ผลต่างระหว่างรุ่นของ "โขน"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Saerin (คุย | ส่วนร่วม)
Saerin (คุย | ส่วนร่วม)
บรรทัด 68: บรรทัด 68:
=== โขนโรงใน ===
=== โขนโรงใน ===


โขนโรงในเป็นโขนที่นำศิลปะการแสดงของละครใน เข้ามาผสมผสานระหว่างโขนกับละครใน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 รวมทั้งมี[[กวี|ราชกวี]]ภายใน[[สำนักพระราชวัง|ราชสำนัก]] ช่วยปรับปรุงขัดเกลาและประพันธ์บทพากย์ บทเจรจาให้มีความคล้องจอง ไพเราะ สละสลวยมากยิ่งขึ้น โดยนำท่ารำท่าเต้น และบทพากย์เจรจาตามแบบโขนมาผสมกับการขับร้อง เป็นการปรับปรุงวิวัฒนาการของโขน
โขนโรงในเป็นโขนที่นำศิลปะการแสดงของละครใน เข้ามาผสมผสานระหว่างโขนกับละครใน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 รวมทั้งมี[[กวี|ราชกวี]]ภายใน[[สำนักพระราชวัง|ราชสำนัก]] ช่วยปรับปรุงขัดเกลาและประพันธ์บทพากย์ บทเจรจาให้มีความคล้องจอง ไพเราะสละสลวยมากยิ่งขึ้น โดยนำท่ารำท่าเต้น และบทพากย์เจรจาตามแบบโขนมาผสมกับการขับร้อง เป็นการปรับปรุงวิวัฒนาการของโขน


ในการแสดงโขนโรงใน ผู้แสดงเป็นตัวพระ ตัวนางและเทวดา เริ่มที่จะไม่ต้องสวมหัวโขนในการแสดง มีการพากย์และเจรจาตามแบบฉบับของการแสดงโขน นำเพลงขับร้องประกอบอากัปกิริยาอาการของตัวละคร และเปลี่ยนมาแสดงภายในโรงแบบละครในจึงเรียกว่าโขนโรงใน มีปี่พาทย์บรรเลงสองวง ปัจจุบันโขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงนั้น ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงในซึ่งเป็นการแสดงระหว่างโขนกลางแปลงและโขนหน้าจอ<ref>[http://www.nsru.ac.th/oldnsru/webelearning/dance/kind_khone.html โขนโรงใน การผสมผสานระหว่างโขนและละครใน]</ref>
ในการแสดงโขนโรงใน ผู้แสดงเป็นตัวพระ ตัวนางและเทวดา เริ่มที่จะไม่ต้องสวมหัวโขนในการแสดง มีการพากย์และเจรจาตามแบบฉบับของการแสดงโขน นำเพลงขับร้องประกอบอากัปกิริยาอาการของตัวละคร และเปลี่ยนมาแสดงภายในโรงแบบละครในจึงเรียกว่าโขนโรงใน มีปี่พาทย์บรรเลงสองวง ปัจจุบันโขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงนั้น ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงในซึ่งเป็นการแสดงระหว่างโขนกลางแปลงและโขนหน้าจอ<ref>[http://www.nsru.ac.th/oldnsru/webelearning/dance/kind_khone.html โขนโรงใน การผสมผสานระหว่างโขนและละครใน]</ref>

รุ่นแก้ไขเมื่อ 08:11, 16 สิงหาคม 2554

แม่แบบ:กล่องข้อมูล นาฏศิลป์

โขน (อังกฤษ: Khon) เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย การแสดงประเภทหนึ่งที่ใช้ท่ารำตามแบบละครใน แตกต่างเพียงท่ารำที่มีการเพิ่มตัวแสดง เปลี่ยนทำนองเพลงที่ใช้ในการดำเนินเรื่องไม่ให้เหมือนกับละคร แสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับก่อนหลังเหมือนละครทุกประการ ซึ่งไม่เรียกการแสดงเหล่านี้ว่าละครแต่เรียกว่าโขนแทน[1] มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา[2] จากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงการแสดงโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทาง ประกอบกับเสียงซอและเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเองและถืออาวุธ[3]

โขนเป็นจุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนงเช่น วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์[4] โดยนำเอาวิธีเล่นและการแต่งตัวบางชนิดมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์[5] มีท่าทางการต่อสู้ที่โลดโผน ท่ารำ ท่าเต้นเช่น ท่าปฐมในการไหว้ครูของกระบี่กระบอง รวมทั้งการนำศิลปะการพากย์ การเจรจา หน้าพาทย์และเพลงดนตรีเข้ามาประกอบการแสดง[6] ในการแสดงโขน ลักษณะสำคัญอยู่ที่ผู้แสดงต้องสวมหัวโขน ซึ่งเป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูสองรูบริเวณดวงตาให้สามารถมองเห็น สร้างตามลักษณะของตัวละครนั้น ๆ เช่น ตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวเทวดา ฯลฯ ตกแต่งด้วยสี ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บ้างก็เรียกว่าหน้าโขน

ในสมัยโบราณ ตัวพระและตัวเทวดาต่างสวมหัวโขนในการแสดง ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงไม่ต้องสวมหัวโขน คงใช้ใบหน้าจริงเช่นเดียวกับละคร แต่งกายแบบเดียวกับละครใน เครื่องแต่งกายของตัวพระและตัวยักษ์ในสมัยโบราณมักมีสองสีคือ สีหนึ่งเป็นสีเสื้อ อีกสีหนึ่งเป็นสีแขนโดยสมมุติแทนเกราะ เป็นลายหนุนประเภทลายพุ่ม หรือลายกระจังตาอ้อย ส่วนเครื่องแต่งกายตัวลิงจะเป็นลายวงทักษิณาวรรต[7] โดยสมมุติเป็นขนของลิงหรือหมี ดำเนินเรื่องด้วยการกล่าวคำนำเล่าเรื่องเป็นทำนองเรียกว่าพากย์อย่างหนึ่ง กับเจรจาเป็นทำนองอย่างหนึ่ง ใช้กาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง[8] โดยมีผู้ให้เสียงแทนเรียกว่าผู้พากย์และเจรจา มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้[9] ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าประกอบการแสดง นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุท ปัจจุบันสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีหน้าที่หลักในการสืบทอดการฝึกหัดโขน และกรมศิลปากร มีหน้าที่ในการจัดการแสดง[10]

ประวัติ

ไฟล์:Lakon Nok.jpg
ละครใน ต้นแบบของการแสดงโขน

โขนจัดเป็นนาฏกรรมที่มีความเป็นศิลปะเฉพาะของตนเอง ไม่ปรากฏชัดแน่นอนว่าคำว่า "โขน" ปรากฏขึ้นในสมัยใด แต่มีการเอ่ยถึงในวรรณคดีไทยเรื่องลิลิตพระลอที่กล่าวถึงโขนในงานแสดงมหรสพ ระหว่างงานพระศพของพระลอ พระเพื่อนและพระแพงว่า "ขยายโรงโขนโรงรำ ทำระทาราวเทียน"[11] โดยมีข้อสันนิษฐานว่าคำว่าโขนนั้น มีที่มาจากคำและความหมายในภาษาต่าง ๆ ดังนี้[12][13]

  • คำว่าโขนในภาษาเบงคาลี ซึ่งปรากฏคำว่า "โขละ" หรือ "โขล" (บางครั้งเขียนด้วยคำว่า "โขฬะ") [14] ที่เป็นชื่อเรียกของเครื่องดนตรีประเภทหนังชนิดหนึ่งของฮินดู ลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับตะโพนของไทย ไม่มีขาตั้ง ทำด้วยดิน ไม่มีสายสำหรับถ่วงเสียง มีเสียงดังค่อนข้างมาก จัดเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในแคว้นเบงกอล ประเทศอินเดีย ใช้สำหรับประกอบการละเล่นชนิดหนึ่ง เรียกว่ายาตราหรือละครเร่ที่คล้ายคลึงกับละครชาตรี โดยสันนิษฐานว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ เคยถูกนำมาใช้ประกอบการเล่นนาฏกรรมชนิดหนึ่ง จึงเรียกว่าโขลตามชื่อของเครื่องดนตรี
  • คำว่าโขนในภาษาทมิฬ มีจุดเริ่มต้นจากคำว่าโขล ซึ่งมีความใกล้เคียงกับโกลหรือโกลัมในภาษาทมิฬ หมายความถึงเพศหรือการแต่งตัว การประดับตกแต่งร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าให้สวยงามตามแต่ลักษณะของเพศหญิงและเพศชาย หรืออีกความหมายหนึ่งของโกลหรือโกลัมคือการใช้แป้งโรยประดับตกแต่งหน้าบ้าน
  • คำว่าโขนในภาษาเขมร เป็นการกล่าวถึงโขนในพจนานุกรมภาษาเขมร ซึ่งหมายความถึงละคร แต่เขียนแทนว่าละโขน ที่หมายความถึงการแสดงมหรสพอย่างหนึ่ง

จากข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าโขนเป็นคำมาจากภาษาใด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ระบุความหมายของโขนเอาไว้ว่า "โขนหมายถึงการเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ แต่เล่นเฉพาะในเรื่องรามเกียรติ์ โดยผู้แสดงสวมหัวจำลองต่าง ๆ ที่เรียกว่าหัวโขน"[15] หรือหมายความถึงไม้ใช้ต่อเสริมหัวเรือท้ายเรือให้งอนเชิดขึ้นไปที่เรียกว่าโขนเรือ หรือใช้สำหรับเรียกเรือชนิดหนึ่งที่มีโขนว่าเรือโขนเช่น เรือโขนขนาดใหญ่น้อยเหลือหลายในลิลิตพยุหยาตรา หรือหมายความถึงส่วนสุดทั้งสองข้างของรางระนาดหรือฆ้องวงใหญ่ที่มีลักษณะงอนขึ้นว่าโขน[16]

วงปี่พาทย์ที่ใช้ในการแสดงโขน

ในสมัยของสมเด็จพระนาราย์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงโขนโดยลาลูแบร์ เอาไว้ว่า "โขนนั้น เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบ ตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก (หัวโขน) และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยาน และวางท่าอย่างเกินสมควรแล้ว นาน ๆ ก็จะหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำ หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร (ลิง) หรือไม่เป็นหน้าปีศาจ (ยักษ์) "[17] ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อมหรสพในอดีตของชาวไทยในสายตาของชาวต่างประเทศ

การแสดงโขนโดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่องรามยณะหรือรามเกียรติ์ ในอดีตกรมศิลปากรเคยจัดแสดงเรื่องอุณรุฑ แต่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์[18] มีหลายสำนวน ทั้งที่มีการประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะบทประพันธ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงตามสำนวนของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่กรมศิลปากรได้ปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอนสำหรับแสดงเป็นโขนฉาก ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ไว้ถึง 6 ชุด ได้แก่ ชุดนางสีดาหาย ชุดเผากรุงลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกาและชุดนาคบาศ

แต่เดิมนั้นการแสดงโขนจะไม่มีการสร้างฉากประกอบการแสดงตามท้องเรื่อง การดำเนินเรื่องราวต่าง ๆ เป็นแบบจินตนาการถึงฉากหรือสถานที่ในเรื่องราวเอง การจัดฉากในการแสดงโขนเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยที่ทรงคิดสร้างฉากประกอบการแสดงโขนบนเวทีขึ้น คล้ายกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดขึ้น

ประเภทของโขน

การแสดงโขนกลางแปลง เรื่องรามเกียรติ์

โขนเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มักนิยมแสดงเป็นมหกรรมบูชาเจ้านายชั้นสูงเช่น แสดงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพ แสดงเป็นมหรสพสมโภชเช่น ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และแสดงเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิงในโอกาสทั่ว ๆ ไป นิยมแสดงเพียง 3 ประเภทคือ โขนกลางแปลง โขนหน้าจอและโขนฉาก สำหรับโขนนั่งราวหรือโขนโรงนอกไม่นิยมจัดแสดง เนื่องจากเป็นการแสดงโขนที่มีแต่บทพากย์และบทเจรจาเท่านั้น ไม่มีบทร้อง ใช้ราวไม้กระบอกแทนเตียงสำหรับนั่ง และโขนโรงในซึ่งเป็นศิลปะที่โขนหน้าจอนำไปแสดง แต่เดิมไม่มีองค์ประกอบจำนวนมาก ต่อมาภายหลังเมื่อมีความต้องการในการแสดงมากขึ้น โขนจึงมีวิวัฒนาการพัฒนาเป็นลำดับ แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ[19]

โขนกลางแปลง

โขนกลางแปลงเป็นการเล่นโขนกลางแจ้ง ไม่มีการสร้างโรงแสดง ใช้ภูมิประเทศและธรรมชาติเป็นฉากในการแสดง ผู้แสดงทั้งหมดรวมทั้งตัวพระต้องสวมหัวโขน นิยมแสดงตอนยกทัพรบ วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์เรื่องกวนน้ำอมฤตที่ใช้เล่นในพิธีอินทราภิเษก ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพและการเต้นประกอบหน้าพาทย์มาใช้ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์แทน มีการเต้นประกอบหน้าพาทย์และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้าง แต่ไม่มีบทร้อง

เมื่อ พ.ศ. 2339 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีการเล่นโขนในงานฉลองอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนกาธิราช โดยโขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ฝ่ายลงกา และโขนวังหลังเป็นทัพพระรามฝ่ายพลับพลา แลัวยกทัพมาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารความว่า "ในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลังและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกันกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกัณฐ์ยกทัพกับสิบขุนสิบรถ โขนวังหลังเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป"

ซึ่งการแสดงโขนในครั้งนั้น เกิดการรบกันจริงระหว่างผู้แสดงทั้งสองฝ่าย จนเกิดการบาดหมางระหว่างวังหน้าและวังหลัง จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ต้องเสด็จมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้แก่วังหน้าและวังหลัง ทั้งสองฝ่ายจึงยอมเลิกบาดหมางซึ่งกันและกัน ทำให้เป็นข้อสันนิษฐานว่าเหตุใดการแสดงโขนกลางแปลงจึงนิยมแสดงตอนยกทัพรบและการรบบนพื้น[20] มีเครื่องดนตรีวงปี่พาทย์ไม่ต่ำกว่าสองวงในการบรรเลง[21]

โขนนั่งราว

การแสดงโขนนั่งราว

โขนนั่งราวหรือเรียกอีกอย่างว่าโขนโรงนอก วิวัฒนาการมาจากโขนกลางแปลง เป็นโขนที่แสดงบนโรงที่ปลูกสร้างขึ้นสำหรับแสดง ตัวโรงมักมีหลังคาคุ้มกันแสงแดดและสายฝน ไม่มีเตียงสำหรับผู้แสดงนั่ง มีเพียงราวทำจากไม้ไผ่วางพาดตามส่วนยาวของโรงเท่านั้น มีช่องให้ผู้แสดงในบทของตัวพระหรือตัวยักษ์ ที่มีตำแหน่งและยศถาบรรดาศักดิ์ สามารถเดินวนได้รอบราวซึ่งสมมุติให้เป็นเตียง ในส่วนผู้แสดงที่รับบทเป็นเสนายักษ์ เขนยักษ์ เสนาลิงหรือเขนลิง คงนั่งพื้นแสดงตามปกติ

มีการพากย์และเจรจา ไม่มีบทขับร้อง วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์เช่น กราวใน กราวนอก ฯลฯ ในการแสดงใช้ปี่พาทย์สำหรับบรรเลงเพลงถึงสองวง เนื่องจากต้องบรรเลงเป็นจำนวนมาก โดยตำแหน่งของปี่พาทย์ตัวแรกจะตั้งอยู่บริเวณหัวโรง ตำแหน่งของปี่พาทย์ตัวที่สองจะตั้งอยู่บริเวณท้ายโรง และกลายเป็นที่มาของการเรียกว่า "วงหัวและวงท้ายหรือวงซ้ายและวงขวา" [22]

โขนโรงใน

โขนโรงในเป็นโขนที่นำศิลปะการแสดงของละครใน เข้ามาผสมผสานระหว่างโขนกับละครใน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 รวมทั้งมีราชกวีภายในราชสำนัก ช่วยปรับปรุงขัดเกลาและประพันธ์บทพากย์ บทเจรจาให้มีความคล้องจอง ไพเราะสละสลวยมากยิ่งขึ้น โดยนำท่ารำท่าเต้น และบทพากย์เจรจาตามแบบโขนมาผสมกับการขับร้อง เป็นการปรับปรุงวิวัฒนาการของโขน

ในการแสดงโขนโรงใน ผู้แสดงเป็นตัวพระ ตัวนางและเทวดา เริ่มที่จะไม่ต้องสวมหัวโขนในการแสดง มีการพากย์และเจรจาตามแบบฉบับของการแสดงโขน นำเพลงขับร้องประกอบอากัปกิริยาอาการของตัวละคร และเปลี่ยนมาแสดงภายในโรงแบบละครในจึงเรียกว่าโขนโรงใน มีปี่พาทย์บรรเลงสองวง ปัจจุบันโขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงนั้น ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงในซึ่งเป็นการแสดงระหว่างโขนกลางแปลงและโขนหน้าจอ[23]

โขนหน้าจอ

การเชิดหนังใหญ่ในการแสดงโขนหน้าจอ

โขนหน้าจอเป็นโขนที่แสดงหน้าจอหนังใหญ่ ซึ่งใช้สำหรับแสดงหนังใหญ่หรือหนังตะลุง โดยผู้แสดงโขนออกมาแสดง สลับกับการเชิดตัวหนัง ที่ฉลุแกะสลักเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์อย่างสวยงามวิจิตรบรรจง เรียกว่า "หนังติดตัวโขน" ซึ่งในการเล่นหนังใหญ่ จะมีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาวแบบจอหนังใหญ่ ยาว 7 วา 2 ศอก ริมขอบจอใช้ผ้าสีแดงและสีน้ำเงินเย็บติดกัน ใช้เสาจำนวน 4 ต้นสำหรับขึงจอ ปลายเสาแต่ละด้านประดับด้วยหางนกยูงหรือธงแดง[24] มีศิลปะสำคัญในการแสดงคือการพากย์และเจรจา ใช้เครื่องดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง ผู้เชิดตัวหนังจะต้องเต้นตามจังหวะดนตรีและลีลาท่าทางของตัวหนัง

นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ภายหลังยกเลิกการแสดงหนังใหญ่คงเหลือเฉพาะโขน โดยคงจอหนังไว้พอเป็นพิธี เนื่องจากผู้ดูนิยมการแสดงที่ใช้คนแสดงจริงมากกว่าตัวหนัง จึงเป็นที่มาของการเรียกโขนที่เล่นหน้าจอหนังว่าโขนหน้าจอ มีการพัฒนาจอหนังที่ใช้แสดงโขน ให้มีช่องประตูสำหรับเข้าออก โดยวาดเป็นซุ้มประตูเรียกว่าจอแขวะ โดยที่ประตูทางด้านซ้ายวาดเป็นรูปค่ายพลับพลาของพระราม ส่วนประตูด้านขวาวาดเป็นกรุงลงกาของทศกัณฐ์ ต่อมาภายหลังจึงมีการยกพื้นหน้าจอขึ้นเพื่อกันคนดูไม่ให้เกะกะตัวแสดงเวลาแสดงโขน[25] สำหรับโขนหน้าจอ กรมศิลปากรเคยจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมในงานฉลองวันสหประชาชาติที่สนามเสือป่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และงานฟื้นฟูประเพณีสงกรานต์ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 13 เมษายน - 15 เมษายน พ.ศ. 2492[26]

โขนฉาก

โขนฉากเป็นการแสดงโขนที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการจัดฉากในการแสดงแบบละครดึกดำบรรพ์ประกอบตามท้องเรื่อง แบ่งเป็นฉากเป็นองก์ เข้ากับเหตุการณ์และสถานที่ จึงเรียกว่าโขนฉาก ปัจจุบันการแสดงโขนของกรมศิลปากร นอกจากจะแสดงโขนโรงในแล้ว ยังจัดแสดงโขนฉากควบคู่กันอีกด้วยเช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดงและชุดพระรามครองเมือง

ซึ่งในการแสดงโขนทุกประเภท มีวิวัฒนาการมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบและวิธีการแสดงของโขนได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย แต่คงรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะของการแสดงเอาไว้

โขนนอกตำรา

นอกจากประเภทของโขนต่าง ๆ ทั้ง 5 ประเภทแล้ว ยังมีการแสดงโขนนอกตำราที่ทางกรมศิลปากรไม่จัดให้รวมอยู่ในประเภทของโขน ได้แก่

โขนสด

โขนสด เป็นการแสดงที่ผสมผสานทางวัฒนธรรม ที่ปรับปรุงมาจากการแสดงโขนให้มีความเรียบง่าย มีการปรับเปลี่ยนลดท่ารำ การแต่งกาย การขับร้อง คำพากย์และการเจรจา เป็นการแสดงที่เกิดจากผสมผสานการแสดง 3 ชนิดคือ โขน หนังตะลุงและลิเก ไม่มีการพากย์เสียงและเจรจา โดยผู้แสดงจะเป็นผู้พูดบทเจรจาเอง แต่งกายยืนเครื่อง สวมหัวโขนบนศีรษะแต่ไม่คลุมหน้า สามารถมองเห็นใบหน้าของผู้แสดงได้อย่างชัดเจน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในชนบท แสดงด้วยกิริยาท่าทางโลดโผน จริงจังกว่าการแสดงโขนมาก[27]

โขนหน้าไฟ

โขนหน้าไฟ เป็นการแสดงโขนที่มักนิยมจัดแสดงในตอนกลางวัน หรือแสดงเฉพาะตอนพระราชทานเพลิงศพเท่านั้น เป็นการแสดงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยมีจุดประสงค์ในการแสดงเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตหรือเจ้าภาพของงาน รวมทั้งเป็นการแสดงคั่นเวลาให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ ได้ชมการแสดงก่อนถึงเวลาพระราชทานเพลิงจริง แต่เดิมโขนหน้าไฟใช้สำหรับในงานพระราชพิธี รัฐพิธีหรืองานของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เสนาขุนนางอำมาตย์เช่น งานถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศ์นานุวงศ์ ณ บริเวณทุ่งพระเมรุหรือท้องสนามหลวงในปัจจุบัน

โขนนอนโรง

โขนนอนโรง เป็นการแสดงโขนที่มักนิยมแสดงในเวลาบ่าย ก่อนวันแสดงจริงของโขนนั่งราว และแสดงตอน "เข้าสวนพิราพ" เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น มีปี่พาทย์สองวงในการบรรเลงเพลงโหมโรง การแสดงโขนนอนโรงมักนิยมแสดงเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยก่อนแสดงจะมีผู้แสดงออกไปเต้นกระทุ้งเสาทั้ง 4 มุมของโรงแสดง ซึ่งการกระทุ้งเสานั้น เป็นการทดสอบความแข็งแรงของเวทีในการรับน้ำหนักตัวของผู้แสดง สมัยก่อนเวทีสำหรับแสดงใช้วิธีขุดหลุมฝังเสาและใช้ดินกลบ ทำให้ระหว่างทำการแสดงเวทีเกิดการทรุดตัว เป็นเหตุผลให้อาจารย์ผู้ทำการฝึกสอน มักให้ผู้แสดงไปเต้นตามหัวเสาทั้ง 4 มุมของเวที เพื่อให้การเต้นนั้นช่วยกระทุ้งหน้าดินที่ฝังเสาไว้ให้เกิดความแน่นมากขึ้น

หลังแสดงเสร็จสิ้น ผู้แสดงมักจะนอนเฝ้าโรงแสดง เพื่อแสดงโรงนั่งราวต่อในวันรุ่งขึ้น ในอดีตโขนนอนโรงเคยแสดงมาแล้วสองครั้งด้วยกันคือ ครั้งแรกแสดงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในงานสมโภชพระเศวตคชเดน์ดิลก และครั้งที่สองในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แสดงที่บริเวณท้องสนามหลวงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 10 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2475[28]

โขนชักรอก

โขนในพระราชสำนัก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งคณะโขนสมัครเล่นตามแบบธรรมเนียมโบราณ

ในสมัยโบราณข้าราชการ มหาดเล็กที่รับราชการในสำนักพระราชวัง มักได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ฝึกหัดแสดงโขน เนื่องจากโขนนั้นถือเป็นการละเล่นของผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ ใช้สำหรับแสดงในงานพระราชพิธีเท่านั้น ทำให้ต้องมีการคัดเลือกผู้แสดงที่มีความสามารถ ฉลาดเฉลียว จดจำและฝึกหัดท่ารำท่าเต้นต่าง ๆ ให้เข้าใจได้โดยง่าย ดังคำสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า "บางทีเกิดมี 'กรมโขน' ขึ้นจะมาแต่การเล่นดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้เอง โดยทำนองจะมีพระราชพิธีอื่นอันมีการเล่นแสดงตำนานเนือง ๆ จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงนี้ขึ้นไว้ สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผน ซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก" แต่เดิมนั้นใช้ผู้ชายล้วนในการแสดงทั้งตัวพระและตัวนาง การได้รับคัดเลือกให้แสดงโขนในสมัยนั้น ถือเป็นความภาคภูมิใจต่อผู้ที่ได้ถูกรับคัดเลือก เนื่องจากโขนเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง และกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ผู้แสดงโขนในพระราชสำนักจะต้องเป็นพวกมหาดเล็ก ข้าราชการหรือบุตรหลานข้าราชการเท่านั้น[29]

ยุคเจริญรุ่งเรือง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายชั้นสูง ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เสนาอำมาตย์และผู้ว่าราชการเมือง เข้ารับการฝึกหัดโขนเพื่อเป็นการประดับเกียรติยศแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล และทรงโปรดให้หัดไว้เฉพาะแต่เพียงผู้ชายตามประเพณีดั้งเดิม ทำให้ผู้ที่ฝึกหัดโขน มีความคล่องแคล่วว่องไว สามารถใช้อาวุธต่าง ๆ ในการต่อสู้ได้อย่างชำนาญ รวมทั้งทรงโปรดให้มีการแต่งบทละครสำหรับแสดงโขนขึ้นอีกด้วย ทำให้เจ้านายชั้นสูง ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากต่างหัดโขนไว้ในคณะของตนเองหลากหลายคณะเช่น โขนของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และโขนของกรมพิทักษ์เทเวศร์ เป็นต้น และมีการประกวดแข่งขันประชันฝีมือ รวมทั้งได้มีการฝึกหัดโขนให้พวกลูกทาสและลูกหมู่[30]ซึ่งเป็นผู้ที่สังกัดกรมกองต่าง ๆ ตามวิธีควบคุมทหารแบบโบราณอีกด้วย ทำให้โขนในสมัยนั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ประทับ ณ พระราชวังสราญรมย์ ได้ทรงโปรดให้มีการฝึกหัดโขนขึ้นตามแบบโบราณ โดยมีชื่อคณะว่า "โขนสมัครเล่น" ทรงโปรดให้ยืมครูผู้ฝึกสอนจากเจ้าพระยาเทเวศ์วิวัฒน์ จำนวน 3 คน ได้แก่

  1. ขุนระบำภาษา (ทองใบ สุวรรณภารต) ต่อมาภายหลังได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์โดยลำดับจนถึงพระยาพรหมาภิบาล ทำหน้าที่เป็นครูยักษ์ ผู้ฝึกหัดสอนโขนในตัวยักษ์
  2. ขุนนัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ต่อมาภายหลังได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์โดยลำดับจนเป็นพระยาในราชทินนาม ทำหน้าที่เป็นครูพระและครูนาง ผู้ฝึกหัดสอนโขนในตัวพระและตัวนาง
  3. ขุนพำนักนัจนิกร (เพิ่ม สุครีวกะ) ต่อมาภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระดึกดำบรรพ์ประจง ทำหน้าที่เป็นครูลิง ผู้ฝึกหัดสอนโขนในตัวลิง

สำหรับผู้ที่เข้ารับการฝึกหัดโขนนั้น ล้วนเป็นผู้ที่ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดพระองค์มาโดยตลอดเช่น ลูกขุนนาง เจ้านายและมหาดเล็ก เป็นต้น โดยทรงฝึกหัดโขนด้วยความเอาพระทัยใส่เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งให้การสนับสนุนในการแสดงโขนมาโดยตลอด เคยนำออกแสดงในงานสำคัญสำคัญหลายครั้งเช่น งานเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2542) ดังความในสูจิบัตรที่แจกจ่ายในงาน ความว่า[31]

โขนโรงนี้ เรียกนามว่า 'โขนสมัครเล่น' เพราะผู้เล่นเล่นโดยความสมัครเอง ไม่ใช่ถูกกะเกณฑ์หรือเห็นแก่สินจ้าง มีความประสงค์แต่จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันและที่เป็นคนชั้นเดียวกัน มีความรื่นเริงและเพื่อจะได้ไม่ลืมว่า ศิลปะวิทยาการเล่นเต้นรำ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของฝรั่งจึงจะดูได้ ของโบราณของไทยเรามีอยู่ ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย โขนโรงนี้ได้เคยเล่นแต่ที่พระราชวังสราญรมย์เป็นพื้น แต่ครั้งนี้เห็นว่าผู้ที่เป็นนักเรียนนายร้อย ก็เป็นคนชั้นเดียวกัน และเป็นที่หวังอยู่ว่าจะเป็นกำลังของชาติเราต่อไป พวกโขนจึงมีความเต็มใจมาช่วยงาน เพื่อให้เป็นการครึกครื้น ถ้าแม้ว่าผู้ที่ดูรู้สึกว่าสนุกและแลเห็นอยู่ว่า การเล่นอย่างไทยแท้ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรดูอยู่แล้ว ผู้ที่ออกน้ำพักน้ำแรงเล่นให้ดูก็จะรู้สึกว่าได้รับความพอใจยิ่งกว่าได้สินจ้างอย่างใด ๆ ทั้งสิ้น

ยุคเสื่อมโทรม

หลังจากโขนที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุดในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เริ่มมีผู้ที่นำเอาโขนไปรับจ้างแสดงในงานต่าง ๆ เช่นงานศพหรืองานที่ไม่มีเกียรติเพียงเพื่อหวังค่าตอบแทน ทำให้โขนเริ่มถูกมองไปในทางที่ไม่ดี กลายเป็นการแสดงที่ไม่สมฐานะของผู้แสดง ไม่คำนึงถึงเกียรติยศของการแสดงศิลปะชั้นสูงที่ได้รับความนิยมยกย่อง เนื่องจากแต่เดิมนั้นโขนเป็นการแสดงที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี ใช้สำหรับแสดงในงานพระราชพิธีเท่านั้น ทำให้ความนิยมในโขนเริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายชั้นสูง ข้าราชการเสนาอำมาตย์มีละครหญิง ที่แต่เดิมมีเฉพาะพระมหากษัตริย์ได้ ดังพระราชปรารภว่า "มีละครด้วยกันหลายรายดี บ้านเมืองจะได้ครึกครื้น จะได้เป็นเกียรติยศแก่แผ่นดิน" ทำให้ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อการแสดงโขนในพระราชสำนักของเจ้านายชั้นสูงและขุนนางชั้นผู้ใหญ่

การแหวกม่านประเพณีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานอนุญาตให้มีละครหญิงได้นั้น ทำให้เจ้านายชั้นสูง เสนาอำมาตย์ขุนนางต่าง ๆ พากันเปลี่ยนแปลงเพศของผู้แสดงในสังกัดตนเองเป็นอย่างมาก ทำให้แต่เดิมโขนที่มีเฉพาะผู้ชายล้วนนั้น เริ่มมีการเล่นผสมผสานกับละครหญิง ที่ได้รับความนิยมแทนที่โขนอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้หัวหน้าคณะที่เคยฝึกหัดและทำนุบำรุงโขนไว้ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงการแสดงในสังกัดตนเอง บางรายก็มีโขนและละครหญิงควบคู่กันไป บางรายถึงกัยยกเลิกโขนในสังกัดและเปลี่ยนมาหัดละครหญิงเพียงอย่างเดียว ทำให้โขนค่อย ๆ สูญหายไป ยกเว้นบางสังกัดที่มีความนิยมชมชอบศิลปะไทยแบบโบราณเช่นโขน ที่ยังคงอนุรักษ์รักษาไว้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และโขนหลวงที่พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ไว้เท่านั้น รวมทั้งได้ก่อตั้งเป็นกรมโขนขึ้นก่อนจะยกเลิกไปในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ต่อมาภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว โขนที่เริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อมโทรมก็ยิ่งตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านของสภาพจิตใจผู้แสดงและในด้านของศิลปะวัตถุ[32] และในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดให้เลิกโรงมหรสพต่าง ๆ รวมทั้งโขน เนื่องจากมหรสพตต่าง ๆ นั้นเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังเป็นอย่างมาก และโอนงานทางด้านนาฏศิลป์และศิลปะ ให้อยู่ภายใต้สังกัดของกรมศิลปากร

ลักษณะบทโขน

บทเจรจาระหว่างทศกัณฐ์ที่รับสั่งให้กาลสูร ไปทูลเชิญอินทรชิตให้เร่งชุบศรพรหมาศเพื่อออกไปต่อสู้กับพระราม
noicon
ตัวอย่างบทเจรจาระหว่างทศกัณฐ์ที่รับสั่งให้กาลสูร ไปทูลเชิญอินทรชิตให้เร่งชุบศรพรหมาศเพื่อออกไปต่อสู้กับพระราม ในการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติตอน ศึกพรหมาศ บรรเลงโดยวงโยธวาทิต
  • หากไม่ได้ยินเสียง โปรดดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:วิธีใช้สื่อ
  • ในการแสดงโขน เมื่อเริ่มแสดงวงปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเป็นเพลงเปิด เมื่อจบเพลงจึงจะเริ่มการแสดง ดำเนินเรื่องโดยใช้คำพากย์และคำเจรจาเป็นหลัก การเล่นโขนแต่เดิมไม่มีบทร้องของผู้แสดงเหมือนละครใน ผู้แสดงทุกคนในสมัยโบราณต้องสวมหัวโขน ยกเว้นตัวตลกที่ใช้ใบหน้าจริงในการแสดง ทำให้ต้องมีผู้ทำหน้าที่สำหรับพากย์และเจรจาถ้อยคำต่าง ๆ แทนตัวผู้แสดง ผู้พากย์เสียงนั้นมีความสำคัญในการแสดงโขนเป็นอย่างมาก ต้องเรียนรู้และศึกษาทำความเข้าใจเรื่องราวและวิธีการแสดง จดจำคำพากย์และใช้ปฏิภาณไหวพริบในเชิงกาพย์ กลอน เพื่อสามารถเจรจาให้สอดคล้องถูกต้อง มีสัมผัสนอก สัมผัสในคล้องจองกับการแสดงของผู้แสดง

    ลักษณะบทโขนในสมัยโบราณ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ บทร้อง บทพากย์และบทเจรจา ซึ่งบทร้องนั้นเป็นการร้องกลอนบทละคร ใช้สำหรับแสดงโขนโรงในและโขนฉากเท่านั้น บทพากย์ใช้กาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง เมื่อพากย์จบหนึ่งบท ปี่พาทย์จะตีตะโพนท้าและตีกลองทัดต่อจากตะโพนสองที ผู้แสดงภายในโรงจะร้องรับว่า "เพ้ย" พร้อม ๆ กัน ซึ่งคำว่าเพ้ยนี่ สันนิษฐานว่าแต่เดิมนั้น มาจากคำว่า "เฮ้ย" ในการบัญชาศึกสงครามของแม่ทัพนายกอง ค่อย ๆ เพี้ยนเสียงจนกลายเป็นคำว่าเพ้ยในปัจจุบัน[33] สำหรับบทพากย์เป็นคำประพันธ์ชนิดกาพย์ฉบัง 16 หรือกาพย์ยานี 11 บท มีชื่อเรียกแตกต่างกัน วิธีพากย์บทโขนในการแสดง แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ดังนี้[34][35]

    • การพากย์เมืองหรือพากย์พลับพลา

    ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงตัวเอก หรือผู้แสดงออกท้องพระโรงหรือออกพลับพลา เช่น ทศกัณฐ์ พระรามหรือพระลักษมณ์เสด็จออกประทับในปราสาทหรือพลับพลา โดยมีตัวอย่างบทพากย์กาพย์ฉบัง 16 ตอนเช่น พระรามเสด็จออกพลับพลา รับการเข้าเฝ้าของพิเภก สุครีพ หนุมานและเหล่าเสนาลิง

    "ครั้นรุ่งแสงสุริยโอภา พุ่งพ้นเวหา
    คิรียอดยุคันธร
    สมเด็จพระหริวงศ์ทรงศร ฤทธิ์เลื่องลือขจร
    สะท้อนทั้งไตรโลกา
    เสด็จออกนั่งหน้าพลับพลา พร้อมด้วยเสนา
    ศิโรตมก้มกราบกราน
    พิเภกสุครีพหนุมาน นอบน้อมทูลสาร
    สดับคดีโดยถวิล"
    บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
    • การพากย์รถหรือพากย์พาหนะ

    ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงเอ่ยชมพาหนะและการจัดกระบวนทัพเช่น รถ ม้า ช้าง หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นพาหนะ หรือใช้พากย์เวลาผู้แสดงตัวเองทรงพาหนะตลอดจนชมไพร่พล โดยมีตัวอย่างบทพากย์กาพย์ฉบัง 16 เช่น พระราม พระลักษมณ์ ทรงราชรถออกทำศึกกับทศกัณฐ์และเหล่าเสนายักษ์

    "เสด็จทรงรถเพชรเพชรพราย พรายแสงแสงฉาย
    จำรูญจำรัสรัศมี
    อำไพไพโรจน์รูจี สีหราชราชสีห์
    ชักรชรถรถทรง
    ดุมหันหันเวียนวง กึกก้องก้องดง
    เสทือนทั้งไพรไพรวัน
    ยักษาสารถีโลทัน เหยียบยืนยืนยัน
    ก่งศรจะแผลแผลงผลาญ"
    บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
    • การพากย์โอ้หรือการพากย์รำพัน

    ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงมีอาการเศร้าโศกเสียใจ รำพันคร่ำครวญถึงคนรัก เริ่มทำนองตอนต้นเป็นการพากย์ ตอนท้ายเป็นทำนองการร้องเพลงโอ้ปี่ ซึ่งการพากย์ประเภทนี้จะให้ปี่พาทย์เป็นผู้รับเมื่อสิ้นสุดการพากย์หนึ่งบท มีความแตกต่างจากการพากย์ประเภทอื่นตรงที่มีเครื่องดนตรีรับ ก่อนที่ลูกคู่จะร้องรับว่าเพ้ย โดยมีตัวอย่างบทพากย์ยานี 11 เช่น พระรามโศกเศร้ารำพันถึงนางสีดา ที่เป็นนางเบญจกายแปลงมาตามคำสั่งทศกัณฐ์ เพื่อให้พระรามเข้าใจว่านางสีดาตาย

    "อนิจจาเจ้าเพื่อนไร้ มาบรรลัยอยู่เอองค์
    พี่จะได้สิ่งใดปอง พระศพน้องในหิมวา
    จะเชิญศพพระเยาวเรศ เข้ายังนิเวศน์อยุธยา
    ทั้งพระญาติวงศา จะพิโรธพิไรเรียม
    ว่าพี่พามาเสียชนม์ ในกมลให้ตรมเกรียม
    จะเกลี่ยทรายขึ้นทำเทียม ต่างแท่นทิพบรรทม
    จะอุ้มองค์ขึ้นต่างโกศ เอาพระโอษฐ์มาระงม
    ต่างเสียงพระสนม อันร่ำร้องประจำเวร"
    บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
    • การพากย์ชมดง

    ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงชมสภาพภูมิประเทศ ป่าเขา ลำเนาไพรและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ เริ่มทำนองตอนต้นเป็นทำนองร้องเพลงชมดงใน ตอนท้ายเป็นทำนองการพากย์ธรรมดา โดยมีตัวอย่างบทพากย์ฉบัง 16 เช่น พระราม พระลักษมณ์และนางสีดา เอ่ยชมสภาพป่าที่มีความสวยงาม หลังจากออกจากเมืองเพื่อบวชเป็นฤษีในป่า

    "เค้าโมงจับโมงมองเมียง คู่เค้าโมงเคียง
    เคียงคู่อยู่ปลายไม้โมง
    ลางลิงลิงเหนี่ยวลดาโยง ค่อยยุดฉุดโชลง
    โลดไล่ในกลางลางลิง
    ชิงชังนกชิงกันสิง รังใครใครชิง
    ชิงกันจับต้นชิงชัน
    นกยูงจับพยูงยืนยัน แผ่หางเหียนหัน
    หันเหยีบเลียบไต่ไม้พยูง"
    บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
    • การพากย์บรรยาย

    ใช้สำหรับพากย์เวลาบรรยายความเป็นมาของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นบริบทการขยายความเป็นมาเป็นไปของสิ่งของนั้น ๆ หรือใช้สำหรับพากย์รำพึงรำพันใด ๆ โดยมีตัวอย่างบทพากย์ฉบัง 16 เช่น การพากย์บรรยายตำนานรัตนธนู คันศรที่พระวิศวกรรมสร้างถวายพระนารายณ์ตอนอวตารมาเป็นพระราม

    "เดิมทีธนูรัตน วรฤทธิเกรียงไกร
    องค์วิศวะกรรมไซร้ ประดิษฐะสองถวาย
    คันหนึ่งพระวิษณุ สุรราชะนารายณ์
    คันหนึ่งนำทูลถวาย ศิวะเทวะเทวัน
    ครั้นเมื่อมุนีทัก- ษะประชาบดีนั้น
    กอบกิจจะการยัญ- ญะพลีสุเทวา
    ไม่เชิญมหาเทพ ธ ก็แสนจะโกรธา
    กุมแสงธนูคลา ณ พิธีพลีกรณ์"
    บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
    • การพากย์เบ็ดเตล็ด

    ใช้สำหรับพากย์ใช้ในโอกาสทั่ว ๆ ไปในการแสดง เป็นการพากย์เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่จัดอยู่ในการพากย์ประเภทใด รวมทั้งการเอ่ยกล่าวถึงใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหนหรือพูดกับใคร โดยมีตัวอย่างบทพากย์ฉบัง 16 เช่น พระรามสั่งให้หนุมาน องคตและชมพูพาน ไปสืบเรื่องของนางสีดาที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป และมอบธำมงค์และภูษาไปให้เพื่อเป็นการทดสอบจิตใจของนางสีดาเมื่อได้เห็นสิ่งของดังกล่าว

    "ภูวกวักเรียกหนุมานมา ตรัสสั่งกิจจา
    ให้แจ้งประจักษ์ใจจง
    แล้วถอดจักรรัตน์ธำมรงค์ กับผ้าร้อยองค์
    ยุพินทรให้นำไป
    ผิวนางยังแหนงน้ำใจ จงแนะความใน
    มิถิลราชพารา
    อันปรากฏจริงใจมา เมื่อตาต่อตา
    ประจวบบนบัญชรไชย"
    บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2

    สำหรับบทเจรจานั้น แตกต่างจากบทร้องและบทพากย์ตรงที่เป็นบทกวีแบบร่ายยาว มีการส่งและรับคำสัมผัสอย่างต่อเนื่อง ใช้ถ้อยคำสละสลวย คล้องจอง มีสัมผัสนอกสัมผัสใน บทเจรจาในการแสดงโขนเป็นบทที่คิดขึ้นในขณะแสดง เป็นความสามารถและไหวพริบปฏิภาณเฉพาะตัวของผู้เจรจา ใช้ผู้ชายเป็นผู้ให้เสียงไม่ต่ำกว่าสองคน เพื่อทำหน้าที่ทั้งพากย์และเจรจา บางครั้งมีการเหน็บแนมเสียดสีโต้ตอบระหว่างกัน ถ้าในการแสดงโขนมีบทร้อง ผู้พากย์และเจรจาจะต้องทำหน้าที่บอกบทให้แก่ผู้แสดงอีกด้วย[36]เช่น ตัวอย่างการเจรจาระหว่างหนุมาน ที่อาสาพระรามไปเป็นไส้ศึกลอบเข้าไปชิงเอาดวงใจทศกัณฐ์ และได้รับการแต่งตั้งและพระราชทานยศศักดิ์จากทศกัณฐ์ให้อย่างสมเกียรติ ยกทัพเสนายักษ์และเขนยักษ์ออกมาเผชิญหน้ากับพระลักษมณ์ว่า[37]

    หน่อยแน่พระลักษมณ์ อย่ามาพักพูดดี ตีประจบกลบเนื้อความ พระรามพี่เจ้าซิร้าย เจ้าเป็นน้องชายอย่ามาพูดแก้ตัว ใครเล่าเขาจะรักชั่วหามเสาไปสักกี่คน เราสู้เงือดงดอดทน กลืนเปรี้ยวเคี้ยวจดเข็ดฟัน จึงหวนจิตคิดบากบั่นมาเข้าด้วยเจ้าลงกา ออกศึกอาสาทำราชการ ท่านโปรดประทานเราสารพัด ทั้งเศวตฉัตรและพัดวาลชินี ได้กินทั้งพานพระศรีขี่รถมณีนพรัตน์ มีเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์ทุกสิ่งพร้อมเป็นจอมจัตุรงค์ เครื่องต้นเครื่องทรงมงกุฎทองฉลองพระบาท ถือศรศาสตร์อาชญาสิทธิ์ ว่าที่ลูกเธอเสมอด้วยอินทรชิตเป็นสิทธิ์ขาด เทียบตำแหน่งมหาอุปราชผู้เรืองยศ ทรงมอบสมบัติให้เราหมดทั้งลงกา เมื่ออยู่ในพลับพลาได้แต่ผ้าชุบอาบเหม็นสาบเต็มทน ก็เพราะความจนขมขื่นกลืนกิน เขารู้รสเสียหมดสิ้นแล้วนะพระลักษมณ์

    บทละครสำหรับแสดงโขน

    บทละครเรื่องรามเกียรติ์ แปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาฝรั่งเศส

    บทละครที่ใช้สำหรับประกอบการแสดงโขน ปัจจุบันใช้รามเกียรติ์เพียงเรื่องเดียว เป็นบทละครที่มีสำนวนหลากหลายภาษาเช่น ภาษาไทย ภาษาชวา ภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต เป็นต้นกำเนิดของรามเกียรติ์หรือรามายณะเมื่อหลายพันปีก่อน แต่งโดยฤๅษีวาลมิกิ ชาวอินเดียในสมัยโบราณให้ความเคารพนับถือบทละครเรื่องรามเกียรติ์ เชื่อกันว่าหากได้อ่านหรือฟังจะสามารถลบล้างบาปและความผิดที่ได้กระทำไว้

    รามเกียรติ์เป็นเรื่องราวของพระนารายณ์ที่อวตารมาเกิดเป็นพระราม เพื่อปราบนนทกหรือทศกัณฐ์ดั่งวาจาที่ไว้ให้ตอนพระนาราย์ปราบนนทก ด้วยการให้นนทกมาเกิดเป็นพญายักษ์ มีสิบเศียรสิบกร มีฤทธิ์มากมาย ส่วนตนจะมาเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดาเพื่อตามปราบให้สิ้นซาก สงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์เริ่มต้นขึ้น ภายหลังจากทศกัณฐ์เกิดหลงรักนางสีดา มเหสีของพระราม จึงลักพาตัวมาไว้ที่กรุงลงกาเพื่อให้เป็นมเหสีของตนเอง พระรามและพระลักษมณ์ซึ่งเป็นพระอนุชาที่ติดตามออกผนวชในป่า ได้ออกติดตามเพื่อชิงตัวนางสีดากลับคืน ระหว่างทางพบกับพาลี สุครีพ ท้าวมหาชมพูและชมพูพาน รวมทั้งได้กองทัพลิงมาเป็นบริวาร มีหนุมานเป็นทหารเอก ร่วมทำศึกกับทศกัณฐ์จนกระทั่งได้รับชัยชนะ[38]

    รามเกียรติ์ตามแบบฉบับของไทย แต่งเป็นบทละครสำหรับแสดงเป็นตอน ๆ หรือแสดงทั้งเรื่อง ใช้สำหรับแสดงโขน หนังใหญ่และละคร แต่งขึ้นหลายยุคหลายสมัย ดังนี้

    บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงศรีอยุธยา

    รามเกียรติ์คำฉันท์ เป็นบทละครที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยใด แต่งขึ้นสำหรับใช้ในการแสดงหนังใหญ่ จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ที่มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับโขน ทำให้สามารถระบุได้ว่าการแสดงโขนนั้น ต้องมีมาแต่ก่อนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปัจจุบันต้นฉบับคำฉันท์สูญหายไปเกือบหมดตามกาลเวลา มีการกล่าวถึงในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดีเพียง 3 - 4 บทเท่านั้นคือ บทละครตอนพระอินทร์สั่งให้พระมาตุลีนำราชรถมาถวายยังสนามรบ บทละครตอนพระรามโศกเศร้าเสียใจ รำพันคร่ำครวญเมื่อคราวที่ทศกัณฐ์ลักพาตัวนางสีดา บทละครแบบพรรณาตอนมหาบาศบุตรของทศกัณฐ์ และบทละครตอนพิเภกคร่ำครวญหลังทศกัณฐ์ล้ม

    รามเกียรติ์คำพากย์ เป็นบทละครที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ทำการแบ่งตีพิมพ์ไว้เป็นภาค ๆ เป็นการดำเนินเรื่องติดต่อกันตั้งแต่ภาค 2 ตอนสีดาหาย จนถึงภาค 9 ตอนกุมภกรรณล้ม รูปแบบการแต่งเป็นบทพากย์ที่ค่อนข้างยาวและสั้น แต่เดิมใช้พากทย์สำหรับเล่นหนังใหญ่ ภายหลังนำมาใช้ประกอบในการเล่นโขนด้วย นอกจากรามเกียรติ์คำฉันท์และรามเกียรติ์คำพากย์แล้ว ยังมีบทละครนิราศสีดาหรือราชาพิลาป ที่พระโหราธิบดีคัดลอกนำมาใส่ในหนังสือจินดามณีหลายบท สำหรับบทละครนิราศสีดานี้ ทางกรมศิลปากรเคยตีพิมพ์นำเสนอเผยแพร่แล้วครั้งหนึ่งในหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ 49 ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 120[39]

    บทละครรามเกียรติ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีบางสำนวนกล่าวถึงตอนพระรามประชุมพลจนถึงตอนองคตสื่อสาร เป็นบทละครที่ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับบทละครรามเกียรติ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พบว่าเนื้อความบางตอนไม่ตรงกัน ถ้อยคำต่าง ๆ ดูไม่เหมาะสม จึงเข้าใจว่าบทละครดังกล่าวเป็นบทละครรามเกียรติ์ฉบับเชลยศักดิ์ ที่มีผู้คัดลอกไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา[40]

    บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงธนบุรี

    บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงธนบุรี เป็นบทละครที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชนิพนธ์ไว้เพียง 4 ตอนเท่านั้น ปรากฏหลักฐานในการแต่งในสมุดไทยดำ โดยทรงพระราชนิพนธ์บทละครไม่เรียงตามลำดับก่อนหลังของเนื้อเรื่องคือ บทละครเล่ม 1 ตอนพระมงกุฎ บทละครเล่ม 2 ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินทร์ จนถึงท้าวมาลีวราชเสด็จมา บทละครเล่ม 3 ตอนท้าวมาลีวราชว่าความจนถึงทศกัณฐ์เข้าเมืองและตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด บทละครเล่ม 4 ตอนพระลักษมณ์ต้องหอกกบิลพัทจนถึงหนุมานผูกผมนางมณโฑกับทศกัณฐ์[41]

    บทละครรามเกียรติ์สมัยรัตนโกสินทร์

    บทละครรามเกียรติ์ เป็นบทละครในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ที่ทรงมีพระราชประสงค์จะรวบรวมบทละครรามเกียรติ์ทั้งหมดให้เป็นเรื่องเดียวกัน โปรดให้มีการประชุมบทละครเรื่องรามเกียรติ์และพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง เป็นบทละครที่มีความยาวมากที่สุดในรามเกียรติ์ทุกเรื่องในภาษาไทย เป็นวรรณคดีเขียนในสมุดไทย 117 เล่มสมุดไทย คำนวณข้อความต่าง ๆ ในบทละครเป็นคำกลอนได้ประมาณ 50,286 คำกลอน[42] ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเห็นว่าบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 มีความเยิ่นเย้อและยาวเกินไป ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ประกอบการเล่นโขน จึงทรงคัดเลือกเพียงบางตอนคือ บทละครตั้งแต่หนุมานถวายแหวนแก่นางสีดาจนถึงทศกัณฐ์ล้ม นำมาพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ใช้สำหรับเล่นโขนในพระราชสำนัก บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 2 เป็นหนังสือ 36 เล่มสมุดไทย เป็นคำกลอนประมาณ 14,300 คำกลอน[43]

    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์เพิ่มอีกหนึ่งสำนวนคือ ตอนพระรามเดินดง เป็นหนังสือ 4 เล่มสมุดไทย นอกจากนั้นยังทรงพระราชนิพนธ์แปลงบทละครเบิกโรงเรื่องนารายณ์ปราบนนทกและพระรามเข้าสวนพระพิราพเพิ่มขึ้นอีก 2 ตอน รวมทั้งมีการปรับปรุงบทละครเรื่องรามเกียรติ์อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ขึ้นใหม่สำหรับเล่นโขนขึ้นมีทั้งหมด 10 ชุดคือ ชุดสีดาหาย ชุดเผาลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกา ชุดนาคบาศ ชุดอภิเษกสมรส ชุดนางลอย ชุดพิธีกุมภนียาและชุดพรหมาสตร์ โดยทรงศึกษาค้นคว้าที่มาของเรื่องรามเกียรติ์จากคัมภีร์รามายณะ

    นอกจากนั้นยังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ขึ้น โดยทรงชี้แจงไว้ในหนังสือความว่า "บทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่รวมอยู่ในเล่มนี้ เป็นบทที่ข้าพเจ้าได้แต่งขึ้นเป็นครั้งคราวสำหรับเล่นโขน มิได้ตั้งใจที่จะให้เป็นหนังสือกวีนิพนธ์สำหรับอ่านเพราะ ๆ หรือดำเนินเรื่องราวติดต่อกัน บทเหล่านี้ได้แต่งขึ้นสำหรับความสะดวกในการเล่นโขนโดยแท้ จึงมีทั้งคำกลอนอันเป็นบทร้อง ทั้งบทพากย์ และเจรจาอย่างโขนระคนกันอยู่ ตามแต่จะเหมาะแก่การเล่นออกโรงจริง"[44] และมีการพัฒนาบทละครเรื่องมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมศิลปากรได้ทำการรื้อฟื้น ปรับปรุงนาฏศิลป์ ละครและดุริยางคศิลป์ของไทยขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในการรื้อฟื้นครั้งนี้ได้นำบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 มาปรับปรุงเพื่อใช้สำหรับแสดงโขนให้ประชาชนได้ชม ต่อมาภายหลังได้ปรับปรุงบทโขนตอนหนุมานอาสาขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งเรื่อง เป็นการดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 เรียบเรียงให้มีทั้งบทขับร้องตามแบบละครใน มีบทพากย์บทเจรจาตามแบบการแสดงโขนแต่โบราณเช่น ชุดปราบนางกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ฯลฯ

    การคัดเลือกและฝึกหัดโขน

    ในการคัดเลือกผู้แสดงและฝึกหัดโขน แต่เดิมจะใช้นักเรียนชายทั้งหมดตามแบบประเพณีโบราณ อาจารย์ผู้ทำการฝึกหัดจะทำการคัดเลือกผู้แสดงที่จะหัดเป็นตัวละครต่าง ๆ เช่น พระราม นางสีดา หนุมาน ทศกัณฐ์ เป็นต้น ตามปกติในการแสดงโขน จะประกอบด้วยตัวละครที่มีลักษณะแตกต่างกัน 4 จำพวกได้แก่

    • ตัวพระ
    • ตัวนาง
    • ตัวยักษ์
    • ตัวลิง

    ซึ่งตัวโขนแต่ละจำพวกนี้ ผู้ฝึกหัดจะต้องมีลักษณะรูปร่างเฉพาะเหมาะสมกับตัวละคร มีการใช้สรีระร่างกาย และท่วงท่ากิริยาเยื้องย่างในการร่ายรำ การแสดงท่าทางประกอบการพากย์ การแต่งกายและเครื่องประดับที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนี้

    ตัวละครในการแสดงโขน

    ตัวพระและตัวนาง ที่คัดเลือกจากผู้ที่มีลักษณะเหมาะสม ต้องตามวรรณคดีไทย
    ตัวพระ

    การคัดเลือกตัวพระสำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ที่ลักษณะใบหน้ารูปไข่ สวยงาม คมคายเด่นสะดุดตา ท่าทางสะโอดสะองและผึ่งผาย ลำคอระหง ไหล่ลาดตรง ช่วงอกใหญ่ ขนาดลำตัวเรียว เอวเล็กกิ่วคอดตามลักษณะชายงามในวรรณคดีไทยเช่น พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ พระลอ สังคามาระตา ฯลฯ สวมพระมหามงกุฏหรือมงกุฎยอดชัย ห้อยดอกไม้เพชรด้านขวา สำหรับการแสดงโขนที่มีตัวละครเอกที่เป็นตัวพระ 2 ตัวหรือมากกว่านั้น และมีบทบาทในการแสดงสำคัญเท่า ๆ กัน แบ่งเป็นพระใหญ่หรือพระน้อย ซึ่งพระใหญ่ในการแสดงโขนหมายถึงพระเอก มีบุคลิกลักษณะเหนือกว่าพระน้อย[45] เช่น ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ พระรามเป็นพระใหญ่ และพระลักษมณ์เป็นพระน้อย หรือตอนพระรามครองเมือง พระรามเป็นพระใหญ่ พระลักษมณ์ พระพรตและพระสัตรุตเป็นพระน้อย เป็นต้น

    ตัวนาง

    การคัดเลือกตัวนางสำหรับการแสดง ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครที่เป็นตัวนางนั้นมีเป็นจำนวนมากเช่น เป็นมนุษย์ได้แก่ นางสีดา นางมณโฑ นางไกยเกษี นางเกาสุริยา เป็นเทพหรือนางอัปสรได้แก่ พระอุมา พระลักษมี เป็นกึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์ได้แก่ นางสุพรรณมัจฉา นางกาลอัคคีนาคราช นางองนค์นาคี และเป็นยักษ์ซึ่งในที่นี้หมายถึงยักษ์ที่มีลักษณะรูปร่างเหมือนกับตัวนางทั่วไป ไม่ได้มีรูปร่างและใบหน้าเหมือนกับยักษ์ได้แก่ นางเบญจกาย นางตรีชฏา นางสุวรรณกันยุมา และยักษ์ที่มีลักษณะใบหน้าเหมือนยักษ์แต่สวมหัวโขนได้แก่ นางสำมะนักขา อากาศตะไล ฯลฯ ซึ่งตัวละครเหล่านั้นสามารถบ่งบอกชาติกำเนิดของตนเองได้ จากสัญลักษณ์ของการแต่งกายและเครื่องประดับ[46]

    สำหรับตัวนางนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์และนางตลาด ซึ่งนางกษัตริย์จะคัดเลือกจากผู้ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวพระ สวมมงกุฏ ห้อยดอกไม้เพชรด้านซ้าย กิริยามารยาทเรียบร้อย สุภาพ นุ่มนวลอ่อนหวานตามลักษณะหญิงงามในวรรณคดีเช่นกัน ยามแสดงอาการโศกเศร้าหรือยิ้มแย้มดีใจ ก็จะกรีดกรายนิ้วมือแต่เพียงพองาม ส่วนนางตลาดนั้นจะคัดเลือกจากผู้ที่มีท่าทางกระฉับกระเฉง คล่องแคล่วว่องไว มีจริต สามารถแสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

    ตัวยักษ์

    การคัดเลือกตัวยักษ์สำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ที่มีลักษณะคล้ายกับตัวพระ รูปร่างสูงใหญ่[47] วงเหลี่ยมของผู้แสดงเป็นตัวยักษ์ตลอดจนถึงการทรงตัวต้องดูแข็งแรง กิริยาท่าทางการเยื้องย่างแลดูสง่างาม โดยเฉพาะผู้แสดงเป็นทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องรามเกียรติ์ จะฝึกหัดเป็นพิเศษเพราะถือกันว่าหัดยากกว่าตัวอื่น ๆ ต้องมีความแข็งแรงของช่วงขาเป็นอย่างมาก เนื่องจากในการแสดงจะต้องย่อเหลี่ยมรับการขึ้นลอยของตัวพระและตัวลิง[48] ทศกัณฐ์เป็นตัวละครที่มีท่วงท่าลีลามากมายเช่น ยามโกรธเกรี้ยวจะกระทืบเท้าตึงตังเสียงดังโครมคราม หันหน้าหันหลังแสดงอารมณ์ด้วยกิริยาท่าทาง ยามสบายใจหรือดีใจ ก็จะนั่งกระดิกแขนกระดิกขา เป็นต้น[49]

    ยามแสดงความรักด้วยลีลาท่าทางกรุ้มกริ้มหรือเขินอาย ก็จะแสดงกิริยาในแบบฉบับของยักษ์เช่น ตอนทศกัณฐ์สำคัญผิดคิดว่านางเบญกาย ซึ่งแปลงเป็นนางสีดามาเข้าเฝ้าในท้องพระโรง จึงออกไปเกี้ยวพาราสีนางสีดาแปลง จนกลายเป็นที่ขบขันของเหล่านางกำนัล กิริยาท่าทางของทศกัณฐ์ยามขวยเขิน จะแสดงลีลาด้วยการส่ายไหล่ ปัดภูษาเครื่องทรงและชายไหวชายแครง มีท่าทางเก้อเขินอย่างเห็นได้ชัด ประกบฝ่ามือบริเวณอก ถูไปมาแล้วปัดใบหน้า กิริยาท่าทางของทศกัณฐ์ในตอนนี้ จะใช้ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ศีรษะ ลำคอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไหล่และลำตัว ซึ่งเป็นการแสดงท่ารำที่ขัดกับบุคลิกที่สง่าของทศกัณฐ์เป็นอย่างมาก[49]

    ตัวลิง

    การคัดเลือกตัวลิงสำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ที่มีลักษณะท่าทางไม่สูงมากนัก กิริยาท่าทางคล่องแคล่วว่องไวตามแบบฉบับของลิง มีการดัดโครงสร้างของร่างกายให้อ่อน ซึ่งลีลาท่าทางของตัวลิงนั้นจะไม่อยู่นิ่งกับที่ ตีลังกาลุกลี้ลุกลนตามธรรมชาติของลิง สำหรับผู้ที่จะหัดเป็นตัวลิงนั้น ตามธรรมเนียมโบราณมักเป็นผู้ชาย โดยเริ่มหัดตั้งแต่อายุ 8-12 ขวบ เป็นต้น ในอดีตจะมีการฝึกเฉพาะเด็กผู้ชาย ปัจจุบันวิทยาลัยนาฏศิลป์ได้เริ่มให้มีการคัดเลือกเด็กผู้หญิง เข้ารับการฝึกเป็นตัวลิงแล้ว เรียกว่า "โขนผู้หญิง" ในการการฝึกตัวลิงให้สามารถแสดงเป็นตัวเอกได้ดีนั้น จะต้องใช้เวลา 10 ปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย[50]

    ในการฝึกท่าพื้นฐานในการหัดเป็นตัวลิง ผู้แสดงจะต้องฝึกความแข็งแกร่งและความอดทนของร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเริ่มหัดเทคนิคกระบวนท่าพื้นฐานธรรมดาเป็นระยะเวลา 2 ปี และเริ่มพัฒนาในการฝึกเทคนิคกระบวนท่าเฉพาะอีก 5 ปี[51] ปัจจุบันในการแสดงโขน ผู้แสดงเป็นตัวลิงเช่นหนุมาน องคต ชมพูพาน จะมีการแต่งเติมเทคนิคลีลาเฉพาะตัวของลิงเพิ่มเติมเข้าไปด้วย เพื่อเป็นการแสดงออกถึงลักษณะท่าทางเฉพาะของลิง

    การฝึกหัดโขน

    ตัวลิง ที่มีการฝึกเฉพาะเพื่อให้มีทักษะคล่องแคล่วว่องไว โลดโผดตามธรรมชาติของลิง

    ซึ่งการฝึกหัดโขนนั้น ผู้ฝึกหัดโขนทุกคนจะต้องนุ่งโจงกระเบนสีแดงสวมเสื้อขาว เนื่องจากเป็นกฎระเบียบข้อบังคับ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการฝึกหัดนาฎศิลป์ภายในวังสวนกุหลาบ โดยอาจารย์ลมุล ยมะคุป ข้าหลวงในวังสวนกุหลาบเป็นผู้กำหนดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 เนื่องจากมีราคาไม่แพง และสามารถควบคุมผู้ฝึกหัดให้เป็นหมวดหมู่ได้อย่างง่าย[52] เมื่อคัดเลือกผู้แสดงได้แล้วจะเริ่มฝึกหัดโขนขั้นพื้นฐาน ดังนี้

    การนั่ง

    เป็นการหัดโดยนั่งพับเพียบ เอวและไหล่ตึงแลดูสง่างาม มีการดัดปลายนิ้วและช่วงแขนให้งอนงาม ตัวพระ ตัวยักษ์และตัวลิงจะหัดนั่งพับเพียบและแบะเข่าออก ต่างจากตัวนางที่หัดนั่งพับเพียบ หนีบหน้าขาซ้อนทับกันลดหลั่นกันไป รวมทั้งมีการดัดร่างกาย แขนขาในกิริยาท่าทางต่าง ๆ เช่น ดัดแขนและข้อมือ ดัดหลัง การเดิน การย่างก้าวและการยกเท้า เป็นต้น[53]

    การฝึกรำและท่องจำจังหวะ

    ภายหลังจากผู้แสดงฝึกหัดขั้นพื้นฐานแล้ว จะเป็นการฝึกหัดให้ท่องจังหวะและฝึกรำหน้าทับประกอบเพลงช้าและเพลงเร็ว ฝึกให้ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์และตัวลิง หัดรำแม่บทและแม่ท่า รำตีบทหรือรำตามบท รำหน้าพาทย์ รำอาวุธและรำเบ็ดเตล็ด ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการหัดให้ผู้แสดงฝึกหัดใช้โสตประสาทของตนเอง ให้เรียนรู้จักจังหวะได้อย่างถูกต้องและมีความงดงามตามแบบฉบับของภาษานาฏศิลป์ นอกจากนั้นยังมีการฝึกท่ารำตัวยักษ์และตัวลิงอีกด้วย โดยเฉพาะการฝึกแม่ท่าของตัวลิง มีการฝึกด้วยกันทั้งหมด 7 แม่ท่า และตัวยักษ์ 6 แม่ท่า[54]

    ซึ่งแม่ท่าดังกล่าว เป็นแม่ท่าสำคัญที่ตัวลิงและตัวยักษ์จะใช้ตอนออกกราวนอก หรือใช้ในการแสดงในโอกาสต่าง ๆ นอกจากแม่ท่าที่สำคัญแล้ว ตัวลิงจะฝึกท่ามองในท่าเสี้ยว ท่าคว้า ท่าขู่ ท่าหย่อง ท่าเกา ซึ่งแยกออกเป็นท่าเกาต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมากเช่น เกาคาง เกาหัวเข่า เกาเอว จับหมัด ดมแมลง เป็นต้น ตัวยักษ์จะฝึกท่ารบหนึ่งหรือท่าจับ ท่ารบสองหรือเรียกกันในวงการนาฏศิลป์ว่า "สามทีไขว้" ท่าหกกัด ท่าหกฉีก-หกฉีกต่อเนื่อง และท่าขึ้นลอยหรือท่าลอยระหว่างตัวลิงและตัวพระ

    การฝึกตบเข่า ถีบเหลี่ยม ถองสะเอว ฉีกขา หกคะเมนและเต้นเสา

    ในการฝึกหัดระยะแรก ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์และตัวลิง จะฝึกหัดร่วมกันคือฝึกตบเข่า ถองสะเอวและเต้นเสา เพื่อให้รู้จักจังหวะและเคยชินกับเสียงดนตรี ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการฝึกนาฎศิลป์ไทย เรียนรู้การยักเยื้องลำตัว ยักหน้า ยักคอ ยักไหล่ได้อย่างคล่องแคล่ว โดยมีกลองให้จังหวะออกเสียง มีกำลังขาคงที่ ฝึกกระทืบเท้าให้หนักแน่น ฝึกเต้นตามจังหวะ[55] ซึ่งการเต้นตามจังหวะนั้นเรียกว่า "ตะลึกตึก" ที่เป็นศัพท์เฉพาะทางวิชาการของโขน การเต้นตะลึกตึกคือการย่อเข่าทั้งสองข้างลงให้เป็นมุมฉาก ใช้เท้าขวายกกระทืบลงกับพื้น 1 ครั้ง วางเท้าอยู่กับที่ ใช้เท้าซ้ายยกลงกระทืบลงกับพื้น 1 ครั้ง แล้ววางอยู่กับที่ โดยการเต้นนั้น ผู้แสดงจะใช้เท้าขวาหรือซ้ายยกกระทืบพื้นก่อนก็ได้[56]

    การฝึกเต้นเสานั้น เป็นการหัดให้ผู้แสดงตัวพระ ตัวยักษ์และตัวลิงยกเว้นเฉพาะตัวนาง ใช้จังหวะเท้าในการเต้นให้มีความสม่ำเสมอ มีกำลังขาแข็งแรง กระทืบฝ่าเท้าทุกส่วนลงกับพื้นโดยพร้อมเพรียงและมีน้ำหนักเท่า ๆ กัน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการฝึกหัดโขน การเต้นเสาจะต้องยกขาและดึงส้นเท้าให้สูง เกร็งหน้าขา ยกสลับขาซ้ายและขวาตามจังหวะ และเมื่ออาจารย์ผู้ฝึกสอนสั่งให้หยุด ผู้ฝึกหัดจะต้องจบด้วยท่านิ่ง ลักษณะร่างกายและศีรษะต้องตั้งตรง ขาตั้งให้ได้เหลี่ยม รวมทั้งมีการฝึกถีบเหลี่ยม เป็นการคัดส่วนขาให้สามารถตั้งเหลี่ยมได้ฉากและมั่นคง ทำให้ผู้แสดงเมื่อย่อเหลี่ยมจะมีทรวดทรงที่สวยงามตามลักษณะประเภทของตัวโขน หัดบังคับและควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ให้อยู่ในท่าที่ต้องการ ฝึกขา แขน และอกให้อยู่ในระดับคงที่

    นอกจากนั้นจะเป็นการฝึกเฉพาะสำหรับผู้ที่แสดงเป็นตัวลิงคือ ฝึกฉีกขา หกคะเมนตีลังกา ม้วนหน้าม้วนหลัง พุ่งม้วนสามตัว ตีลังกาหน้าและหลัง เพื่อให้มีทักษะคล่องแคล่วว่องไว โลดโผดตามธรรมชาติของลิงที่ไม่อยู่นิ่ง โดยมีท่าหกคะเมนที่ใช้ในการฝึก 3 ท่าคือ[57]

    • ท่าหกคะเมนหงายตัวไปด้านหลัง เรียกว่า "ตีลังกาหกม้วน"
    • ท่าหกคะเมนหงายตัวไปด้านหนั เรียกว่า "อันธพา"
    • ท่าหกคะเมนหมุนตัวไปข้าง ๆ เรียกว่า "พาสุริน"

    หลังจากคัดเลือกผู้แสดงแล้ว อาจารย์ผู้ฝึกสอนจะทำพิธีไหว้ครูและรับตัวผู้แสดงทั้งหมดเข้าเป็นศิษย์ในวันพฤหัสบดีที่ทางนาฎศิลป์ไทยถือเป็นวันครู โดยผู้แสดงจะนำดอกไม้ธูปเทียน เป็นเครื่องสักการะแก่อาจารย์ผู้ฝึกสอน และเป็นการทำความเคารพต่อครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว

    เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ

    เครื่องแต่งกายมัยราพณ์ ประกอบด้วยศิราภรณ์ ภูษาภรณ์และถนิมพิมพาภรณ์ตามแต่ฐานะของตัวละคร
    เครื่องแต่งกายทศกัณฐ์ จำลองเลียนแบบจากเครื่องทรงต้นของพระมหากษัตริย์แบบโบราณ สวมเกราะสายคาดอก มงกุฏยอดสามชั้น

    เครื่องแต่งกายสำหรับใช้ในการแสดงโขน ใช้การแต่งกายแบบยืนเครื่อง ซึ่งเป็นการแต่งกายจำลองเลียนแบบจากเครื่องทรงต้นของพระมหากษัตริย์แบบโบราณที่มีความสวยงามวิจิตรตระการตา แบ่งเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายมนุษย์ เทวดา พระ นาง ฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิง สำหรับบ่งบอกถึงยศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่ง[58] นอกจากนั้นตัวละครอื่น ๆ จะแต่งกายตามแต่ลักษณะของตัวละครนั้น ๆ เช่น ฤๅษี กา ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ สวมหัวโขนซึ่งมีการกำหนดลักษณะและสีไว้อย่างเป็นระบบและแบบแผน ใช้สำหรับกำหนดให้ใช้เฉพาะกับตัวละคร สีของเสื้อเป็นการบ่งบอกถึงสีผิวกายของตัวละครนั้น ๆ เช่น พระรามกายสีเขียวมรกต พระลักษมณ์กายสีเหลืองบุษราคัม ทศกัณฐ์กายสีเขียวมรกต หนุมานกายสีขาวมุกดา สุครีพกายสีแดงโกเมน เป็นต้น แบ่งได้ 3 ประเภท คือ

    ศิราภรณ์

    ศิราภรณ์หรือเครื่องประดับ มาจากคำว่า "ศีรษะ" และ "อาภรณ์" หมายความถึงเครื่องประดับสำหรับใช้สวมใส่ศีรษะเช่น ชฎามงกุฎ ซึ่งเป็นชื่อเรียกเครื่องประดับศีรษะละครตัวพระ ที่มีวิวัฒนาการมาจากการโพกผ้าของพวกชฏิล ชฏาที่ใช้ในการแสดงโขนละครในปัจจุบัน ช่างผู้ชำนาญงานมักจะนิยมทำเป็นแบบมีเกี้ยว 2 ชั้น มีกรอบหน้า กรรเจียกจร ติดดอกไม้ทัด ดอกไม้ร้าน ประดับตามชั้นเชิงบาตร ซึ่งลักษณะของชฏานี้ เป็นการจำลองรูปแบบมาจากพระชฏาของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์

    นอกจากชฏามงกุฏแล้ว ยังมีชฎายอดชัยที่เป็นชฏามียอดแหลมตรง มีลูกแก้ว 2 ชั้นประดับ เป็นชฏาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการแสดงโขนและละคร ซึ่งที่มาของชฏายอดชัยนั้น สันนิษฐานว่าเป็นการสร้างเลียนแบบพระชฏายอดชัยที่เป็นเครื่องทรงต้น ในรูปแบบและทรวดทรง มีความแตกต่างกันที่วัสดุและรายละเอียดในการตกแต่งเท่านั้น รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว กรอบพักตร์หรือกระบังหน้า ปันจุเหร็จ หรือแม้แต่หัวโขน ก็จัดอยู่ในประเภทเครื่องศิราภรณ์เช่นกัน

    พัสตราภรณ์

    พัสตราภรณ์หรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเช่น เสื้อหรือฉลององค์ ในสมัยโบราณการแสดงโขนจะใช้เสื้อคอกลมผ่าด้านหน้าตลอด มีการต่อแขนเสื้อแบบต่อตรงและเสริมเป้าสี่เหลี่ยมตรงบริเวณใต้รักแร้ แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันตามยุคสมัย เป็นเสื้อคอกลมสำเร็จรูป มี 2 แบบคือแบบเสื้อแขนสั้นและแขนยาว เว้าวงแขน สีเสื้อและสีแขนเสื้อแตกต่างกัน ปักลวดลาย สำหรับตัวนางจะมีผ้าห่มนางโดยเฉพาะ ลักษณะเป็นผ้าสไบแถบ ปักลวดลายตามความยาวของสไบเช่น ลายพุ่ม ลายกรวยเชิง ฯลฯ ห่มโอบจากทางด้านหลังให้ชายสไบทั้งสองข้างเสมอกัน การห่มผ้าในการแสดงโขนมีวิธีการห่มที่แตกต่างกัน สำหรับตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์และตัวนางที่เป็นยักษ์

    ตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์ จะห่มผ้าแบบเพลาะไขว้ติดกันไว้ที่ด้านหลัง ทิ้งช่วงบริเวณหน้าอก คว้านบริเวณช่วงลำคอเหมือนกับการห่มแบบสองชาย และสำหรับตัวนางที่เป็นนางยักษ์ จะห่มแบบผ้าห่มผืนใหญ่ ปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มีลักษณะลวดลายเป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่นหน้าสิงห์ ตัวเสื้อกางเกงหรือสนับเพลา ผ้านุ่งหรือพระภูษา กรองคอหรือนวมคอ ใช้แบบ 8 กลีบ ปักลายหนุนรูปกระจัง ชายไหวหรือห้อยหน้า ชายแครงหรือห้อยข้าง ปักลวดลายแบบหนุนด้วยดิ้นแบบโปร่งและปักเลื่อมเช่นกัน ล้อมรอบตัวลายด้วยดิ้นข้อ ชายผืนติดดิ้นครุยสีเงิน รัดเอว ผ้าทิพย์ เจียระบาด สไบ เป็นต้น

    ถนิมพิมพาภรณ์

    ถนิมพิมพาภรณ์หรือเครื่องประดับต่าง ๆ ตามแต่ฐานะของตัวละคร คำว่าถนิมพิมพาภรณ์ มาจากคำว่า "พิมพา" และ "อาภรณ์" หมายถึงเครื่องประดับตกแต่งตามร่างกาย[59][60] ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับที่ถมและลงยาเช่น ทับทรวง ซึ่งเป็นโลหะประกอบกัน 3 ชิ้น ชุบเงิน ประดับเพชรตรงกลาง ฝังพลอยสีแดง ลักษณะของสายเป็นเพชรจำนวน 2 แถว มีความยาวประมาณ 28 นิ้ว เข็มขัดหรือปั้นเหน่ง สังวาล ตาบหน้า ตาบทิศ ตาบหลัง อินธนู ธำมรงค์ แหวนรอบ ปะวะหล่ำ ทองกร กรองคอ สะอิ้ง พาหุรัด กำไลเท้า เป็นต้น

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในละครพม่าเมื่อครั้งที่พระองค์เคยเสด็จไปทอดพระเนตรที่เมืองย่างกุ้งว่า การแต่งกายของผู้แสดงโขนนั้น ใช้การแต่งกายแบบสามัญชนคนธรรมดา ไม่ได้มีการแต่งตัวที่ผิดแปลกกว่าปกตินอกจากบทผู้หญิง ที่มีการห่มสไบเฉียงหรือบทเป็นยักษ์เป็นลิง ที่มีการเขียนหน้าเขียนตาหรือสวมหน้ากาก ใช้เครื่องแต่งกายของละครแบบยืนเครื่องเช่น สนับเพลา ผ้านุ่ง กรองคอ ทับทรวง สังวาล เป็นต้น แต่เดิมการแต่งกายของตัวพระหรือนายโรงจะไม่สวมเสื้อ ภายหลังมีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายสำหรับตัวพระขึ้น จึงเป็นที่มาของการแต่งกายแบบยืนเครื่องในปัจจุบัน

    ต่อมาได้มีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายสำหรับโขนขึ้นโดยเฉพาะ และแก้ไขเครื่องแต่งกายให้แตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อยคือ แต่เดิมตัวพระนั้นจะสวมสนับเพลายาวกรอมข้อเท้า ก็ให้เปลี่ยนมานุ่งให้เชิงแค่เพียงน่อง นุ่งผ้าแบบยกรั้งลดเชิงถึงหัวเข่าและสวมเสื้อแขนยาว ตัวนางนุ่งผ้าจีบกรอมถึงน่อง ห่มผ้าแถบลายทอง พาดชายไว้ข้างหลังให้ชายผ้าห้อยเสมอน่อง ซึ่งการแต่งกายของตัวพระ ตัวนาง เทวดา ตัวยักษ์และตัวลิง ไม่ว่าจะแสดงในตำแหน่งตัวละครใด ล้วนแต่แต่งกายแบบยืนเครื่องทั้งหมด ต่างกันตรงมงกุฎที่สวมใส่ประดับศีรษะเท่านั้นคือ กษัตริย์จะสวมมงกุฎ ชฎา เสนาอำมาตย์จะใช้ผ้าโพกศีรษะแทน ตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์จะสวมรัดเกล้ายอด ยศศักดิ์รองลงมาสวมรัดเกล้าเปลว สำหรับนางสนมกำนัลสวมกระบังหน้า

    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้มีการประดิษฐ์เครื่องประดับสำหรับสวมใส่ศีรษะแทนผ้าโพกและกระบังหน้าขึ้น ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีการประดิษฐ์รัดเกล้ายอดขึ้นสำหรับใช้เฉพาะละครหลวงเท่านั้น จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกการห้ามนำรัดยอดเกล้าไปใช้สำหรับตัวละครอื่นที่ไม่ใช่ละครหลวง และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายของโขนเรื่อยมา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงปรับปรุงเสื้อของตัวยักษ์ให้แตกต่างไปจากเดิมคือ ลำตัวสีหนึ่งและแขนอีกสีหนึ่ง นัยว่าสีของแขนเสื้อคือสีผิวของตัวละคร สีของลำตัวคือสีเกราะที่สำหรับใช้สวมใส่ในยามออกศึกสงครามซึ่งมักเป็นสีที่ตัดกับสีแขนเสื้อเช่นเสื้อสีเขียว เกราะสีแดง เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังมีเกราะอีกหนึ่งประเภทคือ เกราะที่เป็นสายคาดรอบอกเช่น ตอนทศกัณฐ์เกี้ยวนางสีดาในสวน ทศกัณฐ์แต่งกายสวยงาม มีผ้าห้อยไหล่และถือพัดจันทน์ขนาดเล็ก คล้องพวงมาลัยที่ข้อมือด้านขวา มีเกราะสายคาดรอบอก[61] ดังกาพย์ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย ดังนี้

    "สถิตแท่นแผ่นผาศิลาทอง อาบละอองสุหร่ายสายสินธุ์
    ขัดสีวารีรดหมดมลทิน ทรงสุคนธุ์ธารประทิ่นกลิ่นเกลา
    น้ำดอกไม้เทศทาอ่าองค์ บรรจงทรงพระสางเศรียรเกล้า
    พระฉายตั้งคันฉ่องส่องเงา เวียนแต่เฝ้ากรีดพระหัตถ์ผัดพักตรา
    ทรงภูษาผ้าต้นพื้นตอง เขียนทองเรืองอร่ามงามนักหนา
    คาดเข็ดขัดรัดองค์องคการ์ ประดับพลอยถมยาราชาวดี
    คล้องพระศอสีดอกคำร่ำอบ หอมตลบอบองค์ยักษี
    ใส่แหวนเพชรเม็ดแตงแต่งเต็มที่ จะไปอวดมั่งมีนางสีดาฯ
    ถือพัดด้ามจิ้วจันทน์บรรจง พวงมาลัยใส่ทรงพระกรขวา
    แล้วลงจากปราสาทยาตรา ขึ้นทรงรัถาคลาไคลฯ"
    บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2

    ซึ่งในการแต่งกายของทศกัณฐ์นั้น ปกติจะมีเกราะสายคาดรอบอกเป็นประจำ ตามบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ทศกัณฐ์มีกุเรปันเป็นพี่ชายต่างมารดา แต่ด้วยนิสัยสันดาลพาลของทศกัณฐ์ ทำให้เกิดการแย่งชิงบุษบกแก้วของกุเรปันบริเวณเชิงเขาไกรลาส กุเรปันสู้ไม่ได้ก็หนีไปขอความช่วยเหลือจากพระอิศวรซึ่งประทับอยู่บนหลังช้าง พระอิศวรจึงทรงถอดงาจากช้างทรงขว้างใส่ทศกัณฐ์พร้อมกับสาปให้งานั้นติดอยู่จนกระทั่งทศกัณฐ์ตาย ทศกัณฐ์ต้องคำสาปพระอิศวร จึงไปขอให้พระวิศวกรรมเลื่อยงาช้างส่วนที่ยื่นออกมาให้ขาดเสมออก และเนรมิตเกราะสายคาดรอบอกขึ้นเพื่อปกปิดร่องรอยของงานช้าง ดังนั้นการแต่งกายของทศกัณฐ์ตามบทพระราชนิพนธ์ ตั้งแต่ทศกัณฐ์เกิดจนถึงถูกพระอิศวรสาป จะไม่มีเกราะสายคาดรอบอก[62]

    ปัจจุบันกรมศิลปากรเป็นผู้กำหนดขนาดและลวดลายต่าง ๆ ของเครื่องแต่งกายโขนเช่น การกำหนดเครื่องแต่งกายของพระพรต มีรายละเอียดดังนี้[63]

    เสื้อใช้ผ้าต่วนสีแดงคอกลมแขนยาว ปักลาย 2 ข้างเต็มด้านหน้า ปักลายหนุนใต้รักแร้ ปักลายกนกที่ตัวเสื้อและแขน หนุนในตัวกนกด้วยเชือกเกลียวขนาดเล็ก ถมลายกนกด้วยดิ้นข้อ-ดิ้นโปร่งสีเงินขนาดเล็ก ซับในด้วยผ้าโทเรสีแดง กรองคอใช้ผ้าต่วนสีเขียวปักลายกนก หนุนในตัวกนกด้วยเชือกเกลียวขนาดเล็ก ถมลายกนกด้วยดิ้นข้อ-ดิ้นโปร่งสีเงินขนาดเล็ก อินธนูใช้ผ้าต่วนสีเขียว เสริมภายในด้วยแผ่นหนังสังเคราะห์ ตรงปลายติดพู่เงิน-ทองยาว 1 นิ้ว จำนวน 1 คู่ ซับในด้วยผ้าโทเรสีเขียว

    ห้อยหน้าใช้ผ้าต่วนสีแดงขลิบเขียวปักลายกนก หนุนในตัวกนกด้วยเชือกเกลียวขนาดเล็ก ถมลายกนกด้วยดิ้นข้อ-ดิ้นโปร่งสีเงินขนาดเล็กปักลายเต็มหน้าผ้า ซับในด้วยผ้าโทเรสีแดง ตรงกลางมีสุวรรณกระถอบใช้ผ้าตาดสีทองมีกระเป๋าติดซิปที่ซับใน ติดดิ้นครุยสีเงินทบกัน 2 ชั้นที่ชายด้านล่าง เจียระบาดติดดิ้นครุยสีเงินทบกัน 2 ชั้นที่ชายด้านล่าง รัดสะเอวใช้ผ้าต่วนสีแดงขลิบเขียวปักลายกนก หนุนในตัวกนกด้วยเชือกเกลียวขนาดเล็ก ถมลายกนกด้วยดิ้นข้อ-ดิ้นโปร่งสีเงินขนาดเล็ก ซับในด้วยผ้าโทเรสีแดงปักลายลักษณะโค้งตามรูปเอว

    สนับเพลาใช้ผ้าโทเรสีแดง มีลิ้นซ้อนด้านในปลายขา ใช้ผ้าต่วนสีแดงปักลายกนกเชิงงอน คาดขอบลายด้านบนด้วยผ้าต่วนสีเขียวปักลายกนก หนุนในตัวกนกด้วยเชือกเกลียวขนาดเล็ก ถมลายกนกด้วยดิ้นข้อ-ดิ้นโปร่งสีเงินขนาดเล็ก เหนือลายปักต่อผ้าต่วนสีแดงเย็บติดกับกางเกง ผ้านุ่งใช้ผ้ายกเนื้อหนาขนาดมาตรฐาน มีลายเชิง 2 ข้างสีเขียวพร้อมผ้าคาดเอวสีขาว จำนวน 2 ชิ้น

    ซึ่งเครื่องแต่งกายในการแสดงโขนในของตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์และตัวลิง มีดังนี้[64]

    ตัวแสดง เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ
    ตัวพระเช่น พระราม พระลักษณ์ พระพรต พระสัตรุต ผู้แสดงตัวพระจะสวมเสื้อแขนยาวปักดิ้นและเลื่อม ประดับด้วยปะวะหล่ำ มีอินธนูที่ไหล่และพาหุรัด สวมกรองศอทับด้วยทับทรวง สังวาลและตาบทิศ ส่วนล่างสวมสนับเพลาไว้ข้างใน นุ่งผ้านุ่งยกจีบโจงไว้หางหงส์ทับสนับเพลา ด้านหน้ามีชายไหวและชายแครงห้อยอยู่ ประดับด้วยสุวรรณประกอบ รัดเอวด้วยรัดพัสตร์ คาดปั้นเหน่ง ศีรษะสวมชฎา ประดับด้วยดอกไม้เพชรที่ด้านซ้าย ดอกไม้ทัดที่ด้านขวา มีอุบะ ตามตัวสวมเครื่องประดับต่าง ๆ ประกอบด้วยกำไลเท้า ธำมงรค์ แหวนรอบ กรรเจียกและทองกร แต่เดิมตัวพระจะสวมหัวโขนในการแสดง แต่ภายหลังไม่เป็นที่นิยม เพียงแต่แต่งหน้าและสวมชฎาแบบละครในเท่านั้น
    ตัวนางเช่น นางสีดา นางเบญจกาย นางสุพรรณมัจฉา ผู้แสดงตัวนางจะสวมเสื้อในนางแขนสั้นเป็นชั้นใน มีพาหุรัดแล้วห่มสไบทับ ทิ้งชายไปด้านหลังยาวลงไปถึงน่อง ประดับด้วยปะวะหล่ำ สวมกรองศอ สะอิ้งและจี้นาง ส่วนล่างนุ่งผ้านุ่งยกจีบหน้า คาดปั้นเหน่ง ศีรษะสวมมงกุฎ รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลวหรือกระบังหน้าตามแต่ฐานะของตัวละคร ประดับด้วยดอกไม้ทัดที่ด้านซ้าย ดอกไม้ทัดที่ด้านขวา มีอุบะ ตามตัวสวมเครื่องประดับต่าง ๆ ประกอบด้วยธำมงรค์ กำไลเท้า แหวนรอบ กำไลตะขาบ กรรเจียกและทองกร แต่เดิมตัวนางที่เป็นตัวยักษ์เช่น นางสำมนักขา นางกากนาสูร จะสวมหัวโขน แต่ภายหลังมีการแต่งหน้าไปตามลักษณะของตัวละครนั้น ๆ โดยไม่สวมหัวโขน
    ตัวยักษ์เช่น ทศกัณฐ์ พิเภก อินทรชิต มังกรกัณฐ์ ผู้แสดงตัวยักษ์นั้น เครื่องแต่งกายส่วนใหญ่คล้ายกับตัวพระ จะแตกต่างกันที่การนุ่งผ้าเท่านั้น ตัวยักษ์จะนุ่งผ้าไม่มีหางหงส์แต่มีผ้าปิดก้นลงมาจากเอว ส่วนศีรษะสวมหัวโขนตามลักษณะของตัวละครซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยชนิด การแต่งกายของตัวยักษ์คือทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นพญายักษ์ตัวสำคัญที่สุดในการแสดงโขน สวมเสื้อแขนยาวปักดิ้นและเลื่อม ซึ่งในวรรณคดีสมมุติเป็นเกราะ ประดับด้วยแหวนรอบ ปะวะหล่ำ มีอินธนูที่ไหล่ สวมกรองศอทับด้วยทับทรวง พวงประคำคอ สังวาลและตาบทิศ ส่วนล่างสวมสนับเพลาไว้ข้างใน นุ่งผ้านุ่งยก ด้านหน้ามีชายไหวและชายแครงห้อยอยู่ ผ้าปิดก้นอยู่เบื้องหลัง รัดอกด้วยพระอุระ รัดเอวด้วยรัดพัสตร์ คาดปั้นเหน่ง ศีรษะสวมหัวโขนหัวทศกัณฑ์ ตามตัวสวมเครื่องประดับต่าง ๆ ประกอบด้วยกำไลเท้า ธำมงรค์ กรรเจียกและทองกร ถืออาวุธคือคันศร
    ตัวลิงเช่น หนุมาน พาลี สุครีพ องคต ท้าวชมพูพาน ผู้แสดงตัวลิง เครื่องแต่งกายส่วนใหญ่คล้ายกับตัวยักษ์ แต่มีหางลิงห้อยอยู่ใต้ผ้าปิดก้นอีกที สวมเสื้อตามสีประจำตัวในเรื่องรามเกียรติ์ ไม่มีอินธนู ตัวเสื้อปักลายขดเป็นวงทักษิณาวรรต สมมุติว่าเป็นขนตามตัวลิง ส่วนศีรษะสวมหัวโขนตามลักษณะของตัวละครซึ่งมีอยู่ประมาณสี่สิบชนิด การแต่งกายของตัวลิงคือหนุมาน ซึ่งเป็นทหารเอกของพระราม สวมเสื้อแขนยาวปักดิ้นและเลื่อมลายวงทักษิณาวรรต มีพาหุรัด ประดับด้วยแหวนรอบ ปะวะหล่ำ สวมกรองศอทับด้วยทับทรวง สังวาลและตาบทิศ ส่วนล่างสวมสนับเพลาไว้ข้างใน นุ่งผ้านุ่งยก ด้านหน้ามีชายไหวและชายแครงห้อยอยู่ ผ้าปิดก้นอยู่เบื้องหลัง หางลิง รัดสะเอว คาดปั้นเหน่ง ศีรษะสวมหัวโขนหัวหนุมาน ตามตัวสวมเครื่องประดับต่าง ๆ ประกอบด้วยกำไลเท้า ธำมงรค์ กรรเจียกและทองกร ถืออาวุธคือตรีเพชร

    การแต่งหน้าโขน

    หัวโขน

    มงกุฏตามหัวหรือหน้าของทศกัณฐ์ สีเขียว ปากแสยะ ตาโพลง

    หัวโขนเป็นงานศิลปะชั้นสูง ใช้สำหรับสวมครอบศีรษะ ปิดบังส่วนหน้าของผู้แสดงอย่างมิดชิด เป็นศิลปะวัตถุประเภทประณีตศิลป์ และงานศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรตระการตาเช่นเดียวกับเครื่องแต่งกาย ประณีตบรรจงตามแบบช่างไทย มีรูปลักษณะสวยงาม ลักษณะคล้ายหน้ากาก แตกต่างตรงที่เป็นการสร้างจำลองรูปทรงใบหน้าและศีรษะทั้งหมด เจาะช่องเป็นรูกลมที่นัยน์ตาของหัวโขน ให้ตรงกับนัยน์ตาของผู้แสดงเพื่อการมองเห็น[65] แบ่งเป็น 2 ประเภทคือหัวโขนสำหรับใช้ในการแสดง หมายความถึงหัวโขนที่สื่อถึงตัวละครนั้น ๆ เช่น พระ ยักษ์ เทวดา วานรและสัตว์ต่าง ๆ สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ตามเอกลักษณ์ของหัวโขนที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบของศิลปะไทย[66] และหัวโขนที่ใช้สำหรับเป็นของประดับตกแต่งหรือของที่ระลึก หมายความถึงหัวโขนที่ทำขึ้นโดยการหล่อ ปั้น ฉีดและขึ้นรูปด้วยพลาสติกหรือกรรมวิธีอื่น ๆ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก[67]

    หัวโขนที่ใช้สำหรับแสดง แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะของตัวละครคือ หัวโขนพงศ์นารายณ์ ประกอบด้วยเผ่าพงศ์วงศ์กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา หัวโขนพรหมพงศ์และอสูรพงศ์ ประกอบด้วยพรหมผู้สร้างกรุงลงกาและอสูรพงศ์ในกรุงลงกา หัวโขนมเหศวรพงศ์ ประกอบด้วยพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมและเทวดาต่าง ๆ หัวโขนฤๅษี ประกอบด้วยฤๅษีผู้สร้างกรุงอโยธยา ฤๅษีที่พระราม พระลักษมณ์และนางสีดาพบเมื่อคราวเดินดง หัวโขนวานรพงศ์ ประกอบด้วยพญาวานร วานรสิบแปดมงกุฎ เสนาวานร วานรเตียวเพชร วานรจังเกียงและพลลิงหรือเขนลิง

    หัวโขนคนธรรพ์ ประกอบด้วยเทพคนธรรพ์และคนธรรพ์ หัวโขนพญาปักษา ประกอบด้วยพญาครุฑ พญาสัมพาที พญาสดายุ และหัวโขนแบบเบ็ดเตล็ด ประกอบด้วยหัวสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น และอาจแบ่งตามประเภทของหัวโขนที่ใช้สวมอย่างละ 2 ประเภทคือ ยักษ์ยอด ยักษ์โล้น ลิงยอดและลิงโล้น[68] นอกจากนี้ยังแบ่งตามชนิดของมงกุฎ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป แบ่งเป็นฝ่ายลงกาคือ มงกุฎยอดกระหนก มงกุฎยอดจีบ มงกุฎยอดหางไก่ มงกุฎยอดน้ำเต้า มงกุฎยอดน้ำเต้ากลม มงกุฎยอดน้ำเต้าเฟื่อง มงกุฎยอดกาบไผ่ มงกุฎยอดสามกลีบ มงกุฎยอดหางไหล มงกุฎยอดนาคา มงกุฎตามหัวหรือหน้า พวกไม่มีมงกุฎ พวกหัวโล้น พวกหัวเขนยักษ์หรือพลทหารยักษ์และตัวตลกฝ่ายยักษ์

    ถึงแม้มีการบัญญัติและประดิษฐ์หัวโขนให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน ยังคงมีหัวโขนบางประเภทที่มีมงกุฎยอดเหมือนกัน จึงมีการทำหน้าโขนให้ปากและตาแตกต่างกันไป แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ ประเภทปากแสยะตาโพลง ประเภทปากแสยะตาจระเข้ ประเภทปากขบตาโพลง และประเภทปากขบตาจระเข้ เป็นต้น[69] ฝ่ายพลับพลาคือ มงกุฎยอดบัด มงกุฎยอดชัยหรือยอดแหลม มงกุฎยอดสามกลีบ พวกไม่มีมงกุฎแต่เป็นลิงพญามีฤทธิ์เดช พวกไม่มีมงกุฎแต่เรียกมงกุฎ พวกเตียวเพชร จังเกียง หัวลิงเขนหรือพลทหารลิงและหัวตลกฝ่ายลิง สำหรับพวกพญาวานรที่ไม่มีมงกุฎและพวกสิบแปดมงกุฎ มักนิยมเรียกรวมกันว่าลิงโล้น[70]

    ภาษาโขน

    ประเพณีไหว้ครูและความเชื่อ

    โขนเป็นนาฏศิลปชั้นสูง ที่มีธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อในการปฏิบัติหลายอย่าง สืบต่อกันมาแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน บางอย่างมีการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาและความเหมาะสม บางอย่างคงใช้อยู่ตามรูปแบบเดิม บางอย่างสูญหายไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะหัวโขนซึ่งจัดเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างมากในการแสดงโขน เนื่องจากเป็นตัวชี้บ่งถึงบุคลิกและลักษณะนิสัยของตัวละครนั้น ๆ ช่างทำหัวโขนที่จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่ ต้องผ่านการไหว้ครูและครอบครูเช่นเดียวกับนาฏศิลป์ประเภทอื่น ๆ มีความเคารพครูอาจารย์ตั้งแต่เริ่มฝึกหัด[71] ก่อนเริ่มการออกโรงแสดงในแต่ละครั้ง ต้องมีการตั้งเครื่องเซ่นไหว้บายศรีให้ครบถ้วน ในการประกอบพิธีจะต้องมีหัวโขนตั้งประดิษฐานเป็นเครื่องสักการะต่อครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว

    พิธีไหว้ครู

    ในพิธีไหว้ครูจะมีการนำหัวโขนหรือศีรษะครู ที่เป็นเสมือนตัวแทนของครูแต่ละองค์มาตั้งประกอบในพิธี[72] การจัดตั้งหัวโขนต่าง ๆ มีหลายรูปแบบเช่น การตั้งแบบรวมกับพระพุทธรูป แบ่งเป็นแบบ 12 หน้า 10 หน้า 8 หน้า 6 หน้า 4 หน้าและ 2 หน้า มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนของหัวโขนตามแต่รูปแบบในการตั้ง นอกจากการตั้งแบบรวมกับพระพุทธรูปแล้ว ยังมีการตั้งหัวโขนแบบพระพุทธรูปแยกระหว่างหัวโขนต่างหาก นิยมจัดให้หัวโขนมีความลดหลั่นเป็นชั้น โดยที่ชั้นบนสุดเป็นชั้นของมหาเทพได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม ชั้นสองเป็นชั้นของเทพที่มีความสำคัญต่อโลกมนุษย์และนาฏศิลป์เช่น พระอินทร์ พระวิษณุกรรม พระพิราพ

    ชั้นที่สามเป็นชั้นของหัวโขนหน้ามนุษย์ หน้าลิง และมีศาสตราวุธและเครื่องประดับศีรษะที่ใช้ในการแสดงวางอยู่ตรงกลาง และชั้นสุดท้ายเป็นชั้นของหัวโขนหน้ายักษ์ ผู้แสดงทุกคนก่อนแต่งตัวตามตัวละครก็ต้องมีการไหว้ครู ภายหลังจากแต่งกายเสร็จแล้ว ก่อนจะทำการสวมหัวโขนหน้ายักษ์ หน้าลิง มงกุฎหรือชฎา ก็จะต้องมีการทำพิธีครอบหัวโขนและไหว้ครูเพื่อแสดงความเคารพ[73] ซึ่งนอกจากประเพณีไหว้ครูแล้ว ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับหัวโขนสืบทอดต่อกันมาอีกหลายอย่างเช่น การเจาะรูสำหรับมองเห็น ผู้ที่สามารถเจาะได้คือช่างทำหัวโขนเท่านั้น

    ในสมัยโบราณมีความเชื่อกันว่า หัวโขนที่ใช้ในการแสดงที่ผ่านพิธีเบิกเนตรเรียบร้อย ก่อนนำไปใช้ในการแสดง ช่างทำหัวโขนจะวัดขนาดความห่างของดวงตาผู้แสดง และเจาะรูให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ห้ามผู้แสดงเจาะรูดวงตาเองเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะทำให้พิการตาบอด แต่ความเชื่อดังกล่าวเป็นเพียงกุศโลบายเท่านั้น ความเป็นจริงคือในการตกแต่งดวงตาของหัวโขน จะใช้เปลือกหอยมุกมาประดับตกแต่ง ซึ่งถ้าผู้เจาะรูไม่ใช่ช่างทำหัวโขนที่มีความชำนาญ อาจทำให้หัวโขนเกิดความผิดพลาดและเสียหายได้ง่าย

    การบวงสรวง

    ในการปลูกโรงโขนสำหรับใช้แสดง ก่อนเริ่มก่อสร้างต้องมีการทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ ขอขมาลาโทษในสิ่งต่าง ๆ ที่เคยล่วงเกิน และขออนุญาตบอกกล่าวแก่เจ้าที่เจ้าทางให้รับทราบ เพื่อเป็นการเปิดทางให้แก่ผู้แสดง ช่วยให้ทำการแสดงได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด รวมทั้งปกป้องคุ้มครองและปัดเสนียดรังควานต่อการแสดงให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เนื่องจากในการแสดงโขนนั้น หลายต่อหลายครั้งที่มีการแแข่งขันชิงชัยหรือประชันฝีมือซึ่งกันและกัน ซึ่งมีความเชื่อกันว่าฝ่ายตรงข้ามมักมีการใช้ไสยศาสตร์ กลั่นแกล้งโจมตีฝ่ายตรงข้ามให้เสียเปรียบและพ่ายแพ้ เพื่อให้ได้รับชัยชนะในการแสดง ดังนั้นก่อนเริ่มการแสดงจึงต้องมีพิธีถอนอาถรรพ์ทุกครั้ง

    สำหรับผู้แสดงที่ไม่เคยออกโรงแสดงมาก่อน หลังจากรับครอบครูแล้ว ก่อนทำการแสดงครูผู้ฝึกสอน จะครอบครูครอบหน้าให้เป็นการปฐมฤกษ์ ช่วยให้ไม่ติดขัดในการแสดงหลังจากการแสดงเสร็จสิ้น ผู้แสดงทุกคนจะต้องเข้าร่วมพิธีไหว้ครูอีกครั้ง หลังจากนั้น ผู้แสดงทุกคนจะต้องเอ่ยปากขอขมาลาโทษซึ่งกันและกันเป็นใจความว่า "หากข้าพเจ้าพลาดพลั้งด้วยกายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี โดยมิได้ตั้งใจ โปรดให้อภัยและอโหสิด้วย"[74] เนื่องจากบางครั้งในการแสดงอาจมีการกระทบกระทั่ง ละเมิดล่วงเกินหรือพลาดพลั้งโดยไม่ตั้งใจหรือเจตนาเช่น ผู้แสดงเป็นพาหนะได้แก่ ครุฑ ช้าง ม้า ราชสีห์ ซึ่งมักถูกตัวพระ ตัวยักษ์หรือตัวลิงล่วงเกิน จนกลายเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทได้ในภายหลัง

    โดยการขอขมานั้น ผู้แสดงจะขอขมาตามความอาวุโสที่ด้านหลังเวที นอกจากพิธีไหว้ครูและความเชื่อในด้านต่าง ๆ แล้ว ในการแสดงโขนยังมีกฎข้อห้ามสำคัญอีกจำนวนมากเช่น ห้ามนั่งเล่นบนเตียงหรือนราวโขนเมื่อยังไม่ถึงคิวการแสดงของตน ห้ามนำอาวุธสำหรับใช้ในการแสดงมาเล่นนอกเวลาแสดงโดยเด็ดขาด ห้ามเดินข้ามเหล่าศาสตราวุธ ห้ามนำกรับมาตีเล่น ห้ามนำไม้ตะขาบหรือไม้ที่ใช้สำหรับตีเพื่อให้เกิดเสียงดังสำหรับการแสดงของตัวตลกมาตีเล่นเพื่อความสนุกสนาน เป็นต้น[75]

    วงดนตรีและเครื่องประกอบ

    เพลงประกอบการแสดง

    การแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ

    ฉากสำคัญของการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ ตอนศึกมัยราพณ์ ฉากหนุมานเมรมิตร่างกายสูง 8 เมตร เพื่ออมพลับพลาที่ประทับ

    การแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นการแสดงโขนเนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และคณะกรรมการในการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนและละคร ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการอนุรักษ์และสืบสานการแสดงโขนในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา[76] โดยมีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และ หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี เป็นรองประธาน[77] โดยการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรตินั้น นำแสดงโดยนาฏศิลปินชั้นนำจากกองการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพมหานคร นักเรียนและนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์ จากทั่วประเทศไทย ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย[78] เป็นการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ทั้งหมด 3 ชุด ดังนี้

    ศึกพรหมาศ

    ศึกพรหมาศ (คำว่า "พรหมาศ" เป็นอักขรวิธีแบบเก่า")[79] เปิดการแสดงในปี พ.ศ. 2550 ระหว่างวันที่ 24 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550 จำนวน 5 รอบ และในปี พ.ศ. 2552 ระหว่างวันที่ 19 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 จำนวน 6 รอบ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงในวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 19.00 น.[80] ซึ่งการแสดงโขนตอนศึกพรหมาศนั้น คัดเลือกจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพรหมาศ บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยจัดแสดงในรูปแบบของการบรรเลงด้วยวงโยธวาทิตและวงปี่พาทย์มโหรีร่วมบรรเลง[81] มีการแสดงรำประแลงเป็นชุดรำเบิกโรง

    เนื้อเรื่องในการแสดง เป็นตอนที่ทศกัณฐ์รู้ว่าแสงอาทิตย์และมังกรกัณฐ์สองหลานรัก พ่ายแพ้และเสียชีวิตในการต่อสู้กับฝ่ายพลับพลาของพระราม จึงรับสั่งให้กาลสูรไปทูลอินทรชิตให้ทรงทราบ และให้เร่งชุบศรพรหมาศเพื่อออกไปต่อสู้ อินทรชิตแสร้งแปลงตนเองเป็นพระอินทร์ และให้การุณราชแปลงกายเป็นช้างเอราวัณ พร้อมสั่งให้จัดโยธาทัพเทพบุตรและเทพธิดา ระบำรำฟ้อนกลางเวหาเพื่อให้พระรามและพระลักษมณ์ รวมทั้งเสนาวานรหลงกล เข้าใจผิดคิดว่าอินทรชิตคือพระอินทร์ จึงชื่นชมในบารมีของพระอินทร์จนลืมป้องกันตนเองและกองทัพ เป็นโอกาสให้อินทรชิตแผลงศรพรหมาศไปต้ององค์พระลักษมณ์และเหล่าเสนาวานรสลบไสลทั้งกองทัพ เหลือแต่หนุมานที่ไม่ต้องศรพรหมาศ จึงเข้าต่อสู้และแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการหักคอช้างเอราวัณ

    ระหว่างต่อสู้ หนุมานพลาดพลั้งถูกอินทรชิตฟาดด้วยศรจนสลบ สร้างความยินดีปรีดาให้แก่อินทรชิตและโยธาทัพเป็นอย่างมาก จึงเลิกทัพกลับกรุงลงกาด้วยความหรรษาสราญใจ ต่อมาภายหลัง เมื่อความดังกล่าวทราบถึงพระกรรณของพระราม จึงรีบเสด็จมาช่วยเหลือและพบกับหนุมาน ซึ่งฟื้นคืนชีพมายามเมื่อพระพายพัดมาต้องกาย หนุมานจึงกราบทูลความทั้งหมดให้พระรามทรงทราบ ซึ่งตรัสถามถึงหนทางแก้ไขให้พระลักษณมณ์ที่ต้องศรพรหมาศของอินทรชิตกลับฟื้นคืนชีพ พิเภกจึงบอกวิธีแก้ไข โดยให้หนุมานไปนำสรรพยาจากภูผาอาวุธ เพื่อนำมาปรุงสรรพยาให้พระลักษณ์และเหล่าเสนาวานรฟื้นคืนชีพดังเดิม

    นางลอย

    นางลอย เปิดการแสดงในปี พ.ศ. 2553 ระหว่างวันที่ 22 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 จำนวน 7 รอบ และระหว่างวันที่ 19 - 24 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 7 รอบ ซึ่งในรอบปฐมทัศน์ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 19.30 น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดง[82] ซึ่งการแสดงโขนตอนนางลอยนั้น ปรับปรุงจากบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งทรงเรียบเรียงสำหรับใช้ในงานรับแขกบ้านแขกเมือง เมื่อในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการแสดงรำกิ่งไม้เงินทองเป็นชุดรำเบิกโรง

    เนื้อเรื่องในการแสดง เป็นตอนที่ทศกัณฐ์คิดหาหนทางเพื่อจะตัดศึกจากพระราม จึงสั่งให้นางเบญกายแปลงกายเป็นนางสีดาทำทีตายลอยน้ำไปที่หน้าพลับพลาที่ประทับของพระราม เพื่อลวงให้พระรามเข้าใจผิดว่านางสีดาตายและยกทัพกลับ นางเบญกายไม่สามารถขัดขืนคำสั่งได้ จึงขอไปพบนางสีดาที่สวนขวัญท้ายอุทยาน เนื่องจากตนเองนั้นไม่เคยพบเห็นรูปร่างหน้าตาของนางสีดามาก่อน ทศกัณฐ์จึงสั่งให้ตั้งขบวนวอสีวิกากาญจน์และเครื่องยศ นำนางเบญจกายไปสวนขวัญที่ประทับของนางสีดา

    ที่สวนขวัญ นางเบญจกายได้เข้าเฝ้านางสีดาพร้อมกับร้องไห้คร่ำครวญว่า ตนเองเป็นบุตรีของพิเภกและนางตรีชฏาข้ารับใช้ของนางสีดา ระหว่างทูลเรื่องราวของตนเองนั้น ได้แอบลอบชำเลืองมองและจดจำรูปโฉมของนางสีดา ครั้นจดจำได้อย่างแม่นยำจึงทูลลากลับ และแปลงกายเป็นนางสีดาไปเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ในท้องพระโรง ทศกัณฐ์ครั้นเห็นนางสีดามาเข้าเฝ้า ก็สำคัญผิดคิดว่านางแปลงคือนางสีดาจึงตรงเข้าไปเกี้ยวพาราสีด้วยความเสน่หา สร้างความตลกขบขันให้แก่หมู่เหล่านางกำนัลเป็นอย่างยิ่ง

    นางเบญจกายเกิดความอับอายจึงแปลงร่างกลับคืนดังเดิม ทศกัณฐ์เห็นนางสีดากลับคืนร่างเป็นนางเบญจกายก็รู้สึกเก้อเขิน จึงรับสั่งให้นางเบญจกายรีบแปลงร่างเป็นนางสีดา ทำทีตายลอยไปให้พระรามเข้าใจผิดจะได้เลิกทัพกลับไป นางเบญจกายรับคำสั่งและแปลงกายลอยตามน้ำไปยังพลับพลาที่ประทับของพระราม ที่เสด็จออกมาสรงน้ำพร้อมกับพระลักษมณ์และเหล่าเสนาวานรในยามเช้าตรู่ พระรามเมื่อเห็นนางแปลงตายลอยน้ำมา ก็เข้าใจว่านางสีดาถึงแก่ความตาย และกริ้วโกรธหนุมานเป็นอย่างมาก

    เนื่องจากเมื่อคราวใช้ให้ไปสืบข่าวนางสีดา หนุมานกระทำเกินรับสั่ง อาละวาดเผากรุงลงกา เป็นเหตุให้ทศกัณฐ์โกรธแค้นจึงสังหารนางสีดา หนุมานสงสัยในนางแปลง ด้วยศพไม่เน่าเปื่อยและยังลอยทวนน้ำ จึงขอพิสูจน์ด้วยการเผาไฟ หากเป็นศพนางสีดาจริงจะยอมให้ประหารชีวิต พระรามจึงสั่งให้ตั้งเชิงตะกอนและนำศพนางสีดาไปเผา นางเบญจกายเมื่อถูกไฟเผาก็ร้อนจนทนไม่ไหว คืนร่างเดิมและเหาะหนีไปตามควันไฟ หนุมานเห็นนางแปลงคืนร่างเดิมและพยายามหลบหนี จึงเหาะตามไปจับตัวมาถวายพระรามเพื่อให้สำเร็จโทษ

    ศึกมัยราพณ์

    การแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ ตอนศึกมัยราพณ์ ระหว่าง 15 กรกฎาคม - 7 สิงหาคม 2554 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแแห่งประเทศไทย

    ศึกมัยราพณ์ เปิดการแสดงในปี พ.ศ. 2554 จำนวน 38 รอบ ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม - 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งในรอบปฐมทัศน์ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20.05 น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดง[83] และทรงรับสั่งชื่นชมการแสดงโขนชุดนี้ว่า "สวยเหลือเกิน"[84] ในการแสดงโขนตอนศึกมัยราพณ์นั้น ปรับปรุงจากบทโขนชุด "มัยราพณ์สะกดทัพ" ของกรมศิลปากร โดยเพิ่มเติมให้มีความสวยงาม สนุกสนานมากยิ่งขึ้น และในการแสดงครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้นักแสดงรุ่นใหม่ จากวิทยาลัยนาฏศิลป์และสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกร่วมแสดงความสามารถในด้านการแสดงโขน เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติให้คงอยู่สืบต่อไป

    นอกจากการคัดเลือกนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศไทยแล้ว ศึกมัยราพณ์ยังประกอบด้วยฉากมากมายจำนวนมาก ที่จัดทำขึ้นเฉพาะเป็นพิเศษสำหรับการแสดงครั้งนี้ ด้วยวิธีการผสมผสานแบบเก่า ตามจารีตแบบแผนการแสดงโขนหลวงของกรมมหรสพ และการแสดงแบบสมัยใหม่ ที่มีการใช้เทคนิค แสง สี เสียง ตระการตา เพื่อให้การแสดงแลดูสวยงาม สนุกสนาน สมจริงมากยิ่งขึ้นเช่น ฉากหนุมาน สูง 8 เมตร กว้าง 12 เมตร[85] เนรมิตร่างกายใหญ่โตอมพลับพลาที่ประทับของพระราม ซึ่งสามารถทำให้หนุมานเคลื่อนไหวแขน ปากและกลิ้งกลอกนัยน์ตาไปมาได้ ถือเป็นฉากสำคัญในการแสดงทีเดียว[86] และฉากอีกหลายฉากที่หาชมได้ยาก ควบคุมเทคนิคต่าง ๆ และกำกับการแสดงโดยอาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย รวมทั้งได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่แห่งการแสดงโขน ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ที่เข้าชมการแสดงกันอย่างท้วมท้น จนต้องเพิ่มรอบการแสดงอีกครั้ง[87] มีการแสดงรำกิ่งไม้เงินทองเป็นชุดรำเบิกโรง

    เนื้อเรื่องในการแสดง เป็นตอนที่ทศกัณฐ์พยายามคิดหาทนทางกำจัดพระรามและกองทัพฝ่ายพลับพลา จึงรับสั่งให้นนยวิกและวายุเวกไปพบมัยราพณ์เจ้าผู้ครองเมืองบาดาล ขอให้มัยราพณ์รีบมาช่วยเหลือ มัยราพณ์จึงขึ้นจากเมืองบาดาลมาเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ รับอาสาช่วยเหลือในการศึกสงครามครั้งนี้ ด้วยการสะกดทัพให้หลับใหลรวมทั้งจับพระรามไปฆ่าให้ตาย และประกอบพิธีหุงสรรพยา โดยใช้ดวงใจราชสีห์มาผสมปรุงสรรพยา เพื่อลอบเข้าไปสะกดทัพพระราม

    แต่เกิดมีเค้าลางบอกเหตุให้แก่พระราม ซึ่งพิเภกได้ทูลว่าพระรามจะมีเคราะห์ และจะพ้นเคราะห์ร้ายเมื่อดาวประกายพรึกส่องแสง หนุมานจึงอาสาพระรามปกป้องพระรามด้วยการเนรมิตร่างกายให้ใหญ่โต เพื่ออมพลับพลาที่ประทับไว้อีกชั้นหนึ่ง มัยราพณ์ลอบขึ้นมาเห็นการป้องกันที่เข้มงวดกวดขันก็แปลกใจ จึงแปลงร่างเป็นลิงเข้าไปปะปนเพื่อสืบข่าว ครั้นรู้ถึงสาเหตุจึงคืนร่างเดิมแล้วเหาะตรงไปยังเขาไกรลาศ พร้อมกับกวัดแกว่งกล้องวิเศษให้เกิดแสงสว่างคล้ายกับแสงของดาวประกายพรึก ลวงให้เหล่าเสนาวานรเข้าใจว่าดาวประกายพรึกขึ้นแล้ว และเข้ามาสะกดทัพจับพระรามไปยังเมืองบาดาล

    หนุมานอาสาไปเชิญพระรามกลับมา ระหว่างทางเจอด่านต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเช่น ด่านภูเขากระทบกัน ด่านยุงเท่าแม่ไก่ ด่านสระบัว และพบกับมัจฉานุที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนตนเอง แต่มีหางเป็นปลา หนุมานและมัจฉานุเข้าต่อสู้กันหลายครั้งแต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้ หนุมานเกิดความแปลกใจจึงไต่ถาม และได้รู้ว่ามัจฉานุคือบุตรชายของตนเองกับนางสุพรรณมัจฉา จึงบอกว่าตนเองนั้นคือบิดาแต่มัจฉานุไม่ยอมรับ หนุมานจึงแสดงตนให้ดู

    มัจฉานุยอมรับหนุมานเป็นบิดาและขอโทษที่ล่วงเกิน หนุมานถามถึงหนทางไปเมืองบาดาล แต่มัจฉานุบ่ายเบี่ยงด้วยว่ามัยราพณ์นั้นมีพระคุณกับตน จึงบอกใบ้เป็นปริศนาให้ว่ามาทางไหนก็ให้ไปทางนั้น หนุมานจึงหักก้านบัวแล้วแทรกตัวลงไปเมืองบาดาล และพบกับนางพิรากวน พี่สาวของมัยราพณ์ที่ถูกใช้ให้ออกมาตักน้ำเพื่อใช้สำหรับต้มพระรามและไวยวิกบุตรชาย จึงก่อนแปลงตัวเป็นใยบัวเกาะติดสไบนางพิรากวนลอบเข้าไปในเมือง จนถึงปราสาทที่ประทับและเข้าต่อสู้กับมัยราพณ์

    มัยราพณ์ท้าให้ไปประลองกำลังกันที่ดงตาลท้ายเมือง โดยใช้ต้นตาลสามต้น พันเกลียวจนเป็นกระบองพลัดกันตีคนละสามที และให้สัตย์ปฏิญาณต่อกันว่าจะตกลงทำตามสัญญาที่ให้กันไว้ทุกประการ โดยที่มัยราพณ์เป็นฝ่ายตีก่อน แต่หนุมานร่ายเวทย์เสกผงฝุ่นทาตัว ให้ร่างกายอยู่ยงคงกระพัน ทำให้มัยราพณ์ไม่อาจตีหนุมานให้ตายได้ในสามที ด้วยขัตติยะมานะกษัตริย์จึงยอมปฏิบัติตามคำที่ไว้ให้ หนุมานจึงใช้กระบองตาลฟาดจนมัยราพณ์เสียชีวิต แล้วทูลอัญเชิญพระรามเสด็จกลับพลับพลาที่ประทับ ระหว่างทางมีเหล่าเทพบุตร เทพธิดาพากันโปรยข้าวตอกดอกไม้ แซ่สร้องสรรเสริญ

    โขนในรูปแบบต่าง ๆ

    ละคร

    ภาพยนตร์

    อ้างอิง

    1. ความเหมือนและความแตกต่างของโขนและละครใน
    2. ประวัติและความเป็นมาของโขนในสมัยกรุงศรีอยุธยา
    3. ว่าด้วยการแสดงและการละเล่นอย่างอื่นของชาวสยาม, มหรสพสามอย่างของชาวสยาม,จดหมายเหตุ ลา ลู แบร์ ราชอาณาจักรสยาม, เขียนโดย : มองซิเอร์ เดอ ลาลูแบร์, แปลโดย : สันต์ ท. โกมลบุตร, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2548, หน้า 157
    4. คำนำการแสดงโขนชุดนางลอย, สูจิบัตรการแสดงโขนชุด นางลอย, มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, ระหว่างวันที่ 19 -20 และ 22 -24 พฤศจิกายน 2553, หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
    5. กำเนิดโขน
    6. รอบรู้เรื่องโขน
    7. เครื่องแต่งกายยืนเครื่องโขน
    8. บทพากย์ในการแสดงโขน
    9. การพากย์ การเจรจาในโขน
    10. คำนำการแสดงโขนชุดพรหมมาศ, สูจิบัตรการแสดงโขนชุด พรหมมาศ, มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, ระหว่างวันที่ 25 และ 27 -28 ธันวาคม 2550, หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
    11. การแสดงมหรสพในลิลิตพระลอ
    12. ประวัติและความเป็นมาของโขน
    13. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโขน กรมศิลปากร
    14. โขนในภาษาเบงคาลี, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 32, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    15. ความหมายของโขนตามราชบัณฑิตยสถาน
    16. ที่มาของคำว่าโขน, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 42, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    17. ว่าด้วยการแสดงและการละเล่นอย่างอื่นของชาวสยาม, มหรสพสามอย่างของชาวสยาม,จดหมายเหตุ ลา ลู แบร์ ราชอาณาจักรสยาม, เขียนโดย : มองซิเอร์ เดอ ลาลูแบร์, แปลโดย : สันต์ ท. โกมลบุตร, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2548, หน้า 157
    18. ความนิยมของรามเกียรติ์ในการแสดงโขน
    19. ประเภทของโขน
    20. โขนกลางแปลง, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 48, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    21. การแสดงโขนกลางแปลงในสมัยรัชกาลที่ 1 ระหว่างฝ่ายพลับพลาวังหน้าและฝ่ายลงกาวังหลัง
    22. โขนนั่งราว วิวัฒนาการจากโขนกลางแปลง
    23. โขนโรงใน การผสมผสานระหว่างโขนและละครใน
    24. โขนหน้าจอ, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 52, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    25. โขนหน้าจอ การแสดงของโขนและหนังใหญ่
    26. วิวัฒนาการของโขน, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 53, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    27. โขนสด การแสดงโขนตามแบบฉบับชาวบ้าน
    28. โขนนอกตำรา - โขนนอนโรง, โขน, นงนุช ไพรพิบูลยกิจ, สำนักพิมพ์คอมแพคท์พริ้นท์ จำกัด, 2542, หน้า 50
    29. ตำนานโขนหลวง, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 57, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    30. 'ลูกหมู่' ประวัติความเป็นมาของโขน
    31. โขนสมัครเล่นในรัชกาลที่ 6, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 79, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    32. โขนในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
    33. คนพากย์ เจรจา ต้นเสียง ลูกคู่, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 169, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    34. ลักษณะบทโขนที่ใช้ในการแสดง
    35. ลักษณะบทโขน 6 ประเภท
    36. บทเจรจาของโขน
    37. คำเจรจา, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 174, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    38. เรื่องย่อวรรณคดีไทยชุด รามเกียรติ์
    39. บทละครที่ใช้สำหรับการแสดงโขน
    40. บทละครรามเกียรติ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
    41. บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงธนบุรี
    42. คำกลอนในบทละคร บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1
    43. คำกลอนในบทละคร บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
    44. บทละครเรื่องรามเกียรติ์และบ่อเกิดรามเกียรติ์, บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6,พระนคร, กรมศิลปากร, 2484, หน้า 151, ISBN 974-419-405-7
    45. พระน้อย พระใหญ่ในการแสดงโขน
    46. ตัวละครในการแสดงโขนนาง, โขน, นงนุช ไพรพิบูลยกิจ, สำนักพิมพ์คอมแพคท์พริ้นท์ จำกัด, 2542, หน้า 61
    47. จารีตการฝึกหัดและการแสดงโขนตัวทศกัณฐ์
    48. การขึ้นลอยตัวพระ-ตัวยักษ์, โขน, นงนุช ไพรพิบูลยกิจ, สำนักพิมพ์คอมแพคท์พริ้นท์ จำกัด, 2542, หน้า 60
    49. 49.0 49.1 ตัวละครในการแสดงโขนยักษ์, โขน, นงนุช ไพรพิบูลยกิจ, สำนักพิมพ์คอมแพคท์พริ้นท์ จำกัด, 2542, หน้า 61 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "ตัวละครในการแสดงโขนยักษ์" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
    50. "โขนลิง" วิทยานิพนธ์ดีเด่นจากนักวิชาการรั้วพระเกี้ยว
    51. แนวคิดและวิธีแสดงโขนลิง
    52. เหตุผลในการนุ่งผ้าโจงกระเบนแดง สวมเสื้อขาวในการฝึกหัดโขน
    53. การฝึกหัดโขน
    54. นาฏลีลา การฝึกทักษะท่ารำตัวยักษ์และตัวลิง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรวรรณ ขมวัฒนาและคณะ, องค์การค้าของคุรุสภา, พ.ศ. 2551, หน้า16-33
    55. การเต้นเสา พื้นฐานสำคัญในการแสดงโขน
    56. ตะลึกตึก ศัพท์วิชาการเฉพาะในการหัดเต้นเสา
    57. การหัดหกคะเมนในตัวลิง, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 153, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    58. นาฏยภรณ์ การแต่งกายของโขนแบบยืนเครื่อง
    59. ความหมายของถนิมพิมพาภรณ์
    60. เบื้องหลังโขนพรหมมาศ
    61. ฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน
    62. ประวัติและความเป็นการของเครื่องแต่งกายโขนในสมัยรัตนโกสินทร์
    63. TOR เครื่องแต่งกายชุดพระพรต-งานจ้างทำเครื่องแต่งกายโขน กรมศิลปากร
    64. การแต่งกายของผู้แสดงโขนในตัวละครประเภทต่าง ๆ
    65. การทำหัวโขน
    66. ประวัติหัวโขน
    67. นิยามของหัวโขน
    68. ประเภทของหัวโขนชนิดต่าง ๆ
    69. การจำแนกประเภทของหัวโขนตามฝ่ายเสนายักษ์และเสนาลิง
    70. หัวโขน, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 130, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
    71. พิธีไหว้ครูช่างหัวโขน
    72. ความเชื่อเกี่ยวกับหัวโขน
    73. ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับโขน
    74. ธรรมเนียมในการแสดงโขน, โขน, นงค์นุช ไพรพิบูลยกิจ, สำนักพิมพ์บริษัทคอมแพคท์พริ้นท์ จำกัด, 2542, หน้า 96
    75. ความเชื่อในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการแสดงโขน
    76. การแสดงโขนพรหมาศ
    77. คณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ
    78. การแสดงเฉลิมพระเกียรติ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกพรหมาศ
    79. คำนำการแสดงโขนชุดศึกพรหมาศ, สูจิบัตรการแสดงโขนชุด ศึกพรหมาศ, มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, ระหว่างวันที่ 24 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550, หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
    80. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ทอดพระเนตรการแสดง
    81. ศึกพรหมาศ โขนพระราชินีกับการบรรเลงดนตรีร่วม
    82. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงโขนนางลอย ปี 2553
    83. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงโขนตอน ศึกมัยราพณ์
    84. ราชินีตรัสชม โขนชุดศึกมัยราพณ์
    85. ศึกมัยราพณ์ งดงามอลังการไม่แพ้การแสดงโขน 2 ชุดที่ผ่านมา
    86. การแสดงโขนตอนศึกมัยราพณ์
    87. ปรากฎการณ์ที่น่าแปลกใจ ในการชมโขนศึกมัยราพณ์

    แหล่งข้อมูลอื่น