เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้านครศรีธรรมราช)
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู)
พระเจ้านครศรีธรรมราช
ครองราชย์พ.ศ. 2319 – พ.ศ. 2325
ราชาภิเษก15 กันยายน พ.ศ. 2319
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้านราสุริยวงศ์
รัชกาลถัดไปลดจากประเทศราชลงเป็นหัวเมือง
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์)
เจ้านครศรีธรรมราช
ครองราชย์พ.ศ. 2310–2312
ก่อนหน้าพระองค์เอง
(ในฐานะเจ้าเมือง)
ถัดไปพระเจ้านราสุริยวงศ์
พระชายาหม่อมทองเหนี่ยว
พระราชบุตรเจ้าหญิงชุ่ม
กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์
เจ้าจอมมารดาปราง
เจ้าจอมมารดาจวน
เจ้าหญิงสั้น
เจ้าหญิงนวล
พระนามเต็ม
พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา
พระนามเดิม
หนู

พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา พระนามเดิม หนู เป็นพระมหากษัตริย์นครศรีธรรมราช ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และเป็นพระเจ้าประเทศราชนครศรีธรรมราช ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ประวัติ[แก้]

พระเจ้านครศรีธรรมราช เป็นเชื้อสายขุนนางกรุงศรีอยุธยา มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อพระยาวิชิตณรงค์ ต่อมาได้รับราชการมีความชอบจนได้เป็น หลวงสิทธิ์นายเวร มหาดเล็ก ต่อมาพระยาราชสุภาวดีนครฯ (พระยาราชสุภาวดีละคร) ลงไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หลวงสิทธิ์นายเวรจึงได้เป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราชในคราวนั้น หลวงสิทธิ์นายเวร (หนู) สมรสกับหม่อมทองเหนียว ซึ่งเป็นธิดาของจีนปาด[1] ต่อมาเมื่อพระยาราชสุภาวดี เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชถูกเรียกให้ยกทัพเข้าไปช่วยเหลือกรุงศรีอยุธยา ในการรุกรานของพม่าเมื่อพ.ศ. 2308 แล้วมีความผิดและถูกถอด พระปลัด (หนู) จึงรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไว้อยู่

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310 พระปลัด (หนู) ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวบ้านเรียกว่า เจ้านคร จัดตั้งชุมนุมนครศรีธรรมราชขึ้น มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงหัวเมืองมลายู เจ้าพระยานครฯ (หนู) แต่งตั้งหลวงฤทธิ์นายเวร (จันทร์) ซึ่งเป็นหลานเขยของตนเองและเป็นบุตรของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) เป็นอุปราช แต่งตั้งนายวิเถียน ซึ่งเป็นญาติของตนเอง เป็นเจ้าเมืองสงขลา และแต่งตั้งให้หลานชายของตนเองไปเป็นพระยาพัทลุงเจ้าเมืองพัทลุง[2] ต่อมาพ.ศ. 2312 หลานของเจ้าพระยานคร (หนู) ที่เป็นเจ้าเมืองพัทลุงได้เสียชีวิตลง เจ้าพระยานครฯ (หนู) จึงแต่งตั้งให้พระพิมล (ขัน) สามีของคุณหญิงจันเป็นเจ้าเมืองพัทลุงต่อมา[2]

เมื่อปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช โดยมีเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เป็นแม่ทัพ และมีแม่ทัพอื่นๆได้แก่ พระยายมราช พระยาเพชรบุรี และพระยาศรีพิพัฒน์ เจ้าพระยานคร (หนู) ส่งทัพเมืองนครฯไปรบกับทัพธนบุรีที่ท่าหมาก นำไปสู่การรบที่ท่าหมาก ซึ่งฝ่ายนครศรีธรรมราชได้รับชัยชนะ แม่ทัพธนบุรีพระยาเพชรบุรีและพระยาศรีพิพัฒน์ถูกสังหารในที่รบ[3]

