ผลต่างระหว่างรุ่นของ "วิกิพีเดีย:อะไรที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Horus (คุย | ส่วนร่วม)
Horus (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 2: บรรทัด 2:
{{นโยบาย}}
{{นโยบาย}}
{{nutshell|(1) ปริมาณสารสนเทศบนวิกิพีเดียไม่มีขีดจำกัดในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ดี วิกิพีเดียเป็นสารานุกรม และมิได้มุ่งรวบรวมข้อมูลหรือการแสดงออกทั้งหมดที่พบได้ที่อื่นบนอินเทอร์เน็ต (2) แม้ทุกคนจะเป็นผู้เขียนได้ แต่วิกิพีเดียก็มีกระบวนการและมาตรฐานประชาคมซึ่งทำให้วิกิพีเดียไม่เป็นทั้งอนาธิปไตย ประชาธิปไตยหรือระบบข้าราชการประจำ}}
{{nutshell|(1) ปริมาณสารสนเทศบนวิกิพีเดียไม่มีขีดจำกัดในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ดี วิกิพีเดียเป็นสารานุกรม และมิได้มุ่งรวบรวมข้อมูลหรือการแสดงออกทั้งหมดที่พบได้ที่อื่นบนอินเทอร์เน็ต (2) แม้ทุกคนจะเป็นผู้เขียนได้ แต่วิกิพีเดียก็มีกระบวนการและมาตรฐานประชาคมซึ่งทำให้วิกิพีเดียไม่เป็นทั้งอนาธิปไตย ประชาธิปไตยหรือระบบข้าราชการประจำ}}

ไม่มีขีดจำกัดในทางปฏิบัติถึงปริมาณสารสนเทศในวิกิพีเดีย อย่างไรก็ดี วิกิพีเดียเป็นสารานุกรม และไม่ได้บรรจุข้อมูลทั้งหมดซึ่งพบได้ทั่วไปบนอินเทอร์เน็ต แม้ทุกคนสามารถเป็นผู้เขียนได้ แต่วิกิพีเดียก็มีกระบวนการและมาตรฐานประชาคมอยู่}}
{{กล่องนโยบาย}}
{{กล่องนโยบาย}}
วิกิพีเดียเป็น[[สารานุกรม]]ออนไลน์เสรี และเป็นแหล่งรวมผู้คนที่สนใจจะสร้างสารานุกรมที่มีคุณภาพ ด้วยจิตวิญญาณของการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงควรทราบว่า'''อะไรที่ ''ไม่ใช่'' วิกิพีเดีย'''
วิกิพีเดียเป็น[[สารานุกรม]]ออนไลน์เสรี และเป็นแหล่งรวมผู้คนที่สนใจจะสร้างสารานุกรมที่มีคุณภาพ ด้วยจิตวิญญาณของการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงควรทราบว่า'''อะไรที่ ''ไม่ใช่'' วิกิพีเดีย'''

รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:20, 6 พฤษภาคม 2556

วิกิพีเดียเป็นสารานุกรมออนไลน์เสรี และเป็นแหล่งรวมผู้คนที่สนใจจะสร้างสารานุกรมที่มีคุณภาพ ด้วยจิตวิญญาณของการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงควรทราบว่าอะไรที่ ไม่ใช่ วิกิพีเดีย

วิกิพีเดียภาษาไทย คือแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ทั่วโลกเป็นภาษาไทย ไม่ได้เก็บเฉพาะเรื่องราวของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้กฎหมายอินเทอร์เน็ตไทยไม่มีผลบังคับโดยตรงกับเนื้อหา เพราะเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ที่รัฐฟลอริดาจึงขึ้นตรงกับกฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่กฎหมายไทยยังคงใช้บังคับแก่กรณีที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประเทศไทย

รูปแบบการเขียน

วิกิพีเดียไม่ใช่สารานุกรมที่เป็นรูปเล่ม

วิกิพีเดียไม่ใช่สารานุกรมที่เป็นรูปเล่ม แต่เป็นโครงการสารานุกรมดิจิทัล นอกเหนือไปจากการพิสูจน์ยืนยันได้และประเด็นอื่นที่เสนอในหน้านี้ ไม่มีขีดจำกัดในทางปฏิบัติถึงจำนวนหัวเรื่องที่สามารถมีได้ในวิกิพีเดีย หรือปริมาณเนื้อหาทั้งหมด อย่างไรก็ดี มีความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง "สิ่งที่สามารถกระทำได้" กับ "สิ่งที่ควรกระทำ" ซึ่งได้อธิบายในส่วน เนื้อหา ด้านล่าง และที่สำคัญ นโยบายนี้มิใช่ทางผ่านเสรีสำหรับเพิ่มเนื้อหา บทความจะต้องเป็นไปตามนโยบายด้านเนื้อหาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ได้กล่าวถึงในห้าเสาหลัก

การรักษาให้บทความมีขนาดที่สมเหตุสมผลนั้นสำคัญต่อการเข้าถึงวิกิพีเดียบทความหนึ่ง ๆ ที่มีขนาดใหญ่มากมีผลกระทบต่อเวลาดาวน์โหลดหน้าโดยตรง บทความเช่นนั้นควรแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทความย่อย แล้วสรุปเนื้อหาไว้ในหน้าเดิม บางหัวเรื่องมีการกล่าวถึงในสารานุกรมรูปเล่มเพียงสั้นๆ และไม่มีการอัปเดต แต่เราสามารถเพิ่มข้อมูล ใส่ลิงก์ไปยังเว็บอื่น และอัปเดตได้เร็วกว่า สำหรับด้านอื่นซึ่งวิกิพีเดียแตกต่างจากสิ่งตีพิมพ์ที่เป็นรูปเล่ม ดู วิกิพีเดีย:คู่มือในการเขียน

วิกิพีเดียภาษาไทยเขียนด้วยภาษาไทย

วิกิพีเดียภาษาไทยไม่รับเนื้อหาที่เป็นภาษาอื่นล้วน ถ้านำเนื้อหามาจากวิกิพีเดียภาษาอื่น กรุณาแปลเป็นภาษาไทยที่อ่านเข้าใจได้ ไม่ควรคัดลอกเนื้อหาภาษาอื่นทิ้งไว้เพราะอาจไม่มีผู้เขียนต่อ หากมีคำศัพท์ภาษาอื่นบางอย่างที่ต้องการนำเสนอโดยเฉพาะก็สามารถทำได้โดยบอกไว้ในบริบท วงเล็บ หรือเชิงอรรถ หรือเข้าร่วมวิกิพีเดียภาษาอื่นแทนหากคุณไม่ประสงค์จะเขียนด้วยภาษาไทย เช่นเนื้อหาภาษาอังกฤษล้วน ต้องไปเขียนที่วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ เป็นต้น วิกิพีเดียยังมีในภาษาอื่นอีกกว่า 280 ภาษา (คลิกในช่อง Wiki) ดังนั้นกรุณาเข้าร่วมภาษาที่ต้องการให้ถูกต้อง นโยบายจุดนี้ของวิกิพีเดียทุกภาษาเหมือนกัน

