พระบรมราชา (มัง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบรมราชา
(มัง)
เจ้าเมืองนครพนม
ก่อนหน้าพระบรมราชา (สุตตา)
ถัดไปพระสุนทรราชวงศามหาขัติยชาติ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดนครพนม
เสียชีวิตนครพนม
ศาสนาศาสนาพุทธ

พระบรมราชา (มัง) (ครองเมืองราว พ.ศ. 2348-69) พระนามเต็มว่า พระบรมราชากิตติศัพท์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง เจ้าองค์ครองเมืองนครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง (นครบุรีราชธานี) หรือเมืองนครพนมในอดีต และผู้ครองเมืองนครราชสีมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อครั้งนครพนมเป็นประเทศราชของล้านช้างเวียงจันทน์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์ (ครองราชย์ราว พ.ศ. 2348-71) แห่งเวียงจันทน์ ตรงกับรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367-94) ของสยาม เป็นผู้สร้างเวียงท่าแขกหรือเมืองท่าแขกในแขวงคำม่วนของลาว ครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ยกทัพบุกสยามพระบรมราชา (มัง) เป็นแม่ทัพสำคัญของฝ่ายนครหลวงเวียงจันทน์เช่นเดียวกับพระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ)[1] เป็นต้นสกุลพระราชทาน มังคลคีรี (มังคละคีรี) และมังคละคีรี ณ นครพนม แห่งจังหวัดนครพนม ทั้งเป็นเจ้าประเทศราชนครพนมองค์สุดท้ายที่ขึ้นกับนครเวียงจันทน์โดยตรง และเป็นผู้ใช้นามยศพระบรมราชาองค์สุดท้ายก่อนนครพนมตกเป็นประเทศราชสยาม จากนั้นสยามเปลี่ยนนามยศเจ้าเมืองนครพนมเป็นพระยาพนมนครานุรักษ์

พระราชประวัติ[แก้]

เชื้อสาย[แก้]

พระบรมราชา (มัง) นามเดิมว่า ท้าวมัง หรือ เจ้าศรีสุมังค์ เอกสารพื้นเวียงจันทน์ออกนามว่า พระบุรมราชา จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ 3 ฉบับที่ 11 หนังสืออุปฮาดเมืองหลวงมูเลงออกนามว่า เจ้าพระยานคร หรือ เจ้านคร หรือ พระนครพนม[2] เดิมดำรงยศเจ้าราชบุตรคณะอาญาเมืองนครพนมแต่ครั้งบิดาเป็นเจ้าผู้ครองนครพนม ถือกำเนิดในราชวงศ์ศรีโคตรบูรราชวงศ์ประเทศราชเก่าแก่ของล้านช้างที่สถาปนาขึ้นครั้งแรก ณ เมืองละแหงคำแพงบริเวณน้ำเซบั้งไฟ เป็นบุตรพระบรมราชา (อุ่นเมือง) เจ้าผู้ครองนครพนม เป็นนัดดาพระบรมราชา (ศรีกุลวงษ์) เจ้าผู้ครองนครพนม บ้างว่าเป็นนัดดาพระบรมราชา (กู่แก้ว) โอรสพระบรมราชา (แอวก่าน) บางแห่งระบุว่าเป็นบุตรพระบรมราชา (สุดตา) เจ้าผู้ครองนครพนม พระราชนัดดาของเจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชกษัตริย์จำปาสักเชื้อสายพระวอพระตา ซึ่งเดิมดำรงยศเจ้าอินทร์ศรีเชียงใหม่หรือพระศรีเชียงใหม่อดีตเจ้านายผู้ใหญ่ของเมืองนครพนมและมีศักดิ์เป็นอนุชาพระบรมราชา (ศรีกุลวงษ์) เจ้าผู้ครองนครพนมองค์ก่อน ทั้งเป็นสามีพี่สาวของพระบรมราชา (พรหมา) เจ้าผู้ครองนครพนม ต้นสกุล พรหมประกาย ณ นครพนม[3] และพรหมสาขา ณ สกลนคร[4] พระบรมราชา (มัง) เป็นหลานปู่ของพระยาเถินหรือเจ้าหล่องเมืองเถินของลาวและเป็นหลานลุงพระบรมราชา (ศรีกุลวงษ์) เจ้าผู้ครองนครพนม[5]

ปฐมราชตระกูลและเครือญาติของพระองค์ปกครองหัวเมืองใหญ่น้อยในราชอาณาจักรล้านช้าง จนถึงสมัยปฏิรูปการเมืองการปกครอง พ.ศ. 2444 นับรวมได้ 17 หัวเมือง คือ นครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง (เมืองนครพนม) เมืองมรุกขนคร เมืองเก่าหนองจันทน์ เมืองศรีโคตรบอง (เมืองเซบั้งไฟ) เมืองธาตุพนม (เมืองพนม) เมืองคำเกิด เมืองมหาชนไชยก่องแก้ว (เมืองมหาชัยกองแก้ว) เมืองกวนกู่ เมืองกวนงัว เมืองสกลนคร เมืองรามราช เมืองสุวรรณเขต เมืองมุกดาหารบุรี (เมืองบังมุก) เมืองภูวดลสอาง (บ้านภูหวา) เมืองภูวานากระแด้ง (บ้านนากระแด้ง) เมืองพนัสนิคม เมืองเถิน

พี่น้อง[แก้]

พระบรมราชา (มัง) มีพระราชเชษฐาพระราชอนุชารวม 5 พระองค์ ดังนี้

  • พระบรมราชากิตติศัพท์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (มัง) เจ้าเมืองนครพนม
  • พระยาพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (อรรคราช) เจ้าเมืองนครพนม
  • เจ้าราชบุตร คณะอาญาสี่เมืองนครพนม (พิราลัยด้วยถูกพวกญวณฆ่า)
  • เจ้าราชศรียา กรมการเมืองนครพนม
  • ท้าวโคตะ กรมการเมืองนครพนม

เสวยราชย์เมืองนครพนม[แก้]

วิวาทกับเจ้าอุปฮาด[แก้]

หลังจากพระบรมราชา (อุ่นเมือง) ได้ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2347 แล้ว เจ้าราชวงศ์ (มัง) จึงได้ขึ้นเสวยราชย์เป็นเจ้าเมืองนครพนมองค์ต่อไปต่อจากพระราชบิดาของตน ตามราชธรรมเนียมเจ้านายหัวเมืองลาวในการขึ้นเป็นเจ้านครที่ถือสืบต่อกันมาเป็นโบราณราชประเพณีนั้น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอุปฮาตจะต้องได้รับการแต่งตั้งหรือขึ้นเสวยราชย์แทนเจ้าเมืององค์ก่อน ส่วนเจ้าราชวงศ์และเจ้าราชบุตรนั้นมีสิทธิ์เป็นลำดับที่ 2 และที่ 3 ต่อจากเจ้าอุปฮาต เมื่อเป็นดังนี้แล้วเจ้าอุปฮาต (ไชย) บุตรพระบรมราชา (ศรีสุราช) เจ้าเมืองนครพนมองค์ก่อนก็เกิดความไม่พอใจ จึงอพยพครอบครัวและบ่าวไพร่ในกองอุปฮาตของตนยกลงไปยังกรุงเทพมหานคร เจ้าแผ่นดินสยามจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปฮาด (ไชย) และไพร่พลตั้งรกรากบ้านเรือนอยู่ ณ เมืองสมุทรปราการ ภายหลังจึงได้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ เมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และเมืองพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ทางฝ่ายเมืองนครพนมนั้นได้มีการแต่งตั้งให้เจ้าศรียาหรือเจ้าราชศรียาผู้พระราชอนุชาพระบรมราชา (มัง) ขึ้นเป็นเจ้าราชวงศ์ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์การอพยพครั้งนี้ว่า

'"...ในปีมะเส็งศกนั้น (พ.ศ. 2352) พระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนมวิวาทกับท้าวไชยอุปฮาด พวกบ่าวไพร่อุปฮาดไม่ยอมอยู่ในบังคับบัญชาพระบรมราชา อุปฮาดจึงพาสมัครพรรคพวกประมาณ 2,000 คนเศษ อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในกรุงเทพมหานคร มาถึงกรุงเมื่อเดือนยี่ โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ คลองมหาวงศ์เมืองสมุทรปราการ และให้ทำบัญชีสำรวจได้ชายฉกรรจ์ 860 คน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอินทรสารบุตรผู้ใหญ่อุปฮาด เป็นพระยาปลัดเมืองสมุทรปราการ ดูแลควบคุมพลพวกนั้นต่อมา..."[6]

ถวายพระราชธิดา[แก้]

