วยมือ (อุปกรณ์ประกอบขึ้นจากไม้)
  3. เริ่มการทอผ้าโดยใช้อุปกรณ์การทอที่กระตุกด้วยมือ (อุปกรณ์ประกอบจอกไม้)
  4. โดยใช้กระสวย เป็นตัววิ่งด้าย สลับไปมา ซ้าย-ขวา และในกระสวยจะมีม้วนด้ายที่ต่างๆ ใส่ไว้ในกระสวย เพื่อสามารถเปลี่ยนสีด้ายได้ เช่น การทำแทบสีผ้าขาวม้า หรือ ลายสีด้าย ทอผ้าขาวม้าต่อไปเลื่อยๆจนเสร็จ เป็นผืนหน้ากว้าง 34 นิ้ว  ความยาว 1.50 เมตร เป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อย จากนั้นมาบรรจุใส่หีบห่อ ให้เรียบร้อย และนำไปจัดจำหน่ายต่อไปๆ

3. เคล็ดลับในการผลิต

- เส้นใยผ้าฝ้ายที่นำมาใช้ในการมาทอมือนั้นจะใช้ฝ้ายแท้ ซึ่งจะทำให้เกิดความนุ่มนวลของตัวผ้า ซึ่งส่งผลให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายจากการได้สวมใส่

4. คุณสมบัติของผ้าขาวม้า

ดูแลรักษาง่าย สวมใส่สบาย สามารถถ่ายเทความร้อนได้ดี ระบายความชื้นจากน้ำและเหงื่อได้เร็ว มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สามารถทนความร้อนสูงได้ 

5. ประโยชน์ในการใช้สอยของผ้าขาวม้า

ทำความสะอาดร่างกาย, ปูรองนั่ง, โพกศีรษะกันแดด, นุ่งแทนกางเกง, ห่มคลุมร่างกาย, นุ่งกระโจมอกแทนผ้าถุง, ม้วนหนุนหัวแทนหมอน ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้, คลุมโต๊ะ, ซับเหงื่อ, ผูกเป็นเปล, คลุมเวลาผลัดเปลี่ยนผ้า, เป็นผ้าเช็ดตัว, เป็นผ้ากันเปื้อน, กระเป๋าใส่สัมภาระ

6. การดูแลเก็บรักษาผ้าขาวม้า

- สามารถซักได้ด้วยมือและเครื่องซักผ้า ยิ่งซักผ้าจะยิ่งนุ่ม

- ซักในน้ำอุณหภูมิสูงและรีดด้วยความร้อนค่อนข้างสูงได้เช่นเดียวกัน

- ควรใช้ผงซักฟอกอ่อน /ไม่มีฟอกสี ถ้าจะให้ดีใช้น้ำยากซักผ้าแบบอ่อนแบบซักผ้าเด็ก

คำศัพท์ที่ควรรู้

ฟันฟืม หมายถึง ส่วนประกอบหนึ่งของกี่ทอผ้า มีฟันเป็นซี่คล้ายหวี ใช้กระทบให้ด้ายหรือไหมเส้นยืนและเส้นพุ่งประสานกันแน่น ฟืมเป็นสิ่งกำหนดความแคบและความกว้างของหน้าผ้า   

ร้อยตะกอ หมายถึง การนำด้ายยืนร้อยเข้าไปในห่วงของตะกอ แบ่งด้ายยืนออกเป็นหมู่ จะเป็นกี่หมู่นั้นขึ้นอยู่กับลวดลายที่ต้องการ

สืบหูก หมายถึง การต่อด้ายในการทอหูก

ที่มาข้อมูล

บทความวิชาการ วัฒนธรรมสร้างสรรค์มนต์เสน่ห์แห่งผืนผ้าลายตาราง นามว่า “ผ้าขาวม้าสารพัดนึก” Creative Culture: the Wonderful and Versatile Pakama โดย ดร.ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว

ข่าวสดรายวัน วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 7900 http://daily.khaosod.co.th/view_news.php?

newsid=TURONWIzVXdNakUyTURjMU5RPT0=&sectionid=Y25Wd1lXbHRiMlJs&day=TWpBeE1pMHdOeTB4Tmc9PQ

หนังสือพิมพ์บ้านเมือง.  27 มกราคม 2541.  หน้า 17-18.

http://mblog.manager.co.th/comenubb/th-87272/  (2554, พฤศจิกายน  1).

“บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ธีรกานต์ ใน การวิจัยทางวัฒนธรรม”, https://www.gotoknow.org/posts/467482

  1. (อาภรณ์ จันทร์สว่าง. 2523)
  2. 2.0 2.1 2.2 สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (http://www.lib.ru.ac.th/journal/loincloth.html)
  3. หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค. 2539.
  4. [1]