ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ปีแยร์ รอซีเย"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
วางวันตายที่แน่นอน
เกินเวลาเสนอ
บรรทัด 1: บรรทัด 1:
{{บทความคัดสรร}}
[[ไฟล์:Rossier studio mark.jpg|thumb|เครื่องหมายสตูดิโอถ่ายภาพของรอซีเยในฟรีบูร์]]
[[ไฟล์:Rossier studio mark.jpg|thumb|เครื่องหมายสตูดิโอถ่ายภาพของรอซีเยในฟรีบูร์]]



รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:07, 27 พฤศจิกายน 2560

เครื่องหมายสตูดิโอถ่ายภาพของรอซีเยในฟรีบูร์

ปีแยร์ โฌแซ็ฟ รอซีเย (ฝรั่งเศส: Pierre Joseph Rossier; 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1829 – 22 ตุลาคม ค.ศ. 1886[1]) เป็นช่างภาพยุคบุกเบิกชาวสวิส ถ่ายภาพโดยวิธีแอลบูเมน รวมถึงการภาพถ่ายสามมิติ และภาพการ์ตเดอวีซิตที่เป็นภาพถ่ายบุคคล ภาพทิวทัศน์ของเมือง และภาพภูมิทัศน์ เขาได้รับว่าจ้างจากบริษัท เนเกรตตีและแซมบรา (Negretti and Zambra) ในกรุงลอนดอนให้เดินทางมาทวีปเอเชียเพื่อบันทึกภาพกองทัพอังกฤษ-ฝรั่งเศสในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง แม้ไม่ได้ร่วมคณะทหารไปด้วย แต่เขายังคงอยู่ในทวีปเอเชียหลายปี โดยผลิตผลงานเพื่อการค้าเป็นครั้งแรกให้กับประเทศจีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และสยาม เขาถือเป็นช่างภาพอาชีพคนแรกของประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นเขาได้สอนฟุรุกะวะ ชุมเป, คะวะโนะ เทโซ, อุเอะโนะ ฮิโกะมะ, มะเอะดะ เก็นโซ, โฮะริเอะ คุวะจิโร และช่างภาพรุ่นแรกคนอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงลดหลั่นไปของญี่ปุ่น ส่วนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาก่อตั้งสตูดิโอถ่ายภาพในเมืองฟรีบูร์และไอน์ซีเดิล์น และยังคงผลิตภาพถ่ายในสถานที่อื่น ๆ ของประเทศ รอซีเยถือเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรกของการถ่ายภาพ ไม่เพียงเพราะผลงานภาพถ่ายของเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะการสอนของเขาได้ส่งผลกระทบสำคัญแก่วงการถ่ายภาพญี่ปุ่นในยุคบุกเบิกด้วย

อัตลักษณ์และกำเนิด

ข้อมูลเกี่ยวกับรอซีเยเป็นที่ทราบกันน้อยมากจนเมื่อไม่นานมานี้ แม้ชื่อตัวของเขาก็ยังเคยเป็นปริศนา ในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ บางครั้งเขาใช้ชื่อว่า เป. รอซีเย (P. Rossier) และในบางครั้งก็มีอีกชื่อคือ แอม. รอซีเย (M. Rossier) ในที่สุดเอกสารต่าง ๆ ที่พบที่เมืองฟรีบูร์ก็ทำให้พิสูจน์ได้ว่าเขามีชื่อตัวว่า ปีแยร์ และสามารถอนุมานได้ว่า อักษร M ใน M. Rossier นั้นย่อมาจาก "เมอซีเยอ" ([Monsieur] ข้อผิดพลาด: {{Lang}}: ข้อความมีมาร์กอัปตัวเอียง (ช่วยเหลือ)) ซึ่งเป็นคำนำหน้าชื่อบุคคลชายในภาษาฝรั่งเศส มีความเชื่อกันมานานว่าเขามาจากฝรั่งเศส และขณะที่เขาอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เขายังถูกเรียกว่าเป็น "ชาวอังกฤษ" อีกด้วย[2] อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยในปัจจุบันเปิดเผยว่า รอซีเยเป็นชาวสวิส เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1829 ที่กร็องซีวาซ หมู่บ้านเล็ก ๆ ในรัฐฟรีบูร์ เขาเป็นบุตรคนที่ 4 จากพี่น้อง 10 คน ในครอบครัวเกษตรกรที่มีทรัพย์สินไม่มากนัก ในวัย 16 ปี เขาเป็นครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในหมู่บ้านข้างเคียง แต่เมื่อถึง ค.ศ. 1855 เขาได้หนังสือเดินทางสำหรับเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษในฐานะช่างภาพ[3]

ช่วงหนึ่งหลังออกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์และก่อนเดินทางถึงประเทศอังกฤษ รอซีเยได้รับการว่าจ้างจากบริษัท เนเกรตตีและแซมบรา (Negretti and Zambra) ให้เดินทางไปประเทศจีนเพื่อบันทึกภาพในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง (ค.ศ. 1858–1860) เป็นไปได้ว่าทางบริษัทเล็งเห็นว่า สัญชาติสวิสของรอซีเยเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางดังกล่าว โดยสถานะเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์น่าจะเอื้อให้เขาเดินทางข้ามประเทศด้วยเรือของอังกฤษหรือเรือของฝรั่งเศสก็ได้ เมื่อพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่สูงและความไม่แน่นอนที่บริษัทก่อขึ้น รวมทั้งภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวรอซีเยเอง นี่จึงเป็นการว่าจ้างครั้งสำคัญ[4]

การถ่ายภาพในทวีปเอเชีย

French Sailors at Canton, ค.ศ. 1858. ภาพสามมิติ, การพิมพ์ภาพแบบอัลบูเมน

รอซีเยอยู่ที่ฮ่องกงในปี ค.ศ. 1858 และเริ่มถ่ายภาพในไม่ช้า ภาพส่วนใหญ่ถ่ายในกว่างโจวและรอบ ๆ กว่างโจว[5] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1859 เนเกรตตีและแซมบรา จัดพิมพ์ภาพของรอซีเย 50 ภาพ รวมถึงภาพสามมิติด้วย ซึ่งได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกจากสิ่งพิมพ์รายคาบด้านการถ่ายภาพในช่วงเวลานั้น ใน ค.ศ. 1858 หรือ 1859 รอซีเยเดินทางมาถึงฟิลิปปินส์ เขาเดินทางมาถ่ายภาพภูเขาไฟตาอัล รอซีเยถึงประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1859 ถ่ายภาพแรก ๆ ในนะงะซะกิ คะนะงะวะ โยะโกะฮะมะ และเอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) เขาเป็นช่างภาพอาชีพคนแรกที่เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น[6] ภาพถ่ายของรอซีเยภาพหนึ่งในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1859 (ขณะที่เขาอยู่ในนะงะซะกิ) เป็นภาพลูกชายของฟีลิพพ์ ฟรันทซ์ ฟ็อน ซีบ็อลท์ ที่ชื่ออาเล็กซันเดอร์ กับกลุ่มซะมุไรจากกลุ่มนะเบะชิมะ[7]

ปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1860 รอซีเยอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และเป็นไปได้ว่าเขาเดินทางมายังเมืองนี้เพื่อพยายามขออนุญาตติดตามกองทัพอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่เดินทัพไปถึงภาคเหนือของประเทศจีนแล้ว เพื่อจะบันทึกภาพสงครามฝิ่นครั้งที่สองตามที่ได้รับว่าจ้างมาให้ลุล่วง[8] หากเขาตั้งใจเช่นนั้นจริง เขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกองทัพทั้งสองได้จ้างช่างภาพเพื่อบันทึกภารกิจไว้แล้ว กองทัพอังกฤษจ้างช่างภาพชื่อ ฟีลิกซ์ เบอาโต และจอห์น แพพิยอน ส่วนกองทัพฝรั่งเศสจ้างอ็องตวน โฟเชอรี, พันโท ดูว์ แป็ง และอาจรวมถึงหลุยส์ เลอกร็อง[9] แม้รอซีเยจะพลาดภารกิจที่เขาได้รับว่าจ้างมา แต่เขาก็ยังอยู่ในเอเชียตะวันออกเพื่อบันทึกภาพต่อไป

เมื่อถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1860 รอซีเยก็ได้กลับไปยังนะงะซะกิ เขาถ่ายภาพท่าของเมืองในนามของจอร์จ เอส. มอร์ริสัน กงสุลบริเตนซึ่งจ่ายค่าจ้างให้เขาเป็นเงิน 70 เหรียญสหรัฐ[10] ถึงแม้ เนเกรตตีและแซมบรา โฆษณาภาพถ่ายของรอซีเยอย่างน้อย 2 ครั้งใน ค.ศ. 1860 แต่บริษัทก็ไม่ได้จัดพิมพ์ภาพเหล่านั้นจนเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ค.ศ. 1861[11] มีการเผยแพร่ภาพถ่ายทิวทัศน์ญี่ปุ่น 5 ภาพของรอซีเยก่อนในหนังสือ เท็นวีกส์อินเจแปน ของจอร์จ สมิท ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1861 และในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน ภาพถ่ายในญี่ปุ่นอีก 8 ภาพของเขาก็ปรากฏในรูปแบบภาพพิมพ์หินในหนังสือ Japan, the Amoor, and the Pacific ของเฮนรี อาร์เทอร์ ทิลลีย์[12] นิตยสาร Illustrated London News ฉบับหนึ่งในปี ค.ศ. 1861 ได้ตีพิมพ์ภาพพิมพ์ลายแกะหลายภาพร่วมกันในชื่อ Domestic Life in China โดยใช้ภาพสามมิติที่ถ่ายโดยรอซีเย[13] หนึ่งในภาพถ่ายที่ เนเกรตตีและแซมบรา ได้โฆษณาไว้ในปี ค.ศ. 1860 กลายเป็นภาพถ่ายทิวทัศน์ญี่ปุ่นเชิงพาณิชย์ภาพแรกที่มีการจัดพิมพ์ และเป็นภาพถ่ายญี่ปุ่นที่ลงสีด้วยมือที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบ[14]

จากเอกสารจำนวนมากในช่วงนั้น ทำให้สามารถยืนยันได้ว่ารอซีเยเป็นผู้ถ่ายภาพทิวทัศน์ในจีนและญี่ปุ่นของบริษัท เนเกรตตีและแซมบรา แต่คนทั้งหลายต่างเชื่อว่าผู้อื่นถ่ายภาพเหล่านี้เป็นเวลาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นวอลเทอร์ บี. วุดเบอรี ที่ได้รับการว่าจ้างจาก เนเกรตตีและแซมบรา เช่นกัน แต่เขาประจำการอยู่ในปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือจาการ์ตา) หรือเอเบิล กาวเวอร์ ช่างภาพสมัครเล่นในญี่ปุ่น สิ่งที่น่าสนใจคือ คลังสะสมภาพถ่ายของมหาวิทยาลัยไลเดินมีภาพถ่ายที่กล่าวกันว่าเป็นภาพของกาวเวอร์ แต่มีการเซ็นว่า "เป. รอซีเย" และในปี ค.ศ. 1859 ทั้งรอซีเยและกาวเวอร์ได้เดินทางไปด้วยกันในเรือหลวงแซมป์ซัน จากนะงะซะกิไปยังเอะโดะ[15]

การสอนถ่ายภาพ

View of Yokohama, ค.ศ. 1859. ภาพสามมิติ, การพิมพ์ภาพแบบอัลบูเมน

รอซีเยเดินทางมาถึงประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1859 อันเป็นช่วงเวลาที่การทดลองการถ่ายภาพสมัยแรก ๆ กำลังเริ่มต้นในเกาะคีวชู โดยเฉพาะที่นะงะซะกิ เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของรังงะกุ (องค์ความรู้ที่ต่อยอดจากวิทยาการตะวันตก) และเป็นเมืองที่แพทย์ 2 คน ได้แก่ ยัน กาเริล ฟัน แด็นบรุก และเย. แอ็ล. เซ. โปมเปอ ฟัน เมร์เดอร์โฟร์ต เป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษาชาวญี่ปุ่น ไม่เฉพาะวิชาการแพทย์ แต่ยังรวมถึงวิชาเคมีและวิชาการถ่ายภาพอีกด้วย[16] แต่ทั้งฟัน แด็นบรุก และโปมเปอ ฟัน เมร์เดอร์โฟร์ต ต่างก็ไม่ใช่ช่างภาพผู้มีประสบการณ์ ความพยายามถ่ายภาพส่วนมากก็ล้มเหลว[17] ถึงกระนั้น พวกเขาก็ได้สอนการถ่ายภาพด้วยกระบวนการกระจกเปียกให้แก่เคอิไซ โยชิโอะ,[18] ฟุรุกะวะ ชุมเป, คะวะโนะ เทโซ, มะเอะดะ เก็นโซ, อุเอะโนะ ฮิโกะมะ, โฮะริเอะ คุวะจิโร เป็นต้น[19]

เมื่อรอซีเยมาถึงประเทศญี่ปุ่น คาดว่าเขาคงแนะนำตัวเองว่าเป็นช่างภาพที่บริษัท เนเกรตตีและแซมบรา ส่งมาทำงานในญี่ปุ่น นี่อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน กล่าวคือ ระหว่างที่อยู่ญี่ปุ่น เขาถูกเรียกว่าช่างภาพชาวอังกฤษอยู่บ่อยครั้ง ในนะงะซะกิ รอซีเยมีผู้ช่วยคือมะเอะดะ เก็นโซ ซึ่งได้รับคำสั่งให้ติดตาม "คนอังกฤษ" และเรียนรู้การถ่ายภาพเพิ่มเติม[20] ทั้งมะเอะดะและนักเรียนคนอื่น ๆ ติดตามเขาระหว่างอยู่ในเมือง รอซีเยได้ถ่ายภาพนักบวช ขอทาน ผู้ชมการแข่งขันซูโม่ นิคมชาวต่างชาติ และถ่ายภาพอาเล็กซันเดอร์ ฟ็อน ซีบ็อลท์ กับกลุ่มซะมุไร รอซีเยเชื่อว่าความล้มเหลวในการถ่ายภาพของโปมเปอ ฟัน เมร์เดอร์โฟร์ต มีสาเหตุมาจากการขาดแคลนสารเคมีที่จำเป็น ดังนั้นเขาจึงเขียนจดหมายรับรองให้มะเอะดะเพื่อให้ได้มาซึ่งอุปกรณ์และสารเคมีสำหรับการถ่ายภาพจากแหล่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ ทั้งมะเอะดะและฟุรุกะวะได้ซื้อเลนส์ สารเคมี และกระดาษแอมบูเมนผ่านทางรอซีเย[21]

ในช่วงเวลานั้น รอซีเยยังได้สอนถ่ายภาพให้กับอุเอะโนะ ฮิโกะมะและโฮะริเอะ คุวะจิโรอีกด้วย ชัดเจนว่าในช่วงแรก อุเอะโนะมีเจตนาเรียนรู้ไม่เพียงแต่การถ่ายภาพแต่อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการผลิตกล้องด้วย ดูเหมือนว่าการพบกับรอซีเยจะทำให้อุเอะโนะเกิดความมุ่งมั่นไล่ตามฝันเป็นช่างภาพมืออาชีพ แต่เขาก็จำนนต่อเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพจนเลิกล้มความคิดผลิตกล้องของตัวเองอย่างรวดเร็ว ภายในไม่กี่เดือน เขาและโฮะริเอะซื้อกล้องถ่ายรูปและสารเคมีต่าง ๆ จากฝรั่งเศส ก่อนยึดอาชีพเป็นช่างภาพอิสระ[22]

