แพริโดเลีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พาเรียโดเลีย)
รูปถ่ายจากดาวเทียมของที่ราบสูงไซโดเนียบนดาวอังคาร ซึ่งบางครั้งเรียกว่า "Face on Mars (ใบหน้าบนดาวอังคาร)" ส่วนรูปที่ถ่ายมาจากมุมอื่น ๆ จะไม่สามารถเห็นภาพลวงตานี้

แพริโดเลีย หรือ แพไรโดเลีย (อังกฤษ: Pareidolia, /pɛrˈdliə/,[1] /pɛr-/[2]) เป็นปรากฏการณ์ทางจิต เป็นการรับรู้สิ่งเร้าเช่นภาพหรือเสียงที่ไม่ชัดเจนหรือไม่มีรูปแบบ (คือเป็นไปโดยบังเอิญหรือสุ่ม) ว่ามีความหมายหรือมีความสำคัญ เป็นการรับรู้แบบหนึ่งของ apophenia ซึ่งเป็นการเห็นรูปแบบหรือความสัมพันธ์กันในข้อมูลสุ่มที่ไร้ความหมาย ตัวอย่างสามัญคือการเห็นรูปสัตว์หรือใบหน้าในก้อนเมฆ ชายบนดวงจันทร์ กระต่ายบนดวงจันทร์ และการได้ยินข้อความที่ซ่อนไว้เมื่อเล่นแผ่นเสียงไวนิลย้อนทาง

คำว่า pareidolia มาจากคำวิเศษณ์ภาษากรีกว่า para- (παρά, แปลว่า "ข้าง ๆ, เป็นไปเหมือนหน้ากระดาน, แทนที่") โดยในที่นี้หมายถึงอะไรที่บกพร่อง ผิดพลาด หรือเกิดขึ้นแทนที่ และคำนามว่า eidōlon (εἴδωλον แปลว่า "ภาพ, รูปร่าง, สัณฐาน") แพไรโดเลียเป็นประเภทหนึ่งของ apophenia ซึ่งเป็นการเห็นรูปแบบในข้อมูลที่ไร้แบบแผน

ตัวอย่าง[แก้]

งานศิลป์[แก้]

จิตรกรรมของชาวอิตาลี จูเซปเป อาร์ชิมโบลโด ชื่อว่า "The Jurist (ลูกขุน)" หรือ "The Lawyer (ทนาย)" ที่ใบหน้าทำด้วยปลาและเนื้อ และลำตัวทำด้วยหนังสือเอกสารกฎหมาย

ในสมุดบันทึกของเขา ยอดนักศิลป์ เลโอนาร์โด ดา วินชี กล่าวถึงแพริโดเลียว่าเป็นเทคนิคสำหรับจิตรกร คือเขียนไว้ว่า "ถ้าเราดูผนังที่เป็นจุด ๆ ด้วยรอยต่าง ๆ หรือผนังที่ประกอบด้วยก้อนหินต่าง ๆ ที่ผสมผสานกัน และถ้าเรากำลังคิดประดิษฐ์ฉากรูปภาพ เราอาจจะเห็นผนังนั้นเหมือนกับทิวทัศน์ต่าง ๆ ประดับไปด้วยทิวเขา แม่น้ำ ก้อนหิน ต้นไม้ ทุ่งกว้าง หุบเขาที่กว้างขวาง และกลุ่มเนินเขาต่าง ๆ และอาจจะเห็นสงครามในรูปแบบต่าง ๆ และคนสัตว์ต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็ว เห็นทั้งการแสดงอารมณ์ทางใบหน้าที่แปลก ๆ และเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ ที่ตระการตา และสิ่งอื่น ๆ อันหาจำนวนไม่ได้ซึ่งเราสามารถจะกำหนดให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ที่เป็นต่างหากและชัดเจน"[3]

เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา[แก้]

มีรายงานมากมายเกี่ยวกับการเห็นภาพและรูปร่างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบหน้าของบุคคลสำคัญ ที่ปรากฏขึ้นในสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ และรายงานมากมายเป็นการเห็นภาพของพระเยซู[4] แม่พรหมจรรย์มารีย์[5] คำเขียนว่าอัลลอฮ์[6] หรือปรากฏการณ์ทางศาสนาอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 ในประเทศสิงคโปร์ มีแคลลัส[7]บนต้นไม้ต้นหนึ่งที่ปรากฏรูปร่างเหมือนกับลิง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีผลให้ผู้ที่ศรัทธาเดินทางมาบูชาเจ้าแห่งลิง (โดยถือเอาเป็นหนุมานหรือเห้งเจีย)[8]

ความโด่งดังของเรื่องการเห็นรูปภาพทางศาสนาต่าง ๆ และรูปแปลก ๆ อื่น ๆ ที่อยู่ในวัตถุสามัญทั่วไป ได้สร้างตลาดให้กับวัตถุต่าง ๆ เหล่านี้ในเว็บไซต์การประมูลเช่นอีเบย์ ตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดอย่างหนึ่งก็คือแซนด์วิชชีสปิ้งที่มีรูปใบหน้าของแม่พรหมจรรย์มารีย์ ซึ่งได้มีการซื้อขายผ่านการประมูลได้ราคาถึง 28,000 ดอลลาร์สหรัฐ[9] (ประมาณ 1,100,000 บาทในช่วงเวลานั้น)

การพยากรณ์อนาคต[แก้]

มีวิธีการพยากรณ์อนาคตแบบโบราณของชาวยุโรปหลายอย่างที่ตีความหมายเงาต่าง ๆ ของวัตถุ ยกตัวอย่างเช่น ในศาสตร์ molybdomancy มีการตีความหมายเงาของรูปร่างแบบสุ่มที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเทดีบุกหลอมลงไปในน้ำเย็นภายใต้แสงเทียน

ซากดึกดำบรรพ์[แก้]

จากคริสต์ทศวรรษ 1970 ถึง 1980 มีนักวิจัยชาวญี่ปุ่นชื่อว่า น.พ. Chonosuke Okamura ได้ตีพิมพ์ชุดรายงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังชื่อว่า "Original Report of the Okamura Fossil Laboratory (รายงานต้นฉบับของแล็บซากดึกดำบรรพ์โอกะมุระ)" ที่เขาพรรณนาถึงหินปูนขัดดึกดำบรรพ์จาก 425 ล้านปีก่อน (ยุค Silurian) ที่มีซากดึกดำบรรพ์เล็ก ๆ ของมนุษย์ กอริลลา สุนัข มังกร ไดโนเสาร์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แต่ละอย่างล้วนแต่มีขนาดเป็นเพียงหลายมิลลิเมตร ซึ่งทำให้เขาอ้างว่า "ไม่มีความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายของมนุษย์ตั้งแต่ยุค Silurian...ยกเว้นการเติบโตขึ้นจากขนาด 3.5 มิลลิเมตรมาจนถึง 1,700 มิลลิเมตร"[10][11] คุณหมอได้รับรางวัล Ig Nobel Prize (เป็นรางวัลล้อรางวัลโนเบล)[12]ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ในปี ค.ศ. 1996 เพราะงานวิจัยนี้[13][14]

การทดสอบบุคคลิกภาพ[แก้]

ภาพทดสอบ Rorschach test blot 03

การทดสอบ Rorschach inkblot test เป็นเทคนิคที่ใช้ แพริโดเลีย เพื่อที่จะเข้าใจสภาพจิตใจของบุคคล การทดสอบนี้เป็นการให้แสดงออกซึ่งบุคคลิกภาพ (projective test) โดยให้ผู้รับการทดสอบบอกความคิดหรือความรู้สึกของตน เกี่ยวกับภาพจุดหมึกที่ไม่ปรากฏว่าเป็นอะไรอย่างชัดเจน การแสดงออกเช่นนี้เป็นปรากฏการณ์แพริโดเลียแบบตามสั่ง เพราะว่า รูปต่าง ๆ เหล่านี้จริง ๆ แล้วออกแบบโดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เหมือนกับอะไร ๆ[4]

ปรากฏการณ์เสียงอิเล็กทรอนิกส์[แก้]

ในปี ค.ศ. 1971 นักเขียนชาวลัตเวีย Konstantīns Raudive พิมพ์หนังสือ Breakthrough (การค้นพบ) ให้รายละเอียดกับสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นการค้นพบ electronic voice phenomenon (ปรากฏการณ์เสียงอิเล็กทรอนิกส์ ตัวย่อ EVP) ซึ่งต่อมาได้รับคำอธิบายว่าเป็นปรากฏการณ์แพริโดเลียทางหู[4]

การอัดเสียงถอยหลัง[แก้]

ในปี ค.ศ. 1982 มีเสียงดนตรีร็อกที่เมื่อเล่นถอยหลังแล้ว สามารถได้ยินข้อความที่ลือว่าเป็นของซาตาน คนบางพวกเชื่อว่าข้อความเช่นนี้สามารถมีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึกได้แม้ว่าจะเล่นเสียงดนตรีนั้นตามปกติ เหตุการณ์นี้มีผลให้หลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายห้ามการอัดเสียงที่ซ่อนข้อความเช่นนี้ การได้ยินข้อความ "ลับ" ที่เกิดจากการอัดเสียงถอยหลังอย่างนี้ได้รับการอธิบายจากนักวิชาการว่าเป็นปรากฏการณ์แพริโดเลียทางหู[4][15]

คำอธิบาย[แก้]

ภาพวาด แม้ว่าจะไม่เหมือนใบหน้าจริง ๆ เลย แต่มนุษย์ก็ยังเอาไปเปรียบเทียบกับใบหน้าจริง ๆ

นักดาราศาสตร์ คาร์ล เซแกน ตั้งสมมุติฐานว่า โดยกรรมพันธุ์ มนุษย์มีความสามารถในการระบุใบหน้ามนุษย์ตั้งแต่กำเนิดเพราะเป็นทักษะที่ต้องมีเพื่อการรอดชีวิต ความสามารถนี้ทำให้มนุษย์สามารถระบุใบหน้าแม้จะมีรายละเอียดเพียงเล็กน้อยจากที่ไกล ๆ หรือที่เห็นได้ไม่ชัด แต่ก็ทำให้เกิดการตีความหมายรูปภาพที่จริง ๆ ไม่เหมือนอะไร หรือแสงและเงาที่ปรากฏในบางรูปแบบว่าเป็นใบหน้า[16] ข้อได้เปรียบทางวิวัฒนาการในการแยกแยะใบหน้าของมิตรหรือศัตรูอย่างรวดเร็ว (ไม่ถึงวินาที) อย่างแม่นยำมีมากมาย เช่น มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ (หรือแม้แต่มนุษย์ปัจจุบัน) ผู้ระบุศัตรูว่าเป็นมิตรอย่างไม่ได้ตั้งใจอาจประสบผลที่ทำให้ถึงตายเพราะความผิดพลาดนั้น นี้เป็นความกดดันทางวิวัฒนาการเพียงประเด็นหนึ่งในหลายประเด็น ที่มีผลเป็นการพัฒนาความสามารถในการรู้จำใบหน้าของมนุษย์ปัจจุบัน[17]

ผลงานวิจัยในปี ค.ศ. 2009 ที่ใช้ magnetoencephalography เช็คค่าการทำงานของสมอง พบว่า วัตถุที่ได้รับการระบุว่าเป็นใบหน้าโดยบังเอิญ ก่อให้เกิดการทำงานอย่างรวดเร็ว (ภายใน 165 มิลลิวินาที) ใน ventral fusiform cortex (รอยนูนรูปกระสวยด้านล่าง) ซึ่งเป็นเวลาและตำแหน่งการทำงานในสมองที่เหมือนกับเมื่อเกิดการเห็นใบหน้าจริง ๆ เปรียบเทียบกับวัตถุสามัญอื่น ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดการทำงานอย่างนี้ สำหรับรูปใบหน้าจริง ๆ การทำงานจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่านั้นเพียงเล็กน้อยคือที่ 130 มิลลิวินาที นักวิจัยได้เสนอว่า การรับรู้ใบหน้าที่เกิดในวัตถุที่คล้ายใบหน้าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ตีความหมายโดยระบบทางประชานที่เกิดขึ้นช้ากว่า[18]

