พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล)
ศาสตราจารย์ พระเจริญวิศวกรรม
เกิด26 เมษายน พ.ศ. 2438
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต12 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 (92 ปี)
อาชีพวิศวกร
คู่สมรสนางสาวอรุณ ชูพันธุ์
บุตร4 คน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำมาตย์เอก พระเจริญวิศวกรรม (26 เมษายน พ.ศ. 2438 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2530) มีนามเดิมว่า เจริญ เชนะกุล ปรมาจารย์หรือครูใหญ่ของเหล่าช่างทั้งปวง อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกผู้ก่อตั้งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์[1] ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานให้แก่วงการวิศวกรรมศาสตร์ของไทย และ บิดาแห่งวิศวกรไทย[2][3] นอกจากนั้นยังเป็น นายกคณะฟุตบอลแห่งสยาม คนที่ 5

ประวัติ[แก้]

พระเจริญวิศวกรรม หรือ James Shea เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2438 ที่บ้านเลขที่ 110 ถนนสุรวงศ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนเดียวของ John Edward Austin Shea M.I.E.E. ชาวอังกฤษเชื้อสายไอริช ซึ่งเป็นวิศวกรที่เข้ามาทำงานอยู่กรมการไฟฟ้าในขณะนั้น และคุณแม่ชื่อ กี๋ เป็นชาวนครสวรรค์

ด้านการศึกษาเข้าศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน (พ.ศ. 2445-2450) ต่อมาในระดับมัธยมต้นได้ย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัย (พ.ศ. 2450-2453) และในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (พ.ศ. 2453-2455) ในปีสุดท้ายที่ศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2455 เข้ารับการศึกษาที่ Eastbourne College (พ.ศ. 2455-2457) ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457 สอบได้ Matriculation ซึ่งเทียบเท่าหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษา และวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2457 เข้าศึกษาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตร 3 ปี) ที่ King's College, University of Durham ต่อมาในปีประกาศนียบัตร Intermediate B. Sc. ต่อมาทางราชการได้มีคำสั่งย้ายไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากสงครามในทวีปยุโรป โดยเข้าศึกษาแขนงวิชาวิศวกรรมโยธา ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (หลักสูตร 4 ปี) แต่ศึกษาสำเร็จภายใน 3 ปี เนื่องจากได้รับโอนหน่วยกิตมาจากมหาวิทยาลัยเดิมในประเทศอังกฤษ 1 ปี และได้รับปริญญา B.S. in Civil Engineering และได้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง "Design of Double - Track Through Inclined Upper Chord and Sub-divided Panel R.R. Bridge"

ในปี พ.ศ. 2462 เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2472 และยังได้เป็นหัวหน้าแผนกวิชาวิศวกรรมโยธา (พ.ศ. 2480) และหัวหน้าแผนกสถาปัตยกรรม (พ.ศ. 2481) และเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (พ.ศ. 2485) และทำหน้าที่รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2495) จนเกษียณเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2499 หลังเกษียณได้รับต่ออายุราชการเป็นรายปีเรื่อยมา จนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติให้ได้รับพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และต่อมาวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2509 ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์อุปการคุณ

ด้านบทบาทการงาน ในช่วงปลายของชีวิตราชการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทในโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และต่อมาหลังจากที่ได้รับต่อเวลาราชการได้ช่วยราชการของการพลังงานแห่งชาติ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงฝ่ายไทย[4]

ครอบครัว[แก้]

พระเจริญวิศวกรรม สมรสกับนางสาวอรุณ ชูพันธุ์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 ซึ่งเป็นบุตรีคนโตของขุนพินิชพัสดุและนางซวน ชูพันธุ์ มีบุตรด้วยกัน 4 คนคือ

  • นางอุษา (เชนะกุล) เวย์ส
  • นายจุลวัฒน์ เชนะกุล (มีบุตรชาย 2 คนชื่อ นาย แมนสรรค์ เชนะกุล และ นายแพทย์ฉันทวัฒน์ เชนะกุล บุตรสาว 1 คนชื่อ นางปริย เชนะกุล)
  • นางนิศา เชนะกุล
  • นางนงนุช (เชนะกุล) ทองเจือ

ผลงาน[แก้]

  • หนังสือ
    • กลศาสตร์ประยุกต์
    • คำนวณออกแบบเสริมเหล็กคอนกรีต
    • เรขาสถิตยศาสตร์
  • สิ่งก่อสร้าง
    • สนามศุภชลาศัย (ออกแบบและคำนวณหลังคาที่ไม่มีเสาค้ำของอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตก)[5]

เกียรติยศ[แก้]

บรรดาศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. 2462: รองอำมาตย์เอก
  • พ.ศ. 2463: หลวงเจริญวิศวกรรม
  • พ.ศ. 2465: อำมาตย์ตรี
  • พ.ศ. 2466: อำมาตย์โท
  • พ.ศ. 2470: พระเจริญวิศวกรรม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ตำแหน่งทางวิชาการ[แก้]

  • พ.ศ. 2505: วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2509: ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมัญญานาม[แก้]

  • ผู้วางรากฐานให้แก่วงการวิศวกรรมศาสตร์ของไทย
  • บิดาแห่งวิศวกรไทย[2][3]

อ้างอิง[แก้]

  1. สมาชิกผู้ก่อตั้งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  2. 2.0 2.1 ‘บ้านคุณพระเจริญฯ’หรือ‘อริยศรมวิลล่า’
  3. 3.0 3.1 อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์
  4. หนังสือ อนุสรณ์ ศาสตราจารย์พระเจริญวิศวกรรม จัดพิมพ์โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2530
  5. บทความ ผู้สร้างตำนานอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตก พระเจริญวิศวกรรม
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๐๖
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๖๗ ง หน้า ๖๓๕๑, ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๓
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๗๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘๘, ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๔