อีกาโคนปากขาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อีกาโคนปากขาว (นกรุค)
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Late Pleistocene–Recent
อีกาโคนปากขาว
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: วงศ์นกกา
สกุล: Corvus
Linnaeus, 1758
สปีชีส์: Corvus frugilegus
ชื่อทวินาม
Corvus frugilegus
Linnaeus, 1758
Rook range
อีกาโคนปากขาว Rook
Temporal range: Late Pleistocene–Recent
Rook in England
Scientific classification edit
Domain: Eukaryota
Kingdom: Animalia
Phylum: Chordata
Class: Aves
Order: Passeriformes
Family: Corvidae
Genus: Corvus
Species:
C. frugilegus
Binomial name
Corvus frugilegus

Linnaeus, 1758
Rook range

อีกาโคนปากขาว หรือ รุค หรือ นกรุค (Corvus frugilegus) จัดอยู่ใน วงศ์นกกา ในอันดับนกเกาะคอน พบได้ในเขตชีวภาพพาลีอาร์กติก ตั้งแต่ สแกนดิเนเวีย และ ยุโรปตะวันตก ไปจนถึง ไซบีเรียตะวันออก และประเทศจีน เป็นนกขนาดใหญ่ที่มีขนสีดำล้วน อาศัยเป็นฝูง และมีลักษณะแตกต่างจากนกกาแท้สายพันธุ์อื่นคือ ที่บริเวณหน้ารอบจะงอยปากไม่มีขน และเห็นผิวหนังสีขาวออกเทาอย่างชัดเจน อีกาโคนปากขาวทำรังอยู่รวมกันบนยอดไม้สูงและมักอยู่ใกล้กับเขตกสิกรรมหรือหมู่บ้าน กลุ่มของรังที่เรียกว่า รุคเคอรี (rookeries) หรือ รังฝูง

อีกาโคนปากขาว เป็นนกประจำถิ่น แต่ประชากรนกชนิดนี้บางส่วนในทางเหนือสุดอาจอพยพไปทางใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพฤดูหนาวที่เลวร้ายในบางปี ในฤดูหนาวอีกาโคนปากขาวมักรวมกันเป็นฝูง และบ่อยครั้งอาจรวมฝูงกับนกกา (Corvus) ชนิดอื่น ๆ หรือกับนกjackdaws ในฤดูใบไม้ผลิอีกาโคนปากขาวจะกลับไปที่รังฝูง(รุคเคอรี)เดิมเสมอ เพื่อผสมพันธุ์ อีกาโคนปากขาวมักหาอาหารในพื้นที่กสิกรรมและทุ่งหญ้า โดยขุดคุ้ยสำรวจพื้นดินด้วยจะงอยปากที่แข็งแรง และอาหารที่กินส่วนใหญ่เป็นแมลงจำพวกด้วงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่อาศัยในดิน รวมทั้งธัญพืชและวัสดุจากพืชอื่น ๆ ด้วย ในอดีตเกษตรกรมักกล่าวหาว่าอีกาโคนปากขาวว่าเป็นตัวทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำให้ต้องขับไล่หรือกำจัดอีกาเหล่านี้ทิ้ง เช่นเดียวกับนกกาชนิดอื่น ๆ อีกาโคนปากขาวเป็นนกที่ฉลาด มีลักษณะพฤติกรรมที่ซับซ้อน และยังมีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างง่าย

อนุกรมวิธาน

อีกาโคนปากขาว หรือ รุค (Corvus frugilegus) ได้รับการขึ้นทะเบียนชื่อทวินาม โดย Carl Linnaeus นักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดนในปี 1758 ในหนังสือ Systema Naturae ชื่อทวินามจาก ภาษาละติน Corvus หมายถึง "กา" และ frugilegus หมายถึง "การเก็บผลไม้" มีที่มาจาก frux หรือ frugis แปลว่า "ผลไม้" และ legere แปลว่า "เลือก" ชื่อสามัญ ในภาษาอังกฤษ rook มาจากการร้องที่ดังและเกรี้ยวกราดของอีกาโคนปากขาว[2] ไม่ใช่สัตว์ที่พบในประเทศไทยยกเว้นที่เป็นนกพลัดหลง ซึ่งพบได้น้อยมาก

