ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ความคลั่งทิวลิป"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
EmausBot (คุย | ส่วนร่วม)
Robot: es:Tulipomanía is a good article
EmausBot (คุย | ส่วนร่วม)
Robot: fr:Tulipomanie is a good article
บรรทัด 203: บรรทัด 203:
{{Link FA|tr}}
{{Link FA|tr}}
{{Link GA|es}}
{{Link GA|es}}
{{Link GA|fr}}


[[ar:جنون التوليب]]
[[ar:جنون التوليب]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 19:40, 22 ธันวาคม 2554

ภาพทิวลิปแตกสีเป็นลวดลายที่เรียกว่า “ไวซรอย” ในแคตาลอกขายหัวทิวลิป ค.ศ. 1637 หัว “ไวซรอย” แต่ละหัวตกมีมูลค่าระหว่าง 3000 ถึง 4200 โฟลริน ขึ้นอยู่กับขนาด ขณะที่ค่าแรงงานของช่างฝีมือในขณะนั้นตกประมาณ 300 โฟลรินต่อปี[1]

คลั่งทิวลิป (อังกฤษ: Tulip mania, Tulipomania; ดัตช์: Tulpenmanie, Tulpomanie, Tulpenwoede, Tulpengekte, Bollengekte) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างยุคทองของเนเธอร์แลนด์ เมื่อเกิดการตั้งราคาสัญญาการค้าขายหัวทิวลิปสายพันธุ์ใหม่กันอย่างสูงผิดปกติจนถึงจุดสูงสุดก่อนที่ราคาจะตกฮวบลงมาอย่างฉับพลัน[2] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 ในระหว่างที่ความคลั่งทิวลิปกำลังอยู่ที่จุดสูงสุด ราคาสัญญาการซื้อขายดอกทิวลิปต่อหัวสูงเกินสิบเท่าของรายได้ต่อปีของช่างฝีมือในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เหตุการณ์นี้ถือกันว่าเป็นเหตุการณ์แรกของภาวะฟองสบู่จากเก็งกำไร[3] คำว่า "ความคลั่งทิวลิป" กลายมาเป็นคำที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอุปมาเมื่อกล่าวถึงภาวะฟองสบู่ขนาดใหญ่[4]

เหตุการณ์เกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปมาเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายโดยนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษชื่อ ชาร์ลส์ แม็คเคย์ ในหนังสือชื่อ Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds (ความเพ้อฝันอันวิปริตและความบ้าคลั่งของมหาชน) ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1841 แม็คเคย์กล่าวว่าในจุดหนึ่งของการขายถึงกับมีผู้เสนอแลกที่ดิน 12 เอเคอร์เพื่อแลกกับหัวทิวลิปสายพันธุ์ "Semper Augustus" เพียงหัวเดียว[5] แม็คเคย์อ้างว่ามีผู้ลงทุนในการซื้อสัญญาซื้อขายหัวทิวลิปจนหมดตัวเป็นจำนวนมากเมื่อราคาทรุดฮวบลง และผลสะท้อนของตลาดที่ล่มก็ใหญ่พอที่จะสั่นคลอนสภาวะทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ แม้ว่าหนังสือที่แม็คเคย์เขียนจะกลายเป็นหนังสือคลาสสิคที่ยังคงตีพิมพ์กันอยู่แม้แต่ในปัจจุบันนี้ แต่ความถูกต้องของข้อมูลและข้อสมมติฐานที่กล่าวในหนังสือก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นักวิชาการสมัยใหม่เชื่อว่าความคลั่งดอกทิวลิปมิได้เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงตามที่แม็คเคย์กล่าว และบ้างก็เสนอว่าเหตุการณ์นี้มิได้ทำให้เกิดความแปรปรวนของเศรษฐกิจขนานใหญ่ขึ้นแต่อย่างใด[6]

การค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปเป็นไปได้ยากเพราะข้อมูลจากคริสต์ทศวรรษ 1630 มีเพียงจำกัด—นอกจากนั้นข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีอยู่ก็ยังขาดความเป็นกลาง และมาจากแหล่งข้อมูลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเก็งกำไร[7][8] แทนที่จะใช้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นความคลั่งของการเก็งกำไรอันไม่มีเหตุผล นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่พยายามให้คำอธิบายอย่างมีเหตุผลถึงสาเหตุของการตั้งราคาอันสูงผิดปกติ แต่คำอธิบายเหล่านี้ก็ไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มของความผันผวนของราคาดอกไม้ชนิดอื่น เช่น ดอกไฮยาซินธ์ ซึ่งก็มีการตั้งราคาที่สูงเกินประมาณเมื่อมีการนำสายพันธุ์เข้าใหม่เข้ามา และราคาก็มาตกฮวบต่อมาเมื่อหมดความนิยมลงเช่นเดียวกับทิวลิป อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดทิวลิปล่มอาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการทำสัญญาการซื้อขายโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในช่วงนั้น ที่มีจุดประสงค์ในการลดความเสี่ยงในตลาดการลงทุนของผู้ซื้ออนาคต โดยการอนุญาตให้ผู้ซื้อสามารถยุบเลิกสัญญาการซื้อขายได้โดยเสียค่าปรับเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าของสัญญาทั้งหมด แต่บทบังคับนี้กลับได้ผลตรงกันข้ามและทำให้ราคาทิวลิปยิ่งถีบตัวสูงหนักขึ้นไปอีกจนเป็นผลให้ตลาดทิวลิปล่มสลายในที่สุด

ประวัติ

จิตรกรรมอุปมานิทัศน์ของความคลั่งทิวลิปโดยเฮนดริค เกอร์ริทสซ โพต (Hendrik Gerritsz Pot) ที่เขียนราว ค.ศ. 1640 เป็นภาพเทพีฟลอราผู้เป็นเทพีแห่งดอกไม้นั่งบนเกวียนที่ถูกพัดด้วยสายลมที่นำไปสู่ความหายนะในทะเลพร้อมกับคนเมา คนให้ยืมเงิน และสตรีสองหน้า ที่ตามด้วยขบวนช่างทอชาวฮาร์เล็มที่เต็มไปด้วยลุ่มหลงในการลงทุน

ทิวลิปได้รับการนำเข้ามาในทวีปยุโรปจากจักรวรรดิออตโตมันราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และกลายมาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในสาธารณรัฐดัตช์ (ปัจจุบัน คือ เนเธอร์แลนด์) [9] การปลูกทิวลิปในสาธารณรัฐดัตช์เชื่อกันว่าเริ่มกันขึ้นอย่างจริงจังราว ค.ศ. 1593 หลังจากที่นักพฤกษศาสตร์เฟล็มมิชชาร์ลส์ เดอ เลอคลูส์ได้รับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยไลเดนและก่อตั้ง “สถาบันพฤกษศาสตร์แห่งไลเดน” (Hortus Botanicus Leiden) ขึ้น[10] เลอคลูส์ปลูกทิวลิปที่สถาบันจากหัวทิวลิปที่ส่งมาจากตุรกีโดยราชทูตโอชีร์ เดอ บูสเบคก์ในสมเด็จพระจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในราชสำนักของสุลต่านสุลัยมานมหาราช ทิวลิปที่ปลูกเป็นสายพันธุ์ที่สามารถทนทานกับภาวะอากาศในบริเวณกลุ่มประเทศต่ำได้[11] ไม่นานหลังจากนั้นการปลูกทิวลิปก็เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายโดยทั่วไปในเนเธอร์แลนด์[12]

ทิวลิปกลายมาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างรวดเร็วและเป็นสิ่งที่เป็นแสดงสัญลักษณ์แสดงฐานะของผู้เป็นเจ้า ซึ่งทำให้เกิดความนิยมในการแสวงหาหัวทิวลิปมาเป็นเจ้าของกันยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทิวลิปสายพันธุ์ใหม่ๆ ถูกพัฒนาขึ้นและจัดเป็นกลุ่ม เช่นทิวลิปสีเดียวที่รวมทั้งสีแดง เหลือง และ ขาวอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “Couleren” แต่ทิวลิปที่เป็นที่คลั่งไคล้กันมากที่สุดคือทิวลิปสีผสม หรือ “ทิวลิปแตกสี” (broken tulip) ที่มีลวดลายหลายสีในดอกเดียวกันที่มีชื่อเรียกกันไปต่างๆ แล้วแต่สายพันธุ์เช่น “Rosen” (แดงหรือชมพูบนพื้นสีขาว) “Violetten” (ม่วงหรือม่วงอ่อนบนพื้นสีขาว) หรือ “Bizarden” (แดง น้ำตาลหรือม่วง บนพื้นสีเหลือง) [13] ทิวลิปสีผสมที่นิยมกันนี้จะออกดอกที่มีสีเด่นสะดุดตาและมีลวดลายเป็นเส้นหรือเป็นเปลวบนกลีบ ลักษณะที่เป็นลวดลายนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตามที่ทราบกันในปัจจุบันที่เรียกว่า “ไวรัสทิวลิปแตกสี” ซึ่งเป็นไวรัสพืชในกลุ่มไวรัสโมเสก (mosaic virus) [14][15]

“ภาพนิ่งของดอกไม้” โดยอัมโบรเชียส บอสเชิร์ต (Ambrosius Bosschaert) (ค.ศ. 1573-ค.ศ. 1621) จิตรกรยุคทองของเนเธอร์แลนด์
หัวทิวลิป

ผู้ปลูกทิวลิปต่างก็พยายามตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่ๆ ให้เป็นที่ต้องหูด้วยชื่อที่หรูหราต่างๆ ที่เริ่มด้วยการตั้งชื่อที่มีคำว่า “แอดมิราล” (Admirael) นำหน้าตามด้วยชื่อผู้ปลูกเช่น “Admirael van der Eijck” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แสวงหากันมากในบรรดาห้าสิบสายพันธุ์ที่ใช้ชื่อแอดมิราล ชื่อนำหน้าอีกชื่อหนึ่งที่นิยมกันคือ “เจ็นเนอราล” (Generael) ซึ่งมีด้วยกันอีกสามสิบสายพันธุ์ หลังจากนั้นชื่อที่ตั้งก็ยิ่งหรูขึ้นไปอีกเช่นชื่อที่มาจากอเล็กซานเดอร์มหาราช หรือสคิพิโอ หรือแม้แต่ “แอดมิราลแห่งแอดมิราล” หรือ “เจ็นเนอราลแห่งเจ็นเนอราล” แต่การตั้งชื่อก็มิได้เป็นไปอย่างมีระบบหรือระเบียบแบบแผนเท่าใดนัก และคุณภาพของสายพันธุ์ใหม่ก็มีระดับที่แตกต่างกันมาก[16] แต่สายพันธุ์เหล่านี้ส่วนใหญ่สูญหายไปหมดแล้ว[17] แต่ "ทิวลิปแตกสี" ก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่

ทิวลิปเป็นดอกไม้ที่ปลูกจากหัวที่เมื่อมองจากภายนอกจะดูคล้ายหัวหอมสีขาวนมที่ดูเหมือนไม่มีกลีบเหมือนหัวหอมธรรมดา การปลูกสามารถทำได้จากการเพาะเมล็ดหรือการปลูกจากหน่อที่แตกออกจากหัวแม่ แต่ถ้าปลูกจากเมล็ดก็จะใช้เวลาประมาณระหว่าง 7 ถึง 12 ปีจึงจะได้ดอก เมื่อหัวเจริญเติบโตขึ้นเป็นดอก หัวเดิมก็จะตายไปและจะมีหัวใหม่โตขึ้นมาแทนที่และหน่อเล็กๆ ถ้าปลูกอย่างกันถูกต้องแล้วหน่อเล็กนี้ก็จะโตขึ้นมาเป็นหัวใหม่ต่างหาก แต่ไวรัสที่ทำให้ดอกแตกสีแพร่ขยายได้ด้วยการปลูกจากหน่อเท่านั้นไม่ใช่ด้วยเมล็ด ฉะนั้นการที่จะเพาะสายพันธุ์ใหม่ได้จึงใช้เวลาหลายปี และยิ่งช้าลงถ้ามีไวรัส ดอกทิวลิปแต่ละชนิดก็จะบานอยู่เพียงอาทิตย์เดียวราวระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมก่อนที่จะโรย หลังจากนั้นก็จะมีหน่อเล็กๆ แตกขึ้นมา สามารถขุดและย้ายหัวได้ตั้งแต่ราวเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ฉะนั้นการซื้อขายหัวทิวลิปกันจริงๆ ก็จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ของปี[18]

ในช่วงเวลาอื่น ผู้ค้าขายก็จะลงนามในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อหน้าทนายความรับรองเอกสารเพื่อซื้อหัวทิวลิปกันเมื่อถึงปลายฤดู[19] ฉะนั้นเนเธอร์แลนด์จึงกลายมาเป็นผู้วิวัฒนาการเทคนิคของระบบการซื้อขายแบบใหม่เพื่อใช้ในการซื้อขายสินค้าเช่นหัวทิวลิป[20] ในปี ค.ศ. 1610 รัฐบาลก็ได้สั่งห้ามการขายชอร์ต ประกาศนี้มาย้ำและเพิ่มความเด็ดขาดขึ้นอีกครั้งระหว่างปี ค.ศ. 1621 จนถึง ปี ค.ศ. 1630 และต่อมาในปี ค.ศ. 1636 ตามประกาศนี้ ผู้ที่ขายชอร์ตไม่ได้รับการลงโทษ แต่สัญญาที่ลงนามไปก็ถือว่าเป็นโมฆะ[21]

ดัชนีราคามาตรฐานสำหรับสัญญาค้าขายหัวทิวลิปที่สร้างโดย Thompson 2007, p. 101 ทอมสันไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับราคาระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ - 1 พฤษภาคม ฉะนั้นลักษณะของการหดตัวลงจึงไม่เป็นที่ทราบ แต่แม้จะไม่ทราบรูปแบบของการตกของราคาที่ถูกต้อง แต่ที่ทราบคือตลาดทิวลิปหดตัวอย่างเฉียบพลัน เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637[22]

