พระผง ๙ สมเด็จ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระผง ๙ สมเด็จ เป็นพระเครื่องเนื้อผง ที่จัดสร้างตามแบบพระผงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยกรมทรัพยากรน้ำซึ่งมีหน้าที่ดูแลทรัพยากรน้ำของประเทศ มีโครงการจัดงาน "รวมใจภักดิ์ อนุรักษ์ และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง" เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสดังกล่าว โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการบริจาคกรมทรัพยากรน้ำจะมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาและเป็นสวัสดิการกรมทรัพยากรน้ำในการดูแลรักษาแหล่งน้ำของประเทศ จึงดำเนินการจัดสร้าง พระผง ๙ สมเด็จ ขึ้น

มวลสาร[แก้]

พระผง ๙ สมเด็จ ได้รับเมตตานุเคราะห์จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานมวลสารในการจัดสร้าง มวลสารหลักสำคัญ คือ เส้นพระเกศาประทานจากสมเด็จพระราชาคณะทุกรูปในขณะนั้นได้แก่[1]

  1. สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
  2. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) จากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
  3. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) จากวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
  4. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) จากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
  5. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ สุวฑฺฒโน) จากวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
  6. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) จากวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
  7. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) จากวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร
  8. สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) จากวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร

นอกจากนี้ ยังมีมวลสารมงคลอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย และมวลสารที่เป็นมวลสารหลักในการจัดสร้างพระผงสมเด็จตามแบบสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อาทิ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงอิทธิเจ ผงนิทสิงเห ผงพุทธคุณ ดินทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร รวมกับการบดพระผงสมเด็จเก่าและมวลสารจากวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดอินทรวิหาร วัดเกศไชโย มารวมเป็นมวลสารในการจัดสร้างพระผง ๙ สมเด็จด้วย

พิธีกรรม[แก้]

พระผง ๙ สมเด็จ ได้จัดพิธีบวงสรวงขอจัดสร้าง ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เมื่อวันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และมีพิธีอธิษฐานจิตกดพิมพ์ปฐมฤกษ์ ณ ตำหนักสมเด็จ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้อธิษฐานจิตและกดพิมพ์ปฐมฤกษ์ ร่วมกับประธานฝ่ายฆราวาส มีพระปฐมฤกษ์ในการกดพิมพ์ครั้งนั้น จำนวน 15 องค์ พิธีมหาพุทธาภิเษก พระผง ๙ สมเด็จ จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2550 ณ พระวิหาร พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันจัดงานรวมใจภักดิ์ อนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง

โดยพิธีมหาพุทธาภิเษกได้รับเมตตานุเคราะห์จากสมเด็จพระราชาคณะร่วมพิธี ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นประธานจุดเทียนชัย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นประธานดับเทียนชัย มีพระภิกษุสมณศักดิ์ร่วมสวดเจริญพระพุทธมนต์ 10 รูป ได้แก่ พระพรหมเวที วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร, พระพรหมสุธี วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, พระธรรมกิตติเมธี วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร, พระธรรมวรเมธี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร, พระธรรมปริยัติเวที วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร, พระธรรมสิทธินายก วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, พระเทพรัตนสุธี วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร, พระเทพมุนี วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร, พระราชรัตนมุนี วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร และพระราชปัญญาโสภณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

พระสมณศักดิ์นั่งปรกอธิษฐานจิต จำนวน 9 รูป ได้แก่ พระเทพวิสุทธิเมธี (เจ้าคุณเที่ยง) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, พระเทพโกศล วัดปากน้ำ, พระเทพคุณาภรณ์ วัดสังเวชวิศยาราม, พระราชญาณวิสิฐ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม, พระราชรัตนวราภรณ์ วัดพนัญเชิงวรวิหาร, พระนิกรมมุนี วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร, พระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ วัดไร่ขิง, พระพิพิธพัฒนาทร วัดปริวาส และพระครูวินัยธร องอาจ อาภกโร โดยมีพระสงฆ์สายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) นั่งสวดภาณวาร

แบบพระ[แก้]

พระผง ๙ สมเด็จ จัดสร้าง 5 แบบพิมพ์ 2 ขนาด และ 4 เนื้อ ดังนี้

  • 5 แบบพิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ฐานแฐม พิมพ์เจดีย์ และพิมพ์ปรกโพธิ์
  • 2 ขนาด ได้แก่ พระขนาดมาตรฐาน และพระคะแนน
  • 4 เนื้อ ได้แก่ เนื้อธรรมดา (สีขาวธรรมชาติ), เนื้อสีนิล (สีดำ), เนื้อสีเงิน (สีเทา) และเนื้อสีทอง (สีเหลืองทอง)

ตราสัญลักษณ์[แก้]

ตราสัญลักษณ์จำลองมาจากพัดยศสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะหรือชั้นสุพรรณบัฏ รูปพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เส้นรอบด้านในมาจากช่อใบเทศ มีเลข ๙ ตรงกลาง แสดงถึง จำนวนรวมของสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะทั้งหมด มีเครื่องหมายอุณาโลม หมายถึง ความอุดมมงคลสูงสุดเสมือนแทนสมเด็จพระพุทธเจ้า

อ้างอิง[แก้]