พระเจ้ารามิโรที่ 3 แห่งเลออน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้ารามิโรที่ 3 แห่งเลออน
กษัตริย์แห่งเลออน
ครองราชย์ค.ศ. 966 - 985
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าซันโชที่ 1 แห่งเลออน
รัชกาลถัดไปพระเจ้าเบร์มุนโดที่ 2 แห่งเลออน
ผู้สำเร็จราชการเอลบิรา รามีเรซ
เตเรซา อันซูเรซ
ประสูติค.ศ. 961
สิ้นพระชนม์26 มิถุนายน ค.ศ. 985
ฝังพระศพสุสานบรรพชนกษัตริย์แห่งซันอิซิโดโรเดเลออน
พระมเหสีซันชา โกเมซ
ราชวงศ์อัสตูร์-เลออเนส
พระบิดาพระเจ้าซันโชที่ 1 แห่งเลออน
พระมารดาเตเรซา อันซูเรซ

รามีโรที่ 3 (สเปน: Ramiro III) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเลออนในช่วงปี ค.ศ. 966 ถึง ค.ศ. 985 ทรงสืบทอดบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าซันโชที่ 1 ผู้เป็นพระบิดา ตอนพระชนมายุ 5 พรรษา

พระราชประวัติ[แก้]

หลังพระเจ้าซันโชที่ 1 พระบิดาของรามีโรถูกปลงพระชนม์โดยขุนนางกาลิเซีย การสำเร็จราชการแผ่นดินของราชอาณาจักรตกไปอยู่ในมือของสตรีสองคน คือ พระปิตุจฉาของรามีโร อินฟันตาเอลบิรา รามีเรซ แม่ชีที่ทำหน้าที่เป็นพระราชินีในช่วงที่พระมหากษัตริย์ยังเยาว์วัย[1] และพระมารดาของรามีโร พระราชินีเตเรซา อันซูเรซ ซึ่งหลังจากเป็นม่ายได้เข้ารับการปฏิญาณตนที่อารามซันปาเลโยเดโอบิเอโดและกลายเป็นพระอธิการิณีที่นั่น

ในฐานะกษัตริย์ ทรงให้สัตยาบันในสนธิสัญญาสันติภาพกับกาหลิบอัลฮะกัมที่ 2 และแต่งตั้งซันโรเซนโด ผู้ปราบชาวไวกิงที่ขึ้นฝั่งในกาลิเซียในปี ค.ศ. 968 เป็นแม่ทัพของพระองค์

ในปี ค.ศ. 975 เกิดเหตุการณ์ปิดล้อมปราสาทซันเอสเตบันเดกอร์มัซก่อนที่กองกำลังเสริมซาราเซ็นจะเดินทางมาถึง ความพ่ายแพ้ยับเยินทำให้กองทัพเลออน, กัสติยา และนาวาร์ถอนกองกำลังออกไป กระตุ้นให้เกิดวิกฤตทางการเมืองในเลออนจนทำให้อินฟันตาเอลบิราทิ้งตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไว้ให้พระมารดาของกษัตริย์[2]

ปี ค.ศ. 976 การตายของกาหลิบอัลฮากัมที่ 2 ทำให้ตำแหน่งกาหลิบตกเป็นของฮิชัมที่ 2 ทายาทที่มีอายุเพียง 11 ปี กาหลิบคนใหม่แต่งตั้งอัลมันซอร์เป็นวิเซียร์ (เสนาบดี) เพียงไม่กี่วันหลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่งกาหลิบ ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษ 970 จนเข้าสู่คริสตทศวรรษ 980 อัลมันซอร์ทำการโจมตีแผ่นดินของราชอาณาจักรเลออนเป็นครั้งแรก ซาโมรา, รูเอดา, อาติเอนซา, เซปูลเบดาคือหนึ่งในเมืองที่ตกไปอยู่ในมือของผู้นำชาวมุสลิม

ความไม่พอใจของขุนนางกาลิเซียและโปรตุเกสที่มีต่อกษัตริย์แห่งเลออน ซึ่งแสดงให้เห็นตั้งแต่เมื่อครั้งพระเจ้าซันโชที่ 1 พระบิดาของพระเจ้ารามิโรที่ 3 ยังครองราชย์อยู่ ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปเลยเมื่อพระองค์โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อุปนิสัยที่ซับซ้อนและความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องให้กับชาวมุสลิมมีแต่จะทำให้ความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้น กลุ่มขุนนางเหล่านั้น ซึ่งนำโดยเคานต์กอนซาโล เมเนนเดซ จึงก่อกบฏต่อพระเจ้ารามีโรที่ 3 และประกาศให้เบร์มุนโด ออร์ดอญเญซเป็นกษัตริย์คนใหม่ในปี ค.ศ. 981[3] เบร์มุนโดเป็นพระโอรสของพระเจ้าออร์ดอญโญที่ 3 แห่งเลออน จึงเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้ารามีโรที่ 3 ช่วงระหว่างฤดูใบไม้ผลิจนถึงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 982 ผู้สนับสนุนของเบร์มุนโดได้ยึดอำนาจในกาลิเซีย และในวันที่ 15 ตุลาคม (ไม่ก็ 13 พฤศจิกายน)[4] พระองค์ได้รับการสวมมงกุฎในซานเตียโกเดกอมโปสเตลา ราชอาณาจักรเลออนถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนเลออนกับกัสติยาที่ยังคงภักดีต่อพระเจ้ารามีโรที่ 3 กับส่วนกาลิเซียกับโปรตุเกสที่อยู่ฝั่งพระเจ้าเบร์มุนโด ต้นปี ค.ศ. 983 กองทัพของพระเจ้ารามีโรเผชิญหน้ากับกองทัพของพระเจ้าเบร์มุนโดในปอร์ตียาหรือปอร์เตลาเดอาเรนัส ใกล้กับอันตัสเดอูยาในดินแดนกาลิเซีย[5] ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ชัดเจน พระเจ้าเบร์มุนโดยังคงอยู๋ในกาลิเซีย ส่วนพระเจ้ารามีโรเดินทางกลับเลออน เพื่อมุ่งมั่นกับการปกป้องราชอาณาจักรจากการโจมตีของชาวมุสลิม ปลายฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 984 เคานตีเกอาและเคานตีซันดัญญายอมรับพระเจ้าเบร์มุนโดเป็นกษัตริย์[6] ส่งครามระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งทั้งสองดำเนินต่อไปจนกระทั่งพระเจ้ารามีโรที่ 3 สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 985 ทำให้พระเจ้าเบร์มุนโดกลายเป็นกษัตริย์ที่ปกครองราชอาณาจักรเลออนทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

การอภิเษกสมรส[แก้]

พระเจ้ารามีโรอภิเษกสมรสก่อนวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 980 กับซันชา โกเมซ บุตรสาวของโกเมซ ดิอัซ เคานต์แห่งซัลดัญญากับภรรยา มูเนียโดนา เฟร์นันเดซ บุตรสาวของเฟร์นัน กอนซาเลซ เคานต์แห่งกัสติยา[7] ทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งคน คือ

  • ออร์ดอญโญ รามีเรซ เด กีเอโก พระสวามีของกรีสตีนา เบร์มุนเดซ พระธิดาของพระเจ้าเบร์มุนโดที่ 2 แห่งเลออนกับพระราชินีเบลัสกีตา รามีเรซ การแต่งงานได้สร้างสายเลือดที่สำคัญที่สุดของอัสตูเรียสในคริสต์ศตวรรษที่ 11

อ้างอิง[แก้]

  1. Martínez Diez, 2005 , p. 437, Volume I.
  2. Alemparte, Julio (1961). Adventures in old Spain . Ed. Andrés Bello
  3. González López, Emilio (1978). Greatness and decadence of the kingdom of Galicia . Ed. Galaxy
  4. Martínez Diez, 2005 , p. 505, Volume II.
  5. Martínez Diez, 2005 , p. 506, Volume II.
  6. Martínez Diez, 2005 , p. 509, Volume II.
  7. Ceballos-Escalera, 2000 , pp. 133-135.