นกคอสามสี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกคอสามสี
นกคอสามสี ที่พบในกรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Eupetidae Bonaparte, 1850
สกุล: Eupetes Temminck, 1831
สปีชีส์: macrocerus
ชื่อทวินาม
Eupetes macrocerus
Temminck, 1831
แผนที่การแพร่กระจายพันธุ์ นกคอสามสี
ภาพวาดประกอบ นกคอสามสี
คิ้วสีขาวสองแถบของนกคอสามสี คล้ายราง

นกคอสามสี (อังกฤษ: Rail-babbler; ชื่อวิทยาศาสตร์: Eupetes macrocerus) เป็นนกกินแมลงบนพื้นป่าในวงศ์นกคอสามสี (Eupetidae) ซึ่งมีเพียงสกุลเดียวและชนิดเดียว นกคอสามสีมีขนตัวและหางสีน้ำตาลล้วน แต่มีขนหัวและคอหลายแถบสี รวมทั้งผิวหนังคอที่พองลมโป่งออก 2 ข้างสีน้ำเงินเหลือบ เสียงร้องและพฤติกรรมการพองหนังคอคล้ายกบ อาจเหมาะในการสื่อสารในถิ่นอาศัยบนพื้นป่าดิบชื้นที่มีแสงส่องถึงพื้นน้อย บนคาบสมุทรมลายูตั้งแต่พังงา - สุราษฎร์ธานีลงไป เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว อย่างไรก็ตามพฤติกรรมที่สันโดษและขี้อายทำให้นกชนิดนี้เป็นที่รู้จักน้อยและทำการศึกษาได้ค่อนข้างยาก

อนุกรมวิธาน

นกคอสามสี (Eupetes macrocerus) เป็นนกที่ได้รับความเห็นต่างในการจัดอนุกรมวิธานโดยแรกเริ่มถูกจัดอยู่ในวงศ์นกกินแมลงและนกกะราง (Timaliidae) ต่อมาเมื่อไม่นานได้ถูกจัดไปอยู่ในวงศ์ Cinclosomatidae (นกประเภทนกกระทาดงกึ่งนกเดินดง ในอันดับย่อยนกกา) การจัดความสัมพันธ์นี้จัดเอานกกินแมลงไพลิน (ปัจจุบัน Ptilorrhoa caerulescens) จากนิวกินีมารวมไว้ในสกุล Eupetes (ในชื่อเดิม Eupetes caerulescens) จนถึงปีพ.ศ. 2483 ก่อนที่จะถูกย้ายไปที่ สกุล Ptilorrhoa ทำให้สกุล Eupetes มีเพียง 1 ชนิดในปัจจุบัน

ในปีพ.ศ. 2495 Serle ได้ชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงทางชีววิทยาของนกคอสามสีกับนกอีกสองชนิดในวงศ์ Picathartidae (นกประเภทกึ่งไก่กึ่งกา มีหัวล้านเหมือนแร้ง จากแอฟริกาตะวันตก) ในปีพ.ศ. 2516 Charles Sibley ได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับ Picathartes และแนะนำให้ตรวจสอบเพิ่มเติม จากการศึกษาระดับชีวโมเลกุล Jønsson et al. (2550) ระบุตำแหน่งที่ถูกต้องสำหรับนกคอสามสี (E. macrocerus) คือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวงศ์ Chaetopidae (นก rockjumper) มากที่สุด นกคอสามสีจึงถูกจัดในวงศ์ Eupetidae ซึ่งมีสกุลเดียวและชนิดเดียว (monotypic)

นกคอสามสี (E. macrocerus) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาความเชื่อมโยงทางชีวภูมิศาสตร์ระหว่างทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย และแอฟริกา การที่นกคอสามสีเป็นชนิดพันธุ์ที่กระจายอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ บนคาบสมุทรมลายู บนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวมีความเกี่ยวข้องนกสกุลอื่นที่อยู่ในถิ่นอาศัยที่ห่างกันข้ามทวีป การตรวจเครื่องหมายดีเอ็นเอแสดงให้เห็นว่าสกุลนกคอสามสี Eupetes เป็นญาติใกล้ชิดที่สุดกับสกุล Chaetops จากแอฟริกาใต้ และญาติสนิทของสกุล Picathartes จากแอฟริกาตะวันตก โดยแยกออกจากกันในยุค Eocene แสดงการกระจัดกระจายของ 3 สกุลที่เป็นญาติใกล้ชิดไปตามมุมที่ห่างไกลของแอฟริกาและเอเชีย ชี้ให้เห็นประวัติชีวภูมิศาสตร์ของนกเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันการแก้ไขด้วยข้อมูลระดับโมเลกุลอาจเปิดเผยความความเชื่อมโยงในอดีตระหว่างทวีป และสนับสนุนทฤษฎีต่าง ๆ ที่พยายามอธิบายถึงการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก

ชนิดย่อย

มีทั้งหมด 2 ชนิดย่อย ได้แก่

  • Eupetes macrocerus macrocerus – เป็นชนิดย่อยต้นแบบของสายพันธุ์ พบในคาบสมุทรมลายูของไทยและมาเลเซีย เกาะสุมาตรา[2] และหมู่เกาะนาทูนา[3]
  • Eupetes macrocerus borneensis – อาศัยในแถบเทือกเขาของเกาะบอร์เนียว (มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน)[2][4][5]

ลักษณะทางชีววิทยาและพฤติกรรม

เป็นนกป่าขนาดกลาง ลำตัวยาวประมาณ 28-30 ซม. น้ำหนักเฉลี่ย 66-72 กรัม[6] คอเรียวยาว จะงอยปากยาวตรงสีดำและขายาวสีดำซึ่งต่างจากนกที่อาศัยอยู่บนพื้นป่าทั่วไป[7] ขนสีน้ำตาลล้วนทั่วลำตัวและหาง ใต้ปีกโคนหางเป็นขนฟู นกคอสามสีมีความโดดเด่นอย่างชัดเจนที่ขนหัวและคอซึ่งมีหลายแถบสี คือ แถบแก้มยาวสีดำ คิ้วขาว หน้าผากน้ำตาลอมส้ม คอและคางน้ำตาลแดงเข้ม[8] รวมทั้งแถบหนังคอไม่มีขนที่โป่งนูนออกได้ 2 ข้าง สีน้ำเงินครามเหลือบ[7] ซึ่งพฤติกรรมพองถุงลมที่ึคอเพื่อการเรียกคู่ และการเกี้ยวพาราสี สันนิษฐานว่าสีสะท้อนแสงนี้ น่าจะเป็นจุดสำคัญในการสื่อสารส่งสัญญาณบนพื้นป่าทึบที่มีแสงส่องถึงน้อย[9] คิ้วขาว 2 แถบมองจากด้านหลังเหมือนราง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษ rail-babbler

นกคอสามสีทั้ง 2 เพศไม่ต่างกัน นกรุ่นมีสีทึมกว่านกโตเต็มวัย และมีขนคอขาว ขนที่ท้องสีน้ำตาลเทาเข้ม[10][11][12] ชนิดย่อย E. m. borneensis มีความแตกต่างที่สีน้ำตาลแดงของแถบกลางหัว ท้อง และก้นที่สดกว่า หางและหลังมีสีออกแดงกว่า[13]

การหาอาหาร

พฤติกรรมการเดิน ผงกหัวคล้ายไก่ และชอบวิ่งมากกว่าบินเมื่อถูกรบกวน[14][15] หาอาหารโดยการปรี่เข้าไปจิกกินแมลง เช่น ปลวก บนพื้นป่า จั๊กจั่น แมลงปีกแข็ง แมงมุม หนอนและตัวอ่อนของแมลง[16][17]

เสียงร้อง

ในขณะที่ร้องเรียกนกคอสามสีจะโก้งโค้งตัว อกต่ำเรี่ยพื้น ก้นชูขึ้น และยืดคอไปข้างหน้า ทำเสียงโดยการเป่าให้ถุงลมที่คอขยายพองออก ซึ่งให้เสียงแหลมยาวเหมือนเสียงการเป่าท่อโลหะหรือเสียงกบ เสียง "วี้" ยาวประมาณ 2-3 วินาที[7][4] ทันทีที่ร้องเสร็จนกคอสามสีจะยืดคอหรือยืดตัวชะโงกมองในหลายทิศทางเพื่อหาตำแหน่งเสียงตอบกลับของนกตัวอื่น ถุงลมเล็ก ๆ ที่คอทั้งสองข้างพองออกระหว่างแถบขนแก้มสีดำและขนคอสีน้ำตาลแดง เป็นผิวเปลือยสีน้ำเงินครามเหลือบ[18] สว่างชัดเจนในที่แสงน้อยอย่างป่าดิบชื้นที่นกอาศัย จุดที่นูนและสว่างที่สุดอาจเห็นเป็นสีออกขาว

การผสมพันธุ์และการทำรัง

มีข้อมูลที่น้อยมากในนิสัยการผสมพันธุ์ของนกคอสามสี คาดว่าไข่จะวางในราวเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ และพบเห็นลูกนกที่ขนเพิ่งงอกได้ในเดือนมิถุนายน สร้างรังไว้สูงจากพื้นดินประมาณ 30 ซม. บนกองเศษใบไม้แห้งและเส้นใยพืชในซอกกิ่งไม้หรือกิ่งไม้พุ่ม รังเป็นรูปถ้วย ออกไข่คลอกละ 2 ใบ สีขาวล้วน[19]

การแพร่กระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่

อาศัยบนพื้นป่าในป่าดิบชื้น ที่มีความสูงไม่เกิน 1,060 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล[2] ช่วงตีนเขาหรือช่วงที่ลาดชันที่มีต้นไม้สูงและสมบูรณ์ ในช่วงการกระจายพันธุ์ที่ค่อนข้างแคบตั้งแต่พังงา สุราษฎร์ธานีลงไปทางใต้จนสุดคาบสมุทรมลายู และที่ความสูงไม่เกิน 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในเทือกเขาบนเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และหมู่เกาะนาทูนา[2][20][21]

