พหุนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พหุนิยม (Pluralism) เป็นหนึ่งในบรรดาคำหลายๆ คำที่ถูกหยิบยกไปใช้อย่างกว้างขวางในแทบจะทุกสาขา แต่โดยรวมแล้วจะมีนัยหมายถึงชุดของแนวคิดที่รับรู้ว่ามีความแตกต่างด้านแนวคิดอยู่ในสังคม และสนับสนุนในความแตกต่างหลากหลายทางแนวคิดเหล่านั้น รวมไปถึงต่อต้านการผูกขาดการตีความ หรือ การครอบงำโดยแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเพียงแนวคิดเดียว เช่น พหุวัฒนธรรม (cultural pluralism) นั้นสนับสนุนแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และไม่ยอมรับการครอบงำด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง หรือ พหุนิยมเชิงญาณวิทยา (epistemological pluralism) ที่มองว่าองค์ความรู้นั้นมีวิธีการอธิบาย และเข้าถึงตัวองค์ความรู้ได้หลากหลายวิธี โดยมิได้ถูกครอบงำด้วยวิธี และรูปแบบการอธิบายของสำนักคิดใดสำนักคิดหนึ่งเพียงสำนักเดียว (Kurian, 2011: 1213)[1]

อรรถาธิบาย[แก้]

อเล็กซิส เดอ ต๊อกเกอร์วิลล์ (Alexis de Tocqueville) ชาวฝรั่งเศสผู้ได้ไปศึกษาสังคมอเมริกัน และได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่เขาประสบพบเจอลงในหนังสือ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” (Democracy in America) ที่มีใจความตอนหนึ่งอธิบายว่าสังคมอเมริกันนั้นมีลักษณะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยกลุ่มสมาคมทางการเมือง (political association) โดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยสมาคมเหล่านี้เกิดจากการรวมตัวกันของอเมริกันชนเพื่อก่อให้เกิดพลังในการเคลื่อนไหว หรือ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน (Tocqueville, 2002: 180-186)[2] ซึ่งจากคำอธิบายของต๊อกเกอวิลล์นั้น แม้เขาจะไม่ได้กล่าวออกมาตรงๆ แต่ดูเหมือนว่าต๊อกเกอวิลล์กำลังจะบอกผู้อ่านว่าสังคมอเมริกัน (ขณะนั้น) มีลักษณะเป็นสังคมพหุนิยมทางการเมืองในความหมายที่เราๆ ท่านๆ เข้าใจกันในปัจจุบันนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปรียบเทียบกับบทบาทของภาคประชาสังคมในโลกสมัยใหม่ที่ได้เข้ามาเป็นพลังหลักที่มีบทบาทในการผลักดันทางการเมืองแทนการกำหนดวาระเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะแทนที่วิธีคิดแบบชนชั้นนำทางการเมืองที่มีมาแต่เดิม

โดยคำว่าพหุนิยมในทางทฤษฎีการเมืองที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันนั้นถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย คริสเตียน โวล์ฟ (Christian Wolff) ซึ่งได้ถูกหยิบยืมไปใช้อธิบายสังคมอย่างกว้างขวางในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศที่คุกกรุ่นไปด้วยบรรยากาศของการเดินขบวน และการประท้วงของสหภาพแรงงานต่างๆ เพื่อต่อต้านนายทุนผูกขาดในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างตลบอบอวล และท่ามกลางบริบททางสังคมการเมืองเช่นนี้นี่เองที่ทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์ - กลุ่มผลักดัน (interest - pressure group theory) ได้ถูกพัฒนาขึ้น และนำมาใช้อธิบายสังคม โดยเฉพาะสังคมอเมริกันอย่างชัดเจน และแพร่หลาย (Kurian, 2011: 1213; Badie, 2011: 1867 - 1868)[3][4] โดยกลุ่มทางการเมืองเหล่านี้จะได้ก้าวขึ้นมามีอิทธิพล และอำนาจต่อรองที่ทัดเทียมกันกับภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมก็หลังจากที่มีการประกาศนโยบาย “นิว ดีล” (New Deal) ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ซึ่งการก้าวเข้ามามีบทบาทในด้านการเจรจาต่อรองกับรัฐในการกำหนดนโยบายสาธารณะของกลุ่มผลประโยชน์อันแตกต่างหลากหลายที่แข่งขันกันในสังคมอเมริกันนี่เองที่เป็นหัวใจของแนวคิดพหุนิยมทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับแต่นั้น