เนื้อหา

สารสนเทศไม่ว่าในสารานุกรมใด ๆ ไม่อาจเพิ่มเข้ามาได้เพียงเพราะเป็นจริงหรือเป็นประโยชน์ บทความสารานุกรมไม่ควรเป็นการแถลงชี้แจงรายละเอียดที่เป็นไปได้ทั้งหมด แต่บทความเป็นการสรุปความรู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับเกี่ยวกับหัวเรื่อง ข้อความที่พิสูจน์ยืนยันได้และมีแหล่งอ้างอิงควรให้น้ำหนักอย่างเหมาะสม แม้จะมีการถกเถียงเกี่ยวกับคุณสมบัติสารานุกรมของหน่วยข้อมูลหลายประเภท แต่มีการเห็นพ้องต้องกันว่า ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่าอะไรที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย และตัวอย่างใต้แต่ละส่วนนั้นกล่าวถึงเพียงคร่าว ๆ เท่านั้น

วิกิพีเดียไม่ใช่เว็บไซต์แปลภาษา

วิกิพีเดียเป็นสารานุกรม ไม่ใช่พจนานุกรมเพื่อที่จะอธิบายความหมายในภาษาเฉพาะกลุ่ม และไม่ใช่เว็บไซต์แปลภาษาอัตโนมัติ บทความในวิกิพีเดียไม่ใช่สิ่งต่อไปนี้:

  1. การอธิบายความหมายทางพจนานุกรม กรุณาอย่าสร้างบทความใหม่ที่เป็นการนิยามความหมายของคำศัพท์เพียงอย่างเดียว ในย่อหน้าแรกของบทความหนึ่ง ๆ ควรเริ่มต้นด้วยคำอธิบายที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการสรุปรวมสาระสำคัญของแต่ละหัวข้อเพื่อที่จะอธิบายเนื้อหาในส่วนที่เหลือ ถ้าหากคุณพบเจอบทความที่มีการอธิบายความหมายเพียงอย่างเดียว คุณสามารถเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสารานุกรมลงไปได้อีก นโยบายนี้จะยกเว้นเฉพาะบทความที่เกี่ยวกับความหมายทางวัฒนธรรมของจำนวน (ตัวเลข)
  2. แนวทางการใช้คำศัพท์ สำนวน หรือคำสแลง วิกิพีเดียไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอน คำศัพท์ สำนวน และอื่น ๆ ว่าควรใช้หรือพูดอย่างไร แต่อาจเป็นสิ่งสำคัญในบริบทของบางบทความ เพื่ออธิบายเพียงว่าต้องการการแยกแยะ ไม่ให้สับสนกับคำอื่นที่มีความหมายคล้ายกัน
  3. บริการแปลภาษาอัตโนมัติ เนื้อหาทั้งหมดในวิกิพีเดียสร้างขึ้นโดยชาววิกิพีเดียที่เป็นอาสาสมัคร และซอฟต์แวร์มีเดียวิกิที่วิกิพีเดียทำงานอยู่ ทำหน้าที่เป็นส่วนต่อประสานของระบบ ไม่ได้ทำหน้าที่แปลภาษาอัตโนมัติให้กับคุณ รายชื่อภาษาทางซ้ายมือที่ปรากฏในหน้าต่าง ๆ คือบทความเรื่องเดียวกันในวิกิพีเดียภาษาอื่น ซึ่งเขียนโดยอาสาสมัครของผู้ที่ใช้ภาษานั้นเช่นกัน และไม่ได้ถูกแปลโดยอัตโนมัติจากระบบ ดังนั้นแม้คุณจะสามารถคัดลอกเนื้อหาจากภาษาอื่นมาเขียน แต่วิกิพีเดียก็ไม่สามารถแปลให้คุณได้

ถ้าหากคุณยังต้องการเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับพจนานุกรมในลักษณะวิกิ คุณสามารถเขียนได้ที่ วิกิพจนานุกรม ซึ่งเป็นโครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย

วิกิพีเดียไม่ใช่แหล่งเผยแพร่งานค้นคว้าต้นฉบับ

วิกิพีเดียไม่ใช่สถานที่ที่จะเผยแพร่ความคิดหรือการวิเคราะห์ของคุณเอง หรือเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใหม่โดยที่ยังไม่เคยมีการเผยแพร่หรือการตีพิมพ์จากที่อื่นมาก่อน ตามนโยบายงดงานค้นคว้าต้นฉบับ กรุณาอย่าใช้วิกิพีเดียเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้:

  1. งานค้นคว้าปฐมภูมิ (ต้นฉบับ) เช่นการนำเสนอทฤษฎีหรือวิธีแก้ปัญหา ความคิดริเริ่ม การบัญญัติศัพท์ การสร้างคำใหม่ ฯลฯ หากคุณได้ทำงานค้นคว้าปฐมภูมิในหัวข้อใด ๆ ให้เผยแพร่ผลงานของคุณให้ปรากฏในแหล่งอื่นก่อน เช่น วารสารที่ได้รับการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขา, สิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ, หรือเว็บไซต์อื่นที่เชื่อถือได้ วิกิพีเดียจะเริ่มมีรายงานเกี่ยวกับผลงานของคุณเอง เมื่อผลงานนั้นเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ข่าวสารทุกอย่างในวิกิพีเดียไม่จำเป็นจะต้องมาจากวารสารที่ได้รับการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาเพียงอย่างเดียว แต่กรุณาพยายามจนถึงที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าข่าวสารข้อมูลนั้น เชื่อถือได้ และตรวจสอบได้ ตัวอย่างเช่น หนังสืออ้างอิง สิ่งตีพิมพ์ หรือเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้ และไม่ใช่เพียงความคิดเห็นของผู้แก้ไขเท่านั้น
  2. สิ่งประดิษฐ์ต้นฉบับ หากคุณประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม มันไม่สามารถเป็นข้อเท็จจริงในบทความของวิกิพีเดียได้ จนกว่าจะมีแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์) รายงานถึงสิ่งประดิษฐ์ของคุณ วิกิพีเดียไม่ใช่ที่สำหรับแสดงสิ่งประดิษฐ์จากชั้นเรียน
  3. เรียงความส่วนตัว ที่แสดงความรู้สึกของคุณเกี่ยวกับเรื่องใดก็ตาม วิกิพีเดียนั้นควรจะเป็นที่รวบรวมความรู้ของมนุษยชาติ ไม่ใช่เครื่องมือสำหรับทำให้ความคิดเห็นส่วนตัวของคุณกลายเป็นส่วนหนึ่งในความรู้ของมนุษยชาติ มีเพียงบางกรณีที่น้อยมากที่ความคิดเห็นของผู้หนึ่งผู้ใดจะมีความสำคัญเพียงพอที่จะนำมาอภิปราย ซึ่งมันจะเป็นการดีกว่าที่จะให้บุคคลอื่นเขียนถึงมัน เรียงความส่วนตัวในหัวข้อที่เกี่ยวกับวิกิพีเดียนั้นเป็นที่ต้อนรับเสมอในหน้าผู้ใช้ของคุณ หรือในโครงการ แม่วิกิ (Meta-wiki) หรือ Wikiinfo ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่แยกตัวออกไปจากวิกิพีเดีย หรือในไร้สาระนุกรมภาษาไทย ที่นั่นส่งเสริมให้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงในบทความ
  4. ห้องสนทนา การอภิปรายในวิกิพีเดียมีจุดประสงค์หลักในการพัฒนาบทความว่าจะพัฒนาอย่างไร ผ่านทางหน้าอภิปรายของแต่ละบทความซึ่งไม่เขียนลงในตัวบทความเอง หากคุณต้องการพูดคุยหรือวิจารณ์เกี่ยวกับตัวเนื้อหาหรือบุคคลในเนื้อหา คุณสามารถพูดคุยได้ตามเว็บบอร์ดหรือเว็บไซต์อื่นที่เชื่อมโยงไปจากวิกิพีเดียอีกต่อหนึ่ง หรือพูดคุยผ่าน IRC ในห้อง #wikipedia
  5. การรายงานสถานการณ์ปัจจุบัน วิกิพีเดียไม่ควรนำเสนอรายงานข่าวสารที่ได้มาใหม่เป็นแห่งแรก เพราะวิกิพีเดียไม่ใช่แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ ถ้าต้องการรายงานข่าวสารคุณสามารถเขียนได้ที่ วิกิข่าว ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (วิกิข่าวภาษาไทยปิดตัวลงโดยไม่มีกำหนดตั้งแต่ เม.ย. พ.ศ. 2554 ท่านอาจเขียนข่าวในวิกิข่าวภาษาอื่นได้) อย่างไรก็ตามวิกิพีเดียสามารถมีบทความที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านั้นในลักษณะข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ และอ้างถึงแหล่งข้อมูลอื่นที่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้

วิกิพีเดียไม่ใช่พื้นที่โฆษณาหรือแท่นปราศรัย

วิกิพีเดียไม่ใช่แท่นปราศรัย เวทีโต้วาที หรือเครื่องมือสำหรับโฆษณาประชาสัมพันธ์ เนื้อหาบทความในวิกิพีเดียจะต้องไม่มีสิ่งต่อไปนี้:

  1. การประชาสัมพันธ์ การรณรงค์ หรือการสรรหาบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม เพื่อจุดประสงค์ในการสนับสนุน แก้ต่าง ชักจูง พยายามเปลี่ยนความคิด ชวนเชื่อ โน้มน้าว แนวความคิดใดแนวความคิดหนึ่งทางธุรกิจ การเมือง ลัทธิหรือศาสนา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื้อหาประเภทนี้จะสามารถมีได้ก็ต่อเมื่อเป็นสาระสำคัญของบทความ และตั้งใจที่จะนำเสนอในมุมมองที่เป็นกลาง คุณสามารถสร้างบล็อกบนเว็บไซต์อื่นเพื่อแสดงมุมมองของคุณได้ในสิ่งที่คุณต้องการ ไม่ใช่ในวิกิพีเดีย
  2. การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและเหตุการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากวิกิพีเดียไม่ใช่สื่อกลางสำหรับการแสดงความคิดเห็นของคุณเอง บทความต่าง ๆ จะต้องมีความสมดุลกันระหว่างการอ้างถึงการวิพากษ์วิจารณ์จากแหล่งอื่นและทัศนคติข้อเท็จจริงที่สมเหตุสมผล ด้วยมุมมองที่เป็นกลาง
  3. การแนะนำตัวเองและอัตชีวประวัติ ถึงแม้ว่าคุณจะสามารถเขียนบทความเกี่ยวกับตัวเองในวิกิพีเดีย หรือรวมทั้งผลงานของคุณที่เกี่ยวข้อง แต่กรุณาพึงระลึกเสมอว่า มาตรฐานบทความนั้นเหมือนกันทุกบทความ รวมไปถึงการวางมุมมองที่เป็นกลาง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากหากคุณเขียนเกี่ยวกับตัวเอง รวมไปถึงการเชื่อมโยงและการอ้างอิงไปยังเว็บไซต์อื่นที่คุณเขียนหรือสร้างขึ้นเองก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นกรุณาศึกษาบทความชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่และนโยบายบุคคลที่มีชื่อเสียงก่อนเขียนชีวประวัติ โปรดจำไว้ว่าถ้าคุณเป็นคนสำคัญของประเทศ วันหนึ่งจะมีคนมาเขียนเรื่องราวของคุณเอง โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเขียน และวิกิพีเดียไม่ใช่สื่อกลางสำหรับเพิ่มความนิยม
  4. การโฆษณา บทความที่เกี่ยวกับบริษัทและสินค้าสามารถเขียนได้ในวิกิพีเดียในมุมมองที่เป็นกลาง โดยอาจเป็นการกล่าวถึงภาพรวม สามารถพิสูจน์ยืนยันได้จากแหล่งข้อมูลบุคคลที่สาม คือไม่ใช่ตัวบริษัทเองหรือตัวผู้เขียนบทความ และไม่ใช่การโน้มน้าวเพื่อให้เกิดผลทางธุรกิจ เช่นเนื้อหาเกี่ยวกับปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจ เป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนได้ และโปรดทราบว่าวิกิพีเดียไม่ได้เป็นคู่ค้าทางธุรกิจกับบริษัทใด ๆ ที่ปรากฏในสารานุกรม

วิกิพีเดียไม่ใช่แหล่งเก็บข้อมูลสำรอง

วิกิพีเดียไม่ใช่แหล่งเก็บข้อมูลสำรอง หรือที่เก็บสะสมการเชื่อมโยง รูปภาพ หรือแฟ้มสื่ออื่น ๆ บทความในวิกิพีเดียไม่ใช่สิ่งต่อไปนี้:

  1. แหล่งรวบรวมการเชื่อมโยงภายนอก หรือสมุดรายชื่อทางอินเทอร์เน็ต ถึงแม้การเพิ่มการเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาจะเป็นประโยชน์ต่อบทความ แต่ในทางตรงข้ามจำนวนการเชื่อมโยงที่มากเกินไปก็จะเป็นการลดคุณภาพของบทความ และเป็นการลดความสำคัญของเจตนารมณ์ในวิกิพีเดีย การรวมลิงก์เพื่อไปฟังเพลงหรือดูคลิปอะไรก็ตาม ถือว่าขัดต่อนโยบายข้อนี้
  2. แหล่งรวบรวมการเชื่อมโยงภายในวิกิพีเดีย ยกเว้นการแก้ความกำกวมสำหรับชื่อบทความที่คล้ายกัน และดัชนีรายชื่อของบทความที่เป็นองค์ประกอบของบทความหลักบทความอื่น
  3. งานเขียนที่ไม่ต้องการให้ถูกแก้ไข ตัวอย่างเช่น หนังสือทั้งเล่ม ซอร์สโค้ดต้นฉบับ เอกสารทางประวัติศาสตร์ จดหมาย ตัวบทกฎหมาย สุนทรพจน์ เนื้อเพลง บทกลอน หรือสิ่งอื่นใดที่มีประโยชน์เฉพาะเพื่อการนำเสนอในรูปแบบที่ไม่ต้องการให้ถูกแก้ไข เนื่องจากวิกิพีเดียเปิดโอกาสให้ทุกคนช่วยกันแก้ไขและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา สำหรับงานเขียนที่ไม่ต้องการให้คนอื่นแก้ไขสามารถเขียนได้ที่ วิกิซอร์ซ ไม่ใช่วิกิพีเดีย
  4. แหล่งรวบรวมภาพถ่าย (แกลเลอรี) หรือแฟ้มสื่ออื่น ๆ ที่ไม่มีจุดประสงค์ที่จะใช้ในบทความใด ถ้าคุณสนใจที่จะนำเสนอรูปภาพของคุณในบทความ โปรดศึกษานโยบายการใช้ภาพก่อนอัปโหลดแฟ้มใด ๆ และใส่รายละเอียดคำอธิบายของภาพในบริบทของสารานุกรมด้วย หรืออัปโหลดไปที่ คอมมอนส์

วิกิพีเดียไม่ใช่เว็บไซต์ส่วนบุคคล

วิกิพีเดียไม่ใช่เครือข่ายทางสังคมเหมือนอย่างเช่น วินโดวส์ไลฟ์ สเปซเซส ไฮ5 เฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ คุณไม่สามารถแบ่งพื้นที่เพื่อฝากเว็บไซต์ บล็อก หรือซอฟต์แวร์วิกิ ไว้บนวิกิพีเดีย หน้าต่าง ๆ ในวิกิพีเดียนั้นไม่ใช่สิ่งต่อไปนี้:

  1. เว็บเพจส่วนตัว ชาววิกิพีเดียทุกคนมีหน้าผู้ใช้ของตนเอง ซึ่งใช้สำหรับนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานในวิกิพีเดียเท่านั้น ถ้าหากคุณต้องการสร้างเว็บเพจหรือบล็อกส่วนตัว กรุณาสร้างกับผู้ให้บริการรายอื่นบนอินเทอร์เน็ต จุดประสงค์ของการใช้หน้าผู้ใช้ ไม่ควรใช้เพื่อการรวบรวมเครือข่ายทางสังคม แต่ควรให้ข้อมูลที่จะทำให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขบทความในวิกิพีเดีย
  2. เนื้อที่เก็บข้อมูล กรุณาอัปโหลดเฉพาะแฟ้มที่คุณต้องการใช้ในบทความวิกิพีเดียเท่านั้น ซึ่งแฟ้มอื่นที่ไม่ได้ใช้จะถูกพิจารณาให้ลบในภายหลัง ถ้าคุณมีรูปภาพที่ต้องการใช้ในบทความเป็นจำนวนมาก โปรดอัปโหลดแฟ้มเหล่านั้นไปที่ คอมมอนส์ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงมายังวิกิพีเดีย และเชื่อมโยงไปยังโครงการพี่น้องอื่น ๆ ของวิกิได้
  3. บริการหาคู่ วิกิพีเดียไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมในการชักชวนผู้ที่คุณชื่นชอบไปทำกิจกรรมด้วยกัน หน้าผู้ใช้ที่แสดงเนื้อหาของการหาคู่หรือการขายบริการทางเพศโดยเจตนาเป็นสิ่งที่ไม่ยอมรับในวิกิพีเดีย อีกทั้งยังผิดกฎหมายในบางประเทศ
  4. อนุสรณ์สถาน หรือหนังสือที่ระลึก วิกิพีเดียไม่ใช่สถานที่ที่จะประกาศเกียรติคุณหรือระลึกถึงความหลังของเพื่อนร่วมรุ่น ศิษย์เก่า หรือญาติพี่น้อง บทความที่เกี่ยวกับบุคคลในวิกิพีเดียจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในระดับหนึ่ง

ถ้าคุณต้องการติดตั้งซอฟต์แวร์วิกิของคุณเอง คุณสามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์มีเดียวิกิ ได้ที่ MW:MediaWiki

วิกิพีเดียไม่ใช่สมุดรายชื่อ

วิกิพีเดียไม่ใช่ที่รวบรวมสมุดรายชื่อ หรือบัญชีรายชื่อของสิ่งที่เพิ่งมีหรือมีมานานแล้ว บทความในวิกิพีเดียไม่ใช่สิ่งต่อไปนี้:

  1. รายชื่อหรือแหล่งเก็บข้อมูลของหัวข้อที่ไม่สัมพันธ์กัน ตัวอย่างเช่น คำกล่าว คำพังเพย คติพจน์ หรือรายชื่อบุคคลที่ไม่สัมพันธ์กัน (ทั้งบุคคลจริงและตัวละคร) ถ้าคุณต้องการรวบรวมคำกล่าว คำพังเพย คติพจน์ สามารถเขียนรวมกันได้ใน วิกิคำคม ซึ่งเป็นโครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย
  2. รายชื่อวงศ์ตระกูล ลำดับญาติ บทความที่เกี่ยวกับชีวประวัติมีไว้สำหรับบุคคลสำคัญ หรือมีชื่อเสียง หรือได้รับรางวัลเกียรติยศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง หรือแม้แต่ชื่อเสียงในทางลบก็ตาม การวัดความเป็นสาธารณะของบุคคลหนึ่ง ๆ สามารถค้นคว้าวิจัยได้จากแหล่งข้อมูลภายนอก ส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียงน้อยกว่าอาจสามารถระบุและรวมไว้ได้ในบทความอื่น พึงระลึกว่าวิกิพีเดียไม่ใช่สมุดโทรศัพท์หรือฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์
  3. สมุดโทรศัพท์หน้าขาว หน้าเหลือง การรวบรวมข้อมูลการติดต่ออาทิ หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขแฟกซ์ และที่อยู่อีเมล ไม่ถือว่าเป็นสารานุกรม
  4. ฐานข้อมูลรายชื่อ รายการ ผังออกอากาศ หรือทรัพยากรที่ชี้นำทางธุรกิจ ตัวอย่างเช่น บทความเกี่ยวกับสถานีวิทยุ โดยทั่วไปไม่ควรมีรายชื่อของกิจกรรมที่กำลังมาถึง การส่งเสริมในปัจจุบัน หมายเลขโทรศัพท์ หรือตารางเวลาจัดรายการ เป็นต้น ถึงแม้ว่ากิจกรรมหลัก การส่งเสริม หรือผังรายการในอดีตจะสามารถมีในวิกิพีเดียได้ หน้าอภิปรายของบทความใช้อภิปรายเนื้อหาของบทความ อย่าใช้สำหรับการชี้นำทางธุรกิจ
  5. แคตาล็อกขายสินค้า บทความเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ไม่ควรมีการระบุราคาไว้ในบทความ จนกว่าราคานั้นจะมีแหล่งอ้างอิงและมีเหตุผลที่สำคัญเพื่อที่จะระบุราคา ตัวอย่างเหตุผลสำคัญเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นและหายาก หรือราคาที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันตัดราคากัน หรือการอภิปรายเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในอดีต ในทางตรงข้าม ราคาตลาดที่เป็นปกติทั่วไปจะเป็นเพียงแค่เกร็ดความรู้ ซึ่งสามารถแปรผันได้ในวงกว้าง จากที่หนึ่งสู่ที่หนึ่งและตามกาลเวลา ซึ่งไม่เกิดความสำคัญ ดังนั้นรายชื่อของผลิตภัณฑ์จะไม่มีการนำเสนอเป็นราคาตลาด และนอกจากนั้น วิกิพีเดียไม่ใช่รายการแนะนำสินค้าเพื่อที่จะใช้เปรียบเทียบกับสินค้าชนิดอื่น หรือเป็นตัวเปรียบเทียบราคาสินค้าระหว่างประเทศหรือภูมิภาค
  6. การจัดหมวดหมู่แบบไขว้ข้ามกันที่ไม่เป็นสารานุกรม ตัวอย่างเช่น "บุคคลในกลุ่มวัฒนธรรม/ศาสนา X ที่ทำงานในองค์กร Y" หรือ "ภัตตาคารที่เชี่ยวชาญอาหารประเภท X ในย่านเมือง Y" การจัดหมวดหมู่ไขว้ข้ามกันเหล่านี้ทำให้รากฐานมีไม่เพียงพอเพื่อที่จะการสร้างบทความใหม่หรือจัดบทความอื่นเข้าไปยังหมวดหมู่นั้น กลายเป็นว่าหมวดหมู่นั้นมีบทความเพียงเรื่องเดียวที่โดดเด่น เช่น ภัตตาคาร A ที่อยู่ในหมวดหมู่ดังกล่าว กลายเป็นภัตตาคารเดียวที่เชี่ยวชาญอาหารประเภท X ในย่านเมือง Y โดยปริยาย ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ใช่ก็ได้

วิกิพีเดียไม่ใช่เอกสารคู่มือหรือตำรา

วิกิพีเดียเป็นแหล่งอ้างอิงที่เป็นสารานุกรม ไม่ใช่คู่มือการใช้งาน หนังสือแนะนำ หรือตำราเรียน บทความในวิกิพีเดียเมื่ออ่านแล้วไม่ควรเหมือนสิ่งต่อไปนี้:

  1. เอกสารคู่มือ ถึงแม้วิกิพีเดียจะมีคำอธิบายของบุคคล สถานที่ และสิ่งต่าง ๆ แต่บทความในวิกิพีเดียไม่ควรมีวิธีใช้ คำแนะนำ (ทางกฎหมาย ทางการแพทย์ ฯลฯ) ข้อเสนอแนะ และเนื้อหาประเภท "how-to" ซึ่งรวมไปถึง การสอน การแนะนำเกม บทสรุปเกม คู่มือการใช้งาน และตำรับอาหาร ถ้าคุณต้องการเขียนเนื้อหาในลักษณะ "how-to" คุณสามารถเขียนได้ที่ วิกิตำรา ซึ่งเป็นโครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย
  2. คู่มือนำเที่ยว บทความที่เกี่ยวกับปารีสควรมุ่งจุดสนใจไปที่สถานที่สำคัญในปารีส เช่นหอไอเฟลหรือพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ไม่ใช่หมายเลขโทรศัพท์หรือที่อยู่ของภัตตาคารหรือโรงแรมที่อยู่ใกล้เคียง วิกิพีเดียไม่ใช่สถานที่ที่จะสร้างเนื้อหาใหม่ให้เหมาะสำหรับการนำเที่ยว อาทิ คู่มือแนะนำโรงแรม ภัตตาคาร ร้านค้า จุดนัดพบ หรืออย่างอื่นที่เข้าข่ายคู่มือนำเที่ยว ในบางครั้งอาจพบว่ามีเนื้อหาบางส่วนในบทความเกี่ยวกับสถานที่เฉพาะกิจ แต่วิกิพีเดียนั้นจะไม่มีการรวบรวมรายชื่อโรงแรม ภัตตาคาร ฯลฯ จนครบทุกที่ หากคุณต้องการเขียนคู่มือนำเที่ยวในลักษณะวิกิ คุณสามารถเขียนได้ที่ วิกิแทรเวล
  3. การแนะนำเว็บไซต์ บทความเกี่ยวกับเว็บไซต์ในวิกิพีเดีย ไม่ควรมีเพียงแค่การอธิบายลักษณะทั่วไป การปรากฏ หรือบริการที่เว็บไซต์นั้นนำเสนอ แต่ควรอธิบายในลักษณะของสารานุกรม โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับรางวัลและเกียรติยศที่ได้รับ ความนิยมที่วัดโดยแหล่งข้อมูลภายนอก ความสำคัญในเชิงประวัติ การพัฒนา หรือข้อเท็จจริงอันเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป เป็นต้น
  4. ตำราเรียนและบทเรียน วิกิพีเดียเป็นแหล่งอ้างอิงที่เป็นสารานุกรม ไม่ใช่ตำราเรียน จุดมุ่งหมายของวิกิพีเดียคือการนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นการสอนในเรื่องใด ๆ บทความที่สร้างขึ้นโดยมีเนื้อหาเหมือนตำราเรียนไม่เข้ากับเจตนารมณ์ของวิกิพีเดีย เช่น การขึ้นต้นด้วยคำถามหรือปัญหา ตามด้วยการแสดงการแก้ปัญหาทีละขั้นตอนให้ดูเป็นตัวอย่าง เนื้อหาประเภทตำราเรียนสามารถเขียนได้ที่ วิกิตำรา หรือ วิกิซอร์ซ ไม่ใช่ในวิกิพีเดีย
  5. วารสารวิทยาศาสตร์ เอกสารงานวิจัย ผู้เขียนไม่ควรนำเสนอบทความด้วยสมมติฐานที่ว่า ผู้อ่านจะต้องมีความรู้ในสาขาวิชาของเรื่องนั้นดีอยู่แล้ว การใช้ภาษาเกริ่นนำในย่อหน้าแรกของบทความควรเขียนด้วยศัพท์ธรรมดา และด้วยแนวคิดที่สามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้โดยไม่ต้องมีความรู้ในสาขาวิชานั้นเข้ามาประกอบ ก่อนที่จะอธิบายลงรายละเอียดต่อไปในหัวข้อต่าง ๆ การใส่วิกิลิงก์ให้กับศัพท์เฉพาะทางควรตั้งข้อสมมติฐานว่า ผู้อ่านจะไม่หรือไม่สามารถตามลิงก์ไปยังบทความอื่น ควรให้ความหมายโดยสรุปกำกับไว้ด้วย

