นกโกโรโกโส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกโกโรโกโส
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Cuculiformes
วงศ์: Cuculidae
สกุล: Carpococcyx
สปีชีส์: C.  renauldi
ชื่อทวินาม
Carpococcyx renauldi
Oustalet, 1896
นกโกโรโกโสในกรงเลี้ยง สวนสัตว์โตรอนโต
ภาพระยะใกล้ของนกโกโรโกโส ที่สวนนก เมือง Walsrode

นกโกโรโกโส (ชื่อวิทยาศาสตร์: Carpococcyx renauldi; อังกฤษ: coral-billed ground-cuckoo) เป็นนกที่อาศัยบนพื้นขนาดค่อนข้างใหญ่ ในวงศ์นกคัดคู (Cuculidae) เป็นนกประจำถิ่นของไทยและพบในลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ลักษณะเด่นคือ ลำตัวสีเทา หัว คอ และหางยาวสีน้ำเงินม่วงเข้ม จะงอยปากสีแดงสด ขาสีแดงเข้ม คาดว่าขนาดประชากรลดลงอย่างมาก และสภานะในปัจจุบันของนกโกโรโกโสอยู่ในระดับเกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU)

อนุกรมวิธานและศัพทมูลวิทยา

นกโกโรโกโส (Carpococcyx renauldi) ชื่อลักษณะเฉพาะตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส เจ. เอ็น. เรโนลด์ (ค.ศ. 1838–1898) ซึ่งรวบรวมตัวอย่างพันธุ์พืชและสัตว์ในเวียดนามจำนวนมากระหว่างงานเผยแผ่ศาสนาในเวียดนาม และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเวียดนามในปี พ.ศ. 2441[2]

ชื่ออื่น: นกอีโหลง นกขายหมู[3]

ในเอเซียสกุลนกโกโรโกโส (Carpococcyx) หรือเรียกนกคัดคูดินเอเชีย วงศ์นกคัดคู (Cuculidae) มี 3 ชนิด นกโกโรโกโส (C. renauldi) เป็นชนิดที่หาดูได้กว่าอีก 2 ชนิดหนึ่ง คือที่พบบนเกาะบอร์เนียว (นกโกโรโกโสบอร์เนียว –C. radiceus; Bornean Ground Cuckoo) และ ชนิดที่พบที่เกาะสุมาตรา (นกโกโรโกโสสุมาตรา –C. viridis; Sumatra Ground Cuckoo)

ลักษณะ

นกโกโรโกโสเป็นนกที่อาศัยบนพื้น และมีรูปลักษณะแบบไก่ฟ้า[4] ลักษณะที่โดดเด่นโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่แจ้งคือ ลำตัวบนมีสีเทาออกฟ้า และสีเทาอ่อนด้านล่าง หัว คอ อก ขนปีกนอกและหางยาวสีน้ำเงินม่วงเข้ม[4] เป็นมันแกมเขียว[5] อกล่างสีเทาออกเหลืิอง ขาสีแดงเข้ม ค่อนข้างยาว[6] ขนคลุมแข้งสีเทาอ่อน[7] ระหว่างรอบคอสีดำและอก-หลังสีเทาอาจมีแถบขนสีขาวคั่นบาง ๆ ปีกสีเทา หรือเป็นสีเทาอ่อนไล่จากเข้มสุดบนปีกและหลังไปจนเป็นสีขาวที่อก[8] เมื่อกางปีกตะโพกเทาแกมน้ำตาล จะงอยปากสีแดงสด ค่อนข้างหนาและโค้งงุ้มเล็กน้อย รอบตามีขนหรอมแหรม หนังรอบตาสีน้ำเงินม่วงหรือม่วงแดง ตาเหลือง

มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ความยาววัดจากปลายปากถึงปลายหางประมาณ 65–70 เซนติเมตร[6] ขนาดลำตัวยาว หางสีดำยาวประมาณ 35 เซนติเมตร[6]

นกโตเต็มวัยตัวผู้และตัวเมียสีสันคล้ายคลึงกัน[9] ขนหางในตัวผู้มีความยาวระหว่าง 29 และไม่เกิน 35 เซนติเมตร ในตัวเมียมีความยาวเฉลี่ย 33 เซนติเมตร

นกรุ่น มีหัวสีน้ำตาลเข้ม หน้าผากสีน้ำตาลแดง หนังรอบตาสีเทา ลำตัวส่วนบนเป็นสีน้ำตาล ส่วนล่างมีสีน้ำตาลแดง จะงอยปากสีน้ำตาลเข้ม[10]

การแพร่กระจายพันธุ์

เป็นนกประจำถิ่นของไทย[7][11] ลาว กัมพูชา และเวียดนาม[12] อาศัยในป่าหญ้ารก ในป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง ตั้งแต่พื้นที่ราบไม่เกินความสูง 900 เมตร จากระดับน้ำทะเล[6][5][13] พบได้ค่อนข้างยาก ในประเทศไทยอาจพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือและเฉียงใต้[6][14] ได้แก่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำยม จังหวัดแพร่[9] มีรายงานการพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก[5] ในอินโดจีนอาจพบได้น้อยมากในพื้นที่ที่สูงไม่เกิน 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล[13][15]


พฤติกรรมและนิเวศวิทยา

นกโกโรโกโสเป็นนกที่อาศัยและหากินตามพื้นดินบริเวณที่มีลูกไม้หรือที่ปกคลุมแน่นด้วยพืช ชอบซ่อนตัวอยู่ตามกอหญ้า ถ้าถูกรบกวนจะวิ่งหนีอย่างรวดเร็ว มักไม่ค่อยบินแม้ว่าจะบินได้เร็ว[6] พบเห็นได้ยากแม้มีขนาดใหญ่[4] เวลานอนจะขึ้นไปเกาะบนต้นไม้หรือกิ่งไผ่ที่ไม่สูงมาก ประมาณไม่เกิน 10 เมตร จากพื้นดินเช่นเดียวกับพวกไก่ และไก่ฟ้า[6]

เสียงร้องก้องดัง พยางค์แรกสั้น "ปู๊ป ปู้-วุ้บ" และ "วู้ว" ดังไกล ลากเสียงเล็กน้อย[4][5]

การหาอาหาร

หาอาหารบนพื้นดิน อาหารได้แก่ แมลง ตัวหนอน สัตว์ขนาดเล็ก ปลวก ผลไม้ลูกไม้สุกที่หล่นจากต้น เช่น ไทร หว้า และตะขบป่า กินลูกไม้ เมล็ดพืช แมลงและสัตว์ขนาดเล็ก[6] นอกจากนี้การดักถ่ายด้วยกล้อง ยังพบว่านกโกโรโกโสมีพฤติกรรมเดินหากินตามสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อย่างกวางและหมูป่า[8]

การผสมพันธุ์

ผสมพันธุ์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน[3] นกโกโรโกโสเป็นนกในวงศ์นกคัคคูเช่นเดียวกับแม่นกกาเหว่าซึ่งไม่ทำรังเลี้ยงลูกของตัวเอง แต่นกโกโรโกโสทำรังและเลี้ยงลูกเอง โดยจะวางไข่ครั้งละ2–4ฟอง[9] ทำรังบนต้นไม้[6] สูงประมาณ 3–4 เมตร หรืออาจบนกิ่งไม้ที่เรี่ยพื้น[10]

ระยะฟักตัว 18 ถึง 19 วัน ลูกนกเพิ่งฟักไม่มีขนและมีผิวสีน้ำตาลเข้ม เปิดตาในวันที่ห้า และออกจากรังเมื่ออายุระหว่าง 17 ถึง 19 วัน เริ่มหาอาหารเองในวันที่ 28 ของชีวิต และแยกรังเมื่ออายุ 50 ถึง 60 วัน[10]

การศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับชีววิทยาการสืบพันธุ์ของนกชนิดนี้มีไม่มากโดยเฉพาะนกในธรรมชาติ คาดว่าคงไม่แตกต่างจากพวกนกบั้งรอกมากนัก[6]

การอนุรักษ์

ไม่มีการประมาณขนาดประชากรที่ชัดเจน[10] พบน้อยในถิ่นอาศัยที่เหมาะสม หรือ พบเห็นได้เฉพาะบางพื้นที่[11][13]

คาดว่าประชากรในประเทศไทยนกโกโรโกโสและอินโดจีนลดลง เนื่องจากแรงกดดันจากการล่าเพื่ออาหารและการค้านกที่เพิ่มขึ้น[13][10] จากหลักฐานการเพิ่มขึ้นของการล่าโดยใช้แร้วดักนก (cable-snaring) ประมาณว่าอัตราการลดจำนวนประชากรของนกโกโรโกโสใน 3 ประเทศคาดว่าน่าจะลดลงถึงร้อยละ 80 ในระยะเวลาเพียงสิบกว่าปี[13][8][16] ตลอดจนการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย[13] จากปัจจัยข้างต้นทำให้สภานะในปัจจุบันของนกโกโรโกโสอยู่ในระดับเกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU) ในบัญชีแดงของ IUCN[13][8]

ในประเทศไทย

นกโกโรโกโส (C. renauldi) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[6][12] [10] และถูกจัดแสดงในสวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว[14]

อ้างอิง

  1. แม่แบบ:Url=https://www.iucnredlist.org/details/22684138/0
  2. Beolens, Bo (2003). Whose bird? : men and women commemorated in the common names of birds. Michael Watkins. London: Christopher Helm. ISBN 0-7136-6647-1. OCLC 52357299.
  3. 3.0 3.1 นกโกโรโกโส. สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2564.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "นกโกโรโกโส - eBird". ebird.org.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "นกโกโรโกโส Coral-billed Ground Cuckoo ( Carpococcyx renauldi (Oustalet, 1896) )". www.lowernorthernbird.com.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 นกโกโรโกโส/Coral-billed Ground-cuckoo (Carpococcyx renauldi). องค์การสวนสัตว์. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2564.
  7. 7.0 7.1 "นกโกโรโกโส Coral-billed Ground Cuckoo – ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย".
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "นกโกโรโกโส (Coral-billed Ground Cuckoo; Carpococcyx renauldi) จากบล็อก โอเคเนชั่น oknation.net". oknation.nationtv.tv.
  9. 9.0 9.1 9.2 "Bloggang.com : : จันทร์น้อย : นกโกโรโกโส". BlogGang.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 Erhitzøe, Mann, Brammer, Fuller: Cuckoos of the World. S. 211. ISBN 978-0-7136-6034-0
  11. 11.0 11.1 "นกโกโรโกโส Coral-billed Ground Cuckoo". Birds of Thailand: Siam Avifauna.
  12. 12.0 12.1 "นกโกโรโกโส - สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า". www.thaiwildlife.info.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 International), BirdLife International (BirdLife (2018-08-06). "IUCN Red List of Threatened Species: Carpococcyx renauldi". IUCN Red List of Threatened Species.
  14. 14.0 14.1 นกโกโรโกโส DooAsia. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2564.
  15. Payne, R. & de Juana, E. (2018). Coral-billed Ground-cuckoo (Carpococcyx renauldi). In: del Hoyo, J., Elliott, A., Sargatal, J., Christie, D.A. & de Juana, E. (eds.). Handbook of the Birds of the World Alive. Lynx Edicions, Barcelona.
  16. Andy Symes (2018-04-17). "Archived 2018 topic: Coral-billed Ground-cuckoo (Carpococcyx renauldi): revise global status?". BirdLife's Globally Threatened Bird Forums (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).