พระยาเพ็ชรรัตน์ (โมรา)
พระยาเพ็ชรรัตน์ (โมรา) (18 กรกฎาคม 2378-11 มกราคม 2445)[1]ขุนนางชาวไทย จางวางกรมพระตำรวจซ้ายฝ่ายพระราชวังบวร จางวางกรมล้อมพระราชวังฝ่ายพระราชวังบวร ปลัดกรมพระตำรวจใหญ่ซ้ายฝ่ายพระราชวังบวร
เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๙๗ ตรงกับวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378 เป็นบุตรชายของ หลวงเดชนายเวร (สุด) ส่วนมารดาชื่อ ฉิม เมื่ออายุประมาณ 7-8 ปีได้เข้าไปอยู่ใน พระบรมมหาราชวัง โดยไปอาศัยอยู่กับ เจ้าจอมอรุณ ในรัชกาลที่ 3 ผู้เป็นพี่สาวร่วมมารดาและได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กไล่กาในรัชกาลที่ 3 รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 5 ตำลึง จากนั้นได้เรียนหนังสือกับครูสุวรรณ์ ซึ่งสอนอยู่ที่ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ท่าราชวรดิษฐ์
ต่อมาจึงได้ย้ายมาเรียนหนังสือที่ วัดอัปสรสวรรค์ และบรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดราชาธิวาส ก่อนจะสึกออกมาเป็นฆราวาสระยะหนึ่งและได้กลับมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เมื่ออายุประมาณ 23-24 ปีโดยมี สมเด็จพระญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่ วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร ก่อนจะลาสิกขาบทกลับเข้ารับราชการตามเดิม
ชีวิตส่วนตัว[แก้]
พระยาเพ็ชรรัตน์มีภรรยาที่มีบุตรด้วยกันทั้งสิ้น 3 คน
- ภรรยาเอกชื่อ แสง มีบุตรชาย 2 คนคือ
- นายเอี่ยม (ต่อมาคือ หลวงอัฏมัทยานุยุตร์)
- จมื่นศักดิ์บริบาล (สวน) (ต่อมาคือ พระยาจรรยายุตกฤตย์)
- ภรรยาชื่อ ขลิบ มีบุตรสาวชื่อ สังวาล
- ภรรยาชื่อ ตาล มีบุตร 3 คนคือ
- เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)
- นายอู๋ (ต่อมาคือ พระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์)
- จำเริญ (ต่อมาคือ คุณหญิงจำเริญ ภริยาของ พระยาประเสริฐศุภกิจ)
บรรดาศักดิ์[แก้]
- พ.ศ. 2405 จ่าแกว่นประกวดงาน กรมตำรวจสนมซ้าย ถือศักดินา ๓๐๐
- พ.ศ. 2409 จมื่นศักดิ์แสนยากร ปลัดกรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ถือศักดินา ๔๐๐
- พ.ศ. 2412 พระณรงค์วิชิต เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ถือศักดินา ๘๐๐
- พ.ศ. 2422 พระอินทร์ธิบาล เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ถือศักดินา ๑๐๐๐
- พ.ศ. 2429 พระยาบริรักษราชา จางวางกรมพระตำรวจซ้ายฝ่ายพระราชวังบวร ถือศักดินา ๒๐๐๐[2]
- 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 พระยาเพ็ชรรัตน์ ถือศักดินา ๒๕๐๐[3]
ถึงแก่กรรม[แก้]
พระยาเพ็ชรรัตน์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2445 เวลา 13.00 น. ในการนี้โปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและหีบทองทึบ และได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพ ที่ปรำ วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2446 เวลา 17.00 น.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. ๒๔๑๙ -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
- พ.ศ. ๒๔๒๙ -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
- พ.ศ. ๒๔๓๙ -
เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
- พ.ศ. ๒๔๔๑ -
เหรียญปราบฮ่อ (ร.ป.ฮ.)[5]
- เหรียญรัชดาภิเษก
- พ.ศ. -
เหรียญประพาสมาลา (ร.ป.ม.)