อีกาโคนปากขาว มีสองชนิดย่อยที่ได้รับการยอมรับคือ อีกาโคนปากขาวตะวันตก ( C. f. frugilegus ) พบได้ตั้งแต่ยุโรปตะวันตกไปจนถึงรัสเซียตอนใต้และทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของจีน และ อีกาโคนปากขาวตะวันออก ( C. f. pastinator ) พบได้ตั้งแต่ไซบีเรียตอนกลางและมองโกเลียตอนเหนือไปทางตะวันออกทั่วเอเชีย[3] พฤติกรรมการทำรังในอาณานิคมของพวกมันก่อให้เกิดคำว่า รุคเคอรี (rookeries)[4] ซึ่งมีความหมายสแลงคล้ายคำว่า รังโจร

ลักษณะทางกายวิภาค

อีกาโคนปากขาว เป็นนกที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ยาวประมาณ 45 ถึง 47 เซนติเมตร (18 ถึง 19 นิ้ว) มีขนสีดำซึ่งมักจะมีประกายสีฟ้าหรือสีครามในแสงแดดจ้า ขนที่หัว คอ และไหล่มีความหนาแน่นและละเอียดเนียนเป็นพิเศษ ขาและเท้าโดยทั่วไปมีสีดำ จะงอยปากสีเทาดำ และม่านตาสีน้ำตาลเข้ม ตัวเต็มวัยไม่มีขนบริเวณผิวรอบจะงอยปากและด้านหน้าดวงตา เป็นผิวเปล่าสีขาวออกเทาชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะที่สร้างความแตกต่างจากอีกาพันธุ์อื่นอย่างเด่นชัด ผิวเปล่าเปลือยนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีจะงอยปากยาวและหัวดูกลมเล็กกว่าปกติ ขนรอบขาหนาปุกปุยและไม่ดกแน่นกเท่าอีกาพันธุ์อื่น

ขนนกของลูกอีกาโคนปากขาว มีสีดำและมีความมันเลื่อมออกเขียวเล็กน้อยยกเว้นที่คอหลังหลังและส่วนท้องมีสีน้ำตาลปนดำ ดูเผินๆคล้ายกับอีกาธรรมดาเพราะมันไม่มีผิวเปลือยที่รอบจะงอยปาก แต่สังเกตจากจะงอยปากที่บางกว่า โดยปกติขนรอบจะงอยปากจะร่วงออกเมื่อมีอายุประมาณหกเดือน

การแพร่กระจายและถิ่นที่อยู่

อีกาโคนปากขาว เป็นนกประจำถิ่นใน เกาะอังกฤษ และส่วนใหญ่ใน ยุโรป เหนือ และ กลาง อาจเป็นนกพลัดถิ่น ไปยังไอซ์แลนด์และบางส่วนของสแกนดิเนเวีย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาศัยอยู่ทางใต้ของเส้น ละติจูดที่ 60 พบในถิ่นที่อยู่ที่นกเรเวนไม่เลือกอาศัย อีกาโคนปากขาวมักเลือกอาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมแบบเปิดที่มี ทุ่งหญ้า หรือ พื้นที่เพาะปลูก ตราบที่ยังมีต้นไม้สูงที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ โดยทั่วไปอีกาโคนปากขาวจะหลีกเลี่ยงอาศัยในป่า หนองน้ำ บึง ทุ่งหญ้า และที่ลุ่ม อีกาโคนปากขาวเป็นนกที่อยู่ในที่ราบต่ำทั่วไป โดยส่วนใหญ่จะพบรังฝูงได้ในพื้นที่ต่ำกว่า 120 เมตร (400 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล ในกรณีที่มีแหล่งอาหารที่เหมาะสมอาจผสมพันธุ์ได้ในพื้นที่ระดับความสูง 300 เมตร (1,000 ฟุต) หรืออาจสูงกว่า อีกาโคนปากขาวมักเลือกอาศัยในพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ แต่ไม่ใช่ในพื้นที่เมืองขนาดใหญ่หรือพื้นที่ที่มีสิ่งก่อสร้างอย่างหนาแน่น