แม้ว่ารอซีเยใช้เวลาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และมรดกการถ่ายรูปจากยุคสมัยของเขาจะเหลือเพียงน้อยนิด แต่เขาก็มีอิทธิพลต่อวงการถ่ายภาพของญี่ปุ่นอยู่ช้านาน[6]

บั้นปลายชีวิตและมรดกตกทอด

Portrait of a Siamese woman, ประมาณ ค.ศ. 1861. การพิมพ์ภาพแบบอัลบูเมน

ค.ศ. 1861 รอซีเยอยู่สยาม เขาทำงานร่วมกับมารี ฟีร์แม็ง บอกูร์ นักสัตววิทยาชาวฝรั่งเศส ช่วยถ่ายภาพทางชาติพันธุ์วรรณนาให้คณะสำรวจด้านวิทยาศาสตร์ของบอกูร์ระหว่าง ค.ศ. 1861–1862 และใน ค.ศ. 1863 เนเกรตตีและแซมบรา ได้ตีพิมพ์ชุดภาพถ่ายสามมิติของบุคคลและภาพทิวทัศน์ในสยามจำนวน 30 รูป ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผลงานของรอซีเยอย่างไร้ข้อกังขา[12] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1862 รอซีเยกลับเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง เขาขายกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพก่อนลงเรือกลับยุโรป[23] ระหว่างที่เขาอยู่ในทวีปเอเชีย เป็นไปได้ว่ารอซีเยไปถ่ายภาพในอินเดียด้วย สันนิษฐานจากที่ เนเกรตตีและแซมบรา ตีพิมพ์ภาพชุดทิวทัศน์อินเดียในช่วงเวลาเดียวกับภาพถ่ายทิวทัศน์จีนของรอซีเย[12]

รอซีเยเดินทางกลับถึงสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงต้น ค.ศ. 1862 และได้สมรสกับแคเทอริน บาร์บ เคลิน (ค.ศ. 1843–1867) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1865 ทั้งคู่มีบุตรชื่อ คริสต็อฟ มารี ปีแยร์ โฌแซ็ฟ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1866 ต่อมาแคเทอรินเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1867

รอซีเยยังดำเนินกิจการสตูดิโอถ่ายภาพในฟรีบูร์จนกระทั่ง ค.ศ. 1876 เป็นอย่างน้อย เขายังมีสตูดิโอในในเมืองไอน์ซีเดิล์น และระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1860 ถึงคริสต์ทศวรรษ 1870 เขาผลิตภาพถ่ายสามมิติและการ์ตเดอวีซิตอันประกอบด้วยภาพบุคคลและภาพทิวทัศน์ของเมืองฟรีบูร์, ไอน์ซีเดิล์น และสถานที่อื่น ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาใน ค.ศ. 1871 ลาลีแบร์เต หนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสจากเมืองฟรีบูร์ลงโฆษณาโดยเสนอภาพถ่ายงานจิตรกรรมทางศาสนาของศิลปินที่ชื่อ เม็ลชียอร์ เพาล์ ฟ็อน เดชวันเดิน ซึ่งรอซีเยเป็นผู้ถ่าย[24] ใน ค.ศ. 1872 รอซีเยจัดแจงขอหนังสือเดินทางเพื่อเดินทางไปยังฝรั่งเศส คาดว่าเขาอาจถ่ายภาพที่นี่ จากนั้นในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง ค.ศ. 1871 ถึง 1884 เขาสมรสอีกครั้ง ภรรยาคนที่ 2 ชื่อ มารี วีร์ฌีนี ออแวร์แน ซึ่งเป็นคนรับใช้ของเจ้าของที่ดินของสตูดิโอเขา ทั้งคู่มีบุตรชายชื่อ โฌแซ็ฟ หลุยส์ ซึ่งเกิดในปารีสเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1884 ต่อมาบุตรคนนี้ไปมีร้านกาแฟในเมืองเวอแว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเสียชีวิตใน ค.ศ. 1927

