พระเทพมงคลวชิรรังษี (สุรศักดิ์ ชีวานนฺโท)
พระเทพมงคลวชิรรังษี (สุรศักดิ์ ชีวานนฺโท) | |
---|---|
ชื่ออื่น | หลวงตาชีวานันโท |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 9 มิถุนายน พ.ศ.2468 (99 ปี) |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | น.ธ.เอก ป.ธ.4 พธ.ด.(กิตติมศักดิ์) สาขาครุศาสตร์ |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐ |
อุปสมบท | 16 มีนาคม พ.ศ.2488 |
พรรษา | 79 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา |
พระเทพมงคลวชิรรังษี นามเดิม สุรศักดิ์ ธรรมรัตน์ ฉายา ชีวานนฺโท[1]เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.[2] รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐ และที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา[3]พระธรรมฑูตไทยในต่างประเทศที่มีสังกัดวัดในประเทศไทย วัดวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร [4]ปัจจุบันปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตอยู่ที่วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐ
ชาติภูมิ
[แก้]พระเทพมงคลวชิรรังษี (สุรศักดิ์ ชีวานนฺโท)[5] เดิมชื่อว่า สุรศักดิ์ ธรรมรัตน์ (สกุลเดิม สุขรี่) เกิดเมื่อวันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2468 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 7 ปีฉลู ภูมิลำเนาเดิม บ้านโพนงาม ตำบลบ้านค้อ อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองท้องที่เป็นอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร โยมบิดาชื่อนายจันทร์ โยมมารดาชื่อนางมุน นามสกุล สุขรี่ มีอาชีพทำนา มีพี่น้อง 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4
การบรรพชาและอุปสมบท
[แก้]บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2482 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วิสาขบูชา) ณ วัดโพธิ์ไทร บ้านโพนงาม อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองท้องที่ให้อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร โดยมีพระอธิการหงษ์ สิทฺธโร เป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุโบสถวัดโพธิ์ศรีแก้ว บ้านคำชะอี กิ่งอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองท้องที่ให้อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2488 โดยมีเจ้าอธิการลุน เขมิโย เจ้าคณะตำบลคำชะอี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระลำแก้ว ญาณวโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระเพ็ง สุรกฺขิโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์มีเมตตาตั้งนามฉายาทางธรรมให้ว่า ชีวานนฺโท
ช่วงที่เป็นสามเณร 6 ปีนั้น ท่านเล่าเรียนหนังสือตามแบบและวิธีการแบบโบราณ ที่เรียกว่าต่อหนังสือ ถ้าหัวดี จำไวก็ไปเร็ว ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้เป็นของสามเณรน้อยรูปนี้อยู่แล้ว ประมาณ 56 เดือน ก็สามารถอ่านหนังสือธรรมได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว มีความรู้ความเข้าใจในหนังสือธรรมเป็นอย่างดี นอกจากจะอ่านได้ดีแล้ว ยังเขียนได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
ตามประวัตินั้น นอกจากเก่งด้านการอ่านหนังสือแล้ว ยังต่อสวดมนต์ได้ทั้งหมด จนพระอาจารย์ไม่มีอะไรจะต่อให้ ข้อพิเศษที่สุดก็คือ สามเณรสุรศักดิ์เรียนต่อสวดพระปาติโมกข์จบภายใน 17 วัน เป็นที่อัศจรรย์แก่บรรดาพระเณรทั้งหลาย เพราะไม่เคยมีพระเณรรูปไหนทำได้มาก่อนเช่นนี้
ในปี พ.ศ. 2486 ไปเรียนนักธรรมที่สำนักวัดโพธิ์ศรีแก้ว สอบนักธรรมชั้นตรีได้และได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของนักเรียนทั้งหมด และในปีการศึกษา 2487 สอบนักธรรมชั้นโทได้ ไม่ได้เรียนนักธรรมชั้นเอกต่อ เพราะไม่มีครูสอน แต่ต้องเป็นครูสอนนักธรรมตรีช่วยสำนักเรียน
หลังจากอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. 2488 ได้เดินทางมาอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เพื่อศึกษาต่อ ใช้เวลา 45 ปี สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค
วัดมหาธาตุ คือ สำนักตักสิลา แต่ท่านก็ไม่มีโอกาสตักตวงมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่มีความปรารถนา เพราะพระอุปัชฌาย์ขอร้องให้กลับสำนักเดิม เพื่อช่วยงานคณะสงฆ์ใน กิ่งอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ที่ขาดผู้มีความรู้ช่วยงาน ในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอที่ท่านดำรงอยู่
กลับสู่มาตุภูมิ
[แก้]ดังนั้น ในกลางปี พ.ศ. 2494 พระมหาสุรศักดิ์จึงกลับสำนักเดิม วัดโพธิ์ศรีแก้ว พระมหาสุรศักดิ์กลายเป็นพระมหาเปรียญรูปแรกในเขตอำเภอนี้ เพราะไม่เคยมีมาก่อน
ในเวลานั้นคณะสงฆ์ไทยบริหารตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2488 โดยแบ่งการปกครองเป็น 4 องค์การ คือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ พระมหาสุรศักดิ์ที่เดินทางมาจากส่วนกลางต้องช่วยงานทุกองค์การ เพื่อให้งานคณะสงฆ์ งานพระศาสนาดำเนินไปด้วยดี
นอกจากงานในตำแหน่งต่างๆ แล้ว ก็ต้องทำหน้าที่เป็นครูสอนนักธรรมประจำสำนักเรียนวัดโพธิ์ศรีแก้ว ตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท นักธรรมชั้นเอก และธรรมศึกษา สำหรับคฤหัสถ์ผู้สนใจเรียนรู้ด้วย
ในงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็มีผลงานที่น่าพอใจ มีคนสนใจเข้าวัดปฏิบัติและฟังธรรมมากเป็นประวัติการณ์ นับว่าเป็นยุคทองของพระศาสนาก็ว่าได้
ในการเจริญสมาธิภาวนา พระมหาสุรศักดิ์นอกจากเรียนด้วยตนเองเมื่ออยู่วัดมหาธาตุ ก็ได้เรียนจากพระอาจารย์ภัททันตะ วิลาสเถระ วัดดอน ยานนาวา จากหลวงพ่อสด พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และจากพระอาจารย์สุข (พระภาวนาภิรามเถระ) วัดระฆังฯ และได้ศึกษาพระอภิธรรม จบ 9 ปริเฉท
ดังนั้น เมื่อกลับขึ้นมาประจำที่กิ่งอำเภอคำชะอี จึงส่งเสริมให้พระเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชาชนชาวบ้านทั่วไป ให้สนใจในการเจริญสมาธิภาวนา ซึ่งเป็นนโยบายของหลวงพ่อพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองในขณะนั้น
ปี พ.ศ. 2507 พระมหาสุรศักดิ์ได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่สำนักวิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติวิปัสสนาโดยเฉพาะ มีพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ เป็นพระวิปัสสนาจารย์ เรียนช่ำชองแล้ว พระอาจารย์ให้ศึกษาวิชาครูเพื่อเรียนรู้วิธีสอน วิธีสอบอารมณ์ต่อไป ท่านเรียนจนมีความรู้ความเข้าใจแนวการสอนและการสอบอารมณ์ ตลอดการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโยคีผู้ปฏิบัติ
ต่อมาปี พ.ศ. 2509 ทางสำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มาขอนิมนต์พระวิปัสสนาจารย์ไปสอนที่นั่น พระอาจารย์ภัททันตะจึงส่งพระมหาสุรศักดิ์ไปประจำสำนักวัดเขาแก้ว โดยไปฝากตัวเป็นศิษย์เจ้าอาวาส คือ หลวงพ่อกัน พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในช่วงนั้น
อยู่วัดเขาแก้ว 23 ปี ก็มีเหตุให้ต้องกลับไปช่วยงานท่านพระอาจารย์ภัททันตะ ที่วิเวกอาศรมอีก 2 ปี จากนั้นได้รับนิมนต์จากท่านพระครูวชิรธรรมโสภณ (หลวงพ่อศรีนวล) วัดวชิรธรรมสาธิต (วัดทุ่งสาธิต) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ให้ไปสอนวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 นอกจากสอนวิปัสสนา ก็ต้องรับงานเทศน์ งานสอนการอบรมอุบาสก อุบาสิกา ภายในวัดอีกต่างหาก
สนองงานพระศาสนาอยู่ที่วัดทุ่งสาธิต 5 ปีเศษ ก็ถึงจุดเปลี่ยน ในปลายปี พ.ศ. 2516 ช่วงเทศกาลทอดกฐิน ท่านหลวงพ่อศรีนวลได้ขอร้องให้ไปทอดกฐินแทนท่านที่วัดไทยลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวัดไทยวัดแรกที่จัดตั้งมาเป็นเวลา 3 ปีเศษ โดยท่านหลวงพ่อศรีนวลเป็นกรรมการอยู่ด้วย และรับเป็นประธานการทอดกฐินฝ่ายบรรพชิต ฝ่ายทางราชการมี พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นประธาน แต่ท่านเดินทางไม่ได้ พระมหาสุรศักดิ์จึงไปแทน
หลังจากทอดกฐินแล้ว พระอื่นเดินทางกลับไทย แต่พระมหาสุรศักดิ์ได้พักอยู่ที่วัดไทยลอสแองเจลิส ไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ เพื่อทัศนศึกษา และเกิดความคิดว่า ถ้ามีโอกาสมาทำงานด้านพระศาสนาในดินแดนส่วนนี้ บางทีอาจจะเป็นการเริ่มต้นให้อนุชนรุ่นต่อไป ได้สานงานพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคตก็ได้
จากเมืองไทยสู่อเมริกา
[แก้]ก็พอดีในปี พ.ศ. 2517 นี้เอง พระมหาโสบิน โสปาโก หัวหน้าคณะสงฆ์วัดไทยลอสแองเจลิส ได้ทำหนังสือนิมนต์พระมหาสุรศักดิ์มาจัดตั้งวัดไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตามคำนิมนต์ของทางคณะข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทั่วไป ในเขต ดี.ซี. แมริแลนด์ เวอร์จิเนีย แต่พระครูวชิรธรรมโสภณ เจ้าอาวาสวัดวชิรธรรมสาธิต ไม่อนุมัติ พระมหาโสบินพยายามขอตัวอีกครั้ง คราวนี้พระครูวชิรธรรมโสภณอนุมัติให้พระมหาสุรศักดิ์เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ประจำวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้
ดังนั้น ในต้นปี พ.ศ. 2518 ปลายเดือน ม.ค. พระมหาสุรศักดิ์ก็ได้ออกเดินทางจากวัดทุ่งสาธิตสู่สหรัฐ แวะลงที่วัดไทยลอสแองเจลิส พักอยู่ที่นั้นเป็นเวลาเกือบ 2 อาทิตย์ ในกลางเดือน ก.พ. ได้เดินทางต่อมาที่วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้อยู่ประจำปฏิบัติศาสนกิจตั้งแต่บัดนั้นถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 38 ปี ที่ยั่งยืนและเสถียรยิ่ง จึงเป็นปูชนียบุคคลของพระสงฆ์และชาวพุทธทั่วไปทั้งไทยและชาติอื่น
รางวัลเกียรติคุณ
[แก้]- พ.ศ. 2539 ได้รับการถวายปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย[6]
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2533 สอบไล่ได้เปรียญธรรม 4 ประโยค เป็นพระมหาสุรศักดิ์ ชีวานนฺโท ป.ธ.4
- พ.ศ. 2542 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระวิเทศธรรมรังษี[7] (5 ธันวาคม พ.ศ. 2542)
- พ.ศ. 2557 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชมงคลรังษี สุธีวิเทศศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [8] (5 ธันวาคม พ.ศ. 2557)
- พ.ศ. 2567 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพมงคลวชิรรังษี ปูชนียภาวนาจารย์ ไพศาลวิเทศศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[9] (12 มิถุนายน พ.ศ. 2567)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประวัติพระเถระอายุ 100 ปีและ 101 ปี ที่ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นเทพ". https://www.thebetter.co.th/. 2024-06-14.
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|website=
- ↑ "About Us – Wat Thai Washington, D.C." (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "มจร ตั้งหลวงตาชี เป็นพระธรรมทูต สายต่างประเทศต้นแบบรูปแรกของไทย". posttoday. 2013-07-21.
- ↑ "มหาเถรสมาคม The Sangha Supreme Council of Thailand". www.mahathera.org.
- ↑ "เอกอัครราชทูตสุริยาฯ เป็นประธานในพิธีธรรมสมโภชอายุวัฒนมงคลครบ ๑๐๐ ปี พระราชมงคลรังษี (หลวงตาชี) เจ้าอาวาสวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดีซี". สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ https://acd.mcu.ac.th/wp-content/plugins/download-attachments/includes/download.php?id=2603
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ในต่างประเทศ, เล่ม ๑๑๖, ตอนที่ ๒๓ ข, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๒, หน้า ๕๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ในต่างประเทศ, เล่ม ๑๓๑, ตอนที่ ๒๕ ข, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๗, หน้า ๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์,เล่ม 141,ตอน 28ข,12 มิถุนายน 2567,หน้า 4