พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปิยบุตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปิยบุตร
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นตรี
ประสูติ6 ตุลาคม พ.ศ. 2433
สิ้นพระชนม์6 มกราคม พ.ศ. 2464 (30 ปี)
ราชสกุลจักรพันธุ์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์
พระมารดาหม่อมราชวงศ์ปุ้ย จักรพันธุ์

จางวางโท[1] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปิยบุตร เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์ปุ้ย จักรพันธุ์

พระประวัติ[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปิยบุตร ประสูติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2433 พระอิสริยยศเมื่อแรกประสูติเป็นหม่อมเจ้า เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์หญิงปุ้ย จักรพันธุ์ (ราชสกุลเดิม : ไพฑูรย์) พระธิดาหม่อมเจ้าชายจุ้ย ไพฑูรย์ ซึ่งเป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสนิทนเรนทร์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 หม่อมเจ้าปิยบุตรทรงเป็นกรรมการทวีปัญญาสโมสร ซึ่งเป็นสโมสรที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารทรงก่อตั้งขึ้น[2]

พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทานที่สร้างวังบริเวณตำบลสนามกระบือ ตอนใกล้คลองรอบกรุง 6 วัง พระราชทานพระราชนัดดา 6 พระองค์ โดยวังทั้ง 6 สร้างให้หันหน้าวังออกคนละด้าน ด้านละ 3 วัง หลังวังติดกันเป็นคู่ๆ ดังนี้

  • วังกรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์ คู่กับ วังกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์
  • วังหม่อมเจ้าดนัยวรนุช คู่กับ วังหม่อมเจ้าดรุณวัยวัฒน์
  • วังหม่อมเจ้าปิยบุตร คู่กับ วังหม่อมเจ้าทศศิริวงศ์

เมื่อมีการตัดถนนผ่านบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งวัง จึงให้ชื่อถนนนี้ตามสถานที่สำคัญที่อยู่บริเวณนี้ และเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเรื่องราวของสถานที่บริเวณนี้ในอดีตว่า ถนนหลานหลวง[3]

ในสมัยรัชกาลที่ 6 หม่อมเจ้าปิยบุตร จักรพันธุ์ทรงดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมมหาดเล็ก

หม่อมเจ้าปิยบุตร จักรพันธุ์ สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2464 ด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่[4]

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนาพระโอรสธิดาในเจ้าฟ้าที่ที่มารดามิได้เป็นเจ้าทุกพระองค์เป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470[5] หม่อมจ้าปิยบุตร จึงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปิยบุตร

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปิยบุตร สมรสกับหม่อมสุวรรณ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา และหม่อมสนม จักรพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม : ณ มหาชัย) มีโอรสและธิดา 6 คน

หม่อมสุวรรณ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา

  1. หม่อมราชวงศ์ปิยสุวรรณ จักรพันธุ์
  2. หม่อมราชวงศ์พันธ์ปรี จักรพันธุ์

หม่อมสนม จักรพันธุ์ ณ อยุธยา

  1. หม่อมราชวงศ์ปรีย์พจน์พดุง จักรพันธุ์
  2. หม่อมราชวงศ์หญิงปรุงสมร จักรพันธุ์
  3. หม่อมราชวงศ์หญิงอรสนม จักรพันธุ์
  4. หม่อมราชวงศ์นิยมสิริ จักรพันธุ์

พงศาวลี[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชทานยศ
  2. หอสมุดวชิราวุธวิทยาลัย
  3. รูปเก่าเล่าเรื่อง-เมืองบางกอก 8
  4. ข่าวสิ้นชีพิตักษัย
  5. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 205. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-06-14.
  6. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน้า ๑๐๓๓)