ในงานวิจัยปี ค.ศ. 2011 ที่ใช้ fMRI แสดงว่า การให้ดูรูปร่างใหม่ ๆ ที่คล้ายใบหน้าบ่อย ๆ ที่มีผลเป็นการตีความหมายว่าสำคัญ นำไปสู่การตอบสนองที่ลดลงเมื่อแสดงใบหน้าจริง ๆ นี่เป็นผลที่แสดงว่า การตีความหมายสิ่งเร้าที่คลุมเครือต้องอาศัยกระบวนการที่คล้าย ๆ กันกับที่เกิดขึ้นเมื่อประสบกับวัตถุแท้ (คือกระบวนการที่รับรู้วัตถุที่ไม่ใช่ใบหน้าว่าเป็นใบหน้าจะมีความคล้ายคลึงกับกระบวนการที่รับรู้ใบหน้าจริง ๆ)[19]

งานวิจัยเหล่านี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมมนุษย์จึงระบุรูปที่มีวงกลมไม่กี่วงและเส้น ๆ หนึ่งว่า เป็นใบหน้า อย่างรวดเร็วโดยไม่มีการลังเล คือจะมีกระบวนการทางประชาน (cognitive processes) ที่เกิดการทำงานเมื่อเห็นวัตถุที่คล้ายใบหน้า ซึ่งบอกผู้เห็นว่าคือใครและคนนั้นมีอารมณ์เป็นอย่างไร เป็นกระบวนการที่เป็นไปก่อนที่ระบบการรับรู้เหนือจิตใจจะเกิดการทำงาน หรือก่อนแม้จะได้รับข้อมูลเสียอีก เช่น รูปใบหน้าเชิงเส้น แม้ว่าจะมีความง่ายดาย แต่ก็สามารถสื่อข้อมูลเกี่ยวกับอารมณ์ในใบหน้า ซึ่งในกรณีนี้ เป็นความผิดหวังหรือความไม่แฮ็ปปี้แบบเล็กน้อย นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถวาดรูปหน้าเชิงเส้นอย่างง่าย ๆ ที่จะสื่อความดุหรือความเป็นศัตรูได้ ความสามารถที่ละเอียดอ่อนที่มีกำลังเช่นนี้เป็นผลของการคัดเลือกโดยธรรมชาติเป็นระยะเวลายาวนาน ที่เลือกบุคคลที่มีความสามารถมากที่สุดในการระบุอารมณ์ของคนอื่น เช่นบุคคลที่เป็นภัย เพื่อที่จะให้โอกาสบุคคลนั้นในการหลบหนีไปหรือในการจู่โจมก่อน กล่าวโดยอีกนัยหนึ่ง การประมวลข้อมูลเช่นนี้ในระบบใต้คอร์เทกซ์ (subcortical ดังนั้น จึงเป็นการประมวลผลอย่างที่ไม่ต้องรู้ตัว) ก่อนที่จะส่งข้อมูลต่อไปยังเขตสมองที่เหลือเพื่อประมวลผลขั้นละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำให้บุคคลรนั้นสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้นในกรณีที่ความปราดเปรียวว่องไวมีความสำคัญอย่างยิ่ง[17] ความสามารถนี้ แม้ว่าจะมีหน้าที่ที่เฉพาะเจาะจงต่องการประมวลผลและการรู้จำอารมณ์ของมนุษย์ ก็ยังสามารถกำหนดอากัปกิริยาของสัตว์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย[20]

เมื่อรวมกับปรากฏการณ์ Apophenia (คือการระบุรูปแบบในข้อมูลที่ไม่มีรูปแบบ) และ hierophany (การปรากฏประจักษ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์) ปรากฏการณ์แพริโดเลียอาจจะช่วยสังคมมนุษย์ในยุคต้น ๆ จัดระเบียบให้กับธรรมชาติที่สับสนและทำให้เข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกได้[21][22]

เกี่ยวกับโรค[แก้]

แพริโดเลียอาจมีความสัมพันธ์กับโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) ซึ่งพบในกรณีหนึ่งในคนไข้หญิง[23]

