พระฝาง (พระพุทธรูป)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระพุทธรูปพระฝาง)
พระฝาง
ไฟล์:พระฝาง.gif
ชื่อเต็มพระฝาง
ชื่อสามัญพระฝาง
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะศิลปะอยุธยา ปางมารวิชัย
ความกว้าง1 ศอก
วัสดุสัมฤทธิ์
สถานที่ประดิษฐานบุษบกหน้าพระวิหารสมเด็จ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระฝาง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช ศิลปะสมัยอยุธยาวัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบเศษ (31 นิ้ว) พระพุทธรูปองค์นี้สันนิษฐานว่าสร้างโดยเจ้าพระฝาง ในสมัยที่เป็นสังฆราชาเมืองฝาง และเคยเป็นพระประธานในอุโบสถวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ จนในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้อัญเชิญองค์พระฝางมาประดิษฐานที่มุขเด็จ พระวิหารสมเด็จ ส.ผ. วัดเบญจมบพิตรกรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบัน

ประวัติ[แก้]

ฐานพระเปล่า ในอุโบสถวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ จังหวัดอุตรดิตถ์สถานที่ ๆ เคยประดิษฐานพระฝางในอดีต

พระฝาง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. 2280 มีพุทธลักษณะที่งดงาม เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของแผ่นดินไทยอีกองค์หนึ่ง สันนิษฐานว่าผู้สร้างคือพระพากุลเถระ พระสังฆราชแห่งเมืองฝาง (เจ้าพระฝาง) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระฝางในขณะนั้น เดิมพระฝางเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดพระฝางหรือวัดสว่างคบุรีมุนีนาถ

พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยกทัพหลวงมาตีชุมนุมพระฝางได้ และโปรดเกล้าฯ ให้รับละครขึ้นมาสมโภช ที่วัดพระฝางถึง 7 วัน เท่ากันกับการสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ซึ่งนับว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองไทยองค์หนึ่งในรัชสมัยของ สมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระฝางไปประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตรฯจนถึงปัจจุบัน

อัญเชิญพระฝางไปยังวัดเบญจมบพิตร[แก้]

ในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้อัญเชิญองค์พระประธาน ที่เรียกกันว่า “พระฝาง” ลงมายังวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ โดยทิ้งฐานพระไว้ที่เดิม

พ.ศ. 2451 ปรากฏพระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า “ให้จำลองรูปพระฝาง ได้สั่งให้ช่างรีบปั้นหุ่นถ่ายรูปไว้แล้ว ให้กระทรวงมหาดไทยคิดจัดพระฝางกลับคืนไปไว้ที่เมืองฝางตามเดิมให้ทันฤดูน้ำ นี้”

แต่ในปัจจุบันนี้ เกินเวลาหนึ่งร้อยปีแล้ว องค์พระฝางก็ยังประดิษฐานอยู่วัดเบญจมบพิตร มิได้กลับคืนไปอุตรดิตถ์ ตามพระราชดำริแต่ประการใด[1]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สูจิบัตรการแสดง แสง เสียง เรื่อง "สวางคบุรีแก้วเกล้าขวัญแผ่นดิน" วันที่ ๑-๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ณ วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ.แผ่นพับประชาสัมพันธ์: จังหวัดอุตรดิตถ์ , 2551.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]