อีกาโคนปากขาวสายพันธุ์ย่อยทางตะวันออก ที่พบในเอเชีย ซึ่งมีขนาดโดยเฉลี่ยเล็กกว่าเล็กน้อย และมีขนบนหน้าที่มีค่อนข้างสมบูรณ์ กลุ่มที่อาศัยทางตอนเหนือมีแนวโน้มที่จะอพยพไปทางใต้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ส่วนกลุ่มประชากรทางตอนใต้มีแนวโน้มที่จะมีอยู่กระจายกันแบบประปราย อีกาโคนปากขาวหลายร้อยตัวถูกนำเข้ามาปล่อยใน นิวซีแลนด์ ตั้งแต่ปีพ. ศ. 2405 ถึง พ.ศ. 2417 แม้ว่าช่วงที่ปล่อยจะไม่ได้รวมกันแต่กระจัดกระจายตามท้องถิ่น แต่ปัจจุบันอีกาโคนปากขาวถูกระบุว่าเป็นศัตรูพืชรุกรานและอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาท้องถิ่นหลายแห่ง ซึ่งได้ทำการกวาดล้างอาณานิคมอีกาโคนปากขาวขนาดใหญ่ในนิวซีแลนด์ และคอยจับตาเฝ้าดูอีกากลุ่มเล็ก ๆ ที่เหลือ[5]

พฤติกรรมและนิเวศวิทยา

กะโหลกศีรษะ ของ อีกาโคนปากขาว
อีกาโคนปากขาว เป็นนกสังคมอย่างมาก ในตอนค่ำจะรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ ซึ่งอาจเป็นพัน ๆ บางครั้งอาจรู้สึกว่ารวมตัวกันเป็นฝูงนี้เป็นความรำคาญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมือง

อีกาโคนปากขาว เป็นนกสังคมที่อยู่รวมกันเป็นฝูง โดยทั่วไปจะเห็นเป็นฝูงขนาดต่างๆ เพศผู้และเพศเมียใช้ชีวิตคู่กันตลอดชีวิต (pair-bond for life) และอยู่ด้วยกันกับคู่อื่น ๆ เป็นฝูง ในตอนพลบค่ำอีกาโคนปากขาวเหล่านี้มักจะกลับไปที่รังฝูงและจากนั้นบินไปรวมฝูงเกาะราวนอนในเวลากลางคืนด้วยกันที่จุดพักรวมฝูง (communal roosting) ที่ฝูงเลือกไว้ ฝูงนกจะเพิ่มขนาดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงโดยมีกลุ่มต่าง ๆ รวมตัวกันและนกที่มารวมตัวกันในตอนค่ำก่อนที่จะรวมฝูง ซึ่งมักมีจำนวนมากและอาจร่วมอยู่ในกลุ่มของ อีกาแจ๊กโดว การรวมฝูงนอน (Roosting) มักเกิดขึ้นในป่าไม้หรือพื้นที่เพาะปลูกที่มีไม้ยืนต้นมาก แต่นกส่วนน้อยจำนวนหนึ่งที่อายุไม่มากอาจยังคงเกาะนอนอยู่ที่รังฝูงของพวกมันตลอดฤดูหนาว และนกตัวผู้ที่โตเต็มวัยอาจเกาะอยู่รวมกันในบริเวณใกล้เคียง นกจะย้ายออกทันทีในตอนเช้าโดยแยกย้ายกันไปเป็นระยะทางห่างกันถึง 10 กิโลเมตร (6 ไมล์)

การหาอาหารส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนพื้นดิน อีกาโคนปากขาวเดินหรือบางครั้งกระโดด สำรวจพื้นดินด้วยจะงอยปากที่ทรงพลังโดยปกติการบินของอีกาโคนปากขาวจะบินตรงด้วยการกระพือปีก และใช้การร่อนในการบินเมื่อพบเป้าหมายซึ่งเป็นส่วนน้อยในการบินปกติ ในทางตรงกันข้ามนกอาจจะร่อนนานมากขึ้นเมื่อเป็นการบินแบบพักผ่อนซึ่งมักทำใกล้กับบริเวณรังฝูง ในฤดูใบไม้ร่วงบางครั้งฝูงนกจะทำการบินเป็นกลุ่มในแบบที่น่าประทับใจ ได้แก่ การบินแบบประสานกันเป็นฝูง และการบินผาดแผลงแบบการบินดิ่ง การบินควงรอบ (บินควงสว่าน) และการบินตีลังกา

อาหารและการให้อาหาร

การตรวจสอบเนื้อหาในกระเพาะอาหารพบว่าประมาณ 60% ของอาหารเป็นผัก และส่วนที่เหลือเป็นเนื้อสัตว์ อาหารประเภทผัก ได้แก่ ธัญพืช มันฝรั่ง รากผลไม้ โอ๊ก เบอร์รี่และเมล็ดพืชในขณะที่ส่วนของสัตว์ส่วนใหญ่เป็น ไส้เดือน และ ตัวอ่อนของแมลง ซึ่งนกพบได้จากการตรวจสอบพื้นดินด้วยใบที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังกินแมลงปีกแข็ง แมงมุม กิ้งกือ ทาก หอยทาก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก นกขนาดเล็ก ไข่ และลูกอ่อนของนก และอาหารบางครั้งก็มาจากซากสัตว์

ในพื้นที่เขตเมือง เศษอาหารของมนุษย์จากแหล่งถมขยะ (บ่อขยะ) และตามถนนจะถูกนำมาเป็นอาหารของอีกาทั่วไป (corvids) รวมถึงอีกาโคนปากขาว ในเวลาหัวค่ำหรือตอนค่ำซึ่งค่อนข้างเงียบ บางครั้งอีกาโคนปากขาวมักจะชอบแหล่งอาหารที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ในระดับสูง และมักจะพบว่ากำลังไล่หาอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยวหรือจิกกระสอบหรือถุงขยะในถังแบบเปิด [6] ในฝรั่งเศสอีกาโคนปากขาวถูกใช้งานผ่านการฝึกให้เก็บขยะในสวนสนุก [7]