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย[แก้]

ท่ามกลางกระแสธารของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยในชั่วระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ที่ยังผลให้ประเทศไทยปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญ และอำนาจสูงสุดทางการเมือง หรือ อำนาจอธิปไตยก็มีที่มาจากเบื้องล่างคือประชาชน แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงตัวอักษรที่รจนาไว้ในรัฐธรรมนูญมากกว่าเป็นสิ่งที่การเมืองไทยในโลกแห่งความเป็นจริงดำเนินไป นั่นก็เพราะอำนาจทางการเมืองไทยนับแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการต่อสู้ของบรรดาชนชั้นนำทางการเมืองไม่กี่กลุ่ม อาทิ กลุ่มคณะราษฎร กลุ่มอนุรักษ์นิยมเจ้า หรือ กลุ่มคณะทหาร เป็นต้น

แม้ในช่วงทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 - 2533) ประเทศไทยจะเริ่มปรับตัวเข้าหากระแสทุนนิยมของค่ายโลกเสรีมากยิ่งขึ้น ยังผลให้เกิดกลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจต่างๆ ขึ้นในสังคมไทยมากมาย แต่ด้วยโครงสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่ยังยึดติดอยู่กับระบอบอุปถัมภ์ ตลอดจนนโยบายพัฒนาประเทศแบบเน้นการพัฒนาจากส่วนกลาง และการรวมศูนย์อำนาจตลอดจนความมั่งคั่งไว้ที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงเป็นหลัก ประกอบกับการประสบวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 ก็ได้ทำให้กลุ่มทุนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ถือโอกาสเติบโตขึ้นบนซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจของประเทศ และก้าวเข้ามามีอิทธิพลในทางการเมืองไทยเป็นอย่างมากในแทบจะทุกยุคทุกสมัยหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน เช่น การมีบทบาทในการส่งตัวแทนเข้าไปนั่งทำงานในตำแหน่งสำคัญภายในคณะรัฐมนตรีหลายสมัยติดต่อกันของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านสินค้าเกษตรกรรมอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี (CP) เป็นต้น (กลุ่มติดตามบทบาทบรรษัท, 2552: 26)[5]

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอำนาจทางการเมืองของไทยนั้น หากมองโดยผิวเผินก็อาจพบว่ามีการแข่งขันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ คือ กลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่มีตัวแทนอยู่ในสภาหอการค้าไทย กล่าวคือ ดูเหมือนว่าจะมีภาพที่เป็นพหุนิยมในทางการเมืองระดับหนึ่ง จากการที่กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ที่หลากหลายในสังคมนั้นได้เติบโตขึ้นในสังคมไทย จนสามารถเข้ามามีบทบาท และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ แต่ทว่าหากพิจารณาให้ลึกลงไปแล้วกลับพบว่าแท้จริงแล้ว ผู้ที่มีอำนาจสำคัญในการผลักดันให้มีการออกนโยบายสาธารณะนั้นกลับถูกผูกขาดโดยกลุ่มคน หรือ กลุ่มบรรษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่มีเครือข่าย และอิงแอบกับชนชั้นนำทางการเมืองในระบบการเมืองทั้งสิ้น

