ข้ามไปเนื้อหา

พฤติกรรมของมนุษย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการแสดงออกความคิดสร้างสรรค์เป็นรูปแบบของพฤติกรรมมนุษย์

พฤติกรรมของมนุษย์ (อังกฤษ: human behavior) เป็นศักยภาพและการแสดงออก (ทางจิตใจ ทางกาย และทางสังคม) ของบุคคลหรือกลุ่มคนในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายในและภายนอกตลอดชีวิต ปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมของบุคคล โดยบางส่วนอาจมีเหตุจากความคิดและความรู้สึกซึ่งช่วยให้เห็นสภาพจิตใจของแต่ละคน เผยให้เห็นสิ่งต่าง ๆ เช่นทัศนคติและค่านิยม บุคลิกภาพยังหล่อหลอมพฤติกรรมด้วย คือเพราะบุคลิกภาพต่างกัน จึงเกิดพฤติกรรมที่ต่างกัน

พฤติกรรมทางสังคม (อังกฤษ: social behavior) หมายถึงการกระทำต่อผู้อื่น โดยได้อิทธิพลสำคัญจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงจริยธรรม สัมพันธภาพระหว่างบุคคล การเมือง และความขัดแย้ง พฤติกรรมบางอย่างเป็นปกติ แต่บางอย่างก็ไม่ปกติ พฤติกรรมหนึ่ง ๆ ยอมรับได้หรือไม่จะขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานทางสังคมซึ่งบังคับใช้ด้วยวิธีต่าง ๆ บรรทัดฐานทางสังคม (social norm) ยังกำหนดพฤติกรรมด้วย มนุษย์จะถูกกดดันให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์โดยเฉพาะ ๆ และแสดงพฤติกรรมบางอย่างโดยจะจัดว่ายอมรับได้หรือยอมรับไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับสังคมหรือวัฒนธรรมนั้น 

พฤติกรรมทางการรู้คิด (อังกฤษ: cognitive behavior) หมายถึงพฤติกรรมเกี่ยวกับการเรียนและการใช้ความรู้ เป็นเรื่องการเรียนรู้และการถ่ายทอดข้อมูล รวมถึงการประยุกต์ใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์และความเชื่อส่วนบุคคลเช่นศาสนา ส่วนพฤติกรรมทางสรีรวิทยา (อังกฤษ: physiological behavior) หมายถึงพฤติกรรมในการดูแลร่างกาย เป็นเรื่องการบริหารร่างกายในขั้นพื้นฐานรวมทั้งมาตรการรักษาสุขภาพ พฤติกรรมทางเศรษฐกิจ (อังกฤษ: economic behavior) หมายถึงพฤติกรรมเกี่ยวกับการพัฒนา การจัดระเบียบ และการใช้วัสดุสิ่งของ รวมถึงรูปแบบการทำงานอื่น ๆ ส่วนพฤติกรรมทางนิเวศ (อังกฤษ: ecological behavior) หมายถึงการกระทำที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ เป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่อพฤติกรรมมนุษย์

การศึกษา

[แก้]

สังคมศาสตร์สาขาต่าง ๆ ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งสาขาจิตวิทยา สังคมวิทยา อีโธโลยี (ethology) โดยรวมสาขาย่อยและสำนักแนวคิดต่าง ๆ ของศาสตร์[1] พฤติกรรมของมนุษย์มีแง่มุมต่าง ๆ จึงไม่มีนิยามหรือสาขาวิชาใดที่ครอบคลุมได้ทั้งหมด[2] ปัญหาเรื่องพันธุกรรมเทียบกับสิ่งแวดล้อม (nature vs. nurture) เป็นประเด็นพื้นฐานอย่างหนึ่งในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ เป็นการศึกษาว่าพฤติกรรมได้รับอิทธิพลหลักจากปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่า[3] สาธารณชนบางครั้งจะให้ความสนใจกับการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับประเด็นทางวัฒนธรรม รวมถึงอาชญากรรม เพศวิถี และความเหลื่อมล้ำทางสังคม[4]

วิทยาศาสตร์ธรรมชาติบางสาขาก็ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมมนุษย์ด้วย ประสาทวิทยาศึกษาว่าระบบประสาทควบคุมพฤติกรรมอย่างไร ส่วนชีววิทยาวิวัฒนาการศึกษาว่าจิตใจของมนุษย์วิวัฒนาการขึ้นอย่างไร[5] ในสาขาอื่น ๆ พฤติกรรมมนุษย์อาจเป็นประเด็นรองในการศึกษาเมื่อพิจารณาว่ามันส่งผลต่อประเด็นอื่น ๆ อย่างไร[6] นอกเหนือจากการสอบสวนทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม พฤติกรรมของมนุษย์และสภาพความเป็นมนุษย์ (human condition) ยังเป็นจุดสนใจหลักของปรัชญาและวรรณกรรม[5] ส่วนปรัชญาจิต (philosophy of mind) พิจารณาแง่มุมต่าง ๆ เช่น เจตจำนงเสรี ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต (mind–body problem) และความยืดหยุ่นได้ของพฤติกรรมมนุษย์[7]

พฤติกรรมของมนุษย์สามารถประเมินได้ผ่านแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ และวิธีการทดลอง อาจทำการทดลองโดยทดสอบพฤติกรรมของสัตว์อื่น ๆ ที่นำไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์ได้[8] การเปรียบเทียบคู่แฝดเป็นวิธีทั่วไปในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ สำหรับฝาแฝดที่มีจีโนมเหมือนกัน ก็จะช่วยแยกปัจจัยทางพันธุกรรมและทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรม งานศึกษาฝาแฝดพบว่า รูปแบบการดำเนินชีวิต ความเสี่ยงต่อโรค และพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพมีตัวบ่งชี้ทั้งทางพันธุกรรมและทางสภาพแวดล้อม[9]

พฤติกรรมทางสังคม

[แก้]
รูปถ่ายหญิงญี่ปุ่น (ป. ค.ศ. 1880)

พฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์คือพฤติกรรมที่มุ่งคนอื่น รวมถึงการสื่อสารและความร่วมมือ เป็นเรื่องซับซ้อนและมีระเบียบสูง มนุษย์มีสมรรถภาพทางทฤษฎีจิตที่ช่วยให้เข้าใจความคิดและการกระทำต่อกันและกัน มนุษย์ได้พัฒนาสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกับของสัตว์อื่น ๆ โดยอาศัยพฤติกรรมทางสังคม[10]

ปัจจัยทางชีวภาพที่มีผลต่อมนุษย์ทุกคน และปัจจัยทางวัฒนธรรมที่ขึ้นอยู่การเลี้ยงดูและบรรทัดฐานของสังคม ทั้งสองควบคุมพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์[11] การสื่อสารของมนุษย์อิงอาศัยภาษาเป็นหลัก โดยทั่วไปผ่านการพูดหรือการเขียน อวัจนภาษาสามารถปรับเปลี่ยนความหมายการสื่อสาร โดยแสดงความคิดและเจตนาด้วยพฤติกรรมทางกายและเสียง[12]

บรรทัดฐานทางสังคม

[แก้]

พฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมจะกำกับด้วยบรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ไม่ได้ระบุไว้ซึ่งสมาชิกในสังคมมีต่อกัน บรรทัดฐานเหล่านี้ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมแหล่งเกิด โดยมนุษย์มักปฏิบัติตามโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ต้องไตร่ตรอง บรรทัดฐานมีผลต่อทุกด้านของชีวิตในสังคมมนุษย์ รวมถึงมารยาท (decorum) ความรับผิดชอบต่อสังคม สิทธิในทรัพย์สิน ข้อตกลงตามสัญญา ศีลธรรม ความยุติธรรม และความหมายของชีวิต บรรทัดฐานหลายอย่างอำนวยการประสานงานระหว่างสมาชิกในสังคม โดยพิสูจน์แล้วว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ที่เกี่ยวกับการสื่อสารและข้อตกลง แรงกดดันทางสังคมจะเป็นตัวบังคับใช้บรรทัดฐาน คือบุคคลที่ละเมิดบรรทัดฐานอาจถูกกีดกันทางสังคม[13]

ระบบจริยธรรมเป็นแนวทางพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อกำหนดว่าอะไรถูกศีลธรรม มนุษย์จึงต่างกับสัตว์อื่น ๆ พฤติกรรมที่มีจริยธรรมก็คือพฤติกรรมของมนุษย์ผู้พิจารณาว่าการกระทำจะมีผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไรและจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือไม่ อะไรถูกจริยธรรมจะขึ้นอยู่กับการตัดสินว่าถูกหรือผิด (value judgment) ของบุคคลและบรรทัดฐานทางสังคม การตัดสินว่าถูกหรือผิดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในวัฒนธรรมทุกวัฒนธรรมแม้ระบบที่ใช้ในการประเมินอาจแตกต่างกัน ระบบประเมินอาจมาจากกฎสวรรค์ (divine law) กฎธรรมชาติ อำนาจรัฐฝ่ายพลเรือน (civil authority) เหตุผล หรือหลักการเหล่านี้รวมกันและหลักการอื่น ๆ การเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น (altruism) เป็นพฤติกรรมซึ่งมนุษย์คำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้อื่นเท่าเทียมหรือมากกว่าของตนเอง แม้สัตว์อื่น ๆ จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นในเชิงชีววิทยา การทำประโยชน์ผู้อื่นทางจริยธรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมนุษย์[14]

พฤติกรรมเบี่ยงเบน (deviance) คือพฤติกรรมที่ละเมิดบรรทัดฐานทางสังคม เนื่องจากบรรทัดฐานทางสังคมจะต่าง ๆ กันในแต่ละบุคคลและวัฒนธรรม ลักษณะและความรุนแรงของความเบี่ยงเบนจึงเป็นเรื่องทางอัตวิสัย/อัตนัย สิ่งที่สังคมถือว่าเบี่ยงเบนอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเมื่อเกิดบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ ๆ ความเบี่ยงเบนอาจถูกลงโทษด้วยการตีตราทางสังคม การประณาม หรือความรุนแรง[15] การกระทำที่เบี่ยงเบนหลายอย่างจัดเป็นอาชญากรรมและอาจถูกลงโทษด้วยกฎหมายอาญา[16] การกระทำเบี่ยงเบนอาจจัดให้มีโทษเพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้อื่น เพื่อรักษาโลกทัศน์และวิถีชีวิตบางอย่าง หรือเพื่อบังคับใช้หลักศีลธรรมและความสุภาพ[17] วัฒนธรรมยังให้คุณค่าในเชิงบวกหรือเชิงลบแก่ลักษณะทางกายบางอย่าง ทำให้คนไร้ลักษณะที่พึงปรารถนาอาจถูกมองว่าเบี่ยงเบน[18]

สัมพันธภาพระหว่างบุคคล

[แก้]
ครอบครัวในเขตโนอาทัค รัฐอะแลสกา (1929)

สัมพันธภาพระหว่างบุคคลสามารถประเมินได้จากการตัดสินใจและอารมณ์ที่เกิดระหว่างคนสองคน หรือสามารถประเมินได้จากบริบทกว้าง ๆ ทางสังคมว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวควรจะเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์พัฒนาขึ้นผ่านการสื่อสาร โดยสร้างความสนิทสนม แสดงอารมณ์ และพัฒนาเอกลักษณ์ของตน[12]

แต่ละคนจะมีกลุ่มสังคมที่สร้างด้วยความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ภายในกลุ่ม สมาชิกจะสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยกลุ่มยังสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่นผ่านความสัมพันธ์อื่น ๆ พฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ไม่ได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่ยังได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมที่ทำกับคนหนึ่งซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ อีก[19] บุคคลที่แสวงหาการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างกระตือรือร้นถือเป็นคนสนใจต่อสิ่งภายนอก/คนชอบสังคม (extrovert) ส่วนคนตรงกันข้ามคือคนสนใจต่อสิ่งภายใน/คนชอบเก็บตัว (introvert)[20]

ความรักแบบโรแมนติกเป็นแรงดึงดูดระหว่างบุคคลที่สำคัญ ลักษณะจะต่าง ๆ กันแล้วแต่วัฒนธรรม แต่มักขึ้นอยู่กับเพศ เกิดขึ้นพร้อมกับแรงดึงดูดทางเพศ และเป็นได้ทั้งรักต่างเพศหรือรักร่วมเพศ มีรูปแบบที่แตกต่างกันและเกี่ยวข้องกับอารมณ์หลายอย่าง วัฒนธรรมหลายวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับความรักโรแมนติกมากกว่าแรงดึงดูดระหว่างบุคคลรูปแบบอื่น การแต่งงานเป็นการมาอยู่ร่วมกันของคนสองคน แม้จะเกี่ยวข้องกับความรักโรแมนติกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม [21]

บุคคลที่สัมพันธ์ทางสายเลือดอย่างใกล้ชิดรวมกันเป็นครอบครัว มีรูปแบบโครงสร้างครอบครัวที่หลากหลายซึ่งอาจรวมถึงพ่อแม่ลูก รวมทั้งลูกเลี้ยงหรือญาติอื่น [22] ครอบครัวที่มีเด็กมักจะเน้นการเลี้ยงบุตร พ่อแม่จะทุ่มเทเป็นอย่างมากเพื่อปกป้องและสั่งสอนลูก ๆ เด็กจะใช้เวลาเติบโตขึ้นเป็นเวลายาวนานกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ โดยมาก[23]

รัฐศาสตร์และความขัดแย้ง

[แก้]
ยุทธการในการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1848

เมื่อมนุษย์ตัดสินใจเป็นกลุ่มก็จัดว่ามีส่วนร่วมในการเมือง มนุษย์วิวัฒนาการมาให้มีพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง แต่นี่ยังรวมถึงพฤติกรรมที่ส่งเสริมการร่วมมือกันยิ่งกว่าความขัดแย้งกันในสถานการณ์กลุ่มด้วย บุคคลมักจะรู้สึกว่าตนอยู่ในกลุ่มหรือนอกกลุ่ม โดยบุคคลจะร่วมมือกับคนในกลุ่มและแข่งขันกับคนนอกกลุ่ม นี้ก่อพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การยอมตามโดยไม่รู้ตัว การเชื่อฟังผู้มีอำนาจโดยไม่คิดไม่สอบถาม การรู้สึกยินดีกับความโชคร้ายของฝ่ายตรงข้าม การก่อความเป็นปฏิปักษ์กับคนภายนอก การสร้างกลุ่มนอกขึ้นแม้เมื่อไม่มีอยู่จริง และการลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานของกลุ่มใน พฤติกรรมเหล่านี้สร้างระบบการเมืองที่บังคับใช้มาตรฐานและบรรทัดฐานของกลุ่มใน[24]

เมื่อมนุษย์ต่อต้านกันและกัน ก็จะเกิดความขัดแย้ง อาจเกิดเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งขัดขวางเป้าหมายของอีกฝ่าย หรือเมื่อประสบอารมณ์เชิงลบ เช่น ความโกรธต่อกัน ความขัดแย้งจากความเห็นไม่ตรงกันเพียงอย่างเดียวมักแก้ได้ด้วยการสื่อสารหรือการเจรจาต่อรอง แต่การใช้อารมณ์หรือการมุ่งขัดกันอาจทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ความขัดแย้งระหว่างบุคคล (interpersonal conflict) คือความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะ [25]

ความขัดแย้งทางสังคม (social conflict) คือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสังคมหรือกลุ่มประชากรที่ต่างกัน มักเกิดเมื่อกลุ่มสังคมบางกลุ่มถูกกีดกัน ไม่ได้ทรัพยากรตามที่ต้องการ ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือประสงค์ที่จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความขัดแย้งที่รุนแรงสามารถก่อความไม่สงบในสังคมได้[26] ความขัดแย้งระหว่างประเทศ (international conflict) คือความขัดแย้งระหว่างชาติหรือรัฐบาล ซึ่งอาจแก้ไขได้ผ่านการทูตหรือสงคราม

พฤติกรรมทางการรู้คิด/ปัญญา

[แก้]
การเรียนทำจิตรกรรมในเมืองวอลโกกราด ประเทศรัสเซีย (2013)

การรู้คิด (cognition) ของมนุษย์แตกต่างกับสัตว์อื่น ๆ เพราะมีเหตุปัจจัยจากทั้งลักษณะทางชีววิทยาด้วย จากความรู้และการพัฒนาที่มีร่วมกันแล้วถ่ายทอดทางวัฒนธรรมด้วย มนุษย์สามารถเรียนรู้จากกันและกันเพราะมีสมรรถภาพทางทฤษฎีจิตที่ช่วยให้เรียนรู้ผ่านการศึกษาได้ การใช้ภาษาช่วยให้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันได้โดยตรง[27][28] สมองมนุษย์มีความยืดหยุ่น ทำให้ลักษณะต่าง ๆ ของสมองเปลี่ยนไปได้เพื่อตอบสนองต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ นี้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้แล้วก่อพฤติกรรมการฝึกฝน ช่วยให้พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ได้[28] พฤติกรรมที่ทำต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจกลายเป็นนิสัย ซึ่งจะทำเป็นประจำต่อไปได้โดยไม่ต้องรู้ตัว[29]

มนุษย์ใช้เหตุผลในการอนุมานข้อสรุปจากข้อมูลที่มีจำกัด การหาเหตุผลส่วนใหญ่เกิดขึ้นเองอย่างอัตโนมัติโดยที่บุคคลไม่ต้องพยายามอย่างรู้ตัว การใช้เหตุผลทำโดยการถือนัยทั่วไปจากประสบการณ์ในอดีตแล้วนำมาใช้กับสถานการณ์ใหม่ การเรียนหาความรู้ก็เพื่อให้สามารถอนุมานได้แม่นยำขึ้น ส่วนการให้เหตุผลแบบนิรนัยเป็นการอนุมานข้อสรุปที่เป็นจริงตามข้อตั้งทางตรรกะ การให้เหตุผลแบบอุปนัยอนุมานว่าข้อสรุปใดน่าจะเป็นจริงตามบริบท[30]

อารมณ์เป็นประสบการณ์ทางการรู้คิดที่มีมาแต่กำเนิดในมนุษย์ อารมณ์พื้นฐานเช่น ความผาสุก (joy) ความทุกข์ (distress) ความโกรธ ความกลัว ความประหลาดใจ และความรังเกียจ พบได้ในทุกวัฒนธรรม แต่บรรทัดฐานทางสังคมเกี่ยวกับการแสดงอารมณ์ก็จะแตกต่างกันไป อารมณ์อื่น ๆ มาจากการรู้คิดขั้นสูงเช่น ความรัก ความรู้สึกผิด ความอับอาย (shame) ความขายหน้า (embarrassment) ความภาคภูมิใจ และความริษยา (envy, jealousy) อารมณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยใช้เวลา ไม่ใช่ทันที โดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางวัฒนธรรมอย่างสำคัญ[31]

อารมณ์ได้อิทธิพลจากข้อมูลทางประสาทสัมผัสเช่นสีและดนตรี และจากพื้นอารมณ์ (mood) คือความสุขและความเศร้า มนุษย์มักจะมีความสุขและความเศร้าในระดับมาตรฐานโดยขึ้นอยู่กับสุขภาพและความสัมพันธ์ทางสังคม เหตุการณ์ที่ดีและร้ายจะมีอิทธิพลต่อพื้นอารมณ์ในระยะสั้น มนุษย์มักพยายามปรับปรุงพื้นอารมณ์ของกันและกันด้วยการปลอบโยน การบันเทิง และการระบายความรู้สึก และสามารถควบคุมพื้นอารมณ์ของตนเองด้วยการออกกำลังกายและการทำสมาธิ[32]

การสร้างสรรค์คือการใช้แนวคิดหรือทรัพยากรที่มีอยู่เดิมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งช่วยสร้างนวัตกรรม ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ข้อมูลใหม่ และแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ ๆ การแสดงออกความสร้างสรรค์ยังช่วยเสริมคุณภาพชีวิตอีกด้วย การสร้างสรรค์รวมถึงการสร้างสรรค์ส่วนบุคคล ซึ่งบุคคลนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ อันมาจากตนอย่างแท้จริง แต่ยังสามารถขยายไปสู่การสร้างสรรค์ของสังคม ซึ่งชุมชนหรือสังคมสร้างและยอมรับแนวคิดต่าง ๆ ร่วมกัน[33]

การสร้างสรรค์ยังใช้แก้ปัญหาที่เกิด ช่วยสร้างสรรค์ศิลปะและการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ บุคคลที่ทำงานสร้างสรรค์ขั้นสูงมักมีความรู้เฉพาะทางในด้านนั้น โดยมนุษย์จะอาศัยความรู้เพื่อพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ ในด้านศิลปะ การสร้างสรรค์มักใช้เพื่อพัฒนาผลงานศิลปะใหม่ ๆ เช่น ทัศนศิลป์หรือดนตรี ในทางวิทยาศาสตร์ ผู้มีความรู้เฉพาะด้านสามารถใช้วิธีลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติได้แม่นยำยิ่งขึ้น[34]

พฤติกรรมทางศาสนามาจากประเพณีปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา ลักษณะพฤติกรรมจะแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับประเพณีทางศาสนาโดยเฉพาะ ๆ ศาสนามักเกี่ยวกับเรื่องปรัมปรา พิธีกรรม ข้อห้าม สัญลักษณ์ทางศาสนา ศีลธรรม ประสบการณ์ของสภาวะจิตที่แปรไป และความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ พฤติกรรมทางศาสนามักมีภาระสูง ต้องใช้เวลา พลังงาน และทรัพย์สินมาก โดยขัดแย้งกับแบบจำลองการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลของมนุษย์ถึงแม้จะมีประโยชน์แก่ชุมชนก็ตาม นักมานุษยวิทยามีทฤษฎีต่าง ๆ ว่า ทำไมมนุษย์จึงยอมรับนำเอาพฤติกรรมทางศาสนามาใช้[35]

พฤติกรรมทางศาสนาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากปัจจัยทางสังคม กิจกรรมกลุ่มมีความสำคัญในการพัฒนาพฤติกรรมทางศาสนาของแต่ละบุคคล หน่วยสังคมต่าง ๆ เช่น องค์กรศาสนาหรือครอบครัว ช่วยให้แชร์และประสานพฤติกรรมทางศาสนาได้ ความเชื่อมโยงทางสังคมเช่นนี้เสริมสร้างพฤติกรรมทางการรู้คิดเกี่ยวกับศาสนา ส่งเสริมให้มีความเคร่งครัดและความมุ่งมั่น[36] ตามรายงานปี 2018 ของศูนย์วิจัยอเมริกัน Pew Research Center ผู้ใหญ่ 54% ทั่วโลกระบุว่าศาสนามีความสำคัญมากในชีวิต[37]

พฤติกรรมทางสรีรวิทยา

[แก้]
เด็กชายกินอาหารในนครฮาราเร ประเทศซิมบับเว (2017)

มนุษย์มีพฤติกรรมเหมือนสัตว์อื่น ๆ ในการสนับสนุนรักษากระบวนการทางร่างกาย รวมทั้งการทานอาหารเพื่อให้ได้สารอาหาร อาจจะเลือกอาหารเพราะคุณค่าทางโภชนาการ แต่ก็อาจเลือกเพราะอร่อย โดยอาหารมักต้องปรุงเพื่อให้อร่อยยิ่งขึ้น[38] มนุษย์กำจัดอาหารส่วนเกินโดยขับออกเป็นของปฏิกูลรวมทั้งอุจจาระปัสสาวะ อุจจาระมักจะมองว่าเป็นสิ่งต้องห้าม โดยเฉพาะในชุมชนที่พัฒนาแล้วและในเมืองที่มีการสุขาภิบาลพรั่งพร้อมและอุจจาระไม่ใช้เป็นปุ๋ย[39]

มนุษย์ยังนอนหลับเป็นประจำตามตามภาวะธำรงดุลและจังหวะรอบวัน จังหวะรอบวัน (circadian rhythm) ทำให้ต้องนอนเป็นเวลา โดยมักปรับให้เข้ากับวงจรกลางวันกลางคืนและนิสัยการนอนการตื่น ส่วนระบบธำรงดุล (homeostasis) จะทำให้นอนนานขึ้นหลังจากอดนอน วงจรการนอนของมนุษย์ใช้เวลาประมาณ 90 นาที โดยจะเกิดซ้ำ 3–5 ครั้งในระหว่างการนอนปกติ[40]

มนุษย์ยังมีพฤติกรรมพิเศษ ๆ เพื่อรักษาสุขภาพร่างกาย รวมทั้งการทำยาเพื่อป้องกันและรักษาโรค ในประเทศที่พัฒนาแล้ว นิสัยการกินที่เน้นโภชนาการ สุขอนามัยที่ส่งเสริมสุขาภิบาล การรักษาทางแพทย์เพื่อกำจัดโรค และการคุมกำเนิด ช่วยปรับปรุงสุขภาพของมนุษย์อย่างสำคัญ[41] มนุษย์ยังอาจออกกำลังกายมากกว่าที่จำเป็นให้อยู่รอดเพื่อรักษาสุขภาพ[42]

มนุษย์ทำตามสุขอนามัยเพื่อจำกัดการสัมผัสกับสิ่งสกปรกและเชื้อโรค พฤติกรรมบางอย่างเป็นการปรับตัว บางอย่างมาจากการเรียนรู้ พฤติกรรมพื้นฐานเป็นความรังเกียจที่วิวัฒนาการขึ้นเพื่อปรับตัวไม่ให้สัมผัสกับแหล่งเชื้อโรค มีผลทางชีววิทยาให้รังเกียจอุจจาระ, น้ำจากร่างกาย, อาหารเสีย และสัตว์ที่มักเป็นตัวนำโรค ส่วนการดูแลตัวเอง, การจัดการศพคนตาย, ระบบระบายของเสีย และการใช้สารทำความสะอาดเป็นพฤติกรรมด้านสุขอนามัยที่พบได้ทั่วไปในสังคมมนุษย์ส่วนใหญ่[43]

มนุษย์สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยมีเพศสัมพันธ์ทั้งเพื่อการสืบพันธุ์และความสุขทางเพศ การสืบพันธุ์ของมนุษย์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับเพศวิถีและความปรารถนาจะมีลูกตามสัญชาตญาณ แต่มนุษย์ก็มีเอกลักษณ์ในเรื่องการจงใจควบคุมจำนวนลูกที่มี[44] มนุษย์มีพฤติกรรมการสืบพันธุ์ที่หลากหลายเมื่อเทียบกับสัตว์อื่น ๆ มีการจับคู่ในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งการมีคู่สมรสคนเดียว การมีภรรยาหลายคน และการมีสามีหลายคน โดยพฤติกรรมการจับคู่จะได้อิทธิพลอย่างมากจากบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและประเพณี[45] ผู้หญิงจะตกไข่เป็นประจำแทนที่จะเป็นไปตามฤดูกาลซึ่งไม่เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ โดยมีรอบประจำเดือนราว 25–35 วัน[46]

มนุษย์เป็นสัตว์สองเท้าและเคลื่อนไหวด้วยการเดิน การเดินจะสอดคล้องกับวงจรการเดินสองเท้า (bipedal gait cycle) ซึ่งเป็นการสัมผัสส้นเท้ากับพื้นและการยกนิ้วเท้าขึ้นจากพื้นสลับกัน โดยจะยกและหมุนเชิงกรานเล็กน้อย มนุษย์จะเรียนรู้การทรงตัวเมื่อเดินในช่วง 7-9 ปีแรกของชีวิต แต่ละคนจะได้ท่าเดินที่เป็นเอกลักษณ์เมื่อเรียนรู้การย้ายน้ำหนัก ปรับศูนย์กลางมวล และประสานการควบคุมประสาทกับการเคลื่อนไหว[47] มนุษย์สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้นด้วยการวิ่ง สมมติฐานการวิ่งได้ทน (endurance running hypothesis) เสนอว่ามนุษย์สามารถไปได้เร็วกว่าสัตว์ส่วนใหญ่ในระยะไกล ๆ ด้วยการวิ่ง แม้จะต้องใช้พลังงานมากขึ้น ร่างกายมนุษย์ควบคุมตัวเองด้วยการออกเหงื่อในช่วงที่ออกแรง จึงทำให้ทนกว่าสัตว์อื่น [48]

มือของมนุษย์ใช้จับวัตถุได้ และสามารถออกแรงโดยควบคุมการเคลื่อนไหวและแรงจับได้อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยให้ใช้เครื่องมือที่ซับซ้อนได้[49]

พฤติกรรมทางเศรษฐกิจ

[แก้]

มนุษย์มีพฤติกรรมที่พยากรณ์ได้เมื่อตัดสินใจทางเศรษฐกิจ โดยพฤติกรรมอาจมีเหตุผลหรือไม่มีก็ได้ เช่นเดียวกับสัตว์ทั้งหมด มนุษย์ตัดสินใจโดยการประเมินต้นทุน ผลประโยชน์ และความเสี่ยงในสภาพแวดล้อม แต่มนุษย์ก็สามารถประเมินได้อย่างสมบูรณ์ดีกว่า มนุษย์มักตัดสินใจโดยชั่งน้ำหนักตัวเลือกต่าง ๆ เทียบกับค่าที่มีอยู่เดิม ไม่ได้ดูผลกำไรหรือความขาดทุนแบบสัมบูรณ์ และยังมักให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงการเสียยิ่งกว่าการได้ผลกำไร[50]

มนุษย์ได้พัฒนาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจขั้นสูงหลังการปฏิวัติยุคหินใหม่และการพัฒนาเกษตรกรรม ซึ่งทำให้ได้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างยั่งยืน จึงก่อความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ในสังคมที่ซับซ้อนขึ้นได้[51]

งาน

[แก้]
ผู้หญิงกำลังดูแลสัตว์เลี้ยงในฟาร์มประเทศสวีเดน (1911)

งานที่มีให้ทำจะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของสังคม สังคมอันเรียบง่ายที่สุดเป็นเผ่าชนที่ทำงานเพื่อประทังชีพโดยเป็นคนเก็บของป่าล่าสัตว์ ในแง่นี้ งานไม่ใช่กิจกรรมต่างหาก ๆ แต่เป็นองค์ประกอบของทุก ๆ ส่วนในชีวิต เพราะสมาชิกทุกคนต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อความอยู่รอด

สังคมที่ก้าวหน้ามากขึ้นพัฒนาขึ้นหลังจากการปฏิวัติยุคหินใหม่ ซึ่งเน้นงานการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ในท้องทุ่ง ในสังคมเหล่านี้ ผลผลิตมีเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา บางคนจึงสามารถทำงานพิเศษ ๆ ที่ไม่ใช่การผลิตหาอาหาร นี่สร้างงานที่ไม่ใช้แรงงาน โดยอาชีพที่ซับซ้อนขึ้นทำให้ต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคและทางการบริหาร[51] งานที่ใช้แรงงานในสังคมเช่นนี้มักจะทำโดยทาส ข้ารับใช้ ชาวนา และช่างด้านต่าง 

งานได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยประเทศอุตสาหกรรมได้พัฒนาและเริ่มใช้ระบบโรงงาน นอกจากจะเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยรวมแล้ว การพัฒนานี้ยังเปลี่ยนลักษณะต่าง ๆ ของงาน ในระบบโรงงาน คนงานจะร่วมมือกับคนอื่นมากขึ้น นายจ้างกลายเป็นผู้มีอำนาจในช่วงเวลาทำงาน และการบังคับใช้แรงงานก็เลิกใช้ไปโดยมาก การเปลี่ยนแปลงได้เพิ่มยิ่งขึ้นในสังคมหลังอุตสาหกรรม เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้อุตสาหกรรมบางอย่างล้าสมัย โดยมีระบบการผลิตสินค้าจำนวนมาก (mass production) และงานด้านบริการ (service industries) มาแทนที่[52]

มนุษย์จะทำงานไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายและนิสัยอื่น ๆ บางคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความมุ่งมั่นมากกว่าคนอื่น ๆ บางคนพบว่างานมีส่วนช่วยเติมชีวิตให้เต็ม บางคนทำงานเพียงเพราะความจำเป็น[53] งานยังอาจเป็นเอกลักษณ์ที่บุคคลเชื่อมโยงอาชีพกับตัวตน แรงจูงใจในการทำงานเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะทั้งส่งเสริมและลดทอนความต้องการต่าง ๆ ของมนุษย์ แรงจูงใจหลักก็คือเพื่อประโยชน์ทางด้านวัตถุ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของเงินในสังคมสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังอาจสร้างความภาคภูมิใจในตนเองและความรู้สึกมีคุณค่า, ทำให้มีกิจกรรม, ได้ความเคารพ และเป็นช่องให้แสดงออกความคิดสร้างสรรค์[54] งานสมัยใหม่มักจัดเป็นชนิดที่ใช้แรงงานและไม่ใช้แรงงาน[55]

การพักผ่อน

[แก้]
นักกีฬาเตะฟุตบอลในประเทศไอร์แลนด์ (2007)

การพักผ่อนคือการมีหรือไม่มีกิจกรรม โดยเกิดต่างหากกับการทำงาน ซึ่งให้การผ่อนคลาย การบันเทิง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น[56] อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งกายและใจ อาจใช้เพื่อบรรเทาความเครียดชั่วคราว เพื่อสร้างอารมณ์เชิงบวก หรือเพื่อส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อย่างไรก็ดี กิจกรรมนันทนาการก็ยังสามารถอำนวยให้เกิดปัญหาสุขภาพหรืออารมณ์เชิงลบที่เกิดจากความเบื่อหน่าย การใช้สารเสพติด หรือพฤติกรรมเสี่ยงสูง[57]

กิจกรรมนันทนาการแบ่งได้เป็นแบบจริงจังหรือแบบไม่จริงจัง[56][58] แบบจริงจังรวมทั้งงานด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่ไม่ทำเป็นอาชีพ, งานอดิเรก หรือการอาสาสมัครในด้านที่มีความเชี่ยวชาญทางอาชีพ[58] แบบไม่จริงจังจะให้ความพึงพอใจระยะสั้น แต่ก็ไม่ได้ในระยะยาว และไม่ได้เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำตน เช่น การเล่น การผ่อนคลาย ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การอาสาสมัคร การบันเทิงแบบไม่ต้องทำอะไร การบันเทิงแบบมีส่วนร่วม และการกระตุ้นประสาทสัมผัส การบันเทิงแบบไม่ต้องทำอะไรมักจะได้จากการชมสื่อ ซึ่งอาจรวมถึงงานเขียนหรือสื่อดิจิทัล การบันเทิงแบบมีส่วนร่วมอาจเป็นเกมที่ลงเล่น การกระตุ้นประสาทสัมผัสคือความพึงพอใจที่ได้ทันทีจากพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การกินหรือการมีเพศสัมพันธ์[56]

การบริโภค

[แก้]

มนุษย์มีบทบาทเป็นผู้บริโภคที่รับและใช้สินค้า การผลิตจริง ๆ ก็เพื่อให้บริโภค ผู้บริโภคจริง ๆ ก็ปรับพฤติกรรมของตนไปตามสิ่งที่มีผลิต การบริโภคสินค้าเป็นจำนวนมาก ๆ เริ่มเกิดตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้เพิ่มผลผลิตได้[59]

ปัจจัยหลายอย่างมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค รวมทั้งลักษณะผลิตภัณฑ์ ราคา ความสะดวกในการซื้อ และการโฆษณา ปัจจัยทางวัฒนธรรมอาจมีผลต่อการตัดสินใจ เพราะวัฒนธรรมต่าง ๆ ให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ กัน กลุ่มย่อยในวัฒนธรรมยังอาจให้ความความสำคัญต่าง ๆ กันในการเลือกซื้อสินค้า ชนชั้นทางสังคมทั้งในด้านความมั่งคั่ง การศึกษา และอาชีพอาจมีผลต่อพฤติกรรมผู้ซื้อ โดยความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ และกลุ่มสังคมที่ตนอ้างอิง (reference group) ก็อาจมีผลต่อพฤติกรรมการซื้อด้วยเช่นกัน[60]

พฤติกรรมทางนิเวศวิทยา

[แก้]
เด็กหญิงกับลูกแกะในประเทศอิหร่าน (2018)

เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มนุษย์อาศัยอยู่ในระบบนิเวศและมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ พฤติกรรมของมนุษย์ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ และสภาพแวดล้อมก็ได้ผบกระทบจากการอยู่อาศัยของมนุษย์ มนุษย์ยังได้พัฒนาระบบนิเวศของตัวเอง ๆ เช่น ที่อยู่ในเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ลักษณะทางภูมิประเทศและนิเวศวิทยาภูมิทัศน์เป็นตัวกำหนดว่ามนุษย์จะกระจายตัวอยู่ในระบบนิเวศอย่างไร ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือโดยการวางผังเมือง[61]

มนุษย์สามารถควบคุมสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมของตน สามารถฝึกฝนและดูแลสัตว์เลี้ยง สามารถพัฒนาความผูกพันทางอารมณ์กับสัตว์ที่ดูแล สัตว์อาจเลี้ยงไว้ในบ้านเป็นเพื่อน รวมถึงสุนัขและแมวที่ได้เพาะพันธุ์เพื่อเลี้ยงมาแล้วเป็นศตวรรษ ปศุสัตว์เช่นวัว แกะ แพะ และสัตว์ปีก จะเลี้ยงไว้ในพื้นที่เกษตรเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สัตว์ยังเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ทดลอง สัตว์ป่าบางครั้งรักษาไว้ในอุทยานธรรมชาติและสวนสัตว์เพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์[62]

สาเหตุและปัจจัย

[แก้]

พฤติกรรมของมนุษย์ได้รับอิทธิพลจากองค์ประกอบทางชีวภาพและทางวัฒนธรรม การอภิปรายว่าพฤติกรรมมนุษย์โดยมากมาจากความต้องการของมนุษย์แต่ละคน หรือว่ามาจากแรงผลักดันของโครงสร้างภายนอก เป็นประเด็นการศึกษาทางสังคมศาสตร์เรื่อง structure and agency (โครงสร้างหรือผู้กระทำ)[59] ส่วนพันธุศาสตร์เชิงพฤติกรรมศึกษาว่าพฤติกรรมของมนุษย์ได้รับอิทธิพลจากลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (inherited trait) อย่างไร แม้ยีนจะไม่กำหนดอย่างแน่นอนว่าต้องมีพฤติกรรมบางอย่าง แต่ลักษณะบางอย่างก็ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งทำให้บุคคลมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมหรือมีบุคลิกภาพบางอย่างมากขึ้นได้[63]

สภาพแวดล้อมของบุคคลยังอาจมีผลต่อพฤติกรรมโดยมักจะมีร่วมกับปัจจัยทางพันธุกรรม บุคลิกภาพและทัศนคติของบุคคลก็มีผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมด้วย โดยร่วมกันกับปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม[64]

อายุ

[แก้]

วัยทารก

[แก้]
ทารกที่เล่นอยู่ในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย (2015)

ทารกมีความจำกัดในการเข้าใจถึงสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวหลังเพิ่งเกิด ความเข้าใจความคงอยู่ของวัตถุแม้เมื่อไม่รู้ไม่เห็นและการเคลื่อนที่ของวัตถุมักพัฒนาขึ้นภายในหกเดือนแรกของชีวิต แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่สามารถกำหนดกระบวนการทางความรู้คิดโดยเฉพาะ [65]

ความสามารถในการจัดหมวดหมู่แนวคิดและวัตถุต่าง ๆ ที่ตนรู้ก็พัฒนาขึ้นภายในปีแรกเหมือนกัน[66] ทารกสามารถแยกร่างกายของตนเองออกจากสิ่งแวดล้อมได้เร็ว และมักสนใจในแขนขาของตนหรือการกระทำของแขนขาโดยไม่เกินสองเดือน[67]

ทารกฝึกเลียนแบบคนอื่นเพื่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ ๆ ในทารกที่เล็กมาก นี้เป็นการเลียนแบบการแสดงออกสีหน้า ส่วนการเลียนแบบการใช้เครื่องมือจะเกิดภายในปีแรก[68]

การสื่อสารจะพัฒนาขึ้นในช่วงปีแรก โดยทารกจะเริ่มใช้ท่าทางเพื่อสื่อสารเจตนาในช่วง 9–10 เดือน การพูดจะค่อยเป็นค่อยไป โดยเกิดในช่วงปีที่สอง[69]

วัยเด็ก

[แก้]

เด็กจะพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อนไม่นานหลังจากวัยทารกในช่วง 3–6 ขวบ ทำให้สามารถใช้มือ ประสานการใช้ตากับมือ และช่วยเหลือตนเองได้ในขั้นพื้นฐาน[70] เด็กเริ่มแสดงอารมณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นในช่วง 3–6 ขวบ รวมถึงอารมณ์ขัน ความเห็นอกเห็นใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตลอดจนถึงความคิดสร้างสรรค์และการตั้งคำถาม[71] พฤติกรรมก้าวร้าวยังหลากหลายมากขึ้นในวัยนี้ โดยจะก้าวร้าวทางกายยิ่งขึ้นก่อนจะเรียนรู้ให้ความสำคัญกับการเจรจาต่อรองยิ่งกว่าความก้าวร้าว[72] เด็กในวัยนี้สามารถใช้ภาษาโดยมีไวยากรณ์พื้นฐาน[73]

เมื่อเด็กโตขึ้น ก็จะพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์[74] เด็กเล็ก ๆ มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อน ๆ โดยทั่วไปแล้วเป็นเพื่อนเล่นกับเด็กอื่น ๆ ที่มีอายุและเพศเดียวกัน[75] พฤติกรรมจะเน้นการเล่น ซึ่งให้ช่วยให้ได้ฝึกฝนพฤติกรรมทางกาย ทางการรู้คิด และทางสังคม[76] แนวคิดพื้นฐานในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับตนเองจะพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องเพศและชาติพันธุ์[77] เพื่อน ๆ จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมอย่างมากเป็นครั้งแรก[78]

วัยรุ่น

[แก้]

วัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดจากการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวโดยสัมพันธ์กับการการผลิตฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะเพิ่มการแสวงหาความรู้สึกและอารมณ์ใหม่ ๆ เพิ่มความไวต่อความรู้สึกเป็นสุข เพิ่มความก้าวร้าวและการเสี่ยงภัยในวัยรุ่นชาย ส่วนการผลิตเอสตราดิออลก็จะทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงที่คล้ายคลึงกันในวัยรุ่นหญิง ฮอร์โมนใหม่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางอารมณ์ที่เอื้อต่อมิตรภาพที่ใกล้ชิด ต่อแรงจูงใจและเจตนาที่เข้มแข็งขึ้น และต่อเพศวิถีของวัยรุ่น[79]

วัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาก จะพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับตนเองอย่างสมบูรณ์และตัดสินใจได้ด้วยตนเองโดยไม่ขึ้นกับผู้ใหญ่ โดยทั่วไปจะตระหนักถึงบรรทัดฐานทางสังคมและสัญญาณทางสังคมมากกว่าเด็ก ซึ่งเพิ่มความเป็นห่วงว่าคนอื่นจะคิดเห็นอย่างไรกับตน (self-consciousness) และเพิ่มการยึดตนเองเป็นศูนย์ (egocentrism) โดยเป็นตัวนำให้เกิดพฤติกรรมทางสังคมตลอดช่วงวัยรุ่น[80]

วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

[แก้]

สมองมนุษย์ เช่นเดียวกับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ สามารถปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ คือโครงสร้างของสมองเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา เมื่อวิถีประสาทเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมหลายอย่างจะเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในวัยเด็ก[81] พฤติกรรมของมนุษย์ต่างกับพฤติกรรมของสัตว์อื่น ๆ เพราะได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวัฒนธรรมและภาษา การเรียนรู้ทางสังคมช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนาพฤติกรรมใหม่ ๆ โดยทำตามแบบผู้อื่น วัฒนธรรมมีอิทธิพลชี้นำซึ่งกำหนดบรรทัดฐานทางสังคม[82]

สรีรวิทยา

[แก้]

สารสื่อประสาท ฮอร์โมน และเมแทบอลิซึมเป็นปัจจัยทางชีวภาพของพฤติกรรมมนุษย์[8] ความพิการทางร่างกายสามารถขัดขวางไม่ให้บุคคลมีพฤติกรรมทั่ว ๆ ไป หรือต้องใช้พฤติกรรมทางเลือก ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักมีการออกแบบบริการต่าง ๆ ให้คนพิการสามารถเข้าถึงได้รวมถึงการดูแลสุขภาพ เทคโนโลยีช่วยเหลือ และบริการด้านอาชีพ[83] คนที่พิการรุนแรงอาจมีเวลาว่างเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจมีความพึงพอใจเกี่ยวกับคุณภาพเวลาว่างน้อยลง ความพิการรุนแรงมักจะตามด้วยผลผลิตทางเศรษฐกิจและสุขภาพที่แย่ลงในระยะยาว[84]

ความพิการทางจิตคือความพิการที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมทางปัญญาและสังคม ความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อยได้แก่ ความผิดปกติทางอารมณ์ โรควิตกกังวล ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ และการติดสารเสพติด[85]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. Longino 2013, pp. 13–14.
  2. Longino 2013, pp. 7–8.
  3. Longino 2013, p. 2.
  4. Longino 2013, p. 11.
  5. 5.0 5.1 Longino 2013, p. 1.
  6. Longino 2013, p. 8.
  7. Longino 2013, pp. 9–10.
  8. 8.0 8.1 Longino 2013, p. 12.
  9. Boomsma, Dorret; Busjahn, Andreas; Peltonen, Leena (2002). "Classical twin studies and beyond". Nature Reviews Genetics (ภาษาอังกฤษ). 3 (11): 872–882. doi:10.1038/nrg932. ISSN 1471-0064. PMID 12415317. S2CID 9318812.
  10. Levinson, Stephen C.; Enfield, Nicholas J. (2006). Roots of Human Sociality. Routledge. pp. 1–3. doi:10.4324/9781003135517. ISBN 978-1003135517. S2CID 150799476.
  11. Duck 2007, pp. 1–5.
  12. 12.0 12.1 Duck 2007, pp. 10–14.
  13. Young, H. Peyton (2015-08-01). "The Evolution of Social Norms". Annual Review of Economics (ภาษาอังกฤษ). 7 (1): 359–387. doi:10.1146/annurev-economics-080614-115322. ISSN 1941-1383.
  14. Ayala, Francisco J. (2010-05-11). "The difference of being human: Morality". Proceedings of the National Academy of Sciences (ภาษาอังกฤษ). 107 (supplement_2): 9015–9022. doi:10.1073/pnas.0914616107. ISSN 0027-8424. PMC 3024030. PMID 20445091.
  15. Goode 2015, pp. 3–4.
  16. Goode 2015, p. 7.
  17. Goode 2015, p. 5.
  18. Goode 2015, p. 6.
  19. Duck 2007, p. 107.
  20. Argyle, Michael; Lu, Luo (1990-01-01). "The happiness of extraverts". Personality and Individual Differences. 11 (10): 1011–1017. doi:10.1016/0191-8869(90)90128-E. ISSN 0191-8869.
  21. Duck 2007, pp. 56–60.
  22. Duck 2007, pp. 121–125.
  23. Geary, David C.; Flinn, Mark V. (2001). "Evolution of Human Parental Behavior and the Human Family". Parenting (ภาษาอังกฤษ). 1 (1–2): 5–61. doi:10.1080/15295192.2001.9681209. ISSN 1529-5192. S2CID 15440367.
  24. Alford, John R.; Hibbing, John R. (2004). "The Origin of Politics: An Evolutionary Theory of Political Behavior". Perspectives on Politics (ภาษาอังกฤษ). 2 (4): 707–723. doi:10.1017/S1537592704040460. ISSN 1541-0986. S2CID 8341131. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-03. สืบค้นเมื่อ 2022-08-15.
  25. Barki, Henri; Hartwick, Jon (2004-03-01). "Conceptualizing the Construct of Interpersonal Conflict". International Journal of Conflict Management (ภาษาอังกฤษ). 15 (3): 216–244. doi:10.1108/eb022913. ISSN 1044-4068. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-14.
  26. Mitchell, Christopher R. (2005). "Conflict, Social Change and Conflict Resolution. An Enquiry.". Berghof Handbook for Conflict Transformation. Berghof Foundation.
  27. Tomasello, Michael; Rakoczy, Hannes (2003). "What Makes Human Cognition Unique? From Individual to Shared to Collective Intentionality". Mind and Language (ภาษาอังกฤษ). 18 (2): 121–147. doi:10.1111/1468-0017.00217. ISSN 0268-1064. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-12. สืบค้นเมื่อ 2022-08-12.
  28. 28.0 28.1 Colagè, Ivan; d'Errico, Francesco (2020). "Culture: The Driving Force of Human Cognition". Topics in Cognitive Science (ภาษาอังกฤษ). 12 (2): 654–672. doi:10.1111/tops.12372. ISSN 1756-8757. PMID 30033618. S2CID 51706960.
  29. Wood, Wendy; Rünger, Dennis (2016-01-04). "Psychology of Habit". Annual Review of Psychology (ภาษาอังกฤษ). 67 (1): 289–314. doi:10.1146/annurev-psych-122414-033417. ISSN 0066-4308. PMID 26361052. S2CID 8821136.
  30. Evans, Jonathan St.B. T.; Newstead, Stephen E.; Byrne, Ruth M. J. (2019). "Introduction". Human Reasoning: The Psychology of Deduction. Taylor & Francis. ISBN 978-1317716266.
  31. Evans 2003, pp. 1–21.
  32. Evans 2003, pp. 47–.
  33. Runco, Mark A. (2018). Sternberg, Robert J.; Kaufman, James C. (บ.ก.). The Nature of Human Creativity. Cambridge University Press. pp. 246–263. doi:10.1017/9781108185936.018. ISBN 978-1108185936.
  34. Simon, Herbert A. (2001). "Creativity in the Arts and the Sciences". The Kenyon Review. 23 (2): 203–220. ISSN 0163-075X. JSTOR 4338222. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-14. สืบค้นเมื่อ 2022-08-14.
  35. Sosis, Richard; Alcorta, Candace (2003-11-24). "Signaling, solidarity, and the sacred: The evolution of religious behavior". Evolutionary Anthropology: Issues, News, and Reviews (ภาษาอังกฤษ). 12 (6): 264–274. doi:10.1002/evan.10120. S2CID 443130. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-14. สืบค้นเมื่อ 2022-08-14.
  36. Cornwall, Marie (1989). "The Determinants of Religious Behavior: A Theoretical Model and Empirical Test". Social Forces. 68 (2): 572–592. doi:10.2307/2579261. JSTOR 2579261. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-03. สืบค้นเมื่อ 2022-08-14.
  37. "'How religious commitment varies by country among people of all ages". Pew Forum on Religion & Public Life. 2018-06-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-27. สืบค้นเมื่อ 2019-03-09.
  38. Mann, Jim; Truswell, A. Stewart, บ.ก. (2012). Essentials of Human Nutrition (4th ed.). Oxford: Oxford University Press. p. 1. ISBN 978-0199566341.
  39. Jewitt, Sarah (2011). "Geographies of shit: Spatial and temporal variations in attitudes towards human waste". Progress in Human Geography (ภาษาอังกฤษ). 35 (5): 608–626. doi:10.1177/0309132510394704. ISSN 0309-1325. S2CID 129647616. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-06. สืบค้นเมื่อ 2022-08-11.
  40. Gillberg, M. (1997). "Human sleep/wake regulation". Acta Anaesthesiologica Scandinavica. Supplementum. 110: 8–10. doi:10.1111/j.1399-6576.1997.tb05482.x. ISSN 0515-2720. PMID 9248514. S2CID 9354406. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-11. สืบค้นเมื่อ 2022-08-11.
  41. McKeown, Thomas (1980). The Role of Medicine. Princeton University Press. p. 78. ISBN 978-1400854622.
  42. Vina, J.; Sanchis-Gomar, F.; Martinez-Bello, V.; Gomez-Cabrera, M.C. (2012). "Exercise acts as a drug; the pharmacological benefits of exercise: Exercise acts as a drug". British Journal of Pharmacology (ภาษาอังกฤษ). 167 (1): 1–12. doi:10.1111/j.1476-5381.2012.01970.x. PMC 3448908. PMID 22486393.
  43. Curtis, Valerie A. (2007). "A Natural History of Hygiene". Canadian Journal of Infectious Diseases and Medical Microbiology (ภาษาอังกฤษ). 18 (1): 11–14. doi:10.1155/2007/749190. ISSN 1712-9532. PMC 2542893. PMID 18923689.
  44. Baggott, L. M. (1997). Human Reproduction (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. p. 5. ISBN 978-0521469142.
  45. Newson, Lesley (2013). "Cultural Evolution and Human Reproductive Behavior". ใน Clancy, Kathryn B. H.; Hinde, Katie; Rutherford, Julienne N. (บ.ก.). Building Babies: Primate Development in Proximate and Ultimate Perspective. New York: Springer. p. 487. ISBN 978-1461440604. OCLC 809201501.
  46. Jones, Richard E.; Lopez, Kristin H. (2013). Human Reproductive Biology (ภาษาอังกฤษ). Academic Press. p. 63. ISBN 978-0123821850.
  47. Inman, Verne T. (1966-05-14). "Human Locomotion". Canadian Medical Association Journal. 94 (20): 1047–1054. ISSN 0008-4409. PMC 1935424. PMID 5942660.
  48. Carrier, David R.; Kapoor, A. K.; Kimura, Tasuku; Nickels, Martin K.; Scott, Eugenie C.; So, Joseph K.; Trinkaus, Erik (1984-08-01). "The Energetic Paradox of Human Running and Hominid Evolution [and Comments and Reply]". Current Anthropology. 25 (4): 483–495. doi:10.1086/203165. ISSN 0011-3204. S2CID 15432016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-25. สืบค้นเมื่อ 2022-08-23.
  49. Wells, Richard; Greig, Michael (2001-12-01). "Characterizing human hand prehensile strength by force and moment wrench". Ergonomics. 44 (15): 1392–1402. doi:10.1080/00140130110109702. ISSN 0014-0139. PMID 11936830. S2CID 10935674. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-25. สืบค้นเมื่อ 2022-08-23.
  50. Santos, Laurie R; Hughes, Kelly D (2009-02-01). "Economic cognition in humans and animals: the search for core mechanisms". Current Opinion in Neurobiology. Cognitive neuroscience (ภาษาอังกฤษ). 19 (1): 63–66. doi:10.1016/j.conb.2009.05.005. ISSN 0959-4388. PMID 19541475. S2CID 21443957.
  51. 51.0 51.1 Neff 1985, pp. 24–33.
  52. Neff 1985, pp. 41–46.
  53. Neff 1985, p. 2.
  54. Neff 1985, pp. 142–153.
  55. Neff 1985, pp. 79–80.
  56. 56.0 56.1 56.2 Stebbins, Robert A. (2001-01-01). "The costs and benefits of hedonism: some consequences of taking casual leisure seriously". Leisure Studies. 20 (4): 305–309. doi:10.1080/02614360110086561. ISSN 0261-4367. S2CID 145273350. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-25. สืบค้นเมื่อ 2022-08-14.
  57. Caldwell, Linda L. (2005-02-01). "Leisure and health: why is leisure therapeutic?". British Journal of Guidance & Counselling. 33 (1): 7–26. doi:10.1080/03069880412331335939. ISSN 0306-9885. S2CID 144193642.
  58. 58.0 58.1 Stebbins, Robert A. (2001). "Serious Leisure". Society. 38 (4): 53–57. doi:10.1007/s12115-001-1023-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-25. สืบค้นเมื่อ 2022-08-14.
  59. 59.0 59.1 de Vries, Jan (2008). The Industrious Revolution: Consumer Behavior and the Household Economy, 1650 to the Present. Cambridge University Press. pp. 4–7. ISBN 978-0511409936.
  60. Gajjar, Nilesh B. (2013). "Factors Affecting Consumer Behavior". International Journal of Research in Health Science. 1 (2): 10–15. ISSN 2320-771X.
  61. Steiner, F. (2008). "Human Ecology: Overview". ใน Jørgensen, Sven Erik; Fath, Brian D. (บ.ก.). Encyclopedia of Ecology. Elsevier. pp. 1898–1906. doi:10.1016/B978-008045405-4.00626-1. ISBN 978-0080454054. OCLC 256490644.
  62. Hosey, Geoff; Melfi, Vicky (2014). "Human-animal interactions, relationships and bonds: a review and analysis of the literature". International Journal of Comparative Psychology (ภาษาอังกฤษ). 27 (1). ISSN 0889-3675.
  63. Plomin, Robert; DeFries, John C.; McClearn, Gerald E. (2008). "Overview". Behavioral Genetics (5th ed.). Worth Publishers. pp. 1–4. ISBN 978-1429205771.
  64. Beauchaine, T. P.; Hinshaw, S. P.; Gatzke-Kopp, L. (2008). "Genetic and Environmental Influences on Behavior". Child and Adolescent Psychopathology. Wiley. pp. 58–90. ISBN 978-0470007440.
  65. Bremner & Wachs 2010, pp. 234–235.
  66. Bremner & Wachs 2010, pp. 264–265.
  67. Bremner & Wachs 2010, pp. 337–340.
  68. Bremner & Wachs 2010, pp. 346–347.
  69. Bremner & Wachs 2010, pp. 398–399.
  70. Woody & Woody 2019, pp. 259–260.
  71. Woody & Woody 2019, p. 263.
  72. Woody & Woody 2019, p. 279.
  73. Woody & Woody 2019, pp. 268–269.
  74. Charlesworth 2019, p. 346.
  75. Woody & Woody 2019, p. 281.
  76. Woody & Woody 2019, p. 290.
  77. Charlesworth 2019, p. 343.
  78. Charlesworth 2019, p. 353.
  79. Peper, Jiska S.; Dahl, Ronald E. (2013). "The Teenage Brain: Surging Hormones – Brain-Behavior Interactions During Puberty". Current Directions in Psychological Science (ภาษาอังกฤษ). 22 (2): 134–139. doi:10.1177/0963721412473755. ISSN 0963-7214. PMC 4539143. PMID 26290625.
  80. Choudhury, Suparna; Blakemore, Sarah-Jayne; Charman, Tony (2006). "Social cognitive development during adolescence". Social Cognitive and Affective Neuroscience. 1 (3): 165–174. doi:10.1093/scan/nsl024. PMC 2555426. PMID 18985103.
  81. Van Schaik 2016, Chapter 2.4.
  82. Van Schaik 2016, Chapter 3.1.
  83. Lutz, Barbara J.; Bowers, Barbara J. (2005). "Disability in Everyday Life". Qualitative Health Research (ภาษาอังกฤษ). 15 (8): 1037–1054. doi:10.1177/1049732305278631. ISSN 1049-7323. PMID 16221878. S2CID 24307046.
  84. Powdthavee, Nattavudh (2009-12-01). "What happens to people before and after disability? Focusing effects, lead effects, and adaptation in different areas of life". Social Science & Medicine. Part Special Issue: New approaches to researching patient safety (ภาษาอังกฤษ). 69 (12): 1834–1844. doi:10.1016/j.socscimed.2009.09.023. ISSN 0277-9536. PMID 19833424.
  85. Krueger, Robert F. (1999-10-01). "The Structure of Common Mental Disorders". Archives of General Psychiatry (ภาษาอังกฤษ). 56 (10): 921–926. doi:10.1001/archpsyc.56.10.921. ISSN 0003-990X. PMID 10530634.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]