เมื่อการปลูกทิวลิปกลายมาเป็นที่นิยมกันมากขึ้น ผู้ปลูกอาชีพก็ซื้อขายหัวทิวลิปที่เชื่อกันว่าจะแตกสี (โดยที่ขณะนั้นไม่เป็นที่ทราบว่าเกิดจากไวรัส) กันด้วยราคาที่สูงขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมาถึง ค.ศ. 1634 แรงผลักดันราคาทิวลิปที่ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของทิวลิปในฝรั่งเศส ก็เริ่มทำให้มีผู้เก็งกำไรเข้ามามีบทบาทในตลาด[23] ในปี ค.ศ. 1636 ดัตช์ก็เริ่มก่อตั้งตลาดการซื้อขายล่วงหน้าที่สัญญาการซื้อหัวทิวลิปเมื่อสิ้นฤดูสามารถนำมาซื้อขายกันในตลาดได้ ผู้ค้าขายจะพบกันใน “colleges” ในโรงเหล้า โดยผู้ซื้อต้องจ่าย "ค่าธรรมเนียมไวน์" 2.5% ซึ่งอาจสูงถึง 3 โฟลรินต่อหนึ่งสัญญา แต่ไม่มีฝ่ายใดที่ต้องจ่ายหลักประกันขั้นต้น (initial margin) หรือ ปรับมูลค่าตามราคาตลาด (mark to market) และสัญญาทั้งหมดเป็นสัญญาระหว่างบุคคล มิใช่สัญญาที่ทำกับตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่มีการส่งมอบสินค้าจริงตามสัญญาเพราะตลาดทิวลิปล่มสลายลงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 การค้าขายนี้มีศูนย์กลางที่ฮาร์เล็มในช่วงที่เป็นจุดสูงสุดของการระบาดของกาฬโรคในยุโรป ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการเสี่ยงกันเกินกว่าเหตุก็เป็นได้[24]

ตลอดปี ค.ศ. 1636 ราคาสัญญาของหัวทิวลิปที่หายากก็ยังคงถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนพฤศจิกายน ราคาสัญญาทิวลิปธรรมดาที่ไม่แตกสีก็เริ่มสูงตามขึ้นไปด้วย ดัตช์เรียกสัญญาการซื้อขายทิวลิปว่า "windhandel" ซึ่งหมายถึง "การซื้อขายลม" เพราะตัวหัวทิวลิปมิได้มีการแลกเปลี่ยนมือกันจริง ๆ ตามสัญญาซื้อขายกันล่วงหน้า[25] แต่เมื่อมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 สัญญาการซื้อขายหัวทิวลิปก็ล่มในทันทีและการค้าขายหัวทิวลิปก็ยุติลงตามไปด้วยหลังจากนั้น[26]

ข้อมูลที่มี

ความที่ไม่มีข้อมูลที่บันทึกไว้อย่างมีระบบระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1630 ทำให้เป็นการยากต่อการประเมินสถานการณ์ของความคลั่งทิวลิปได้อย่างเที่ยงตรง ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากจุลสารของผู้ต่อต้านการเก็งกำไร โดย Gaergoedt and Warmondt (GW) ที่เขียนหลังจากตลาดทิวลิปล่มสลายไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ปีเตอร์ การ์เบอร์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหัวทิวลิป 161 หัวจาก 39 สายพันธุ์ระหว่างปี ค.ศ. 1633 จนถึงปี ค.ศ. 1637 โดย 53 หัวบันทึกโดย GW มีการซื้อขายเกิดขึ้น 98 ครั้งในวั้นสุดท้ายของฟองสบู่เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 ด้วยราคาที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก การซื้อขายก็มีรูปแบบหลายอย่างเช่นการซื้อขายล่วงหน้า การซื้อขายทันที การขายสัญญาล่วงหน้าที่ผ่านการรับรองของผู้ปลูก หรือการขายที่ดินที่ใช้ปลูก การ์เบอร์กล่าวว่า ข้อมูลที่มีก็คละกันอย่างไม่มีความเกี่ยวข้องกันเหมือนกับการผสมแอปเปิลกับส้ม[27]

"ความคลั่งของมหาชน" โดยแม็คเคย์

สินค้าทั้งหมดที่แลกเปลี่ยนกับ
หัว “ไวซรอย” เพียงหัวเดียว[28]
ข้าวสาลีสอง lasts 448ƒ
ข้าวไรย์สี่ lasts 558ƒ
วัวอ้วนสี่ตัว 480ƒ
หมูอ้วนแปดตัว 240ƒ
แกะอ้วนสิบสองตัว 120ƒ
ไวน์สองหัวหมู 70ƒ
เบียร์สี่ทัน (tun) 32ƒ
เนยสองตัน 192ƒ
เนยแข็ง 1,000 ปอนด์ 120ƒ
เตียงหนึ่งเตียง 100ƒ
เสื้อหนึ่งชุด 80ƒ
จอกเงินหนึ่งจอก 60ƒ
ทั้งหมด 2500ƒ

การโต้แย้งเกี่ยวกับพฤติกรรมของความคลั่งทิวลิปของสมัยใหม่เริ่มขึ้นในหนังสือชื่อ Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds (ความเพ้อฝันอันวิปริตและความบ้าคลั่งของมหาชน) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1841 โดยนักหนังสือพิมพ์ชาวสกอตชื่อ ชาร์ลส์ แม็คเคย์ แม็คเคย์เสนอว่ามหาชนมักจะแสดงพฤติกรรมอันขาดเหตุผล ความคลั่งทิวลิป หรือเหตุการณ์ฟองสบู่แตกเซาธ์ซีของอังกฤษ หรือแผนการล่อนักลงทุนของบริษัทมิสซิสซิปปีของฝรั่งเศสต่างก็เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมดังกล่าว

แม็คเคย์บรรยายเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยอาศัยแหล่งข้อมูลจากงานเขียน “ประวัติการประดิษฐ์ การค้นพบ และที่มา” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1797 โดยโยฮันน์ เบ็คมันน์ เป็นส่วนใหญ่ และในงานเขียนของเบ็คมันน์ก็ใช้จุลสารอีกสามเล่มที่เขียนโดยนักประพันธ์นิรนามที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1637 ที่เป็นเอกสารที่มีจุดประสงค์เบื้องหลังของการเขียนเพื่อการต่อต้านการเก็งกำไร เป็นแหล่งข้อมูลอีกทีหนึ่ง[29] หนังสือของแม็คเคย์ที่บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้งเป็นที่นิยมกันโดยนักเศรษฐศาสตร์และบรรดาผู้มีบทบาทในการค้าขายหุ้นอยู่หลายชั่วคน และความเป็นที่นิยมนี้ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อมา แม้ว่าเนื้อหาที่เกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปของสภาวะฟองสบู่ของการเก็งกำไรจะมีความบกพร่อง และแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ในคริสต์ทศวรรษ 1980 จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสมมติฐานหลายประการของหนังสือไม่ค่อยถูกต้องนักก็ตาม[30]

