พระเจ้าทองทิพย์ (น่าน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าทองทิพย์
ไฟล์:พระเจ้าทองทิพย์ น่าน.jpg
ชื่อเต็มพระพุทธรูปทองทิพย์
ชื่อสามัญพระเจ้าทองทิพย์
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย
ความกว้าง3 เมตร
ความสูง4.11 เมตร
วัสดุทองสำริด
สถานที่ประดิษฐานพระอุโบสถ วัดสวนตาล ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
ความสำคัญพระเจ้าทองทิพย์ พระประธานที่สร้างสำเร็จด้วยอำนาจทิพย์แห่งเทพเทวา
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสวนตาล ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน วัดสำคัญของนครน่าน ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระประธานที่สร้างสำเร็จด้วยอำนาจทิพย์แห่งเทพเทวา[ต้องการอ้างอิง]

ประวัติพระเจ้าทองทิพย์[แก้]

พระเจ้าทองทิพย์ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยองค์ใหญ่หน้าตักกว้าง ๑๐ ฟุต สูง ๑๔ ฟุต ๔ นิ้ว ใช้ทองคำในการสร้างหนักกว่า ๑๒ ตื้อ ซึ่งใช้ทองเยอะที่สุดในแผ่นดินล้านนา เป็นพระประธานในวิหารวัดสวนตาล สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นใหญ่ในแคว้นล้านนาไทยในสมัยนั้น

ในการสร้างพระพุทธรูปทองทิพย์องค์นี้ในพงศาวดารเมืองน่าน กล่าวไว้ว่า... เมื่อจุลศักราช ๘๑๒ ตรงกับพุทธศักราช ๑๙๙๓ พระเจ้าติโลกราช เจ้านครเชียงใหม่ มีกำลังเข้ม แข็งได้กรีฑาทัพไปตีหัว เมืองต่างๆ ในแคว้นล้านนาไทย คือ เมืองลอ เมืองเทิง เมืองปง เมืองควร ไปทางตีนดอยลาวได้หัวเมือง เหล่านั้นไว้ในอำนาจ หมดแล้ว เลยยกเข้าไปตีเมืองน่าน พระองค์ได้ ตั้งทัพอยู่ที่สวนตาลหลวงตั้งทัพล้อมอยู่ได้ ๗ วัน โดยเร่งไพร่พลยิงปืนใหญ่ เข้าไปในเมือง พอตกกลางคืนก็ยกพลเข้าตี หวังจะเอาเมืองให้ได้ ฝ่ายพญาอินต๊ะแก่นท้าว ซึ่งเป็นเจ้านครน่านในเวลานั้นเห็นกองทัพ เชียงใหม่มีไพร่พลมากมายนัก ประกอบกับได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือถึงความเก่งกล้าสามารถของพระเจ้าติโลกราชที่สามารถปราบหัวเมืองใกล้เคียงได้เกือบหมด เห็นชัดแจ้งว่าไม่อาจจะรักษาเมืองไว้ได้จึงได้อพยพครอบครัวหนี พระเจ้าติโลกราชจึงยกทัพไพร่พลเข้าเมืองได้อย่างง่ายดายไม่ต้องสู้รบให้เสียเลือดเสียเนื้อเลย เมื่อพระเจ้าติโลกราชยึดเมืองได้แล้ว จึงได้ปรึกษาเหล่านายทัพนายกองและเสนาอำมาตย์ทั้งหลายว่า การที่กองทัพของพระองค์เข้ายึดเมืองไว้ได้ในครั้งนี้ มิได้สู้รบให้เสียเลือดเสียเนื้อกำลังไพร่พลเลย เหมือนกับว่ามีเทพเจ้าเข้ามาช่วยเหลือจึงเห็นควรให้สร้างอะไรไว้อย่างหนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์สักขีพยานในชัยชนะของพระองค์ ครั้งนั้นขุนนางเสนอว่าควรจะสร้างถาวรวัตถุเพื่อประชาชนรุ่นหลังจะรำลึกถึง เช่น สร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทอง เป็นต้น

ในที่สุดพระเจ้าติโลกราชก็ตัดสินพระทัยที่จะสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทอง พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.๑๙๘๗ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ ปางมารวิชัย ประดิษฐานในวิหารสวนตาล หน้าตักกว้าง ๑๐ ฟุต สูง ๑๔ ฟุต ๔ นิ้ว (๔.๑๑ เมตร) ใช้ทองคำหนักกว่า ๑๒ ตื้อ ซึ่งใช้ทองเยอะที่สุดในแผ่นดินล้านนา ในการสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองนี้ พระองค์ได้โปรดให้ช่างทั้งหลาย อาทิ พม่า เงี้ยว และชาวเมืองเชียงแสน กระทำพิธีหล่อหลอมทองและพิธีหล่อองค์พระพุทธรูปด้วย ช่างได้กระทำการหล่อทองเทเข้าเบ้าพิมพ์หลายครั้งหลายหนก็ไม่สำเร็จเพราะเบ้าพิมพ์แตกเสียทุกครั้ง ในที่สุดก็มีชายชราแปลกหน้านุ่งขาวห่มขาวมาช่วยทำจึงสำเร็จเรียบร้อยสมปรารถนา

เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราชก็ทรงจัดให้มีการสวดปริตถมงคลและจัดให้มีงานมหกรรมเฉลิมฉลองทำบุญเป็นการใหญ่มโหฬารยิ่ง ส่วนชายชรานั้นก็หายสาบสูญไปไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลย ประชาชนชาวเมืองต่างโจษขานกันว่าเป็น เทพยดาแปลงกายลงมาช่วย จึงได้ขนานพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธรูปทองทิพย์ หรือ พระเจ้าทองทิพย์ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน