พระอุทัยประเทศ (บัว นิวงษา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระอุทัยประเทศ (บัว นิวงษา)
เจ้าเมืองรามราช, เจ้าเมืองลำ, เจ้าเมืองฮาม
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดเมืองเซียงฮ่ม ราชอาณาจักรล้านช้าง
เสียชีวิตเมืองรามราช ราชอาณาจักรล้านช้างสมัยประเทศราช
ศาสนาศาสนาพุทธและศาสนาผีบรรพบุรุษ

พระอุทัยประเทศ (บัว นิวงษา) เจ้าเมืองฮามองค์แรก เจ้าเมืองลำองค์แรก และเจ้าเมืองรามราชองค์แรก ปัจจุบันคือตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มีนามเดิมว่า ท้าวบัว หรือ อาชญาบัว สืบเชื้อสายจากเจ้านายเผ่ากะโซ่หรือโส้เมืองเซียงฮ่ม (เซียงฮม) ในลาว เป็นต้นตระกูล นิวงษา และ แก้วนิวงศ์ ของตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม [1]

ประวัติ[แก้]

อพยพไพร่พล[แก้]

พ.ศ. 2376 หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2348-2371) เสร็จสิ้น พระเจ้าแผ่นดินญวนส่งกองทัพเข้ายึดหัวเมืองต่าง ๆ ของล้านช้างตอนใต้และเขมรเพื่อขยายอิทธิพลทางการเมือง ราษฎรลาวบรรดาเผ่าแถบหัวเมืองลาวอีสานตอนล่างถูกรบกวน ฝ่าย ร.3 ของสยามเห็นเป็นโอกาสยึดครองล้านช้างบ้างจึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพยกไปรบญวนที่อาณาจักรเขมรและไซ่ง่อน เพื่อตัดกำลังญวนไม่ให้มีอิทธิพลเหนือล้านช้างและเขมร สงครามระหว่างทัพญวนกับสยามยืดเยื้อเป็นเวลานานจน พ.ศ. 2390 จึงยุติลงโดยสยามพ่ายแพ้แล้วทำสัญญาสงบศึกกับญวน สงครามนี้เรียกว่าอานามสยามยุทธ์ ผลพวงทำให้ราษฎรลาวบรรดาเผ่าในล้านช้างตอนใต้เดือดร้อน ถูกญวนและสยามกดขี่ข่มเหงกะเกณฑ์ไพร่พลเสบียงอาหารเพื่อเป็นกำลังแก่ทั้งสองฝ่าย ราษฎรที่เดือดร้อนพากันละทิ้งบ้านเรือนอพยพมาฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจำนวนมาก ฝ่ายท้าวบัวกรมการเมืองเซียงฮ่มบุตรของท้าวนิเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของเมือง เป็นหัวหน้าอพยพไพร่พลภูไทและโซ่จากเมืองเซียงฮ่มและเมืองผาบังทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต จำนวน 449 คน[2] บ้างว่า 458 คน ขึ้นมาทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงแม่น้ำท่าแขกแล้วพักไพร่พลอยู่[3]

เป็นเจ้าเมืองฮาม[แก้]

จดหมายเหตุตำนานเมืองท่าอุเทนของหลวงชำนาญอุเทนดิษฐ์ (บาฮด กิตติศรีวรพันธุ์) ระบุว่าพระสุนทรราชวงศามหาขัติยชาติ (ฝ้าย ปทุมชาติ) เจ้าประเทศราชนครพนมและยศสุนธร (ยโสธร) ขณะนั้น เกลี้ยกล่อมราษฎรลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเพื่อไม่ให้เป็นกำลังแก่นครเวียงจันทน์และญวน ท้าวบัวจึงพาไพร่พลลงเรือข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งขวาในเขตแดนเมืองนครพนม แล้วไปตั้งอยู่ที่ดอนนาเมืองฮามสร้างบ้านเรือนอยู่หนาแน่น จากนั้นเข้าพบพระสุนทรราชวงศาเพื่อขอเป็นเมืองส่วย พ.ศ. 2380 พระสุนทรราชวงศาให้ท้าวบัวและไพร่พลสร้างเมืองทางทิศตะวันออกของนครพนมบริเวณดอนนาเมืองฮามแล้วให้ชื่อว่า เมืองฮาม ตั้งท้าวบัวเป็นเจ้าเมืองฮามขึ้นตรงต่อนครพนม ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่บ้านยอดชาติ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม[4]

เป็นเจ้าเมืองลำ[แก้]

