สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร วโรฬารลักษณสมบัติ รัตนกุมารี
เจ้าฟ้าชั้นโท
กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
ประสูติ15 เมษายน พ.ศ. 2416
พระบรมมหาราชวัง จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
สิ้นพระชนม์21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 (31 ปี)
พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศสยาม
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร วโรฬารลักษณสมบัติ รัตนกุมารี กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ (15 เมษายน พ.ศ. 2416 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์

พระประวัติ[แก้]

เมื่อแรกประสูติมีพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทราสรัทวาร ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่พระอรรคชายาเธอขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ดังนั้น พระองค์จึงได้รับสถาปนาเป็น พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร และเมื่อรับพระสุพรรณบัตรทรงเลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร วโรฬารลักษณสมบัติ รัตนกุมารี[1] พระองค์นับเป็นเจ้าฟ้าหญิงชั้นโทพระองค์แรกในรัชกาลที่ 5 ชาววังออกพระนามลำลองว่า "สมเด็จหญิงใหญ่"[2]

สิ้นพระชนม์[แก้]

ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร ได้ประชวรเป็นไข้พิษจนสิ้นพระชนม์ ณ วรนาฎเกษมสานต์ พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 123 เวลาเช้า 2 โมง 21 นาที[3] (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2448) เวลาบ่าย 5 โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงพระลอง แล้วเชิญพระศพไปขึ้นท่าราชวรดิฐด้วยเรือปราบปรปักษ์ แล้วขึ้นพระยานมาศ 3 คานเข้ากระบวนแห่ไปหอธรรมสังเวช ตั้งบนแว่นฟ้า 3 ชั้น ประกอบพระโกศกุดั่นใหญ่ พระสงฆ์มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นประธาน สวดสดับปกรณ์

ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ. 123 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร วโรฬารลักษณสมบัติ รัตนกุมารี กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์[4]

พระกรณียกิจ[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ ทรงสร้างสะพานโสภาคย์ โดยสร้างเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2444[5] นอกจากนี้ยังทรงเป็นองค์อุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย)[6]

พระเกียรติยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ[แก้]

  • พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทราสรัทวาร (15 เมษายน พ.ศ. 2416 – พ.ศ. 2431)
  • พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร (พ.ศ. 2431)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร วโรฬารลักษณสมบัติ รัตนกุมารี (พ.ศ. 2431 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448)

ภายหลังการสิ้นพระชนม์

  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร วโรฬารลักษณสมบัติ รัตนกุมารี กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ (1 มีนาคม พ.ศ. 2448)
  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร วโรฬารลักษณสมบัติ รัตนกุมารี กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร วโรฬารลักษณสมบัติ รัตนกุมารี กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเลื่อนพระนามพระอัครชายาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า มีพระบรมราชโองการสั่งให้สถาปนา พระอัครชายาเธอ หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีมาศ และพระอัครชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ขึ้นเป็น พระองค์เจ้า และสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอ และเจ้าฟ้า, เล่ม ๕, ตอน ๘, ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๑๘๘๘, หน้า ๖๑
  2. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2548. 398 หน้า. ISBN 974-322-964-7
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2012-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, ตอน ๔๘, ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๘๙๓
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกรม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร เก็บถาวร 2012-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, ตอน ๕๐, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๙๓๐
  5. "การเปิดสะพานโสภาคย์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 (3): 29. 21 เมษายน พ.ศ. 2444. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-28. สืบค้นเมื่อ 2006-08-20.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 10, ตอน 35, 26 พฤศจิกายน ร.ศ. 112, หน้า 375