พฤติกรรมและนิเวศวิทยา

ประชากรของนกคอสามสีลดลงอย่างมากเนื่องจากป่าดิบชื้น (ป่าปฐมภูมิ - primary forest) ในที่ราบลุ่มส่วนใหญ่ถูกตัดและแผ้วถางเพื่อการทำสวน[22] เช่นไม้ยาง ปาล์มน้ำม้น และมักไม่เลือกอาศัยในป่าที่ไม่มีพืชชนิดเดียวหนาแน่นเกินไปอย่างป่าปลูก (ป่าทุติยภูมิ) หรือป่าที่โปร่งเกินไปไม่มีร่มเงาเพียงพอที่จะเอื้ออำนวยต่อพฤติกรรมการหาคู่โดยการส่งเสียง และสะท้อนแสงจากถุงลมที่คอ อย่างไรก็ตามยังสามารถพบได้ในป่าบนเขา เนินเขาทั่ว ๆ ไป

ในประเทศไทย

นกคอสามสี อาศัยในป่าดิบชื้นบนที่ราบต่ำและเชิงเขา มีรายงานการพบที่บริเวณทางเดินสู่น้ำตกกรุงชิง เขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง[4]

อ้างอิง

  1. BirdLife International (2016). "Eupetes macrocerus'". IUCN Red List of Threatened Species. 2016. สืบค้นเมื่อ 01 October 2016. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 International), BirdLife International (BirdLife (2016-10-01). "IUCN Red List of Threatened Species: Eupetes macrocerus". IUCN Red List of Threatened Species. doi:10.2305/iucn.uk.2016-3.rlts.t22705375a94015287.en.
  3. Malaysian Rail-babbler (nominate). Avibase. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564.
  4. 4.0 4.1 4.2 Rail-babbler · Eupetes macrocerus · Temminck, 1831 Xeno-Canto. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564.
  5. Malaysian Rail-babbler (borneensis) Avibase. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564.
  6. Robson, Craig (2002) A Field Guide to the Birds of South-east Asia, New Holland, London.
  7. 7.0 7.1 7.2 นกคอสามสี eBird. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564.
  8. Boles, W. (2007) "Family Eupetidae (Jewel-babblers and allies) "in del Hoyo, J.; Elliot, A. & Christie D. (editors). (2007). Handbook of the Birds of the World. Volume 12: Picathartes to Tits and Chickadees. Lynx Edicions. ISBN 978-84-96553-42-2
  9. Yong, Ding Li; Foley, Con (2012). "A review of the occurrence and role of blue facial skin in South-East Asian birds" (PDF). Birding Asia. 17: 71–77.
  10. Robson, Craig (2002) A Field Guide to the Birds of South-east Asia, New Holland, London.
  11. MacKinnon, John & Karen Phillipps (1993) A Field Guide to the Birds of Borneo, Sumatra, Java and Bali, Oxford University Press, Oxford.
  12. Boles, W. (2007) "Family Eupetidae (Jewel-babblers and allies) "in del Hoyo, J.; Elliot, A. & Christie D. (editors). (2007). Handbook of the Birds of the World. Volume 12: Picathartes to Tits and Chickadees. Lynx Edicions. ISBN 978-84-96553-42-2
  13. Boles, W. (2007) "Family Eupetidae (Jewel-babblers and allies) "in del Hoyo, J.; Elliot, A. & Christie D. (editors). (2007). Handbook of the Birds of the World. Volume 12: Picathartes to Tits and Chickadees. Lynx Edicions. ISBN 978-84-96553-42-2
  14. Robson, Craig (2002) A Field Guide to the Birds of South-east Asia, New Holland, London.
  15. MacKinnon, John & Karen Phillipps (1993) A Field Guide to the Birds of Borneo, Sumatra, Java and Bali, Oxford University Press, Oxford.
  16. Robson, Craig (2002) A Field Guide to the Birds of South-east Asia, New Holland, London.
  17. Boles, W. (2007) "Family Eupetidae (Jewel-babblers and allies) "in del Hoyo, J.; Elliot, A. & Christie D. (editors). (2007). Handbook of the Birds of the World. Volume 12: Picathartes to Tits and Chickadees. Lynx Edicions. ISBN 978-84-96553-42-2
  18. Alvan Buckley. Getting Jiggy ... with a Rail-babbler 20 กุมภาพันธุ์ 2555.
  19. Boles, W. (2007) "Family Eupetidae (Jewel-babblers and allies) "in del Hoyo, J.; Elliot, A. & Christie D. (editors). (2007). Handbook of the Birds of the World. Volume 12: Picathartes to Tits and Chickadees. Lynx Edicions. ISBN 978-84-96553-42-2
  20. Robson, Craig (2002) A Field Guide to the Birds of South-east Asia, New Holland, London.
  21. MacKinnon, John & Karen Phillipps (1993) A Field Guide to the Birds of Borneo, Sumatra, Java and Bali, Oxford University Press, Oxford.
  22. BirdLife International (2009) Species factsheet: Eupetes macrocerus. Downloaded from http://www.birdlife.org on 5 January 2010.