ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การฟื้นฟูเมจิ"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Antelope (คุย | ส่วนร่วม)
การคืนสู่ราชบัลลังก์ของพระเจ้าเมจิ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น [[การคืนสู่ราชบัลลังก์ของจักรพร...
Tiemianwusi (คุย | ส่วนร่วม)
การคืนสู่ราชบัลลังก์ของจักรพรรดิเมจิ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น [[การคืนสู่ราชบัลลังก์ของสมเด...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 18:01, 21 กุมภาพันธ์ 2555

การคืนสู่ราชบัลลังก์ของพระเจ้าเมจิ (ญี่ปุ่น: 明治維新โรมาจิMeiji Ishin; อังกฤษ: Meiji Restoration), หรือ การปฏิวัติเมจิ (Meiji Revolution), การปฏิรูปเมจิ (Meiji Reform) หรือ การปรับปรุงเมจิ (Meiji Renewal) ก็ว่า, เป็นเหตุการณ์การปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1868 เพื่อรวบอำนาจจากรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ (徳川幕府 Tokugawa bakufu) กลับคืนสมเด็จพระจักรพรรดิอีกครั้งหนึ่ง การปฏิรูปครั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการปกครองและโครงสร้างทางสังคมของญี่ปุ่นอย่างมหาศาล การปฏิรูปครั้งนี้ได้เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคเอะโดะ (江戸時代 Edo jidai) หรือมักเรียกว่าช่วงบะกุมะสึ (幕末 Bakumatsu) (หรือช่วงปลายรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ) จนถึงช่วงต้นของยุคเมจิ (明治時代 Meiji-jidai)

พันธมิตร

ใน ค.ศ. 1866 แคว้นซะสึมะ (薩摩藩 Satsuma han) อันเป็นแคว้นที่ทรงอำนาจบนเกาะคีวชูของญี่ปุ่น ภายใต้การนำของไซโก ทาคาโมริ (西郷 隆盛 Saigō Takamori) ได้ร่วมมือกับแคว้นโชชู (長州藩 Chōshū han) อันเป็นแคว้นใหญ่ในภูมิภาคชูโงะกุ ภายใต้การนำของคิโดะ ทะกะโยะชิ (木戸 孝允 Kido Takayoshi) ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรซัทโช (薩長同盟 Satchō dōmei) ขึ้นเพื่อริเริ่มการปฏิรูปสมัยเมจิ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระจักรพรรดิโคเม (孝明天皇 Kōmei-tennō) พระราชบิดาในสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ (明治天皇 Meiji-tennō) และการชักนำจากซะกะโมะโตะ เรียวมะ (坂本 龍馬 Sakamoto Ryōma) เพื่อที่จะท้าทายอำนาจของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ (徳川幕府 Tokugawa bakufu) และรวบอำนาจคืนแด่สมเด็จพระจักรพรรดิ

ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1867 สมเด็จพระจักรพรรดิโคเมเสด็จสวรรคต สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของปีเดียวกัน เริ่มรัชศกยุคเมจิ อันเป็นยุคที่ประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงจากสังคมศักดินาไปสู่สังคมทุนนิยมโดยได้รับอิทธิพลจากตะวันตกอย่างช้า ๆ

สิ้นสุดระบอบโชกุน

วันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1867 โทะกุงะวะ โยะชิโนะบุ (徳川 慶喜 Tokugawa Yoshinobu) โชกุนคนที่ 15 ของตระกูลโทะกุงะวะ ยอมสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ และลงจากตำแหน่งในอีก 10 วันต่อมา ถือเป็นวันที่สิ้นสุดการปกครองระบอบโชกุนอย่างเป็นทางการ และเป็นการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์ (Taisei Hōkan) อย่างไรก็ตาม โทะกุงะวะ โยะชิโนะบุ ซึ่งถือเป็นโชกุนคนสุดท้ายของญี่ปุ่นยังคงมีอิทธิพลอย่างเป็นสาระสำคัญอยู่

หลังจากนั้นไม่นาน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1868 ก็เกิดสงครามโบะชิน (戊辰戦争 Boshin Sensō) โดยเริ่มด้วยศึกโทะบะ-ฟุชิมิ (鳥羽・伏見の戦い Toba-Fushimi no Tatakai) ระหว่างพันธมิตรซัทโช และกองทัพของอดีตโชกุน ในที่สุด กองทัพของโชกุนก็พ่ายแพ้ ส่งผลให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีพระราชอำนาจเต็มเหนืออดีตโชกุนโยะชิโนะบุอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1869 สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงมีพระบรมราชโองการประกาศฟื้นฟูพระราชอำนาจอย่างเป็นทางการ

