พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระศาสนโศภน

(แจ่ม จตฺตสลฺโล)
ส่วนบุคคล
เกิด18 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 (70 ปี 191 วัน ปี)
มรณภาพ25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาบาเรียนเอก (เทียบเท่าเปรียญธรรม 7 ประโยค)
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม

พระศาสนโศภน นามเดิม แจ่ม ฉายา จตฺตสลฺโล เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกาย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม รองประธานสังฆสภา และแม่กองธรรมสนามหลวงรูปแรก

ประวัติ[แก้]

ชาติกำเนิด[แก้]

พระศาสนโศภน เกิดเมื่อวันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2418[1] เวลา 07.30 น. ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน เป็นบุตรนายพ่วงกับนางเอี่ยม บิดาท่านเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านตำหนัก อำเภอเมืองเพชรบุรี สมัยเป็นเด็กท่านมักเป็นจ่าฝูงในหมู่เพื่อน ๆ จึงมีนามเดิมว่าจ่า ภายหลังชื่อแปลก เพราะมักเล่นอะไรแปลก ๆ[3] เมื่อโตขึ้นได้เรียนหนังสือที่วัดสนามพราหมณ์

ท่านมีน้องชายคนหนึ่งชื่อจอน ซึ่งได้รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก ขุนประสารพันธุกิจ ผู้ช่วยเกษตรมณฑลพิศณุโลก ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ถาวรบุตต์[4]

อุปสมบท[แก้]

พ.ศ. 2435 ย้ายมาศึกษาที่ศึกษากับพระครูวินัยธรแสง ฐานานุกรมของพระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม แล้วได้บวชเป็นสามเณรในวันข้างขึ้นเดือน 7 ปีนั้น ขณะเป็นสามเณรนี้ท่านได้เปลี่ยนชื่อเป็นแจ่ม[3] ต่อมาได้อุปสมบทเมื่อวันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2438 ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ เดือน 7 ปีมะแม โดยมีพระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) ขณะยังเป็นพระธรรมปาโมกข์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระราชกวี (ถม วราสโย) และพระมหานุนายก (ดี มนาปจารี) ขณะยังเป็นพระครูปลัดมหานุนายก เป็นคู่กรรมวาจาจารย์[2] ได้ฉายาว่า จตฺตสลฺโล

การศึกษา[แก้]

ขณะอยู่วัดมกุฏกษัตริยาราม ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระมหาทองอยู่ (ป.ธ. 7) จนอุปสมบทได้ 2 พรรษาจึงย้ายไปอยู่วัดบวรนิเวศราชวรวิหารเพื่อศึกษากับพระยาวิจิตรธรรมปริวัตร (ดำ) ขณะยังเป็นพระศาสนดิลก เข้าสอบในหลักสูตรของมหามกุฏราชวิทยาลัยจนสอบได้บาเรียนตรี (เทียบเปรียญธรรม 4 ประโยค) ในปีระกา พ.ศ. 2440[5] ได้บาเรียนโท (เปรียญธรรม 5 ประโยค) ปีจอ พ.ศ. 2441 และสุดท้ายสอบได้บาเรียนอก (เทียบเท่าเปรียญธรรม 7 ประโยค) ในปีกุน พ.ศ. 2442 แล้วกลับไปอยู่วัดมกุฏกษัตริยารามดังเดิม[6] วันที่ 9 พฤศจิกายน ร.ศ. 118 ได้รับพระราชทานพัดพื้นโหมดสำหรับวุฒิบาเรียนเอก[7]

ศาสนกิจ[แก้]

นับแต่ย้ายกลับมาอยู่วัดมกุฏกษัตริยาราม ท่านได้ทำหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรม ต่อมาได้เป็นกรรมการในการสอบบาลีสนามหลวง กรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย แม่กองธรรมสนามหลวง และกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ท่านได้รับเลือกเป็นสมาชิกสังฆสภา และสุดท้ายเป็นรองประธานสังฆสภา

สมณศักดิ์[แก้]

  • 6 กรกฎาคม ร.ศ. 127 ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระอริยมุนี[8]
  • 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี นรสีห์พจนปิลันธน์ คันถรจนาบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี[9]
  • 24 กันยายน พ.ศ. 2464 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกวี ศรีวิสุทธิดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[10]
  • 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุติโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[11]
  • 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ได้รับสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะธรรมยุตติกาที่ พระศาสนโศภน วิมลญาณอดุล ตรีปิฎกคุณประสาธนวิภูสิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[12]

มรณภาพ[แก้]

พระศาสนโศภน อาพาธด้วยโรคลำไส้ ต่อมามีโรคไตและโรคหัวใจพิการด้วย และถึงแก่มรณภาพวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 เวลา 02.30 น. ณ กุฏิเจ้าอาวาส[3] สิริอายุได้ 70 ปี 191 วัน

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, หน้า 192
  2. 2.0 2.1 จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม, หน้า 79
  3. 3.0 3.1 3.2 จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม, หน้า 83
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมุรธาธร ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๔๓, เล่ม 32, ตอน 0 ง, 16 มกราคม พ.ศ. 2458, หน้า 2,548
  5. ราชกิจจานุเบกษา, จำนวนพระสงฆ์ ที่ได้รับพระราชทานพัดเปรียญ, เล่ม 14, ตอน 0 ฉบับพิเศษ, 29 กันยายน ค.ศ. 1897, หน้า 368
  6. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 247
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรและพัดเปรียญ, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤศจิกายน ร.ศ. 118, หน้า 489
  8. ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งพระราชาคณะและพระครู, เล่ม 25, ตอน 15, 12 กรกฎาคม ร.ศ. 127, หน้า 454
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม 31, ตอน 0 ง, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457, หน้า 1,844
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ, เล่ม 38, ตอน 0 ง, 2 ตุลาคม พ.ศ. 2464, หน้า 1,832
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนา สมณศักดิ์, เล่ม 40, ตอน 0 ง, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466, หน้า 2,595
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 45, ตอน 0 ก, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471, หน้า 173-4
บรรณานุกรม
  • กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. ISBN 974-417-530-3
  • วัดมกุฏกษัตริยาราม. จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม. กรุงเทพฯ : วัดมกุฏกษัตริยาราม, 2553. 400 หน้า. หน้า 79-83. ISBN 978-974-225-185-7
  • สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3