ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Sherrott2542 (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 356: บรรทัด 356:
}}</center>
}}</center>
{{ahnentafel bottom}}
{{ahnentafel bottom}}

{{เริ่มกล่อง}}
{{สืบตำแหน่ง
| รูปภาพ=Prince of Wales's feathers Badge.svg
|ตำแหน่ง=[[เจ้าหญิงแห่งเวลส์]]<br /> ใน [[เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์]] |ปี=|ก่อนหน้า=[[แมรีแห่งเทก สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร|เจ้าหญิงแมรี่แห่งเทก เจ้าหญิงแห่งเวลส์]] |ถัดไป=[[คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอล|คามิลลา ชานด์ เจ้าหญิงแห่งเวลส์]]<br />(ทรงใช้พระอิสริยยศหลักเป็น [[ดยุกแห่งคอร์นวอลล์|ดัชเชสแห่งคอร์นวอล]])}}
{{จบกล่อง}}


== ดูเพิ่ม ==
== ดูเพิ่ม ==

รุ่นแก้ไขเมื่อ 19:52, 18 ธันวาคม 2556

ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์
เจ้าหญิงแห่งเวลส์
ประสูติ1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504
ปาร์กเฮาส์, เมืองแซนดริงแฮม, มณฑลนอร์ฟอล์ก, สหราชอาณาจักร
สิ้นพระชนม์31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 (36 ปี)
โรงพยาบาลปีเต-แซลแปตริแยร์, กรุงปารีส, ประเทศฝรั่งเศส
พระสวามีเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์
(พ.ศ. 2524-2539; หย่า)[1]
พระนามเต็ม
ไดอานา ฟรานเซส
ราชวงศ์วินด์เซอร์
พระบิดาจอห์น สเปนเซอร์ เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ที่ 8
พระมารดาฟรานเซส แชนด์ คีดด์
ลายพระอภิไธย

ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (อังกฤษ: Diana, Princess of Wales) มีพระนามเต็มว่า ไดอานา ฟรานเซส (สกุลเดิม สเปนเซอร์; ประสูติ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 ที่เมืองแซนดริงแฮม ประเทศอังกฤษ — สิ้นพระชนม์ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส) เป็นพระชายาพระองค์แรกของเจ้าชายชาลส์แห่งเวลส์ จากการอภิเษกสมรสเมื่อปี พ.ศ. 2524 และได้หย่าร้างเมื่อปี พ.ศ. 2539 พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ เป็นพระองค์ที่ 9 ของอังกฤษ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปนิยมขนานพระนามว่า "เจ้าหญิงไดอานา" ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วพระนามนี้ถือว่าผิดในทางทฤษฎี[ต้องการอ้างอิง]

ไดอานาได้เป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษจากการอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อ 29 กรกฎาคม 2524 พระราชพิธีอภิเษกสมรสมีขึ้นที่มหาวิหารเซนต์พอล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีผู้รับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีนี้มากถึง 750 ล้านคนทั่วโลก[ต้องการอ้างอิง] ต่อมาไดอานาได้ให้กำเนิดพระโอรสทั้งสองพระองค์คือ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี รัชทายาทลำดับที่สองและสามแห่งราชบัลลังก์อังกฤษและ 16 เครือจักรภพ ไดอานาเป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลกตั้งแต่ทรงหมั้นกับเจ้าชายแห่งเวลส์ในปี พ.ศ. 2524 จนกระทั่งการสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2540 ไม่ว่าจะความสนพระทัยในเรื่องต่างๆ ส่วนพระองค์ การแต่งกาย รวมถึงพระกรณียกิจของพระองค์ได้รับความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งยังทรงเป็นผู้นำแฟชั่น เป็นสัญลักษณ์แห่งความงาม ความหวังของผู้ป่วยโรคเอดส์ แต่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดคือพระองค์เป็นพระราชินีในดวงใจของประชาชนอีกด้วย ตลอดทั้งพระชนม์ชีพพระองค์เป็นผู้ที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดคนหนึ่งในโลกราวกับนักแสดงที่มีชื่อเสียง[ต้องการอ้างอิง]

จากการเป็นพระชายาองค์แรกของเจ้าชายแห่งเวลส์ ทำให้ไดอานาเป็นที่จดจำจากการแต่งกาย แฟชั่น งานด้านการกุศลและเป็นบุคคลสาธารณะในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 พระองค์เคยรณรงค์การต่อต้านการใช้กับระเบิด และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของโรงพยาบาลเด็ก เกรท ออร์มันด์ สตรีทระหว่างปี 2532 ถึง 2538

วัยเด็ก

ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 เวลา 18.39 น. ที่ปาร์กเฮ้าส์ เมืองแซนดริงแฮม มณฑลนอร์ฟอล์ก เป็นธิดาคนเล็กของจอห์น สเปนเซอร์ ไวสเคานท์อัลธอร์พ (เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 8 ในเวลาต่อมา) กับภรรยาคนแรก ออนเรเบิล ฟรานเซส เบิร์ก ร็อฌ (ต่อมาเป็น นางฟรานเซส ชานด์ คีดด์) บิดาของไดอานาสืบเชื้อสายมาจากดยุกแห่งมอลเบอระที่ 1 มารดาของไดอานามีเชื้อสายระหว่างอังกฤษกับไอริช เป็นลูกสาวของบารอนเฟอร์มอยที่ 4 กับเลดี้รูธ ซิลเวีย กิล นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ โบวส์-ลีออนส์

ไดอานามีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ดังนี้

  1. ซาราห์ เอลิซาเบธ ลาวินา สเปนเซอร์ พี่สาวคนโต (ปัจจุบันคือ เลดี้ซาราห์ แมคคอร์ควอเดล)
  2. เจน ซินเธีย สเปนเซอร์ พี่สาวคนรอง (ปัจจุบันคือ บารอนเนสเฟลโลวส์)
  3. ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ (เจ้าหญิงแห่งเวลส์ 2524-2540)
  4. จอห์น สเปนเซอร์ (ถึงแก่กรรมหลังคลอดได้เพียง 10 ชั่วโมง)
  5. ชาลส์ เอ็ดเวิร์ด มัวริซ สเปนเซอร์ น้องชายเพียงคนเดียว (ปัจจุบันคือ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9)

ไดอานารับศีลล้างบาปที่โบสถ์เซนต์มารีแมกดาลีน โดยสาธุคุณเพอร์ซี่ เฮอร์เบิร์ต (เจ้าอาวาสและอดีติชอปแห่งนอร์วิชและแบล็กเบิร์น) ในวันที่ 30 สิงหาคม 2504 มีจอห์น ฟลอยด์ (ประธานบริษัทประมูลคริสตี้ส์) เป็นพ่อทูนหัว

ในปี พ.ศ. 2512 ขณะที่ไดอานามีอายุได้เพียง 8 ขวบ พ่อแม่ได้หย่าร้างกันหลังจากที่ทั้งสองโต้เถียงกันอย่างรุนแรงและผลลงเอยด้วยการที่แม่ไปมีความสัมพันธ์กับชายที่แต่งงานแล้ว ไดอานากับน้องชายจึงได้ไปอยู่กับแม่ในอพาร์ตเมนต์ในลอนดอน ย่านไนท์บริดจ์ เธอได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลละแวกบ้านที่ลอนดอน ไม่นานนักหลังจากนั้น จอห์น พ่อของไดอานาฟ้องร้องคดีเรื่องสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรกับฟรานเซส ท้ายที่สุดพ่อเป็นผู้ชนะคดีเนื่องจากบารอนเนสเฟอร์มอย ยายของไดอานา ให้การว่าฟรานเซสนั้นทำตัวเป็น "แม่ที่ไม่เหมาะสม" หลังจากหย่าร้างได้ไม่ถึงเดือน ฟรานเซสได้สมรสใหม่อีกครั้งและย้ายไปอยู่ที่เกาะเซล สก็อตแลนด์ฝั่งตะวันตก แต่ไดอานาและพี่น้อง ๆ ได้ไปเยี่ยมแม่อยู่เป็นประจำ แม้ว่าลูกทั้ง 4 คนได้อยู่กับพ่อแต่ก็ไม่มีเวลาให้ลูก ๆ เพราะมัวยุ่งแต่กับงาน

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อจอห์นไปมีความสัมพันธ์กับเรน เคานต์เตสแห่งดาร์มัธ สตรีที่ผ่านการแต่งงานมาแล้ว เรนเป็นลูกสาวของอเล็กซานเดอร์ แม็กควอเดลกับบาร์บารา คาร์ตแลนด์ (นักเขียนนวนิยายโรแมนติกที่ไดอานาชื่นชอบ) จอห์นแต่งงานกับเรนหลังจากที่เธอหย่าขาดกับสามีคนเก่าได้ไม่นาน การแต่งงานครั้งที่สองของพ่อและแม่ของไดอานานี้ ทั้งสองไม่มีบุตรกับคู่สมรสคนใหม่ แต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสี่คนพี่น้องกับพ่อเลี้ยงและแม่เลี้ยงก็เป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ

การศึกษา

ไดอานาเข้าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนซิลฟิลด์ ในเมืองคิงส์-ลีนน์ มณฑลนอร์ฟอล์ก ต่อมาย้ายไปเรียนที่โรงเรียนริดเดิ้ลสเวิร์ธ ที่นอร์ฟอล์ก เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสตรีเวสต์ฮีธ (ปัจจุบันกลายเป็น โรงเรียนนิวสกูลแห่งเวสต์ฮีธ) ในเมืองเซเว่นโอ๊กส์ มณฑลเคนท์ ไดอานามีผลการเรียนต่ำมาก เพราะไม่ผ่านการสอบวัดระดับความรู้ O-levels ถึงสองครั้ง เธอสนใจวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และกีฬา เธอไม่ชอบทำตัวให้เป็นที่สนใจและเป็นคนขี้อาย ไม่เคยอาสาตอบคำถามในชั้นเรียนให้ครู ครั้งหนึ่งไดอานาเคยแสดงละครเวทีของโรงเรียนในบทตุ๊กตาดัชท์ที่ไม่ต้องมีบทพูด เมื่ออายุ 16 ปี ไดอานาลาออกจากโรงเรียนเวสต์ฮีธโดยได้รับรางวัลจากโรงเรียนในฐานะเป็นนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ดีเด่นซึ่งทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น [2]

ไดอานาติดตามซาราห์พี่สาวคนโตไปเรียนต่อที่โรงเรียนวิชาการเรือนแอ็งสติตู-อัลแป็ง-วีเดมาแน็ต ในเมืองรูฌมองต์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่เรียนได้เพียงสามเดือนก็ขอกลับบ้าน เพราะโรงเรียนบังคับให้พูดแต่ภาษาฝรั่งเศสที่เธอไม่ชอบ สนใจแต่เล่นสกี[ต้องการอ้างอิง] ณ ที่นี้ไดอานาได้พบกับพระสวามีในอนาคตของเธอครั้งแรก ขณะที่ตอนนั้นเลดี้ซาราห์ยังเป็นคู่ควงของเจ้าชายชาลส์

แม้ว่าไดอานาจะเรียนไม่เก่งแต่เธอมีพรสวรรค์เรื่องกีฬาทั้งว่ายน้ำและดำน้ำ เคยเรียนบัลเลต์ ไดอานามีส่วนสูงถึง 173 ซม. ซึ่งครูสอนบัลเลต์เห็นว่าสูงเกินไป จึงทำให้เธอต้องหยุดการเรียนไปโดยปริยาย เธอกลับไปอยู่ที่แฟลตของแม่ในลอนดอนก่อนอายุได้ 17 ปี โดยแต่ก็เหมือนอยู่คนเดียวเพราะส่วนใหญ่แม่ไปอยู่ที่เกาะเซลที่สก็อตแลนด์ ต่อมาพ่อกับแม่ของเธอซื้ออพาร์ตเมนต์แถวเอิร์ลคอร์ท ลอนดอน ในราคา 50,000 ปอนด์ เพื่อเป็นของขวัญวันเกิดอายุครบ 18 ปีของไดอานา และอาศัยอยู่ที่นั่นกับเพื่อนๆ อีก 3 คน จนถึงปี 2524

ไดอานาเข้าเรียนวิชาทำอาหารหลักสูตรพิเศษกับเอลิซาเบธ รัสเซล ตามคำแนะนำของแม่ ซึ่งไดอานาไม่ชอบใจนักและทำอาหารเก่งไม่เก่ง ต่อมาเธอเริ่มเป็นครูสอนเต้นรำแต่ต่อมาเกิดหกล้มในระหว่างไปเล่นสกีที่ฝรั่งเศสจนต้องเข้าเฝือกนานถึง 3 เดือนและสิ้นสุดการทำงานเป็นครูสอนเต้นรำ หลังจากนั้นเธอได้ไปสมัครงานกับโรงเรียนอนุบาล เธอให้เหตุผลง่ายๆ ว่าอยากทำงานกับเด็กๆ และได้ทำงานที่นี่สมใจ ซาราห์และเพื่อนของเธอยังเคยจ้างไดอานาให้ไปทำความสะอาดบ้านโดยได้ค่าจ้างเพียงชั่วโมงละ 1 ปอนด์แต่ไดอานาก็พึงพอใจกับรายได้นี้ และเธอยังได้รับจ้างเป็นผู้ช่วยในปาร์ตี้ ทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารเครื่องดื่มและทำความสะอาด นอกจากนี้เธอเคยเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้กับครอบครัวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในลอนดอนด้วย [3]

ความสัมพันธ์กับเจ้าชายแห่งเวลส์

ในตอนแรกๆ นั้นเจ้าชายชาลส์ทรงคบหาอยู่กับซาราห์ พี่สาวคนโตของไดอานา ตอนนั้นซาราห์เคยถูกคาดหวังจะได้เป็นเจ้าสาวของเจ้าชายชาลส์ในอนาคต ในเวลานั้นเจ้าชายมีพระชนมายุเกือบ 30 ชันษาและทรงถูกกดดันให้อภิเษกสมรส โดยพระองค์จะต้องเสกสมรสกับหญิงพรหมจรรย์ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์เท่านั้น หากทรงเสกสมรสกับสตรีที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก พระองค์จะถูกตัดสิทธิ์ในการขึ้นครองราชบัลลังก์ทันที ตามมาตราที่ 1701 แห่งกฎหมายอังกฤษ

บารอนเนสเฟอร์มอยเห็นว่าหลานสาวของเธอคนนี้เหมาะสมกับเจ้าชายที่สุด เพราะไดอานายังเป็นสาวบริสุทธิ์ ยังไม่เคยคบหากับชายใดมาก่อน และยังเป็นถึงลูกสาวของขุนนางอังกฤษผู้สูงศักดิ์ จึงทำให้บารอนเนสเห็นว่าไดอานาคู่ควรที่จะได้เสกสมรสกับเจ้าชายอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเหมาะสมกันตามสถานะในสังคม

เจ้าชายชาลส์รู้จักไดอานามานานหลายปี เพราะซาราห์ผู้เป็นพี่สาวเคยชวนไดอานาไปร่วมชมการล่าสัตว์และแข่งโปโลกับพระองค์อยู่เนืองๆ แต่หลังจากที่พระองค์เลิกรากับซาราห์แล้ว ทรงสนพระทัยไดอานาอย่างจริงจังในฤดูร้อนปี 2523 ที่นั่นไดอานาชมการแข่งขันโปโลของเจ้าชายและได้ร่วมงานปาร์ตี้ที่สองได้มีโอกาสพูดคุยกันอย่างถูกคอ ความสัมพันธ์พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น เมื่อได้รับคำเชิญจากเจ้าชายให้ไปร่วมเรือยอชท์หลวงบริทาเนียในงานแข่งเรือใบ ตามมาด้วยคำเชิญจากเจ้าชายชาลส์ที่ให้เธอไปพักผ่อนที่พระตำหนักบัลมอรัลในสก็อตแลนด์ ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2, เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ และความสัมพันธ์ระหว่างไดอานากับเจ้าชายชาลส์ก็กลายเป็นความรัก จนกระทั่งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2524 เจ้าชายขอเสกสมรสกับไดอานา เธอตอบตกลง แต่เรื่องถูกเก็บไว้เป็นความลับเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ [4]

พิธีหมั้นและพระราชพิธีอภิเษกสมรส

ไฟล์:Charles Diana wedding.jpg
พระราชพิธีอภิเษกสมรส

สำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมออกแถลงการณ์พิธีหมั้นอย่างเป็นทางการของเจ้าชายชาลส์กับเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 ไดอานาเลือกแหวนหมั้นแพลทินัมประดับแซฟไฟร์เม็ดใหญ่ล้อมเพชร 14 เม็ด มูลค่า 30,000 ปอนด์ (มูลค่าในปัจจุบันนี้ 85,000 ปอนด์)[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งแหวนวงนี้มีความคล้ายคลึงกับแหวนของฟรานเซสผู้เป็นแม่ ช่างเพชรประจำราชวงศ์ "เจอร์รัลด์" เป็นผู้ผลิตแหวนวงนี้ แต่สมาชิกราชวงศ์หลายพระองค์กลับไม่โปรดปรานเครื่องเพชรจากเจอร์รัลด์และต่างเห็นพ้องกันว่า แหวนหมั้นแซฟไฟร์ล้อมเพชรนี้ไม่ได้ผลิตให้เฉพาะแต่ไดอานาเพียงผู้เดียว เพราะแหวนแซฟไฟร์วงนี้เคยปรากฏอยู้ในคอลเลคชั่นเครื่องเพชรของเจอร์รัลด์ด้วย 30 ปีต่อมา แหวนแซฟไฟร์ล้อมเพชรของไดอานาได้กลายเป็นแหวนหมั้นของเคท มิดเดิลตัน พระคู่หมั้นของเจ้าชายวิลเลียม โอรสองค์ใหญ่ของไดอานา[ต้องการอ้างอิง]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสถูกจัดขึ้นในเช้าวันที่ 29 กรกฎาคม 2524 สาเหตุที่เลือกมหาวิหารเซนต์พอลแทนที่จะเป็นวิหารเวสต์มินสเตอร์ เนื่องจากสามารถจุผู้เข้าร่วมพระราชพิธีได้มากกว่า และวิหารแห่งนี้ถูกนิยมใช้เป็นที่ประกอบพิธีเสกสมรสของพระราชวงศ์มายาวนาน พระราชพิธีถูกถ่ายทอดสดมีผู้รับชมทั่วโลกมากกว่า 750 ล้านคนในวันนั้น ไดอานาได้รับการสถาปนาจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้ดำรงอิสริยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในขณะที่มีอายุ 20 ปี และทำให้เธอกลายเป็นหญิงสามัญชนคนแรกในรอบหลายศตวรรษที่สมรสกับรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ[5][6]

ประชาชนราว 600,000 คนบนบาทวิถี[ต้องการอ้างอิง]ต่างตั้งตารอคอยช่วงเวลาที่ไดอานาโดยสารรถม้าเพื่อมุ่งหน้าสู่สถานที่ประกอบพิธี ณ แท่นบูชาในมหาวิหาร ระหว่างทำพิธีไดอานาได้ขานพระนามของเจ้าชายชาลส์สลับตำแหน่งกันโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยพูดว่า "Philip Charles Arthur George" แทน "Charles Phillip ..." และไม่ได้สาบานต่อหน้าบาทหลวงว่า "จะอยู่ในโอวาทของพระสวามี"[ต้องการอ้างอิง] คำสาบานตามธรรมเนียมนี้ถูกตัดออกไปจากพิธีตามคำร้องขอจากคู่บ่าวสาว ซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนั้นพอควร ไดอานาสวมชุดเจ้าสาวสีขาวราคา 9,000 ปอนด์ ชายกระโปรงยาว 8 เมตร ผลงานการตัดเย็บของเดวิดและเอลิซาเบธ เอ็มมานูเอล ส่วนเค้กแต่งงานสั่งทำกับเชฟแพสทรีชาวเบลเยียม แอส. ชี. ซองแดร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม คนอบเค้กสำหรับพระราชา