กองกำลังของโชกุนส่วนหนึ่งได้หลบหนีไปยังเกาะฮกไกโด และพยายามแบ่งแยกดินแดนตั้งเป็นรัฐอิสระชื่อ สาธารณรัฐเอะโสะ (蝦夷共和国 Ezo Kyōwakoku) อย่างไรก็ตาม กองกำลังผู้จงรักภักดีต่อสมเด็จพระจักรพรรดิได้เข้ายุติการแบ่งแยกดินแดนนี้ในศึกฮะโกะดะเตะ (函館戦争 Hakodate Sensō) ณ เกาะฮกไกโด ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1869 การพ่ายแพ้ของกองกำลังฝ่ายโชกุน อันนำโดยเอะโนะโมะโตะ ทะเกะอะกิ (榎本 武揚 Enomoto Takeaki) และฮิจิคะตะ โทะชิโซ (土方 歳三 Hijikata Toshizō) โดยในศึกครั้งนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ และเป็นการฟื้นฟูพระราชอำนาจในสมเด็จพระจักรพรรดิอย่างสมบูรณ์

ผลกระทบ

การปฏิรูปสมัยเมจิทำให้ประเทศญี่ปุ่นก้าวสู่ระบบอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเพิ่มอำนาจทางการทหารในค.ศ. 1905 ภายใต้คำขวัญว่า "ประเทศมั่งคั่ง กองทัพแข็งแกร่ง" (富国強兵 fukoku kyōhei)

กลุ่มคณาธิปไตยเมจิ (Meiji oligarchy) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจจากแคว้นพันธมิตรได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลภายใต้พระราชอำนาจในสมเด็จพระจักรพรรดิขึ้น เพื่อรวบรวมอำนาจของตนให้เข้มแข็งและสามารถต่อกรกับรัฐบาลสมัยเอะโดะ โชกุน ไดเมียว และชนชั้นซามูไร ที่ยังคงเหลืออิทธิพลอยู่ได้

ในค.ศ. 1868 ที่ดินของตระกูลโทะกุงะวะทั้งหมดได้ตกไปอยู่ในความครอบครองของสมเด็จพระจักรพรรดิ และถือเป็นการเพิ่มอภิสิทธิ์ให้รัฐบาลเมจิใหม่ด้วย ในค.ศ. 1869 ไดเมียวของแคว้นโทะซะ (土佐藩 Tosa han) แคว้นซะงะ (佐賀藩 Saga-han) แคว้นโชซู (長州藩 Chōshū han) และแคว้นซะสึมะ (薩摩藩 Satsuma han) ซึ่งเคยต่อต้านระบอบโชกุนอย่างหนัก ได้ถูกชักชวนให้ถวายดินแดนของแคว้นคืนแด่สมเด็จพระจักรพรรดิ ตามด้วยไดเมียวของแคว้นอื่น ๆ เพื่อให้รัฐบาลกลางโดยสมเด็จพระจักรพรรดิมีอำนาจเหนือดินแดนทั่วราชอาณาจักร (天下 tenka) ได้ แต่ก็ได้มีการต่อต้านในช่วงแรก

กลุ่มคณาธิปไตยเมจิได้พยายามที่จะเลิกระบบชนชั้นทั้งสี่ (士農工商 shinōkōshō) อันได้แก่ ชนชั้นปกครอง (ซามูไร) เกษตรกร ช่างฝีมือ และพ่อค้าลงด้วย

ในขณะนั้น มีซามูไร 1.9 ล้านคนทั่วประเทศญี่ปุ่น หรือมากกว่าชนชั้นปกครองของฝรั่งเศสสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อค.ศ. 1789 10 เท่า นอกจากนั้น ซามูไรของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ภายใต้มีผู้อำนาจปกครอง แต่จะจงรักภักดีต่อผู้ที่เป็นนายเท่านั้น รัฐบาลกลางต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ซามูไรแต่ละคน ซึ่งถือเป็นภาระทางการเงินอย่างมหาศาล และอาจเป็นแรงจูงใจหนึ่งให้กลุ่มคณาธิปไตยยกเลิกชนชั้นซามูไร

ในความตั้งใจที่จะยกเลิกชนชั้นซามูไร กลุ่มคณาธิปไตยได้ดำเนินการไปอย่างช้า ๆ โดยในขั้นแรก ในค.ศ. 1873 รัฐบาลกลางได้ประกาศให้ซามูไรต้องเสียภาษีจากเบี้ยเลี้ยงในอัตราก้าวหน้า ต่อมาในค.ศ. 1874 รัฐบาลกลางได้เสนอซามูไรมีสิทธิเลือกที่จะเปลี่ยนการรับเบี้ยเลี้ยงเป็นพันธบัตรรัฐบาล และในที่สุด ในค.ศ. 1876 รัฐบาลกลางก็บังคับให้ซามูไรเปลี่ยนจากการรับเบี้ยเลี้ยงเป็นพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด