สาลี่ (สกุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สกุลสาลี่
European pear ลูกแพร์ หรือสาลี่ยุโรป
สาลี่จีน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Rosales
วงศ์: Rosaceae
สกุล: Pyrus
L.
ชนิด

ประมาณ 30 ชนิด; see text

สกุลสาลี่ หรือ สกุลแพร์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pyrus) ในวงศ์ย่อย Amygdaloideae วงศ์ Rosaceae เป็นไม้ผลที่ปลูกและใช้บริโภคกระจายทั่วทุกทวีป มีถิ่นกำเนิดในบริเวณชายฝั่งและเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่น (temperate) ของยุโรป แอฟริกาเหนือ และเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10–17 เมตร ทรงค่อนข้างสูงชะลูด บางชนิดเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ ผลเดี่ยวรูปร่างกลม หรือทรงลูกแพร์ เนื้อนุ่มฉ่ำ หวานอมเปรี้ยว ผิวบาง แกนแข็งเป็นพูหุ้มเมล็ดข้างใน ไม้ผลสกุลสาลี่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับการบริโภคผลไม้สดหรืออบแห้ง เป็นน้ำผลไม้ และปลูกเป็นวัสดุที่เป็นที่ต้องการในอุตสากรรมไม้ เช่นในการผลิตเครื่องเป่าลมไม้และเฟอร์นิเจอร์คุณภาพสูง สายพันธุ์แพร์ที่เป็นที่รู้จักและปลูกมีประมาณ 3,000 พันธุ์ทั่วโลก ซึ่งแตกต่างกันไปทั้งรูปทรง สี ผิว รสชาติ และเนื้อสัมผัส ในประเทศไทยมีการทดลองปลูกสาลี่พันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่สูงทางภาคเหนือเช่น เชียงใหม่และเชียงราย แต่พบว่าในระยะแรกมีการเจริญเติบโตที่ช้ามากเนื่องจากไม่ได้รับสภาพอากาศที่มีความหนาวเย็นเพียงพอ จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร[1] ต่อมามีการนำเข้าสาลี่พันธุ์ลูกผสมจากเกาะไต้หวันมาทดลองปลูก ซึ่งสามารถติดดอกออกผลได้ดีและมีคุณภาพ จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา[2][3]

ผลสาลี่ เป็นผลไม้ที่ให้คุณค่าทางอาหารที่ดี มีวิตามินบี1 บี2 วิตามินซี และแร่ธาตุต่างๆ มีสรรพคุณแก้ร้อนใน ละลายเสมหะ ช่วยขับลมและระงับอาการไอ[1]

ศัพทมูลวิทยา

ไม้ผลสกุลสาลี่ไม่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ในภาษาไทยจึงยืมมาจากภาษาอื่น คำว่า สาลี่ มาจาก "ซาหลี" ในภาษาจีน (จีน: 沙梨; พินอิน: shālí, แปลตามตัว: แพร์ทราย) ซึ่งที่จริงแล้ว ซาหลี (沙梨) นี้เป็นเพียงไม้ผลชนิดหนึ่งในสกุลนี้ คือสาลี่จีน (ที่มีผิวสีน้ำตาลผลกลมใหญ่—Pyrus pyrifolia) ทั้งนี้ชื่อภาษาจีนโดยรวมสำหรับกลุ่มไม้ผลทุกชนิดในสกุลนี้ คือ "หลี" (梨) และสกุลสาลี่ หรือ สกุลแพร์ คือ "หลีสู่" (梨属) ส่วนคำว่า แพร์ หรือ ลูกแพร์ ในภาษาไทยนั้นก็เป็นเพียงไม้ผลชนิดหนึ่งในสกุลนี้เช่นกัน คือสาลี่ยุโรป (ที่มีสีเขียวอมแดงกลิ่นหอมจัดและมีทรงลูกแพร์—Pyrus communis) ในภาษาจีนเรียก "ซีหยางหลี" (西洋梨 —ลูกแพร์ตะวันตก)

ส่วนคำว่า แพร์ ยืมมาจากภาษาอังกฤษ pear ซึ่งอาจมีรากศัพท์จากกลุ่มภาษาเจอร์แมนิก pera ที่อาจยืมมาจากภาษาละตินพื้นบ้าน pira (พหูพจน์ pirum) คล้ายกับ apios ในภาษากรีก (จากภาษากรีกไมซีนี ápisos)[4] ในกลุ่มภาษาเซมิติก pirâ แปลว่า "ผลไม้" และคำคุณศัพท์ pyriform หรือ piriform หมายถึง "ทรงลูกแพร์"[ต้องการอ้างอิง]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พืชสกุลสาลี่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณชายฝั่งและเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่น (temperate) ของโลกเก่าจากชายฝั่งยุโรปตะวันตก แอฟริกาเหนือ จนถึงเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10–17 เมตร ทรงค่อนข้าวสูงชะลูด บางชนิดเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ผลัดใบ เฉพาะบางชนิดในตอนใต้ของจีนและเกาะไต้หวันที่ไม่ผลัดใบ พืชสกุลสาลี่ส่วนใหญ่ทนต่ออากาศหนาวอูณหภูมิ −25 to −40 °ซ. ในฤดูหนาว ยกเว้นชนิดที่ไม่ผลัดใบมี่มนได้เพียง −15 °ซ.

ใบ หลายขนาด ยาวตั้งแต่ 2-12 เซนติเมตร สีเขียวเป็นมัน บางชนิดมีขนปกคลุมสีออกขาวเงิน ทรงใบจ่าง ๆ ตั้งแต่รูปวงรีกว้าง รูปใบหอกแคบ

ดอกสีขาว พบน้อยชนิดที่มีสีอื่นเช่น เหลือง หรือ ชมพู ขนาด 2-4 เซนติเมตร และมี 5 กลีบ[5]

ผลเดี่ยว เนื้อนุ่ม ผิวบาง แกนแข็งเป็นพูหุ้มเมล็ดข้างใน (ซึ่งผลไม้แบบนี้เรียก pome —ผลไม้ที่ลักษณะแบบผลแอปเปิ้ล) ในชนิดที่เป็นพืชป่าผลมีขนาดเล็ก 1-4 เซนติเมตร ส่วนชนิดที่เพาะปลูกขนาดใหญที่สุดโดยเฉลี่ย ยาว 18 เซนติเมตร กว้าง 8 เซนติเมตร รูปทรงของผลมีหลากหลาย ตั้งแต่ทรงกลมถึงทรงยาวรีก้นกว้าง ซึ่งเรียกว่า ทรงลูกแพร์ (pyriform, pear shape) ที่พบในแพร์

บางครั้งไม่สามารถแยกแยะ สาลี่ (แพร์) และแอปเปิ้ล ได้ด้วยรูปแบบของผลเสมอไป[6] ผลแพร์บางชนิดมีลักษณะคล้ายผลแอปเปิ้ลเช่น สาลี่จีน ความแตกต่างที่สำคัญคือ เนื้อของสาลี่มีเนื้อทราย (สเกลอรีดSclereid) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ สาลี่ (ซาหลี—沙梨)

ประวัติ

การเพาะปลูกลูกแพร์ในสภาพอากาศเย็น ย้อนไปถึงสมัยโบราณและมีหลักฐานการใช้เป็นอาหารตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการพบร่องรอยมากมายการใช้เป็นไม้สร้างในอาคารบ้านเรือนสมัยก่อนประวัติศาสตร์รอบทะเลสาบซูริก สาลี่ได้รับการปลูกในประเทศจีนตั้งแต่ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล บทความเกี่ยวกับการปลูกต้นแพร์ในสเปนถูกนำมาลงไว้ในงานเกษตรกรรมในศตวรรษที่ 12

ชนิดที่สำคัญ

การเพาะปลูก

จากข้อมูลของ Pear Bureau Northwest พบว่ามีไม้ผลสกุลสาลี่ประมาณ 3,000 ชนิดทั่วโลก[7] โดยปกติสาลี่จะขยายพันธุ์โดยการต่อกิ่งพันธุ์ที่บนต้นตอซึ่งอาจเป็นต้นสาลี่ท้องถิ่น หรือควินซ์ (quince ไม้ผลข้ามสายพันธุ์ของแอปเปิ้ลและสาลี่) จะได้ต้นที่มีขนาดไม่สูงซึ่งมักเป็นที่ต้องการในการทำสวนผลไม้เชิงพาณิชย์ หรือแม้แต่สวนในบ้าน ซึ่งให้ผลเมื่อมีอายุมากกว่าหนึ่งปี[8]

สาลี่ 3 ชนิดที่มีความสำคัญที่เป็นพืชเศรษฐกิจในการผลิตผลไม้สดส่วนใหญ่คือ แพร์ (สาลี่ยุโรป–Pyrus communis) ส่วนมากปลูกในยุโรปและอเมริกาเหนือ สาลี่เป็ดของจีน (ไป่หลี่ หรือ สาลี่ขาว–Pyrus × bretschneideri)[9] และสาลี่จีน (nashi pear –Pyrus pyrifolia) (หรือที่เรียกว่า สาลี่เอเชีย หรือสาลี่แอปเปิ้ล) ซึ่งสองชนิดหลังส่วนมากปลูกในเอเชียตะวันออกเป็นหลัก สาลี่ทั้งสามชนิดมีการคัดเลือกพันธุ์จนมีหลายพันพันธุ์ปลูก (cultivar) สาลี่ชนิดอื่น ๆ ที่ปลูกและให้ผลผลิดระดับรอง ๆ ลงไปเช่น P. sinkiangensis และ P. pashia

สาลี่ชนิดอื่นที่ใช้เป็นต้นตอสำหรับแพร์ในยุโรปและเอเชียและเป็นไม้ประดับตามแต่ละพื้นที่ที่ชนิดนั้นเป็นสาลี่ท้องถิ่น ไม้แพร์ เป็นไม้เนื้อละเอียด ในอดีตก็ถูกใช้เป็นไม้พิเศษสำหรับเฟอร์นิเจอร์ชั้นดีและทำบล็อกสำหรับตัดไม้ซึ่งให้ความละเอียดเป็นพิเศษ

อ้างอิง

แม่แบบ:รายการอ้างอิง/30

  1. 1.0 1.1 "สาลี่ ปลูกในเมืองไทยจะดีไหมหนอ". blog.arda.or.th (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-08-07.
  2. "พันธุ์สาลี่ที่นิยมปลูกในประเทศไทย – วิชาการเกษตร ปลูกผัก ทำไร่ ไถนา" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  3. "พีช+สาลี่..โครงการหลวง ไม้ผลเมืองหนาวจากไทยไปยุโรป?". www.thairath.co.th. 2018-07-30.
  4. Harper, Douglas. "pear". Online Etymology Dictionary.
  5. Pear Fruit Facts Page Information. bouquetoffruits.com
  6. The New Werner Twentieth Century Edition of the Encyclopaedia Britannica: A Standard Work of Reference in Art, Literature, Science, History, Geography, Commerce, Biography, Discovery and Invention (ภาษาอังกฤษ). Werner Company. 1907. p. 456.
  7. "Pear Varieties". Usapears.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 June 2014. สืบค้นเมื่อ 9 August 2014.
  8. RHS Fruit, Harry Baker, ISBN 1-85732-905-8, pp100-101.
  9. "ชวนเลือกสาลี่ พันธุ์ไหนดี ถึงจะหวานกรอบถูกใจใช่เลยกันนะ – อะไรดีวะ" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).