พระโอรส

5 พฤศจิกายน 2524 สำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมออกแถลงการณ์เรื่องการทรงพระครรภ์ของไดอานา และให้สัมภาษณ์เรื่องการมีพระโอรสครั้งแรกกับสื่อมวลชนหลายแขนง [7] ต่อมาในวันที่ 21 มิถุนายน 2525 ไดอานาทรงให้กำเนิดพระโอรสและรัชทายาทองค์แรกที่ปีกลินโด มีนามว่า เจ้าชายวิลเลียมที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี-แพดดิงตัน 1 ปีต่อมาเจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาเสด็จเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พร้อมกับเจ้าชายวิลเลียมซึ่งยังเป็นทารกอยู่ หมายกำหนดการเสด็จเยือนยาวนานกว่า 6 สัปดาห์ การที่ไดอานาพาพระโอรสที่ยังเยาว์วัยมากร่วมการเดินทางในครั้งนี้ทำให้พระองค์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม แต่มูลเหตุในครั้งนี้เกิดจากคำทูลเชิญจากนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียและในระหว่างเดินทาง ไดอานาให้พระโอรสร่วมเครื่องบินลำเดียวกันกับพระบิดา ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงหากเกิดอุบัติเหตุ[8] [9] [10]

พระโอรสองค์ที่สองมีประสูติกาลในวันที่ 15 กันยายน 2527 และมีพระนามว่า เจ้าชายเฮนรี่ และการทรงพระครรภ์ครั้งนี้ เธอไม่ได้บอกให้ใครล่วงรู้ก่อนหน้าว่า เป็นพระธิดาหรือพระโอรส และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเจ้าชายใกล้ชิดแนบแน่นกว่าเดิม

ลูกๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของไดอานา เธอรักลูกมากและไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมเนียมของราชสำนักที่จะต้องจ้างแม่นมหรือพี่เลี้ยง [11] เธอเลือกที่จะเลี้ยงดูพระโอรสทั้งสองด้วยตัวเองตามความรักประสาแม่ลูก และยังเป็นผู้ที่ตั้งพระนามแรกให้พระโอรสเอง เลือกโรงเรียน เลือกเสี้อผ้า วางแผนให้พระโอรสออกไปเที่ยว ทั้งยังพาเจ้าชายน้อยทั้งสองไปโรงเรียนด้วยพระองค์เองเท่าที่จะมีเวลาว่าง และคำว่า 'ลูก' จะมาก่อนงานในแต่ละวันของพระองค์ ตั้งแต่วันแรกของการเป็นแม่จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต [11]

ลูกอุปถัมภ์

ไดอานานอกจากจะมีพระโอรส 2 พระองค์แล้ว ยังทรงมีลูกเลี้ยง (godchildren) อีกเป็นจำนวน 17 คน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้[ต้องการอ้างอิง]

  1. เลดีเอ็ดวิน่า กรอสเวนเนอร์ (ธิดาของดยุกและดัชเชสแห่งเวสมินสเตอร์ โดยเป็นลูกเลี้ยงคนแรกของไดอานา)
  2. ฮอนเนอเรเบิ้ลอเล็กซานดร้า นัตช์บอลล์ (ธิดาของลอร์ดและเลดีโรมเซ่ย์)
  3. แคลร์ คาซาแลท (ธิดาของอิซาเบล และ วิคเตอร์ คาซาแลท)
  4. คามิลล่า สไตรเกอร์ (ธิดาของเรเบิ้น และฮอนเนอเรเบิ้ลโซเฟีย สไตรเกอร์ ซึ่งเป็นพระสหายที่เคยอยู่แฟลตห้องเดียวกันกับไดอานา)
  5. เจ้าชายฟิลิปเปส์ (พระราชโอรสของอดีตกษัตริย์คอนสแตนตินและสมเด็จพระราชินีแอนน์ มารี)
  6. ลีโอนารา ลอนสเดล (ธิดาของเจมี่และลอร่า ลอนสเดล ลอร่าเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของไดอานา)
  7. แจ๊กกี้ วอร์แรน (บุตรของจอห์นและเลดีแคโรลีน วอร์แรน)
  8. เลดีแมรี่ เวลเลสลี่ย์ (ธิดาของมาควิสและมาชันเนสแห่งโดโร)
  9. จอร์จ ฟรอสต์ (บุตรของเซอร์เดวิดและเลดีคาริน่า ฟรอสต์)
  10. แอนโทนี่ ทวิสตัน-ดาวี่ (ธิดาของออดลี่ย์ ทวิสตัน-ดาวี่ และฮอนเนอเรเบิ้ลแคโรลีน ฮาร์บอด-ฮาร์มอนด์ แคโรลีนเป็นพระสหายที่ไดอานาทรงไว้พระทัยมาก)
  11. แจ๊ค ฟลอคเนอร์ (บุตรของซีมอนด์และอิซาเบล ฟอล์คเนอร์)
  12. ลอร์ดเอ็ดเวิร์ด ดาวน์แพททริค (บุตรของเอิร์ลแค้นท์เตสแห่งเซนท์แอนดรูว์)
  13. แจ๊ค บาทโลเมล (บุตรของวิลเลี่ยมและแคโรลีน บาทโลเมล แคโรลีนเป็นพระสหายตั้งแต่มัธยมและเคยอยู่แฟลตห้องเดียวกับไดอานา)
  14. เบนจามิน ซามูแอล (บุตรของฮอนเนอเรเบิลไมเคิลและจูเลีย ซามูแอล จูเลียเป็นพระสหายสนิทของไดอานา ทั้งสองคนมักรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันเสมอๆ อีกทั้งยังเป็นเพื่อนไม่กี่คนที่ไดอานาขอคำปรึกษาเรื่องครอบครัว)
  15. แอนโทนี่ แฮร์ริงตัน (ธิดาของโจนาธาน แฮร์ริงตัน)
  16. ดิซซี่ย์ โซแอมซ์ (ธิดาของฮอนเนอเรเบิลรูเพิร์ทและคามิลลา โซแอมซ์)
  17. โดเมนิก้า ลอว์ซัน (ธิดาของดอมินิค ลอว์ซันและฮอนเนอเรเบิล โรซา มอนซ์ตัน โรซาเป็นพระสหายคนที่ไดอานาไปประทับอยู่ด้วย 1 เดือนก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ โดเมนิก้าเป็นลูกเลี้ยงคนสุดท้ายของไดอานา)

พระกรณียกิจ

โรนัลด์และแนนซี เรแกนเฝ้าฯ รับเสด็จเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในการทรงเยือนสหรัฐอเมริกา

นับตั้งแต่ปี 2528 เจ้าหญิงแห่งเวลส์เริ่มปฏิบัติพระกรณียกิจงานด้านการกุศลมากมาย อาทิ การเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลหลายแห่ง เสด็จเยี่ยมโรงเรียนเวสต์ฮีธที่เคยศึกษา พระองค์เริ่มสนใจกิจกรรมอาสาสมัครอย่างจริงจัง เห็นได้จากการเสด็จเยี่ยมผู้ป่วยโรคร้ายอย่างโรคเอดส์และโรคเรื้อน ซึ่งไม่เคยมีเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดปฏิบัติมาก่อน นอกจากนี้เจ้าหญิงยังได้ดำรงตำแหน่งผู้อุปถัมภ์องค์การกุศลต่างๆ ที่มักเกี่ยวข้องกับคนไร้บ้าน เด็ก ผู้ติดยา และผู้สูงอายุ รวมทั้งเคยเป็นผู้นวยการโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท ไดอานาร่วมสนับสนุนนโยบายการต่อต้านการใช้กับระเบิด และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปลายปี 1997 หลังจากการเสียชีวิต [12]

ด้านโรคเอดส์

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2530 เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงเป็นบุคคลสำคัญคนแรกของโลกที่ถูกถ่ายรูปว่าจับต้องตัวผู้ป่วยโรคเอดส์[ต้องการอ้างอิง] ความคิดและทัศนคติต่อคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์เปลี่ยนไปทันที และคนป่วยเองก็มีกำลังใจมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะจากคำพูดของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งกล่าวถึงไดอานา ในปี พ.ศ. 2530 ว่า

เมื่อปี 1987 หลายคนเชื่อว่าโรคเอดส์สามารถติดต่อกันได้โดยผ่านการสัมผัส แต่เจ้าหญิงไดอานาได้ประทับร่วมเตียงเดียวกับผู้ป่วยโรคเอดส์และทรงกุมมือเขาไว้ พระองค์ได้แสดงให้โลกได้รับรู้ว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ไม่สมควรที่จะถูกทอดทิ้งแต่ควรที่จะได้รับความเอื้ออาทรจากเรามากกว่า นั่นเป็นการเปลี่ยนความคิดของประชาคมโลกและให้ความหวังแก่ผู้ป่วยที่ด้วยโรคร้ายนี้[ต้องการอ้างอิง]

การต่อต้านกับระเบิด

มกราคม 2540 ภาพไดอานาเยือนเขตกับระเบิด ในชุดหน้ากากป้องกันสะเก็ดระเบิดและถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก การรณรงค์ต่อต้านการใช้กับระเบิดของเธอถูกวิจารณ์ว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป สิงหาคม 2540 ไม่กี่วันก่อนที่เธอจะเสียชีวิต ไดอานาเดินทางไปประเทศบอสเนีย และได้เย่ยมเยียนเครือข่ายผู้รอดชีวิตจากกับระเบิดในกรุงซาราเจโว[13] ไดอานาให้ความสนใจในเรื่องกับระเบิดเพราะกับระเบิดสร้างความสูญเสียและอันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ แม้ว่าสงครามได้ยุติลงไปนานแล้ว

