พระแม่มารีแห่งพาร์โต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระแม่มารีแห่งพาร์โต
ศิลปินเปียโร เดลลา ฟรานเชสกา
ปีหลังปี ค.ศ. 1457
ประเภทจิตรกรรมฝาผนังที่ร่อนจากผนัง
สถานที่พิพิธภัณฑ์มาดอนนาเดลพาร์โต, มอนเตร์ชิ

พระแม่มารีแห่งพาร์โต (ภาษาอิตาลี: Madonna del Parto) เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนโดยเปียโร เดลลา ฟรานเชสกา จิตรกรสมัยสมัยเรอเนซองส์คนสำคัญชาวอิตาลี ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์มาดอนนาเดลพาร์โตที่มอนเตร์ชิในประเทศอิตาลี

“พระแม่มารีแห่งพาร์โต” เป็นงานที่เขียนหลังปี ค.ศ. 1457 เปียโรใช้เวลาเขียนเพียงเจ็ดวัน ใช้สีที่มีคุณภาพดีและส่วนใหญ่เป็นสี “blu oltremare” ซึ่งทำจากหินลาพิส ลาซูริ (lapis lazuli) ซึ่งเป็นหินสีน้ำเงินที่มีค่าที่ใช้กันในยุคกลางที่มาจาก ประเทศอัฟกานิสถานผ่านทางสาธารณรัฐเวนิส

จิตรกรรมเดิมอยู่บนผนังของวัดซานตามาเรีย ดิ โมเมนตานาซึ่งเป็นวัดเล็กๆ ที่เมืองมอนเตร์ชิบนเขา แต่วัดมาถูกทำลายเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 1785 ซึ่งทำให้ต้องเลาะงานเขียนออกจากผนังและนำไปตั้งเหนือแท่นบูชาเอกภายในชาเปลใหม่ในสุสาน ในปี ค.ศ. 1992 ภาพเขียนก็ถูกย้ายไปตั้งที่พิพิธภัณฑ์มาดอนนาเดลพาร์โตที่มอนเตร์ชิ งานนี้เพิ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นงานของเปียโร เดลลา ฟรานเชสกาในปี ค.ศ. 1889 แต่เวลาที่เขียนยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ซึ่งประมาณว่าอาจจะระหว่างปี ค.ศ. 1450 ถึงปี ค.ศ. 1475 จอร์โจ วาซารีจิตรกรและนักประพันธ์จากคริสต์ศตวรรษที่ 16 บ่งว่าเขียนเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1459 เมื่อเปียโตรกลับไปซานเซพอลโครในโอกาสที่แม่เสียชีวิต

ภาพเขียนนี้มีบทบาทสำคัญในนวนิยายของริชาร์ด เฮเยอร์ “Visus”, ในภาพยนตร์โดยอันเดร ทาร์คอฟสกี “Nostalghia” และโคลง “ซานเซพอลโคร” โดย โจรี แกรม

ความหมาย[แก้]

ภาพพระแม่มารีทรงครรภ์เป็นหัวเรื่องหนึ่งในชีวิตของพระแม่มารีที่นิยมเขียนกันในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในทัสเคนี เช่นงานเขียนของแทดดิโอ แกดดี (Taddeo Gaddi), เบอร์นาร์โด แดดดี (Bernardo Daddi) และ นาร์โด ดิ ชิโอเน (Nardo di Cione) ที่จะเป็นพระแม่มารีในรูปที่ทรงยืนอยู่คนเดียวโดยมีหนังสืออยู่เหนือพระครรภ์ซึ่งเปรียบเหมือนโลก

แต่พระแม่มารีของเปียโรไม่มีทั้งหนังสือและสิ่งใดที่เป็นสัญลักษณ์เช่นภาพเขียนในหัวเรื่องเดียวกันที่เขียนกันก่อนหน้านั้นในยุคกลาง ในภาพของเปียโรพระแม่มารีทรงยืนมีพระหัตถ์ซ้ายเท้าสะเอวพระหัตถ์ขวาอยู่บนพระครรภ์เป็นทำนองพยุง สองข้างกระหนาบด้วยเทวดาที่เบิกม่านของศาลาที่ภายในตกแต่งด้วยผลทับทิมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทุกขกิริยาของพระเยซูที่จะมาถึง เทวดาสององค์สองข้างเหมือนกันเพียงแต่กลับข้างกัน เพราะจิตรกรใช้ร่างเดียวกันปรุผนังก่อนวาด ส่วนบนของภาพสูญหายไป

สัญลักษณ์ทางคริสต์ศาสนวิทยาค่อนข้างจะซับซ้อน มอริซิโอ คาลเวซิ[1] เสนอว่าอาจเป็นสัญลักษณะของ “หีบพันธสัญญา” (Ark of the Covenant) โดยมีพระแม่มารีเป็นผู้ประสานเพราะเป็นพระมารดาของพระเยซู ส่วนนักวิชาการผู้อื่นสันนิษฐานว่าศาลาเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนจักรและพระแม่มารีคือสัญลักษณ์ของ “แท่นบูชา” (Tabernacle) เพราะทรงเป็นผู้แบกร่างของพระเยซูก็เป็นได้

อ้างอิง[แก้]

  1. มอริซิโอ คาลเวซิ, “Art e Dossier”, 1989
  • Longhi, Roberto (1927). Piero della Francesca. Rome.
  • Calvesi, Maurizio (March 1989). "Nel grembo dell'Arca". Art e Dossier (33).
  • Renzi, Giulio (1994). Gli affreschi di Piero della Francesca ad Arezzo e Monterchi: luogo teologico mariano. Poggibonsi.
  • Zapperi Walter, Ingeborg (1992). Piero della Francesca, Madonna del parto: ein Kunstwerk zwischen Politik und Devotion. Frankfurt.

ดูเพิ่ม[แก้]