ปีแยร์ รอซีเย เสียชีวิตในปารีสในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี ค.ศ. 1883 ถึง 1898[4]

ภาพถ่ายทิวทัศน์สวิตเซอร์แลนด์จำนวนหนึ่งของรอซีเยได้รับการจัดเก็บไว้ในสถาบันและงานสะสมส่วนบุคคลหลายแห่งในประเทศ รอซีเยถ่ายภาพทิวทัศน์จีนและญี่ปุ่นในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ปัจจุบันภาพถ่ายเหล่านั้นหาดูได้ยาก บางครั้งเขาก็บ่นเรื่องผลกระทบทางลบของภูมิอากาศต่อสารเคมีสำหรับถ่ายภาพของเขา และภาพเนกาทิฟบางภาพอาจได้รับความเสียหายระหว่างทางจากทวีปเอเชียไปยังลอนดอน แม้ภาพถ่ายของรอซีเยจะหลงเหลืออยู่ไม่มากนักในปัจจุบัน แต่เขาก็มีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์สมัยเริ่มแรกของวิชาการถ่ายภาพในทวีปเอเชีย ก่อนเขาถึงญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1859 นักเรียนวิชาการถ่ายภาพชาวญี่ปุ่นมักติดขัดในการผลิตผลงานถ่ายภาพให้น่าพึงพอใจ แต่ประสบการณ์ คำสอน และการติดต่อกับผู้จัดส่งวัตถุดิบสำหรับการถ่ายภาพของรอซีเยนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาขนบการถ่ายภาพในลักษณะเฉพาะของญี่ปุ่น