ไดอานามีอิทธิพลต่อการลงนามในสนธิสัญญาออตตาวา แม้ว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว สนธิสัญญาออตตาวาว่าด้วยการต่อต้านการใช้กับระเบิดทั่วโลก และร่างพระราชบัญญัติการต่อต้านกับระเบิดฉบับที่ 2 ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาอังกฤษ [14] นายโรบิน คุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ กล่าวสุนทรพจน์ต่อความทุ่มเทของไดอานาในการรณรงค์นี้ว่า

เหล่าสมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้งหลายคงทราบว่าเบื้องหลังแรงผลักดันการร่างพระราชบัญญัตินี้มาจากพระอุปถัมภ์ของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ที่พิสูจน์ให้เราเห็นถึงความสูญเสียจากการใช้กับระเบิด วิธีการที่ดีที่สุดในการระลึกถึงภารกิจนี้ของพระองค์รวมทั้งเอ็นจีโอที่ได้รณรงค์ต่อต้านกับระเบิดนั่นก็คือการผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้และเปิดหนทางสู่การหยุดใช้กับระเบิดทั่วโลก[15]

องค์การสหประชาชาติได้ขอร้องชาติที่ผลิตและกับระเบิดจำนวนมหาศาล ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน และรัสเซีย เพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญาเพื่อมิให้มีการผลิตและนำไปใช้ตามที่ไดอานาได้ทรงรณรงค์ไว้ คาโรล เบลลามี ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า "กับระเบิดยังคงเป็นสิ่งล่อใจที่อันตรายตามธรรมชาติของเด็กที่อยากรู้อยากเห็นและเล่นสนุก กับระเบิดทำให้เด็กผู้ไร้เดียงสาได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้"[16]

ความร้าวฉานในชีวิตสมรส

ต้นปี 2533 ชีวิตสมรสระหว่างเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เริ่มคลอนแคลน สื่อมวลชนต่างให้ความสนใจต่อเรื่องนี้และพาดหัวข่าวความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น ทำให้ความกดดันกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่วโลก [17] ทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงต่างกล่าวหากันว่าเป็นผู้ที่ทำให้ชีวิตสมรสล่มสลายผ่านเพื่อนไปจนถึงสื่อมวลชน ชีวิตรักหวานหอมราวกับเทพนิยายกลายเป็นรักร้าวที่น่าอดสู ถูกระบุว่าเริ่มต้นขึ้นระหว่างปี 2528 -2529 เมื่อเจ้าชายกลับมีความสัมพันธ์กับคนรักเก่า นางคามิลลา (ต่อมาเป็นภรรยาของแอนดริว ปาร์กเกอร์-โบวส์) ความสัมพันธ์ครั้งนี้ถูกเปิดเผยผ่านหนังสือ Diana: Her True Story โดยแอนดริว มอร์ตันที่วางจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม 2535 เปิดเผยชีวิตส่วนตัวของไดอานาที่เผชิญหน้ากับชีวิตสมรสที่ไร้ซึ่งความสุข และพยายามปลงชีพตัวเองถึง 5 ครั้ง เพราะความกดดันในชีวิตสมรสและจากสาธารณชนที่จับจ้องมองเธอตลอดเวลา[ต้องการอ้างอิง]

เรื่องราวอื้อฉาวยังคงดำเนินต่อไปเมื่อหนังสือพิมพ์เดอะซันตีพิมพ์ฉบับเดือนสิงหาคม 2535 บทถอดความจากเทปบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าหญิงไดอานากับเจมส์ กิลบี้ ด้วยพาดหัว "Squidgygate -สควิดจี้เกต" ซึ่งคำว่า สคิวดจี้นี้เป็นชื่อเล่นที่กิลบี้ใช้เรียกไดอานาอย่างรักใคร่ อีก 3 เดือนต่อมาเทปบันทึกการสนทนาความสัมพันธ์ลึกซึ้งทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าชายชาลส์กับนางคามิลลาถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ทูเดย์และเดอะมิเรอร์ กลายเป็นคดี "คามิลลาเกต-Camillagate"

ในช่วงปี 2537 ข่าวลือหนาหูที่ว่าเจ้าหญิงไดอานามีความสัมพันธ์ลำลึกกับอดีตครูสอนขี่ม้า เจมส์ ฮิววิตต์ กลายเป็นหนังสือ Princess in love ที่ตีพิมพ์ในปี 2537 ผ่านคำบอกเล่าจากปากของฮิววิตต์เอง แต่ไดอานาได้ออกให้สัมภาษณ์ผ่านรายการพาโนรามาในปี 2538 ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเป็นเรื่องทีแต่งขึ้นมาโดยแอนนา พาสเตอร์แนค[ต้องการอ้างอิง]

ธันวาคม 2535 จอห์น เมเจอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศกลางสภาสามัญชนเรื่องการแยกกันอยู่ระหว่างเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ มกราคม 2536 ต่อมาบทถอดความจากบทสนทนาทางโทรศัพท์ฉบับเต็มจากคดี "คามิลลาเกต" อันอื้อฉาว ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ทั่วทั้งเกาะอังกฤษ [18]

3 ธันวาคม 2536 ไดอานาประกาศถอนตัวจากสาธาณชนอย่างไม่มีกำหนด เจ้าชายชาลส์ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์กับโจนาธาน ดัมเบิลบลี ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ทรงยอมรับว่าได้มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับนางคามิลลาจริง และกลับไปคบหาเธอเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเมื่อปี 2529 หลังชีวิตสมรสของพระองค์กับเจ้าหญิงไดอานาล่มสลาย [19] [20] [21]

เจ้าหญิงไดอานาเชื่อว่าคามิลลา เป็นตัวการที่ทำให้ชีวิตของพระองค์ล่มสลาย แต่พระองค์ยังพบข้อพิรุธบางอย่างที่ทำให้ทรงเชื่อว่าพระสวามีไปติดพันผู้หญิงอื่นอีก จากจดหมายส่วนตัวของเจ้าหญิงที่เขียนถึงพระสหาย ใจความว่า "ชาลส์กำลังไปติดพันหญิงอีกคน คนที่ชื่อ ทิกก์ เล็จจ์-เบิร์ก และต้องการสมรสใหม่กับสตรีผู้นี้" เล็จจ์-เบิร์กไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นพี่เลี้ยงที่เจ้าชายจ้างมาดูแลพระโอรสทั้งสองเมื่อมาพักอยู่กับพระองค์ที่สก็อตแลนด์ [22] ทันทีที่ไดอานาทราบว่าพระสวามีจ้างพี่เลี้ยงคนนี้ ก็รู้สึกไม่พึงพออย่างยิ่งที่พระสวามีกระทำเช่นนั้น

ทรงหย่า

ไฟล์:Cddvrc.JPG
หนังสือสำคัญการหย่าของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์

ไดอานาให้สัมภาษณ์ผ่านรายการพาโนรามาทางสถานีโทรทัศน์ BBC[23] โดยมีนายมาร์ติน บาเชียร์ เป็นพิธีกร และถูกออกอากาศในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 ในการให้สัมภาษณ์ไดอานาพูดถึงนายเจมส์ ฮิววิตต์ ว่า "ใช่ ฉันรักเขา ฉันหลงรักเขา" อ้างถึงคามิลลาในประโยค "มีคนสามคนอยู่ในชีวิตสมรสนี้" เธอพูดถึงตัวเองว่า "ฉันปรารถนาที่จะเป็นราชินีในหัวใจของประชาชน" และพูดถึงความเหมาะสมของเจ้าชายชาลส์ต่อการขึ้นครองราชย์ว่า "ฉันรู้สึกว่าหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ บทบาทใหม่จะนำข้อจำกัดมากมายมาสู่พระองค์ และฉันไม่ทราบว่าพระองค์จะปรับตัวให้เข้ากับตำแหน่งนี้ได้อย่างไร"[24]

ธันวาคม 2538 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชสาส์นไปถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ที่ทรงแนะนำให้ทั้งสองหย่าขาดกันอย่างเป็นทางการจากไดอานาเปิดเผยเรื่องส่วนตัวอันขมขื่นอย่างหมดเปลือกผ่านรายการโทรทัศน์ และไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าที่ไดอานากล่าวหาพระพี่เลี้ยง ทิกก์ เล็จจ์-เบิร์ก ว่าไปทำแท้งเด็กที่เกิดกับเจ้าชายชาลส์ [25] หลังจากที่เล็จจ์-เบิร์กส่งปีเตอร์ คาร์เตอร์ให้มาแสดงความขอโทษต่อไดอานา ซึ่ง 2 วันก่อนเรื่องแตก เลขานุการของไดอานา แพทริก เจฟสัน ตัดสินใจลาออกและเขียนโน้ตสั้นทิ้งไว้ว่า "(ไดอานา)รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่สามารถกล่าวหาว่าเล็จจ์-เบิร์กที่ไปรีดเด็กที่เกิดจากชาลส์"[26] 20 ธันวาคม 2538 สำนักพระรางวังบักกิ้งแฮมออกแถลงการณ์เรื่อง สมเด็จพระราชินีมีพระราชสาส์นถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เพื่อทรงแนะนำให้ทั้งสองหย่าขาดกันอย่างเป็นทางการ โดยมีนายกรัฐมนตรี คณะองคมนตรีอาวุโส และสถานีโทรทัศน์ BBC เป็นผู้สนับสนุนสมเด็จพระราชินีให้ทรงออกมาชี้ขาดเรื่องนี้ หลังได้ปรึกษาหารือมานานกว่าสองสัปดาห์ เจ้าชายชาลส์ตอบตกลงทันที [27]

กุมภาพันธ์ 2539 ไดอานาตอบตกลงหย่าหลังจากได้เจรจากับเจ้าชายชาลส์และตัวแทนของสมเด็จพระราชินี ไดอานาสร้างความขุ่นเคืองให้แก่ราชสำนักอีกครั้งเมื่อเธอต้องการให้สำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมออกแถลงการณ์ยอมรับการหย่าขาดจากเจ้าชายและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เธอจะได้รับหลังการหย่า โดยการหย่าขาดเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 28 สิงหาคม 2539 [19] หลังการหย่า ไดอานาได้รับค่าเลี้ยงดูราว 17 ล้านปอนด์จากอดีตพระสวามี [28] และไม่กี่วันก่อนการหย่าเสร็จสมบูรณ์สำนักพระราชวังได้ประกาศให้ไดอานาพ้นจากสถานะชายาของเจ้าชายแห่งเวลส์ สูญเสียอิสริยศชั้นเจ้า (Her Royal Highness) คงใช้แต่เพียงพระนาม ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์