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จนำทัพเรือด้วยพระองค์เอง ทัพเรือหลวงจำนวน 10,000 คน[3] ยกออกจากธนบุรีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2312 พระยายมราชธนบุรีเข้าตีทัพฝ่ายเมืองนครฯที่ท่าหมากแตกพ่ายไป แล้วนำทัพธนบุรีเข้าโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครฯ (หนู) มอบหมายให้อุปราชจันทร์นำทัพเมืองนครฯออกต่อสู้ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งเจ้าขรัวเงินซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับอุปราชจันทร์ มาเจรจาเกลี้ยกล่อมให้อุปราชจันทร์ยอมสวามิภักดิ์ต่อธนบุรี[4] อุปราชจันทร์พ่ายแพ้ให้แก่ทัพธนบุรีในการรบที่ท่าโพ[5]ทางเหนือของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเหตุให้เจ้าพระยานครฯ (หนู) ต้องพาครอบครัวรวมทั้งบุตรเขยคือเจ้าพัฒน์หลบหนีไปยังเมืองสงขลา สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชได้เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 10[3] (21 กันยายน พ.ศ. 2312) หลวงสงขลา (วิเถียน) นำเจ้าพระยานคร (หนู) พร้อมทั้งครอบครัว และพระยาพัทลุง (พระพิมลขัน) เดินทางหลบหนีไปยังเมืองปัตตานี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ยกทัพเรือติดตามเจ้าพระยานครฯ (หนู) และพระยาพิชัยราชายกทัพติดตามทางบก เจ้าพระยาจักรี (หมุด) มีหนังสือถึงสุลต่านมูฮาหมัดเจ้าเมืองปัตตานี ขอให้ส่งตัวเจ้าเมืองทั้งสามให้แก่ฝ่ายธนบุรี สุลต่านมูฮาหมัดเจ้าเมืองปัตตานี[6]จึงยินยอมส่งตัวเจ้าพระยานครฯ (หนู) เจ้าพัฒน์ หลวงสงขลา (วิเถียน) และพระยาพัทลุง (พระพิมลขัน) ให้แก่เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยานครฯ (หนู) จึงถูกจับกุมและนำตัวพร้อมครอบครัวไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ขุนนางธนบุรีปรึกษาโทษให้ประหารชีวิตเจ้าพระยานคร (หนู) แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงไม่เห็นด้วย เนื่องจากเจ้าพระยานครฯ (หนู) ไม่ได้เป็นข้าฯของพระองค์มาก่อน ต่างคนต่างเป็นใหญ่ไม่ถือว่าเป็นกบฏ[1] ให้กลับไปพิจารณาความที่ธนบุรีใหม่อีกครั้ง[3] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งพระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชต่อมา โดยมีพระยาราชสุภาวดีนครฯ อดีตเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และพระศรีไกรลาศ เป็นผู้กำกับราชการ[3] ชุมนุมนครศรีธรรมราชจึงสิ้นสุดลงและถูกผนวกรวมเข้ากับธนบุรีในที่สุด

เจ้าพระยานครฯ (หนู) พร้อมครอบครัวถูกนำตัวไปยังกรุงธนบุรีในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2313 เจ้าพระยานครฯ (หนู) อาศัยอยู่ในกรุงธนบุรีเป็นเวลาเจ็ดปี โดยที่บุตรสาวคือท่านหญิงฉิมและท่านหญิงปรางได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในพ.ศ. 2319 เจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเจ้าพระยานคร (หนู) อดีตผู้นำชุมนุมนครศรีธรรมราช ให้พระเจ้านครศรีธรรมราช กลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็น พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา ดำรงพระอิสริยยศที่พระเจ้าประเทศราช[7] รับสั่งเมื่อวันอังคารขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11[8] (15 กันยายน พ.ศ. 2319)

ครั้งพระนครศรีอยุทธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแต่ก่อน ฝ่ายกรมการพลเมืองๆนครหาที่พึ่งไม่ ยกปลัดเมืองขึ้นผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมา ก็ได้พึ่งพาอาไศรยสัปยุทธชิงไชยชนะแขกข้าศึก ถ้าหาไม่ ขัณฑสิมาก็จะระส่ำระสายเปนไป ความชอบมีอยู่กับแผ่นดิน ฝ่ายศักดิ กฤษฎานุภาพคงขัติยราชผู้หนึ่ง ครั้งนี้ ราชธิดาก็ได้ราชโอรส ฝ่ายพระยานครก็ได้ไปตามเสด็จพระราชดำเนินช่วยทำการยุทธชิงไชยเหมมันพม่าข้าศึก...ฝ่ายเจ้านราสุริวงษ์สวรรค์ครรไล ควรให้ไปบำรุงพระเกียรติยศสนองพระเดชพระคุณแทนเจ้านราสุริวงษ์สืบไป แลซึ่งจะบำรุงพระเกียรติยศนั้น ฝ่ายพระยานครเคยผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมาอยู่แล้ว ก็ให้ผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมาฝ่ายซึ่งผู้ผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมาสืบมาแต่ก่อนนั้นเหมือนกันกับพระยาประเทศราชประเวณีดุจเดียวกัน

[8]

โดยมีเจ้าพัฒน์ผู้เป็นบุตรเขยเป็นที่อุปราช นอกจากนี้เจ้าจอมมารดาฉิมยังได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ พระมเหสีฝ่ายซ้าย กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ประสูติพระโอรสคือเจ้าฟ้าทัศพงษ์ เจ้าฟ้าทัศไพ เจ้าฟ้านเรนทรราชกุมาร และพระธิดาคือเจ้าฟ้าปัญจปาปี พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ได้เกียรติยศอย่างเจ้าประเทศราชรับพระโองการ ส่วนหม่อมทองเหนียวเป็นพระมเหสีรับพระเสาวณีย์[9] มีขุนนางเสนาบดีจตุสดมภ์เป็นของตนเอง ที่ว่าราชการเรียกว่า ท้องพระโรง[1]

ในพ.ศ. 2320 เจ้าพระยานครฯ (หนู) มีหนังสือกราบทูลฯสมเด็จพระเจ้าตากสินขอให้ทรงแต่งทัพไปปราบหัวเมืองมลายู สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตอบว่าราชการสงครามกับพม่ายังคงติดพันอยู่ ให้สงครามกับพม่าแล้วเสร็จเสียก่อนจึงจะให้เมืองนครศรีธรรมราชออกไปตีมลายู[5]

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชดำริว่าเกียรติยศของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชนั้นมากเกินไป จึงมีพระราชโองการให้ลดยศของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชดังเดิม[10] ทางกรุงเทพฯได้ส่งข้าหลวงมายังเมืองนครศรีธรรมราชทำการสักเลกปรากฏว่าสักได้น้อยกว่าแต่ก่อน อุปราชพัฒน์ผู้เป็นบุตรเขยของเจ้าพระยานครฯ (หนู) เดินทางไปที่กรุงเทพฯ ฟ้องร้องกล่าวโทษเจ้าพระยานครฯ (หนู) ว่าแก่ชราว่าราชการฟั่นเฟือนไป[1] ทรงมีตราให้เจ้าพระยานครฯ (หนู) ไปเข้าเฝ้าที่กรุงเทพสองครั้ง เจ้าพระยานครฯ (หนู) ก็บิดพลิ้วเสียไม่ไปตามพระราชโองการ[10] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงทรงปลดเจ้าพระยานครฯ (หนู) ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในพ.ศ. 2327[10] โปรดฯให้เจ้าพระยานครฯ (หนู) เข้ามารับราชการที่กรุงเทพฯ และทรงแต่งตั้งอุปราชพัฒน์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนใหม่

...พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามาผ่านพิภพ เสนามุขลูกขุนปฤกษาให้เจ้านครถอยยศลดเสนาบดีลงเสีย ฝ่ายเจ้านครก็หามีความชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อแผ่นดินไม่ แต่หากว่าทรงพระเมตตาเห็นว่า เปนผู้ใหญ่ ประหนึ่งจะมีความคิดเห็นผิดแลชอบ จะตั้งใจทำราชการแผ่นดินโดยสุจริต จึงให้คงว่าราชการรั้งเมืองครองเมืองสืบมา แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งจำเภาะให้เจ้านครเกณฑ์เลขเข้ามาร่อนทอง เจ้านครมิได้จัดแจงกะเกณฑ์เลขให้ครบตามเกณฑ์ ให้ข้าหลวงไปสักเลขเมืองนคร ก็ได้เลขสักน้อยต่ำลงกว่าจำนวนสักแต่ก่อน แล้วมีตรารับสั่งให้หาเจ้านครเข้ามาคิดราชการถึงสองครั้ง ก็บิดพลิ้วมิได้เข้ามา เห็นว่า เจ้านครหาจงรักภักดีสวามิภักดิ์ขวนขวายทำราชการสนองพระเดชพระคุณไม่ ไม่เกรงกลัวพระราชอาญา เจ้านครผิด ประการหนึ่ง เจ้านครก็แก่ชราพฤฒิภาพ เกลือกมีการณรงค์สงครามทำมิได้จะเสียราชการไป จะให้เจ้านครคงว่าราชการเมืองนครสืบไปมิได้ ละไว้จะเปนเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน ให้ยกเจ้านครออกเสียจากเจ้านครศรีธรรมราช เอาตัวเข้ามาใช้ราชการณกรุง...

[8]

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) รับราชราชในกรุงเทพได้ไม่นานก็ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) บุตรเขยได้เข้าไปรับอัฐิทั้งของพระเจ้านครศรีธรรมราชและหม่อมทองเหนี่ยว ซึงถึงแก่กรรมในเวลาไล่เลี่ยกัน ออกไปก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดแจ้งวรวิหาร เมืองนครศรีธรรมราช[1][11]

พระราชธิดา[แก้]

พระเจ้านครศรีธรรมราช มีพระราชธิดากับหม่อมทองเหนี่ยว ธิดาจีนปาด 6 พระองค์

และมีภรรยากับอนุภรรยาอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่[13]

  • หม่อมทองอยู่
  • พระรามคำแหง
  • แม่ม่วง

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๓ พงษาวดารเมืองนครศรีธรรมราช.
  2. 2.0 2.1 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๕ พงษาวดารเมืองพัทลุง
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  4. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ; มติชน, พ.ศ. 2550.
  5. 5.0 5.1 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
  6. Bradley, Francis R. Forging Islamic Power and Place: The Legacy of Shaykh Daud bin ‘Abd Allah al-Fatani in Mecca and Southeast Asia. University of Hawaii Press; พ.ศ. 2558.
  7. บทที่ ๑ พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) - มูลนิธิสกุล ณ นคร และสายสัมพันธ์[ลิงก์เสีย]
  8. 8.0 8.1 8.2 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒ เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
  9. พระราชวิจารณ์ จดหมายความทรงจำ ของ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๑๒๙ ถึง ๑๑๘๒ เปนเวลา ๕๓ ปี: พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๒๘ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
  10. 10.0 10.1 10.2 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๓๑.
  11. "ประวัติสกุล ณ นคร - Nanagara". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-31. สืบค้นเมื่อ 2017-07-15.
  12. ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์ในสายหมอก เก็บถาวร 2012-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย สุนทร ธานีรัตน์, มกราคม 2546
  13. รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช (PDF). พระนคร: รุ่งเรืองรัตน์. 2505. p. 66.