การติดพัน

โดยปกติแล้วอีกาโคนปากขาวตัวผู้จะเริ่มต้นการเกี้ยวพาราสีบนพื้นดิน หรือบนต้นไม้ โดยการผงกหัวหลาย ๆ ครั้งแก่ตัวเมียด้วยปีกที่ลู่ลง ในขณะเดียวกันก็ร้อง "กา ๆ" และรำแพนหางออก อีกาตัวเมียอาจตอบสนองโดยการหมอบลง โก้งโค้งหลัง และสั่นปีกเร็วสั้น ๆ หรืออาจเป็นฝ่ายให้ท่าก่อนโดยการย่อหัวและปีกลง รำแพนออกบางส่วนและยกหางไปทางลำตัวด้านหลัง มากไปกว่านั้นคือ อีกาตัวเมียมักแสดงพฤติกรรมคล้ายกับการขออาหาร และอีกาตัวผู้นำแสดงพฤติกรรมคล้ายกับการให้อาหาร ก่อน การทับกันซึ่งจะเกิดขึ้นในรัง ในขั้นตอนนี้อีกาตัวผู้อื่น ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมักจะเข้ารุมโจมตีคู่ผสมพันธุ์และเกิดการต่อสู้แย่งชิงในเวลาต่อมา อีกาตัวผู้ใด ๆ ที่พบว่าตัวมันเองกำลังเกาะอยู่บนหลังของอีกาตัวเมียจะพยายามทับตัวเมียนั้น แต่ตัวเมียจะยุติขั้นตอนการผสมพันธุ์ลงเมื่อมันรู้ว่าเป็นอีกาตัวผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของมันเอง ด้วยการออกจากรังและเกาะอยู่ใกล้ ๆ อีกาโคนปากขาวที่เป็นคู่ชีวิตกันมักจะไซ้จะงอยปากของกันและกัน และพฤติกรรมนี้ก็พบเห็นได้แม้นอกฤดูผสมพันธุ์ เช่นในฤดูใบไม้ร่วง

การผสมพันธุ์

Egg, Collection Museum Wiesbaden Germany

การทำรังในรังฝูงมักเป็นแบบอาณานิคมเสมอ โดยปกติจะอยู่บนยอดไม้ใหญ่ ซึ่งมักจะอยู่บนเศษซากรังของปีก่อนหน้า ในพื้นที่ที่เป็นเนินเขาอีกาโคนปากขาวอาจทำรังภายในพุ่มไม้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนปล่องไฟหรือยอดแหลมของโบสถ์ นกทั้งสองเพศมีส่วนร่วมในการสร้างรังโดยตัวผู้จะหาวัสดุทำรังเป็นส่วนใหญ่และตัวเมียวางเรียงวัสดุ รังมีลักษณะเป็นรูปถ้วยและประกอบด้วยไม้รวมกับดินและมีหญ้า มอส รากไม้ ใบไม้แห้ง และฟาง กิ่งไม้และกิ่งไม้เล็ก ๆ ที่เป็นโครงของรัง นกหักออกจากต้นไม้โดยตรง แต่ยังพบว่ามีวัสดุทำรังจำนวนไม่น้อยที่ขโมยจากรังใกล้เคียง เช่นเดียวกับวัสดุบุรังมักจะถูกนำมาจากรังอื่น ๆ และที่เก็บรวบรวมโดยตรงจากต้นไม้[6]

โดยปกติไข่จะมีจำนวน 3 ถึง 5 ฟอง (บางครั้ง 6 และน้อยครั้งมากที่เป็น 7 ฟอง) และอาจวางไข่ในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายนในสหราชอาณาจักร แต่ในสภาพที่รุนแรงกว่าของยุโรปตะวันออกและรัสเซียอาจเป็นช่วงต้นเดือนพฤษภาคมก่อนที่การฟักไข่เสร็จสมบูรณ์ [6] สีของไข่เป็นสีเขียวอมฟ้าถึงเขียวอมเทา และเกือบทั้งฟองแต้มด้วยจุดสีเทาและน้ำตาล ไข่มีขนาดเฉลี่ย 28.3-40 มม. ฟักไข่เป็นเวลา 16-18 วันซึ่งการฟักไข่เกือบทั้งหมดทำโดยตัวเมียและมีตัวผู้เป็นผู้หาอาหารให้ หลังจากฟักไข่ตัวผู้จะนำอาหารไปที่รังในขณะที่ตัวเมียกกลูก หลังจากผ่านไป 10 วันตัวเมียจะร่วมกับตัวผู้ในการหาและให้อาหารซึ่งบรรจุมาในช่องคอ นกรุ่นจะออกจากรังเมื่ออายุ 32 หรือ 33 วัน แต่ยังคงได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ต่อไปหลังจากนั้นสักพัก ปกติจะมีคลอกเดียวในแต่ละปี แต่มีบันทึกเกี่ยวกับนกที่พยายามผสมพันธุ์ในฤดูใบไม้ร่วง