อย่างไรก็ตามสำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมยืนยันว่า ไดอานายังคงเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์ในฐานะพระมารดาของรัชทายาทลำดับที่สองและที่สามแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ หลังการหย่าร้าง และในการพิจารณาคดีมรณกรรมของไดอานา ไดอานายังคงถือว่าเป็นสมาชิกราชวงศ์อยู่ แม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม

ชีวิตใหม่หลังการหย่าร้าง

หลังการหย่าขาดจากเจ้าชายชาลส์ ไดอานาได้อพาร์ตเมนต์ผั่งทิศเหนือของพระราชวังเคนซิงตันเพิ่มเป็นสองชุด ที่ครั้งหนึ่งเคยพำนักร่วมกับเจ้าชายชาลส์ในปีแรกของการเสกสมรส และพักอาศัยอยู่ที่นั่นตราบจนสิ้นพระชนม์

ไดอานาพบรักครั้งใหม่กับศัลยแพทย์ทรวงอก ฮาสนัท ข่าน ที่เจลุม ประเทศปากีสถาน เพื่อนสนิทของเธอเรียกว่า "ความรักที่แท้จริงในชีวิตของหล่อน" ความสัมพันธ์ครั้งนี้ถูกปิดเป็นความลับและกินเวลายาวนาน 2 ปี [29] [30] [31] หลังโดนสื่อพาดหัวข่าวเรื่องความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง

ฮัสนัท ข่านมาจากครอบครัวชาวมุสลิมในปากีสถานที่เขาถูกคาดหวังให้แต่งงานกับหญิงมุสลิมที่เหมาะสม ความสัมพันธ์ระหว่างฮัสนัทกับไดอานากลายเป็นปัญหามากเกินไปสำหรับเขาไม่เพียงแต่เรื่องศาสนาเท่านั้น

จากการให้การของฮัสนัท ข่าน หนึ่งในพยานคดีมรณกรรมของไดอานา โดยให้การว่า ไดอานาเป็นคนบอกเลิกความสัมพันธ์ครั้งนี้เอง หลังการนัดพบกันครั้งสุดท้ายเมื่อกลางดืกของคืนวันหนึ่งที่ไฮด์ปาร์กซึ่งเชื่อมต่อกับลานพระราชวังเคนซิงตันในเดือนมิถุนายน 2540[ต้องการอ้างอิง]

เดือนเดียวกันไดอานามีรักครั้งใหม่กับโดดี อัล ฟาเยด ลูกชายของมหาเศรษฐี โมฮัมหมัด อัล ฟาเยด เจ้าของเรือยอทช์ที่พาเธอไปพักผ่อนในฤดูร้อนนั้น ในตอนแรกไดอานามีแผนที่จะพาพระโอรสไปพักร้อนที่เกาะลองส์ไอส์แลนด์ นิวยอร์ก แต่สำนักราชองค์รักษ์ได้ยับยั้งแผนการนี้เสียก่อน และหลังจากที่ตัดสินใจเลื่อนการเดินทางมาที่ประเทศไทยไปเป็นเดือนพฤศจิกายน ไดอานาตอบรับคำเชิญของครอบครัวฟาเยดเพื่อไปร่วมล่องเรือยอชท์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ฝรั่งเศสตอนใต้ สำนักงานราชองครักษ์ยินยอมให้ไดอานาร่วมพักร้อนกับครอบครัวนี้เพราะได้แจ้งรายละเอียดการรักษาความปลอดภัยสูงบนเรือยอทช์หมายังสำนักงานก่อนแล้ว

สิ้นพระชนม์

รถยนต์เมอร์ซีเดสเบนซ์ภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุ

หลังจากเรือยอชท์ที่เพิ่งกลับจากล่องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเทียบฝั่งที่ฝรั่งเศส ไดอานาและโดดี ฟาเยด เดินทางต่อไปที่กรุงปารีส เพื่อหยุดพักค้างคืนที่อพาร์ตเมนต์ของโดดีก่อนที่จะกลับลอนดอนในต้นเดือนกันยายน เที่ยงคืนวันที่ 31 สิงหาคม 2540 ไดอานาและโดดีออกจากโรงแรมริทซ์โดยถูกช่างภาพอิสระรุมติดตามเพื่อถ่ายภาพ รถยนต์ที่ทั้งคู่นั่งมาได้เร่งความเร็วเพื่อหลบหนีการไล่ตามของบรรดาช่างภาพ จนมาถึงถนนลอดอุโมงค์ปองต์ เดอ ลัลมา ที่มีความลาดชันสูง รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ขับมาด้วยความเร็วสูง และนายอองรี พอลคนขับไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้เพราะมีอาการมึนเมา รถยนต์จึงพุ่งชนคอนกรีตกลางถนนอย่างจังและหักเลี้ยวอย่างกะทันหัน เพียงไม่กี่นาที่รถเบนซ์ W140 คันงามก็กลายเป็นเศษเหล็กและเกิดควันไฟจากแรงระเบิดเป็นเหตุนายอองรี ปอลคนขับและนายโดดี ฟาเยดเสียชีวิตทันที ไดอานาได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายแห่งภายในทรวงอก และสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลปีเต-ซัลแปร์ติแยร์ ชานกรุงปารีส ในเวลา 3.57 น. โดยแพทย์ได้ทำการช่วยชีวิตจนสุดความสามารถ นายเทรเวอร์ รีส์-โจนส์ องครักษ์ของนายโดดีเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวจากอุบัติเหตุ[32]

พิธีศพของพระองค์มีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กันยายน 2540 ที่มหาวิหารเวสมินสเตอร์ โดยมีผู้รับชมการถ่ายทอดสดพิธีศพผ่านดาวเทียมมากกว่าหลายร้อยล้านคนทั่วโลก[ต้องการอ้างอิง]

แผนลอบสังหารและการพิจารณาคดีมรณกรรมครั้งที่ 2

ในตอนแรก หน่วยสืบสวนฝรั่งเศสสรุปว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทของนายอองรี ปอล ที่สูญเสียความสามารถในการควบคุมยานพาหนะ พ่อของโดดี นายโมฮัมหมัด อัล ฟาเยด (เจ้ากิจการโรงแรมริทซ์ปารีส นายจ้างของอองรี ปอล)[33] ออกมายืนยันในปี 2542 ว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นแผนลอบสังหารเจ้าหญิง[34] ตามคำสั่งของหน่วยข่าวกรอง MI6 แห่งอังกฤษ และพระบัญชาของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ

คดีมรณกรรมของไดอานาถูกนำมาไต่สวนใหม่ในศาลอังกฤษอีกครั้งช่วงระหว่างปี 2547-2550[35] สุดท้ายแล้วคดีนี้ถูกสรุปว่าเป็นผลจากความประมาทที่เห็นได้ชัดจากการขับขี่ของอองรี ปอลที่เร่งความเร็วของรถยนต์เพื่อหลบหนีการไล่ตามของเหล่าช่างภาพ ไม่กี่วันต่อมานายโมฮัมหมัด ฟาเยด ประกาศยุติการต่อสู้คดีมรณกรรมที่ยาวนานกว่า 10 ปี [36] เพราะเห็นแก่พระโอรสทั้งสองของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้ล่วงลับ

การไว้อาลัยแด่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ และพิธีศพ

การจากไปอย่างกะทันหันของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้ทรงเสน่ห์สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจให้กับชาวโลก บุคคลสำคัญในหลายประเทศได้ส่งสาส์นแสดงความอาลัยมายังสหราชอาณาจักร ลานหน้าพระราชวังเคนซิงตันอันเคยเป็นที่พักของพระองค์ก็คลาคล่ำไปด้วยดอกไม้ เทียน การ์ดแสดงความอาลัย และจดหมายนานหลายเดือน

พิธีศพของไดอานาถูกจัดขึ้นที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันที่ 6 กันยายน 2540 ซึ่งก่อนหน้านี่ไม่กี่วัน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้มีพระราชดำรัสแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อการจากไปของไดอานาที่ถ่ายทอดสดจากพระราชวังบักกิ้งแฮม

พระโอรสทั้งสองของเจ้าหญิงไดอานา เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายเฮนรี่ ได้ร่วมเสด็จตามขบวนพระศพของพระมารดา พร้อมด้วยเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระและชาลส์ สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 พระอนุชา [37] และเซอร์เอลตัน จอห์น ได้ร้องเพลง Candle in the wind เพื่อบรรเลงถวายอาลัยแก่ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ในงานพระศพ

พระพินัยกรรม

น้ำพุอนุสรณ์แห่งไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์
(the Diana, Princess of Wales Memorial Fountain)

หลังไดอาน่าเสียชีวิตไปแล้ว ได้มีการเปิดพินัยกรรมในวันที่ 2 มีนาคม ปีถัดมา ซึ่งสาระสำคัญของพินัยกรรมมีดังนี้

  1. มีความประสงค์ให้มารดาและนายพลแพทริค เป็นผู้รับผิดชอบและจัดการทรัพย์ของพระองค์
  2. ต้องการให้มีการปลงศพของเธอโดยการฝัง
  3. หากว่าไดอาน่าและพระสวามีสิ้นพระชนม์ก่อนที่พระโอรสทั้งสองพระองค์จะมีพระชนม์ได้ 20 พรรษา มีความประสงค์ประสงค์ให้พระมารดาและพระอนุชา (เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9) เป็นผู้ปกครองเจ้าชายทั้ง 2 พระองค์
  4. ไดอาน่ายินดีที่จะจ่ายภาษี[ต้องการอ้างอิง]