หมายเหตุและอ้างอิง

  1. "ทะเบียนข้อมูลโยธาของกรุงปารีส - บันทึกความตาย". archives.paris.fr. p. 17. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |dead-url= (help)
  2. เขาถูกระบุว่าเป็นชาวฝรั่งเศสโดย Yokoe (167) เป็นต้น แม้แต่ฐานข้อมูล ULAN จากสถาบันเกตตีรีเซิร์ช ก็ยังระบุชื่อเขาเป็น Rossier, M. โดยเขียนว่า อาจเป็นชาวอังกฤษ (Union List of Artist Names).
  3. เบ็นนิตต์ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการวิจัยว่าด้วยการเปิดเผยอัตลักษณ์และปูมหลังของรอซีเย ข้อมูลเกี่ยวกับรอซีเยที่เราทราบกันส่วนใหญ่มาจากผลงานของเบ็นนิตต์ (ในบทความนี้จะอ้างอิงบทความทางอินเทอร์เน็ต The Search for Rossier ของเบ็นนิตต์ในชื่อ "Bennett" และจะอ้างอิงหนังสือ Early Japanese Images, Photography in Japan: 1853-1912 และ Old Japanese Photographs ของเขาโดยใช้ชื่อ "Bennett EJI", "Bennett PiJ" และ "Bennett OJP" ตามลำดับ)
  4. 4.0 4.1 Bennett.
  5. Bennett. เวอร์ซิกระบุว่ารอซีเยอยู่ในจีนระหว่างปี ค.ศ. 1857 ถึง 1859 แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมากไปกว่านั้น (Worswick, 146).
  6. 6.0 6.1 Yokoe, 167.
  7. ภาพถ่ายนี้อยู่ในคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ซีบ็อลท์ในนะงะซะกิ (Himeno, 22).
  8. กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสได้มาสมทบกันอยู่ก่อนแล้วที่อ่าวต้าเหลียนและจีฝู (เอียนไถ) ตามลำดับในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1860 (Harris, 17) และรอซีเยได้อยู่ที่เซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1860 เป็นไปได้ว่าเขาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้เพื่อหาซื้อสารเคมีสำหรับถ่ายภาพ (Bennett).
  9. Bennett; Thiriez. แพพิยอนได้ถ่ายภาพตั้งแต่กว่างโจวไปจนถึงป้อมต้ากู แต่ล้มป่วยและถูกเคลื่อนย้ายออกไปก่อนเสร็จสิ้นภารกิจ ภาพถ่ายการเดินทัพที่เป็นผลงานของโฟเชอรีก็ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่นอน แต่น่าจะรวมถึงภาพสามมิติของกองทัพฝรั่งเศส 24 ภาพในกว่างโจว เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และปักกิ่ง นอกจากนี้ก็ไม่พบหลักฐานยืนยันว่าดูว์ แป็ง และเลอกร็องได้ถ่ายภาพระหว่างการเดินทัพจริง ๆ. Thiriez, 6-7.
  10. Dobson, 20; Clark, Fraser, and Osman, 137-138).
  11. หนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1860 มีโฆษณาภาพสามมิติ "ลงสีสมบูรณ์" ของ "สตรีญี่ปุ่นในชุดเต็มยศ" ซึ่งถ่ายโดยรอซีเย และโฆษณาใน เดอะไทมส์ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1860 อ้างว่าจะมี "ภาพถ่ายจากญี่ปุ่น – กรณีภาพถ่ายแปลกและหาดูยากของฉากหลังธรรมชาติในประเทศที่น่าสนใจประเทศนี้ และภาพประกอบแสดงกิริยาอาการและประเพณีของเผ่าชนในญี่ปุ่น ฝีมือศิลปินพิเศษที่ถูกส่งไปเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวโดยบริษัทห้างร้านเนเกรตตีและแซมบราแห่งลอนดอน" เบ็นนิตต์ยังคาดว่า เนเกรตตีและแซมบรา เลื่อนการเผยแพร่ภาพเหล่านี้ออกไปเนื่องจากปัญหาเรื่องคุณภาพของเนกาทิฟ ซึ่งอาจเป็นเพราะความเสียหายระหว่างการขนส่ง หรือเป็นเพราะรอซีเยประสบความยากลำบากในการหาสารเคมีที่ถูกต้องสำหรับการถ่ายภาพในเอเชีย (Bennett).
  12. 12.0 12.1 12.2 Bennett PiJ, 49.
  13. Bennett OJP, 119.
  14. ภาพนั้นคือภาพ Japanese ladies in full dress (Bennett PiJ, 47; 49, fig. 45).
  15. Bennett PiJ, 45; 117, fig. 141.
  16. Himeno, 18, 20-21.
  17. แม้กล้องถ่ายภาพที่ฟัน แด็นบรุก นำเข้ามาในญี่ปุ่นจะมีคู่มือการใช้แนบมาด้วย แต่ดูเหมือนว่าเขาก็ยังไม่สามารถผลิตภาพถ่ายได้เป็นที่น่าพอใจ และเขาตัดสินว่า ช่างภาพที่มีประสบการณ์เท่านั้นที่จะสามารถสอนการใช้กล้องได้ ส่วนโปมเปอ ฟัน เมร์เดอร์โฟร์ต ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จไปมากกว่ากัน โดยมะสึโมะโตะ จุง ได้บรรยายผลการทดลองถ่ายภาพครั้งหนึ่งของโปมเปอ ฟัน เมร์แดรโฟร์ตว่าเป็น "เงาดำ ๆ" (Himeno, 21-22).
  18. เคอิไซ เป็นลุงและครูของช่างภาพอุชิดะ คุอิชิ (Himeno, 24-25).
  19. Himeno, 21-22.
  20. มะสึโมะโตะ จุง สั่งให้มะเอะดะช่วยเหลือรอซีเย ความเชื่อมโยงระหว่างมะสึโมะโตะกับการถ่ายภาพอีกครั้งหนึ่งย้อนไปถึงช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1857 ถึง 1859 เมื่อเขารับอุชิดะ คุอิชิ วัย 13 ปี เป็นลูกบุญธรรม ในอนาคตอุชิดะจะได้เป็นช่างถ่ายภาพ (Bennett EJI, 54).
  21. Himeno, 21–22. มะเอะดะและฟุรุกะวะประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์เหล่านี้ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1860 ในวันนี้ยังคงมีการเฉลิมฉลองในฟุกุโอะกะซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาถ่ายภาพนั้น (Himeno, 22)
  22. Himeno, 22. อุเอะโนะได้ก้าวหน้าจนกลายเป็นช่างภาพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดและสำคัญที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่นสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19
  23. รายชื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ มีอยู่ในประกาศโฆษณา (Bennett PiJ, 49).
  24. Bennett OJP, 120.