เมืองฮามเดิมตั้งอยู่บนพื้นที่แห้งแล้งกันดารเพาะปลูกได้ผลผลิตน้อยราษฎรทำมาหากินฝืดเคือง ต่อมาท้าวบัวเจ้าเมืองอพยพไพร่พลจำนวนหนึ่งออกเที่ยวป่าล่าสัตว์หาของป่าคล้องช้างป่ามาใช้งาน[5] ครั้นเดินทางมาถึงหนองขุ่นหรือบุ่งเค็มเห็นเป็นพื้นที่มีทำเลดีอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้และแหล่งน้ำ มีสัตว์ป่ามาก สัตว์น้ำกบเขียดชุกชุมและอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนครพนม ทั้งปรากฏลำน้ำสายหนึ่งมีน้ำไหลตลอดปี ท้าวบัวและไพร่พลพบหมูป่าขาพิการ (ขาเค) ตัวหนึ่งมีอาการตื่นกลัวผู้คนวิ่งขาเขยกลงในลำห้วยนั้นแล้วว่ายขึ้นฝั่งตรงข้ามเข้าป่าหายไป จึงเรียกลำน้ำนั้นว่า ห้วยหมูขาเค ต่อมาเพี้ยนเป็น ห้วยหมูเค แล้วกร่อนเสียงเป็น ห้วยมุเค ในปัจจุบัน เมื่อกลับจากการเที่ยวป่าท้าวบัวได้นำราษฎรอพยพมาสร้างเมืองใหม่ ณ แห่งนี้ แล้วแจ้งต่อพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองนครพนม เจ้าเมืองนครพนมจึงตั้งนามเมืองว่า เมืองลำ ด้วยอาศัยนิมิตนามเมืองจากชื่อเมืองฮามเดิม ซึ่งชาวลาวนิยมออกเสียง ล หรือ ร เป็น ฮ และอาศัยลำห้วยมุเคเป็นนิมิต คนทั่วไปเรียกที่ตั้งเมืองลำว่า บ้านนาซาวหนองขุ่น ท้าวบัวได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองลำขึ้นตรงต่อนครพนมตามเดิม ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนของเมืองเป็นทุ่งนาและป่าไม้ดอนหอปู่ตาใกล้ถนน รพช. ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและฝั่งขวาลำห้วยมุเคด้านทิศใต้เยื้องฝั่งบ้านรามราช[6]

ไพร่พลอพยพกลับคืนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง[แก้]

ครั้นตั้งเมืองแล้วราษฎรภูไทเมืองลำกลุ่มหนึ่งคิดถึงเมืองเซียงฮ่มถิ่นฐานเดิม จึงขออนุญาตเจ้าเมืองอพยพข้ามน้ำโขงไปฝั่งซ้าย แต่ทราบข่าวว่าเมืองเซียงฮ่มอยู่ใต้อิทธิพลญวนจึงเปลี่ยนใจไปตั้งบ้านเมืองอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองท่าแขกฝั่งตรงข้ามนครพนมแล้วให้ชื่อว่า เมืองลำ เช่นเดียวกับฝั่งขวา ปัจจุบันถูกลดฐานะเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตปกครองแขวงคำม่วน อยู่ตรงข้ามบ้านเมืองเก่า (เมืองเก่าหนองจันทร์) และบ้านท่าค้อของฝั่งขวา ห่างจากแม่น้ำโขงลึกเข้าไปราว 10 กิโลเมตร เรียกว่า บ้านลามมะลาด ออกเสียงเหมือน บ้านรามราช ในตำบลรามราชของนครพนม[7]

เป็นเจ้าเมืองรามราช[แก้]

เมืองลำทางฝั่งขวาตั้งบนพื้นที่ลุ่มเมื่อฤดูฝนน้ำจากลำห้วยมุเคไหลบ่าท่วมบ้านเรือนเกือบทุกปี ราษฎรได้รับความลำบากมาก ท้าวบัวจึงอพยพย้ายบ้านเรือนข้ามห้วยมุเคมาสร้างเมืองใหม่บนพื้นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงเรียกว่า โคกจั๊กจั่น คือบริเวณหมู่บ้านรามราชในปัจจุบัน แล้วแจ้งแก่เจ้าเมืองนครพนม เจ้าเมืองนครพนมพิจารณาเห็นว่าเมืองลำใหม่เป็นชุมชนใหญ่มีราษฎรมาก บ้านเรือนสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง มั่นคงถาวรดี ทั้งเจ้าเมืองก็ปกครองราษฎรด้วยความเข้มแข็งสงบเรียบร้อยดี พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองนครพนมมีใบบอกแจ้งไปยังกรุงเทพฯ[8] นำความทูลพระกรุณาทราบฯ พ.ศ. 2388 ร.3 เห็นเป็นโอกาสดีที่หัวเมืองลาวเข้ามาเป็นกำลังแก่ตน จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราฯ ยกบ้านเมืองลำ (ภาษาไทยออกนามว่าบ้านเมืองราม) เป็น เมืองรามราช พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ท้าวบัวเป็นที่ พระอุทัยประเทศ เจ้าเมืองรามราช[9] ขึ้นตรงต่อเมืองนครพนมตามเดิม คำว่าอุทัยประเทศหมายถึงเมืองแห่งพระอาทิตย์แรกขึ้นหรือเมืองทางตะวันออก สันนิษฐานว่าตั้งให้มีความหมายคล้องกับชื่อเมืองท่าอุเทน โดยแต่งตั้งคณะอาญาเมืองรามราชตามธรรมเนียบการปกครองหัวเมืองลาวคือ ท้าวคำผาลเป็นอุปฮาด ท้าวบุญตั้งเป็นราชวงศ์ ท้าวผูยเป็นราชบุตร[10] ในเอกสารพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ระบุถึงการตั้งเมืองรามราชว่า

"...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดการบ้านเมืองทุกสิ่ง ได้ทำปืนจ่ารงครํ่าเงิน กระสุน 4 นิ้ว 5 นิ้วขึ้นไว้ก็มาก ได้ยกบ้านขึ้นเป็นเมืองก็หลายตำบล เมืองขึ้นมหาดไทย บ้านกบแจะยกขึ้นเป็นเมืองประจันตคาม 1 ยกด่านหณุมานขึ้นเป็นเมืองกระบินทรบุรี 1 บ้านหินแร่ยกขึ้นเป็นเมืองอรัญญประเทศ 1 บ้านทุ่งแขยกขึ้นเป็นเมืองวัฒนานคร 1 บ้านท่าสวายเป็นเมืองศรีโสภณ 1 บ้านขั้วเป็นเมืองอำนาจเจริญ 1 บ้านช้องนางเป็นเมืองเสนางคนิคม 1 บ้านลำเนาหนองปรือเป็นเมืองลำเนาหนองปรือ 1 บ้านโพธิ์แล่นช้างเป็นเมืองภูแล่นช้าง 1 บ้านท่าขอนยางเป็นเมืองท่าขอนยาง 1 บ้านแซงบาดาลเป็นเมืองแซงบาดาล 1 บ้านกุจฉินารายน์เป็นเมืองกุจฉินารายน์ 1 บ้านคางรายเป็นเมืองเรณูนคร 1 บ้านนาเมืองรามเป็นเมืองรามราช 1 บ้านนาลาดควายเป็นเมืองอาทมาต 1 บ้านท่าม่วงเป็นเมืองอากาศอำนวย 1 บ้านหนองคายเป็นเมืองหนองคาย 1 บ้านโพนแพงเป็นเมืองโพนพิสัย 1 บ้านปากน้ำสงครามเป็นเมืองไชยบุรี 1 บ้านคำแก้วเป็นเมืองคำเขื่อนแก้ว 1 บ้านสวยหางเป็นเมืองสะเมียะ 1 บ้านภูเวียงเป็นเมืองภูเวียง 1 บ้านปากเหืองเป็นเมืองเชียงคาน 1 บ้านคำทองน้อยเป็นเมืองคำทองน้อย 1 บ้านเซสำเภาเป็นเมืองเซสำเภา 1 ตำบลซึ่งขึ้นฝ่ายกรมพระกลาโหมนั้น บางตะพานตั้งเป็นเมืองกำเนิดนพคุณ หัวเมืองกรมท่านั้น พวกลาวอาสาปากน้ำตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบายขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึ่งโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรามาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทรอาษา รวมยกบ้านขึ้นเป็นเมือง 28 หัวเมือง..." [11] ส่วนจดหมายเหตุของหลวงชำนาญอุเทนดิษฐิ์ (บาฮด กิติศรีวรพันธุ์) ระบุว่า ถึงปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช 1200 พ.ศ. 2381 เป็นปีที่ 15 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงเทพมหานคร ทรงมีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้เมืองท่าอุเทนขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร เป็นหัวเมืองจัตวา ขาดจากการปกครองของเมืองยโสธรและนครพนม แล้วให้เมืองรามราชเป็นเมืองขึ้นกับเมืองท่าอุเทน[12]ปัจจุบันเมืองรามราชคือพื้นที่ตำบลรามราช ตำบลพระทาย ตำบลท่าจำปา ในอำเภอท่าอุเทน และตำบลโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม[13]

สร้างบ้านแปลงเมือง[แก้]

หลังสร้างเมืองไม่นานมีชาวภูไทเมืองผาบังเมืองแฝดของเมืองเซียงฮ่มกลุ่มหนึ่ง มีท้าวแก้วกรมการเมืองผาบังเป็นหัวหน้า พาไพร่พลอพยพหลบภัยเสาะหาทำเลที่ตั้งบ้านเรือน ภายหลังทราบข่าวว่าญาติพี่น้องชาวเซียงฮ่มกลุ่มหนึ่งอพยพมาสร้างเมืองรามราชซึ่งอุดมสมบูรณ์ปกติสุขดี จึงพาไพร่พลอพยพข้ามโขงมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองรามราชด้วย ฝ่ายพระอุทัยประเทศ (บัว) เจ้าเมืองเห็นว่าไพร่พลที่อพยพมาพร้อมท้าวแก้วมีจำนวนมาก เป็นแรงงานสำคัญในการสร้างบ้านแปลงเมืองจึงรับไว้และขอแบ่งแรงงานไพร่พลของท้าวแก้วเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้สร้างวัดวาอาราม ศาลา ถนนหนทาง ขุดบ่อน้ำลอกห้วยหนอง อีกส่วนให้หาของป่าล่าสัตว์ เมื่อล่าได้เนื้อสัตว์ หนัง เขา สมุนไพร ไม้จันทน์ ครั่ง น้ำมันยาง ชัน (ขี้ซี) เป็นต้น ให้นำมาถวายเจ้าเมืองแทนการเกณฑ์แรงงาน จากนั้นเจ้าเมืองจะแบ่งบรรณการไปถวายเจ้าเมืองนครพนม

สกุลที่สืบเชื้อสาย[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนชาวไทยมีการตั้งนามสกุลไว้สืบตระกูลเหมือนกับประเทศอื่นๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456[14] บรรดาทายาทบุตรหลานผู้สืบเชื้อสายจากพระอุทัยประเทศ (บัว) ได้พร้อมใจกันจัดตั้งสกุลขึ้นดังนี้

สกุลนิวงษา[แก้]

หลังการยุบเมืองรามราชลงเป็นตำบลแล้ว ทายาทบุตรหลานและราษฎรบ้านรามราชที่สืบเชื้อสายมาจากพระอุทัยประเทศ (บัว) และที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงฮ่มทั้งหมด ได้ตั้งสกุลขึ้นว่า นิวงษา คำว่า นิ มาจากพระนามของ ท้าวนิ กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ของเมืองเชียงฮ่ม ผู้เป็นพระบิดาของพระอุทัยประกาศ (บัว) เจ้าเมืองรามราชองค์แรก นิวงษาจึงหมายถึงผู้สืบเชื้อสายมาแต่ท้าวนิ อย่างไรก็ตาม ทายาทบางส่วนมีการเขียนนามสกุลเป็น นีวงษา ก็มี[15]

สกุลแก้วนิวงศ์[แก้]

ในขณะที่ทายาทบุตรหลานของพระอุทัยประเทศ (บัว) ซึ่งสืบเชื้อสายบรรพบุรุษมาจากเมืองเชียงฮ่มพากันตั้งสกุลขึ้นแล้ว ฝ่ายทายาทบุตรหลานของท้าวแก้วที่อพยพมาจากเมืองผาบังก็ได้ตั้งสกุลขึ้นว่า แก้วนิวงศ์ ให้สอดคล้องกัน คำว่า แก้ว มาจากนามของท้าวแก้วกรมการเมืองผาบังผู้นำการอพยพ คำว่า นิ มาจากพระนามของ ท้าวนิ กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ของเมืองเชียงฮ่ม ผู้เป็นพระบิดาของพระอุทัยประกาศ (บัว) เจ้าเมืองรามราชองค์แรก จึงเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า ราษฎรเมืองรามราชผู้ใช้สกุลนิวงษาคือผู้ที่มาจากเมืองเชียงฮ่ม ส่วนราษฎรเมืองรามราชผู้ใช้สกุลแก้วนิวงศ์คือผู้ที่มาจากเมืองผาบัง[16]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  2. http://www.nkp2day.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%[ลิงก์เสีย]
  3. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  4. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-01. สืบค้นเมื่อ 2017-05-31.
  6. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  7. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  8. ww.wemansion.com/Member/donut2364/Thaibru.html
  9. จดหมายเหตุ ร.3 จ.ศ. 1207 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ
  10. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  11. http://vajirayana.org/%E0%B8%9E%[ลิงก์เสีย]
  12. http://www.baanmaha.com/community/threads/33053-
  13. https://it.toluna.com/opinions/2943061/7%E0%B8%8A%E0%[ลิงก์เสีย]
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-15. สืบค้นเมื่อ 2017-06-01.
  15. http://oknation.nationtv.tv/blog/dhiwakorn/2010/12/13/entry-2/comment
  16. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html