วิกิพีเดียไม่ใช่แก้วสารพัดนึก

วิกิพีเดียไม่ใช่สถานที่รวบรวมแนวความคิดที่พิสูจน์ยืนยันไม่ได้ บทความที่เกี่ยวกับเหตุการณ์กำหนดล่วงหน้าจะต้องสามารถพิสูจน์ยืนยันได้ และหัวข้อเรื่องจะต้องเป็นที่น่าสนใจในวงกว้าง เพียงพอที่ควรได้รับพิจารณาเป็นอีกบทความหนึ่งเมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึงหรือผ่านไปแล้ว การรายงานถึงการอภิปรายและการโต้เถียงเกี่ยวกับการคาดการณ์ผลสำเร็จของข้อเสนอหรือโครงการในอนาคตเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในวิกิพีเดีย โดยที่การอภิปรายนั้นจะต้องมีแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องเหมาะสม แต่วิกิพีเดียจะไม่ยอมรับข้อมูลการวิเคราะห์หรือความคิดเห็นส่วนตัวของผู้แก้ไขที่แทรกลงในบทความ เนื่องจากถือว่าเป็นงานค้นคว้าต้นฉบับ บทความที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ออกสู่สาธารณะ เช่นภาพยนตร์หรือเกม ต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้แน่ใจว่าบทความเหล่านั้นไม่เป็นการโฆษณา โดยในรายละเอียด:

  1. กำหนดการหรือเหตุการณ์ในอนาคต จะมีเนื้อหาเป็นบทความได้ก็ต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นเป็นสิ่งที่เด่นชัดและจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากการเตรียมการเพื่อให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่มีการดำเนินงาน การพิจารณาเหตุการณ์ล่วงหน้าจะต้องมีการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ตัวอย่างของเหตุการณ์ล่วงหน้าที่สามารถมีได้ในวิกิพีเดียเช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2008 หรือโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 โดยเปรียบเทียบกับ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2016 และโอลิมปิกฤดูร้อน 2036 จะถูกพิจารณาว่าเป็นหัวข้อที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่กล่าวถึงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ว่าสามารถพิสูจน์ยืนยันได้และไม่ใช่งานค้นคว้าต้นฉบับ หรือการคาดเดารายชื่อผู้เล่นตัวจริงของทีมกีฬาเป็นรายสัปดาห์จะไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ เว้นเสียแต่จะมีกำหนดการอย่างชัดเจน
  2. รูปแบบชื่อและระบบเลขที่สามารถคาดเดาได้ หัวข้อปลีกย่อยในระบบของชื่อหรือรายชื่อ ซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าสำหรับเหตุการณ์หรือการค้นพบที่กำลังจะเกิดขึ้น ยังไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นบทความใหม่ หากทราบเพียงแค่ข้อมูลในระดับทั่วไปของหัวข้อปลีกย่อยนั้น อาทิ รายชื่อพายุหมุนเขตร้อน เป็นสารานุกรม แต่ "พายุหมุนเขตร้อนอเลกซ์ (ค.ศ. 2010)" ไม่เป็นสารานุกรม แม้จะระบุไว้ว่าพายุนี้จะเกิดขึ้นที่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือหรือจะหมุนทวนเข็มนาฬิกาก็ตาม ในกรณีเดียวกัน ระบบเลขที่สามารถคาดเดาได้ก็ไม่ถือว่าเป็นสารานุกรม (เช่น septenquinquagintillion หมายถึงจำนวน 10174) เว้นแต่จะมีการนิยามไว้เป็นอย่างดีหรือมีการใช้งานจริง ดังการประมาณค่าในทางวิทยาศาสตร์เฉพาะทาง เช่นระบบชื่อธาตุเคมีที่กำหนดโดย IUPAC จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นสารานุกรม
  3. การพยากรณ์และประวัติศาสตร์ในอนาคต บทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพยากรณ์ในอนาคต จะถือว่าเป็นงานค้นคว้าต้นฉบับหากไม่มีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน เช่นผลงานหรือเรียงความของศิลปิน หรือการวิจัยที่เชื่อถือได้ที่สนับสนุนการคาดการณ์นั้น บทความเกี่ยวกับ อาวุธในสตาร์ วอร์ส สามารถมีได้ในวิกิพีเดีย แต่ "อาวุธ (ที่จะใช้) ในสงครามโลกครั้งที่ 3" นั้นไม่เป็นสารานุกรม เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในอนาคตเขียนได้ที่ ฟิวเจอร์วิเกีย ซึ่งยอมรับงานค้นคว้าต้นฉบับของคุณบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

วิกิพีเดียไม่ใช่แหล่งรวมข้อมูลจิปาถะ

บทความในวิกิพีเดียไม่ใช่สิ่งต่อไปนี้:

  1. แหล่งรวบรวมปัญหาที่ถามบ่อย บทความในวิกิพีเดียไม่ควรมีการรวบรวมรายชื่อคำถามหรือปัญหาที่ถามบ่อย (FAQs) แต่ให้สอดแทรกข้อมูลเหล่านั้นลงในส่วนหรือบทความอื่น ๆ ที่เหมาะสมด้วยมุมมองที่เป็นกลาง วิกิพีเดียไม่ได้มีจุดมุ่งหมายสำหรับเป็นเว็บไซต์ตอบคำถาม แม้ว่าจะมีหลายโครงการในวิกิพีเดียไว้สำหรับตอบคำถามของผู้ใช้
  2. เนื้อเรื่องย่อ บทสรุป หรือบทเฉลย บทความในวิกิพีเดียที่เกี่ยวกับวรรณกรรมและบันเทิงคดีเช่น นวนิยาย หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ ควรมุ่งประเด็นไปที่ความนิยมในโลกของความเป็นจริงและการวิเคราะห์ที่สามารถอ้างอิงได้ โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนา หรือความสำคัญเชิงประวัติของผลงานนั้น ไม่ให้ความสำคัญเฉพาะหรือมีเนื้อหาเพียงบทสรุปเนื้อเรื่องอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้เสียอรรถรสในการอ่านวรรณกรรมหรือการชมบันเทิงคดี พึงระลึกว่าวิกิพีเดียไม่ใช่ที่รวบรวมหรือแต่งนวนิยาย หากคุณต้องการเขียนเนื้อเรื่องที่แต่งขึ้นเป็นนวนิยายในลักษณะวิกิ เขียนได้ที่ โนเวลัส (ฟิกชันวิเกีย)
  3. ฐานข้อมูลเนื้อเพลง เนื่องจากเนื้อเพลงส่วนใหญ่มีลิขสิทธิ์ เว้นแต่บางเพลงที่เป็นสาธารณสมบัติ เช่นเพลงประจำชาติหรือเพลงพื้นบ้าน อย่างไรก็ตาม บทความที่เกี่ยวกับเพลงทุกประเภทไม่ควรมีแต่เนื้อเพลงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่ง วันที่เผยแพร่ ความสำคัญของเพลง รางวัลที่ได้รับ ฯลฯ นอกจากนั้นคุณสามารถเขียนเนื้อเพลงทุกประเภทได้ที่ วิกิซอร์ซ
  4. ข้อมูลสถิติ ที่มีแต่รายการเรียงลำดับต่อกันเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดความสับสนกับผู้อ่าน และเป็นการลดคุณภาพของบทความในวิกิพีเดีย นอกจากนั้น บทความควรมีข้อความแวดล้อมที่เพียงพอที่จะแทรกข้อมูลสถิติไว้ภายใน ในลักษณะที่สามารถอ่านได้เหมือนข้อความทั่วไปอย่างเหมาะสม กล่องข้อมูลและตารางเป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มความสามารถในการอ่านสำหรับรายการข้อมูลที่มีขนาดยาว
  5. การรายงานข่าวสั้นหรือข่าวด่วน โปรดทราบว่าวิกิพีเดียจะรับพิจารณาบทความที่เกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในระยะยาว และในทางตรงข้าม บางบุคคลหรือบางสิ่งที่เป็นข่าวแค่ในช่วงเวลาสั้น ๆ และไม่ถูกกล่าวถึงอีก จะถูกจัดว่าไม่เป็นสารานุกรม บทความเกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญนั้นต้องทำตามนโยบายชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่และมุมมองที่เป็นกลางในการนำเสนอ อย่างไรก็ตาม สำหรับข่าวที่มีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาสามารถเขียนได้ที่ วิกิข่าว
  6. แหล่งรวบรวมเกร็ดความรู้ หัวข้อของการรวบรวมเกร็ดความรู้ เคล็ดลับ หรือเบ็ดเตล็ด จำนวนมากเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะการนำเสนอหัวข้อประเภทนี้ทำให้คุณภาพของบทความลดลงเนื่องจากความไม่เป็นระเบียบ ซึ่งเกร็ดความรู้แต่ละเรื่องที่นำเสนออาจไม่เกี่ยวข้องกันเลย นอกจากนี้คุณภาพไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณ แต่อยู่ที่ระดับความสำคัญหรือความโดดเด่นและความพิสูจน์ยืนยันได้ของเนื้อหาที่ใส่ คุณสามารถปรับแต่งข้อมูลเหล่านั้นโดยแยกเกร็ดความรู้ที่สัมพันธ์กันไปเป็นส่วนใหม่ หรือรวมกับส่วนหรือบทความอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วให้กลมกลืนไปกับเนื้อหาได้

วิกิพีเดียไม่มีการเซ็นเซอร์

วิกิพีเดียอาจมีเนื้อหาที่ผู้อ่านบางคนพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นการก้าวร้าว วิกิพีเดียไม่อาจรับประกันได้ว่า บทความหรือภาพนั้นจะเป็นที่ยอมรับได้แก่ผู้อ่านทุกคน หรือบทความหรือภาพนั้นจะยึดมั่นกับบรรทัดฐานทางสังคมหรือศาสนา

เนื่องจากทุกคนสามารถแก้ไขบทความได้ และการเปลี่ยนแปลงส่วนมากจะแสดงผลในทันที เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมอาจปรากฏอยู่ก่อนที่จะถูกนำออก เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมอย่างชัดเจนโดยทั่วไปจะถูกนำออกในเวลาอันสั้น เนื้อหาซึ่งถูกตัดสินแล้วว่าละเมิดนโยบายชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ หรือที่ละเมิดนโยบายอื่นของวิกิพีเดีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกิพีเดีย:มุมมองที่เป็นกลาง) หรือกฎหมายของรัฐฟลอริดา อันเป็นที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์หลักของวิกิพีเดีย จะถูกนำออกเช่นกัน

แต่บางบทความอาจมีข้อความ รูปภาพ หรือลิงก์ที่บางคนอาจดูแล้วไม่เหมาะสมได้ แม้สิ่งเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเนื้อหาบทความโดยตรง (เช่นบทความเกี่ยวกับองคชาต) การอภิปรายถึงเนื้อหาที่มีแนวโน้มเป็นเหตุให้คัดค้านนี้ไม่ควรมุ่งไปยังความก้าวร้าวของมัน แต่ควรมุ่งไปว่า มันเหมาะสมที่จะรวมอยู่ในบทความหรือเปล่า นอกเหนือจากนั้น "การเป็นเหตุให้คัดค้าน" โดยทั่วไปมิใช่เหตุผลเพียงพอที่จะนำออกหรือเพิ่มเนื้อหา

วิกิพีเดียจะไม่นำเนื้อหาออกเพราะกฎข้อบังคับอินเทอร์เน็ตของบางองค์การห้ามแสดงสารสนเทศเกี่ยวกับองค์การออนไลน์ กฎใดๆ ซึ่งห้ามสมาชิกขององค์การ สมาคมหรือศาสนาหนึ่งๆ แสดงชื่อหรือภาพไม่สามารถใช้ได้กับวิกิพีเดีย เพราะวิกิพีเดียมิได้เป็นสมาชิกขององค์การเหล่านั้น

ชุมชนวิกิพีเดีย

วิกิพีเดียไม่ใช่สนามรบหรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียน

วิกิพีเดียไม่ใช่สถานที่เพื่อแสดงความไม่พอใจ อุทธรณ์ร้องทุกข์ ระบายอารมณ์ ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง หรือสร้างความหวาดกลัว การกระทำเหล่านี้เพื่อการอภิปรายในบทความ ขัดต่อนโยบายและจุดมุ่งหมายของวิกิพีเดียโดยตรง

ผู้ใช้ทุกคนควรสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีวัฒนธรรม ด้วยอารมณ์สงบ และด้วยจิตวิญญาณของการทำงานร่วมกัน อย่าประชดประชัน ก่อความรำคาญ หรือข่มขู่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ให้สื่อสารให้ตรงประเด็นอย่างชาญฉลาดและอภิปรายอย่างสุภาพ และหากผู้ใช้คนหนึ่งสื่อสารกับคุณอย่างไร้วัฒนธรรม คุณจะต้องไม่โต้กลับด้วยการกระทำเช่นนั้น แต่ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงโดยปราศจากการเติมแต่ง หรือไม่ก็มองข้ามข้อความเหล่านั้นไปเสีย คุณสามารถย้ำเตือนผู้ใช้เหล่านั้นด้วยนโยบายอย่าว่าร้ายผู้อื่นในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ใช้ทุกคนไม่ควรวิจารณ์ผู้อื่นเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขสารานุกรมเลย

นอกจากนั้น อย่าสร้างหรือแก้ไขบทความเพียงเพื่อพิสูจน์การชี้แจงของคุณ และอย่าใช้วิกิพีเดียเพื่อสร้างความถูกต้องหรือการคุกคามทางกฎหมายต่อวิกิพีเดีย ชาววิกิพีเดีย หรือแม้แต่มูลนิธิวิกิมีเดีย เนื่องจากการคุกคามดังกล่าวจะไม่เป็นที่ยอมรับ และส่งผลให้ถูกบล็อกไม่ให้แก้ไขวิกิพีเดีย

วิกิพีเดียไม่ใช่อนาธิปไตย

แม้วิกิพีเดียจะเป็นสารานุกรมเสรี แต่ก็มีการจำกัดเสรีภาพหากสิ่งเหล่านั้นรบกวนการสร้างสารานุกรม วิกิพีเดียไม่ใช่ฟอรัมอิสระสำหรับข้อความหรือคำพูดที่ไม่มีการควบคุมดูแล และวิกิพีเดียไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อเอาไว้พูดคุยออนไลน์ ข้อเท็จจริงคือวิกิพีเดียเป็นโครงการแบบเปิดที่มีระบบบริหารจัดการด้วยตัวเอง จุดประสงค์ของวิกิพีเดียไม่ได้มีเพื่อการรวมตัวของชุมชนอนาธิปไตย หรือการทดสอบขีดจำกัดของอนาธิปไตย แต่จุดมุ่งหมายของวิกิพีเดียคือการสร้างสารานุกรมเท่านั้น

วิกิพีเดียไม่ใช่ประชาธิปไตย

วิธีการหลักของวิกิพีเดียในการพิจารณาความคิดเห็นส่วนใหญ่ คือ การอภิปราย ไม่ใช่ การลงคะแนน ถึงแม้ผู้ใช้บางคนมักจะสร้างแบบสอบถามหรือแบบสำรวจขึ้นในบางโอกาสเพื่อพยายามชี้วัดความคิดเห็นของผู้ใช้อื่น ๆ การสอบถามเช่นนั้นควรกระทำอย่างระมัดระวัง เพราะความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่อาจมีการเปลี่ยนแปลงทีหลังได้ วิกิพีเดียไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยหรือรูปแบบการปกครองของรัฐใด ๆ

วิกิพีเดียไม่มีพิธีรีตอง

วิกิพีเดียไม่ใช่ ศาลฝึกหัด วิชากฎหมาย และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อบังคับใช้กับชุมชนวิกิพีเดียโดยเฉพาะ การย้ำเตือนด้วยการสอนหรือวิธีใช้ที่มากจนเกินไปจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ความผิดพลาดเกี่ยวกับขั้นตอนในการแจ้งเรื่องใด ๆ เช่นแนวความคิดใหม่หรือการเสนอชื่อ ไม่ใช่เหตุเพื่อให้เกิดการหักล้างของการแจ้งดังกล่าว จงคล้อยตามกฎเกณฑ์ นโยบาย และแนวทาง เมื่อคุณเห็นว่าพวกเขากำลังทำผิด ไม่ใช่ย้ำเตือนด้วยข้อความทางการในลักษณะของการชี้แจงตัวบทกฎหมาย หากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านั้นปิดกั้นไม่ให้คุณปรับปรุงหรือดูแลวิกิพีเดียให้มีคุณภาพ จงลืมมันเสีย สำหรับแนวความคิดที่ไม่เห็นด้วยควรได้รับการตัดสินใจผ่านทางการอภิปรายเพื่อให้ได้ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ ดีกว่าจะยึดติดกับกฎเกณฑ์และขั้นตอนอย่างเข้มงวดเพียงอย่างเดียว

วิกิพีเดียไม่ใช่ที่ฝากเว็บไซต์

เนื้อหาหลายอย่างเป็นสิ่งที่จำกัดในวิกิพีเดียดังที่เคยกล่าวไว้แล้วด้านบน ซึ่งมีผลใช้กับหน้าผู้ใช้ของคุณด้วยเช่นกัน หน้าผู้ใช้ของคุณไม่ใช่โฮมเพจหรือบล็อกส่วนตัว หรือสำคัญกว่านั้น หน้าผู้ใช้ของคุณไม่ใช่ของคุณโดยแท้จริง มันเป็นส่วนหนึ่งของวิกิพีเดียและมีไว้เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างชาววิกิพีเดียด้วยกัน ไม่ใช่เพื่อการโฆษณาตัวเอง เนื้อหาที่ควรมีในหน้าผู้ใช้ของคุณเช่น ภาษาที่คุณสามารถสื่อสารได้ หัวข้อเรื่องที่สนใจ สิ่งที่กำลังทำอยู่ในวิกิพีเดีย หรือการทดลองแก้ไขส่วนตัว เป็นต้น ดูเพิ่มที่ หน้าผู้ใช้

และสุดท้าย

วิกิพีเดียไม่ใช่แหล่งรวบรวมแนวความคิดที่เลวร้าย เราไม่สามารถเตรียมการล่วงหน้าสำหรับแนวความคิดใหม่ ๆ ที่เลวร้ายของผู้แก้ไขหลายพันหลายหมื่นคนที่คอยค้นหาช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ ทุกอย่างที่ปรากฏในหน้านี้ถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อจัดการเกี่ยวกับแนวความคิดเหล่านั้น ซึ่งเราก็ไม่เคยเตรียมการล่วงหน้ามาก่อนเช่นกัน เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่เพียงพอสำหรับการชี้วัดว่าสิ่งใดควรกระทำ ไม่ควรกระทำ หรือห้ามกระทำ

หากคุณสงสัยว่าควรทำอะไร

หากคุณสงสัยว่าสิ่งใดควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ โปรดถามตัวเองก่อนว่า ผู้อ่านคนหนึ่ง ๆ คาดหวังว่าควรจะพบข้อมูลอะไรบ้างภายใต้หัวข้อเรื่องเดียวกันในลักษณะของสารานุกรม และหากคุณสงสัยว่ากฎเกณฑ์ต่าง ๆ ด้านบนกำลังถูกละเมิดหรือไม่ ให้พิจารณาสิ่งต่อไปนี้

  • การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในบทความ ซึ่งเป็นการแก้ไขธรรมดาทั่วไป
  • การเปลี่ยนชื่อบทความ ซึ่งชื่อบทความเก่าจะกลายเป็นหน้าเปลี่ยนทางไปยังชื่อบทความใหม่
  • การแจ้งลบบทความ ดูเพิ่มที่นโยบายในการลบบทความ
  • การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในหน้านี้ หลังจากได้มีมติอภิปรายให้เป็นความคิดเห็นส่วนใหญ่ หากต้องการเพิ่มเงื่อนไขใหม่ กรุณาอธิบายให้ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้หรืออาจยกตัวอย่างประกอบด้วยได้

ดูเพิ่ม