ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พญาสามฝั่งแกน"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ไม่มีความย่อการแก้ไข
SARANPHONG YIMKLAN (คุย | ส่วนร่วม)
ย้อนการแก้ไขที่ 5510424 สร้างโดย Nednai.Lukmaenim (พูดคุย)
บรรทัด 1: บรรทัด 1:
'''พญาสามฝั่งแกน''' ({{lang-nod|ᨻᩕ᩠ᨿᩣᩈᩣ᩠ᨾᨺᩢ᩠᩵ᨦᨠᩯ᩠ᨶ}}) เป็นเจ้าผู้ครองนครแห่ง[[ราชวงศ์เม็งราย]]ลำดับที่ 8 และเป็นลำดับที่ 32 แห่งราชวงศ์ลวจังกราช ประสูติเมื่อ พ.ศ. 1941 ครองราชสมบัติ 31 ปี ทิวงคต พ.ศ. 1990 สิริพระชนมายุได้ 49 พรรษา<ref>ลำจุล ฮวบเจริญ. '''เกร็ดพงศาวดารล้านนา'''. (กรุงเทพฯ: The Knowledge Center, 2550) , หน้า132.</ref>
'''พญาสามฝั่งแกน''' ({{lang-nod|[[ไฟล์:LN-King Samfangkaen.png|100px]]}}) เป็นเจ้าผู้ครองนครแห่ง[[ราชวงศ์เม็งราย]]ลำดับที่ 8 และเป็นลำดับที่ 32 แห่งราชวงศ์ลวจังกราช ประสูติเมื่อ พ.ศ. 1941 ครองราชสมบัติ 31 ปี ทิวงคต พ.ศ. 1990 สิริพระชนมายุได้ 49 พรรษา<ref>ลำจุล ฮวบเจริญ. '''เกร็ดพงศาวดารล้านนา'''. (กรุงเทพฯ: The Knowledge Center, 2550) , หน้า132.</ref>


== พระนามพญาสามฝั่งแกน ==
== พระนามพญาสามฝั่งแกน ==

รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:34, 20 กรกฎาคม 2558

พญาสามฝั่งแกน (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นเจ้าผู้ครองนครแห่งราชวงศ์เม็งรายลำดับที่ 8 และเป็นลำดับที่ 32 แห่งราชวงศ์ลวจังกราช ประสูติเมื่อ พ.ศ. 1941 ครองราชสมบัติ 31 ปี ทิวงคต พ.ศ. 1990 สิริพระชนมายุได้ 49 พรรษา[1]

พระนามพญาสามฝั่งแกน

ในตำนานเก่าแก่แต่โบราณมีการเรียกนามของพญาสามฝั่งแกนต่างกันไปนาๆ เช่น “ ดิษฐกุมาร” หรือ “เจ้าดิส” ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ “พระเจ้าสามปรายงค์แม่ใน” ในตำนานไม่ปรากฏนามและ “พญาสามประหญาฝั่งแกน” ในหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา ของสรัสวดี อ๋องสกุล[2] เป็นต้น

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดเมธังกราวาส จังหวัดแพร่ กล่าวถึงที่มาของพระนามพญาสามฝั่งแกนว่า ทรงได้รับการตั้งพระนามตามสถานที่ประสูติ ช่วงนั้นพระราชมารดาของพระองค์ทรงครรภ์ได้ 8 เดือน เจ้าแสนเมืองมาพาไปประพาสตามหัวเมืองต่างๆ ถึงสิบสองปันนาลื้อ พอล่วง 7 เดือนผ่านไป จึงเสด็จกลับมาที่พันนาสามฝั่งแกน และประสูติราชบุตรที่นั่น[3] ในปัจจุบันสันนิษฐานว่าอยู่ที่ ตำบลอินทขิล อำเภอ แม่แตง จังหวัด เชียงใหม่ โดยบริเวณเมืองเก่านี้มีแม่น้ำสามสาย ได้แก่ 1. แม่น้ำแกน 2. แม่น้ำปิง และ3. แม่น้ำสงัด หรืองัด

ในงานวิจัย รายงานการสำรวจพื้นฐาน ทุ่งพันแอกพันเฝือเมืองแกน ของศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ได้สันนิษฐานว่าพระนามของพระองค์อาจมาจากทั้งชื่อเมืองพันนาฝั่งแกน หรือชื่อแม่น้ำสามฝั่งแกน ในกรณีของชื่อแม่น้ำแกน อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ สันนิษฐานว่า อาจมาจากคำว่า “กั่งแก๊น” ซึ่งตำนานเมืองแกนกล่าวว่า เป็นอาการคับแค้นใจของประชาชนในเมืองแกนที่ถูกศัตรูรุกราน แล้วกวาดต้อนผู้คนไปทำให้พลัดพรากกัน หรืออาจมาจากคำว่า “แก๊น” แปลว่ากลาง[4]

ราชวงศ์พญาสามฝั่งแกน

พญาสามฝั่งแกนเป็นโอรสลำดับที่ 2 ของพญาแสนเมืองมา กับนางรายา ธิดาของเจ้าเมืองในเขตสิบสองพันนาโดยมีพระเชษฐาต่างมารดาชื่อท้าวยี่กุมกาม ในกรณีของลำดับองค์ราชบุตรพญาสามฝั่งแกนนั้น สงวน โชติสุขรัตน์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า ‘เข้าใจว่าคงจะเป็นโอรสองค์ที่ 3 เพราะตามธรรมเนียมไทโบราณ มีวิธีนับและเรียกลูกคนโตว่า “พี่อ้าย” คนต่อมาก็จะเรียกว่า ยี่-สาม-สี่-งั่ว-ลก-ตามลำดับ แต่ราชโอรสหรือราชธิดาองค์แรกนั้น อาจจะสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงไม่มีพระนามปรากฏไว้ในประวัติศาสตร์’

ฝ่ายพญาสามฝั่งแกนทรงมีโอรสต่างมารดาทั้งหมด 10 องค์ดังนี้ 1.ท้าวอ้าย 2.ท้าวยี่ 3.ท้าวสาม 4.ท้าวไส 5.ท้าวงัว 6.ท้าวลก 7.ท้าวเจ็ด 8.ท้าวแปด 9.ท้าวเก้า 10.ท้าวสิบ