บรรณานุกรม

  • Bennett, Terry. Early Japanese Images. Rutland, Vermont: Charles E. Tuttle, 1996. ISBN 0-8048-2033-3 (paper), ISBN 0-8048-2029-5 (hard)
  • Bennett, Terry. Old Japanese Photographs: Collector's Data Guide London: Quaritch, 2006. ISBN 0-9550852-4-1 (hard)
  • Bennett, Terry. Photography in Japan: 1853-1912 Rutland, Vermont: Charles E. Tuttle, 2006. ISBN 0-8048-3633-7 (hard)
  • Bennett, Terry. The Search for Rossier: Early Photographer of China and Japan. Accessed 12 September 2006; cited above as "Bennett". Originally appeared in The PhotoHistorian-Journal of the Historical Group of the Royal Photographic Society, December 2004.
  • Clark, John, John Fraser, and Colin Osman. "A revised chronology of Felice (Felix) Beato (1825/34?-1908?)". In Japanese Exchanges in Art, 1850s to 1930s with Britain, Continental Europe, and the USA: Papers and Research Materials. Sydney: Power Publications, 2001. ISBN 1-86487-303-5
  • Dobson, Sebastian. "Yokohama Shashin". In Art and Artifice: Japanese Photographs of the Meiji Era — Selections from the Jean S. and Frederic A. Sharf Collection at the Museum of Fine Arts, Boston. Boston: MFA Publications, 2004. ISBN 0-87846-682-7 (paper), ISBN 0-87846-683-5 (hard)
  • Harris, David. Of Battle and Beauty: Felice Beato's Photographs of China. Santa Barbara: Santa Barbara Museum of Art, 1999. ISBN 0-89951-100-7 (paper), ISBN 0-89951-101-5 (hard)
  • Himeno, Junichi. "Encounters With Foreign Photographers: The Introduction and Spread of Photography in Kyushu". In Reflecting Truth: Japanese Photography in the Nineteenth Century, ed. Nicole Coolidge Rousmaniere, Mikiko Hirayama. Amsterdam: Hotei Publishing, 2004. ISBN 90-74822-76-2
  • Thiriez, Régine. Barbarian Lens: Western Photographers of the Qianlong Emperor's European Palaces. Amsterdam: Gordon and Breach, 1998. ISBN 90-5700-519-0
  • Union List of Artist Names, s.v. "Rossier, M.". Accessed 15 September 2006.
  • Worswick, Clark. Japan: Photographs 1854-1905. New York: Pennwick/Alfred A. Knopf, 1979. ISBN 0-394-50836-X
  • Yokoe Fuminori. "The Arrival of Photography". In The Advent of Photography in Japan / 寫眞渡來のころ. Tokyo: Tokyo Metropolitan Museum of Photography; Hakodate: Hakodate Museum of Art, 1997. Exhibition catalogue with bilingual text.