ผู้พิทักษ์ของไดอาน่ามีทรัพย์สินรวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 35,600,000 ดอลลาร์ ซึ่งหลังจากจ่ายภาษีแล้วจะเหลือประมาณ 21,300,000 ดอลลาร์ พระองค์โปรดให้แบ่งทรัพย์สินประทานให้แก่ลูกเลี้ยงของพระองค์ทั้ง 17 คนก่อน คนละ 82,000 ดอลลาร์ และให้นายพอล เบอร์เรล มหาดเล็กต้นห้องของพระองค์ 80,000 ดอลลาร์ ทรัพย์ที่เหลือนั้น ให้เก็บรักษาไว้จนกว่าเจ้าชายแฮร์รี่จะมีพระชนม์ 25 พรรษา (และหากว่าทรัสต์มีผลกำไรงอกเงยขึ้นมา) ให้แบ่ง(ทั้งเงินต้นและกำไรของผู้พิทักษ์) เป็นสองส่วนเท่าๆ กัน ประทานแก่พระโอรสทั้ง 2 พระองค์[ต้องการอ้างอิง]

ทั้งนี้พระโอรสทั้งสองพระองค์ และลูกเลี้ยงทั้ง 17 คน จะต้องมีชีวิตอยู่หลังจากเธอเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 เดือนจึงจะมีสิทธิ์รับมรดกตามพินัยกรรม [38][39]

อนุสรณ์สถาน

ทันที่มีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของไดอานา ทั่วทุกมุมโลกต่างแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์นี้ ในที่สาธารณะ ประชาชนนำช่อดอกไม้และสิ่งของอื่นๆ เพื่อไว้อาลัยไปวางไว้ที่หน้าพระราชวังเคนซิงตันที่ถูกกองดอกไม้ขนาดมหึมาล้อมรอบ นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถานถาวรเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง ดังนี้

  • สวนอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ในไฮด์ปาร์ก, กรุงลอนดอน ที่ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
  • สนามเด็กเล่นอนุสรณ์แห่งไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในสวนเคนซิงตัน กรุงลอนดอน
  • ทางเดินอนุสรณ์แห่งไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เป็นทางเดินวงแหวนระหว่างสวนเคนซิงตัน, กรีนปาร์ก, ไฮด์ปาร์ก, เซนต์เจมส์ปาร์ก ในกรุงลอนดอน

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 อนุสรณ์ที่ไม่เป็นทางการที่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์[40] ซึ่งนายโมฮัมหมัด ฟาเยดเป็นเจ้าของ ชิ้นแรกคือรูปถ่ายของไดอานากับโดดีตั้งอยู่เบื้องหลัง ทรงปิรามิดที่บรรจุแก้วไวน์เปื้อนลิปสติกของไดอานาในระหว่างอาหารมื้อเย็นมื้อสุดท้ายและแหวนที่นายโดดีเพิ่งซื้อให้เจ้าหญิงเมื่อไม่นานก่อนที่จะเสียชีวิต และอีกชิ้นถูกจัดโชว์ในปี 2548[41] เป็นรูปหล่อทองแดงของนายโดดีที่กำลังเต้นรำกับไดอานาบนชายหาดภายใต้ปีกของนกอัลบาทรอส ใต้ฐานของรูปหล่อมีป้ายจารึกไว้ว่า "Innocent Victim" (เหยื่อผู้บริสุทธิ์) และยังมีอนุสรณ์ที่ไม่เป็นทางการในนครปารีสที่ปลาซ เดอ ลัลมา เป็นที่รู้จักในชื่อ เปลวไฟแห่งเสรีภาพ ถูกนำมาติดตั้งในปี 2542

รูปหล่อทองแดง Innocent Victims ในห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ กรุงลอนดอน

ไดอานาในงานศิลปะร่วมสมัย

ตั้งแต่เสียชีวิตไป ชื่อของไดอานาปรากฏอยู่ในผลงานศิลปะมากมายที่อ้างอิงถึงแผนการลอบสังหาร ความเห็นใจต่อชีวิตของไดอานาและการตกเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย

กรกฎาคม 2540 เทรซี่ย์ เอมิน สร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ขาวดำที่อิงกับชีวิตจริงของไดอานา ในชุดผลงาน Temple of Diana จัดแสดงในเดอะบลูแกลเลอรี่ที่ลอนดอน เช่นผลงาน They want you to be destroyed (2538)[42] เป็นผลงานที่กล่าวถึงอาการป่วยด้วยโรคบูลิเมียของไดอานา เอมินยืนยันว่า ผลงานภาพศิลปะของเธอนั่นชวนให้รู้สึกสะเทือนอารมณ์และไม่ได้เป็นการเยาะเย้ยถากถางอะไรเลย [43]

ในปี 2548 ผลงานภาพยนตร์ของมาร์ติน ซาสเตรอ Diana : The Rose Conspiracy ถูกฉายในงานเทศกาลหนังเมืองเวนิซ เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นว่าชาวโลกได้ค้นพบไดอานายังมีชีวิตอยู่และสนุกสนานกับชีวิตใหม่ที่ถูกปิดเป็นความลับในสลัมชานมอนเตวิเดโอ ซึ่งถ่ายทำที่ชุมชนแออัดอุรุกวัยสถานที่จริงและได้นักแสดงที่เป็นเจ้าหญิงไดอานาตัวปลอมจากเซาเปาโล ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นผลงานภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ศิลปะอิตาลี[44]

ในปี 2550 มีการจัดแสดงผลงานทางศิลปะของสเตลลา ไวน์ ถือเป็นการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกในโมเดิร์นอาร์ตอ็อกฟอร์ดแกลเลอรี่ โดยเป็นงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนลอบสังหารไดอานา ซึ่งศิลปินได้ผสมผสานความเข้มแข็งและความอ่อนแอในบุคลิกของไดอานา [45] รวมทั้งความผูกพันใกล้ชิดกับพระโอรส ในชื่อ Diana Branches, Diana Family Picnic, Diana Veil, & Dian Pram [46]

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด

  • ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 นิตยสารอิตาลี Chi ตีพิมพ์ภาพถ่ายของไดอานาขณะประสบอุบัติเหตุ ซึ่งหมดสติอยู่บนซากรถยนต์เมอร์เซเดสเบนซ์ ทั้งๆ ที่ภาพนี้ได้ถูกขอร้องห้ามมิให้เผยแพร่ภาพนี้ [47] บรรณาธิการแห่งนิตยสารฉบับนี้ ออกมาแก้ตัวว่า เหตุที่ตีพิมพ์ภาพนี้เพราะว่ายังไม่เคยมีใครเคยเห็นมาก่อน และไม่ได้เป็นการล้วงล้ำเจ้าหญิงผู้ล่วงลับ [48]
  • 1 กรกฎาคม 2550 มีการแสดงคอนเสิร์ตเพื่อรำลึกเจ้าหญิงไดอานาในโอกาสที่พระองค์จะมีอายุครบ 46 ปี และจะครบรอบ 10 ปีของการเสียชีวิตในอีกไม่กี่สัปดาห์ โดยคอนเสิร์ตถูกจัดขึ้นที่สนามเวมบลีสเตเดียม โดยมีเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายเฮนรี่เป็นผู้จัดคอนเสิร์ตนี้ [49]
  • ปี 2550 ภาพยนตร์สารคดี Diana: Last Days of Princess (วันสุดท้ายของเจ้าหญิงไดอานา) ถูกเผยแพร่ในอังกฤษครั้งแรก บอกเล่าชีวิตจริงของเจ้าหญิงไดอานาในสองเดือนสุดท้ายของชีวิต

ความเห็นต่อชีวิตของไดอานาจากนักประวัติศาสตร์ราชวงศ์

นับตั้งแต่ประกาศหมั้นกับเจ้าชายแห่งเวลส์เมื่อ 29 กรกฎาคม 2524 จนกระทั่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในเดือนสิงหาคมปี 2540 ไดอานากลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกและถูกระบุว่ากลายเป็นสตรีที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดในโลก พระองค์เป็นที่จดจำจากสไตล์การแต่งตัว[50] ความสามารถพิเศษในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่เสแสร้ง แต่ทรงแสดงออกมาจากใจจริง และความทุ่มเทในงานด้านการกุศล และชีวิตสมรสที่ไม่ราบรื่นกับเจ้าชายชาลส์

เชื่อกันว่าไดอานาเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของแอนดริว มอร์ตันเพื่อใช้ในการเขียนหนังสือ Diana: Her True Story ที่ตีแผ่เรื่องราวของตัวเธอที่ไม่พึงปรารถนาจากราชวงศ์วินด์เซอร์ ความกดดันในชีวิตสมรส ในหนังสือเล่มนี้อ้างว่าไดอานาพยายามทำร้ายตัวเอง ด้วยการกระโดดจากบันไดในพระราชวังเพราะเจ้าชายชาลส์หนีพระองค์ไปขี่ม้าและไม่ความสนใจแก่เธอ ทิน่า บราวน์ ให้ความเห็นว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่การพยายามฆ่าตัวตาย ไดอานาคงไม่มีเจตนาที่จะทำอันตรายกับพระกุมารในครรภ์ และมีราชองครักษ์คนหนึ่งกล่าวว่า ไดอานาแค่ลื่นล้มโดยอุบัติเหตุ [51] และผู้แวดล้อมในเหตุการณ์นี้ก็เล่าว่านี่เป็นเพียงอุบัติเหตุเท่านั้น [52]

นักประวัติศาสตร์ราชวงศ์ ซาราห์ แบรดฟอร์ดให้ความเห็นว่า วิธีการเดียวที่จะเยียวยาจิตใจที่ทุกข์ทรมานของไดอานาคือความรักจากเจ้าชายชาลส์ที่ไดอานาโหยหาแต่กลับถูกปฏิเสธอยู่ตลอดเวลา พระองค์ทอดทิ้งเธอ หาวิธีการต่างๆ มาทำให้ตัวพระชายารู้สึกไม่คุณค่าพอสำหรับพระองค์ พระองค์เย็นชาต่อเธอ ทำให้จิตใจและร่างกายของเธออ่อนแอจนสิ้นหวัง ความเห็นนี้ตรงกับที่ไดอานาเคยพูดถึงพระสวามีว่า "สามีของฉันพยายามทำให้ฉันรู้สึก[ดี]ไม่เพียงพอในทุกๆ อย่างเท่าที่เขาจะทำได้ เมื่อฉันกำลังรู้สึกดี แต่อีกเดี๋ยวเขาก็ทำให้ฉันกลับมาเศร้าใจอีกครั้ง"[53]

