เสม็ดใบกว้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เสม็ดใบกว้าง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Myrtales
วงศ์: Myrtaceae
สกุล: Melaleuca
สปีชีส์: M.  quinquenervia
ชื่อทวินาม
Melaleuca quinquenervia

เสม็ดใบกว้าง (Melaleuca quinquenervia) หรือ เสม็ดขาวใบกว้าง ชื่อสามัญว่า Broad-leaved paperbark, Paperbark tea tree, Punk tree หรือ Niaouli เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ที่มีขนาดเล็กถึงกลางของพืชในสกุลเมอร์เทิล ของวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae) สามารถแผ่กิ่งก้านสาขามีความสูงของต้นได้ถึง 20 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลเทา มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่นๆ ใบมีสีเขียวอมเทารูปทรงคล้ายใบหอกหรือรูปไข่ และมีดอกเป็นพู่สีเหลืองอ่อนหรือสีขาว ออกดอกตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วง อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2340 โดย Antonio José Cavanilles นักธรรมชาติวิทยาชาวสเปน

มีถิ่นกำเนิดใน นิวแคลิโดเนีย ปาปัวนิวกินี และชายฝั่งตะวันออกของ ออสเตรเลีย ตั้งแต่ โบทานีเบย์ ใน นิวเซาท์เวลส์ ขึ้นไปทางเหนือใน ควีนส์แลนด์ M. quinquenervia เติบโตได้ดีในหนองน้ำที่ราบลุ่มแม่น้ำ และปากแม่น้ำซึ่งมักเป็นดินเหนียว มีการกระจายพันธุ์แพร่ระบาดจนกลายเป็นรุกรานใน Everglades ของ รัฐฟลอริดา และถูกจัดให้เป็น วัชพืชต่างถิ่นรุกราน ที่ร้ายแรงโดย USDA ไม่พบในประเทศไทย [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เสม็ดใบกว้าง หรือ Melaleuca quinquenervia เป็นต้นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลางซึ่งมักแผ่กิ่งก้านสาขาได้สูง 8 - 15 เมตร และกว้าง 5 -10 เมตร แต่บางครั้งก็สูงถึง 25 เมตร ต้นอ่อนหรือที่มีอายุน้อยมีขนทั้งยาวสั้นและนุ่ม

เปลือกลำต้น เป็นสีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลเทา มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ คล้ายกระดาษ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่นๆ

ใบ ออกเรียงสลับรอบกิ่ง ใบแบน เหนียว รูปใบหอกแบบกว้างหรือรูปไข่ ทรงใบค่อนไปทางสมมาตร สีเขียวหม่นหรือสีเขียวอมเทา ยาว 55-120 มม. และกว้าง 10 - 31 มม. ความยาวของใบเป็นสามถึงแปดเท่าของความกว้าง เส้นใบที่เด่นชัดสีเขียวอ่อน 5 เส้น และเกือบขนานไปกับขอบใบ[2][3][4][5]

ดอกสีขาวหม่น สีครีม สีเหลืองอ่อน หรืออาจมีสีเขียวแกม เป็นพู่ ออกที่ปลายกิ่ง ซึ่งสามารถเติบโตผลิยอดต่อไปหลังจากออกดอกได้ บางครั้งออกดอกที่ด้านบนของซอกใบ ดอกพู่กระจุกเป็นช่อ 5 ถึง 18 ดอก คล้ายแปรงล้างขวด ปลายกิ่งเดียวมีได้มากถึง 3 ช่อ และช่อดอกอาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 40 มม. ดอก และยาวประมาณ 20 - 50 มม. กลีบดอกยาวประมาณ 3 มม. และร่วงหล่นตามวัย มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ซึ่งกระจุกกันเป็นมัด 5 มัดรอบ ๆ แต่ละมัดมีเกสรเพศผู้ 5 ถึง 10 เส้น ออกดอกตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิถึงต้นฤดูใบไม้ร่วงคือ เดือนกันยายนถึงมีนาคมในออสเตรเลีย

ผล มีลักษณะเป็นเปลือกไม้ ทรงกลมแป้น หรือทรงกระบอกสั้น ยาว 2.5 - 4 มม. และเป็นกระจุกกันแน่นเป็นตุ่ม ๆ เรียงกันเป็นพืดตามแนวรอบกิ่งก้าน แต่ละผลมีเมล็ดขนาดเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งจะออกเป็นประจำทุกปี[2][3][4][5][6]

กลุ่มต้นเสม็ดใบกว้าง M. quinquenervia

เสม็ดใบกว้าง มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกันมากกับ เสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi) และ เสม็ดขาวใบยาว (Melaleuca leucadendra) ที่พบในประเทศไทย ทั้งสามเป็นพืชในสกุล Melaleuca ต่างกันเล็กน้อยที่ลักษณะเด่นของเสม็ดใบกว้าง คือ เส้นใบ ที่มี 5 เส้นชัดเจน สัดส่วนของใบที่กว้าง สั้นกว่า ค่อนไปทางสมมาตร ช่อดอกสั้นกว่า ผลที่ติดกันเป็นพืด และมีถิ่นกำเนิดต่างกัน

อนุกรมวิธาน

เสม็ดใบกว้างได้รับการจัดอนุกรมวิธานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2340 โดยนักธรรมชาติวิทยาชาวสเปน Antonio José Cavanilles โดยมีชื่อว่า Metrosideros quinquenervia เป็นตัวอย่างที่เก็บรวบรวมใกล้ พอร์ตแจ็คสัน และได้รับการเผยแพร่ใน Icones et Descriptiones Plantarum [7][8] ในปีพ.ศ. 2501 Stanley Thatcher Blake จาก Queensland Herbarium ได้ย้ายชื่อสายพันธุ์ไปยังสกุล Melaleuca [9] ชื่อแสดงคุณลักษณะ quinquenervia มาจาก ภาษาละติน quinque แปลว่า "five" และ nervus แปลว่า "vein" หมายถึงใบไม้ที่มักจะมีเส้นใบห้าเส้น[2][4]

ชื่อสามัญ Broad-leaved paperbark, Broad-leaved tea tree หรือเพียงแค่ Paperbark หรือ Tea tree ใช้ในออสเตรเลีย และ Punk tree ใช้ในสหรัฐอเมริกา[6] เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Niaouli, Itachou (paicî) และ Pichöö (xârâcùù) ใน นิวแคลิโดเนีย [10]

การแพร่กระจายและถิ่นกำเนิด

ถิ่นกำเนิดของ Melaleuca quinquenervia ในออสเตรเลีย

ในประเทศออสเตรเลีย เสม็ดใบกว้าง (M. quinquenervia) แพร่กระจายตามชายฝั่งตะวันออกตั้งแต่ คาบสมุทรเคปยอร์ก ในควีนส์แลนด์ ไปจนถึง Botany Bay ใน นิวเซาท์เวลส์ เติบโตได้ดีในที่ราบลุ่มและหนองน้ำตามฤดูกาล ที่ราบปากแม่น้ำ ป่าชายหาดใกล้ทะเล ที่ลุ่มมีน้ำขัง ตามขอบของป่าพรุ และเป็นพืชพันธุ์ที่โดดเด่นในภูมิภาค ซิดนีย์ ที่เติบโตควบคู่ไปกับต้นไม้อื่น เช่น ไม้มะฮอกกานี (Eucalyptus robusta) และ Bangalay (E. botryoides) เสม็ดใบกว้างเติบโตในดินเหนียว ดินป่าพรุหรือดินที่มีน้ำขัง และเติบโตได้ในดินเปรี้ยวที่มี pH ต่ำถึง 2.5 [11]

เสม็ดใบกว้าง มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ของ นิวกินีตะวันตก ของประเทศ อินโดนีเซีย และประเทศ ปาปัวนิวกินี และแพร่กระจายในนิวแคลิโดเนียรวมทั้ง แกรนด์แตร์, Belep, เกาะ Pines และ Maré [10] อาจพบต้นเสม็ดใบกว้างกระจัดกระจายตามภูมิประเทศทุ่งหญ้าสะวันนาทางตะวันตกของนิวแคลิโดเนีย ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยมีสภาพป่ามาก่อน แต่ถูกปรับสภาพเป็นทุ่งหญ้าตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานเริ่มแรกของมนุษย์ในภูมิภาคซึ่งใช้ไฟในการบุกเบิกปรับหน้าดิน [12] ภัยคุกคามที่สำคัญต่อ เสม็ดใบกว้าง คือการพัฒนาที่อยู่อาศัย การตัดถนน การปลูกอ้อยและสวนสน เสม็ดใบกว้างที่เหลืออยูู่ในออสเตรเลียไม่ได้รับการคุ้มครองในเขตสงวน โดยพื้นที่ป่าเสม็ดใบกว้างส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในที่ดินส่วนบุคคลซึ่งการหักล้างถากพงยังคงดำเนินต่อไป [13]

เสม็ดใบกว้าง (M. quinquenervia) ได้รับการแนะนำให้เป็น ไม้ประดับ ในพื้นที่เขตร้อนหลายแห่งของโลก รวมทั้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และ อเมริกา และได้กลายเป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกรานในหลายพื้นที่เหล่านั้น [14]

นิเวศวิทยา

เสม็ดใบกว้าง (M. quinquenervia) สามารถแตกยอดใหม่จากปุ่มปมตามลําต้นอย่างรวดเร็วหลังไฟป่า และได้รับการบันทึกว่าสามารถออกดอกภายในไม่กี่สัปดาห์หลังไฟป่า สามารถมีอายุได้นานกว่า 100 ปี โดยต้นเสม็ดใบกว้างปลูกอายุ 40 ปีจะมีเส้นรอบวงลำต้นประมาญ 2.7 เมตร [11]

ดอกเสม็ดใบกว้าง เป็นแหล่งน้ำหวานที่ดีสำหรับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ แมลง และนกหลากหลายชนิด[6] เช่น นกแก้วเขียวอกลาย (Trichoglossus chlorolepidotus)[15] ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนหัวสีเทา (Pteropus poliocephalus) และ ค้างคาวแม่ไก่สีแดง (P. scapulatus) ที่กินทั้งดอก


เคมี

สารประกอบอินทรีย์เทอร์พีนที่พบในเสม็ดใบกว้าง (M. quinquenervia)

สารสำคัญ ที่สกัดได้จากเสม็ดใบกว้าง (M. quinquenervia) คือ สารประกอบอินทรีย์ เทอร์พีน ที่ต่างกัน 2 รูปแบบ คือ

  • สารสำคัญที่ 1 (เทอร์พีน แบบเส้น) คือ E-nerolidol ที่มีความเข้มข้น 74-95% ของน้ำมันทั้งหมด และยังรวมถึง Linalool [16]
  • สารสำคัญที่ 2 (เทอร์พีน แบบมุม) คือ Viridiflorol ที่มีความเข้มข้น 13 - 66% ของน้ำมันทั้งหมด และยังรวมถึง 1,8-cineole และ α-Terpineol [16]

และยังมี Grandinin เป็น ellagitannin ที่พบในใบของ M. quinquenervia [17]

การใช้ประโยชน์

เสม็ดใบกว้าง (M. quinquenervia) มีประโยชน์หลายอย่าง

ใบ มีรสขมหอม ชาวออสเตรเลียพื้นเมือง นิยมใช้ใบอ่อนที่ขยี้จนมีกลิ่นหอมระเหยไปต้มเพื่อรักษา โรคหวัด อาการปวดหัว และโรคทั่วไป [18]

น้ำมันหอมระเหย ของ Melaleuca quinquenervia (โดยเฉพาะน้ำมันจากใบที่กลั่นด้วยไอน้ำมีสารสำคัญ 1,8-cineole ใช้ภายนอกสำหรับอาการไอ หวัด โรคประสาท และ โรคไขข้อ [19] ใช้กินช่วยขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ [1] นอกจากนี้ยังมีการสกัดสารสำคัญ nerolidol และ linalool) ซึ่งใช้ในน้ำยาไล่ยุงหรือแมลงและใช้เป็นตัวแต่งกลิ่นในสบู่และเครื่องสำอาง ได้ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายชนิดโดยเฉพาะในออสเตรเลีย น้ำมันมีบันทึกในตำรับสมุนไพรและยาธรรมชาติ ใช้เป็นสารฆ่าเชื้อและต้านเชื้อแบคทีเรียเพื่อช่วยในการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ปัญหาทางเดินหายใจและ โรคหวัด เป็นน้ำมันที่ไม่เป็นพิษ และทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้น้อยมาก มีระดับความเป็นอันตรายต่ำมาก (ระดับ 0) ในฐานข้อมูลความปลอดภัยของเครื่องสำอาง [20]

เปลือกไม้ที่เหมือนกระดาษนั้นใช้ในการรอง คูลามอน (ถาดทรงยาวคล้ายฟักผ่าครึ่ง) ใช้สร้างที่พักอาศัยแบบชั่วคราว ใช้ห่ออาหารอบ และใช้ปูหลุมเตาใต้ดิน [6]

ดอก น้ำหวานสกัดแบบดั้งเดิมโดยการขยำในน้ำใน คูลามอน ใช้เป็น เครื่องดื่ม ดอกหอมของเสม็ดใบกว้างยังช่วยผลิต น้ำผึ้ง สีเหลืองอำพันสีอ่อนถึงเข้มซึ่งต่างกันในแต่ละพื้นที่ เป็นน้ำผึ้งที่มีรสชาติเฉพาะตัวและหวานจัด ไม่จัดเป็นน้ำผึ้งคุณภาพสูง แต่ก็เป็นที่นิยม [21]

บางครั้งต้นเสม็ดใบกว้าง ยังนิยมทำเป็น บอนไซ [22]

เนื้อไม้ ทนต่อความชื้นและทนการแช่น้ำ และมักใช้เป็นรั้ว [23]

เป็นต้นไม้ ที่นิยมปลูกข้างถนนหรือปลูกในสวนสาธารณะโดยเฉพาะในซิดนีย์ [24] ในประเทศออสเตรเลียใช้ในการกันลม บังแดดให้ร่ม และแหล่งอาหารที่ดีสำหรับแมลงและนกท้องถิ่นหลากหลายชนิด [6][25] สามารถทนต่อดินที่มีน้ำขังได้ [23] ทั้งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ว่าเป็น วัชพืชรุกราน ใน รัฐฟลอริดา ซึ่งเคยได้แนะนำให้ปลูกในการช่วยซับน้ำในหนองน้ำ

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 https://www.matichonweekly.com/column/article_224476
  2. 2.0 2.1 2.2 ISBN 9781922137517
  3. 3.0 3.1 ISBN 1876334983
  4. 4.0 4.1 4.2 ISBN 0207168679
  5. 5.0 5.1 https://plantnet.rbgsyd.nsw.gov.au/cgi-bin/NSWfl.pl?page=nswfl&lvl=sp&name=Melaleuca~quinquenervia
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 ISBN 0-85091-589-9
  7. https://biodiversity.org.au/nsl/services/rest/instance/apni/473477
  8. https://bibdigital.rjb.csic.es/records/item/9682-redirection
  9. https://biodiversity.org.au/nsl/services/rest/instance/apni/543006
  10. 10.0 10.1 http://endemia.nc/flore/fiche445.html
  11. 11.0 11.1 https://www.rbgsyd.nsw.gov.au/RoyalBotanicGarden/media/RBG/Science/Cunninghamia/Volume%205%20-%201998/Volume-5(4)-1998-Cun5Ben808-987.pdf
  12. ISBN 0-387-98313-9
  13. C.E., Turner; T. D. Center; D. W. Burrows; G. R. Buckingham (1998). "Ecology and management of Melaleuca quinquenervia, an invader of wetlands in Florida, USA. Wetlands Ecology and Management". 5: 165–178.
  14. "Melaleuca quinquenervia (paperbark tree)". Centre for Agriculture and Biosciences International. Retrieved 5 February 2017. https://www.cabi.org/isc/datasheet/34348
  15. Lepschi BJ (1993). "Food of some birds in eastern New South Wales: additions to Barker & Vestjens". Emu. 93 (3): 195–99. doi:10.1071/MU9930195.
  16. 16.0 16.1 Ireland, B.F.; D.B. Hibbert; R.J. Goldsack; J.C. Doran; J.J. Brophy (2002). "Chemical variation in the leaf essential oil of Melaleuca quinquenervia (Cav.) S.T. Blake". Biochemical Systematics and Ecology. 30 (5): 457–470. doi:10.1016/s0305-1978(01)00112-0.
  17. Moharram, F. A. (2003). "Polyphenols ofMelaleuca quinquenervia leaves - pharmacological studies of grandinin". Phytotherapy Research. 17 (7): 767–773. doi:10.1002/ptr.1214. PMID 12916075.
  18. Maiden, J.H., The Forest Flora of New South Wales, vol. 1, Government Printer, Sydney, 1904.
  19. Blake, S.T., Contributions from the Queensland Herbarium, No.1, 1968.
  20. [1]
  21. Cribb, A.B. & J.W., Useful Wild Plants in Australia, Collins 1982, p. 23, ISBN 0-00-636397-0.
  22. "Australian Plants as Bonsai - Melaleuca quinquenervia". Australian National Botanic Gardens. Retrieved 15 May 2020.
  23. 23.0 23.1 Halliday, Ivan (1989). A Field Guide to Australian Trees. Melbourne: Hamlyn Australia. p. 262. ISBN 0-947334-08-4.
  24. Halliday, Ivan (2004). Melaleucas: A Field and Garden Guide. Sydney: New Holland Press. p. 238. ISBN 1-876334-98-3.
  25. Elliot, Rodger (1994). Attracting Wildlife to Your Garden. Melbourne: Lothian Press. p. 58. ISBN 0-85091-628-3.