พระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระรัฐกิจวิจารณ์)
พระรัฐกิจวิจารณ์

พระรัฐกิจวิจารณ์ (พ.ศ. 2424 - มีนาคม พ.ศ. 2493) เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองยะลาและผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้วางรากฐานผังเมืองยะลา จนได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามที่สุด[1] ทั้งยังสร้างตลาดนิบง ชาวยะลาเรียกสั้น ๆ ว่า พระรัฐ

พระรัฐกิจวิจารณ์ เดิมชื่อ สวาสด์ ณ นคร เกิดที่อำเภอคีรีรัฐนิคม (ท่าขนอม) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ. 2424 ไม่พบบันทึกประวัติการศึกษา เคยรับราชการเป็นนายอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และนายด่านตรวจคนเข้าเมือง ตำแหน่งราชการสุดท้ายคือ ข้าหลวงประจำจังหวัดยะลา ระหว่าง พ.ศ. 2456 - 2458 เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดยะลาคนที่ 10

เมื่อออกจากราชการแล้วได้สมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกเทศบาลเมืองยะลา และได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีติดต่อกันถึง 2 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 - 2488 พระรัฐกิจวิจารณ์ มีภรรยา 6 คน มีบุตร 22 คน บุตรคนหนึ่งในจำนวนทั้งหมดรับราชการเป็นนายแพทย์สาธารณสุขประจำจังหวัดยะลา คือ นายแพทย์ณัฐพงศ์ ณ นคร พระรัฐกิจวิจารณ์ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2493 ด้วยโรคหัวใจวาย

ผลงานที่สำคัญ[แก้]

การวางผังเมือง[แก้]

ในช่วงที่พระรัฐกิจวิจารณ์ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองยะลา ได้ใส่ใจในการสร้างเมืองยะลาอย่างจริงจัง โดยเริ่มตั้งเมืองยะลาที่ตำบลนิบง เริ่มตั้งแต่การวางผังเมืองเป็นวงเวียน 1 วงเวียน 2 และ 3 เตรียมจัดผังสำหรับก่อสร้างสถานที่สำคัญของทางราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าราชการอำเภอเมืองยะลา ศาลจังหวัด และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลา

พระรัฐกิจวิจารณ์ได้จัดหาศูนย์กลางของตัวเมืองร่วมกับบิดาของนายอดุลย์ ภูมิณรงค์ โดยปักหลักไว้และมีก้อนหินเป็นเครื่องหมาย ซึ่งต่อมาจุดศูนย์กลางนี้ก็คือที่ที่เดียวกับผังหลักเมืองยะลาในสมัยของผู้ว่าราชการจังหวัด พ.ต.อ. (พิเศษ) ศิริ คชหิรัญ ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้[2]

ผังเมืองยะลานั้นจัดได้ว่าเป็นผังเมืองที่สวยงามมีมาตรฐาน กล่าวคือ วางรูปข่ายใยแมงมุม มีวงเวียนซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ชั้นในสุดเป็นหลักเมือง รอบวงเวียนชั้นในเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และสถานีตำรวจ ถัดออกไปเป็นวงเวียนที่ 2 เป็นบ้านพักข้าราชการแผนกต่าง ๆ วงเวียนที่ 3 เป็นโรงพยาบาล สถานศึกษา และบ้านเอกชน และวงเวียนที่ 4 เป็นย่านอุตสาหกรรมและการค้า ถนนที่มาจากอำเภอต่างๆ จะมารวมกันที่บริเวณหลักเมือง แม้ว่าการกำหนดผังเมืองที่แท้จริงจะเป็นของกรมโยธาธิการ แต่ก็ได้แนวผังเมืองเดิมมาจากแนวคิดของพระรัฐกิจวิจารณ์นั่นเอง[3]

การตัดถนนสายสำคัญ[แก้]

พระรัฐกิจวิจารณ์ได้ตัดถนนสายสำคัญๆ ได้แก่ ถนนที่เริ่มจากสถานีรถไฟยะลาไปยังกิโลเมตรที่ศูนย์ (มลายูบางกอก) ถนนสายนี้ได้ชื่อว่าถนนพิพิธภักดี (ช่วงระยะทางจากสถานีรถไฟถึงวงเวียนหอนาฬิกา) ถนนสุขยางค์ (จากหอนาฬิกาถึงกิโลเมตรที่ศูนย์) และต่อมาภายหลังได้ต่อถนนสุขยางค์ไปจนถึงอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และถนนสิโรรสเป็นถนนสายเอกของเมือง

นอกจากนี้พระรัฐกิจวิจารณ์ยังได้ตัดถนนสายย่อยอีกหลายสายได้แก่ ถนนยะลา ถนนไชยจรัส ถนนรัฐกิจ ถนนปราจีน ถนนพังงา และถนนรวมมิตร ในการวางผังเมืองและตัดถนนนั้น แต่ละซอยจะห่างกันพอเพื่อว่าเมื่อสร้างบ้าน หลังบ้านจะชนกัน แต่ตัวบ้านจะห่างกันอยู่ประมาณ 4 เมตร สำหรับเป็นที่วางขยะ ถังอุจจาระ (ปัจจุบันสะดวกแก่การดับเพลิงด้วย)

การก่อสร้างสถานที่อื่น ๆ[แก้]

พระรัฐกิจวิจารณ์ได้สร้างสนามเด็กเล่นและสนามฟุตบอลขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งตั้งอยู่หน้าสำนักงานเทศบาลเก่า ปัจจุบันเป็นศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา สนามฟุตบอลได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นจนได้มาตรฐาน

นอกจากนี้พระรัฐกิจวิจารณ์ยังมีส่วนร่วมในการพิจารณาและให้การสนับสนุนแก่จังหวัดในการย้ายสถานที่ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด สถานีตำรวจภูธร และที่ว่าการอำเภอจากตำบลสะเตงอันเป็นที่ตั้งเมืองเก่า มาตั้งอยู่ในเขตเทศบาลอันเป็นเมืองใหม่ที่ตำบลนิบง ได้มีส่วนร่วมกับจังหวัดในการเวนคืนที่ดินของประชาชนให้เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อจัดไว้สำหรับการก่อสร้างสถานที่ราชการรอบๆ วงเวียนดังกล่าว และยังร่วมมือสร้างสำนักสงฆ์ วัดพุทธภูมิ (พระอารามหลวง) โรงเรียนประชาบาลบ้านนิบง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนิบงชนูปถัมภ์) โรงเรียนประชาบาลตำบลสะเตง (เปลี่ยนเป็นโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเตง) และสถานีตำรวจ

พระรัฐกิจวิจารณ์ยังเอาใจใส่พัฒนากิจการด้านตลาดสด ด้านโรงแรม และโรงภาพยนตร์ คือ นิบงเธียเตอร์ ให้มีขึ้นในเทศบาลนครยะลาเป็นแห่งแรกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. "บุคคลสำคัญของท้องถิ่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-15. สืบค้นเมื่อ 2011-06-09.
  2. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดยะลา. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย, กรมศิลปากร, กระทรวงศึกษาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2544. หน้า 158
  3. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดยะลา. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย, กรมศิลปากร, กระทรวงศึกษาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2544. หน้า 158