ไม้เลื้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลู ไม้เลื้อยชนิดหนึ่งเป็นที่รู้จักดีในประเทศไทย

ไม้เลื้อย หรือ ไม้เถา คือ พืชที่ไม่มีเนื้อไม้แข็ง ทำให้ไม่สามารถทรงตัวได้โดยลำพัง ลำต้นเลื้อยไปตามดินหรือพันสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงเป็นที่ยึดเกาะเพื่อพยุงให้ลำต้นเจริญอยู่ได้ โดยอาจมีอวัยวะพิเศษช่วยในการเกี่ยวยึด เช่น ราก มือเกาะ ขอเกี่ยว[1] ไม้เลื้อยเป็นประเภทหนึ่งการจำแนกพืชตามโครงสร้างและทรงของลำต้น คือ ไม้ยืนต้นหรือไม้ต้น, ไม้พุ่ม, ไม้ล้มลุกหรือพืชลำต้นอ่อนและ ไม้เถาหรือไม้เลื้อย (vines หรือ climber)

การเลื้อย

มือเกาะ (tendril)
เถาองุ่นเลื้อยปกคลุมปล่องไฟ

พืชประเภทไม้เลื้อย หรือไม้เถา โดยทั่วไปเจริญเติบโตมีลำต้นเลื้อย (trailing stem) ตั้งแต่เริ่ม เช่น พวงชมพู กระเทียมเถา สร้อยอินทนิล[2] บอระเพ็ด ตำลึง อัญชัน[3] กลอย นมตำเลีย[4] เป็นต้น บางครั้งไม้เลื้อยอาจรวมพืชจำพวกไม้รอเลื้อย (scandent) หรือที่เรียก ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย, ไม้พุ่มกึ่งไม้เถา, หรือ ไม้พุ่มรอเลื้อย ซึ่งเติบโตเป็นพุ่ม (shrub) ในช่วงแรกสามารถทรงตัวอยู่ได้เมื่อขึ้นอยู่ตามลำพัง และแตกกิ่งก้านรอบทิศโดยกิ่งก้านไม่เลื้อยทอดลงดิน ต่อเมื่อกิ่งก้านบางส่วนทอดเอนเข้าใกล้ต้นไม้อื่นหรือสิ่งอื่นที่อยู่ใกล้เคียง กิ่งก้านนั้นจะเลื้อยพันสิ่งนั้น ๆ (เป็นไม้เลื้อยในบางเวลาเเมื่อทอดเอนกับสิ่งยึดเกาะได้) [2][5][6] เช่น ถอบแถบน้ำ สักขี สำมะงา[7] การเวก นมแมว โนรา เฟื่องฟ้า[2][5] เป็นต้น

วัตถุประสงค์

ไม้เลื้อย มีลำต้นที่มีรูปแบบการเจริญเติบโตแบบอาศัยการเลื้อย พัน เกาะ ด้วยวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ ไม้เลื้อยวิวัฒนาการโดยสร้างตามแนวยาว (ยืดยาว) แทนที่จะลงทุนใช้พลังงานจำนวนมากในการสร้างเนื้อเยื่อ (เนื้อไม้) ที่ใช้เป็นโครงสร้างในการทรงตัว และอาจอาศัยหินที่เปิดโล่ง พืชอื่น หรือสิ่งพยุงอื่น ๆ ในการสนับสนุนการเจริญเติบโต และสามารถเข้าถึงแสงแดดได้ด้วยการลงทุนพลังงานน้อยที่สุด เป็นรูปแบบการเจริญเติบโตที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในพืชเช่น พวงชมพู สายน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์รุกรานในบางส่วนของอเมริกาเหนือ และขี้ไก่ย่าน ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์รุกรานในประเทศไทย ไม้เลื้อยเขตร้อนบางชนิดเจริญเติบโตแบบเบนออกจากแสง (skototropism ― ในทางตรงข้ามของการเบนเข้าหาแสง) พยายามงอกไปยังทิศทางที่ไม่มีแสง การเจริญเติบโตลักษณะนี้เพื่อทำให้กิ่งก้านของไม้เลื้อยงอกไปถึงโคนต้นไม้ และอาศัยปีนขึ้นไปยอดไม้ที่สว่างกว่าได้อย่างรวดเร็ว[8]

รูปแบบการเจริญเติบโตของไม้เลื้อยอาจสามารถครองพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องปีนสูง เช่น แพงพวยฝรั่ง และ หูเสือเลื้อยใบด่าง (Glechoma hederacea) นอกจากนี้ไม้เลื้อยสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ เช่น เถาของไม้เลื้อยสามารถหยั่งรากลงดินในพื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์เป็นหย่อม ๆ มีดินน้อยหรือไม่มีเลย และใบส่วนใหญ่ยังเจริญเฉพาะในบริเวณที่สว่างและโล่งหรือมีแสงแดดส่องถึงเป็นช่วง ๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากทั้งสองสภาพแวดล้อม

วิวัฒนาการและกลไกการเลื้อย

Twining vine / bine (Fockea edulis)
Tendril-supported vine (Brunnichia ovata)

วิวัฒนาการของพฤติกรรมของไม้เลื้อย แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการวิวัฒนาการและสร้างความหลากหลายของพันธุ์พืช วิวัฒนาการอย่างอิสระในพืชหลายกลุ่มนี้สร้างวิธีการเลื้อยที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • ลำต้นพัน ― ลำต้นไต่ขึ้นที่สูงโดยงอกปลายยอดพันสิ่งพยุง (twining stem, เรียกพืชจำพวกนี้ว่า twiner) เช่น พืชสกุลมอร์นิ่งกลอรี่และผักบุ้ง (Ipomoea), สังวาลย์พระอินทร์, วีสเตียเรีย
  • รากเกาะ ― การงอกและยึดด้วยราก (root climbing, เรียกพืชจำพวกนี้ว่า root climber) เช่น พลู (พืช) พริกไทย ไม้เลื้อยสายพันธุ์ Hedera)
  • ก้านใบเลื้อย หรือยอดใบพันสิ่งพยุง เช่น กล็อกซิเนียเลื้อย สกุลพวงแก้วกุดั่น การพันเลื้อยด้วยก้านใบมักไม่ทำลายโครงสร้างอาคารที่มันยึดเกาะ[9]
  • มือเกาะ ― โดยการสร้าง 'ส่วนขยาย' ที่ไวต่อการสัมผัส (tendril) ซึ่งหมุนเกลียวรอบวัตที่เป็นสิ่งพยุงและไต่ขึ้นที่สูงอย่างมีเสถียรภาพ ยังสามารถใช้เป็น "ขอเกี่ยว" แทรกเข้าในรู รอยแตก และรอยแยก ได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง[10]
    • มือเกาะงอกจากส่วนของลำต้น (stem tendril, เรียกพืชจำพวกนี้ว่า stem tendril climber) เช่น พืชวงศ์องุ่น (Vitaceae)
    • มือเกาะที่เกิดจากใบ (leaf tendril, เรียกพืชจำพวกนี้ว่า petiole climber) เช่น พืชวงศ์แคหางค่าง (Bignoniaceae)[11][12] มือเกาะที่งอกออกที่ยอดของใบประกอบ (leaflet tendril) เช่น ถั่วลันเตา[13] เกิดจากปลายใบ (apex) เช่น ดองดึง[12] หรือ สร้างจากใบและหูใบ (leaf blade) เช่น Lathyrus aphaca
    • หรือแม้แต่มือเกาะที่เกิดจากช่อดอกหรือกลีบดอก (flower tendril) เช่น พืชสกุลกะทกรก[14] พวงชมพู
  • มือเกาะจำพวกตีนกาว ที่มีแผ่นกาวที่ปลายรากอากาศหรือมือเกาะ ซึ่งยึดติดแน่นกับสิ่งพยุงและจะทิ้งรอยไว้บนตัวพยุงเมื่อลอกหรือแกะออก เช่นกำแพง (clinging aerial rootlets หรือ root tendril) เช่น เถาคันแดง (Parthenocissus quinquefolia) มะเดื่อเถา (หรือเรียก ตีนตุ๊กแกเกาะผนัง ―Ficus pumila)
  • ใช้หนามเกี่ยวเพื่อปีนขี้นสูงและขณะเดียวกันกดให้พืชอื่นลงด้านล่าง เช่น กุหลาบเลื้อย หรือโครงสร้างขอเกี่ยวอื่น ๆ เช่น พืชสกุลการเวก กระดังงาจีน (Artabotrys hexapetalus) เรียกพืชจำพวกนี้ว่า rambler

ในรูปแบบอื่นได้แก่ เฟตเทอร์บุช (Pieris phillyreifolia) เป็นไม้เถาที่เลื้อยโดยไม่มีรากเกาะ มือเกาะ หรือหนาม แต่ใช้การแทรกลำต้นของมันเข้าไปในรอยแยกในเปลือกของไม้ยืนต้นที่มีเปลือกเป็นเส้นใย ลำต้นเฟตเทอร์บุชภายในเปลือกของต้นไม้อื่นมีลักษณะแบนเป็นพิเศษและงอกกิ่งออกมาจากซอกไม้เป็นระยะ ๆ และถี่ขึ้นในจุดที่มีแสงส่องเช่น ใกล้ยอดไม้

ไม้เลื้อยส่วนใหญ่เป็นไม้ดอก ไม้เลื้อยยังแบ่งได้เป็นพวกมีผิวไม้ (มีลำต้นแข็ง) เช่น วีสเตียเรีย กีวี และบอระเพ็ด และไม้เลื้อยที่เป็นไม้ล้มลุก (มีลำต้นอ่อน) เช่น มอร์นิ่งกลอรี่

กลุ่มไม้เลื้อยแปลกกลุ่มหนึ่งคือเฟิร์นสกุลย่านลิเภา (Lygodium) ซึ่งเป็นเฟิร์นเถา เลื้อยด้วยใบ โดยการคลี่ใบออกจากปลายและงอกยาวออกไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด จนปกคลุมก่อตัวเป็นพุ่มเมื่อบนต้นไม้ หรือก้อนหิน[15]

ศัพทมูลวิทยา

ไม้เลี้อย บางครั้งอาจเรียก ไม้เถา หรือ ไม้เถาเลื้อย ในภาษาอังกฤษ โดยทั่วไปไม้เลื้อยเรียก vine มาจากภาษาละติน vīnea "เถาองุ่น" (grapevine) และ "ไร่องุ่น" (vineyard) ซึ่งมาจาก vīnum แปลว่า "ไวน์" (wine) และในบางพื้นที่ไม้เลื้อยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ vine คือพืชไม้เลื้อยเฉพาะสกุลองุ่น และ climber หรือ climbing plant สำหรับไม้เลื้อยชนิดอื่นที่เหลือ

ในภาษาจีน 藤本植物 (Téngběn zhíwù, เถิงเปิ่นจึอู้) แปลตามตัวว่า "พืชเถา" หมายถึง ไม้เถา หรือพืชตระกูลหวาย

อ้างอิง

  1. "ไม้เลื้อย". www.nectec.or.th.
  2. 2.0 2.1 2.2 "plant". il.mahidol.ac.th.
  3. "สมุนไพรประเภท ไม้เถา,ไม้เลื้อย". Herbs In Thailand.
  4. "ไม้เลื้อย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ". www.saranukromthai.or.th.
  5. 5.0 5.1 "เกร็ดพรรณไม้ เรื่อง ไม้ยืนต้น...ไม้พุ่ม...ไม้ล้มลุก...ไม้เถา...ไม้เลื้อย..." ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. 2019-07-10.
  6. "Creepers". mannuthynursery. สืบค้นเมื่อ 17 July 2013.
  7. "ข่าวประชาสัมพันธ์ - ป่าชายเลน25, สถานี25, st25, สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 25 (อ่าวลึก), ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 16 (อ่าวลึก กระบี่)". dmcrth.dmcr.go.th.
  8. Glimn-Lacy, Janice; Kaufman, Peter B. (2006). Botany Illustrated. Springer. doi:10.1007/0-387-28875-9. ISBN 978-0-387-28870-3.
  9. "Climbing Plants with Petiole Tendril (Leaf Stalk Tendrils)". www.fassadengruen.de.
  10. "Stem Tendril Climbers". www.fassadengruen.de.
  11. "Figure 1. Sample of climbing organs found in Bignonieae. —A..." ResearchGate (ภาษาอังกฤษ).
  12. 12.0 12.1 Sousa-Baena, Mariane S.; Sinha, Neelima R.; Hernandes-Lopes, José; Lohmann, Lúcia G. (2018-04-03). "Convergent Evolution and the Diverse Ontogenetic Origins of Tendrils in Angiosperms". Frontiers in Plant Science. 9: 403. doi:10.3389/fpls.2018.00403. ISSN 1664-462X. PMC 5891604. PMID 29666627.{{cite journal}}: CS1 maint: PMC format (ลิงก์)
  13. www.studiestoday.com https://www.studiestoday.com/useful-resources-science-cbse-class-6-science-getting-know-plants-exam-notes-241372.html. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  14. Koch, Ana Kelly; Ilkiu-Borges, Anna Luiza (2016). "Flora das cangas da Serra dos Carajás, Pará, Brasil: Passifloraceae". Rodriguésia. 67 (5spe): 1431–1436. doi:10.1590/2175-7860201667543. ISSN 2175-7860.
  15. "ลิเภา - ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบล : phargarden.com". www.phargarden.com.