มิตร ชัยบัญชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พิเชษฐ์ พุ่มเหม)

มิตร ชัยบัญชา
สารนิเทศภูมิหลัง
ชื่ออื่นสุพิศ นิลสีทอง,
สุพิศ พุ่มเหม,
พิเชษฐ์ พุ่มเหม
เกิด28 มกราคม พ.ศ. 2477
บุญทิ้ง ระวีแสง
อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (36 ปี)
เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย
ส่วนสูง186 เซนติเมตร
บิดาชม ระวีแสง
มารดาสงวน ระวีแสง
คู่สมรสจารุวรรณ สวีรวงศ์ (สมรส 2502; หย่า 2506)
คู่ครองกิ่งดาว ดารณี (2506–2512)
ศศิธร เพชรรุ่ง (เริ่ม 2512)
บุตรยุทธนา พุ่มเหม
อาชีพ
  • นักแสดง
  • นายแบบ
  • ทหารอากาศ
  • นักการเมือง
  • นักมวยไทย
  • ผู้กำกับภาพยนตร์
ปีที่แสดงพ.ศ. 2500–2513
ผลงานเด่นไวย ศักดาชาติเสือ (2501)
โรม ฤทธิไกรอินทรีแดง (2502)
ตุ๊ อรรคพลเงิน เงิน เงิน (2508)[1]
ไอ้คล้าวมนต์รักลูกทุ่ง (2513)
รางวัล
พระสุรัสวดีดารานำฝ่ายชาย
พ.ศ. 2508 – เงิน เงิน เงิน
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
แผนก/สังกัดกองทัพอากาศไทย
ประจำการพ.ศ. 2497 – 2506
ชั้นยศ พันจ่าอากาศโท
หน่วยกองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน

มิตร ชัยบัญชา (28 มกราคม พ.ศ. 2477 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513) ชื่อเล่น เชษฐ์ หรือชื่อจริง พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ ชัยบัญชา (นามสกุลเดิม พุ่มเหม) เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงปลาย พ.ศ. 2499 เป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2500–2513 มีผลงานเด่นในช่วง พ.ศ. 2501–2517 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม.[2] มีผลงานนับได้ขณะนั้น 266 เรื่อง จากทั้งสิ้น 300 กว่าเรื่อง

ผลงาน[แก้]

ผลงานเรื่องแรกคือเรื่อง ชาติเสือ ผลงานเรื่องที่สองที่ออกฉายคือ จ้าวนักเลง หรือ อินทรีแดง ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ทำรายได้เกินล้านบาท มิตรมีผลงานแสดงที่โดดเด่นมากและหลากหลาย ทั้งบทบู๊ รักกุ๊กกิ๊ก รักรันทด ตลก เชยเด๋อด๋า หรือชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา

พ.ศ. 2506 ภาพยนตร์เรื่อง ใจเพชร ทำรายได้สูงสุด และมีภาพยนตร์ที่ทำรายได้เกินล้านอีกหลายเรื่อง โดยเมื่อ พ.ศ. 2508 รับพระราชทานรางวัล "โล่ห์เกียรตินิยม"นักแสดงนำชาย ที่ทำรายได้สูงสุด จากภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน ซึ่งทำรายได้เป็นประวัติการณ์ ต่อมา พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์เรื่อง เพชรตัดเพชร ทำรายได้ทำลายสถิติ เงิน เงิน เงิน ได้ 3 ล้านบาทในเวลา 1 เดือน และรับพระราชทานรางวัลดาราทอง จากคุณสมบัติหลัก 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี และ น้ำใจ ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของผู้รับรางวัล ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2513 ภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ เป็นภาพยนตร์เพลงลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้มากกว่า 6 ล้านบาทและยืนโรงได้นานกว่า 6 เดือนในกรุงเทพ ทำรายได้ทั่วประเทศกว่า 13 ล้านบาท

วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 มิตรเสียชีวิตขณะถ่ายทำฉากโหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ จากภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ท่ามกลางความอาลัยของมหาชน นับเป็นบุคคลธรรมดาที่มีผู้มาร่วมงานศพมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์[3] ได้มีการตั้งศาลบริเวณ หาดจอมเทียน พัทยาใต้ สถานที่ที่เขาเสียชีวิต ต่อมามีการปรับปรุงและสร้างรูปหล่อของมิตรในชุดอินทรีทองไว้ที่ศาลด้วย ปัจจุบันอยู่ด้านหลังโรงแรมจอมเทียน เมื่อ พ.ศ. 2548 ได้มีการสร้างละครเรื่อง "มิตร ชัยบัญชา มายา-ชีวิต" ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ละครสร้างดัดแปลงมาจากเรื่องและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของมิตร ชัยบัญชา เพื่อรำลึกถึงพระเอกดาราทองยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศไทย เป็นที่รักของมหาชนทั่วประเทศ พ.ศ. 2549–2550 มีการรวมใจสร้างอนุสรณ์สถานมิตร ชัยบัญชา พร้อมหุ่นไฟเบอร์กลาส ที่บ้านไสค้าน จังหวัดเพชรบุรี บ้านเดิมของมิตร ชัยบัญชา ด้วย

ประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงแรกและการศึกษา[แก้]

มิตร ชัยบัญชา เกิดที่หมู่บ้านไสค้าน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรชายของพลตำรวจ ชม ระวีแสง ตำรวจชั้นประทวน กับนางยี หรือ สงวน ระวีแสง สาวตลาดท่ายาง นางยีให้กำเนิดลูกน้อย ขณะที่สามีไม่ได้ดูแลใส่ใจเพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ

มิตร ชัยบัญชา เดิมเรียกกันว่า บุญทิ้ง เพราะพ่อแม่แยกทางกัน[4] เมื่อมิตร ชัยบัญชาอายุได้ 1 ขวบ นางยีก็เข้ามาเป็นแม่ค้าขายผักในกรุงเทพ โดยฝากลูกชายไว้กับนายรื่นและนางผาด ซึ่งเป็นปู่และย่าของมิตร ชัยบัญชา ที่หมู่บ้านไสค้าน เมื่อนายรื่นและนางผาด เห็นว่าตนอายุมากขึ้นทุกวัน จวนจะเป็นไม้ใกล้ฝั่งเข้าทุกที จึงฝากเลี้ยงไว้กับสามเณรแช่ม ระวีแสง ผู้เป็นอา ซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดท่ากระเทียม ชีวิตในวัยเด็กของมิตร ต้องติดสอยห้อยตามสามเณรแช่มซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดสนามพราหมณ์ เป็นเด็กวัดที่อาศัยข้าวก้นบาตรกิน ในเพลง"ข้าวก้นบาตร" ที่แต่งโดย สมโภชน์ ล้ำพงษ์และ บำเทอง เชิดชูตระกูล มีเนื้อเพลงบางท่อนกล่าวถึงชีวิตของ มิตร ชัยบัญชาในช่วงนี้[5]

มิตร ชัยบัญชา สมัยเรียนอยู่โรงเรียนฝึกการบิน

ต่อมา ได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดไสค้าน และย้ายมาที่โรงเรียนประชาบาลวัดจันทร์ เมื่อมารดามีฐานะดีขึ้นจึงมาขอรับมิตรย้ายมาอยู่กรุงเทพ ที่บ้านย่านนางเลิ้ง เยื้องกับวัดแคนางเลิ้ง เมื่ออายุประมาณ 9 ปี เข้าเรียนที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ถนนกรุงเกษม โดยเป็นบุตรบุญธรรมของน้ากับน้าเขย จากชื่อ บุญทิ้ง มาเป็น สุพิศ นิลศรีทอง (นามสกุลน้าเขย) และ สุพิศ พุ่มเหม (นามสกุลของนายเฉลิมพ่อเลี้ยง) เมื่อโอนกลับมาเป็นบุตรบุญธรรมของแม่กับพ่อเลี้ยง หลังเรียนจบมัธยม ก่อนเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ มิตรเป็นเด็กเรียนดี เก่งศิลปะ งานช่าง และ ภาษาอังกฤษ นอกจากการเรียนและทำงานรับจ้างสารพัดแล้วมิตรก็เลี้ยงปลากัด ช้อนลูกน้ำขาย รวมถึงนำจักรยานเก่ามาซ่อมให้เช่าหัดถีบ เพื่อหาเงินใช้เองโดยไม่ต้องพึ่งครอบครัว เนื่องจากแม่มีหลานหลายคนที่ต้องดูแล

นอกจากนี้ยังชอบเล่นกีฬา และ หัดชกมวยไว้ป้องกันตัว ทั้งนี้เขาสามารถคว้าเหรียญทองมวยนักเรียน 2 ปี ในรุ่นเฟเธอร์เวท และ ไลท์เวท (135 ปอนด์) [5] พ.ศ. 2492 และ พ.ศ. 2494 จากนั้น เขาได้ย้ายไปอยู่โรงเรียนปริยัติรังสรรค์ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ระยะหนึ่ง แล้วเรียนต่อระดับเตรียมอุดมที่โรงเรียนพระนครวิทยาลัย และลาออกเพื่อมาสมัครสอบเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ เพื่อรับราชการทหารอากาศ จังหวัดนครราชสีมา เพราะอยากเป็นนักบิน เริ่มการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2497 เป็นนักเรียนการบินรุ่นที่ ป.15 ของโรงเรียนการบินโคราช และ นักเรียนจ่าอากาศ เหล่าอากาศโยธิน รุ่นที่ 11 สำเร็จการศึกษา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2499 ติดยศจ่าอากาศโท เมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 จนได้เป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมือง[6] จึงเปลี่ยนชื่อเป็นจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม

เมื่อ พ.ศ. 2499 จ่าโทสมจ้อยได้ส่งรูปและแนะนำมิตร ชัยบัญชา หรือ จ่าเชษฐ์ ในขณะนั้น ให้รู้จักกับ ก. แก้วประเสริฐ เพื่อให้เล่นหนังเพราะเห็นท่าทาง รูปร่างหน้าตาที่หล่อและสูงสง่าของมิตร ประกอบกับบุคลิกภาพที่สุภาพอ่อนโยน กระทั่งได้พบกับ ภราดร ศักดา นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ภราดรได้เสนอกับผู้สร้างหนังหลายราย จ่าสมจ้อยและจ่าเชษฐ์ก็ไปถ่ายรูปและส่งไปตามโรงพิมพ์ โดยกิ่ง แก้วประเสริฐเป็นผู้ผลักดันพาไปพบผู้สร้างหนังรายต่างๆ ตามกองถ่าย เพราะเห็นความตั้งใจจริงของจ่าเชษฐ์ รวมถึงส่งภาพให้ผู้สร้าง และ ถ่ายภาพลงประกอบนวนิยายในนิตยสารด้วย จนกระทั่งได้รับการตอบรับให้เป็นพระเอกในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แต่ต้องทำใจปฏิเสธไปเพราะติดราชการสำคัญ ไม่สามารถไปพบผู้สร้างได้ หลังจากนั้นก็มักได้รับการปฏิเสธ ติจมูก ติโหนกแก้ม โดยเฉพาะเรื่องความสูง ที่จะหานางเอกมาเล่นด้วยลำบาก และจ่าเชษฐ์เองก็ไม่รับเล่นบทอื่นด้วย นอกจากพระเอก

ต่อมาได้พบกับ สุรัฐ พุกกะเวส จนกระทั่งนัดให้ กิ่ง แก้วประเสริฐ พาจ่าเชษฐ์ ไปพบทีมงานผู้สร้าง ชาติเสือ ซึ่งวางตัวเอกไว้แต่แรก หลายคนรวมทั้ง ชนะ ศรีอุบล แต่ ประทีป โกมลภิส ไม่ถูกใจเลยสักคน ต้องการดาราหน้าใหม่ ซึ่งเมื่อพบแล้วทั้งผู้สร้าง ผู้กำกับ ก็พอใจบุคลิก ลักษณะ ของจ่าเชษฐ์ จึงได้รับจ่าเชษฐ์เข้าสู่วงการหนังไทย และตั้งชื่อให้ใหม่ โดยเมื่อประทีปตั้งคำถามให้ตอบ

  • ข้อ 1 ในชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด มิตรตอบว่า "เพื่อนครับ" ประทีปบอกว่า "เพื่อน คือ มิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นดีให้ใช้ชื่อใหม่ว่า 'มิตร' ก็แล้วกัน" (เป็นที่มาของชื่อ มิตร)
  • ข้อ 2 ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด มิตรตอบอย่างไม่ลังเลว่า "ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ" เพราะมิตรได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด และเขาได้ทำหน้าที่นี้ทุกปีตลอดการเป็นทหารของเขา (เป็นที่มาของนามสกุล "ชัยบัญชา")[7]

ก้าวสู่วงการแสดง[แก้]

ภาพยนตร์ ชาติเสือ บทประพันธ์ของ เศก ดุสิต กำกับโดย ประทีป โกมลภิส เป็นเรื่องแรกที่มิตรได้ประกบกับนางเอกที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นถึง 6 คน เช่น เรวดี ศิริวิไล นัยนา ถนอมทรัพย์ ประภาศรี สาธรกิจ และ น้ำเงิน บุญหนัก เป็นภาพยนตร์ที่เริ่มถ่ายทำในปลาย พ.ศ. 2500 และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2501 ภาพยนตร์ทำรายได้กว่าแปดแสนบาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากของสมัยนั้น[8] ทำให้ชื่อของ มิตร ชัยบัญชา เป็นที่รู้จักของประชาชน

มิตร ชัยบัญชาในบท อินทรีแดง เรื่อง จ้าวนักเลง

มิตรโด่งดังเป็นอย่างมาก จากบท โรม ฤทธิไกร หรือ อินทรีแดง ในภาพยนตร์เรื่อง จ้าวนักเลง (2502) ซึ่งเป็นบทที่มิตร ชัยบัญชา ต้องการแสดงเป็นอย่างมากหลังจากได้อ่านหนังสือ จนทีมผู้สร้าง ชาติเสือ ตัดสินใจไปพบ เศก ดุสิต พร้อม มิตร ชัยบัญชา เพื่อขอซื้อเรื่องมาทำเป็นภาพยนตร์ เศก ดุสิต พูดต่อมิตร ชัยบัญชาว่า "...คุณคือ อินทรีแดง ของผม..." ซึ่งภาพยนตร์ทำรายได้มากและมีภาพยนตร์ภาคต่อหลายเรื่อง ต่อมามีภาพยนตร์สร้างชื่อเสียงให้มิตรอีกหลายเรื่อง เช่น เหนือมนุษย์ แสงสูรย์ ค่าน้ำนม ร้ายก็รัก ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเก้า หงษ์ฟ้า ทับสมิงคลา ใน พ.ศ. 2502 (ปีเดียวกับที่สร้างภาพยนตร์ จ้าวนักเลง)

มิตร ชัยบัญชา มีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นเรื่อย ๆ จากบทบาทการแสดงที่ประชาชนชื่นชอบ และจากวินัยที่ดีในการทำงาน รวมถึงนิสัย และอัธยาศัยต่อเพื่อนร่วมงาน มิตรเป็นพระเอกดาวรุ่งที่โด่งดังอยู่ เมื่อแสดงภาพยนตร์คู่กับเพชรา เชาวราษฎร์นางเอกใหม่ เรื่อง บันทึกรักของพิมพ์ฉวี เป็นเรื่องแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ภาพยนตร์ออกฉาย พ.ศ. 2505 มิตรเริ่มก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งพระเอกอันดับ 1 ของประเทศ ที่เป็นที่รักของประชาชน ซึ่งต่อมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ได้แสดงภาพยนตร์คู่กับเพชรามากขึ้น และเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จึงเป็นคู่ขวัญได้แสดงภาพยนตร์คู่กันมากที่สุดตลอดมา รับบทคู่รักในภาพยนตร์ ประมาณ 200 เรื่อง จนแฟนภาพยนตร์เรียกว่า มิตร-เพชรา (แฟนหนังบางส่วนเข้าใจผิดว่ามิตร นามสกุล เพชรา) มีแฟนภาพยนตร์จำนวนมากที่ชื่นชอบในตัวมิตร ถึงขนาดว่าถ้าไม่มีชื่อมิตรแสดงก็เดินทางกลับ ไม่ดูหนัง ทั้งที่เดินทางมาไกล แม้แฟนภาพยนตร์มักเข้าใจว่าเป็นคู่รัก แต่ก็เป็นเพียงในภาพยนตร์ ในความเป็นจริงแล้วทั้งคู่มีความสนิทสนมจริงใจเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกัน มิตรรักเพชราเหมือนน้องสาว คอยปกป้องและเป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาให้เพชรา แต่ก็มักโกรธกันอยู่บ่อย ๆ บางครั้งไม่พูดกันเป็นเดือน ทั้ง ๆ ที่แสดงหนังร่วมกันอยู่[9] โดยเพชรา เคยกล่าวว่า มิตรเป็นคนช่างน้อยใจ

ปลาย พ.ศ. 2504 มิตรประสบอุบัติเหตุ จากการเดินทางไปดูสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง ทวนสุริยะ ของ ปรีชา บุญยเกียรติ เป็นเหตุให้มิตร สะบ้าแตก หน้าแข้งหัก กะโหลกศีรษะกลางหน้าผากเจาะ และฟันหน้าบิ่น เกือบพิการ ถูกตัดขา แต่ในที่สุดก็ใส่สะบ้าเทียมและดามเหล็กยาวที่หน้าแข้ง ต้องฝึกเดินอยู่นานจึงหายเป็นปกติ แต่อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ ปรีชา บุญยเกียรติ เสียชีวิต

พ.ศ. 2505 มิตรร่วมกับเพื่อนในวงการภาพยนตร์ เช่น อนุชา รัตนมาลย์ แดน กฤษดา ไพรัช สังวริบุตร จัดตั้ง วชิรนทร์ภาพยนตร์ สร้างภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ ยอดขวัญจิต และ ทับสมิงคลา (ภาคหนึ่งของอินทรีแดง)

พ.ศ. 2506 มิตร ชัยบัญชา ก่อตั้ง ชัยบัญชาภาพยนตร์ ของตัวเอง สร้างภาพยนตร์เรื่อง เหยี่ยวดำ (ครุฑดำ) ซึ่งแม้ว่าชื่อเรื่องจะมีปัญหา แต่มิตรก็ฝ่าฟัน ลงทุนแก้ไข จนออกฉายได้ โดยไม่ขาดทุน ท่ามกลางความเห็นใจของประชาชนและผู้อยู่รอบข้าง มีการกล่าวกันว่า ถ้าไม่ใช่หนังของ มิตร ชัยบัญชา คงจะล่มขาดทุนไปแล้ว

ลาออกจากอาชีพทหารอากาศ[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2506 จำต้องลาออกจากอาชีพทหารอากาศ ขณะมียศพันจ่าอากาศโท[6] เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 เนื่องจากการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ครุฑดำ โดย ชัยบัญชาภาพยนตร์ จากบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต ที่เขาถูกกล่าวหาว่านำสัญลักษณ์ตราครุฑมาใช้อย่างไม่เหมาะสม ครุฑดำ จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น เหยี่ยวดำ และผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพอากาศขณะนั้นเห็นควรให้เลือกทำเพียงอาชีพเดียว มิตร ชัยบัญชา กล่าวกับแฟน ๆ ที่หน้าโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงขณะยืนแจกภาพถ่ายในเครื่องแบบทหารอากาศ ในวันที่ เหยี่ยวดำ เข้าฉาย เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ว่า

... ถึงแม้ว่าได้เลือกอาชีพการแสดงภาพยนตร์เพื่อการเลี้ยงชีพ แต่ทั้งร่างกายและจิตใจของผม คือ ทหาร ผมรักเครื่องแบบทหาร ชื่อเสียงความนิยมที่ประชาชนมอบให้ผมในฐานะนักแสดง ผมก็ถือว่าเป็นชื่อเสียงของกองทัพอากาศเช่นกัน การให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกครั้ง ผมไม่เคยลืมที่จะกล่าวถึง การเป็นทหารอากาศ มากกว่าการให้สัมภาษณ์อย่างอื่น ถึงแม้ว่าการแสดงจะเป็นภาระจนทำให้ผมต้องตัดสินใจลาออก แต่จิตใจของผมและทั้งตัว คือ ทหารอากาศ ...

สู่การแสดงอย่างเต็มตัว[แก้]

หลังจากนั้นเขาจึงได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่กับการแสดง ทำให้มีผลงานมากถึง 35–40 เรื่องต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่มากถึงครึ่งหนึ่ง หรือ มากกว่าครึ่งของจำนวนภาพยนตร์ที่ออกฉายทั้งปี กิ่งดาว ดารณี เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร ว่า มิตร ชัยบัญชา มีภาพยนตร์ต้องถ่ายเดือนละประมาณ 30 เรื่อง ผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อมา ได้เพิ่มชื่อเสียงให้กับมิตร ชัยบัญชา ได้แก่ ใจเดียว, ใจเพชร, จำเลยรัก, เพลิงทรนง, อวสานอินทรีแดง, นางสาวโพระดก, เก้ามหากาฬ, ชายชาตรี, ร้อยป่า, สมิงบ้านไร่, หัวใจเถื่อน, สาวเครือฟ้า, ทับเทวา, สิงห์ล่าสิงห์, 5 พยัคฆ์ร้าย, ทาสผยอง, อินทรีมหากาฬ, เดือนร้าว, ดาวพระศุกร์, มือนาง, พนาสวรรค์, ลมหนาว, แสงเทียน, พระอภัยมณี, ปีศาจดำ, พระลอ, ทรชนคนสวย, 7 พระกาฬ, พยัคฆ์ร้ายใต้สมุทร, ชุมทางเขาชุมทอง, ไฟเสน่หา, ฟ้าเพียงดิน, เงิน เงิน เงิน, เพชรตัดเพชร ฯลฯ ในช่วงนั้นมิตรมีรายได้เข้าบัญชีธนาคารเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 แสนกว่าบาท ซึ่งเขาก็สละเวลา 1 วันในแต่ละปีเพื่อไปชำระภาษีอากรอย่างถูกต้อง[10]

พ.ศ. 2507 และ 2508 ภาพยนตร์เรื่อง นางสาวโพระดก และ สาวเครือฟ้า ที่มิตร แสดงนำคู่กับ พิศมัย ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี

พ.ศ. 2508 มิตร แสดงภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน เป็นภาพยนตร์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ระบบซูเปอร์ซีเนสโคป สีอิสต์แมน ร่วมแสดงกับ เพชรา เชาวราษฎร์, ชรินทร์ นันทนาคร, สุมาลี ทองหล่อ, สุเทพ วงศ์กำแหง, อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา ทำรายได้มากเป็นประวัติการณ์[11] และมิตร-เพชรา ได้รับพระราชทานโล่เกียรตินิยม ของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ประจำ พ.ศ. 2508 เมื่อ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ในฐานะนักแสดงนำที่ทำรายได้สูงสุด จากภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน ต่อมา พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์เรื่อง เพชรตัดเพชร สามารถทำรายได้สูงกว่า เงิน เงิน เงิน

เมื่อ พ.ศ. 2509 สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยมีความคิดที่จะจัดงานมอบรางวัลให้กับดารา นักแสดง ที่มีคุณสมบัติที่ดีในการทำงาน เป็นที่รักของคนในอาชีพเดียวกัน เป็นที่รักของประชาชน มีความรับผิดชอบ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมงาน โดยมิตร ชัยบัญชา ได้รับพระราชทานรางวัล "ดาราทอง" สาขานักแสดงนำภาพยนตร์ ฝ่ายชาย และพิศมัย วิไลศักดิ์ ฝ่ายหญิง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2510 จากคุณสมบัติ 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี และ น้ำใจ[12]

13 มีนาคม พ.ศ. 2510 มิตร ชัยบัญชา ขอเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอดุสิต โดยขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลว่า "ชัยบัญชา" หลังจากอยู่วงการภาพยนตร์ร่วม 10 ปี โดยตามบัตรประชาชนใบใหม่ที่ออกให้เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2512 หมดอายุวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2518 ใช้ชื่อและนามสกุลว่า พิเชษฐ์ ชัยบัญชา

สู่บทบาทอื่น ๆ[แก้]

พ.ศ. 2510 หลังจากที่มิตรประสบความสำเร็จอย่างสูง มีทรัพย์สิน เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ พร้อมหลักฐานมั่นคง จึงคิดช่วยให้เพื่อน ๆ ตั้งตัวได้ โดยตั้งสหชัยภาพยนตร์ขึ้นให้สลับกันเป็นผู้อำนวยการสร้าง มิตรเป็นพระเอกให้โดยไม่คิดค่าแสดง หากมีปัญหาเรื่องเงินทุนก็ช่วยเหลือกัน และมีภาพยนตร์หลายเรื่องในช่วงนี้จนถึง พ.ศ. 2513 ที่มิตรร่วมทุนสร้างด้วย เช่น จอมโจรมเหศวร, สวรรค์เบี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่อดุลย์ ดุลยรัตน์ เป็นผู้กำกับการแสดง โดยมิตรแนะนำให้ผู้สร้างคือ วิเชียร สงวนไทย ติดต่ออดุลย์ และบอกว่าอดุลย์ จะเป็นผู้กำกับที่มีฝีมือในอนาคต ผลงานเด่น ๆ ในช่วงนี้มีหลายเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงเสมอ เช่น จุฬาตรีคูณ, แสนรัก, เหนือเกล้า, ไทรโศก, แสนสงสาร, อีแตน, สมบัติแม่น้ำแคว, จ้าวอินทรี, รอยพราน, สองฟากฟ้า, รักเอย, 7 พระกาฬ, ทรชนคนสวย, คนเหนือคน และผลงานที่แสดงถึงความสามารถของมิตรอีกจำนวนมาก แต่ไม่มีการจัดงานตุ๊กตาทองแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2509

ปลาย พ.ศ. 2511 มิตร ชัยบัญชาได้ผันตัวเองเข้าสู่การเมือง ขณะนั้นมิตร มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นพลุแตก ปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้มิตรหวังว่าชื่อเสียงเหล่านี้จะสามารถชนะใจประชาชนเหมือนเช่นการแสดงภาพยนตร์ ทำให้มิตรตัดสินใจหยั่งเสียงตัวเองเป็นครั้งแรกด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ในนามกลุ่ม หนุ่ม เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2511 หาเสียงในเขตบางรัก ยานนาวา สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่เขาก็ไม่ได้รับเลือก เขาไปพักผ่อนเข้าป่าไทรโยคที่จังหวัดกาญจนบุรีกับรังสี ทัศนพยัคฆ์ ล้อต๊อก กิ่งดาว และเพื่อน แล้วออกมาทำงานต่อ

ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2512 มิตรได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อพิสูจน์ความนิยมในตัวเองอีกครั้ง ตามคำขอของเพื่อน แต่ไม่ใช่ระดับท้องถิ่นอีกต่อไป เพราะเขาได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กับ ปราโมทย์ คชสุนทร เพื่อหวังทำงานรับใช้ประชาชน และต้องการช่วยนักแสดง ให้การแสดงเป็นอาชีพที่มั่นคง มีสวัสดิการ ได้รับการดูแลเหมือนอาชีพเฉพาะทางอื่นๆ โดยขณะหาเสียงมิตรยังคงมีงานถ่ายภาพยนตร์อยู่มากหลายเรื่อง รวมทั้งต้องเคลียร์คิวหนังไปถ่ายต่างประเทศด้วย 2 เรื่อง เรื่องแรกไปถ่ายที่ญี่ปุ่นอีกเรื่องไปถ่ายที่ปีนัง โดยคู่แข่งขันกล่าวกับประชาชนว่า ถ้ามิตร ชัยบัญชา ได้รับเลือกตั้งก็จะไม่ได้มาแสดงภาพยนตร์ให้ดูอีก มิตรไม่ได้รับเลือกเป็นครั้งที่ 2[13] ด้วยคะแนนที่สูงพอสมควรแต่ขาดไปเพียง 500 คะแนน ได้เป็นที่ 16 จากความต้องการ 15 คน การลงสมัครเลือกตั้งนี้เองทำให้เงินทองและทรัพย์สินของมิตรร่อยหรอลงไปหลายล้านบาท พร้อมกับบ้าน 1 หลังที่จำนองกับธนาคาร เขาเก็บความผิดหวังไว้เงียบ ๆ และอีกความเจ็บปวด คือ หญิงคนที่รักมากได้ตีห่างจากไป (เพราะเหตุผลว่าเขาผิดสัญญาที่ลงเล่นการเมืองเป็นครั้งที่ 2 และเลือกประชาชน มากกว่า เลือกเธอ) ทำให้มิตรเสียใจมาก เขาพยายามตั้งใจ อดทนสู้ใหม่ รับงานหนังอีกหลายเรื่อง เช่น 7 สิงห์คืนถิ่น, วิมานไฟ, จอมโจรมเหศวร, ทรชนเดนตาย, ฟ้าเพียงดิน, ไอ้หนึ่ง, ชาติลำชี, ขุนทาส, สมิงเจ้าท่า, แม่ย่านาง, ลมเหนือ, 2สิงห์จ้าวพยัคฆ์, กำแพงเงินตรา, วิญญาณดอกประดู่, สวรรค์เบี่ยง, ฝนเดือนหก ฯลฯ และปีเดียวกัน มิตรได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง รอยพราน ในนามชัยบัญชาภาพยนตร์ด้วย

พ.ศ. 2513 เขารวบรวมที่ดินทั้งหมดที่มีอยู่จำนองกับธนาคารเอเชีย 4 ล้าน 6 แสนบาท และจำนองบ้านพักทั้ง 3 หลังรวมทั้งขายที่ดินที่จังหวัดสระบุรีอีก 7 แสนบาท นำเงินทั้งหมดไปซื้อที่ดินตรงเชิงสะพานผ่านฟ้า เนื้อที่ 514 ตารางวา[14] ราคา 7 ล้านบาท เพื่อลงทุนสร้างโรงภาพยนตร์ขนาดมาตรฐานเพื่อฉายหนังไทยโดยเฉพาะ[15] มีร้านค้า และที่จอดรถ แบบทันสมัย โดยหวังช่วยเหลือผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยให้ไม่ต้องรอโปรแกรมฉายต่อจากภาพยนตร์ต่างประเทศ การออกแบบเรียบร้อย และดำเนินการปรับพื้นที่แล้ว รวมทั้งมีโครงการสร้างภาพยนตร์ 2 เรื่อง เพื่อฉายรับโรงภาพยนตร์ใหม่ เป็นการวางอนาคตของมิตร ชัยบัญชา ผู้เป็นความหวังและที่พึ่งของเพื่อนที่ร่วมโครงการนี้ และเมื่อ พ.ศ. 2513 นี้ มิตรรับงานแสดงภาพยนตร์ไว้ประมาณ 50 เรื่อง และยังมีการแสดงภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฮ่องกง ที่รับไว้ตั้งแต่ปีก่อน เรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ โดยได้แสดงร่วมกับ เถียนเหย่, กว่างหลิง และเรื่อง จอมดาบพิชัยยุทธ (ส่วนอีกเรื่องเมื่อมิตรเสียชีวิตก็ให้ไชยา สุริยัน แสดงแทนในดาบคู่สะท้านโลกันต์)

ปีเดียวกัน มิตรแสดงภาพยนตร์ร่วมกับเพชราในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ของรังสี ทัศนพยัคฆ์ ที่มิตรมีส่วนร่วมในการคิดเรื่อง และช่วยงานจนภาพยนตร์เสร็จ แม้ว่าจะหมดบทของมิตรแล้ว โดยมิตรร้องเพลงลูกทุ่งในเรื่อง 2 เพลง จาก 14 เพลง ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง ฉายในกรุงเทพได้นานถึง 6 เดือน ทำรายได้ 6 ล้านบาท และรายได้ทั่วประเทศมากกว่า 13 ล้านบาท[16] ปลุกกระแส มิตร-เพชรา ให้โด่งดังมากขึ้นอีก และเกิดความนิยมเพลงลูกทุ่งในกรุงเทพเป็นปรากฏการณ์

การเสียชีวิต[แก้]

การถ่ายทำฉากสุดท้ายของเรื่อง อินทรีทอง

เมื่อ พ.ศ. 2513 มิตรมีโครงการภาพยนตร์ ที่แสดงนำและกำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก ในเรื่อง อินทรีทอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชุด "อินทรีแดง" เรื่องที่ 6 ที่มิตรแสดงในบท โรม ฤทธิไกรหรือ อินทรีแดง ที่ต้องออกสืบหาอินทรีแดงตัวปลอม รับบทโดยครรชิต ขวัญประชา แสดงร่วมกับ เพชรา เชาวราษฎร์ รับบทวาสนา

การถ่ายทำสำเร็จได้ด้วยดีจนถึงฉากสุดท้ายของเรื่อง ถ่ายทำที่หาดดงตาล พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี เมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 9.00 น. ในเรื่องหลังจากอินทรีแดงปราบผู้ร้ายได้แล้ว จะหนีตำรวจออกจากรังของคนร้าย โดยโหนบันไดเชือกจากเฮลิคอปเตอร์ซึ่งมีวาสนาเป็นผู้ขับ กล้องจะเก็บภาพเฮลิคอปเตอร์พาอินทรีแดงบินลับหายไป

เพื่อความสมจริง และความไม่พร้อมของเสื้อผ้าของนักแสดงแทน มิตรตกลงว่าจะแสดงฉากนี้ด้วยตัวเอง โดยกำหนดการถ่ายทำไว้อย่างละเอียด แต่ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิคที่มิตรไม่อาจรู้ได้ เพราะกำลังแสดงอยู่ ปรากฏว่าด้วยแรงกระตุกของเครื่องขณะบินขึ้น โดยที่มิตรไม่ได้เหยียบบนบันได และต้องโหนตัวอยู่กับบันได เครื่องไม่ได้ลงจอดเมื่อผ่านหน้ากล้องแล้ว มิตรพยายามให้สัญญาณด้วยการตบเท้าเข้าหากัน ในขณะที่นักบินมองไม่เห็นความผิดปกติและการให้สัญญาณจากพื้นล่าง ยังบินสูงขึ้นต่อไป และเกิดแรงเหวี่ยงในจังหวะที่เครื่องเลี้ยวกลับ ซึ่งจริง ๆ แล้วมิตรได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการใช้ข้อมือซ้ายเกี่ยวพันกับบันไดลิง แต่เนื่องจากเชือกบาดข้อมือจนเกือบขาด มิตรทนความเจ็บไม่ไหว จึงตัดสินใจแกะเชือกที่รัดข้อมือ แล้วปล่อยตัวลงมา โดยตั้งใจว่าจะลงสู่บึงข้างล่างจะได้รอดชีวิต แต่ด้วยที่ว่าลมตีร่างมิตร ทำให้ตกลงมากระแทกกับพื้น ตรงจอมปลวก[9] จากความสูง 300 ฟุต เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลศรีราชาด้วย เฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวภายใน 5 นาที แต่สายเกินไป จากผลการชันสูตรศพยืนยันว่า เขาเสียชีวิตทันทีเพราะร่างกายแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี เชือกบาดข้อมือเป็นแผลลึก 2 ซ.ม. ยาว 8 ซ.ม. กระดูกขากรรไกรข้างขวาหัก กระดูกโหนกแก้มซ้ายขวาหัก มีเลือดออกทางหูขวา กระดูกซี่โครงขวาหัก 5 ซี่ กระดูกโคนขาขวาหัก กระดูกต้นคอหัก โดยเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.13 น.[17]

9 ตุลาคม พ.ศ. 2513 หนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับพาดหัวข้อข่าวการตายของเขา ซึ่งกระจายข่าวไปถึงญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน หลังจากข่าวการตายของเขา ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเขาถูกเคลื่อนย้ายออกจากบ้านทั้ง 3 หลัง ไม่มีเสื้อผ้าเหลือแม้แต่ชุดเดียวที่จะสวมใส่ให้ใหม่ตอนรดน้ำศพ[18]

ศพของมิตร ชัยบัญชา ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแคนางเลิ้ง หลังจากครบ 100 วัน พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดเมื่อ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 มีประชาชนหลั่งไหลเข้าไปร่วมงานจำนวนหลายหมื่นคน สำหรับการพระราชทานเพลิงศพย้ายจากวัดแคไปวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร มีประชาชนหลั่งไหลไปร่วมงานกว่า 3 แสนคน จนกระทั่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่าเป็นงานศพของสามัญชนที่มีผู้ไปร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์[3]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ความสัมพันธ์[แก้]

มิตร สมรสกับภรรยาชื่อ จารุวรรณ สรีรวงศ์ อย่างเงียบ ๆ เมื่อ พ.ศ. 2502 มีบุตรชายชื่อ ยุทธนา พุ่มเหม (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566)[19] โดยยุทธนาเกิดเมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2504 แต่ชีวิตสมรสไม่ราบรื่น เนื่องจากมิตรไม่มีเวลาให้ ต้องทำงานตอนกลางวัน ถ่ายหนังตอนกลางคืนและวันหยุด และต้องปกปิดต่อสาธารณชนถึงสถานภาพการแต่งงาน เพื่อรักษาความนิยมจากแฟนภาพยนตร์ รวมทั้งภรรยาไม่ค่อยเข้าใจถึงสภาพการทำงาน และความตั้งใจจริงของมิตร ทั้งคู่จึงหย่าขาดกันในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2506) ส่วนบุตรชายมิตรยังรับผิดชอบส่งเสียเงินทองให้สม่ำเสมอ รวมถึงเรื่องการศึกษาด้วย เมื่อมิตร เสียชีวิตบุตรชายเรียนอยู่ชั้น ป.4 โรงเรียนเซนต์จอห์น โดยมีชื่อของ มิตร ชัยบัญชาเป็นบิดา

หลังจากนั้นเขาได้รักและใช้ชีวิตคู่อย่างไม่เปิดเผยกับ กิ่งดาว ดารณี ภรรยาคนที่ 2[20] โดยผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายรับทราบ อยู่ 5 ปี จากบ้านของแม่ที่นางเลิ้ง ไปเช่าบ้านอยู่ที่ซอยกลาง สุขุมวิท จนกระทั่งมิตร ซื้อที่ดินปลูกบ้านในซอยจันทโรจน์วงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2507–2508 และเข้าอยู่ร่วมกันเป็นคู่ชีวิตที่บ้านทั้ง 2 หลังในพื้นที่ 200 กว่าตารางวา ทั้งที่รักกันมากแต่ชีวิตรักก็ลุ่มๆ ดอนๆ ด้วยการที่ทั้งคู่มีความสามารถ และ มีความมั่นใจในตัวเองสูง อารมณ์ที่เกิดจากมิตรมีภาระที่รับผิดชอบมาก และต้องการทำงานให้สำเร็จ มีเวลาพักผ่อนน้อย การหึงหวงของทั้งคู่ และทิฐิต้องการเอาชนะของฝ่ายหญิง กระทั่งเลิกรากันไปด้วยความเสียใจของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะมิตร หลังมิตรลงสมัครเลือกตั้งต้น พ.ศ. 2512 กิ่งดาวไปใช้ชีวิตเรียนหนังสืออยู่ที่ประเทศอังกฤษ

ก่อนเสียชีวิตเพียงไม่นาน เขาได้พบรักใหม่กับ ศศิธร เพชรรุ่ง ภรรยาคนที่ 3[21] ซึ่งมิตรได้ไปขอกับพ่อแม่ของศศิธรและปลูกบ้านให้ที่ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ให้เงินเดือนใช้เดือนละ 1,000 บาทซึ่งต่างจากตอนที่อยู่กับกิ่งดาว ดารณี คู่ชีวิตคนที่ 2 ที่ให้เดือนละ 10,000 บาท[15] เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้านและใช้ส่วนตัว

บุคลิกและนิสัย[แก้]

มิตร ชัยบัญชา มีความเป็นผู้นำ เป็นคนตรงไปตรงมา จริงใจ จริงจัง ตั้งใจ ทุ่มเทเต็มที่ ละเอียด มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา สุภาพ อ่อนน้อม มีอัธยาศัยไมตรี อารมณ์ดี ชอบหยอกล้อ ไม่ชอบการผิดนัด ผิดคำพูด หรือไม่ตั้งใจทำงาน หากทำให้เขาโกรธก็จะโมโหร้าย มิตรเป็นคนทำอะไรรวดเร็ว ผู้ร่วมงานกับเขาต้องปรับตัวให้ทัน และต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ มิตรไม่จู้จี้ จุกจิก ขี้บ่น แต่จะสั่งสอน ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง บุคลิกภายนอกเข้มแข็ง แต่เป็นคนใจอ่อน มีเมตตา ช่างสงสาร และ เห็นใจผู้อื่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีผลต่อชื่อเสียงของมิตร ชัยบัญชา เจ้าของหนังรายใดทุนน้อย มิตรจะให้คิวเต็มที่เพื่อจะได้ปิดกล้องและเข้าฉายได้เร็ว ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้

ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น และความมีน้ำใจเป็นนิสัยของมิตร ซึ่งทำให้มิตรมักมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในกองถ่ายและแก้ปัญหาเมื่อผู้สร้างมาปรึกษา เช่น การประชุมนักแสดงประกอบขออย่าให้ผิดนัดกองถ่ายเพื่อผู้สร้างจะได้ปิดกล้องตามกำหนด ไม่ต้องเสียเงินมาก การเจรจากับผู้สร้างเมื่อนักแสดงอื่น ๆ ไม่ได้ค่าแสดง การให้ยืมเงินในการดำเนินการ การให้คำปรึกษากับนักแสดงร่วมที่มีปัญหา

และด้วยมิตรไม่ต้องการให้เสียงาน ไม่ต้องการให้ผู้สร้างหรือผู้แสดงเดือดร้อน ต้องการให้งานที่เขาตั้งใจและมีส่วนในการแสดงสำเร็จลงด้วยดี เขาจะรักษาคำพูด และตรงต่อเวลา ไม่ต้องให้รอเขาจะมาก่อน ไม่ทิ้งงานไปงานอื่นแม้จะสำคัญต่อตัวเขา เช่น มิตรถ่ายหนังอยู่แต่พระองค์เจ้าอนุสรฯ ต้องการให้เขาไปงานเลี้ยงงานหนึ่งเพื่อพบบุคคลในวงการภาพยนตร์ต่างชาติแต่มิตรก็ไม่ยอมไปเพราะจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน จนท่านต้องโทรมาขอให้เจ้าของหนังพาไปซึ่งต้องทำให้หยุดการถ่ายทำไปหลายชั่วโมง

นอกจากเรื่องในกองถ่ายแล้วครั้งหนึ่งขณะนั่งรถอยู่ เขาได้พบเพื่อนเก่าที่ป้ายรถเมล์ ทำงานเป็นช่างตัดผม เขาได้ควักเงิน 6,000 บาท เพื่อให้นำไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์ขี่ไปทำงาน และอีกเหตุการณ์หนึ่ง มิตรเคยถูกผู้ชายแต่งกายเป็นทหารอากาศขอยืมเงินไป 40,000 บาท แต่ไม่ได้คืน เพราะความโอบอ้อมอารี และ การไม่คิดระแวงใครของเขา เขาเคยถูกเพื่อนที่สนิทไว้วางใจหลอกโกงเงินจำนวน 400,000 บาท ผลสุดท้ายก็ไม่เอาเรื่องเพราะเห็นใจที่ครอบครัวเขาจะเดือดร้อน ชีวิตประจำวันของมิตร ชัยบัญชา จึงพกเงินติดตัวไม่ได้ จะได้ไปเพียงวันละ 20 บาท เพราะจะถูกเพื่อนขอยืมหมด[10]

มิตร ชัยบัญชา ฉายา "พระเอกนักบุญ" ผู้ริเริ่ม "กฐินดารา" เขาได้บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลไว้มาก เช่น บริจาคเงิน 10,000 บาท ร่วมกับยิ่งยง สะเด็ดยาด เข้ามูลนิธิสงเคราะห์ผู้พิการในพระบรมราชินูปถัมภ์ บริจาคเงินส่วนตัวสร้างโบสถ์วัดแคนางเลิ้ง 500,000 บาท และ 46,500 บาท เป็นเจ้าภาพทอดกฐินวัดแคนางเลิ้งช่วง พ.ศ. 2510–2513 ได้เงินรวม 402,086 บาท และบริจาคเงินเป็นกองทุนสร้างอนุสาวรีย์เจ้ากาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเงิน 12,900 บาท[15] (จำนวนเงินขณะนั้น)

ชีวิตของเขาเคยลำบากยากแค้นมาก่อน รวมทั้งการเป็นทหาร สอนให้เขาเป็นคนขยัน อดทนกินง่ายอยู่ง่าย อาหารสำหรับมิตรไม่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เวลากินข้าวก็ใช้ช้อนสังกะสีเหมือนอยู่ในวัดได้ บางครั้งเวลาไปถ่ายหนังไม่มียาสระผมเขาก็ใช้ผงซักฟอกสระผมแทน มิตรถือคติการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งคือ "รถยนต์เป็นพาหนะ ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์" ทั้ง ๆ ที่เขามีเงินเข้าบัญชีธนาคารถึงสัปดาห์ละหนึ่งแสนบาท รถยนต์ที่เขาใช้คือ Jeep Willy รุ่นพวงมาลัยซ้าย ถึงแม้ว่าเก่าแก่ในสายตาผู้อื่นแต่เขาก็ใช้อย่างนั้น[22] ต่อมาเขาใช้รถโตโยต้าด้วย สำหรับมีคนขับเพื่อเขาจะได้พักผ่อน แต่ไม่ใช้รถเบนซ์เด็ดขาดแม้ว่าจะสามารถซื้อได้สบาย ๆ เนื่องจากเขาคิดว่าถึงเบนซ์จะเป็นรถดีแต่ก็แพงเกินฐานะนักแสดง (แม้ว่าจะเป็นนักแสดงที่ร่ำรวยอย่างเขาก็ตาม)

มิตร ชัยบัญชาเป็นคนกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ แม้แม่จะไม่ได้เลี้ยงตั้งแต่เด็กหรือช่วยเหลือครอบครัว เมื่อมาเป็นพระเอกเรื่องแรก ก็ให้ไปใช้บ้านเป็นฉากถ่าย และให้ที่บ้านจัดอาหารให้กองถ่าย เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แม่ รวมถึงการปรับปรุงบ้านใหม่ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในบ้าน และให้ความช่วยเหลือครอบครัวและญาติในเรื่องต่าง ๆ ในเวลาต่อมา ส่วนพ่อบังเกิดเกล้าที่ไม่เคยเลี้ยงดู เมื่อพ่อของเขานัดมาขอพบตัวเมื่อครั้งที่มิตร กับ อมรา ไปปรากฏตัวที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2504 มิตรดีใจที่ได้พบพ่อ ไม่คิดโกรธเคืองอะไรและยังรับพ่อมาอยู่ด้วยที่กรุงเทพทั้งปลูกบ้านและซื้อที่ดิน 5 ไร่ ให้ที่บ้านไสค้าน จังหวัดเพชรบุรี

ความสำนึกบุญคุณต่อผู้มีพระคุณ เป็นสิ่งที่มิตรคิดอยู่เสมอ ทั้งต่อผู้ใหญ่ในวงการภาพยนตร์ และโดยเฉพาะประชาชน เขารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณประชาชนทั้งประเทศโดยวันปีใหม่ มิตร ชัยบัญชาได้ทำ ส.ค.ส. ขึ้นจำนวนมากเพื่อส่งความสุขให้กับแฟนภาพยนตร์ของเขาที่ให้ความเมตตา โดยในปีหนึ่ง มีข้อความว่า "มิตร ชัยบัญชา ถือกำเนิดได้ เพราะประชาชนกำหนด จึงน้อมรำลึกถึงพระคุณของท่าน"[15]

การระลึกถึงและสิ่งสืบเนื่อง[แก้]

สถานที่บรรจุอัฐิของมิตร ชัยบัญชา ภายในวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) สังเกตได้ชัดเจนว่ามีการประดับดอกไม้ล้อมรอบช่องบรรจุอัฐิของมิตร ชัยบัญชา โดดเด่นกว่าช่องบรรจุอัฐิของผู้วายชนม์รายอื่นๆ
ศาลมิตร ชัยบัญชา ภายในมีอนุสาวรีย์มิตร ชัยบัญชา บริเวณหาดจอมเทียน พัทยา

4 ปีหลังการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชาได้มีการสร้างหุ่นมิตร ชัยบัญชาโดยเจตนารมณ์ของมิตร ชัยบัญชาจากการเล่นผีถ้วยแก้ว นำไปไว้ที่วัดบ้านท่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนอัฐิของมิตร ยังถูกเก็บไว้ที่ช่องเก็บอัฐิวัดแคนางเลิ้ง มีผู้แวะเวียนมากราบไหว้ ไม่เสื่อมคลาย[3]

หลังจาก มิตร ชัยบัญชาได้เสียชีวิตบริเวณหาดดงตาล พัทยาใต้ ได้มีการสร้างศาลมิตร ชัยบัญชา ตรงบริเวณที่เสียชีวิต ต่อมาเมื่อมีการซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงแรม จึงได้ปรับปรุงสร้างเป็นศาลไม้สักขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันอยู่ตรงข้ามสำนักงานสรรพากร หลังโรงแรมจอมเทียนปาล์มบีช บริเวณหาดจอมเทียน นอกจากนี้ยังมีการตั้งชื่อซอยมิตร ชัยบัญชา หรือ พัทยาซอย 17 บนถนนเทพประสิทธิ์อีกด้วย ในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน มิตร ชัยบัญชาที่วัดท่ากระเทียม อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี บ้านเกิดของมิตร ชัยบัญชา สร้างหุ่นปั้น มิตร ชัยบัญชา แบบไฟเบอร์กลาสเท่าตัวจริง[23]

เมื่อ พ.ศ. 2548 บริษัท เจ เอส แอล จำกัด ได้สร้างละครเรื่อง "มิตร ชัยบัญชา" มายา-ชีวิต ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ซึ่งมาจากบทประพันธ์ร่วมของ กิ่งดาว ดารณี เพชรา เชาวราษฎร์ และยุทธนา พุ่มเหม โดยเนื้อเรื่องในละครสร้างมาจากเค้าโครงเรื่องและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของมิตร ชัยบัญชา โดยละครเรื่องนี้ได้ "กอล์ฟ" อครา อมาตยกุล มารับบทเป็น มิตร และ ฝน ธนสุนทร มารับบทเป็น เพชรา นางเอกคู่ขวัญของมิตร และได้ผู้กำกับระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง ฉลวย ศรีรัตนา มาเป็นผู้กำกับ[6]

ในการรำลึกการจากไปของมิตร ชัยบัญชา เหล่าบรรดาแฟนภาพยนตร์ได้มีการจัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเริ่มจัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2530 ซึ่งภายในงานเป็นนิทรรศการภาพ การฉายภาพยนตร์ของมิตร ชัยบัญชา โดยในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการเปิดตัวละครวิทยุเรื่อง ดาวดิน ปาฏิหาริย์แห่งรัก ลิขิตแห่งหัวใจ โดยมีเอ็ม เฉลิมกรุง (อิงคศักย์ เกตุหอม) เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ มาประพันธ์คำร้อง ทำนองให้เพลงที่ชื่อ "มิตร ชัยบัญชา" ในลักษณะสากลปนแหล่ ให้กับละครวิทยุเรื่องนี้ โดยชินกร ไกรลาศ ได้เล่าถึงการประพันธ์เพลงนี้ว่า "มองมิตรว่าเป็นดั่งพรหม คือ เป็นนักแสดงที่ยึดหลักพรหมวิหาร 4 คือมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา" โดยในการจัดงานทุก ๆ ปีจะมีผู้คนเดินทางมาจากทุกแห่ง ทั้งต่างจังหวัด ต่างประเทศ เพื่อมาร่วมงาน[24]

นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุซโซต์ กรุงเทพ ได้จัดทำหุ่นขี้ผึ้งของมิตรในชุดอินทรีแดงเพื่อจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ ชั้น 6–7 สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ ร่วมกับหุ่นของบุคคลสำคัญอื่น ๆ[25]

ผลงานและบทบาทการแสดง[แก้]

ผลงาน[แก้]

มิตร ชัยบัญชา มีผลงานการแสดงภาพยนตร์ไว้กว่า 266 เรื่อง[26] (เฉพาะที่นับได้จากการออกฉายในโรงภาพยนตร์) ส่วนใหญ่เป็นหนัง 16 มม. พากย์สด ๆ ส่วนที่สร้างเป็นหนัง 35 มม. เสียงในฟิล์มเพียง 16 เรื่องเท่านั้น โดยมิตร ชัยบัญชา แสดงคู่กับนางเอกมากกว่า 29 คน ในจำนวนนี้เพชรา เชาวราษฎร์ เป็นนางเอกที่แสดงคู่กันมากที่สุดถึง 172 เรื่อง

หนังที่สร้างชื่อเสียงเช่นเรื่อง นกน้อย (2507) สิงห์ล่าสิงห์ (2507) เงิน เงิน เงิน (2508) เพชรตัดเพชร (2509) แสนรัก (2510) มนต์รักลูกทุ่ง (2513) ฯลฯ[27][28]

บทบาทและคำวิจารณ์[แก้]

บทบาทการแสดงของมิตร เขาได้แสดงนำในภาพยนตร์เกือบ 300 เรื่อง แต่เขาไม่เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองแม้แต่ครั้งเดียว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการได้เปิดเผยว่า

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมิตร ชัยบัญชาไม่ใช่นักแสดง เล่นหนังเล่นละครกับใครเขาไม่เป็นทั้งนั้น เวลาเล่นหนังก็เอาตัวจริงของเขาใส่เข้าไปในหนัง จะเล่นเป็นเศรษฐี ยาจก หรือนักเรียนนอก หรือบทที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เช่นพระลอหรือนักร้องลูกทุ่ง บางครั้งกำลังวาดลวดลายบทรักอยู่บนเตียง จู่ ๆ ก็ลุกขึ้นมาร้องเพลงอย่างนั้น ซึ่งแฟนภาพยนตร์ก็ยอมรับและพอใจ เขาเป็นเพียงมิตร ชัยบัญชาไม่ว่าจะอยู่บทใด ๆ เป็นเพราะเหตุนี้เขาจึงแสดงหนังในวันเดียวได้ถึง 4-5 เรื่อง[15]

สนทะเล คอลัมนิสต์ชื่อดัง ในดาราโสภี ของเดลินิวส์ พูดถึงมิตรว่า "เราไม่ชอบบทบาทของเขามากเท่าไหร่นัก... อาจเป็นเพราะเราดูหนังที่เขาแสดงมากเกินไป แต่เมื่อเขาตายไปแล้ว ตลอดทั้งคืนเราเห็นแต่รอยยิ้มของมิตร...เห็นท่าทางกระโดดโลดเต้นที่ไม่เห็น จะสวยงามสักหน่อย เห็นท่าทางของเขาทุกอากัปกิริยาที่ปรากฏขึ้นในจอหนัง เราเห็นมันด้วยความอาลัย...ว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเราจะไม่ได้พบเห็นมันอีกแล้ว"[29]

พระเอกตลอดกาล[แก้]

มิตรถือเป็นพระเอกตลอดกาลของวงการภาพยนตร์ไทย ที่ไม่ใช่มีมนต์ขลังกับหมู่คนที่เกิดในยุคสมัยนั้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนรุ่นหลังอีกด้วย อย่างเช่น การก่อตั้งสมาชิกชมรม "คนรัก มิตร ชัยบัญชา" กับคนที่สนใจเรื่องราวของมิตรในช่วงหลัง[29] ใน พ.ศ. 2544 บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดการแข่งขันรายการ แฟนพันธุ์แท้ ของพระเอกมิตร ชัยบัญชา ที่เป็นการแข่งขันหาแฟนตัวจริงในทุก ๆ รุ่นของมิตร โดยมีผู้ชนะการแข่งขันคือ จงบุญ สุขินี[30]

กรุง ศรีวิไล ถึงกับเคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าไม่มีวันนั้นเกิดขึ้น วันที่ 8 ตุลา พ.ศ. 2513 (วันที่มิตรเสียชีวิต) ก็จะไม่มี กรุง ศรีวิไล ไม่มี ไพโรจน์ ใจสิงห์ ไม่มี สรพงษ์ ชาตรี ไม่มี ยอดชาย เมฆสุวรรณ ไม่มี รพินทร์ ไพรวัลย์ ไม่มี ขวัญชัย สุริยา ไม่มี นาท ภูวนัย" เนื่องจากหากมิตรไม่เสียชีวิต คงไม่มีพระเอกเหล่านี้เกิดตามมา[24] ส่วนเพชรา เชาวราษฎร์ ก็กล่าวถึงว่า "เขาเป็นคนดี ชอบช่วยเหลือคน เอาใจใส่คนอื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส คุยได้กับทุกคน ไม่มีมาด ไม่ถือตัว...ตรงนี้แหละที่ทำให้เขายังเป็นพระเอกตลอดกาล ยังไม่ตายไปจากใจแฟน ๆ จนถึงวันนี้"[31]

รางวัล[แก้]

ปี รางวัล สาขา ผล ภาพยนตร์
2508 รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ดารานำฝ่ายชายที่ทำรายได้สูงสุด ได้รับรางวัล เงิน เงิน เงิน
2509 รางวัลดาราทองพระราชทาน รางวัลดาราทองขวัญใจมหาชน ได้รับรางวัล[32]

อ้างอิง[แก้]

  1. บอย ผวาอาถรรพ์ ไม่คิดลบหลู่ มิตร ชัยบัญชา. truelife.com. เก็บถาวร 27 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ดาราเดลี่
  2. ประวัติสื่อสารมวลชนในประเทศไทย เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย.
  3. 3.0 3.1 3.2 "ตอนที่ 10 "เกร็ดชีวิต มิตร ชัยบัญชา" วิญญาณผีถ้วยแก้ว และ หุ่นรูปปั้น มิตร ชัยบัญชา ที่บ้านท่า. thaifilm.com. เก็บถาวร 29 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. มิตร ชัยบัญชา คอลัมน์รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น. matichon.co.th.
  5. 5.0 5.1 "ตอนที่ 2 "เกร็ดชีวิต มิตร ชัยบัญชา" บุญทิ้ง ละครเศร้าแห่งชีวิต". thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007.
  6. 6.0 6.1 6.2 "จากไปแต่ใจยังคิดถึง"มิตร ชัยบัญชา" มายา-ชีวิต. komchadluek.net. เก็บถาวร 17 กุมภาพันธ์ 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" เว็บไซต์ คอมชัดลึก.คอม
  7. "ตอนที่ 3 "เกร็ดชีวิต มิตร ชัยบัญชา" กว่าจะได้เป็นพระเอกหนังไทย". thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007.
  8. ย้อนรอย 37 ปีเต็ม "มิตร ชัยบัญชา" ความสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์ของวงการหนังไทย (ตอน 2) เก็บถาวร 2010-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน siamdara.com.
  9. 9.0 9.1 มิตร ชัยบัญชา ที่มา : นิตยสารดาราไทย เดือนมกราคม พ.ศ. 2503.
  10. 10.0 10.1 "ตอนที่ "เกร็ดชีวิต มิตร ชัยบัญชา" มิตร ชัยบัญชา ดารามหาชน". thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007.
  11. "ชุมทางหนังไทยในอดีต (ตอนที่ 2)". thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2007.
  12. ดาราทอง. websuntaraporn.com.
  13. ปลุกกระแสการเมืองแนวใหม่ ดึง"ดารา" ฉุดเรตติ้ง "บุ๋ม" ชี้ 5 ปัจจัยผันตัว. manager.co.th. เก็บถาวร 9 พฤษภาคม 2005 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 15 ตุลาคม 2547.
  14. "ตอนที่ 6 "เกร็ดชีวิต มิตร ชัยบัญชา" เมื่อมิตร ชัยบัญชาลงสมัคร ส.ส." thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 "ตอนที่ 7 "เกร็ดชีวิต มิตร ชัยบัญชา" ความหวังแห่งชีวิต ของ มิตร ชัยบัญชา". thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007.
  16. กนก รัตน์วงศ์สกุล. มนต์รักลูกทุ่ง 2513 รู้ให้ถูกต้อง. เนชั่น สุดสัปดาห์. เก็บถาวร 27 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  17. ย้อนรอย 37 ปีเต็ม "มิตร ชัยบัญชา" ความสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์ของวงการหนังไทย (ตอน 1) เก็บถาวร 2010-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน siamdara.com.
  18. "ตอนที่ 9 "เกร็ดชีวิต มิตร ชัยบัญชา" ฉากสุดท้ายแห่งชีวิต ...มิตร ชัยบัญชา". thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007.
  19. ""ต้น ยุทธนา" ลูกชายคนเดียวของ "มิตร ชัยบัญชา" หัวใจล้มเหลวเสียชีวิต". mgronline.com. 2023-02-17.
  20. กิ่งดาว ดารณี. nangdee.com.
  21. "เปิดชีวิตล่าสุด ภรรยาคนสุดท้ายของ มิตร ชัยบัญชา พระเอกตลอดกาล หลังสามีจากไปชั่วนิรันดร์". tnews.co.th. 29 มิถุนายน 2020.
  22. "ตอนที่ 4 "เกร็ดชีวิต มิตร ชัยบัญชา" มิตร ชัยบัญชา...คนจริงที่ฟ้ายอมสยบ". thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007.
  23. ๒ วัดจัดงานรำลึก "มิตร ชัยบัญชา". komchadluek.net.
  24. 24.0 24.1 ย้อนรอย 37 ปีเต็ม "มิตร ชัยบัญชา" ความสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์ของวงการหนังไทย (ตอนจบ) เก็บถาวร 2008-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. siamdara.com.
  25. "หุ่นมาดามทุสโซ เปิดโชว์ในไทย". thaipost.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ตุลาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2010.
  26. "ชุมทางหนังไทยในอดีต". thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2007.
  27. หนังสือหนังไทยปีที่ 3 ฉบับที่ 9 มค. – มีค. 2544.
  28. หนังสือแฟนหนังไทยเล่มที่ 7 ครบรอบการตายของมิตรฯ 33 ปี
  29. 29.0 29.1 "ทำไม?...ใคร ๆ ก็รัก มิตร ชัยบัญชา". mthai.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2013.
  30. ย้อนรอย 37 ปีเต็ม มิตร ชัยบัญชา ความสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์ของวงการหนังไทย (ตอนจบ) เก็บถาวร 2009-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. siamdara.com.
  31. "เพชรา" รำลึก "มิตร ชัยบัญชา" ยกเป็นพระเอกตลอดกาล เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 12 ธันวาคม 2551.
  32. ศูนย์รวมข่าวงาน มิตร ชัยบัญชา (๖-๗-๘ ตุลาคม ๒๕๔๙) ตอนที่ ๒. thaifilm.com. เก็บถาวร 7 กุมภาพันธ์ 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิงทั่วไป
  • ท่านขุน บุญราศรี. มิตร ชัยบัญชา พระเอกตลอดกาล. กรุงเทพฯ: โกเมนเอก. 2548. ISBN 974-93603-9-7
  • หนึ่งเดียว. ประวัติการณ์ที่สุดหนังไทย. กรุงเทพ ฯ: เคล็ดไทย. 2549. ISBN 974-94228-8-0
  • อิงคศักย์. ดาวดิน ปาฏิหาริย์แห่งรักลิขิตแห่งหัวใจ. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ. 2551. ISBN 978-974-10-8594-1

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]