ตามความเห็นของแม็คเคย์การตื่นตัวของความแพร่หลายของทิวลิปเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1600 ทำให้ชนทั้งชาติต่างก็หันมาให้ความสนใจกับการซื้อขายทิวลิป -- “ประชาชนแม้กระทั่งชนชั้นล่างสุดต่างก็หันมามีส่วนร่วมในการค้าขาย”[5] เมื่อถึง ค.ศ. 1635 ก็มีการบันทึกถึงการขายหัวทิวลิป 40 หัวเป็นจำนวนเงิน 100,000 โฟลริน (หรือที่เรียกว่าดัตช์กิลเดอร์) เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเนยในขณะนั้นที่ค้าขายกันในราคา 100 โฟลรินต่อหนึ่งตัน หรือช่างฝีมือที่มีรายได้ราว 150 โฟลรินต่อปี หรือ “หมูอ้วนแปดตัว” มีราคา 240 โฟลริน[5] (จากการตั้งค่าของสถาบันประวัติศาสตร์สังคมศาสตร์นานาชาติ หนึ่งโฟลรินสามารถมีค่าเท่ากับ 10.28 ตามค่าเงินในปี ค.ศ. 2002[31])

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1636 ทิวลิปก็ค้าขายกันในตลาดหลักทรัพย์ตามเมืองต่างๆ ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการทำให้การค้าขายเป็นที่แพร่หลายไปยังผู้คนระดับต่างๆ ของสังคม แม็คเคย์กล่าวว่าประชาชนบางคนถึงกับนำทรัพย์สมบัติส่วนตัวมาใช้ในการเก็งกำไร เช่นการเสนอราคาแลกเปลี่ยนที่ดิน 12 เอเคอร์ (49,000 ตารางเมตร) กับหัว “Semper Augustus” หัวเดียวหรือสองหัว หรือการแลกหัว “ไวซรอย” กับสินค้าต่างๆ ตามรายการบนตารางทางขวาเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,500 โฟลรินเป็นต้น[28]

มีผู้คนหลายคนที่ร่ำรวยขึ้นมาอย่างกะทันหัน เมื่อมีเหยื่อทองห้อยล่อใจอยู่ตรงหน้า ก็ทำให้คนแล้วคนเล่าก้าวเข้าไปร่วมในการค้าขายในตลาดทิวลิปเหมือนกับแมลงวันที่บินรอบน้ำผึ้ง ต่างคนต่างก็คิดว่าความคลั่งทิวลิปจะไม่มีวันจบสิ้น ต่างคนต่างก็พยายามซื้อทิวลิปไม่ว่าจะด้วยราคาใดที่เรียกร้อง และต่างก็เชื่อกันว่าความนิยมนี้จะทำให้ความมั่งคั่งจากส่วนต่างๆ ของโลกหลั่งไหลเข้ามายังเนเธอร์แลนด์ ผู้คนที่มั่งคั่งในยุโรปต่างก็พากันมายังซุยเดอร์เซ (Zuyder Zee) ความยากจนก็จะอันตรธานไปจากความรุ่งเรืองของเนเธอร์แลนด์ ขุนนาง พ่อค้า เกษตรกร ช่างเครื่องยนต์ กะลาสี คนรับใช้ของขุนนาง หญิงรับใช้ และแม้แต่คนกวาดปล่องไฟหรือหญิงแก่ช่างตัดเสื้อจึงต่างก็เข้ามาร่วมค้าขายหัวทิวลิปด้วยกันทั้งสิ้น[5]

จุลสารเกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปของเนเธอร์แลนด์ที่พิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1637

ความคลั่งทิวลิปที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดเรื่องชวนขันหลายเรื่องที่แม็คเคย์บันทึกไว้ เช่น กะลาสีที่เห็นหัวทิวลิปที่มีค่าตั้งอยู่ก็นึกว่าเป็นหัวหอมจึงหยิบไปเพื่อจะไปทำอาหาร พ่อค้าและครอบครัววิ่งไล่ตามแต่ไปพบว่ากะลาสีกำลังนั่ง “กินอาหารเช้าที่มีราคาพอกับค่าแรงงานของกะลาสีของเรือทั้งลำเป็นเวลาหนึ่งปี” กะลาสีคนนั้นถูกจำคุกเพราะกินหัวทิวลิป ซึ่งคิดว่าเป็นหัวหอม[5]

ผู้คนซื้อหัวทิวลิปที่ราคาสูงขึ้นตามลำดับโดยตั้งใจที่จะหันมาขายเอากำไร แต่แผนการเช่นนั้นไม่สามารถจะดำเนินไปได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากว่าจะมีคนเต็มใจที่จะซื้อสินค้าในราคาอันสูงเกินประมาณต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 1637 ผู้มีสัญญาขายหัวทิวลิปก็ไม่สามารถหาผู้ซื้อใหม่ผู้เต็มใจที่จะให้ราคาที่เกินเลยความเป็นจริงไปมากได้ เมื่อเกิดความเข้าใจในสภาวะตลาดเช่นนั้นแล้วความต้องการในซื้อหัวทิวลิปก็สิ้นสุดลงที่เป็นผลให้ราคาก็ตกฮวบ—ตลาดขายสัญญาทิวลิปก็ตกอยู่ใน “สภาวะลูกโป่งระเบิด” ผู้ขายบางคนก็เหลือแต่สัญญาในมือที่มีค่าเพียงหนึ่งในสิบของราคาที่ซื้อมา หรือผู้ขายบางคนก็มีหัวทิวลิปที่มีค่าเพียงเสี้ยวเดียวของราคาที่ซื้อมา แม็คเคย์อ้างว่าหลังจากนั้นชาวดัตช์ก็อยู่ในสภาวะที่พยายามเที่ยวไล่หาตัวการที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนของตลาดหรือไม่ก็หาแพะรับบาป[5]

นักเก็งกำไรที่ตกตะลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็พยายามร้องขอให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เข้ามาช่วยเหลือ รัฐบาลตอบสนองด้วยการประกาศให้นักเก็งกำไรที่ซื้อสัญญาหัวทิวลิปไว้จ่ายค่าธรรมเนียมสิบเปอร์เซ็นต์ มาตรการอื่นๆ ก็มีการนำมาใช้เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ให้เป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย แต่ก็ไม่ประสบผล ความคลั่งทิวลิปในที่สุดก็ยุติลงโดยทิ้งผู้เป็นเจ้าของไว้กับสัญญาหัวทิวลิปที่ไม่ใครยอมจ่ายราคาตามราคาที่เรียกร้อง ศาลก็ไม่ยอมเข้ายุ่งเกี่ยวด้วยเพราะถือว่าเป็นหนี้สินที่เกิดจากสัญญาการพนันซึ่งไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับได้[5]

ตามบันทึกของแม็คเคย์ ความคลั่งทิวลิปเกิดขึ้นในส่วนอื่นของยุโรปแต่ก็ไม่มีที่ใดที่คลั่งไคล้กันอย่างรุนแรงเท่ากับที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ และอ้างต่อไปว่าราคาทิวลิปที่ตกฮวบลงเป็นผลให้เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์หยุดนิ่งอยู่เป็นเวลาหลายปี[5]

ความเห็นสมัยใหม่

ภาพเขียนสีน้ำของทิวลิป “Semper Augustus” โดยจิตรกรนิรนามของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เป็นทิวลิปที่ได้ชื่อว่ามีราคาสูงที่สุดที่ขายระหว่างความคลั่งทิวลิป

คำอธิบายของแม็คเคย์ถึงพฤติกรรมอันไม่มีเหตุผลของมวลชนไม่มีผู้ใดค้านและตรวจสอบมาจนกระทั่งถึงคริสต์ทศวรรษ 1980[32] แต่การค้นคว้าเรื่องความคลั่งทิวลิปตั้งแต่นั้นมาโดยเฉพาะจากผู้สนับสนุนสมมติฐานประสิทธิภาพของตลาด[33] ผู้ไม่มีความเชื่อมั่นในทฤษฎีฟองสบู่จากการเก็งกำไรโดยทั่วไปตั้งข้อเสนอว่า เรื่องราวของความคลั่งทิวลิปเป็นเรื่องที่ไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้อง ในการวิจัยทางวิชาการในบทวิจัย “ความคลั่งทิวลิป” โดยแอนน์ โกลด์การ์ ตั้งข้อเสนอว่าเหตุการณ์นี้จำกัดอยู่แต่เฉพาะกับ “กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องจริงเพียงจำนวนน้อย” และเรื่องต่างๆ ที่ได้รับบันทึกในช่วงนั้นก็เป็นเรื่องที่ “มีพื้นฐานมาจากงานโฆษณาชวนเชื่อร่วมสมัยเพียงชิ้นสองชิ้น และจากเอกสารที่เป็นงานโจรกรรมทางวรรณกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่”[7] ปีเตอร์ การ์เบอร์ค้านว่าลูกโป่งระเบิดครั้งนี้ “ไม่มีความหมายมากไปกว่าเกมที่เล่นกันในวงเหล้าระหว่างฤดูหนาวโดยประชาชนที่ต้องประสบกับโรคระบาดที่ใช้ความตื่นตัวของตลาดทิวลิปเป็นเครื่องมือ”[34]

ขณะที่แม็คเคย์อ้างว่าผู้เข้าร่วมในเหตุการณ์มาจากทุกระดับของสังคม แต่งานศึกษาของโกลด์การ์กล่าวว่าแม้กระทั่งในขณะที่ปริมาณการค้าขายทิวลิปถึงจุดสูงสุด ผู้เข้าร่วมในการซื้อขายก็จำกัดอยู่แต่เฉพาะกลุ่มพ่อค้า และช่างฝีมือที่มีฐานะดี โดยไม่มีผู้เข้าร่วมผู้ใดที่มาจากชนระดับขุนนาง[35] เศรษฐกิจที่ล่มหลังจากตลาดทิวลิปหดตัวก็เป็นเพียงจำกัด โกลด์การ์ผู้พบชื่อผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กล่าวว่ามีก็เพียงบุคคลไม่กี่คนที่ได้รับผลกระทบกระเทือนทางการเงินจากช่วงเวลานี้ และในกรณีของบุคคลเหล่านี้ก็ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่าเป็นปัญหาทางการเงินที่มาจากการค้าขายทิวลิปหรือไม่[36] ข้อสรุปนี้ก็ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจเท่าใดนัก เพราะแม้ว่าราคาทิวลิปจะสูงขึ้นแต่ก็มิได้มีการแลกเปลี่ยนตัวเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายกันจริง ๆ ฉะนั้นกำไรของผู้ขายจึงเป็นกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง นอกจากว่าผู้ขายจะนำเครดิตไปทำการซื้อต่อเพื่อหวังผลกำไร ราคาที่ทรุดลงจึงมิได้มีผลให้ผู้ใดต้องเสียเงินจริงๆ[37]

คำอธิบายด้วยเหตุผล

ไม่มีใครโต้แย้งว่าเหตุการณ์การขึ้นและตกของตลาดทิวลิปที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1636 ถึงปี ค.ศ. 1637 นั้นมิได้เกิดจริง แต่ก็มิได้หมายความว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเป็น ภาวะเศรษฐกิจลูกโป่งแตก หรือการระเบิดของการเก็งกำไร การที่ความคลั่งทิวลิปจะถือว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจลูกโป่งแตกได้ก็เมื่อราคาของหัวทิวลิปเกินเลยแยกตัวจากมูลค่าในตัวของหัวทิวลิปเอง นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ตั้งข้อเสนอหลายข้อในการพยายามอธิบายถึงราคาที่ขึ้นและตกของหัวทิวลิปที่ไม่ตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่าภาวะลูกโป่งแตก[38]

ราคาที่สูงขึ้นในปีคริสต์ทศวรรษ 1630 ประจวบกับช่วงเวลาการชะลอตัวของสงครามสามสิบปี[39] ฉะนั้นก็ดูเหมือนว่าตลาดจะตอบโต้สถานการณ์อย่างมีเหตุผล (อย่างน้อยก็ในระยะแรก) ในการตอบรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อราคาตกอัตราการตกเป็นไปอย่างไม่ได้สัดส่วนกับเมื่อราคาขึ้น ข้อมูลการขายส่วนใหญ่หายไปหลังจากที่ราคาตกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 แต่ข้อมูลที่ยังเหลืออยู่ชี้ให้เห็นว่าราคาของหัวทิวลิปหลังจากเหตุการณ์ความคลั่งทิวลิปก็ยังคงตกลงเรื่อยมาจนอีกหลายสิบปีต่อมา

ความผันผวนของราคาดอกไม้

ทิวลิปตูม
ทิวลิปที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทิวลิปสีเดียว จะมีทิวลิปหลายสีบ้างก็เป็นสีผสมที่จำกัด

การ์เบอร์เปรียบเทียบการขึ้นลงของราคาของหัวทิวลิปจากหลักฐานที่ยังมีอยู่กับแนวโน้มของการขึ้นลงของราคาดอกไฮยาซินธ์ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19—เมื่อไฮยาซินธ์มาแทนที่ทิวลิปในการเป็นดอกไม้ยอดนิยม—ก็พบว่ามีแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน เมื่อไฮยาซินธ์เริ่มเข้ามาใหม่ๆ นักปลูกต่างก็พยายามแข่งกันหาสายพันธ์ใหม่ตามความต้องการอันเพิ่มขึ้นของตลาด แต่เมื่อผู้คนเริ่มหายตื่นกับความแปลกใหม่ของไฮยาซินธ์ราคาก็ตกลง ราคาหัวทิวลิปที่แพงที่สุดตกลงไปเหลือเพียง 1–2% ของราคาในช่วงที่มีราคาสูงที่สุดภายในระยะเวลา 30 ปี[40] การ์เบอร์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า “เมื่อไม่นานมานี้หัวลิลลี่ตัวอย่างเพียงไม่กี่หัวก็ขายกันในราคาหนึ่งล้านกิลเดอร์ (หรือคิดเป็น 480,000 เหรียญสหรัฐ ตามอัตราแลกเปลี่ยนในปี ค.ศ. 1987)” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในปัจจุบันการซื้อขายดอกไม้ในราคาที่สูงมากก็ยังมีอยู่[41] นอกจากนั้นเพราะราคาที่ขึ้นเกิดขึ้นหลังจากที่หัวทิวลิปได้รับการปลูกแล้วในปีนั้น ฉะนั้นผู้ปลูกจึงไม่มีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้[42]

ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย

ศาสตราจารย์ทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เอิร์ล เอ. ทอมสัน โต้แย้งในเอกสารการวิจัยในปี ค.ศ. 2007 ว่าคำอธิบายของการ์เบอร์ไม่สนับสนุนการทรุดตัวของราคาอย่างรวดเร็ว ราคาตกต่อปีของทิวลิปคือ 99.999% แทนที่จะเฉลี่ยราว 40% เช่นดอกไม้อื่น[43] ทอมสันให้คำอธิบายใหม่เกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปของเนเธอร์แลนด์ว่า ขณะนั้นรัฐบาลเนเธอร์แลนด์อยู่ในระหว่างการพิจารณาออกประกาศ (ที่เดิมสนับสนุนโดยผู้ลงทุนการค้าทิวลิปในเนเธอร์แลนด์ผู้สูญเสียเงินไปเมื่อสถานการณ์ของเยอรมันเสื่อมถอยในสงครามสามสิบปี[44]) ในการเปลี่ยนวิธีการซื้อขายสัญญาหัวทิวลิป:

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 สมาคมนักปลูกดอกไม้ดัตช์ในการตัดสินใจที่ต่อมาอนุมัติโดยรัฐสภาดัตช์ประกาศว่า สัญญาการซื้อขายในอนาคตที่ทำหลังจากวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1636 และก่อนที่จะเปิดตลาดเงินสดขึ้นอีกครั้งในต้นฤดูใบไม้ผลิให้ถือว่าเป็น สัญญาออปชัน พวกเขายกเลิกข้อผูกพันของผู้ซื้อล่วงหน้าที่จะต้องซื้อหัวทิวลิปในอนาคต บังคับให้ผู้ซื้อต้องชดเชยเงินให้แก่ผู้ขายเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ของราคาสัญญาแทน[45]

ก่อนที่รัฐสภาจะออกประกาศ ผู้ซื้อสัญญาทิวลิป—หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (futures contract) —ต้องซื้อหัวทิวลิปตามกฎหมาย ประกาศใหม่เปลี่ยนแปลงลักษณะสัญญาที่ถ้าราคาทันที (Spot price) ตกผู้ซื้อก็มีโอกาสที่จะจ่ายเฉพาะค่าปรับและเลิกสัญญาโดยไม่ต้องจ่ายเต็มราคาตามที่ตกลงกันในสัญญา การเปลี่ยนกฎหมายนี้หมายความตามภาษาสมัยใหม่ว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถูกเปลี่ยนเป็นสัญญาออปชัน ข้อเสนอนี้เริ่มเป็นที่โต้แย้งกันระหว่างฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1636 และถ้าผู้ลงทุนจะสามารถทราบได้ว่าประกาศนี้จะได้รับการอนุมัติและบังคับใช้อย่างแน่นอน ราคาสินค้าก็อาจจะสูงขึ้น[46]

การประกาศของรัฐสภาที่อนุญาตให้ผู้ซื้อสัญญาสามารถเลี่ยงสัญญาได้โดยการเสียค่าปรับเพียง 3.5 เปอร์เซนต์ของราคาสัญญา[47] ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนซื้อขายกันด้วยราคาที่สูงหนักยิ่งขึ้นไปอีก นักเก็งกำไรสามารถลงนามในสัญญาซื้อทิวลิปเป็นจำนวน 100 กิลเดอร์ ถ้าราคาขึ้นสูงกว่า 100 กิลเดอร์ นักเก็งกำไรก็จะได้กำไรส่วนที่เกิน แต่ถ้าราคายังคงต่ำนักเก็งกำไรก็สามารถเลี่ยงสัญญาได้โดยเสียค่าปรับเพียง 3.5 กิลเดอร์ ฉะนั้นสัญญามูลค่า 100 กิลเดอร์ สำหรับผู้ลงทุนแล้วก็จะสูญเสียไม่เกิน 3.5 กิลเดอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ราคาสัญญาก็ถึงจุดสุดยอด เจ้าหน้าที่ดัตช์ก็เข้ามาหยุดยั้งการซื้อขายของสัญญาเหล่านี้[48]

ทอมสันกล่าวว่าตลอดช่วงเวลาเดียวกันนี้การซื้อหัวทิวลิปกันจริงๆ ยังคงอยู่ในระดับปกติ ทอมสันจึงสรุปว่า “ความคลั่ง” เป็นพฤติกรรมที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาสัญญา[49] เมื่อดูจากข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการจ่ายของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และ สัญญาออปชัน ในบางกรณีแล้ว ทอมสันก็โต้ว่าแนวโน้มของราคาสัญญาหัวทิวลิปก็ใกล้เคียงกับแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ “ราคาสัญญาซื้อทิวลิปก่อน ระหว่าง และหลังจากการคลั่งทิวลิปดูเหมือนกับว่าจะแสดงลักษณะที่ตรงกันกับลักษณะของ “ความมีประสิทธิภาพของตลาด” (market efficiency) อย่างชัดแจ้ง”[50]

ข้อวิจารณ์

นักเศรษฐศาสตร์ผู้อื่นเชื่อว่าคำอธิบายต่างๆ ที่ว่าไม่สามารถอธิบายถึงราคาที่ขึ้นและตกอย่างรวดเร็วของหัวทิวลิปได้[51] ทฤษฎีของการ์เบอร์ก็ยังได้รับการท้าทายต่อไปว่าไม่ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับราคาที่ขึ้นและตกอย่างรวดเร็วที่คล้ายคลึงกันของหัวทิวลิปแบบธรรมดา[52] นักเศรษฐศาสตร์บางท่านก็ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสภาวะการเก็งกำไรเช่นการขยายตัวของปริมาณเงินหมุนเวียน (money supply) ที่เห็นได้จากจำนวนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากของธนาคารอัมสเตอร์ดัมระหว่างช่วงที่มีการคลั่งทิวลิป[53]