ในฤดูใบไม้ร่วงนกรุ่นจะรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่พร้อมกับนกที่ไม่ได้จับคู่ในฤดูกาลก่อน ๆ ซึ่งบางครั้งจะอยู่รวมฝูงกับนกกาอื่น ในช่วงเวลานี้ของปีจะมีการแสดงการบินทางอากาศที่งดงาม งอีกาโคนปากขาวมีคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว โดยตัวเต็มวัยจะจับคู่ในระยะยาว คู่นกมักจะสนับสนุนซึ่งกันและกันในการเผชิญหน้าในทุกสถานการณ์และนกอาจกลับไปหาคู่ของมันหลังจากการทะเลาะกันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้

เสียง

เสียงร้องของอีกาโคนปากขาว มักมีเสียงคล้าย คอ ๆ หรือ กา ๆ และเสียงร้องค่อนข้างคล้ายกับอีกาซากศพ แต่แหบปร้าน้อยกว่า ซึ่งเป็นเสียงร้องมีความหลากหลายในระดับเสียงสูงต่ำต่าง ๆ กัน และอาจหลายรูปแบบเสียงต่าง ๆ กันในสถานการณ์ที่แตกต่างกันด้วย

การร้องเกิดขึ้นทั้งในขณะบินและขณะเกาะอยู่ ซึ่งในแต่ละครั้งที่ร้องนกจะรำแพนหางและโก้งโค้งหัว

โดยปกติการร้องในขณะบินจะทำเพียงตัวเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับอีกาซากศพ ซึ่งร้องในขณะบินเป็นกลุ่มสามหรือสี่ตัว เสียงร้องอื่น ๆ เกิดขึ้นรอบ ๆ รังฝูง เช่น เสียงแหลมสูง เสียง "เรอ" และเสียงร้องเจื้อยแจ้วคล้ายนกชนิดอื่น อีกาโคนปากขาวที่โดดเดี่ยวจะร้องเป็นครั้งคราวให้กับตัวมันเอง โดยการเปล่งเสียงแปลก ๆ เช่น เสียงกิก ๆ เสียงหวีดฮืด ๆ ที่คล้ายมนุษย์ที่กำลังนอน และเสียงร้องที่ทำเลียนแบบนกกิ้งโครง

ในภาพวาด The Rooks Have Returned (1871) โดย Alexei Savrasov แสดงการมาถึงของอีกาโคนปากขาว ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิที่กำลังมาถึง

ความสามารถทางสติปัญญา

แม้ว่าจะไม่สามารถสังเกตพฤติกรรมของกลุ่มอีกาในธรรมชาติในเรื่องความน่าจะเป็นที่แสดงเห็นถึงการใช้เครื่องมือ แต่ในกลุ่มที่เลิ้ยงในที่กักขังได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้เครื่องมือและการแก้ปัญหาปริศนา หนึ่งในปริศนาที่ได้รับการทดสอบบ่อยที่สุดคือ ปริศนากับดักท่อกลม ซึ่งอีกาโคนปากขาวเรียนรู้วิธีการได้รางวัลจากในท่อ โดยหลีกเลี่ยงกับดักอีกด้านหนึ่งได้

และยังได้รับการบันทึกว่าอีกาโคนปากขาวเป็นนกชนิดหนึ่งในหลาย ๆ ชนิดที่นอกจากจะสามารถใช้เครื่องมือ ยังสามารถปรับเปลี่ยนเครื่องมือให้ตรงกับความต้องการได้

อีกาโคนปากขาวเรียนรู้ได้ว่าถ้าพวกมันผลักก้อนหินออกจากแผ่นกระดานให้ตกลงไปในท่อจะได้รับอาหาร อีกาโคนปากขาวยังค้นพบอีกว่าพวกมันสามารถหาก้อนหิน ใช้ และนำหินกลับมาใช้ใหม่ได้อีก และพวกมันยังสามารถใช้ไม้และลวดรวมทั้งหาวิธีการงอลวดให้เป็นตะขอเพื่อเข้าถึงสิ่งของได้ด้วย อีกาโคนปากขาวมีความเข้าใจความคิดเรื่องระดับน้ำ สามารถใช้ก้อนหินที่ได้รับจำนวนหนึ่งไปทิ้งลงในท่อที่มีน้ำกึ่งหนึ่งให้เต็ม และได้รางวัลที่ลอยขึ้นมาเมื่อระดับน้ำสูงพอ พวกมันไม่เพียงแค่เข้าใจว่าต้องใช้หินเหล่านั้น แต่ยังเข้าใจว่าหินก้อนใดดีที่สุดที่ควรใช้ด้วย

หนึ่งในการทดลองหลายรูปแบบ อีกาโคนปากขาวสามารถเคาะรางวัลออกจากแท่นได้โดยการกลิ้งก้อนหินลงท่อไปที่ฐานของแท่น ดูเหมือนว่า อีกาโคนปากขาวจะเข้าใจความคิดที่ว่าหินที่หนักกว่าจะกลิ้งเร็วกว่าและมีแนวโน้มที่จะกระแทกพื้นมากขึ้น ในการทดสอบเดียวกันนี้ อีกาโคนปากขาวแสดงให้เห็นว่าพวกมันเข้าใจว่าพวกมันจำเป็นต้องเลือกหินที่มีรูปร่างที่จะกลิ้งได้ง่าย

อีกาโคนปากขาวยังแสดงความสามารถในการทำงานร่วมกัน (ปริศนาความร่วมมือ) เพื่อรับรางวัล ในการได้รับรางวัลอีกาแต่ละตัวจะต้องช่วยกันดึงเชือก ให้แผ่นกระดานยกขึ้นและพวกมันได้รับรางวัลที่กลิ้งออกมา แต่ดูเหมือนว่าอีกาโคนปากขาวจะไม่ชอบการทำงานเป็นกลุ่มเมื่อเทียบกับการทำงานเดี่ยว

พวกมันยังดูเหมือนจะเข้าใจแนวคิดเรื่องแรงโน้มถ่วง ซึ่งเทียบได้กับทารกอายุ 6 เดือน และแม้แต่มีความสามารถเกินความสามารถของลิงชิมแปนซี แม้ว่าพวกมันจะไม่ใช้เครื่องมือในธรรมชาติ แต่การศึกษาวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า อีกาโคนปากขาวสามารถทำได้ในการทดสอบความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ และ สามารถพอจะทัดเทียมกันได้กับลิงชิมแปนซี และในบางสถานการณ์ก็มีประสิทธิภาพสูงกว่าลิงชิมแปนซีอีกด้วย

ความสัมพันธ์กับมนุษย์

เกษตรกรได้สังเกตพฤติกรรมของอีกาโคนปากขาวในไร่นา ประกอบกับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ไม่ดีนักหลายฤดูในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1500 และเข้าใจว่าพวกมันเป็นศัตรูพืช ทำให้ในปี ค.ศ.1532 รัชสมัยกษัตริย์ Henry VIII ได้ออกพระราชบัญญัติศัตรูพืช (Vermin Act) โดยออกคำสั่ง "ให้ทำลายนกประเภทอีกาทัั้งหมด" ซึ่งเป็นการบังคับใช้เพื่อปกป้องพืชผลเฉพาะจากการลงขโมยกินของนกกาเท่านั้น ที่ครอบคลุมสามจำพวกได้แก่ นกกาภูเขาปากแดง (Chough) อีกา (Crow) และอีกาโคนปากขาว (Rook) แต่ถัดมาในสมัย Elizabeth I ได้ผ่าน พระราชบัญญัติเพื่อการอนุรักษ์พืชธัญญาหาร (Act for the Preservation of Grayne) ในปี ค.ศ.1566 ซึ่งได้ยกระดับการบังคับใช้อย่างเข้มงวดและครอบคลุมเป็นวงกว้าง นกจำนวนมากมายหลายชนิดถูกระบุเหมารวมในรายชื่อที่ต้องถูกกำจัด