ในเอกสารเพ็ชรพื้นเมืองเวียงจันทน์กล่าวว่า พระบรมราชา (มัง) มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง พระองค์ได้ถวายไว้เป็นพระชายาในเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีทางเครือญาติของราชวงศ์ศรีโคตรบูรจากเมืองศรีสิทธิศักดิ์โคตรบองหลวงหรือเมืองนครพนมกับราชวงศ์เวียงจันทน์จากกรุงศรีสัตนาคนหุต ภายหลังเจ้าอนุวงศ์ถูกกองทัพสยามจับได้ พระนางได้สูญเสียพระราชโอรส 1 พระองค์ และถูกทัพสยามของเจ้าพระยาราชสุภาวดีจับได้ภายหลังที่ปากน้ำกระดิงตรงข้ามฝั่งหนองคาย จากนั้นจึงถูกนำไปทูลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ดังปรากฏความว่า

"...แต่นั้น พระนางสอนเทวีเจ้ายั้งขหม่อม นางนั้นเป็นชาติเชื้อลครแท้หน่อเมือง นางก็มีลูกแก้วบุตเรศหมื่นนาน ทรงโฉมศรีใหญ่มาสอนหน้า นางก็พลัดลูกแล้วกับพระบาทผัวขวัญ แต่เมื่อปางหนีเมืองพ่ายไทย จริงแท้ พระก็ปลงอาชญ์ให้เอาตนลี้อยู่ ฝูงหมู่จับหมวดเจ้าพาลี้ฝ่ายพวน หั้นแล้ว อันว่ากุมารนั้นตามองค์ภูวนารถ จริงแล้ว นางก็ฮู้ข่าวว่าพระลูกแก้วมรณ์เมี้ยนมิ่งมรณ์ แท้แล้ว นางก็อาวรณ์เอ้าขนังทรวงดิ้นดั่น ซดๆ ไห้น้ำตาย้อยหลั่งไหล โรทันตาไห้หาเมืองทั้งลูก นางก็กลับต่าวหน้าเฮือแล้วล่องลง เพื่อจักไปแจกเข้ากินทานหาลูก นางก็เซาจอดยั้งภายใต้ปากสดิงฯ แต่นั้น โยธาเจ้าทัพพาวดีฮู้ข่าว เขาก็ลัดเฮ่งขึ้นทางน้ำด่วนพลัน เลยเหล่าเถิงจอมเจ้านางครวญเซาจอด เขาก็วงแวดล้อมจอมเจ้าสู่ภาย ฝูงหมู่จับหมวดเจ้านางงามปบพ่าย เขาก็โตนล่องน้ำหนีเสี้ยงสู่ภาย ยังแต่องค์นางเจ้าตนเดียวสถิตอยู่ ว่าจักปบแล่นเต้นหนีแท้ก็บ่เป็น นางก็สวางจิตต์แห้งแปลงตนตั้งอยู่ เขาก็เอาแจ่มเจ้าพระนางได้ด่วนกลาย แล้วเหล่าเมือถวายเจ้าของหลวงทูลขม่อม เจ้าก็ปลงเครื่องให้ของล้วนราชทานฯ..."[7]

สร้างเมืองท่าแขก[แก้]

ภายหลังจากเจ้าอนุวงศ์ทรงถอยทัพจากนครราชสีมาแล้ว สยามได้ยกทัพตามขึ้นมานครเวียงจันทน์ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมราชา (มัง) สร้างเวียงท่าแขกขึ้นที่ฝั่งตรงข้ามเมืองนครพนม เพื่อกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งขวาให้หนีศึกจากสยามเข้ามาอาศัยอยู่ พร้อมทั้งสั่งให้เจ้าเวียงแกเจ้านายจากนครเวียงจันทน์มาเป็นผู้ช่วยควบคุมการก่อสร้างเวียง หลังจากสยามยกทัพขึ้นมาประชิดน้ำโขงแล้วทำให้การสร้างเวียงท่าแขกหยุดชะงักลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังปรากฏความในเอกสารเพ็ชรพื้นเมืองเวียงจันทน์ ดังนี้

"...แต่นั้น เคืองพระทัยเจ้าองค์ยั้งขม่อมหลวง พระก็จัดไพร่พร้อมดาห้างแต่งตัว เฮาจงคืนเมืองตั้งหนองบัวขนันอยู่ ภายพุ้น แต่ว่าครัวขี้ฮ้ายอย่าต้านต่อซน ท่านเอ๋ย พระก็ฮับสั่งให้เจ้าแห่งเมืองลคร เจ้าจงพาพลคืนอย่านานคาค้าง คันว่าเมือเถิงห้องอย่านานเฮ็วฮีบ จริงเทอญ จัดไพร่ข้ามของแท้อย่านาน หั้นท่อน แล้วจึงพาพลตั้งแปลงเวียงขนันอยู่ แฝงฝ่ายน้ำทางพุ้นแวดระวัง เที่ยวเทอญ ฯ แต่นั้น หัวเมืองเจ้าชาวลครไวฮีบ อ่วยหน้าช้างคืนแท้บ่นาน ทั้งวันแท้ทั้งคืนเขียวถีบ ย่านแต่เศิกลัดต้อนตันฆ่าหว่างทาง เศิกเหล่าเลยถีบม้าเต้นไล่ตามหลัง เจ้าก็อวนกำลังต่อเลวหนีแท้ ตั้งแต่ครราชเท่าเถิงเขตต์ขงละมุม เขาก็นำไปลัดที่โพนทันม้า ตันขนันต้อนครัวไทยยายอยู่ เขาก็ฮัดเฮ่งต้อนตันหน้าสู่ทาง ม้มจากหั้นเถิงท่งเชียงไต เขาก็ไหลพลนำผ่าเลวฟันฆ่า ก็จึงเถิงแห่งห้องขงเขตต์เมืองพิมาย กลายแดนไทยด่วนเมือทั้งฟ้าว วันคืนแท้บ่มีนานยามยีบ ก็จึงเถิงแห่ห้องลครแท้ที่ตน หั้นแล้ว เจ้าก็ใช้ถีบม้าไปป่าวขงลคร จัดครัวไปข้ามของอย่าช้า ไผอย่าดลคาค้างจักคนลูกอ่อน จริงเทอญ ปัดกวาดข้ามของแท้สู่คน เทียวเทอญ ย่านแต่ครัวจิ่มใกล้ลุกขึ้นเป็นเศิก บ่ฮู้ เห็นแต่ครัวเต็มเมืองสู่ภายจริงแท้ โตหากไปเทม้างเมืองเขาปัดกวาดมานั้น มันก็ดูมากล้มกลัวย่านหมู่เขา แท้แล้ว เขาหากอยู่ครราชพู้นติดต่อตามมา ไผบ่อาจมืนตาฮบต่อซนเขาแพ้ แต่ภูเขาขั้นเท่าที่ศรีคอนเตา ศีร์ษะเกษเขาก็มาอยู่เต้าเต็มแท้สู่ภาย แล้วเหล่าเอาตัวข้ามแคมของปัดขอด ลาวหมู่นั้นแทนบ้านสู่ภาย หั้นแล้ว ฯ แต่นั้น เจ้าก็จัดคนสร้างแปลงเวียงท่าแขก ลวงกว้างได้สามฮ้อยชั่ววา เวียงจันทร์เจ้าเวียงแกเป็นแก่ มาแนะให้เขาตั้งก่อเวียง ลวงสูงได้พอประมาณเจ็ดศอก ใหญ่แลน้อยเวียนอ้อมสี่กำฯ..."

"...เถิงเมื่อเดือนหกขึ้นสิบสองค่ำ มาเถิง เจ้าก็แปลงตราขัดฮอดละครมิช้า เจ้าให้หาเกณฑ์คนกล้าไปตีเหมราษฐ เสียเทอญ เหตุว่าเหมราฐนั้นเขาเกิดเป็นเศิกขึ้นแล้ว ให้เจ้าไปตีเสียอย่ากลายเดี๋ยวนี้ อันว่าปลูกเวียงนั้นเซาดูหยุดก่อน หั้นเทอญ จักว่าดีแลฮ้ายเมือหน้าบ่เห็น ฯ แต่นั้น นายคุมเจ้าเวียงแกแจ้งเหตุ เจ้าก็ฮัดเฮ่งขึ้นทั้งฟ้าวบ่เซา เจ้าก็กลับเมือเฝ้าบาทายั้งขม่อม เห็นแต่เฮือตั้งเต้าเต็มน้ำกึ่งกอง...แต่นั้น เมืองละครพร้อมมหาไชยฟ้าวฟั่ง ไปฮอดท่าแขกแล้วบ่เห็นแท้ที่ใด เห็นแต่ลาวเต็มเต้าเมืองลครของเก่า ภายพุ้น เขาก็คืนคอบไหว้องค์เจ้าสู่อัน หั้นแล้ว แกวก็เลยเคียดคล้อยป้อยด่าคำแข็ง สูอย่าเลิงๆ ตัวะล่ายกูฉันนี้ อันว่าของฟากนั้นบ้านอยู่เดิมเขา แท้นา สูว่าเศิกมาเต็มฝ่ายเฮาภายนี้ สูจงไปตั้งค่ายเป็นด่านหนองหลาง หั้นเทอญ กูจักเอากำลังเคลื่อนไปในหั้น หน่วยหนึ่งตั้งท่าแขกแคมของ ที่พุ้น ผุงหมู่ไทยเมืองสูอยู่ตระเวนภายหั้น คันว่าเศิกหากข้ามยามใดให้มาคอบ กูเทอญ กูก็บ่หย่อนย้านเสียมนั้นท่อใย แท้แล้ว ให้สูจัดมาเฝ้ายังกูให้มันมาก จริงเทอญ กูนี้คนเจ้าฟ้าหาญแท้อยู่กลาง หั้นแล้ว ฯ..."

เสวยราชย์เมืองนครราชสีมา[แก้]

ในเอกสารเพ็ชรพื้นเมืองเวียงจันทน์ ตอนพญาเมืองลครครองโคราช กล่าวถึงเมื่อครั้งเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ได้กรีฑาทัพเข้าบุกเมืองนครราชสีมาและยึดเมืองไว้ได้ พระองค์ทรงตั้งให้พระบรมราชา (มัง) ขึ้นเป็นผู้ครองเมืองนครราชสีมา พร้อมทั้งชื่นชมว่าพระบรมราชา (มัง) นี้เป็นผู้มีสติปัญญาดี ดังปรากฏรายละเอียดต่อไปนี้

"...แต่นั้น เมืองละครเจ้าลาพระองค์เลยพราก ดั้นดุ้งฝ้ายหลายมื้อถีบคราว ก็จึงเถิงแห่งห้องสีมานครราช เห็นแต่ครัวหยี่งเต้าเต็มแท้สู่ภาย ฟังยินเสียงเสพเจ้ายั้งขม่อมองค์กษัตริย์ พุ้นเยอ คือดั่งอินทร์พรหมผายพลากลงสวรรค์ฟ้า อรชรกลั้วกลมกันพิณพาทย์ เสียงปี่แก้วกลมกลั้วกล่อมลคร พลแพนเจ้าเวียนระวังฮักษาอยู่ หอกแลง้าวยองเข้มเฮื่อเฮือง กากาดซร้องหลายช่อชุมชัน ยายกันปักปิ่นปลายเมือฟ้า เสนาล้อมพันถันแถวถี่ คนชาติชั้นถือง้าวแห่พระองค์ฯ แต่นั้น ราชาเจ้าลครฟ้าวฟั่ง ลงจากช้างดาห้างแห่งตัว แล้วเหล่าไปเฝ้าเจ้ายั้งขม่อมเหนือหัว ถวายกรสารขาบทูลทรงแจ้ง พระก็แจ้งเหตุแล้วไขพระโอฐหุมหัว พระก็ปลงประทานตรัสโผดลงมิช้า อันว่าพญาเมืองลครนี้คนดีผยามาก จริงแล้ว เฮาก็คึดชอบข้อคนิงแม่งแม่นพระทัย ท่านจงเข้าอยู่ยั้งแท่นที่พญาพรหม หั้นเทอญ อย่าได้กลัวเกรงสังอยู่สบายจริงแท้ อันว่าโฮงมันนั้นเจ็ดหลังกว้างยิ่ง เป็นแผ่นพื้นเดียวแท้ก่ายกัน แท้แล้ว ท่านจงพาพลเข้าไปเซายั้งอยู่ อยู่ถ่างกินหมู่พร้าวหวานส้มแม่นใจฯ แต่นั้น เจ้าก็ฮับอาชญ์แล้วทูลเลิกเลยลา เถิงพลตนด่วนไปมิช้า ฮอดที่แล้วเซาจอดโยธา คนสองพันบ่เต็มจริงแท้ อันนี้หากแม่นโฮงมันแท้ พญาพรหมนครราช แคบแลกว้างคนิงหั้นสู่อัน เบิ่งท่อน ฝูงหมู่ไทยเวียงเอ้าเต็มเมืองเสียงสนั่น เขาก็หาซอกไซร้เอาแท้สิ่งของ ฝูงตาลพร้าวฟันลงเดียรดาษ หมูไก่พร้อมเขาฆ่ามุ่นวาย นครราชฮ้างปละเปล่าสูญเสีย เหนแต่ฝูงโยธาแห่งพระองค์เป็นเจ้า แม่นว่าของเขาไว้สระหนองซุกเสื้องก็ดี เขาก็หาซอกไซร้เอาเสี้ยงบ่หลอ ฝูงหมู่เจ๊กไทยไห้ฮ้องแล่นไปมา ของเขาเสียสู่อันกำลังฮื้อ สาวไทยพร้อมสาวมอญเป็นหมู่ เขาก็เหน็บเตี่ยวจ้อนจำก้นสู่คน เขาก็ขนเอาเข้าทั้งเกลือไปส่ง ครัวนั้น ยาบๆ แส้ทั้งมื้อบ่เซา หั้นแล้วฯ..."[8]

