พระเจ้าอโนรธามังช่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าอโนรธา)
พระเจ้าอโนรธามังช่อ
အနော်ရထာ
อนุสาวรีย์ของพระเจ้าอโนรธามังช่อ
กษัตริย์แห่งพม่า
ครองราชย์11 สิงหาคม ค.ศ. 1044 – 11 เมษายน ค.ศ. 1077
ราชาภิเษก16 ธันวาคม ค.ศ. 1044
ก่อนหน้าโซะกะเต้
ต่อไปพระเจ้าซอลู
ประสูติ11 พฤษภาคม ค.ศ. 1014
วันอังคาร ขึ้น 11 ค่ำ เดือน Nayon 376 ME
พุกาม
สวรรคต11 เมษายน ค.ศ. 1077(1077-04-11) (62 ปี)
วันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน Kason 439 ME
พุกาม
ชายาAgga Mahethi[1]
Pyinsa Kalayani
Saw Mon Hla
Manisanda
พระราชบุตรพระเจ้าซอลู
พระเจ้าจานซิต้า
พระนามเต็ม
มินสอ
มหาราชาสิริอนิรุทธเทวา
ราชวงศ์พุกาม
พระราชบิดากู้นซอจ้องพยู
พระราชมารดาMyauk Pyinthe
ศาสนาพุทธเถรวาท ก่อนหน้านั้นนับถือพุทธแบบอะยี

พระเจ้าอโนรธามังช่อ หรือ พระเจ้าอโนรธา (อังกฤษ: Anawrahta Minsaw, Anawrahta, พม่า: အနိရုဒ္ဓ; 1044 – 1077) พระองค์เป็นผู้ก่อตั้ง อาณาจักรพุกาม ถือเป็นบิดาของชาติพม่า พระเจ้าอโนรธาได้เปลี่ยนอาณาเขตเล็กๆ ในเขตแห้งแล้งของ พม่าตอนบน ให้เป็นอาณาจักรพม่าแห่งแรกอันเป็นรากฐานของ พม่า ยุคใหม่ (เมียนมา)[2][3] ได้เริ่มมีการบันทึก ประวัติศาสตร์พม่า หลังการครองบัลลังก์พุกามของพระองค์ในปี ค.ศ. 1044[4]

พระเจ้าอโนรธารวมพื้นที่ลุ่ม แม่น้ำอิรวดี ทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมถึงพื้นที่บริเวณรอบนอกเช่น รัฐฉาน และ รัฐยะไข่ ให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของพุกาม พระองค์หยุดยั้งการรุกล้ำของ จักรวรรดิเขมร สู่ ชายฝั่งตะนาวศรี ได้สำเร็จและเข้าสู่พื้นที่ลุ่ม แม่น้ำเจ้าพระยา ตอนบน ทำให้พุกามเป็นหนึ่งในสองอาณาจักรหลักบนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พระราชประวัติช่วงต้น[แก้]

พระเจ้าอโนรธาเป็นราชโอรสแห่งกษัตริย์พุกาม คือ กู้นซอจ้องพยู หลังจากที่พระองค์มีชัยต่อโซะกะเต้ พระเชษฐาต่างมารดาผู้แย่งบัลลังก์จากพระราชบิดาได้แล้ว พระองค์จึงมอบบัลลังก์นั้นคืนพระบิดาซึ่งผนวชอยู่ เมื่อพระบิดามิทรงรับพระเจ้าอโนรธาจึงเสวยราชบัลลังก์แทน

ในหลักฐานประวัติศาสตร์ทางวิชาการ ยอมรับว่าพระองค์คือกษัตริย์พม่าพระองค์แรกที่สร้างความปึกแผ่นแก่พม่า ทรงรวบรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ขึ้นเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาให้สถิตย์อยู่ในพม่าตราบจนทุกวันนี้ด้วย

ครองราชย์และพระราชกรณียกิจในทางพุทธศาสนา[แก้]

พระเจ้าอโนรธาขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1587 (ค.ศ. 1044) ช่วงเวลาที่พระองค์ขึ้นครองราชย์นั้น อาณาบริเวณของพุกามกินพื้นที่เพียงแถบเมืองพุกามและประเทศพม่า (ในปัจจุบัน) ตอนกลางเท่านั้น ต่อมาพระองค์ได้ทำให้อาณาจักรแข็งแกร่งมั่นคงโดยรวมเอาเมืองประเทศราชต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และเพื่อให้อาณาจักรพุกามรวมตัวกันได้อย่างมั่นคงในเบื้องแรก พระองค์จึงเริ่มดำเนินการให้มีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง มีการกั้นเหมืองฝายตามคูคลองในพื้นที่เจาะแซอย่างเป็นระบบ ในพื้นที่นั้นได้มีการขุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขึ้น 7 แห่งโดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำปางลองและแม่น้ำซอจี แล้วตั้งหมู่บ้านขึ้น 11 แห่ง ในหนังสือแบบเรียนทางประวัติศาสตร์ของพม่าทุกวันนี้ ระบุว่าพระเกียรติยศของพระองค์ระบือไกลไปจนถึงอาณาจักรล้านนาและอยุธยา