  • ท้าวอ้าย พระบิดาคิดยกราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ เมื่อพระชนม์ได้ 5 พรรษา ตั้งวังอยู่ที่ใกล้เวียงเจ็ดลินได้ 4 ปี ก็ถึงแก่สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้ 9 พรรษา
  • ท้าวงัว หรือเจ้าเชียงล้าน พระบิดาให้ครองพันนาเชียงเรือ
  • ท้าวลก พระบิดาให้ครองเมืองพร้าว แบ่งสรรที่ดินชาวพร้าวังหินให้ 500 พันนา
  • ท้าวเจ็ด พระบิดาให้ครองเมืองเชียงราย
  • ท้าวสิบ พระบิดาให้ครองเมืองฝาง

ส่วนโอรสที่เหลืออีก 5 องค์นั้น คือ ท้าวยี่ ท้าวใส ท้าวแปด และท้าวเก้า พระบิดาปล่อยให้ไปตามทางเดินชีวิตของตนเอง

พระอัธยาศัย

ตำนานชินกาลมาลินีกล่าวถึงพญาสามฝั่งแกนในด้านลบว่า “พระเจ้าดิฐกุมารไม่เอื้อเฟื้อในศาสนาเหมือนพระบิดา คบหาแต่คนดีมีวิชาความรู้ภายนอก” ตรงกันข้ามกับตำนานเชียงใหม่ที่กล่าวสรรเสริญพระเกียรติของพระองค์ว่า มีสติปัญญาสามารถองอาจกล้าหาญ จัดการรักษาบ้านเมืองในเวลาศึกสงครามดีมาก

ความเชื่อเรื่องวิญญาณและเวทมนตร์คาถา

พญาสามฝั่งแกนทรงบูชาวิญญาณ รวมทั้งนับถือเทวดาอารักษ์ยักษ์ ภูติผีปีศาจแม่มดคนทรง เซ่นสรวงพลีกรรมต่างๆ โดยโปรดให้ฆ่าวัวควายสังเวยต้นไม้ เนินดิน ภูเขา และป่า

การสืบราชสันตติวงศ์

ภายหลังจากพญาแสนเมืองมาผู้เป็นพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ในปีพ.ศ. 1954 ราชบุตรสามฝั่งแกนซึ่งมีพระชนมายุ 13 พรรษา ได้รับการสนับสนุนจากอาให้เสวยราชสมบัติราชาภิเษกเป็นพระมหาราชเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ สืบสนององค์พระราชบิดา ภายหลังพระองค์ปูนบำเหน็จให้ โดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าสี่หมื่นครองเมืองพะเยา ส่วนพระราชมารดา พระองค์ได้สถาปนาไว้ในที่สมเด็จพระชนนีพันปีหลวง พระมหาเทวีโลกะ-จุกราชเทวี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องด้วยยังทรงพระเยาว์อยู่

การสงคราม

ศึกกรุงสุโขทัย

ขณะนั้นท้าวยี่กุมกามพระเชษฐาทรงครองเมืองเชียงรายอยู่ ครั้นพระองค์ได้ทราบข่าวว่าข้าราชการเสนาอำมาตย์ได้เชิญพระอนุชาขึ้นครองเมืองเชียงใหม่เป็นพญาสามฝั่งแกน หลังพระราชบิดาทิวงคต พระองค์ทรงกริ้วมากที่ตนไม่ได้ครองราชย์ จึงได้ยกรี้พลจากเชียงรายเข้าล้อมหมายจะรบชิงเอาราชสมบัติเมืองเชียงใหม่

ทางฝั่งเมืองเชียงใหม่เองก็ทราบดีว่าไม่ช้านานจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จึงได้มีการเตรียมกองทัพไว้ล่วงหน้าแต่เมื่อแรกยกราชสมบัติให้เจ้าสามฝั่งแกน ครั้นเจ้าท้าวยี่กุมกามยกทัพมา ฝ่ายเชียงใหม่ก็ยกทัพออกรบสู้ป้องกันเมืองจนกองทัพเชียงรายไม่สามารถเข้าหักเอาเมืองนครเชียงใหม่ได้ จำต้องล่าถอยหนีไป กระนั้นก็ตาม ฝ่ายกองทัพเชียงใหม่ยังได้ตั้งกองทัพสกัดทางเท้ายี่กุมกามที่จะเข้าเมืองเชียงราย จนพ่ายแพ้ยับเยินเสียรี้พลเป็นอันมาก เมื่อท้าวยี่กุมกามรู้แน่แล้วว่าตนเองไม่สามารถกินเมืองเชียงใหม่ได้ จึงหนีไปเพิ่งพระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไทย) ณ กรุงสุโขทัย

ฝ่ายพระมหาธรรมราชาที่ 3เองก็ทรงเห็นชอบ สั่งให้จัดกองทัพหลวงขึ้นมารบ โดยยกไพร่พลไปตามลำน้ำยมเพื่อเข้าไปตีเมืองพะเยาซึ่งอยู่ฝ่ายเหนือก่อน เมื่อเข้าประชิดเมืองพะเยานั้น ให้ปลูกหอเรือกสูง 12 วา ที่ตำบลหนองเต่า เพื่อจะเอาปืนยิงขึ้นกวาดในเมือง ฝ่ายข้างชาวเมืองพะเยาก็ไปรื้อเอาทองเหลืองกระเบื้องมุงหลังคาวัดมหาพนมาหล่อปืนใหญ่เล่มหนึ่ง ใหญ่ 4 กำ หนักสามล้านทอง เสร็จแล้วเซ่นสรวงพลีด้วยกระบือเผือก 1 กระบือ แล้วก็บรรจุลูกกระสุนดินดำ ยิงไปทำลายหอเรือกนั้นพังลง พระมหาธรรมราชาที่ 3เห็นร้าย จึงให้ท้าวยี่กุมกามนำทัพลาดขึ้นไปทางบ้านแจ้พรานไปเมืองเชียงราย พักบำรุงไพร่พลพอหายอิดโรยแล้ว ก็ยกลงมาทางเมืองฝาง

