พลาสติกแรป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ม้วนพลาสติกแรป

พลาสติกแรป (อังกฤษ: plastic wrap) เป็นฟิล์มพลาสติกบางใสที่ใช้สำหรับห่อหุ้มอาหารเพื่อช่วยเก็บรักษาอาหารให้คงความสดเป็นเวลานานขึ้น

วัสดุ[แก้]

พลาสติกชนิดแรกที่นิยมใช้ทำพลาสติกแรปคือ เซลโลเฟน (cellophane) ค้นพบโดยนักเคมีชาวสวิตเซอร์แลนด์ชื่อ ฌัก บรานเดนแบร์เกอร์ ในปีค.ศ. 1911 และในราวต้นปีค.ศ. 1924 เซลโลเฟนเริ่มนำมาผลิตฟิล์มใสใช้งาน จุดเด่นของฟิล์มเซลโลเฟนคือ ความใส การใช้ฟิล์มชนิดนี้ห่อหุ้มอาหารดึงดูดผู้บริโภคอย่างมากเนื่องจากมองเห็นอาหาร ต่อมาในราวปีค.ศ. 1933 ได้ค้นพบพลาสติกที่ใช้ผลิตพลาสติกแรปอีกชนิดหนึ่งคือ พอลิเอทิลีน (polyethylene, PE) ผลิตเป็นพลาสติกแรปครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1945 และพอลิไวนิลคลอไรด์ (polyvinyl chloride, PVC) เมื่อปีค.ศ. 1950 ปัจจุบันพีวีซียังเป็นที่นิยมในการผลิตพลาสติกแรปแม้ว่าจะไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มที่จะใช้พอลิเอทิลีน โดยเฉพาะพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเติมพลาสติกไซเซอร์และมีราคาต่ำกว่า[1]

การใช้กับอาหาร[แก้]

พลาสติกแรปห่อทุเรียน
พลาสติกแรปห่อภาชนะอาหาร

วัตถุประสงค์[แก้]

พลาสติกแรปที่มีบทบาทสำคัญในการบรรจุ การปกป้อง และการถนอมอาหาร พลาสติกแรปป้องกันอาหารไม่ให้เน่าเสียง่าย ยืดอายุการเก็บรักษา และรักษาคุณภาพของอาหาร[2]

ความกังวลด้านสุขภาพ[แก้]

วัสดุพลาสติกถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารเนื่องจากราคาถูกและสะดวกสบาย อย่างไรก็ตามความกังวลด้านสุขภาพที่มีมากขึ้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่พลาสติกเหล่านี้ปล่อยสารเคมีลงในผลิตภัณฑ์อาหาร และมีผลต่อสุขภาพ แม้ว่าตัวพลาสติกมีคุณสมบัติในการสกัดกั้นการปล่อยสารต่าง ๆ แต่สารเคมีที่ไม่พึงปรารถนาอาจมีที่มาจากสารเติมแต่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพและคุณสมบัติของพลาสติกในบรรจุภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ สารหล่อลื่น พลาสติไซเซอร์ สารดูดกลืนแสงยูวี และสารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งสารเคลือบเงา และหมึกพิมพ์ [3] มีความกังวลเกี่ยวกับการสัมผัสไดเอทิลเฮกซิลอดิเปต (DEHA) ซึ่งเป็นพลาสติไซเซอร์ที่เติมลงในพลาสติกแรปบางชนิดเพื่อให้มีความยืดหยุ่น เช่น พลาสติกแรป PVC แม้ว่าการี้ปล่อยสารจะมีระดับต่ำกว่ามาตรฐานการเกิดพิษในการทดลองกับสัตว์ก็ตาม และกรณีหนึ่งคือเกี่ยวกับไดออกซินที่ระบุว่า "น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์" โดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าพลาสติกแรปมีไดออกซิน โดยรวมแล้วการใช้พลาสติกแรปในอุตสาหกรรมอาหารยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์[4]

ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม[แก้]

พลาสติกแรปเป็นส่วนหนึ่งของขยะพลาสติก ที่มีผลทั้งทางตรงในการการสะสมตัวขยะพลาสติกทั้งในพื้นดินและแหล่งน้ำ และทางอ้อมจากการปล่อยสารประกอบที่เป็นพิษเข้าสู่ระบบนิเวศในระหว่างการย่อยสลาย[5] ปัจจุบันมีความพยายามที่จะลดปริมาณการใช้งานพลาสติกแรปด้วยการใช้วัสดุอื่นห่ออาหาร เช่น ขี้ผึ้งห่ออาหาร และการพัฒนาพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อนำมาผลิตพลาสติกแรป [1]

การใช้ในทางการแพทย์[แก้]

ใช้ในการห่อตัวทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทันทีหลังการคลอดจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตัวเย็นเกินก่อนส่งไปถึงหน่วยอภิบาลทารกแรกเกิด[6] และใช้เป็นเครื่องช่วยปฐมพยาบาลสำหรับแผลไฟไหม้[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 พลาสติกแรป (plastic wrap) เก็บถาวร 2021-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 30 ตุลาคม 2559.
  2. Marsh, Kenneth; Bugusu, Betty (2007). "Food Packaging—Roles, Materials, and Environmental Issues". Journal of Food Science. 72 (3): R39–R55. doi:10.1111/j.1750-3841.2007.00301.x. ISSN 1750-3841. PMID 17995809.
  3. García Ibarra, Verónica; Rodríguez Bernaldo de Quirós, Ana; Paseiro Losada, Perfecto; Sendón, Raquel (2018-06-01). "Identification of intentionally and non-intentionally added substances in plastic packaging materials and their migration into food products". Analytical and Bioanalytical Chemistry. 410 (16): 3789–3803. doi:10.1007/s00216-018-1058-y. ISSN 1618-2650. PMID 29732500. S2CID 19148865.
  4. Meadows, Michelle (2002). "Plastics and the Microwave". FDA Consumer. 36 (6): 30. doi:10.1037/e542632006-006. PMID 12523298.
  5. Rajendran, Saravanan; Scelsi, Lino; Hodzic, Alma; Soutis, Constantinos; Al-Maadeed, Mariam A. (March 2012). "Environmental impact assessment of composites containing recycled plastics". Resources, Conservation and Recycling. 60: 131–139. doi:10.1016/j.resconrec.2011.11.006.
  6. McCall, Emma M.; Alderdice, Fiona; Halliday, Henry L.; Vohra, Sunita; Johnston, Linda (February 2018). "Interventions to Prevent Hypothermia at Birth in Preterm and/or Low Birth Weight Infants". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2: CD004210. doi:10.1002/14651858.CD004210.pub5. ISSN 1469-493X. PMC 6491068. PMID 29431872.
  7. "Burns and scalds - Treatment". NHS.uk. 2017-10-19. สืบค้นเมื่อ 2019-10-23.