ไดอานาทรงยอมรับว่าได้เผชิญกับความกดดัน เช่น การทำร้ายตัวเอง อาการของโรคบูลิเมียที่กำเริบอยู่บ่อยๆ ตลอดช่วงวัยผู้ใหญ่ของเธอ เมื่อยังเด็กไดอานาก็เคยได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจจากพ่อแม่ตั้งแต่การมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงบ่อยครั้งจนถึงการหย่าร้าง เธอและน้องชายไม่เคยได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ แต่ถูกเลี้ยงดูโดยพี่เลี้ยง ทำให้เป็นปมในวัยผู้ใหญ่ที่ทั้งสองคนพี่น้องอยากเลี้ยงลูกเองมากกว่า และไม่จ้างพี่เลี้ยงเหมือนกับที่พ่อแม่เคยทำ ไดอานาไม่ชอบพูดความจริง นักจิตวิทยาบอกว่าเป็นผลมาจากครอบครัวที่แตกร้าวในวัยเด็ก และพัฒนาให้เธอมีอาการบุคลิกสองขั้ว [54]

ปี 2550 ทิน่า บราวน์ เขียนหนังสือประวัติของไดอานา โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงพระองค์ว่า "กระวนกระวายใจและคลั่งไคล้กับการจับจ่ายสินค้าหรูหรามากจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ไดอานาถูกครอบงำด้วยภาพลักษณ์ในสังคมจนกลายเป็นคนวิกลจริตจากสื่อมวลชนที่เจตนาร้าย เจ้าเล่ห์แกมโกง สื่อยุ่งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเธอจนกลายเป็นเรื่องละลาบละล้วง" และเธอให้ความเห็นอีกด้วยว่า "เจ้าชายชาลส์ อภิเสกสมรสกับไดอานาเพื่อผลประโยชน์ของพระองค์เอง และการที่ไดอานาไปมีความรักหวานชื่นกับโดดี ฟาเยด ทำให้ราชสำนักเกิดความโกรธเกรี้ยว เหตุผลที่เป็นไปได้คือ เธอต้องการแก้แค้นกับสิ่งโหดร้ายที่เกิดขึ้นในวังที่เธอเคยได้รับ แต่ไม่มีทางที่ไดอานาจะสมรสใหม่กับชายมุสลิมผู้นี้" [55]

พระอิสริยยศ

ไฟล์:Dianacoatofarms.JPG
ตราประจำพระองค์หลังทรงหย่า ซึ่งเป็นตราประจำตระกูลสเปนเซอร์ของพระองค์ ภายใต้มงกุฏอังกฤษ

ไดอาน่าทรงดำรงพระอิสริยยศต่างกันตามช่วงเวลาดังนี้

สำหรับพระนามและพระอิสริยยศเต็มๆ ของพระองค์นับตั้งแต่พระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์จนถึงการหย่าร้าง คือ

Her Royal Highness The Princess Charles, Princess of Wales and Countess of Chester, Duchess of Cornwall, Duchess of Rothesay, Countess of Carrick, Baroness of Renfrew, Lady of the Isles, Princess and Great Stewardess of Scotland.[57] [58]

หลังจากสิ้นพระชนม์ ประชาชนทั่วไปยังคงนิยมเอ่ยพระนามของพระองค์ว่า "เจ้าหญิงไดอานา" ซึ่งเป็นอิสริยศที่พระองค์ไม่เคยได้รับหลังจากการหย่าร้าง ส่วนสื่อมวลชนเรียกพระองค์ว่า "เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์" หรือ ชื่อเล่นที่สื่อมวลชนตั้งให้พระองค์ "เลดี้ได" (ตามธรรมเนียมของชาวตะวันตกนั้น นิยมกล่าวชื่อของสตรีที่เสียชีวิตด้วย ชื่อและสกุลเดิมก่อนแต่งงาน) และฉายา "เจ้าหญิงของประชาชน" ที่นายโทนี่ แบลร์ อ้างถีงพระองค์ระหว่างการกล่าวคำไว้อาลัยในพิธีพระศพของไดอานา

เหรียญเชิดชูเกียรติแห่งสหราชอาณาจักร

Royal Family Order of Queen Elizabeth II

เหรียญเชิดชูเกียรติแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

Grand Officer Order of the Crown (Netherlands)

บรรพบุรุษและเชื้อสายกษัตริย์

ไดอานามีเชื้อสายของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 จากบรรพบุรุษทางฝ่ายพ่อ ผ่านโอรสนอกสมรสทั้ง 4 คน ดังนี้[ต้องการอ้างอิง]

  1. เฮนรี่ ฟิทซ์รอย (ดยุกแห่งกราฟตันที่ 1 โอรสของบาร์บารา วิลลิเลียร์ส ดัชเชสแห่งคลีฟแลนด์)
  2. ชาลส์ เลนน็อกซ์ (ดยุกแห่งริชมอนด์และเลนน็อกซ์ โอรสของลูอิซ การือแยร์)
  3. ชาลส์ โบเคลิร์ก (ดยุกแห่งเซนต์อัลบานส์ โอรสของเนล กวิน)
  4. เจมส์ ครอฟท์ สก็อต (ดยุกแห่งมอนมัธ ผู้นำกบฏมอนมัธอันโด่งดังในปี 1685 โอรสของลูซี่ วอลเตอร์)

นอกจากนี้แล้ว เธอยังสืบเชื้อสายจากพระเจ้าเจมส์ที่ 2 กับชายาลับของพระองค์ อราเบลลา เชอร์ชิล ผ่านทางธิดานอกสมรส เฮ็นริเอ็ตต้า ฟิทซ์เจมส์[ต้องการอ้างอิง] เชื้อสายฝั่งแม่ของไดอานามีเชื้อสายอังกฤษ-ไอริช

ตระกูลสเปนเซอร์นั้นจัดว่าเป็นตระกูลขุนนางชั้นสูงที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์มายาวนานหลายศตวรรษ และเคยรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาตั้งแต่คริสตวรรษที่ 17 ยายของไดอานาหรือ รูธ ร็อฌ บารอนเนสเฟอร์มอยเป็นพระสหายและนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระราชชนนีเอลิซาเบธ โบวส์ ลีออน และพ่อของไดอานายังเคยเป็นทหารองครักษ์ของพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาก่อน

แผนผังข้างล่างนี้แสดงบรรพบุรุษของไดอานานับขึ้นไป 4 ชั่วอายุคน

ก่อนหน้า ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ถัดไป
เจ้าหญิงแมรี่แห่งเทก เจ้าหญิงแห่งเวลส์
เจ้าหญิงแห่งเวลส์
ใน เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์

คามิลลา ชานด์ เจ้าหญิงแห่งเวลส์
(ทรงใช้พระอิสริยยศหลักเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอล)

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถและอ้างอิง

  1. "The Life of Diana, Princess of Wales 1961-1997".
  2. "Prince Harry's official website". Princeofwales.gov.uk. 11 February 2010. สืบค้นเมื่อ 3 June 2010.
  3. Diana: Her True Story, Commemorative Edition, by Andrew Morton (writer), 1997, Simon & Schuster
  4. Diana: Her True Story, Commemorative Edition, by Andrew Morton (writer), 1997, Simon & Schuster
  5. หลังจากที่เมื่อราว 400 ปีก่อนเลดีแอนน์ ไฮด์ได้เสกสมรสกับจอร์จ ดยุกแห่งยอร์คและอัลบานี หากแต่ความแตกต่างคือชาลส์เป็น “รัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรง” แต่เจมส์เป็น“รัชทายาทโดยสันนิษฐาน” รัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงคือรัชทายาทลำดับแรกผู้ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ ตามพระราชโองการจากกษัตริย์ ในขณะที่ รัชทายาทโดยสันนิษฐาน คือรัชทายาทลำดับรองของการสืบสันตติวงศ์ และลำดับอาจถูกลดลงไปก็ได้เมื่อมีพระราชกุมารพระองค์ใหม่ที่ทรงสิทธิ์สูงกว่าประสูติ เช่นปัจจุบันเจ้าชายแฮร์รี่เป็นรัชทายาทลำดับที่ 3 หากแต่ถ้าเจ้าชายวิลเลี่ยมมีพระโอรสหรือพระธิดา เจ้าชายหรือเจ้าหญิงพระองค์นั้นจะเป็นรัชทายาทลำดับที่ 3 แทน และเจ้าชายแฮร์รี่จะกลายเป็นรัชทายาทลำดับที่ 4 หลังการอภิเษกสมรสไดอานาได้รับยศเป็น "เจ้าหญิงแห่งเวลส์" และมีลำดับพระอิสริยยศเป็นลำดับที่ 3 แห่งพระราชวงศ์ฝ่ายในของอังกฤษ ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และสมเด็จพระราชชนนีอลิซาเบธ
  6. ธรรมเนียมของฝั่งยุโรปนั้นหญิงที่แต่งงานกับชายโดยถูกต้องตามกฎหมายจะ "ต้อง" ได้รับยศทั้งหมดของสามีมา แม้ว่าหญิงนั้นจะมียศเดิมของตัวเองสูงกว่าก็จะไม่เสียยศเดิมของตนไป (เช่นเจ้าหญิงอเล็กซานดร้า ไม่ได้ทรงเสียยศเจ้าหญิงของพระองค์เองไป และทรงเป็นเลดี้โอกิลวี่จากการสมรสกับเซอร์โอกิลวี่ด้วย) ในที่นี้ชาลส์เป็น "เจ้า" เพราะเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน ไดอาน่าผู้เป็นพระสุณิสา (Daughter-in-law) ก็ย่อมต้องเป็นเจ้าด้วยพฤตินัยจากการอภิเษกนอกจากนี้ ไดอานายังเป็นสตรีสามัญชนคนแรกที่อภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งเวลส์ และได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ด้วยไดอานาเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์คนแรกที่มาจากสามัญชน เจ้าหญิงแห่งเวลส์พระองค์ก่อนเช่นสมเด็จพระราชินีแมรี่ แห่งเท็คนั้น ทรงเป็นเจ้าหญิงตั้งแต่ประสูติอยู่แล้ว หลังจากทรงเสกสมรสจึงสามารถใช้พระนามว่า Her Royal Highness the Princess Mary, the Princess of Wales ได้ แต่สำหรับไดอานาซึ่งมิใช่เจ้าหญิงจากราชตระกูลนั้น ไม่สามารถที่จะใช้พระนามว่า เจ้าหญิงไดอานาได้
  7. Andrew Morton, Diana Her True Story, p.108
  8. Morton, pp.112-113
  9. Morton, pp.119-120
  10. Leyland, Joanne (29 May 2006). "Charles and Diana in Australia (1983)". The Royalist. สืบค้นเมื่อ 4 July 2008.
  11. 11.0 11.1 Morton, p.180
  12. "CNN - The 1997 Nobel Prizes". CNN. สืบค้นเมื่อ 12 March 2010.
  13. "BBC ON THIS DAY | 15 | 1997: Princess Diana sparks landmines row". BBC News. 15 January 1997. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  14. See Stuart Maslen and Peter Herby, "An international ban on anti-personnel mines: History and negotiation of the 'Ottawa treaty'", International Review of the Red Cross no 325, p. 693-713; see also "july10a". Old.icbl.org. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  15. "House of Commons Hansard Debates for 10 July 1998 (pt 1)". Parliament.the-stationery-office.co.uk. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  16. "UNICEF - Press centre - Landmines pose gravest risk for children". Unicef.org. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  17. "The timeline to Charles and Camilla's marriage | Articles". GMTV. 8 April 2005. สืบค้นเมื่อ 3 June 2010.
  18. *Dimbleby, Jonathan (1994). The Prince of Wales: A Biography. New York: William Morrow and Company Inc. ISBN 0-688-12996-X. {{cite book}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |unused_data= (help), p.489
  19. 19.0 19.1 "Timeline: Diana, Princess of Wales". BBC. Last Updated:. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  20. "The Princess and the Press" and at "The timeline to Charles and Camilla's marriage", both accessed 8 January 2010.
  21. *Dimbleby, Jonathan (1994). The Prince of Wales: A Biography. New York: William Morrow and Company Inc. ISBN 0-688-12996-X. {{cite book}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |unused_data= (help), p.395
  22. Rosalind Ryan and agencies (7 January 2008). "Diana affair over before crash, inquest told". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  23. "The Panorama Interview". BBC.com. November 1995. สืบค้นเมื่อ 2010-11-02.
  24. Transcript of the BBC Panorama interview. Retrieved 8 January 2010.
  25. "SPECIAL: PRINCESS DIANA, 1961-1997". Time. สืบค้นเมื่อ 2010-11-02.
  26. Jephson, P.D. (2001). Shadows of a Princess: An Intimate Account by Her Private Secretary. HarperCollins. ISBN 0380820463. สืบค้นเมื่อ 2010-11-02.
  27. "BBC ON THIS DAY | 20 | 1995: 'Divorce': Queen to Charles and Diana". BBC. 20 December 1995. สืบค้นเมื่อ 2010-11-02.
  28. Brown, Tina (2007). The Diana Chronicles. New York: Doubleday. p. 410. ISBN 978-0-385-51708-9.
  29. BBC, 15 December 2007, Today programme
  30. Kay, Richard (12 October 2007). "It's farewell from Diana's loyal lover". The Daily Mail. London. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  31. "Diana 'longed for' Muslim heart surgeon - Breaking News - World - Breaking News". Sydney Morning Herald. 17 December 2007. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  32. "BBC ON THIS DAY | 6 | 1998: Diana's funeral watched by millions on television". BBC News. 6 September 1997. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  33. "Diana crash caused by chauffeur, says report". The Daily Telegraph. No. 1562. London. 4 September 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2008. [ลิงก์เสีย]
  34. "Diana crash was a conspiracy - Al Fayed". BBC. 12 February 1998. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  35. "BBC NEWS | UK | Point-by-point: Al Fayed's claims". BBC. Last Updated:. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  36. "Inquests into the deaths of Diana, Princess of Wales and Mr Dodi Al Fayed: FAQs". Scottbaker-inquests.gov.uk. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  37. "Memorial Sites > Diana, Princess of Wales > The Queen's message". Royal.gov.uk. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  38. พินัยกรรมฉบับเต็ม
  39. ในวันที่เปิดพินัยกรรมนั้นเป็นวันที่ 2 มีนาคมของปีถัดมา นับว่าเป็นเวลามากกว่า 3 เดือนแล้วหลังจากการเสียชีวิต ดังนั้นลูกเลี้ยงของพระองค์ทั้ง 17 คนควรจะได้รับเงินมรดกคนละ 82,000 ดอลลาร์ตามพินัยกรรม หากแต่ 1 สัปดาห์ภายหลังการเปิดพินัยกรรม มารดาของเจ้าหญิงและเลดี้ซาราห์ แมคคอร์ควอเดล พี่สาวคนโต ตัดสินใจเปลี่ยนพินัยกรรม โดยแทนที่จะมอบเงินแต่เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ลูกเลี้ยงทั้ง 17 คนเลือกสิ่งของของไดอาน่า 1 ชิ้นได้ตามใจชอบ
  40. Rick Steves. "Rick Steves' Europe: Getting Up To Snuff In London". Ricksteves.com. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  41. "Harrods unveils Diana, Dodi statue". CNN. 1 September 2005. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  42. Work illustrated on page 21 of Neal Brown's book Tracey Emin (Tate's Modern Artists Series) (London: Tate, 2006) ISBN 1-85437-542-3
  43. Video footage and interview with Emin from The Blue Gallery exhibition is included in the 1999 ZCZ Films documentary Mad Tracey From Margate
  44. "Vídeo do artista Martín Sastre revive Lady Di em favela uruguaia - 24 August 2005 - Reuters - Entretenimento". Diversao.uol.com.br. 24 August 2005. สืบค้นเมื่อ 3 June 2010.
  45. "Stella Vine: Paintings", Modern Art Oxford. Retrieved 8 December 2008.
  46. Stella Vine's Latest Exhibition Modern Art Oxford, 14 July 2007. Retrieved 7 January 2009.
  47. "Photos Of Dying Diana Outrage Britain, Italian Magazine Printed Photos Of Princess At Crash Site In 1997 - CBS News". Cbsnews.com. 14 July 2006. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  48. "BBC NEWS | UK | Princes' 'sadness' at Diana photo". BBC News. Last Updated:. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  49. "Chaser's war on dead celebs angers relatives | PerthNow". News.com.au. 18 October 2007. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008. [ลิงก์เสีย]
  50. Bradford, 307-8
  51. Brown, p. 236
  52. Bradford, pg 104.
  53. Bradford, 189
  54. Bedell Smith, Sally (1999). Diana in Search of Herself: Portrait of a Troubled Princess. Times Books. ISBN 0812930533.
  55. Churcher, Sharon (24 April 2007). "The most savage attack on Diana EVER". London: Mail Online.
  56. ไดอานายังคงทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ เช่นเดียวกับที่ซาราห์ยังคงทรงเป็นดัชเชสแห่งยอร์ค ทั้ง 2 พระองค์ยังคงทรงเป็นสมาชิกแห่งพระบรมราชวงศ์อังกฤษ แต่ทั้งคู่มิได้ทรงเป็น "เจ้าหญิง" แห่งอังกฤษอีกต่อไป โดยทั้งสองพระองค์มีลักษณะคล้ายกับคามิลลาในปัจจุบัน ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถพระราชทานพระบรมราชวินัจฉัยว่าเป็น "รอยัลดัชเชส แต่มิใช่ เจ้าหญิง"
  57. Robert III. "The Prince of Wales - Titles". Princeofwales.gov.uk. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  58. อย่างไรก็ตาม พระอิสริยยศข้างต้นมิได้ใช้ทั้งหมด ยกเว้นแต่ในกรณีที่เป็นทางการจริงๆ เท่านั้น หรืออาจใช้พระยศบางอย่างเป็นกรณีพิเศษเช่นเมื่อตอนที่เสด็จทรงเปิดส่วนที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ของสวนสัตว์ในเชสเตอร์ ทรงลงพระนามว่า ไดอาน่า ตามด้วยพระยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ และเคานท์เตสแห่งเชสเตอร์ (Diana, Her Royal Highness the Princess of Wales and Countess of Chester) ยกเว้นในสก็อตแลนด์ พระองค์ได้รับการรู้จักในพระนาม Her Royal Highness the Duchess of Rothesay พระอิสริยยศ Princess Diana หรือ เจ้าหญิงไดอานานั้น ถือว่าไม่ถูกต้องตลอดทั้งพระชนม์ชีพ

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

  • วรรธนา วงษ์ฉัตร และ ภัคพงษ์ (2540). ไดอาน่าเจ้าหญิงในดวงใจ (พิมพ์ครั้งที่ 2). ไดอาน่าเจ้าหญิงในดวงใจ. กรุงเทพฯ: น้ำฝน. ISBN 974-7274-84-1 (ไทย)
  • Burrell, P. (2003). A royal duty. New York: G.P. Putnam's Sons. ISBN 0-399-15172-9 (อังกฤษ)
  • Morton, A. (1992). Diana: Her true story. New York: Simon & Schuster. ISBN 0-671-79363-2 (อังกฤษ)
  • Morton, A. (1995). Diana: Her new life. New York: Pocket Star Books. ISBN 0-671-53398-3 (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น

แม่แบบ:ไดอานา, เจ้าหญิงแห่งเวลส์

แม่แบบ:Link FA แม่แบบ:Link GA แม่แบบ:Link GA