ตกวันเสาร์ก็เดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ ตั้งกองทัพอยู่ ณ ตำบลหนองหลวง ใช้คนถือหนังสือเข้าไปในเมืองเชียงใหม่เป็นใจความว่า ท้าวยี่กุมกามเป็นพี่ควรจะได้สืบราชสมบัติแทนบิดา ถ้าไม่ให้ท้าวยี่กุมกามเป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ 3ก็จะให้พลโยธาเข้าหักเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ ท้าวขุนเสนาในนครพิงค์เชียงใหม่มีหนังสือตอบไปว่า ท้าวยี่กุมกามไม่สมควรจะได้เป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ ถึงแม้เป็นพี่ก็หาสติปัญญาและบุญญาภิสมภารมิได้ เพราะเหตุฉะนั้น การที่จะรบกันด้วยกำลังพลโยธา ไพร่พลก็คงจะล้มตายลงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าจะให้รู้ว่าเจ้าท้าวยี่กุมกามกับเจ้าท้าวสามฝั่งแกน ใครจะมีบุญญาภิสมภารยิ่งกว่ากัน ขอให้จัดสรรทหารที่มีฝีมือเพลงอาวุธอย่างดีฝ่ายละคนให้ต่อสู้กันตัวต่อตัว ถ้าคนทั้งสองที่สู้กันนั้น ฝ่ายใดแพ้และชนะ กองทัพฝ่ายนั้นก็เป็นแพ้ด้วยชนะด้วย เป็นการเสี่ยงบุญวาสนาแห่งเจ้าทั้งสองนั้น พระมหาธรรมราชาที่ 3ได้ฟังตอบเช่นนั้นก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงให้เลือกสรรได้คนไทยผู้หนึ่ง เป็นผู้ชำนาญเพลงดาบสองมือหาผู้ใดเสมอมิได้ ฝ่ายข้างชาวเชียงใหม่เลือกได้หาญยอดใจเพชรชำนาญดาบเขน ทั้งสองฝ่ายจึงประชุมกันตั้งสนามที่ตำบลเชียงขวาง ครั้นคนทั้งสองเข้าสู้รบกัน ถ้อยทีมีฝีมือปัดป้องว่องไวด้วยกันทั้งสองข้าง แต่ต่อสู้กันอยู่ช้านาน ประหารกันและกันมิได้ ในที่สุดหาญยอดใจเพชรได้ท่วงที ก็ฟันถูกนิ้วแม่เท้าทหารไทยผู้นั้นเพิกไปนิดหนึ่ง ฝ่ายไทยก็เป็นแพ้แก่ชาวเชียงใหม่

ขณะที่กองทัพไทยมาตั้งอยู่นั้น มีชายหนุ่มชาวเชียงใหม่ผู้หนึ่งชื่อเพ็ดยศ รวบรวมคนหนุ่มฉกรรจ์ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปถึง 30 ปี ได้ 200 คน ขึ้นไปตั้งซุ่มอยู่บนดอยอุสุจบรรต คอยดูชาวทัพไทยออกลาดหาหญ้าช้าง ครั้นได้ทีก็ออกทะลวงฟัน ได้ศีรษะมาถวายเจ้าสามฝั่งแกนทุกวัน เจ้าสามฝั่งแกนตรัสชมว่าเขาเหล่านี้เป็นเด็กชายน้อยยังมีใจสวามิภักดิ์กล้าหาญถึงปานนี้ จึงตั้งให้เป็น เพ็ดยศที่เป็นหัวศึกสี่หมู่ มีตำแหน่งว่า พระยาเด็กชายสืบแต่นั้นมาจนทุกวันนี้ (ตำแหน่งหัวศึกขุนพล) สี่หมู่นั้นคือ พระยาแสนหลวง 1 พระยาสามล้าน 1 พระยาจ่าบ้าน 1 พระยาเด็กชาย 1

ครั้นอยู่มาได้ 7 วันพระมหาธรรมราชาที่ 3ก็ถอยทัพไปตั้งอยู่บนดอยเจ็ดลิน แล้วก็ขึ้นไปสรงน้ำดำเศียรยังดอยผาลาดหลวง แล้วก็เลิกทัพกลับไปข้ามน้ำแม่ระมิงค์ที่ท่าสบกาง (ปากน้ำกาง) ไปทางตะวันออกแต่งกองทัพซุ่มไว้รั้งท้ายเป็นสามกอง ณ ใกล้หนองน้ำแห่งหนึ่ง ฝ่ายเจ้าพญาสามฝั่งแกนเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ จึงแต่งให้หมื่นมะขาม 1 หมื่นสามหมาก 1 หมื่นเข็ม 1 หมื่นเขือ 1 ถือพลยกไปตามตีตัดท้ายพลพระมหาธรรมราชาที่ 3 หมื่นทั้งสี่คนยกกองทัพไปจวบกองทัพไทยที่ซุ่มไว้ จึงได้ตกเข้าอยู่ในที่ล้อม กองทัพไทยล้อมไว้ ได้สู้รบกันถึงตะลุมบอนฟันแทงกันเป็นบั้นเป็นบ่อนตายกลาดอยู่ที่ใกล้หนองแสนท่อนนั้น

ศึกฮ่อ

ครั้นศึกพระมหาธรรมราชาที่ 3เลิกกลับไปแล้ว อยู่มามินาน พระยาฮ่อลุ่มฟ้าเมืองแสนหลวง (ฮุน- หนำ) ใช้ให้มาทวงบรรณาการเป็นส่วยสองหมื่นคาน (สองหมื่นหาบ) พญาสามฝั่งแกนตอบว่าส่วนข้าวซึ่งแต่ก่อนเคยส่งเก้าพันคานนั้น หากได้เลิกละเสียแล้วตั้งแต่ครั้งแผ่นดินเจ้าพระยากือนาเป็นต้นมา เสนาฮ่อกลับไปทูลพระยาฮ่อเจ้าลุ่มฟ้า พระยาฮ่อจึงให้ฝ่ายฟ้าเมืองแสยกพลศึกเป็นอันมากเข้ามาติดเมืองเชียงแสน พญาสามฝั่งแกนเจ้านครพิงค์เชียงใหม่จึงมอบให้เจ้าแสนคำเรืองเป็นที่เจ้าแสนชัยปราบศัตรู ยกพลชาวเชียงใหม่แปดหมื่นขึ้นไปรักษาเมืองเชียงแสน ฝ่ายเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนก็ประมวลรี้พลชาวเชียงแสนและชาวเมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงของ เมืองพะเยา รวมพลสองแสนสองหมื่น แต่งรักษาเมืองเชียงแสนทั้งภายนอกภายในอย่างมั่นคง แล้วแต่งสนามรบเหนือเมืองเชียงแสนแห่งหนึ่งยาว 5000 วา กว้าง 1700 วา ในเวลากลางคืนแต่งกันไปขุดหลุมไว้หลายแห่ง สานเรือกปิดปากหลุม กรุใบไม้เกลี่ยดินกลบปากหลุมให้เสมอเหมือนพื้นดินธรรมดาไว้ระยะห่างกัน 1 วาต่อหลุมนั้นๆ กว้าง 1 วา ลึก 1 วา ทุกหลุมทำทางไว้ด้านเหนือและด้านตะวันตก ตะวันออกกว้าง 100 วา จึงให้ทัพเมืองเชียงรายเมืองฝางเป็นปีกขวา ทัพเมืองเชียงของเมืองเทิงเป็นปีกซ้าย ทัพเมืองเชียงใหม่เมืองพะเยาเป็นองค์ แล้วจัดกองทัพม้า 500 ออกยั่วทัพฮ่อ วันนั้นเป็นยามแตรใกล้เที่ยง ฮ่อก็ยกพลศึกเข้ามา ฝ่ายกองทัพชาวล้านนาไทยก็แยกปีกกายอพลศึกเข้าต่อรบตามทางโดยแผนที่ๆ แต่งไว้นั้น และตีฆ้องกลองโห่ร้องเป็นโกลาหล เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งติดพันกันแล้ว ฝ่ายทัพชาวล้านนาก็แสร้งล่าถอยลงมาตามทางที่ทำหลุมไว้นั้น ฮ่อก็ยกพลไพร่รบตะลุยลงมาถึงหลุมที่แต่งไว้ ก็ตกหลุมลงไปเป็นอันมาก กองทัพชาวล้านนากลับรุกล้อม เข้ามารบราฆ่าฟันฮ่อตายในหลุมเป็นอันมาก อยู่มาอีกสามวัน กองทัพฮ่อยกหนุนมาอีก เข้าปล้นเวียงเชียงแสน ชาวล้านนานำกองทหารอาสาออกทะลวงฟันต่อยุทธ์กันถึงตะลุมบอน ฝ่ายพลฮ่อมีเกราะเหล็กเกราะหนัง ฟันแทงไม่เป็นอันตราย ชาวเมืองจึงเอากรวดทรายมาคั่วไฟให้ร้อน และโปรยสาดให้เข้าไปในเกราะนั้นร้อนไหม้ ฮ่อจึงพ่ายแพ้เลิกถอยไป

ถัดนั้นมาได้ 3 ปี ถึงปีระกา สัปตศก จุลศักราชได้ 727 กองทัพฮ่อยกมาติดเมืองเชียงแสนอีกหลายทัพหลายกอง มีรี้พลมากนัก ครั้งนั้นมหาเถรศิริวังโสบวชอยู่วัดดอนแท่นเมืองเชียงแสนเป็นผู้รอบรู้ศิลปศาสตร์และวิทยาอาคม มีสติปัญญาสามารถ เจ้าพญาสามฝั่งแกนอาราธนาให้ไปครองอารามกู่หลวง รับอาสาแต่งการพิธีพลีกรรมกระทำวิทยา ให้บังเกิดลมพายุและฝนใหญ่อัสนีบาตตกในกองทัพฮ่อ ต้องนายทัพและรี้พลฮ่อเป็นอันตรายหลายคน ทัพฮ่อก็เลิกถอยไปตั้งอยู่เมืองยอง พญาสามฝั่งแกนจึงปูนบำเหน็จสถาปนาพระมหาศิริวังโสขึ้นเป็นราชครู ยกแคว้นดอนแท่นให้เป็นกัลปนาแล้ว จึงให้หมื่นเมืองพร้าวอยู่ครองเมืองเชียงแสน

ฝ่ายกองทัพฮ่อไปตั้งอยู่เมืองยองสิบสองพันนาลื้ออาฬวิเชียงรุ้ง เมืองแรมนานได้ 3 ปี ไพร่พลเมืองแตกฉานออกอยู่ป่าอยู่เถื่อน ไม่เป็นบ้านเป็นเมือง พญาสามฝั่งแกนจึงมอบหมายให้เจ้าขุนแสนลูกพระยาวังพร้าวเป็นแม่ทัพ ยกพลขึ้นไปรบฮ่อยังเมืองยอง ฮ่อทั้งหลายก็พ่ายหนีไป เจ้าขุนแสนตามตีฮ่อไปถึงที่สุดดินแดนสิบสองพันนาแล้ว ก็กลับมาตั้งทัพอยู่เมืองยอง ให้ตั้งเวียง ณ ตำบลดอนดาบสทิศตะวันออกเมืองยองเรียกว่า เวียงเชียงใหม่ ครั้งนั้นพระยาแสนฟ้าเมืองอาฬวิเชียงรุ้งและเมืองแรมเมืองเขมรัฐ ก็มากระทำสัตย์ปฏิญาณเป็นไมตรีกับเจ้าขุนแสน แล้วจึงปักปันเขตแดนแว่นแคว้นเชียงรุ้งกับเชียงแสนต่อกัน ตั้งแต่น้ำโอน้ำดำลงมาภายใต้เป็นแดนเมืองยอง และเมืองยองเป็นเมืองขึ้นเชียงใหม่แต่นั้นมา เจ้าขุนแสนจึงตั้งเจ้าเมืองยองเป็นที่พระยาอนุรุธ เป็นประธานแก่เมืองทั้งหลาย อยู่อุปัฏฐากมหาธาตุเจ้าจอมยองตามโบราณประเพณีแต่ครั้งพระยาอโสกราชตั้งไว้ และเมืองนี้เป็นเมืองอุปัฏฐากมหาธาตุเจ้ามาแต่โบราณกาล พลเมืองทั้งหลายหากเป็นข้าพระธาตุทั้งสิ้น เหตุฉะนั้น จึงไม่ต้องส่งส่วย นอกจากบรรณาการปีละครั้ง

เจ้าขุนแสนจัดการเมืองยองสำเร็จแล้ว ก็พาเอาเชลยฮ่อและช่างฟ้อนหอกฟ้อนดาบลงมาถวายเจ้าพญาสามฝั่งแกนยังเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ทรงพระโสมนัสยินดียิ่งนักจึงสถาปนาเจ้าขุนแสน ให้เป็นเจ้าพระยาศรีสุวรรณคำล้านนาไชยสงครามครองเมืองชัยบุรีเชียงแสน เป็นใหญ่แก่ล้านนาเชียงแสนทั้งมวล มีอาณาเขตฝ่ายใต้ตั้งแต่น้ำตกแม่ของ ฝ่ายตะวันตกถึงริมน้ำแม่คง ฝ่ายเหนือถึงน้ำโอน้ำดำ ฝ่ายตะวันออกถึงดอยหลวงเชียงชีเป็นอาณาเขตมลฑลเชียงแสนส่วนหนึ่ง[5]

สิ้นสุดสมัยพญาสามฝั่งแกน

ในปีพ.ศ. 1952 ท้าวลกราชบุตรของพญาสามฝั่งแกนทรงครองเมืองพร้าวอยู่ไม่นานเท่าใด ก็ทำความผิดอาชญาจนพระบิดาทรงพิโรธ ให้นำตัวไปไว้ยังเมืองยวมใต้ ต่อมาในปีพ.ศ. 1985 ได้เกิดเหตุการณ์ กบฏท้าวลกชิงราชสมบัติ ทำให้รัชสมัยพญาสามฝั่งแกนถึงคราวสิ้นสุด

ช่วงเวลานั้นพญาสามฝั่งแกนผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ทรงประทับสำราญอยู่ ณ เวียงเจ็ตริน ก็ได้มีอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อว่าสามเด็กย้อย คิดไม่ซื่อจึงแปรพักตร์เข้ารับใช้ท้าวลก คิดการไกลถึงกับจะเอาราชสมบัติให้พระองค์ หลังจากนั้นสามเด็กย้อยจึงรวบรวมซ่องสุมกำลังจนพร้อม แล้วจึงลอบไปรับเจ้าท้าวลกจากเมืองยวมใต้ มาซุ่มซ่อนไว้ในเวียงเชียงใหม่ เมื่อเจ้าท้าวลกกับขุนสามเด็กย้อยเตรียมการทั้งปวงพร้อมแล้ว ตกเวลาเที่ยงคืนก็ให้คนลอบไปจุดไฟเผาเวียงเจ็ดลินไหม้ขึ้น พญาสามฝั่งแกนจึงทรงม้าหนีออกมาเข้าในเวียง พระองค์นั้นหารู้ไม่ว่าในขณะนั้นท้าวลกนั้นยึดครองราชย์มนเทียรอยู่ พอเข้ามาถึงคุ้ม ท้าวลกก็ให้กุมเอาตัวพญาสามฝั่งแกนพระบิดาไว้บังคับให้มอบราชสมบัติแก่ตน

ครั้นรุ่งขึ้นเช้า พญาสามฝั่งแกนได้นิมนต์ชาวเจ้าสังฆะเข้าประชุมในพระราชมณเฑียร แล้วจึงประกาศมอบราชสมบัติ และหลั่งน้ำให้แก่ราชบุตรในท่ามกลางประชุมสงฆ์ ให้ท้าวลกเป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ตามความประสงค์ เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็ตั้งการ ปราบดาพิเษกเจ้าท้าวลกเป็นพระมหาราชเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ใ นปีจอ จัตวาศก จุลศักราชได้ 804 เดือนแปด (คือเดือนหก) เพ็ญวันศุกร์ ถวายพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช เมื่อได้เถลิงราชสมบัติพระชนมายุได้ 34 พรรษาจึงปูนบำเหน็จหมื่นสามเด็กย้อยผู้ต้นคิดเอาราชสมบัติให้นั้น ตั้งให้เป็นเจ้าครองพันนาขาน ชื่อเจ้าแสนขาน ส่วนพญาสามฝั่งแกนนั้นพระเจ้าติโลกราชเนรเทศไปไว้เมืองสาด

ฝ่ายเจ้าท้าวช้อย พระอนุชาท้าวลกผู้ครองเมืองฝาง รู้ข่าวว่าเจ้าท้าวลกเป็นขบถ แย่งราชสมบัติบิดา แล้วเนรเทศพระบิดาไปไว้เมืองสาดก็มีความแค้นเจ้าท้าวลกพระเชษฐายิ่งนัก จึงให้ไปรับเสด็จพระบิดาจากเมืองสาดมาไว้ในเวียงเมืองฝาง เตรียมกำลังตั้งมั่นแข็งเมืองอยู่ เมื่อเจ้าพระยาติโลกราชได้ทราบข่าวดังนั้น จึงให้หมื่นหาญแต่งตั้งผู้ครองเมืองเขลางค์ยกพลหนึ่งหมื่นไปตีเมืองฝาง ชาวฝางรู้ข่าวก็ยกกองทัพออกโจมตีหมื่นหาญแต่ท้องแต่กลางทาง หมื่นหาญแต่ท้องเสียที แตกฝ่ายหนีมา เจ้าพระยาติโลกราชจึงให้หมื่นโลกสามล้าน (คือหมื่นโลกนคร) ยกพลสี่หมื่นเศษพันไปตีเมืองฝางให้จงได้ ครั้งหลังนี้ชาวฝางต้านทางกำลังไม่ได้ ทัพเชียงใหม่จึงเข้าปล้นเอาเมืองฝางได้ จับได้ตัวพญาสามฝั่งแกนส่งมาเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ แต่เจ้าท้าวช้อยนั้นหนีไปเมืองเทิง เจ้าท้าวช้อยสู้รบเป็นสามารถ จนสิ้นพระชนม์ในที่รบ

ล่วงถึงปี พ.ศ. 1991 (จุลศักราช 809 ปีเถาะนพศก) พญาสามฝั่งแกนถึงแก่ทิวงคต พระเจ้าติโลกราชจัดการปลงพระศพ ณ ป่าแดงหลวง แล้วสถาปนา พระสถูปบรรจุอัฐิธาตุไว้ ณ สถานที่นั้น

การเมืองการปกครอง

พญาสามฝั่งแกนนั้นกษัตริย์จะใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นหลักในการปกครอง กล่าวคือ ส่งเชื้อพระวงศ์ที่ทรงวางพระทัยไปปกครองเมืองต่างๆ ในลักษณะการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ดังเห็นได้จาก พญาสามฝั่งแกนส่งโอรสหลายองค์ไปครองเมืองตามที่ต่างๆ เช่น ท้าวลกครองเมืองพร้าว ท้าวเจ็ดครองเมืองเชียงราย ท้าวสิบครองเมืองฝาง เป็นต้นนอกจากนั้นยังใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติโดยการอภิเษกสมรสกับธิดาของกษัตริย์ หรือเจ้าเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น พญาแสนเมืองมาอภิเษกสมรสกับธิดาของเจ้าเมืองในเขตสิบสองพันนา แล้วกำเนิดพญาสามฝั่งแกน เป็นต้น

ในสมัยเริ่มแรกของพระองค์พบว่าการปกครองยังหละหลวมอยู่ อีกทั้งที่ตั้งเมืองก็อยู่แยกกันทำให้หัวเมืองมีอำนาจทางการเมืองสูง พร้อมที่จะแข็งข้อได้ง่าย ด้านการเมืองการปกครองนั้น กษัตริย์มีอำนาจปกครองจำกัดอยู่เพียงเมืองราชธานี ส่วนเมืองอื่นที่ขึ้นต่อนั้นจะปล่อยให้เจ้าเมืองมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการตามลำพัง ลักษณะนี้พบเห็นได้จากการไม่มีสายบังคับบัญชาเชื่อมโยงไปสู่หัวเมือง ในแง่ของระบบพันนา รวมถึงไพร่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ กล่าวคือ หน่วยพันนาของที่ดินจะเป็นตัวกำหนดไพร่ในสังกัด ยิ่งทั้งสองส่วนนี้มีมากเท่าใดก็จะเป็นต่อสูง เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมเสบียงจากที่ดิน (พันนา) และกำลังคน (ไพร่ที่สังกัดในพันนา) ลักษณะดังกล่าวทำให้หัวเมืองมีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเอง หากย้อนมาดูเหตุการณ์ที่ท้าวยี่กุมกามเจ้าเมืองเชียงรายที่คิดการชิงราชสมบัติของพญาสามฝั่งแกนผู้เป็นอนุชานั้นก็สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากมีไพร่จำนวนมาก พันนาในสังกัดมากถึง 32 พันนา สามารถปลูกข้าวได้มาก อีกทั้งที่ตั้งยังเป็นฐานเศรษฐกิจใช้ส่งผ่านสินค้า

ภายหลังพญาสามฝั่งแกนพยายามจัดการปรับปรุงการปกครองให้เป็นระเบียบแบบแผนมากขึ้น มีการควบคุมหัวเมืองที่ไม่ให้เป็นภัยต่อราชธานี เท่าที่พบคือ การแต่งตั้งและย้ายตำแหน่ง พระองค์จะใช้อำนาจสิทธิ์ขาดในการสั่งให้บุคคลที่ไว้วางใจไปครองเมืองต่างๆ กล่าวคือส่งท้าวลก ซึ่งเดิมกินเมือง พร้าว ไปกินเมืองยวมใต้ เป็นต้น นอกจากนั้นมีการแต่งตั้งโอรสองค์ใหญ่ให้ดำรงตำแหน่งอุปราชอยู่ใกล้ชิดพระองค์ที่เมืองใหญ่ ซึ่งทำให้เมืองเชียงรายลดความสำคัญลงกลายเป็นเมืองอุปราช

ศาสนา

ในสมัยพญาสามฝั่งแกน มีการสถาปนานิกายสงฆ์ใหม่คือ นิกายลังกาวงศ์ มูลเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้สืบเนื่องมาจากความไม่พอใจของบรรดาพระสงฆ์ที่มีต่อพญาสามฝั่งแกนที่ยกเลิกเอากัลปนาค่าส่วยสำหรับพระสงฆ์ในที่ต่างๆ ไปขึ้นกับวัดวัดบุรณฉันท์ หรือวัดศรีมุงเมือง ผลคือพระมหาเถรทั้งหลายที่เป็นพหูสูต ผู้รู้ปริยัติ พากันออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ไปศึกษาพระธรรมที่เมืองลังกา

เมื่ออยู่ที่เมืองลังกาก็เกิดฝนแล้งข้าวแพง บรรดาพระเถรานุเถระเหล่านี้เห็นว่าจะอยู่ต่อไปไม่สุข จึงชักชวนกันกลับจากลังกาทวีป ได้ชวนเอาพระภิกษุชาวลังกามาด้วย 2 รูป ชื่อพระมหาวิกรมพาหุ มีพรรษาได้ 15 พรรษารูปหนึ่ง ชื่อพระอุดมปัญญา มีพรรษาได้ 10 พรรษาอีกรูปหนึ่ง พอถึงปีพ.ศ. 1973 (จุลศักราช 792 ปีระกา โทศก) พระเหล่านี้ได้พากันขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ สำนักอยู่ ณ รัตนมหาวิหาร คือวัดป่าแดงหลวง ในปีพ.ศ. 1975 (จุลศักราช 794 ปีชวด จัตวาศก) ได้เดินทางไปเมือง เขลางค์นคร กระทำสังฆกรรม ณ อุทกสีมา ในแม่น้ำวัง บวชพระจันทรเถร เป็นต้น และกุลบุตรอื่นเป็นอันมาก ล่วงในปีพ.ศ. 1977 (ลุจุลศักราช 796 ปีเถาะ ฉศก) ได้ขึ้นไปเมืองเชียงแสน บวชกุลบุตรในเกาะชื่อว่าปักลังกทิปะกะในแม่น้ำโขง มีพระมหาธรรมเสนาบดีกุลวงษ์เป็นต้น

ผลจากที่พระภิกษุจากลังกามาสืบศาสนาในล้านนานี้ทำให้บรรดาพระภิกษุตื่นตัวศึกษาปริยัติธรรมจนแตกฉานมากมาย

วัตถุและสถานที่

พระแก้วมรกต

ในปีพ.ศ. 1979 ณ เมืองเชียงราย เกิดอัสนีบาตฟาดใส่พระสถูปใหญ่ที่วัดพระแก้วจนพังครืนลงมา ต่อมาได้มีผู้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทององค์หนึ่ง จึงได้มีการเชิญเข้าไปไว้ในวัดนั้น กาลเวลาผ่านไป รักปิดทองที่ลงไว้เกิดหลุดลอกออกมาจนเห็นเป็นสีเขียวมรกต เมื่อเจ้าอาวาสมาพบเข้าจึงได้นำมาชำระขัดสี แล้วพบว่าพระพุทธรูปนั้นเป็นแก้วมรกตทั้งองค์ ท่านจึงดีใจเป็นล้นพ้นเลยนำมาจัดการให้สระสรงตามประเพณีนิยม จากนั้นปรากฏว่ามีผู้คนมาเคารพสักการะเป็นอันมาก

ต่อมาเรื่องราวทราบไปถึงพระกรรณของพญาสามฝั่งแกน จึงมีรับสั่งให้เชิญพระแก้วมรกตไปเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงรายจึงเชิญพระแก้วขึ้นสถิตบนหลังช้าง แล้วเดินออกไปเมืองเชียงใหม่ ครั้นถึงทางแยกจะไปทางเมืองเชียงใหม่ทางหนึ่ง และไปยังเมืองลำปางทางหนึ่งช้างก็ตื่นหนีไปทางเมืองลำปางทุกครั้ง หมื่นโลกพระนครพระญาติของพญาสามฝั่งแกน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองลำปางก็ทูลขอพระแก้วไว้ที่เมืองลำปาง พระองค์ก็ทรงอนุญาต[6]

วัดศรีมุงเมือง

พญาสามฝั่งแกนโปรดให้สร้างวัดใหญ่ในตำบลพันนาฝั่งแกนอันเป็นที่ประสูติ จากนั้นพระองค์จึงขนานนามว่า “วัดวัดพึง” หรือ “วัดบุรณฉันท์” ในชิลกาลมาลินี ในภาษาบาลี คำว่า “ปุรจฺฉนฺน” สามารถแยกศัพท์ออกได้ คือ “ปุร” แปลว่า “เมือง” ส่วน “ ฉนฺน” แปลว่า “มุง” ในปัจจุบันชื่อวัดเปลี่ยนเป็น “วัดศรีมุงเมือง” แล้ว วัดศรีมุงเมืองตั้งอยู่ที่ ตำบลลวงเหนือ อ. ดอยสะเก็ต จ. เชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวง

แต่เดิมวัดเจดีย์หลวงสร้างขึ้นในสมัยพญาแสนเมืองมา ก่อมาได้ 10 ปียังไม่แล้วเสร็จ พระองค์ก็เสด็จทิวงคตไปก่อน ครั้นมาในสมัยของพญาสามฝั่งแกนจึงได้มีการก่อสร้างต่อ โดยมีพระมาหาเทวี พระราชมารดาเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างนั้น สืบเนื่องจากพญาสามฝั่งแกนยังทรงพระเยาว์อยู่

ตำนานเมืองเหนือ หน้า 396 กล่าวถึงการก่อสร้างพระเจดีย์หลวงไว้ดังนี้ “พระนางจึงโปรดให้ก่อพระเจดีย์ แต่หน้ามุขประสาทนั้นขึ้นไปอีกนานได้ 4 ปี ถึงปีตรีศก เพ็ญเดือน 10 พุทธศาสนาได้ 1955 พระนางก็ให้ยกฉัตรยอดมหาเจดีย์อันแล้วด้วยทองคำหนัก 8902 เสี้ยวคำ ทั้งเอาแก้ว 3 ลูก ชุมนุมกันใส่ยอดพระมหาเจดีย์นั้นแล มหาเจดีย์นั้นกว้างได้ 20 วาทุกด้าน ส่วนสูงนับแต่ธรณีถึงยอด 39 วา พระมหาเจดีย์นั้นประดับด้วยซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูปใหญ่นั่งสมาธิด้วยปูน นั่งโคมไม้มหาโพธิ์ทั้ง 4 ด้าน มีรูปนาค 8 ตัวโตๆ ละ 5 หัว อยู่ใน 2 ช้างบันได มีราชสีห์ 4 ตัวยืนค้ำตีนชายปราสาท มีรูปช้าง 28ตัว มหาเจดีย์นั้นปรากฏแก่คนทั้งหลายอันอยู่ไกล 2000 วาดูก็แลเห็น

ลำดับถัดแต่นั้นมา พระนางติโลกจุดาก็ให้สร้างวิหารหลังหนึ่ง แล้วพระนางจึงให้หล่อพระองค์หนึ่งสูง 18 ศอก กับทั้งอัครสาวก 2 องค์ ประดิษฐานไว้ในวิหารนั้นแล้ว พระนางก็ถวายที่นาและคนครัวไว้อุปฐากพระเจดีย์ และพระวิหารหลวงให้เป็นถาวรบูชา แล้วพระนางฉลองพระมหาเจดีย์เจ้าด้วยเข้าของเป็นอันมาก ก็ตรวจน้ำตกเหนือแผ่นดิน อุทิศส่วนบุญนั้นถวายแด่พญาแสนเมืองมา และถวายพญากือนา ผู้เป็นบิดาพญาแสนเมืองมา อุทิศส่วนบุญนั้นถึงแก่พระอินทร์ พรหม สมณะ พราหมณ์ ฤๅษี วิชาธร นางธรณี และชาวประชาราษรัฐทั้งหลาย พระนางเจ้าก็ปรารถนาอรหันตาทิคุณ พร้อมกับปฏิสัมภิทาญาณตั้งแต่ฉลองพระเจดีย์มาแล้วได้ 37 ปี พระนางมหาเทวีก็ถึงอนิจกรรมไปแล”

เวียงเจ็ดลิน

พัฒนาการและความเจริญของเวียงเจ็ดลินนั้นมีมานานแล้ว ในตำนานสุวรรณคำแดง และตำนานเชียงใหม่ได้กล่าวถึงการก่อร่างสร้างเมืองของชนพื้นเมืองในแถบดอยสุเทพว่า เจ้าหลวงคำแดงเป็นผู้สร้าง“เวียงเชฏฐปุรี” หรือเวียงเจ็ดลิน ขึ้นเป็นแห่งที่สอง (เมืองแรกชื่อเมืองนารัฏฐะ) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกตีนดอยอุสุปัพพตา แต่พอมาในสมัยพญาสามฝั่งแกน ตามหลักฐานแล้วพระองค์ทรงเพียงเป็นผู้สถาปนาเวียงเจ็ดลิน หรือสร้างขึ้นใหม่จากที่มีมาแต่เดิมเท่านั้น