ความคลั่งที่มีผลต่อสังคมและผลที่เกิดขึ้นต่อมา

ทุ่งทิวลิปในเนเธอร์แลนด์—ทิวลิปยังเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันแม้จะผ่านช่วงความนิยมสูงสุดไปแล้ว
ภาพทิวลิปที่เขียนโดย Hans Gillisz. Bollongier ในปี ค.ศ. 1639

หนังสือของแม็คเคย์ก็ยังเป็นที่นิยมกันแม้จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ โดยนำ Extraordinary Popular Delusions มาตีพิมพ์ใหม่อยู่เรื่อยๆ ที่มีบทนำโดยนักเขียนเช่นผู้ลงทุนเบอร์นาร์ด บารุค (Bernard Baruch) (ค.ศ. 1932) หรือนักเขียนทางการเงินแอนดรูว์ โทไบอัส (ค.ศ. 1980),[54] และไมเคิล หลุยส์ (ค.ศ. 2008) และนักจิตวิทยาเดวิด เจย์. ชไนเดอร์ (ค.ศ. 1993) ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อยหกฉบับที่ยังขายกันอยู่

การ์เบอร์โต้ว่าแม้ว่าความคลั่งทิวลิปอาจจะไม่อยู่ในข่ายที่เรียกว่าฟองสบู่ทางเศรษฐกิจหรือฟองสบู่การเก็งกำไร แต่กระนั้นก็เป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบกระเทือนทางจิตวิทยาต่อชาวดัตช์ในด้านอื่น ตามข้อเขียนที่กล่าวว่า “แม้ว่าผลกระทบกระเทือนทางการเงินจะมีต่อคนเพียงไม่กี่คนโดยตรง แต่ความช็อคจากความคลั่งทิวลิปก็ทำให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นในโครงสร้างของคุณค่าของสินค้า”[55] ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ความคิดที่ว่าราคาดอกไม้จะสามารถมีค่าสูงกันได้ถึงขนาดที่ประเมินกันเป็นสิ่งที่ยากที่จะเข้าใจได้ ค่าของสายพันธ์ทิวลิปบางชนิดสูงกว่ารายได้ทั้งปีของบุคคลบางอาชีพ และความคิดที่ว่าราคาดอกไม้ที่ปลูกกันในฤดูร้อนจะมีผลในทำให้ราคามาผันผวนได้ในช่วงฤดูหนาวทำให้เป็นการยากที่จะเข้าใจถึง “มูลค่า” ที่แท้จริงของสินค้าได้[56]

แหล่งข้อมูลหลายแหล่งกล่าวถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อความคลั่งทิวลิป เช่นจุลสารเพื่อการต่อต้านการเก็งกำไรที่ต่อมาใช้เป็นงานอ้างอิงของบทเขียนของเบ็คมันน์และแม็คเคย์ถึงผลเสียหายในทางเศรษฐกิจ แต่จุลสารเหล่านี้มิได้เขียนโดยผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเมื่อตลาดล่ม แต่เขียนโดยผู้มีอิทธิพลจากความเชื่อทางศาสนา ซึ่งถือโอกาสประณามความวุ่นวายที่เกิดขึ้นว่าเป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมของสังคม—และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า “ผู้ที่มีความมัวเมาในทางโลก แทนที่จะเป็นทางธรรมได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง” ดังนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆในทางเศรษฐกิจที่หยิบยกมาเติมสีสันให้เป็นเรื่องสอนใจด้านคุณธรรม[57]

อีกร้อยปีต่อมาระหว่างที่บริษัทมิสซิสซิปปีล่ม และเหตุการณ์ฟองสบู่แตกเซาธ์ซี ราวปี ค.ศ. 1720 ก็มีการอ้างถึงความคลั่งทิวลิปในการเสียดสีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[58] เมื่อกล่าวถึงความคลั่งทิวลิปเป็นครั้งแรกในคริสต์ทศวรรษ 1780 โยฮันน์ เบ็คมันน์เปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับการซื้อสลากกินแบ่ง[59] ตามความคิดเห็นของโกลด์การ์และนักเขียนเกี่ยวกับสภาวะการลงทุนสมัยใหม่เช่นเบอร์ตัน มาลคีล (Burton Malkiel) A Random Walk Down Wall Street (ค.ศ. 1973) และ จอห์น เค็นเน็ธ กาลเบร็ธ (John Kenneth Galbraith) ใน A Short History of Financial Euphoria (ค.ศ. 1990) ที่เขียนไม่นานหลังจากตลาดหลักทรัพย์ล่มของปี ค.ศ. 1987 ก็ใช้เรื่องราวของความคลั่งทิวลิปเป็นบทเรียนทางจริยธรรม[60][61][62] นอกจากนั้นแล้วความผันผวนของตลาดทิวลิปก็ยังเป็นโครงเรื่องในนวนิยายที่เขียนโดยเกรกอรี แมไกวร์ (Gregory Maguire) Confessions of an Ugly Stepsister (ค.ศ. 1999) [63][64]

ความคลั่งทิวลิปมากลายเป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันอีกครั้งเมื่อเกิดภาวะฟองสบู่ดอตคอมแตก ขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1995 ถึง ค.ศ. 2001[65] และล่าที่สุดนักวรสารก็เปรียบเทียบกับวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์[66][67] แม้ว่าความคลั่งทิวลิปจะยังเป็นเรื่องที่นิยมเล่าขานกันอยู่ แต่แดเนียล โกรสส์แห่งนิตยสาร “Slate” กล่าวถึงคำอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์ถึงสมมติฐานประสิทธิภาพของตลาดในการอธิบายสภาวะความผันผวนของตลาดทิวลิปว่า “ถ้าคำอธิบายดังกล่าวถูกต้องจริงแล้ว...ก็เท่ากับว่านักเขียนเกี่ยวกับธุรกิจทั้งหลายก็สามารถลบเรื่องของความคลั่งทิวลิปออกจากบรรดาอุปมานิทัศน์ของเรื่องฟองสบู่แตกได้ทั้งหมด”[68]