สถานที่เด่น[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "Pareidolia" (ภาษาอังกฤษ). Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ 6 December 2020.
  2. "Pareidolia". Lexico (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-16. สืบค้นเมื่อ 6 December 2020.
  3. Da Vinci, Leonardo (1923). John, R; Don Read, J (บ.ก.). "Note-Books Arranged And Rendered Into English". Empire State Book Co.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Zusne, Leonard; Jones, Warren H (1989). Anomalistic Psychology: A Study of Magical Thinking. Lawrence Erlbaum Associates. pp. 77–79. ISBN 0-8058-0508-7. สืบค้นเมื่อ 2007-04-06.
  5. "In New Jersey, a Knot in a Tree Trunk Draws the Faithful and the Skeptical", The New York Times, July 23, 2012.
  6. Ibrahim, Yahaya (2011-01-02). "In Maiduguri, a tree with engraved name of God turns spot to a Mecca of sorts". Sunday Trust. Media Trust Limited, Abuja. สืบค้นเมื่อ 2012-03-21.
  7. ในพฤกษศาสตร์ แคลลัสหมายถึงภาวะที่ผิวของใบไม้หรือส่วนอื่น ๆ ของต้นไม้ที่เกิดความหนาขึ้น
  8. Ng, Hui Hui (13 September 2007). "Monkey See, Monkey Do?". The New Paper. pp. 12–13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14.
  9. "'Virgin Mary' toast fetches $28,000". BBC News. 23 November 2004. สืบค้นเมื่อ 2006-10-27.
  10. Spamer, E. "Chonosuke Okamura, Visionary". Philadelphia: Academy of Natural Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-18. สืบค้นเมื่อ 2014-07-18. archived at Improbable Research.
  11. Berenbaum, May (2009). The earwig's tail: a modern bestiary of multi-legged legends. Harvard University Press. pp. 72–73. ISBN 0-674-03540-2.
  12. Ig Nobel Prize เป็นรางวัลล้อรางวัลโนเบลมอบทุก ๆ ปีในต้นเดือนตุลาคมแก่บุคคล 10 คนผู้ที่ประสบความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ที่แปลก ๆ หรือไม่เป็นสาระ
  13. Conner, Susan; Kitchen, Linda (2002). Science's most wanted: the top 10 book of outrageous innovators, deadly disasters, and shocking discoveries. Most Wanted. Brassey's. p. 93. ISBN 1-57488-481-6.
  14. Abrahams, Marc (2004-03-16). "Tiny tall tales: Marc Abrahams uncovers the minute, but astonishing, evidence of our fossilised past". The Guardian. London.
  15. Vokey, John R; Don Read, J (November 1985). "Sublminal message: between the devil and the media". American Psychologist. 11. 40 (11): 1231–39. doi:10.1037/0003-066X.40.11.1231. PMID 4083611.
  16. Sagan, Carl (1995). The Demon-Haunted World – Science as a Candle in the Dark. New York: Random House. ISBN 0-394-53512-X.
  17. 17.0 17.1 Svoboda, Elizabeth (2007-02-13). "Facial Recognition – Brain – Faces, Faces Everywhere". The New York Times. The New York Times. สืบค้นเมื่อ July 3, 2010.
  18. Hadjikhani, N; Kveraga, K; Naik, P; Ahlfors, SP (February 2009). "Early (M170) activation of face-specific cortex by face-like objects". Neuroreport. 20 (4): 403–7. doi:10.1097/WNR.0b013e328325a8e1. PMC 2713437. PMID 19218867.
  19. Voss, JL; Federmeier, KD; Paller, K (2011). "The potato chip really does look like Elvis! Neural hallmarks of conceptual processing associated with finding novel shapes subjectively meaningful". Cerebral Cortex. doi:10.1093/cercor/bhr315. PMID 22079921.
  20. "Dog Tips – Emotions in Canines and Humans". Partnership for Animal Welfare. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-17. สืบค้นเมื่อ July 3, 2010.
  21. Bustamante, Patricio; Yao, Daniela; Bustamante (2010), The Worship to the Mountains: A Study of the Creation Myths of the Chinese Culture, Rupestre Web.
  22. Bustamante, Patricio; Yao, Fay; Bustamante, Daniela (2010). "Pleistocene Art: the archeological material and its anthropological meanings" (PDF). From Pleistocene Art to the Worship of the Mountains in China. Methodological tools for Mimesis in Paleoart, Congress IFRAO 2010 – 'Pleistocene Art of the World'. Symposium. Signs, Symbols, Myth, Ideology.
  23. Fontenelle, Leonardo. "Leonardo F. Fontenelle. Pareidolias in obsessive-compulsive disorder". สืบค้นเมื่อ October 28, 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]