อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
เกิด24 สิงหาคม พ.ศ. 2463
เสียชีวิต3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 (61 ปี)
สัญชาติไทย
คู่สมรสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (พ.ศ. 2487–2493)
บุตรทัศนาวลัย ศรสงคราม
บิดามารดาจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
เอิบ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

พันเอก อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ (24 สิงหาคม พ.ศ. 2463 – 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525) เป็นอดีตพระสวามีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเป็นบุตรของพลเอกจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เจ้าหน้าที่การทหาร อดีตแม่ทัพกองทัพพายัพ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิบดีกรมรถไฟและผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามลำดับ

ประวัติ[แก้]

พันเอก อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เป็นบุตรของพลเอก จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ กับคุณหญิงเอิบ (สกุลเดิม โกมลวรรธนะ) มีพี่ชายร่วมบิดามารดาคือ พลตำรวจตรี อุดม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นภูวลาภ)

พันเอกอร่ามสมรสกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา พระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ พ.ศ. 2487 มีธิดาคือท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม (เกิด 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 ที่สวิตเซอร์แลนด์)

พันเอกอร่ามเป็นบุคคลเดียวที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อยู่ในรถยนต์พระที่นั่งขณะที่เกิดอุบัติเหตุรถชนกับรถบรรทุก ที่ทะเลสาบเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และได้รับบาดเจ็บสาหัส

ในปี พ.ศ. 2496 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ร้อยเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นราชองครักษ์พิเศษ รับราชการสนองพระเดชพระคุณตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2496 เป็นต้นไป[1]

เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย พันเอกอร่ามรับราชการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ เมื่อ พ.ศ. 2500 เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนส่งเสริมอาชีพก่อสร้าง (ปัจจุบันคือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)[2]จนเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ. 2523

พันเอก อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 การนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2525 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร[3]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชองครักษ์พิเศษ
  2. "A royal and not-so-royal past". The Nation (Thailand). 5 January 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-14. สืบค้นเมื่อ 21 February 2011.
  3. "ข่าวในพระราชสำนัก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 99 (43): 16. 25 มีนาคม 2525.
  4. ราชกิจจานุเบกษา 12 พฤษภาคม 2496 เล่ม 70 ตอนที่ 29 เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2496/D/029/2051.PDF
  5. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ หน้า ๒๙๖๖ เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๕๔ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๖