อ้างอิง

  1. Nusteling, H. (1985) Welvaart en Werkgelegenheid in Amsterdam 1540-1860, p. 114, 252, 254, 258.
  2. "Tulipomania: The Story of the World's Most Coveted Flower & the Extraordinary Passions It Aroused." Mike Dash (2001).
  3. Shiller 2005, p. 85 More extensive discussion of status as the earliest bubble on pp. 247–48.
  4. French 2006, p. 3
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 "The Tulipomania", Chapter 3, in Mackay 1841.
  6. Thompson 2007, p. 100
  7. 7.0 7.1 Kuper, Simon "Petal Power" (Review of Goldgar 2007), “Financial Times”, May 12, 2007. Retrieved on July 1, 2008.
  8. A pamphlet about the Dutch tulipomania Wageningen Digital Library, July 14, 2006. Retrieved on August 13, 2008.
  9. Garber 1989, p. 537
  10. Dash 1999, pp. 59–60
  11. Goldgar 2007, p. 32
  12. Goldgar 2007, p. 33
  13. Dash 1999, p. 66
  14. Phillips, S. "Tulip breaking potyvirus", in Brunt, A.A., Crabtree, K., Dallwitz, M.J., Gibbs, A.J., Watson, L. and Zurcher, E.J. (eds.) (1996 onwards). Plant Viruses Online: Descriptions and Lists from the VIDE Database. Version: August 20, 1996. Retrieved on August 15, 2008.
  15. Garber 1989, p. 542
  16. Dash 1999, pp. 106–07
  17. Garber 2000, p. 41
  18. Garber 1989, pp. 541–42
  19. Garber 1989, pp. 541–42
  20. Garber 1989, p. 537
  21. Garber 2000, pp. 33–36
  22. Thompson 2007, pp. 109–11
  23. Garber 1989, p. 543
  24. Garber 2000, pp. 37–38, 44–47
  25. Goldgar 2007, p. 322
  26. Garber 1989, pp. 543–44
  27. Garber 2000, pp. 49–59, 138–144
  28. 28.0 28.1 This basket of goods was actually exchanged for a bulb according to Chapter 3 of Mackay 1841 and also Schama 1987, but Krelage (1942) and Garber 2000, pp. 81–83 dispute this interpretation of the original source, an anonymous pamphlet, saying that the commodity bundle was clearly given only to demonstrate the value of the Dutch guilder at the time.
  29. Garber 1990, p. 37
  30. Garber 1990, p. 37
  31. Goldgar 2007, p. 323
  32. Garber 1989, p. 535
  33. Kindleberger 2005, p. 115
  34. Garber 2000, p. 81
  35. Goldgar 2007, p. 141
  36. Goldgar 2007, pp. 247–48
  37. Goldgar 2007, p. 233
  38. Thompson 2007, p. 100
  39. Thompson 2007, p. 103
  40. Garber 1989, pp. 553–54
  41. Garber 1989, p. 555
  42. Garber 1989, pp. 555–56
  43. Thompson 2007, p. 100
  44. Thompson 2007, pp. 103–04
  45. Thompson 2007, p. 101
  46. Thompson 2007, p. 101
  47. Thompson 2007, p. 101
  48. Thompson 2007, p. 111
  49. Thompson 2007, p. 111
  50. Thompson 2007, p. 109
  51. Kindleberger & Aliber 2005, pp. 115–16
  52. French 2006, p. 3
  53. French 2006, pp. 11–12
  54. Introduction by Andrew Tobias to "Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds" (New York: Harmony Press, 1980) available on-line at Andrew Tobias, Money and Other Subjects. Retrieved on August 12, 2008
  55. Goldgar 2007, p. 18
  56. Goldgar 2007, pp. 276–77
  57. Goldgar 2007, pp. 260–61
  58. Goldgar 2007, pp. 307–09
  59. Goldgar 2007, p. 313
  60. Goldgar 2007, p. 314
  61. Galbraith 1990, p. 34
  62. Malkiel 2007, pp. 35–38
  63. Maguire, HarperCollins, 1999
  64. Goldgar 2007, p. 329
  65. Goldgar 2007, p. 314
  66. "Bubble and Bust; As the subprime mortgage market tanks, policymakers must keep their nerve", “The Washington Post”, August 11, 2007. Retrieved on July 17, 2008.
  67. Horton, Scott. "The Bubble Bursts", “Harper's Magazine”, January 27, 2008. Retrieved on July 17, 2008.
  68. Daniel Gross. "Bulb Bubble Trouble; That Dutch tulip bubble wasn't so crazy after all", Slate, July ค.ศ. 16, 2004. Retrieved on July 22, 2008.

บรรณานุกรม

  • (ดัตช์) P.Cos (1637) – Verzameling van een meenigte tulipaanen, naar het leven geteekend met hunne naamen, en swaarte der bollen, zoo als die publicq verkogt zijn, te Haarlem in den jaare A. 1637, door P. Cos, bloemist te Haarlem. – Haarlem : [s.n.], 1637. – 75 pl. available online at Wageningen Tulip Portal. Retrieved on August 11, 2008.
  • Dash, Mike (1999), Tulipomania: The Story of the World's Most Coveted Flower and the Extraordinary Passions It Aroused, London: Gollancz, ISBN 0-575-06723-3
  • French, Doug (2006), "The Dutch monetary environment during tulipomania" (PDF), The Quarterly Journal of Austrian Economics, 9 (1): 3–14, doi:10.1007/s12113-006-1000-6. Retrieved on June 24, 2008.
  • Galbraith, J. K. (1990), A Short History of Financial Euphoria, New York: Penguin Books, ISBN 0-670-85028-4
  • Garber, Peter M. (1989), "Tulipmania", Journal of Political Economy, 97 (3): 535–560, doi:10.1086/261615 {{citation}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Garber, Peter M. (1990), "Famous First Bubbles", The Journal of Economic Perspectives, 4 (2): 35–54, JSTOR: 1942889 (subscription required). Retrieved on August 15, 2008.
  • Garber, Peter M. (2000), Famous First Bubbles: The Fundamentals of Early Manias, Cambridge: MIT Press, ISBN 0-262-07204-1
  • Goldgar, Anne (2007), Tulipmania: Money, Honor, and Knowledge in the Dutch Golden Age, Chicago: University of Chicago Press, ISBN 978-0-226-30125-9
  • Hooper, William R. (1876), "s:The Tulip Mania" , Harper's magazine, vol. 52 no. 340, p. 743–746 {{citation}}: ข้อความ "Harper's New Monthly Magazine" ถูกละเว้น (help); ข้อความ "The Tulip Mania" ถูกละเว้น (help)
  • Krelage, E.H. (1942), Bloemenspeculatie in Nederland, Amsterdam: P.N. van Kampen & Zoon
  • Kindleberger, Charles P.; Aliber, Robert (2005), Manias, Panics, and Crashes: A History of Financial Crises (5th ed.), Hoboken: Wiley, ISBN 0-471-46714-6
  • Mackay, Charles (1841), Memoirs of Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds, London: Richard Bentley. Retrieved on August 15, 2008.
  • Malkiel, Burton G. (2007), A Random Walk Down Wall Street (9th ed.), New York: W. W. Norton, ISBN 0-393-06245-7
  • Pavord, Anna (2007), The Tulip, London: Bloomsbury, ISBN 0-7475-7190-2
  • Pollan, Michael (2002), The Botany of Desire, New York: Random House, ISBN 0-375-76039-3
  • Schama, Simon (1987), The Embarrassment of Riches: an interpretation of Dutch culture in the Golden Age, New York: Alfred Knopf, ISBN 0-394-51075-5
  • Shiller, Robert J. (2005), Irrational Exuberance (2nd ed.), Princeton: Princeton University Press, ISBN 0-691-12335-7
  • Thompson, Earl (2007), "The tulipmania: Fact or artifact?" (PDF), Public Choice, 130 (1–2): 99–114, doi:10.1007/s11127-006-9074-4. Retrieved on August 15, 2008.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

แม่แบบ:Link FA แม่แบบ:Link FA แม่แบบ:Link FA แม่แบบ:Link GA แม่แบบ:Link GA