การขอฝน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พิธีขอฝน)
ระบำขอฝนในฮาราร์ เอธิโอเปียตะวันออก

การขอฝน เป็นประเพณีและพิธีกรรมที่มีมาอย่างยาวนาน เกี่ยวกับสังคมเกษตรกรรม ที่อยู่ในหลายชนชาติ และหลายวัฒนธรรม เมื่อฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือต้องการน้ำในการทำการเกษตร ในปัจจุบันยังมีบางพื้นที่ที่ยังมีพิธีของฝนอยู่[1]

ในรัสเซีย หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองดอร์ปาท ให้ผู้ชายสามคนปีนขึ้นต้นเฟอร์ คนหนึ่งถือค้อนเคาะถังเล็ก ๆ ทำเป็นเสียงฟ้าร้อง คนที่สองถือดุ้นฟืนติดไฟสองดุ้น เคาะให้กระทบกัน ไฟจะแตกกระจาย คล้ายฟ้าแลบ คนที่สามถือที่ใส่น้ำ ขึ้นไปโปรยไปมารอบต้นไม้ คล้ายกับว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว

ที่ตำบลฮิตาคิ ในประเทศญี่ปุ่น ผู้คนจะพากันไปขอน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลราอิชิน เอาน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่กลับหมู่บ้าน จะหยุดพักไม่ได้ เชื่อกันว่าหยุดที่ใดฝนจะตกที่นั่น บางแห่งจะตั้งขบวนไปขอไฟจากพระในวัดบนภูเขา สวดอ้อนวอนแล้ว เอาไฟไปโบกตามทุ่งนา เชื่อว่าจะทำให้ฝนจะตกเหมือนกัน และที่หมู่บ้านริมทะเลสาบรอบภูเขาฟูจี นับถือทะเลสาบว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เอาของสกปรกไปทิ้ง แต่เมื่อต้องการฝนตก จะเอาเอากระดูกวัวกระดูกควายโยนลงทะเลสาบ เชื่อกันว่าจะทำให้เทพเจ้าโกรธ บันดาลฝนให้ตก ที่หมู่บ้านนิโนเฮ ถือขวดเหล้าสาเกไปถวายพระที่ศาลเจ้าโกเงน บนภูเขาโอริซูเน เมื่อพระดื่มเหล้าสาเกแล้ว ก็จะช่วยกันจับพระไปผลักตกบ่อน้ำ เมื่อเห็นพระตะเกียกตะกายขึ้น ก็จะช่วยกันผลักให้ตกลงไปอีก เพราะเชื่อว่าเทพเจ้าไม่อยากเห็นพระทรมาน จึงจะรีบบันดาลให้ฝนตก[2]

ในประเทศไทย[แก้]

สำหรับในประเทศไทยมีหลายประเพณีและหลายความเชื่อเกี่ยวกับการขอฝน บางแห่งมีพิธีแห่ดอกไม้เจ้าพ่อ รูปอวัยวะเพศชาย เรียกว่า ขุนเพ็ด ทำด้วยต้นกล้วยหรือต้นข่อยใหญ่ แห่ขุนเพ็ดไปตามหมู่บ้านแล้วก็เอาไปเก็บไว้ที่ศาลเจ้าแม่ชายทุ่ง เชื่อว่าฝนจะตกทันที เมื่อเจ้าพ่อกับเจ้าแม่ได้อยู่ด้วยกัน ในตำราพิรุณศาสตร์ ใช้วิธีปั้นเมฆ ปั้นรูปชายหญิงเปลือยกาย แต่พิธีนี้ค่อนข้างอุจาด จึงไม่ให้ทำในพระนคร ต้องไปทำกันตามกลางทุ่งนา พิธีขอฝนที่แพร่หลาย คือการแห่นางแมว เอาแมวตัวเมียใส่ลอบดักปลา หรือใส่ในภาชนะที่เรียกว่า ตะเหลว แห่ไปตามหมู่บ้าน และสาดน้ำใส่แมวเพื่อให้เทวดาสงสาร และดลบันดาลให้ฝนตก เป็นต้น[2]

มูลเหตุและความเชื่อ[แก้]

ที่เห็นกันทุกวันนี้ก็คือการจุดบั้งไฟขอฝนจากเทพยดาคือพญาแถนที่คนอีสานเชื่อว่าเป็นเทพที่ทำให้เกิดฝนตก จึงจัดพิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถนซึ่งมีปรากฏให้เห็นในวรรณกรรมและตำนานพื้นบ้านของอีสาน ประเพณีบุญบั้งไฟนี้ปัจจุบันจัดขึ้นเพื่อแฝงวัตถุประสงค์บางอย่างมีการพนันขันแข่งกันอย่างกว้างขวางซึ่งต่างไปจากแต่ก่อน ทุกวันนี้ในบางหมู่บ้านบางชุมชนก็ยกเลิกไปเพราะด้วยสถานที่ที่ไม่เหมาะสมแต่ในบางแห่งก็ไม่ได้ขอฝนโดยการจุดบั้งไฟแต่ใช้การแห่นางแมวแทน เพราะเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์เก้าชีวิต เสียงแมวร้องเปรียบเสมือนว่าโลกมนุษย์กำลังเดือดร้อน ทวยเทพจึงดลบันดาลให้เกิดฝนเพื่อความชุ่มชื้นเย็นฉ่ำ จึงได้มีการแห่นางแมวไปตามบ้านเรือนให้คนเอาน้ำสาด

ช้างปัจจัยนาเคนทร์กับการขอฝน[แก้]

พิธีขอฝนอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแห่ช้างแห่ม้าที่เรียกว่าช้างปัจจัยนาเคนทร์ เป็นพิธีที่จัดขึ้นเนื่องจากจุดบั้งไฟแล้วฝนก็ยังไม่ตก แห่นางแมวแล้วฝนก็ยังไม่ตก เป็นงานที่จัดขึ้นในระดับตำบลหรืออำเภอเพราะมีผู้มาร่วมงานอย่างล้นหลาม แต่ก็ไม่ได้จัดบ่อยนัก

ที่มา[แก้]

เท้าความถึงช้างที่นำมาใช้แห่คือ ช้างปัจจัยนาเคนทร์หรือ ช้างปัจจัยนาค2 ซึ่งเป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองสีวีคู่บารมีของพระเวสสันดร ตามปรากฏในวรรณกรรมเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งเป็นชาดกที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งก่อนพุทธกาล ก่อนที่พระองค์จะได้มาเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ทานหรือทานบารมี โดยยกเนื้อเรื่องมาพอสังเขป คือเมืองสีวี สีพี หรือสีวีหล้า3 มีกษัตริย์ปกครองคือพระเจ้าสัญชัยมีโอรสชื่อพระเวสสันดร ซึ่งต่อมาพระเวสสันดรแต่งงานกับนางมัทรี มีโอรสและธิดา 2 องค์ คือ พระกัณหาและพระชาลี อยู่กินกันหลายปี พระเวสสันดรเองเป็นผู้ที่มักให้ทานอยู่เป็นนิจ บ้านเมือง อาณาประชาราชอยู่สุขสบายมาโดยตลอด ด้วยเพราะบุญญาบารมีของพระองค์ประกอบกับช้างคู่บารมีคือช้างปัจจัยนาเคนทร์ที่ทุกคนเชื่อว่าช้างปัจจัยนาเคนทร์ทำให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ การให้ทานของพระเวสสันดรนั้นให้ได้ทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจเพราะต้องการบำเพ็ญทานบารมีในชาติก่อนที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อไป คือให้ได้แม้กระทั่งเมียและลูกที่เฒ่าชูชกมาขอไปเลี้ยงและเอาไว้เป็นขี้ข้ารับใช้ ที่สำคัญพระเวสสันดรให้ช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่บ้านเมืองอื่น เพราะบ้านเมืองที่แห้งแล้งฝนไม่ตกก็จะพากันมาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ไปไว้ที่เมืองของตนจะได้ชุ่มชื่น เนื่องจากช้างปัจจัยนาเคนทร์อยู่ที่ใดที่นั่นก็จะอุดมสมบูรณ์ จึงมีแต่คนอยากได้และพระเวสสันดรก็ได้ให้ไปซึ่งฝ่ายพระเจ้าสัญชัยพระบิดาไม่อยากเสียช้างปัจจัยนาเคนทร์ไป แต่พระเวสสันดรก็อยากให้ทานพระเจ้าสัญชัยจึงขับไล่พระเวสสันดร นางมัทรี กัณหาและชาลี ออกจากเมือง แต่ถึงกระนั้นพระเวสสันดรก็มิว่างเว้นจากการให้ทานพร้อมสั่งสอนลูกเมียให้หมั่นให้ทานเรื่อยมา

พิธีกรรม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Rain Dance". Indians.org. American Indian Heritage Foundation. สืบค้นเมื่อ 4 September 2011.
  2. 2.0 2.1 ยุทธวิธีเรียกฝน ไทยรัฐ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]