พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ออแดซา
Одеський національний художній музей | |
ก่อตั้ง | 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1899 |
---|---|
ที่ตั้ง | ถนนซอฟียิวสกา ออแดซา |
ประเภท | พิพิธภัณฑ์ทางศิลปะ |
ผู้อำนวยการ | ออแลกซันดรา กอวัลชุก |
เว็บไซต์ | ofam |
พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งชาติออแดซา หรือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติออแดซา (ยูเครน: Одеський національний художній музей) เป็นหนึ่งในหอศิลป์หลักของเมืองออแดซา ประเทศยูเครน ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1899[1] บนพื้นที่ของวังปอตอตสกี (โปแลนด์: pałac Potockich) ซึ่งเป็นอนุสรณ์ทางสถาปัตยกรรมสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่จัดเก็บผลงานศิลปะมากกว่า 10,000 ชิ้น รวมถึงงานจิตรกรรมของศิลปินชาวรัสเซียและชาวยูเครนที่มีชื่อเสียงที่สุดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อีกทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในออแดซาที่เปิดให้บริการโดยไม่คิดค่าเข้าชมทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน[2]
ประวัติ
[แก้]อาคารวังที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ถือเป็นหนึ่งในวังที่เก่าแก่ที่สุดของออแดซา โดยก่อสร้างขึ้นตามคำสั่งของแซแวรึน ปอตอตสกี อดีตสมาชิกรัฐสภาโปแลนด์ผู้ซึ่งภายหลังจากการแบ่งโปแลนด์ได้สาบานว่าจะจงรักภักดีต่อซาร์แห่งรัสเซีย และในเวลาต่อมาเขาจึงกลายเป็นนักการทูตรัสเซียที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกอัครราชทูตประจำราชอาณาจักรนาโปลี ปอตอตสกียังเป็นเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่งและหมู่บ้านแซแวรีนอฟกา (Severinovka) ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ดินกรรมสิทธิ์ของเขา มีเหมืองหินปูนที่ใช้สร้างวังและอาคารสาธารณะส่วนใหญ่ในออแดซา[3]
การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1805 ภายใต้การกำกับดูแลของฟรันเชสโก บอฟโฟ[4] สถาปนิกชาวอิตาลีผู้ซึ่งออกแบบวังและอาคารสาธารณะหลายแห่งในออแดซาและไครเมีย โดยการก่อสร้างอาคารหลักเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1810 แต่ด้วยสงครามนโปเลียนทำให้การตกแต่งภายในถูกเลื่อนออกไปจนกระทั่ง ค.ศ. 1824 และดำเนินการต่อจนเสร็จใน ค.ศ. 1828[5]
อาคารแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกแห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของผู้ทรงอิทธิพลในยุคนั้น ซึ่งภายในอาคารมีทั้งหมดสองชั้น มีระเบียงขนาดใหญ่ที่มีหน้าบันรองรับด้วยเสาแบบคลาสสิกหกต้น ตัวอาคารหลักเชื่อมต่อกับปีกด้านข้างผ่านห้องแสดงภาพครึ่งวงกลม ด้านหน้าวังมีลักษณะเป็นกูร์ดอเนอร์ และด้านหลังได้รับการออกแบบเป็นสวนภูมิทัศน์แบบอังกฤษขนาดย่อมพร้อมด้วยถ้ำที่มีบรรยากาศโรแมนติก การออกแบบภายในส่วนใหญ่เป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบต่าง ๆ ที่เป็นที่นิยมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19
แซแวรึน ปอตอตสกี ถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1829 โดยที่เขายังไม่ทันเห็นวังสร้างเสร็จ ทำให้วังได้รับการสืบทอดมรดกผ่านญาติห่าง ๆ ของเขา คือ ออลกา ปอตอตสกา บุตรสาวของสตาญิสวัฟ ชแชนส์นือ ปอตอตสกี ปอตอตสกาแต่งงานกับเลฟ นารึชกิน แม้ว่าวังจะยังคงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเธอ แต่บ่อยครั้งก็ถูกเรียกอย่างผิด ๆ ว่า "วังนารึชกิน" (Naryshkin Palace) ใน ค.ศ. 1888 ตัวอาคารถูกขายให้แก่กรีโกรี มารัซลี นายกเทศมนตรีนครออแดซา และต่อมาจึงถูกขายให้แก่สมาคมวิจิตรศิลป์ออแดซาใน ค.ศ. 1892[1][4] หลังจากที่วังได้เก็บสะสมผลงานศิลปะชุดแรกเป็นเวลา 9 ปี ในที่สุดพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ออแดซาจึงเปิดทำการเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1899[1] โดยผลงานศิลปะแกนหลักของพิพิธภัณฑ์เป็นภาพจิตรกรรมที่ได้รับบริจาคมาโดยสถาบันศิลปะอิมพีเรียลเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ในคริสต์ทศวรรษ 1920 พิพิธภัณฑ์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "พิพิธภัณฑ์ศิลปะของประชาชน" ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "หอศิลป์ออแดซา"[1] และจึงได้รับชื่อแบบในปัจจุบันเมื่อ ค.ศ. 2021
ในช่วงการรุกรานยูเครนของรัสเซียใน ค.ศ. 2022 พิพิธภัณฑ์มีการเตรียมความพร้อมสำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวอาคารและของจัดแสดง[6]
ใน ค.ศ. 2022 พิพิธภัณฑ์มีชื่อรวมอยู่ในรายชื่อสถาบันทางวัฒนธรรมที่มีส่วนในองค์กร "พิพิธภัณฑ์เพื่อการเปลี่ยนแปลง" (Museum for Change) โดยได้รับทุนสนับสนุนรวมมูลค่า 98,000 ดอลลาร์สหรัฐ[7]
ของจัดแสดง
[แก้]ของจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งชาติออแดซาครอบคลุมงานศิลปะทุกรูปแบบ ทั้งจิตรกรรม ภาพวาด ประติมากรรม มัณฑนศิลป์ และมีผลงานอื่น ๆ เฉลี่ยมากกว่า 10,000 ชิ้น สำหรับนิทรรศการที่ตั้งอยู่บนชั้นที่ 26 เป็นผลงานจิตรกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 16–20 และภาพเหมือนทางโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 17
ถ้ำ
[แก้]ภายใต้พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติมีห้องใต้ดินและห้องแสดงภาพว่างเปล่าหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการสร้างถ้ำใต้ดินไว้ใต้ส่วนกลางของอาคาร ในคริสต์ทศวรรษ 1960 ผู้เชี่ยวชาญทางเอกสารประวัติศาสตร์ได้ทำการบูรณะถ้ำขั้นพื้นฐาน ซึ่งในปัจจุบันถ้ำนี้เปิดให้เข้าชมได้และเป็นส่วนหนึ่งของการเที่ยวชมประวัติศาสตร์วัง[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Odesa Fine Arts Museum (OFAM): About us". ofam.org.ua. 2021. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2023-05-12.
- ↑ "Free entrance day schedule". 2019.
- ↑ Eduard Meissner, pp. 362-364
- ↑ 4.0 4.1 Brumfield & Ananich, p. 187
- ↑ Ivchenko, p. 656
- ↑ "Ukraine: The race to save the country's artistic treasures". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2022-03-04. สืบค้นเมื่อ 2022-03-06.
- ↑ (ru)Виталий Орлов. Одесса и ЮНЕСКО: взаимоотношения в военном контексте // Odessa-future, 03.08.2022
- ↑ "Museum Grotto". 2019.
บรรณานุกรม
[แก้]- William Craft Brumfield; Boris Ananich, บ.ก. (2001). Commerce in Russian Urban Culture, 1861–1914. Woodrow Wilson Center Press Series. Woodrow Wilson Center Press. p. 239. ISBN 9780801867507.
- Eduard Meissner (1820). "Description of Odesa". The Analectic Magazine. Philadelphia: Moses Thomas. 2: 362–364.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ทางการ เก็บถาวร 2019-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เพจเฟซบุ๊กทางการ