ช่วงนั้น เชียงใหม่กับสุโขทัยได้ทำการประลองยุทธ์สู้รบด้วยการส่งทหารที่มีฝีมือเพลงดาบ ผลปรากฏว่าสุโขทัยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ต้องถอยกำลังออกไปตั้งค่ายพักกำลังพลอยู่ที่ดอยเจ็ดลินตลอดเวลาที่อยู่ ณ ที่นั่น พระองค์ทรงสุบินเห็นแต่ช้างไล่ราชสีห์ติดต่อกัน 7 คืน ยิ่งมาทราบข่าวว่า ทางเชียงใหม่ได้จัดตั้งกองทัพ โดยใช้เกวียน 220 เล่มเกวียนตั้งเรียงรายจากแจ่งหัวลินไปทางเชิงดอยเจ็ดลิน ก็ทำให้ทรงมีความกลัวเกรงยิ่งนัก เกิดมีใจครั่นคร้ามจนเลิกทัพกลับไป

ด้วยเหตุนี้ พญาสามฝั่งแกนจึงได้ถือเอานิมิตของพระยาไสยลือไทยนั้นมาสถาปนาเวียงเจ็ดลินขึ้น วัตถุประสงค์ในการสร้างเวียงเจ็ดลิน หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือกล่าวไว้ว่า พระองค์สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกที่จะมารุกรานเชียงใหม่ รวมทั้งใช้เป็นพระราชวัง ในการแปรพระราชฐานของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ดังหลักฐานในการเสด็จย้ายเคราะห์มาประทับ ณ เวียงเจ็ดลินเป็นระยะนับแต่พญาสามฝั่งแกน (พ.ศ. ๑๙๕๔) ถึงเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๖๙ – ๒๓๘๙)

กรณีของการสถาปนาเวียงเจ็ดลินนี้อาจหมายความถึงการกระจายความเจริญเข้ามาสู่เขตพื้นที่เชิงดอยสุเทพ โดยการให้ขุนนางหรือบุคคลในราชวงศ์มาปกครองดูแลขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ ภายหลังจากที่เป็นเขตชุมชนที่อาศัยของกลุ่มคนพื้นเมืองตั้งแต่ระยะก่อนสมัยล้านนา

ประตูสวนปรุง

เดิมในอดีตประตูสวนปรุงคือกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านใต้ แต่พอมาในช่วงพ.ศ. 1954-1985ได้มีการเจาะทำเป็นประตูขึ้นตามพระประสงค์ขององค์พระราชเทวี พระราชมารดาของพญาสามฝั่งแกน

ช่วงเวลานั้น พระราชเทวีทรงประทับตำหนัก ณ ตำบลสวนแร ซึ่งตั้งอยู่นอกเวียง ทางทิศใต้นอกเขตกำแพงเมือง ส่วนภายในเขตเมืองนั้นก็มีการก่อสร้างพระเจดีย์หลวง โดยหน้าที่แล้วพระองค์ต้องเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกๆ วัน ด้วยเหตุที่พญาสามฝั่งแกนยังทรงพระเยาว์อยู่ พระองค์ทรงดำริเห็นว่าการเสด็จผ่านประตูทางท้ายเวียง (ประตูเชียงใหม่) เป็นระยะทางอ้อมจึงรับสั่งให้เจาะกำแพงตรงข้ามกับพระตำหนักสร้างขึ้นเป็นประตูแทน ระยะแรกเรียกชื่อประตูนี้ว่าประตูสวนแรอยู่ระยะหนึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นประตูสวนปุงหรือสวนปรุง (คือแทงพุง) เนื่องจากได้นำพวกกบฏส่วนหนึ่งมาประหาร โดยใช้หอกหรือหลาวแทงพุง

อ้างอิง

  1. ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารล้านนา. (กรุงเทพฯ: The Knowledge Center, 2550) , หน้า132.
  2. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับ ลิชชิ่ง,2539) , หน้า 141
  3. สมหมาย เปรมจิตต์. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับสอบชำระเชียงใหม่: มิ่งเมือง เชียงใหม่, 2540) , หน้า59
  4. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. ล้านนาไทย อนุสรณ์พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ [เชียงใหม่ 2526-27]. (เชียงใหม่ : ทิพย์เนตรการพิมพ์, 2526) , หน้า267-289.
  5. ประชากิจกรจักร์, พระยา, พงศาวดารโยนก. (พระนคร : คลังวิทยา, 2507) ,หน้า 316-319
  6. สงวน โชติสุขรัตน์. ตำนานเมืองเหนือ. (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2508) , หน้า171

แหล่งข้อมูลอื่น

  • ข้อสันนิษฐานของวัตถุประสงค์การสร้างเวียงเจ็ดลิน. (2549, 13-19 กุมภาพันธ์). พลเมืองเหนือ, 33.
  • ชุ่ม ณ บางช้าง. (2526).กำแพงเมืองและประตูเมืองเชียงใหม่. ใน (บก.) , ล้านนาไทย อนุสรณ์พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ [เชียงใหม่ 2526-27] (หน้า80-92). เชียงใหม่ : ทิพย์เนตรการพิมพ์.
  • ประชากิจกรจักร, พระยา. (2507). พงศาวดารโยนก. (พิมพ์ครั้งที่ 5). พระนคร : คลังวิทยา.
  • ประชาไทย. (2548). ค้นวันที่ 4 สิงหาคม 2550, จาก
  • ลำจุล ฮวบเจริญ. (2550). เกร็ดพงศาวดารล้านนา. กรุงเทพฯ: The Knowledge Center.
  • สงวน โชติสุขรัตน์. (2508). ตำนานเมืองเหนือ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
  • สมหมาย เปรมจิตต์. (2540). ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับสอบชำระ. เชียงใหม่: มิ่งเมือง เชียงใหม่
  • สรัสวดี อ๋องสกุล. (2539). ประวัติศาสตร์ล้านนา. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับ ลิชชิ่ง.
  • อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. (2526). ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ : สมัยราชวงศ์มังรายและสมัยพม่าปกครอง. ใน (บก.) , ล้านนาไทย อนุสรณ์พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ [เชียงใหม่ 2526-27]. (หน้า267-289). เชียงใหม่ : ทิพย์เนตรการพิมพ์.
  • ฮันส์ เพนธ์ และแอนดรู ฟอร์บส์. (2547). ประวัติศาสตร์ล้านนาฉบับย่อ. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม.
ก่อนหน้า พญาสามฝั่งแกน ถัดไป
พญาแสนเมืองมา
กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา
(พ.ศ. 1954 - พ.ศ. 1984)
พระเจ้าติโลกราช