พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพรหมมุนี

(แฟง กิตฺติสาโร)
ส่วนบุคคล
เกิด28 สิงหาคม พ.ศ. 2380 (63 ปี 35 วัน ปี)
มรณภาพ2 ตุลาคม พ.ศ. 2443
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 7 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม

พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะกลาง และอดีตเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร

ประวัติ[แก้]

ชาติกำเนิด[แก้]

พระพรหมมุนี มีนามเดิมว่าแฟง เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2380 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา เป็นบุตรนายคงกับนางปาน บ้านอยู่คลองสามเสนฝั่งเหนือ ตรงข้ามวัดอภัยทายาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร อยู่ในสังกัดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร[1]

อุปสมบท[แก้]

เมื่ออายุเกือบครบอุปสมบท ได้มาฝากตัวเป็นศิษย์พระครูจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) ถึงปีมะแม พ.ศ. 2402 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร โดยมีพระพรหมมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้นามฉายาว่า กิตฺติสาโร[1]

การศึกษา[แก้]

หลังจากอุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระอริยมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) และสำนักอาจารย์ทอง วัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดโสมนัสวิหาร[1] แล้วเข้าสอบพระปริยัติธรรมซึ่งจัดขึ้น ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2413 ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ต่อมาในปีชวด พ.ศ. 2419 ได้เข้าสอบอีกครั้ง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่มอีก 4 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค[2]

ศาสนกิจ[แก้]

เมื่อพระจันทรโคจคุณได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมย้ายตามไปอยู่ด้วย เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพ มาประทับที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นพระอาจารย์สอนภาษาบาลีถวาย[3] จนพระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพสามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคในปี พ.ศ. 2424 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพอพระทัยอย่างยิ่งจึงถวายรางวัลไตรแพร 1 สำรับ และย่ามโหมดเทศ 1 ใบแก่ท่าน[4] และยังโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะในปีนั้นด้วย ต่อมาท่านยังช่วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นิพนธ์วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาขึ้นหลายเล่ม เช่น อบายมุขกถา เวฬุทธาเนยยกสูตร มงคลคาถาที่ 3 มิลินทปัญหา เป็นต้น[5] สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงยกย่องท่านว่า เปนผู้มีความรู้ในทางแปลหนังสือแตกฉาน[6] พระผู้ใหญ่ในวัดยังกล่าวถึงท่านว่าอ่านคัมภีร์ใบลานได้ชำนาญมากถึงขนาด ดูคัมภีร์ใบลานเห็นสัมพันธ์กินกันเป็นแถว[7]

ในด้านการปกครอง ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามสืบแทนพระจันทรโคจรคุณที่มรณภาพในปี พ.ศ. 2425 ต่อมาวันที่ 8 มกราคม ร.ศ. 114 ได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายบรรพชิต[8] และในปี ร.ศ. 115 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตชุดแรก[9]

ท่านมีความรู้แตกฉานในภาษาบาลีอย่างยิ่ง ในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112 ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจชำระจูฬวรรค เล่ม 1-2 กถาวัตถุ และมหาปัฏฐานบางส่วน จนเสร็จทันพระราชประสงค์ และได้รับพระราชทานพระไตรปิฎก 1 ชุด และนาฬิกาตู้อย่างดี 1 เรือนเป็นรางวัล[2]

นอกจากนี้ ท่านยังเคร่งครัดในพระวินัยอย่างยิ่ง ถึงขนาดไม่รับเป็นพระกรรมวาจารย์เมื่อฟันหลุด เพราะเกรงจะออกเสียงพยัยชนะวรรคทันตชะไม่ได้ ทำให้เป็นอักขรวิบัติ[7]

สมณศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. 2411 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมในพระจันทรโคจรคุณ
  • พ.ศ. 2424 เป็นพระราชาคณะที่ พระกิตติสารมุนี[10]
  • พ.ศ. 2435 เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ พระเทพโมฬี ตรีปิฎกธรา มหาธรรมกถึกคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[11]
  • พ.ศ. 2437 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคยตินายก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาทีคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[12]
  • พ.ศ. 2442 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในคณะกลางที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ มัชฌิมคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[13]

มรณภาพ[แก้]

พระพรหมมุนี อาพาธเป็นวัณโรค[14] และเป็นโรคเหน็บชามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 และมีอาการตกโลหิตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 119 แม้ต่อมาจะทุเลาลงบ้าง แต่กลับทรุดลงอีกในเดือนสิงหาคม จนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ร.ศ. 119 เวลา 01:30 น. ได้รับพระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศ[15]

ศิษย์ที่มีชื่อเสียง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี (ประวัติพระพรหมมุนี (แฟง), หน้า ๒๐
  2. 2.0 2.1 แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี (ประวัติพระพรหมมุนี (แฟง), หน้า ๒๑
  3. พระประวัติตรัสเล่า, หน้า 62
  4. พระประวัติตรัสเล่า, หน้า 85
  5. แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี (ประวัติพระพรหมมุนี (แฟง), หน้า ๒๒
  6. พระประวัติตรัสเล่า, หน้า 74
  7. 7.0 7.1 จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม, หน้า 75
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราตั้งกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย, เล่ม ๑๒, ตอน ๔๑, ๑๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๔, หน้า ๔๘๖
  9. ประวัติคณะธรรมยุต, หน้า 127
  10. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 158
  11. ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๙, หน้า ๔๖๒
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๑๑, หน้า ๓๑๓
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๑๖, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๔๒, หน้า ๔๘๖
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นชีพิตักษัย แลข่าวตายในกรุง, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๑, ๒๘ ตุลาคม ๑๑๙, หน้า ๔๑๘
  15. แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี (ประวัติพระพรหมมุนี (แฟง), หน้า ๒๓
บรรณานุกรม
  • ประวัติคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. 219 หน้า. ISBN 974-399-612-5
  • ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี (ประวัติพระพรหมมุนี (แฟง), เล่ม ๑๘, ตอน ๒, ๑๔ เมษายน ๑๒๐, หน้า ๒๐-๓
  • วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา. พระประวัติตรัสเล่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2544. 107 หน้า. ISBN 974-399-407-6
  • วัดมกุฏกษัตริยาราม. จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม. กรุงเทพฯ : วัดมกุฏกษัตริยาราม, 2553. 400 หน้า. หน้า 64-72. ISBN 978-974-225-185-7
  • ประวัติคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. 219 หน้า. ISBN 974-399-612-5
  • สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3


ก่อนหน้า พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) ถัดไป
พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต)
เจ้าคณะรองคณะกลาง
(พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2443)
พระพรหมมุนี (เขียว จนฺทสิริ)