พระสุนทรราชเดช (แข้ ปะทุมชาติ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำมาตย์ตรี พระสุนทรราชเดช
(แข้ ปะทุมชาติ)
ผู้ว่าราชการเมืองยโสธร
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2440 - พ.ศ. 2456
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้านายร้อยโท ขุนราญอริพล (สอน)
ถัดไปยุบเมืองยะโสธรลงเป็นอำเภอปจิมยะโสธร และอำเภออุทัยยะโสธร จังหวัดอุบลราชธานี มณฑลอีสาน
ผู้ช่วยราชการเมืองยโสธร
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2438 - พ.ศ. 2440
ก่อนหน้าหลวงศรีวรราช
ถัดไปไม่มี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดเมืองยะโสธร
เสียชีวิตเมืองอุบลราชธานี
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสไม่ทราบข้อมูล
บุตรไม่ทราบข้อมูล
บุพการี
สกุลปะทุมชาติ

อำมาตย์ตรี พระสุนทรราชเดช นามเดิม แข้ ปะทุมชาติ[หมายเหตุ 1] เป็นขุนนางชาวสยาม ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร คนที่ 3 เป็นบุตรของท้าวจันทร์ชมภู (ทุน) กรมการเมืองยะโสธร อันสืบเชื้อสายเจ้านายราชวงศ์เเสนทิพย์นาบัวจากเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภู)

รับราชการเมืองยะโสธร[แก้]

พ.ศ. 2437 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จขึ้นมาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ประทับที่เมืองอุบลราชธานี ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายร้อยโทสอน เป็นที่ข้าหลวงจัดราชการเมืองยะโสธร และตั้งให้อุปราช (แก่) ขึ้นเป็นที่พระสุนทรราชเดช ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร คนที่ 1 ตั้งให้ราชบุตร (หนู / หุน) ขึ้นเป็นที่ราชวงศ์เมืองยะโสธร และตั้งให้ท้าวขัติยะ (แข้) ผู้ช่วยพิเศษ ขึ้นเป็นที่ราชบุตรเมืองยะโสธร

พ.ศ. 2438 พระสุนทรราชเดช (แก) ถึงแก่อนิจกรรมลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายร้อยโทสอน ขึ้นเป็นที่ขุนราญอริพล (สอน) ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร คนที่ 2 และตั้งให้ท้าวขัติยะ (แข้) ขึ้นเป็นที่หลวงศรีวรราช ผู้ช่วยราชการเมืองยะโสธร

พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จขึ้นมาประทับที่เมืองยะโสธร ทรงโปรดเกล้าฯ

  • ราชวงศ์เมืองยะโสธร (ทองดี โพธิ์ศรี) เป็นที่ หลวงยศไกรเกรียงเดช ตำแหน่งยกบัตรเมืองยะโสธร
  • ท้าวโพธิสาร (ตา ไนยกุล) เป็นที่ หลวงยศเยศร์รามฤทธิ์ ตำแหน่งนายอำเภออุทัยยะโสธร
  • ท้าวสิทธิสาร (สมเพศ) เป็นที่ หลวงยศวิทยธำรง ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองยะโสธร
  • เมืองจันทร์ (ฉิม) เป็นที่ หลวงยศเขตรวิมลคุณ ตำแหน่งนายอำเภอปจิมยะโสธร

พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองยโสธรจึงถูกจัดอยู่ในมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งกองบัญชาการมณฑลที่เมืองอุบลราชธานี และ พ.ศ. 2445 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้

  • ซานนท์ (ชาย) เป็นที่ หลวงยศอดุลผลิตเดช ตำแหน่งพลเมืองยะโสธร

กบฏผีบุญผีบาป[แก้]

พ.ศ. 2443 เกิดกบฎผีบุญผีบาปขึ้นจนเป็นที่เล่าลือกันทั่วทั้งมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือว่า ผู้มีบุญจะมาเกิดเพื่อปราบยุคเข็ญ โดยให้ชาวบ้านทำบุญ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม เพราะโค กระบือ สุกร จะกลายเป็นยักษ์มากินคนบาป ฟักทอง ฟักเขียว จะกลายเป็นสัตว์ร้ายมาทำอันตรายมนุษย์ หินแร่จะกลายเป็นทองคำ ทองคำจะกลายเป็นหิน จนมีผู้คนหลงเชื่อมากมายนำโค กระบือ สุกรไปฆ่าทิ้ง ทำลายต้นฟักทองฟักเขียวจนหมดสิ้น และทองคำก็นำไปทิ้งลงแม่น้ำชีบริเวณพระธาตุเก่า (ปัจจุบันคือ วัดพระธาตุเก่า ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร) แล้วเก็บเอาหินแร่ที่เมืองเสลภูมิมาบูชาหวังจะให้กลายเป็นทองคำ

ในเหตุการณ์นี้ได้มีผู้ตั้งตนเป็นผีบุญอยู่หลายคน แสดงตนเป็นพระยาธรรมิกราช เคร่งครัดในพระพุทธศาสนา มีฤทธิ์ดำดินบินบนล่องหนหายตัว อาทิ พระครูอินทร์บ้านหนองอีตุ้ม พระครูอนันตนิคมเขตวัดสิงห์ท่า องค์ผ้าขาวบ้านหนองแซง องค์มั่นบ้านสะพือ องค์พรหมมาบ้านแวง และองค์ลิ้นก่าน เป็นต้น มีผู้นิยมเข้าพวกผีบุญเป็นจำนวนมาก และรวมตัวกันเป็นกองทัพพร้อมอาวุธเข้าโจมตีเมืองอุบลราชธานี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงขอกองทัพจากกรุงเทพฯ ปราบปรามกบฏผีบุญผีบาป จับตัวผีบุญทั้งหลายไปจองจำ และประหารชีวิตที่ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลราชธานี กบฏผีบุญผีบาปจึงสงบลง

เสด็จตรวจราชการเมืองยะโสธร[แก้]

วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่ง 20 นาที พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ทรงเสด็จจากที่ประทับแรมพลับพลาบ้านนากอก แขวงเมืองมุกดาหาร ข้ามป่าดงบังอี่มายังเมืองยโสธร เวลาเช้า 5 โมงถึงตำบลกุดเชียงหมี ระยะทาง 180 เส้น มีที่พักแรม รวมระยะทางวันนี้ 480 เส้น มีข้าราชการมณฑลอีสานมารับคือ หลวงสถานบริรักษ์ กรมวัง และพระอุบลเดชประชารักษ์ ปลัดรักษาราชการเมือง พระอุบลศักดิ์ประชาบาล ยกกระบัตรเมืองอุบลราชธานี และกรมการอำเภอต่าง ๆ หลายนาย

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักแรมตำบลกุดเชียงหมี ข้ามลำน้ำเซแดนเมืองเสนางคนิคมกับแดนเมืองยโสธรต่อกัน แล้วเข้าทางเขตบ้านฮ่องแซง (ตำบลห้องแซง) ถึงปากดงภูสะมากัง หรือบ้านคำบอน เวลาเช้าโมงครึ่งกับ 25 นาที ระยะทาง 258 เส้นมีที่พักร้อน ชาวบ้านมาหา ซึ่งชาวบ้านนี้เป็นผู้ไทยเดินมาจากเมืองตะโปน เวลาเช้า 3 โมงครึ่ง เดินทางต่อมาเข้าดงสะมากัง เป็นดงมีไม้งาม ๆ และมีไม้ยมผาอย่างไม้ทำหีบบุหรี่ฝรั่ง เป็นดงเล็กกว่าดงบังอี่ และหนทางเรียบร้อยดี เวลาเช้า 5 โมงพ้นดงสะมากัง ถึงที่พักแรมตำบลบ้านส้มพ้อ (ตำบลส้มผ่อ) ระยะทาง 260 เส้น รวมระยะทางวันนี้ 516 เส้น นายร้อยเอกหลวงสมรรถสรรพยุทธ ข้าหลวงโยธามณฑลอีสานมาคอยรับ

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักแรมบ้านส้มพ้อมาตามเขตบ้านนาฮีแล้วเข้าเขตบ้านคำไหล ระยะทาง 306 เส้น ถึงที่พักร้อนเวลาเช้าโมงหนึ่งกับ 45 นาที เวลาเช้า 3 โมงออกจากที่พักร้อนออกจากเขตบ้านคำไหลเข้าเขตบ้านตาสืม แล้วถึงบ้านนาซึมที่พักแรมเวลาเช้า 3 โมง 50 นาที ระยะทาง 211 เส้น รวมระยะทางวันนี้ 515 เส้น

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักแรมบ้านนาซึมทางมาเป็นโคกไม้เล็ก ๆ หนทางที่ตัดแลดูแต่ไกลเห็นทิวไม้สองข้างทางข้างหน้าซึ่งงามดี และที่ริมหนทางที่มามีที่นาดี ๆ เป็นอันมาก เมื่อเวลาออกจากบ้านนาซึมเข้าเขตบ้านนาโป่ง และบ้านเผือฮี มีสระน้ำริมทางแล้วเข้าเขตบ้านนาซวยใหญ่ บ้านนาซวยน้อย ถึงบ้านนาสีนวลที่พักร้อนเวลาเช้า 2 โมง ระยะทาง 377 เส้น เวลาเช้า 3 โมง ออกจากบ้านนาสีนวล พ้นเขตบ้านนาสีนวลมาเข้าเขตบ้านหนองสรวง บ้านหนองแวง และบ้านคำหม้อ ถึงเมืองยโสธร เวลาเช้า 4 โมงครึ่ง ระยะทาง 266 เส้น รวมระยะทางวันนี้ 643 เส้น มีหลวงศรีวรราช (แข้) ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร และหลวงยศไกรเกรียงเดช (ทองดี) ยกกระบัตรเมืองยะโสธร พร้อมกรมการเมืองยะโสธรคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่

ในการที่มามณฑลอีสานคราวนี้ อยากจะไปเฝ้ากรมขุนสรรพสิทธิที่เมืองอุบล แต่เป็นการขัดข้องด้วยข้าหลวงปักปันแดนกับฝรั่งเศสจะประชุมกันที่เมืองอุบล กรมขุนสรรพสิทธิท่านทรงติดพระธุระกับแขกเมือง จะไปเพิ่มความลำบากถวายหาควรไม่ จึงกะทางหลีกมาเสียเมืองยโสธรห่างเมืองอุบลอยู่ 2 วัน ฝ่ายกรมขุนสรรพสิทธิเดิมก็จะเสด็จมาพบที่เมืองยะโสธร แต่เผอิญเวลานี้ข้าหลวงปักปันเขตแดนอยู่ที่เมืองอุบลราชธานีจึงเสด็จมาไม่ได้ ได้แต่สนทนากันโดยทางโทรศัพท์ เวลาบ่าย 4 โมงไปที่วัดพระธาตุ มีพระเจดีย์เก่าเป็นรูปปรางค์องค์หนึ่ง พระครูยโสธราจารย์เป็นเจ้าอาวาส และไปวัดสิงทาและวัดธรรมหายโศก ที่วัดธาตุและวัดธรรมหายโศกมีนักเรียนร้องคำชัยมงคล ทำนองสรภัญญะ ซึ่งพระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลได้เรียบเรียงส่งมา แลวัดธรรมหายโศกเป็นวัดธรรมยุติกา เวลาค่ำ มีหลวงเถกิงรณกาจ ผู้บังคับการตำรวจภูธร ได้จัดแคนวงกรมตำรวจภูธรมณฑลอีสานมาเล่นเวลากินด้วย

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาเช้าโมงหนึ่ง ไปดูตลาดและหมู่บ้านในเมืองยโสธร ๆ นี้ตั้งอยู่บนเนินใกล้ลำน้ำพาชีที่ว่าใกล้นี้มิใช่ริมน้ำอย่างเมืองที่ตั้งตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลำน้ำทางมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดร อีสาน เช่น ลำน้ำพาชีนี้เป็นต้นน้ำไหลลงแม่น้ำโขง เวลาฤดูฝนน้ำในแม่น้ำโขงมาก น้ำในลำน้ำเหล่านี้ไหลลงแม่น้ำโขงไม่ได้ก็ท่วมตลิ่งที่ลุ่มเข้าไปลึก ๆ บ้านเรือนต้องตั้งพ้นที่น้ำท่วมจึงมักอยู่ห่างตลิ่ง แต่เมื่อฤดูแล้งน้ำลดแห้งขอดก็กลายเป็นอยู่ดอน หาน้ำยากเป็นอย่างนี้แทบทั้งนั้น เว้นแต่บางแห่งเช่นเมืองอุบลเพราะที่ริมแม่น้ำมูลตรงนั้นเป็นที่ดอน เมืองจึงอยู่ชิดลำน้ำ ที่เมืองยโสธรนี้มีถนนใหญ่เป็นทางสี่แยก ริมถนนใหญ่เป็นทางสี่แยก ริมถนนใหญ่มีร้านเป็นตึกดินอย่างโคราช มีพ่อค้าจีนและพ่อค้าไทยมาจากโคราชตั้งขายของต่าง ๆ ซึ่งนำมาจากเมืองนครราชสีมามากร้านด้วยกัน และมีผ้าม่วงหางกระรอกและโสร่งไหมซึ่งทำในพื้นเมืองมาขายบ้างบางร้านหมู่บ้านราษฎรก็แน่นหนา มีจำนวนพลเมืองทั้งสิ้นประมาณ 30,000 คน มีถนนเล็ก ๆ เดินถึงกันในหมู่บ้าน แต่เป็นที่มีฝุ่นมาก สินค้าพื้นเมืองยโสธรส่งไปขายเมืองนครราชสีมา มีหนัง เขา เร่ว ครั่ง และไหม ได้ความว่าใน ๕ ปีมานี้สินค้าไหมทวีมากขึ้น สินค้าฝั่งซ้ายมาทางเมืองมุกดาหารมาขายถึงเมืองยโสธร มียางกะตังกะติ้วบ้าง และยางกะตังกะติ้วนี้ได้มาจากเมืองหนองสูงข้างฝั่งขวาก็มี และมีพ่อค้าซื้อโคกระบือไปขายคราวหนึ่ง ตั้งแต่ 400 ถึง 500 บ้าง ลงทางดงพระยาไฟไปขายที่ปากเพรียวทางหนึ่ง ลงทางดงพระยากลางไปขายที่อำเภอสนามแจงแขวงเมืองลพบุรีทางหนึ่ง ลงทางช่องตะโกไปขายที่เมืองพนัสนิคม พนมสารคามและเมืองนครนายกทางหนึ่ง แต่เดิมลงทางช่องเสม็ด แต่เดี๋ยวนี้ใช้ลงทางช่องตะโก เพราะเป็นทางสะดวกกว่า พ่อค้าที่ไปปากเพรียวนำกระบือลงไปขายเป็นพื้น พ่อค้าที่ไปสนามแจงนำโคลงไปขาย พ่อค้าที่ไปมณฑลปราจีนบุรีมีกระบือ และโคคละไปด้วยบ้าง ฟังดูตามเสียงพ่อค้าว่าการนำโคลงไปขาย ได้กำไรมากกว่ากระบือเพราะโคเลี้ยงง่าย กระบือเมื่ออดน้ำมักจะเป็นอันตรายตามทาง เวลาเช้า 4 โมงครึ่งมีการประชุมบายศรี ผู้เฒ่าคนหนึ่งกล่าวคำชัยมงคลเป็นทำนองไพเราะ และวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่ง เสด็จออกจากที่พักแรมเมืองยะโสธรไปยังเมืองเสลภูมิ

ปฏิรูปการปกครอง[แก้]

พ.ศ. 2452 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเมืองเขมราฐ ลงเป็นอำเภออุทัยเขมราฐ ยุบอำเภอคำเขื่อนแก้วลงเป็นตำบลคำเขื่อนแก้ว และยุบอำเภอปจิมเขมราฐรวมกับอำเภออุทัยเขมราฐ ส่วนอำเภอที่อยู่ในเขตการปกครองเมืองเขมราฐเดิมนั้น ให้มารวมอยู่ในเขตการปกครองของเมืองยะโสธร รวม 6 อำเภอ ได้แก่

พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบอำเภอวารินทร์ชำราบ เมืองยะโสธร บริเวณอุบลราชธานี โดยให้ท้องที่ตำบลต่าง ๆ ของอำเภอวารินทร์ชำราบนั้น ไปรวมกับอำเภอพิมูลมังษาหาร และตำบลอีกส่วนหนึ่งไปรวมกับอำเภอบูรพูปลนิคม (อำเภอเมืองอุบลราชธานี)

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ผู้บัญชาการกองพลที่ 10 เสด็จขึ้นมาตรวจราชการที่เมืองยะโสธร และปีนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกมณฑลอีสาน เป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด โดยกำหนดให้มณฑลอุบลราชธานี มี 3 จังหวัด คือ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขุขันธ์ และจังหวัดสุรินทร์ จึงทำให้เมืองยะโสธรก็ถูกยุบลงเป็น 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปจิมยโสธร และอำเภออุทัยยะโสธร ส่งผลให้อำเภอต่าง ๆ ที่เคยขึ้นกับเมืองยะโสธร ถูกโอนย้ายให้อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2456 กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่ออำเภอในจังหวัดอุบลราชธานีให้เหมาะสม การนี้จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภออุไทยยะโสธร เป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว และอำเภอปจิมยะโสธร เป็นอำเภอยะโสธร

ตำแหน่งและหน้าที่[แก้]

  • ไม่ปรากฏ - พ.ศ. 2437 ท้าวขัติยะ
  • พ.ศ. 2437 - 2438 ราชบุตรเมืองยะโสธร
  • พ.ศ. 2438 - 2440 หลวงศรีวรราช ผู้ช่วยราชการเมืองยะโสธร
  • พ.ศ. 2440 - 2455 พระสุนทรราชเดช ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร
  • พ.ศ. 2455 - 2456 อำมาตย์ตรี กรมการพิเศษ อำเภอยะโสธร จังหวัดอุบลราชธานี

พระราชทานนามสกุล[แก้]

๏ ลำดับที่ 3289 ขอให้นามสกุลของอำมาตย์ตรี พระสุนทรราชเดช (แข้) กรมการพิเศษอำเภอยะโสธร จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อท้าวจันทร์ชมภู (ทุน) ตามที่ขอมานั้นว่า ปะทุมชาติ (เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า Padumajati) อันเป็นมงคลนาม

ขอให้สกุล ปะทุมชาติ มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน ๏๚ะ๛

ผลงาน[แก้]

  • พงศาวดารภาคอีสาน พ.ศ. 2472 ฉบับพระสุนทรราชเดช (แข้ ปะทุมชาติ)

หมายเหตุ[แก้]

  1. สำหรับชื่อตัวนั้น บ้างสะกดว่า "แข่" และบ้างเรียกด้วยคำนำหน้าว่า "ท้าว" เป็น "ท้าวแข้" หรือ "ท้าวแข่"

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า พระสุนทรราชเดช (แข้ ปะทุมชาติ) ถัดไป
นายร้อยโท ขุนราญอริพล (สอน)
ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร คนที่ 3
(พ.ศ. 2440 - พ.ศ. 2456)
ไม่มี