ในทางสงครามทรงชนะศึกกับยะไข่และสะเทิม จึงสามารถดำเนินการปกครองอย่างเป็นระบบ และสร้างเอกภาพโดยรวมให้กับพม่า

เจดีย์ชเวซีโกนในปัจจุบัน

พระเจ้าอโนรธาเมื่อทรงครองราชย์แล้ว ไม่โปรดที่ชาวพม่าขณะนั้นนับถือความเชื่อพื้นเมือง เช่น ผี หรือ นะ และนักบวชอะยี เป็นต้น จึงทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาให้สถิตย์อยู่ในอาณาจักรพม่า ซึ่งในขณะนั้น มีพระรูปหนึ่ง ชื่อ พระชินอรหันต์ กำลังจารึกแสวงบุญจากเมืองสะเทิมมายังพุกาม พระเจ้าอโนรธาได้แสดงความนอบนบต่อพระชินอรหันต์ พระองค์ก็ทรงมีศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงขอร้องให้พระชินอรหันต์เผยแผ่พระศาสนาในพุกาม และด้วยความช่วยเหลือของพระชินอรหันต์ พระเจ้าอโนรธาจึงสามารถกำจัดความเชื่อดั้งเดิมลงได้ พวกอะยีถูกจับสึกแล้วให้คนเหล่านั้นรับใช้ในงานอันควรแก่อาณาจักรต่อไป ด้วยเหตุนี้ความเชื่อถือแบบอะยีจึงค่อย ๆ หมดไปจากพุกาม ซึ่งต่อมาพระชินอรหันต์เป็นผู้ที่พระเจ้าอโนรธาให้ความเคารพอย่างมาก และเป็นผู้ที่กล้าแสดงความคิดคัดค้านการบริหารปกครองบ้านเมืองของพระองค์ด้วย

นอกจากนี้เมื่อครั้งพระองค์ยกทัพไปตีเมืองสะเทิม ได้ทรงอัญเชิญพระไตรปิฎกและพระเถระผู้เชี่ยวชาญในพระคำภีร์มายังพุกาม พระเถระชาวมอญซึ่งชำนาญในคำภีร์ได้ช่วยพระชินอรหันต์เป็นอย่างมากเพื่อให้พุทธศาสนาเป็นที่แพร่หลาย และทรงสร้างก่อเจดีย์มากมายหลายองค์ในทุกที่ที่พระองค์เสด็จไปถึงไม่เฉพาะแค่พุกาม ซึ่งเจดีย์องค์ที่มีชื่อที่สุดที่พระองค์ทรงสร้างคือ เจดีย์ชเวซีโกน

และพระองค์ยังส่งเสริมให้มีการเล่าเรียนพระไตรปิฏกในวัดต่าง ๆ และเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ทำการลบจุลศักราชเมื่อพุทธศักราชล่วงแล้วได้ 1172 ปี เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์

ในการรับรู้ของคนยุคปัจจุบัน[แก้]

ในการรับรู้ของชาวไทยจะรู้จัก พระเจ้าอโนรธาในแง่ของการเป็นกษัตริย์ที่ทรงนำพระพุทธศาสนาเข้ามาในพม่าเป็นพระองค์แรก ซึ่งคนไทยจะรู้จักพระองค์ในพระนามว่า พระเจ้าอนุรุทธ' หรือ พระเจ้าอนิรุทธ

พระเจ้าอโนรธามังช่อสวรรคตในปี พ.ศ. 1620 ตามพงศาวดารพม่าระบุว่า พระองค์สวรรคตด้วยอุบัติเหตุระหว่างออกล่าสัตว์ เนื่องจากถูกกระบือเผือกขวิด

ปัจจุบัน ทางพม่ายกย่องพระเจ้าอโนรธามังช่อ เป็น 1 ใน 3 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพม่า ซึ่งประกอบด้วย พระองค์, พระเจ้าบุเรงนอง แห่งราชวงศ์ตองอู และ พระเจ้าอลองพญา แห่งราชวงศ์อลองพญา และมีการอ้างอิงถึงพระองค์ในภาพยนตร์สัญชาติพม่า ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับวีรกรรมของพระเจ้าจานสิตา ในชื่อเรื่อง "Kyansit Min"[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Yazawin Thit Vol. 1 2012: 108, footnote #2
  2. Harvey 1925: 34
  3. Htin Aung 1967: 38
  4. Coedès 1968: 133, 148–149, 155
  5. IMDb
  • Pe Maung Tin and G.H. Luce (trs.) The Glass Palace Chronicle of the Kings of Burma (Rangoon: Rangoon University Press 1960), pp. 64-79: Maung Htin Aung, A History of Burma (New York: Columbia University Press, 1967), p. 37
  • พระราชพงศาวดารเหนือ ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑ (พระนคร: สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2506) หน้า 88-97
ก่อนหน้า พระเจ้าอโนรธามังช่อ ถัดไป
โซะกะเต พระมหากษัตริย์พม่า
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 1)

(พ.ศ. 1587 - พ.ศ. 1620)
พระเจ้าซอลู