ข้ามไปเนื้อหา

พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (อู๋ ไกรฤกษ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาเสวกตรี

พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (อู๋ ไกรฤกษ์)
เกิด16 มีนาคม พ.ศ. 2424
ถึงแก่กรรม24 สิงหาคม พ.ศ. 2468 (44 ปี)
สาเหตุเสียชีวิตอัมพาต
ตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดินคนที่ 6
วาระ2465–2467
ภรรยาผัน
บิดามารดา
ยศข้าราชการในราชสำนักมหาเสวกตรี

มหาเสวกตรี พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (อู๋ ไกรฤกษ์) (16 มีนาคม 2424 – 24 สิงหาคม 2468) เป็นขุนนางชาวไทย อดีตองคมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และอดีตอธิบดีกรมที่ดิน

ประวัติ

[แก้]

พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ มีนามเดิมว่า อู๋ ไกรฤกษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2424 (นับอย่างปัจจุบันตรงกับปี 2425) เป็นบุตรชายคนที่ 4 ของพระยาเพ็ชรรัตน์ (โมรา) กับนางตาล และเป็นน้องชายแท้ ๆ ของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) อดีตเสนาบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, อดีตราชเลขาธิการ อดีตประธานศาลฎีกา และอดีตองคมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระยาจักรปราณีจบการศึกษาจากโรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาสเมื่อปี 2435 ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วสอบไล่ได้ที่มหามกุฎราชวิทยาลัยในปี 2437 ต่อมาในปี 2440 เข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายสอบได้เป็นเนติบัณฑิตชั้นที่ 2

พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ถึงแก่กรรมเนื่องจากอัมพาตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2468 สิริอายุได้ 44 ปี[1]

ตำแหน่ง ยศ และบรรดาศักดิ์

[แก้]

หลังจากสอบได้เป็นเนติบัณฑิตชั้นที่ 2 นายอู๋ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งเลขานุการของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เมื่อปี 2441 ในปี 2445 ได้เป็นยกกระบัตรศาลฎีกา ต่อมาในวันที่ 21 ธันวาคม 2446 ได้เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประไพพิทยาคุณ ถือศักดินา 600[2] ปีถัดมาคือในปี 2447 ได้เป็นผู้พิพากษาศาลอาญา[3] จากนั้นในปี 2449 ได้ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลประจำมณฑลชุมพร (ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลสุราษฎร์ มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองไชยา)[4]

ในปี 2450 ได้ย้ายกลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ เป็นผู้พิพากษาในศาลแพ่ง ต่อมาในปี 2451 ได้เป็นผู้ช่วยข้าหลวงยุติธรรมศาลข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดิน[5] จากนั้นในปี 2453 ได้กลับมารับราชการเป็นผู้พิพากษาในศาลแพ่ง[6] ในวันที่ 7 สิงหาคม 2454 ได้รับพระราชทานยศเป็น อำมาตย์เอก[7] ในปีเดียวกัน ได้ย้ายมารับราชการเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษ[8]

จากนั้นในปี 2455 ได้ย้ายไปรับราชการเป็นอธิบดีผู้พิพากษามณฑลอุดร ในวันที่ 18 ธันวาคม 2456 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระพรหมศาสตร์ราชสภาบดี ถือศักดินา 800[9] ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม 2458 ได้ย้ายไปรับราชการเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลจันทบุรีแทนพระอภิบาลประเพณีที่ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลข้าหลวงอุทธรณ์พิเศษ[10] ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2458[11] จากนั้นในปี 2460 ได้โอนย้ายไปรับราชการในกระทรวงเกษตราธิการและได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงพิเศษจัดการออกตราจองเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2460[12] ต่อมาในวันที่ 22 ธันวาคม 2461 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรเกษตร์โศภน ถือศักดินา 1000[13]

จากนั้นในวันที่ 13 ธันวาคม 2464 ได้เลื่อนยศเป็น มหาอำมาตย์ตรี[14] ในวันที่ 22 ธันวาคม 2465 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทะเบียนที่ดิน (กรมที่ดินในปัจจุบัน)[15] ต่อมาในวันที่ 4 เมษายน 2467 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี[16] กระทั่งวันที่ 1 มิถุนายน 2467 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมทะเบียนที่ดินและดำรงตำแหน่งสมุหพระนิติศาสตร์ ซึ่งมีหน้าที่เป็นราชเลขานุการแผนกฎีกากรรมการศาลฎีกาและอธิบดีศาลรับสั่ง กระทรวงวัง นับเป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ[17] จากนั้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2467 ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ ถือศักดินา 3000[18]

ยศเสือป่า

[แก้]
  • 17 มิถุนายน 2454 – นายหมู่ตรี[19]
  • 19 สิงหาคม 2454 – นายหมู่โท[20]
  • 3 มีนาคม 2454 – นายหมู่เอก[21]
  • 18 มกราคม 2458 – นายหมวดเอก[22]
  • 2 มีนาคม 2467 – นายนาวาเอกประจำกรมพระธรรมนูญเสือป่า[23] พร้อมกับเปลี่ยนยศเป็นมหาเสวกตรี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

มหาเสวกตรี พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (อู๋ ไกรฤกษ์) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญดังต่อไปนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ข่าวตาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 1757–58. 6 กันยายน 1925.
  2. "พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 ธันวาคม 1903.
  3. "ตำแหน่งข้าราชการ กระทรวงยุติธรรม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 434. 6 สิงหาคม 1904.
  4. "ตำแหน่งข้าราชการ กระทรวงยุติธรรม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 929. 2 ธันวาคม 1906.
  5. "ตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม ร.ศ. 127" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 514. 26 กรกฎาคม 1908.
  6. "ตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม ร.ศ. 129" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 545. 26 มิถุนายน 1910.
  7. "พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 921. 13 สิงหาคม 1911.
  8. "ตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม ร.ศ. 130" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 514. 24 กันยายน 1911.
  9. "ตั้งและเลื่อนบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 2182. 28 ธันวาคม 1913.
  10. "แจ้งความกระทรวงยุติธรรม เรื่อง ย้ายและผลัดเปลี่ยนหน้าที่ผู้พิพากษา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 2 พฤษภาคม 1915.
  11. "รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 17 ตุลาคม 1915.
  12. "แจ้งความกระทรวงเกษตราธิการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 17 กุมภาพันธ์ 1917.
  13. "พระราชทานบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 5 มกราคม 1918.
  14. "พระราชทานยศ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 ธันวาคม 1921.
  15. "พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งอธิบดีกรมทะเบียนที่ดิน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 ธันวาคม 1921.
  16. "การพระราชพิธีตั้งองคมนตรี พระพุทธศักราช 2467" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 69. 13 เมษายน 1924.
  17. "พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งสมุหพระนิติศาสตร์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 1 มิถุนายน 1924.
  18. "พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 15 มิถุนายน 1924.
  19. "พระราชทานสัญญาบัตรกองเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 663. 2 กรกฎาคม 1911.
  20. "พระราชทานสัญญาบัตรกองเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 1061. 27 สิงหาคม 1911.
  21. "พระราชทานสัญญาบัตรเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 2593. 3 มีนาคม 1911.
  22. "พระราชทานยศนายเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 23 มกราคม 1915.
  23. "พระราชทานยศนายเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 4574. 29 มีนาคม 1924.
  24. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 3311. 25 มกราคม 1919.
  25. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 663. 1 มกราคม 1924.