Francis Willughby กล่าวถึง อีกาโคนปากขาว ใน Ornithology (ค.ศ.1678) ว่า "นกกาเหล่านี้มีกลิ่นสกปรกน่ารังเกียจ และเป็นอันตรายต่อข้าวโพดและธัญพืช ดังนั้นชาวไร่ชาวนาจึงถูกกดดันให้จ้างคนเพื่อบีบแตร จุดประทัด เขย่ากระดิ่ง และแม้กระทั่งด้วยการขว้างปาก้อนหิน เพื่อไล่นกศัตรูพืช” นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า "หุ่นไล่กาถูกวางเรียงในทุ่งนา และแต่งตัวตามเครื่องแต่งการของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งนกเหล่านี้ไม่กล้าเข้ามาใกล้บริเวณที่ตั้งหุ่นไล่กา" เป็นระยะเวลานานพอสมควรก่อนที่นักธรรมชาติวิทยาผู้ช่างสังเกต เช่น จอห์น เจนเนอร์เวียร์ และ โทมัส เพนแนนต์ จะสังเกตว่าในจำนวนชนิดของนกศัตรูพืชต่างๆ อีกาโคนปากขาว มีคุณค่าต่อธัญพืชมากกว่าการเป็นศัตรูต่อพืช

รังฝูงของอีกาโคนปากขาว มักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่น่ารำคาญในชนบทของสหราชอาณาจักร ทำให้ในสมัยนั้นมีการสร้างขนบการยิงลูกนกอีกาโคนปากขาว (เรียกว่า Brancher - นกที่ยังเล็ก บินไม่ได้ และอาศัยการเกาะคอนไม้ กิ่งไม้) เพื่อนำมาประกอบอาหาร พายเนื้อกา (พายเนื้อลูกนกกา) ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายในเรื่องรสชาดแบบเดียวกับพายเนื้อกระต่าย

อีกาโคนปากขาว มีถิ่นที่อยู่ที่กระจายตัวกว้างมาก และมีจำนวนประชากรโดยรวมที่มาก ภัยคุกคามหลักที่นกชนิดนี้เผชิญมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและการใช้สารเคมีเคลืิอบเมล็ดพืช การรบกวนโดยการล่าเพื่อทำอาหาร แม้ว่าประชากรนกชนิดนี้ลดลง แต่ไม่ได้เป็นอัตราที่รวดเร็วจนก่อให้เกิดความกังวล ซึ่งสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้ประเมินสถานะการอนุรักษ์ของอีกาโคนปากขาว ว่า "มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์"[1]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 BirdLife International (2016). "Corvus frugilegus". IUCN Red List of Threatened Species. 2016. สืบค้นเมื่อ 22 May 2019. {{cite journal}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help) อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "iucn" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  2. "Rook". Oxford English Dictionary (3rd ed.). Oxford University Press. กันยายน 2005.
  3. Madge, S. (2019). "Rook (Corvus frugilegus)". Handbook of the Birds of the World Alive. Lynx Edicions, Barcelona. สืบค้นเมื่อ 27 May 2019.
  4. "Rookery". The Oxford English Dictionary. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  5. Porter, R.E.R. (2013). "Rook". New Zealand Birds Online. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  6. 6.0 6.1 6.2 Carlson, Lauren; Townsend, Kelsey. "Corvus frugilegus: Rook". ADW. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  7. Weisberger, Mindy (13 August 2018). "Brainy crows trained to pick up trash at theme park". Live Science. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.