พระโสภณวิสุทธิคุณ (บุญเพ็ง กปฺปโก)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระโสภณวิสุทธิคุณ

(บุญเพ็ง กปฺปโก)
พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก)
คำนำหน้าชื่อพระเดชพระคุณ
ชื่ออื่นหลวงปู่บุญเพ็ง
ส่วนบุคคล
เกิด23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 (88 ปี ปี)
มรณภาพ17 ธันวาคม พ.ศ. 2560
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดป่าวิเวกธรรม จังหวัดขอนแก่น
อุปสมบท3 พฤษภาคม พ.ศ. 2492
พรรษา69
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรม

พระโสภณวิสุทธิคุณ นามเดิม บุญเพ็ง เหล่าหงษา ฉายา กฺปปโก เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย พระกรรมฐานสายพระป่าในประเทศไทยของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรม

หลวงปู่บุญเพ็งเป็นที่รู้จักในฐานะพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานผู้มีศีลาจารวัตรอันงดงาม และเป็นพระนักเทศนาโวหารผู้มีปฏิภาณไหวพริบดี เทศนาอบรมจิตภาวนาวิปัสสนากรรมฐาน นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระนักพัฒนารับอุปการะการสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะของวัดต่างๆ บำเพ็ญคุณูปการแก่คณะสงฆ์และเมตตาเกื้อกูลแก่สังคมและประเทศชาติ

ชาติกำเนิด[แก้]

พระโสภณวิสุทธิคุณ เดิมมีชื่อว่า บุญเพ็ง เหล่าหงษา เกิดในวันมาฆบูชา หรือ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 (นับแบบใหม่) ที่บ้านบัวบาน ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม บิดาชื่อนายเอี่ยม เหล่าหงษา มารดาชื่อนางคง เหล่าหงษา มีพี่น้องทั้งหมดรวม 7 คน

...พ่อแม่ท่านเล่าให้ฟังว่า เกิดวันมาฆบูชา วันเพ็ญ เดือน 3 ประมาณตี 5 เศษๆ ท่านจึงตั้งชื่อให้ตามวันเกิดว่า "บุญเพ็ง" วันเพ็ญนี้ คนอีสานเรียกว่า วันเพ็ง เราถือเอาวันมาฆบูชาเป็นวันเกิด...

— พระโสภณวิสุทธิคุณ (บุญเพ็ง กปฺปโก)

อุปสมบท[แก้]

เมื่อท่านอายุ 21 ปี ได้อุปสมบทในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ณ วัดศรีจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระพิศาลสารคุณ (อินทร์ ถิรเสวี) ต่อมาคือ พระเทพบัณฑิต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูคัมภีรนิเทศเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสุพจน์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยได้ฉายา "กปฺปโก" แปลว่า "ผู้สำเร็จ"

ศึกษาธรรม[แก้]

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ออกศึกษาพระกรรมฐานจากพ่อแม่ครูอาจารย์ อาทิ พระญาณสิทธาจารย์ (สิม พุทฺธาจาโร) , หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม , หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นต้น

หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก - หลวงปู่สิม พุทฺธจาโร - พระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป
  • พ.ศ. 2505 จำพรรษา ณ วัดแพะ อ.เถิน จ.ลำปาง
  • พ.ศ. 2507 จำพรรษา ณ วัดป่าคีรีวัน (คำหวายยาง) อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น
    หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และ หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก
  • พ.ศ. 2510 ได้รับอาราธนาให้จำพรรษาและอบรมธรรมปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
  • พ.ศ. 2530 ได้รับอาราธนาให้จำพรรษาและอบรมธรรมปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ณ วัดพุทธรังษี เมืองสแตนมอร์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก ยังได้รับความเมตตาจากหลวงตา พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) ซึ่งท่านให้ความสนิทสนมและไปมาหาสู่กันเป็นประจำ

นอกจากนี้ หลวงปู่ยังมีสหธรรมิกที่สนิทสนมกันหลายรูป เช่น พระราชญาณวิสุทธิโสภณ (ท่อน ญาณธโร) พระครูวิสุทธิธรรมสุนทร (บุญเกิด ยุตฺตธมฺโม) พระพิศาลสารคุณ (หลวงปู่ปรีชา สุปัญโญ) พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ) พระธรรมเจติยาจารย์ (หลวงพ่อบุญเรือง ปุญญโชโต) เป็นต้น

มรณภาพ[แก้]

หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก อาพาธมาเป็นระยะๆ ด้วยโรคปอดอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เบาหวานและความดันโลหิตสูง คณะแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้ถวายการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 เริ่มอาพาธหนัก โดยมีอาการปอดอักเสบ สำลักอาหารและของเหลว แต่หลวงปู่ได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า ไม่ประสงค์ที่จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดๆ ต้องการพักรักษาอยู่ที่วัด โรงพยาบาลขอนแก่นจึงจัดเตรียมห้องปลอดเชื้อภายในกุฏิวิเวกวัฒนาทร และจัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตลอดทั้งบุรุษพยาบาลและเครื่องมือทางการแพทย์ถวายการรักษาตามปฏิปทาของหลวงปู่ จนเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ตรงกับวันพระ แรม 14 ค่ำ เดือน 1 หลวงปู่ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ ในเวลา 15.39 น. สิริอายุ 88 ปี 10 เดือน พรรษา 69

สมณศักดิ์[แก้]

ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้

  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูวิเวกวัฒนาทร [1]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระโสภณวิสุทธิคุณ [2]

สาธารณสงเคราะห์[แก้]

หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก เป็นพระเถระกอปรด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม รับภารธุระในพระพุทธศาสนา ด้วยการบำเพ็ญคุณูปการแก่คณะสงฆ์ และเมตตาเกื้อกูลแก่สังคมและประเทศชาติ พอสรุปได้ดังนี้

พระมหาเจดีย์บูรพาจารย์ ณ วัดป่าวิเวกธรรม(เหล่างา) จ.ขอนแก่น

ด้านการพระศาสนา[แก้]

หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก ได้อุปการะการสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดป่าวิเวกธรรม เช่น พระอุโบสถวัดป่าวิเวกธรรม ศาลาขันตยาคมานุสรณ์ (เพื่อเป็นอนุสรณ์บูชาคุณ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) เจ้าอาวาสรูปแรก แม่ทัพธรรมพระกรรมฐาน ลูกศิษย์ต้นของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) ศาลา 82 ปี พระมหาเจดีย์บูรพาจารย์ กุฎิ เมรุ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้อุปการะการสร้างและปฏิบติสังขรณ์เสนาสนะให้แก่วัดต่างๆเช่น สร้างโบสถ์วัดกู่ทอง จ.มหาสารคาม สร้างศาลาการเปรียญวัดเทพนิมิต จ.มหาสารคาม สร้างเจดีย์และบูรณะเสนาสนะวัดป่าคีรีวัน จ.ขอนแก่น สร้างสถานปฏิบัติธรรมมัชฌิมชนบท จ.ขอนแก่น เป็นต้น

ท่านเป็นพระนักปฏิบัติพระกรรมฐานที่มีศีลาจารวัตรอันงดงาม เทศนาธรรมอบรมกรรมฐานแก่พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา เช่น รับเป็นธุระเทศนาอบรมที่ วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร จ.กรุงเทพฯ ศาลาห้าแยกวัชรพล หรือรับกิจนิมนต์ไปเทศนาอบรมตามสถานที่ต่างๆทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น แม้อายุกาลพรรษาล่วงเข้าสู่วัยชราภาพ หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก ก็ยังเมตตาต่อศิษยานุศิษย์นำปฏิบัติกรรมฐานนั่งสมาธิภาวนาที่วัดป่าวิเวกธรรมเป็นประจำทุกวัน

นอกจากนี้ ยังได้จัดพิมพ์หนังสือธรรมะแนวปฏิบัติตามธรรมเทศนาอบรมสั่งสอนของท่านเป็นจำนวนมาก เช่น มรณานุสติ พุทธาภิเษกตนเอง ท่ามกลางโลกธรรม ตั้งต้นปฏิบัติ อบรมจิตภาวนา เป็นต้น และยังได้ผลิตสื่อการเทศนาอบรมสั่งสอนของท่านเป็นเทป แผ่นซีดี และเผยแผ่ในสื่อออนไลน์ เพื่อแจกเป็นธรรมทานอีกด้วย

ครูบาอาจารย์บันทึกภาพร่วมกัน ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 มกราคม พุทธศักราช 2535

ด้านการศึกษา[แก้]

ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา โดยการก่อสร้าง อาคาร 80 ปี หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก มอบให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน จ.ขอนแก่น บริจาครถโดยสารขนาด 40 ที่นั่งเพื่อรับส่งพระภิกษุสามเณรและใช้ในกิจการของมหาวิทยาลัย บริจาคสมทบทุนในมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้น 15 ห้อง มอบให้โรงเรียนวัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น บริจาคตั้งมูลนิธิพระครูวิเวกวัฒนาทร (บุญเพ็ง กัปปโก) เพื่อบำรุงศาสนศึกษาและส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาในจังหวัดขอนแก่น

นอกจากนี้ ท่านยังได้อุปถัมภ์การก่อสร้างอาคารเรียน รั้วโรงเรียน พร้อมทั้งบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์และโสตทัศนูปกรณ์ให้แก่โรงเรียนบ้านโจดบัวบาน จ.มหาสารคาม จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องขยายเสียงให้แก่เรือนจำจังหวัดขอนแก่น

ด้านการสาธารณสุข[แก้]

ท่านได้อุปถัมภ์การก่อสร้าง อาคารรังสีรักษา หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก โรงพยาบาลขอนแก่น และจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลขอนแก่น เช่น เครื่องฟอกไตเทียม เครื่องเอกซเรย์ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องวัดคลื่นหัวใจ เครื่องวัดสัญญาณชีพ เครืองผลิตน้ำบริสุทธิ์ เตียงคนไข้ เตียงผ่าตัด อุปกรณ์ผ่าตัด รถพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มอบอุปกรณ์การแพทย์และบริจาคสมทบทุนให้แก่โรงพยาบาลต่างๆอีกด้วย เช่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และ โรงพยาบาลเชียงยืน เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  • จงดี ภิรมย์ไชย. ธรรมประวัติ หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก. ขอนแก่น : หจก.โรงพิมพ์คลังนานาธรรม, 2558. 292 หน้า.
  • จงดี ภิรมย์ไชย. ประวัติวัดป่าวิเวกธรรม (เหล่างา). ขอนแก่น : หจก.โรงพิมพ์คลังนานาธรรม, 2557. 75 หน้า.
  • วัดป่าวิเวกธรรม. แปดสิบหกปี หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก. ขอนแก่น : หจก.ขอนแก่นการพิมพ์, 2557. 198 หน้า.
  • คณะศิษยานุศิษย์. วัดป่าวิเวกธรรม (เหล่างา). ขอนแก่น : หจก.ขอนแก่นการพิมพ์, 2556. 111 หน้า.
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 98, ตอนที่ 206, วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2524, หน้า 15
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 125, ตอนที่ 3 ข, 11 มกราคม 2551, หน้า 8