สภาพทางการเมืองดังกล่าวของไทยจึงคล้ายกับสิ่งที่นักวิชาการตะวันตกอย่าง เอลเมอร์ เอริค แชทชไนเดอร์ (Elmer Eric Schattschneider) เรียกว่า “พหุนิยมชนชั้นนำ” (elite pluralism) กล่าวคือ แชทชไนเดอร์พยายามเปรียบเปรยแนวคิดพหุนิยมว่ามีสภาพคล้ายคลึงกับวงดนตรีที่แม้จะมีเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด แต่ก็ยังต้องอาศัยวาทยกร (conductor) หรือจำเป็นต้องมีเครื่องดนตรีนำ (concertmaster) เสมอ ดังเช่นในกรณีของวงออร์เคสตรา (ซึ่งส่วนมากจะเป็นไวโอลินตัวแรกที่อยู่ทางด้านซ้ายมือของวาทยกร) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้แชทชไนเดอร์จึงได้พยายามนำเสนอแนวคิดที่ผสมผสานกันระหว่างแนวคิดพหุนิยม และแนวคิดชนชั้นนำทางการเมืองในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง โดยเขามองว่าแม้นโยบายสาธารณะจะเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แต่แท้ที่จริงแล้วกลับแฝงไว้ด้วยวิธีคิดของชนชั้นนำที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ทั้งภายในกลุ่มผลประโยชน์เอง และระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ด้วยกันที่จะมีเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถมีอำนาจและอิทธิพลเพียงพอที่จะสามารถเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเพื่อให้ภาครัฐเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ (Schattschneider, 1975: XIX)[6]

หนึ่งในบรรดาข้อถกเถียงที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในวงการศึกษารัฐศาสตร์สมัยใหม่ก็คือ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองระหว่างทฤษฎีพหุนิยม กับ ทฤษฎีชนชั้นนำทางการเมือง (elitism) เพราะในขณะที่แนวคิดพหุนิยมนั้นมองว่าอำนาจทางการเมืองนั้น “กระจาย” ตัวไปตามกลุ่มผลประโยชน์ – กลุ่มผลักดันที่แข่งขันกันในการเข้ามามีอิทธิพลต่อการออกนโยบายสาธารณะของรัฐ (Dahl, 1971)[7] ตรงกันข้าม แนวคิดชนชั้นนำทางการเมืองนั้นกลับมองอำนาจทางการเมืองว่า “กระจุก” ตัวอยู่ที่ชนชั้นนำเพียงไม่กี่คน หรือ ไม่กี่รูปแบบ เช่น ทหาร นายทุน และนักการเมือง ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลในการกดปุ่มบังคับบัญชาทุกสิ่งทุกอย่างในการออกนโยบายสาธารณะของรัฐ (Mills, 1960: 276)[8] โดยแนวคิดสองแนวนี้ยังคงเป็นแนวคิดหลัก ที่ต่อสู้ และขับเคี่ยวกันในเชิงความคิดเพื่อช่วงชิงความสามารถในการอธิบายการเมือง และสังคม ของทั้งอเมริกัน และนานาประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. Kurian, George Thomas (2011). The encyclopedia of political science. Washington: CQ Press.
  2. Tocqueville, Alexis de (2000). Democracy in America. Chicago: The University of Chicago Press.
  3. Kurian, George Thomas (2011). The encyclopedia of political science. Washington: CQ Press.
  4. Badie, Bertrand, Dirk Berg-Schlosser, and Leonardo Morlino (2011). International encyclopedia of political science. Thousand Oaks, Calif. : SAGE Publications.
  5. กลุ่มติดตามบทบาทบรรษัท (2552). ซีพีกับเกษตรกรรมไทย. นนทบุรี: มูลนิธิชีววิถี.
  6. Schattschneider, Elmer Eric (1975). The semisovereign people. Illinois: The Dryden Press.
  7. Dahl, Robert (1971). Polyarchy participation and opposition. London: Yale University Press.
  8. Wright Mills, Charles (1960). The power elite. New York: Oxford University Press.