เสด็จหนีจากเมืองนครพนม[แก้]

เสด็จไหว้พระมหาธาตุพนม[แก้]

ในเอกสารจดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ 3[แก้]

ในจดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ 3 ตอนที่ 1 พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ได้กล่าวถึงพระบรมราชา (มัง) ในจดหมายเหตุ 2 ฉบับด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

จดหมายเหตุฉบับที่ 1[แก้]

ฉะบับที่ ๑ ตราถึงเจ้าเมืองมุกดาหาร ตอบเรื่องรับผลเร่ว ขี้ผึ้ง ป่านใบ ตามจำนวนเกณฑ์ และชี้แจงข้อราชการบ้างเล็กน้อย หน้า ๑๔-๑๘ ความว่า

หนังสือเจ้าพระยาจักรีฯ มาเถิงพระจันทสุริยวงศ์เจ้าเมืองมุกดาหาร ด้วยบอกหนังสือแต่งให้ท้าวอุปฮาด ท้าวจันท์ชมภู ท้าวเพิษ คุมผลเร่วจำนวนปีมะโรง จัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๗๕) หนัก ๔๘ หาบ กับขี้ผึ้ง ๒ หาบ ป่านใบ ๒ หาบ จำนวนเกณฑ์ลงไปทูลเกล้าฯ ถวาย แลว่าได้แต่งท้าวเพี้ยไปสืบราชการทางเมืองมหาชัย เมืองชุมพร เมืองพ้อง เมืองพลานเนือง ๆ มิได้ขาด ราชการสงบอยู่ กับว่าเพี้ยเมืองคุก ท้าวเพี้ยเมืองมุกดาหาร ซึ่งไปตกค้างอยู่ต่างเมืองพาครอบครัวกลับคืนมา เป็นคนมาแต่เมืองมหาชัยชายหญิงใหญ่น้อย ๒๑๕ คน มาแต่เมืองชุมพรชายหญิงใหญ่น้อย ๖๙ คน มาแต่เมืองปาศักดิ์ เมืองอุบลชายหญิงใหญ่น้อย ๑๗ คน (รวมเป็น) ๓๕๑ คน แล้ว ณ เดือนยี่ข้างขึ้นได้แต่งให้ท้าวเพี้ยไปกวาดเอาครอบครัวเมืองมุกดาหารซึ่งตกค้างอยู่แขวงเมืองชุมพร เมืองพ้อง เมืองพลาน ได้มาอีกชายหญิงใหญ่น้อย ๗๐๖ คน เข้ากัน ๑๐๕๗ คน กับว่า ณ เดือน ๔ ข้างขึ้น ได้แต่งให้ท้าวสุวอ เพี้ยเชียงเหนือ ไปฟังราชการ ณ เมืองนครพนม ได้ความว่า ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ญวนมีชื่อนายไพร่ ๓๐ คน กับพวกเมืองมหาชัยนายไพร่ ๑๐๐ เศษ ลงมาเถิงท่าแขก ตั้งค่ายยาวด้านละ ๑๕ วา สูง ๘ ศอก แต่พวกญวนมาเถิงประมาณครู่หนึ่ง แล้วกลับคืนไปเสีย ยังประจำค่ายอยู่แต่พวกเมืองมหาชัย ได้ความว่าญวนให้มาตั้งอยู่ แลว่า ณ ปีมะโรง จัตวาศก อาณาประชาราษฏรทำไร่นาเสีย ๒ ส่วน ได้ผลส่วนหนึ่ง เรียกข้าวขึ้นฉางได้แต่ ๖๐๐๐ ถัง ได้ส่งไปเมืองนครพนม ๑๕๐๐ ถัง จ่ายข้าหลวงไทยลาวไปมาราชการ ๑๓๐๐ ถัง แจกจ่ายครอบครัวที่ได้คืนมา ๒๖๐๐ ถัง ทุกวันนี้ราษฏรได้รับพระราชทานข้าวเจือกลอยเจือมันอยู่ทุกวันนั้น ได้นำเอาหนังสือบอกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา พาท้าวอุปหาต ท้าวจันท์ชมภู ท้าวเพี้ย เข้าเฝ้าทูลละอองฯ ทรงพระกรุณาดำรัสถามด้วยข้อราชการเมืองมหาชัย ท้าวอุปหาตให้กราบทูลพระกรุณาว่า ลูกค้าเมืองมหาชัยมาค้าขายพูดกันว่าญวนให้ลาวต่อเรือที่นำพลิกนาเมืองมหาชัย ๖ ลำ ว่าจะบรรทุกครัวพระบรมมาท่าแขก จึงทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ซึ่งพระจันทสุริยวงศ์ให้ท้าวเพี้ยขึ้นไปฟังราชการที่เมืองนครพนม ได้ความว่า ญวนประมาณ ๓๐ กับลาว ๑๐๐ ลงมาตั้งอยู่ที่ท่าแขกแต่ญวนนั้นกลับคืนไปเสียแล้ว ความทั้งนี้เป็นความคิดญวนด้วยญวนจะให้พระบรมพาครอบครัวมาตั้งอยู่ท่าแขก พระบรมได้ให้ท้าวทัง พระนคร ท้าวเพี้ย พาครอบครัวมาแต่ก่อนหลายพวกแล้ว นายทัพนายกองซึ่งรักษาเมืองนครพนมไม่ให้ท้าวทัง พระนคร ท้าวเพี้ย ตั้งอยู่ฟากฝั่งข้างโน้น ท้าวทัง พระนคร ท้าวเพี้ย พาครอบครัวข้ามมาอยู่ฟากข้างเมืองนครพนมสิ้น ครั้นญวนจะให้พระบรมพาครอบครัวมาก็กลัวนายทัพนายกองฝ่ายเราจะไม่ให้ตั้งอยู่ท่าแขก ญวนกับลาวเมืองมหาชัยจึงเอาผู้คนมามากจะมาดูลู่ดูทางที่นายทัพนายกองซึ่งอยู่รักษาเมืองนครพนม ครั้นมาได้พูดจาและได้หนังสือนายทัพนายกองไปก็จะเอาความไปบอกกล่าวคิดอ่านกัน ญวนรู้ความที่นายทัพนายกองฝ่ายเราแล้วจะให้พระบรมพาครอบครัวมาหรือจะแต่งผู้คนมาหลอกลวงประการใดอีกก็ยังหามีหนังสือบอกพระสุนทรราชวงศานายทัพนายกองลงไปไม่ และที่เมืองนครพนมก็ได้โปรดมีตราให้ขุนภักดีภูมินทร์นายกอง กองลาวเวียงจันท์ถือขึ้นไปแต่ก่อน ถ้าญวนจะมาพูดจาด้วยครอบครัวเขตต์แดนประการใดสุดแต่ฝ่ายเราไม่ให้เขตต์แดนของเราถ่ายเดียว ถ้าญวนพาพระบรมและครอบครัวมาพูดจาแต่โดยดีการไม่ควรจะวิวาทก่อนก็อย่าเพ่อวิวาท ให้นายทัพนายกองทำดีไว้แต่ปากบอกข้อราชการลงไป ณ กรุงเทพ ฯ ถ้าญวนพาพระบรมครอบครัวยกเป็นกระบวนทัพมาการเถิงจะวิวาทรบพุ่งกันก็ให้นายทัพนายกองต้านทานไว้ บอกข้อราชการไปเถิงหัวเมืองที่ใกล้และเมืองนครราชสีมา จะได้รีบยกรี้พลไปโดยเร็ว ช่วยกันรบพุ่งรักษาเขตต์แดนไว้กว่ากองทัพกรุงเทพ ฯ จะขึ้นไปเถิง ความแจ้งอยู่ในท้องตราซึ่งโปรดขึ้นมาเถิงนายทัพนายกองเมืองนครพนมแต่ก่อนทุกประการแล้ว แต่ซึ่งอุปหาตให้กราบทูลพระกรุณาว่า ญวนให้ลาวต่อเรืออยู่ที่เมืองมหาชัยว่า จะบรรทุกครัวพวกเมืองนครมาตั้งอยู่ท่าแขกนั้น แต่ก่อนที่เมืองมหาชัยก็หาเคยต่อเรือไม่ ถ้าแม้ญวนให้ต่อเรือจริงเห็นจะคิดราชการ ซึ่งว่าจะบรรทุกครัวเมืองนครพนมมานั้นความหาจริงไม่ และฝ่ายพระจันทสุริยวงศ์ อุปหาต ท้าวเพี้ย ก็มิได้คิดอ่านแต่งผู้คนไปสืบสวนเอาความให้แน่ไม่ การรักษาเขตต์แดนบ้านเมืองจะประมาทแก่ราชการนั้นไม่ได้ ให้พระจันทสุริยวงศ์ อุปหาต ท้าวเพี้ย คิดอ่านแต่งคนเล็ดรอดไปสืบให้รู้ความว่าญวนให้ต่อเรืออยู่กี่แห่ง กี่ตำบล จะเป็นเรือกี่ลำ ญวนจะคิดอ่านประการใดให้สืบสวนเอาความให้แน่นอนจงได้ อย่าให้มีความประมาทไว้ใจแก่ราชการกับให้แต่งกองลาดตระเวนสืบสวนราชการอยู่อย่าให้ขาด ถ้าได้ความประการใดก็ให้บอกไปเถิงเมืองนครพนมและหัวเมืองที่ใกล้ให้รู้ราชการเถิงกัน จะได้ช่วยกันคิดอ่านตริตรองราชการกับให้เร่งรีบบอกลงไป ณ กรุงเทพ ฯ โดยเร็วจะได้รู้ข้อราชการ ซึ่งว่าเกลี้ยกล่อมครอบครัวและแต่งคนไปขับไล่เอาครอบครัวกลับคืนมาบ้านเมืองในปีมะโรง จัตวาศก ได้เปนครัว ๑๐๐๐ เศษนั้นก็เป็นความชอบอยู่แล้ว แต่ครอบครัวเมืองมุกดาหารยังกระจัดพลัดพรายไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเป็นอันมาก ให้พระจันทสุริยวงศ์ อุปหาต ท้าวเพี้ย คิดอ่านเกลี้ยกล่อมเอาครอบครัวกลับคืนมาคงบ้านคงเมืองให้สิ้น จะได้เป็นกำลังรี้พลของเจ้าเมืองท้าวเพี้ยทั้งปวงสืบไปภายหน้า กับซึ่งว่าได้จัดแจงส่งเข้าไปเมืองนครพนม ๑๕๐๐ ถังนั้น นายทัพนายกองจะได้จับจ่ายราชการและผลเร่ว สีผึ้ง ป่านใบ จำนวนเกณฑ์ซึ่งส่งลงไปนั้น ได้ให้ท้าวอุปหาตท้าวเพี้ยคุมไปส่ง เจ้าพนักงานชั่งได้ผลเร่วจำนวนปีเถาะ ๑ หาบ ๙๓ ชั่ง ปีมะโรง ๔๓ หาบ ๕๓ ชั่ง ๔๕ หาบ ๔๖ ชั่ง สีผึ้งหนัก ๑ หาบ ๖๒ ชั่ง ป่านหนัก ๒ หาบ ๑ ชั่ง รับไว้แล้ว และผลเร่วจำนวนปีมะโรงยังค้าง ๖ หาบ ๔๗ ชั่ง สีผึ้งค้าง ๒ หาบ ๘ ชั่ง ป่านค้าง ๙๙ ชั่งนั้น ให้พระจันทสุริยวงศ์ ท้าวเพี้ย จัดส่งลงไปให้ครบจำนวนอย่าให้ขาดค้างล่วงงวดล่วงปีต่อไปได้เป็นอันขาด

หนังสือมา ณ วันศุกร เดือน ๗ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็งนักษัตรเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๗๖) ร่างตรานี้ท่านปลายเชือกทำ ครั้น ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เพลาบ่ายฯ พณฯ สมุหนายกว่าราชการ ณ จวน หลวงราชเสนาได้เอาร่างตรานี้อ่านกราบเรียน สั่งให้ตกแทรกลงบ้าง วงกาเสียบ้าง แล้วสั่งให้มีไปตามร่างนี้เถิด วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเส็ง เบญจศก ได้ส่งตรานี้ให้ท้าวอุปหาตรับไป [9]

จดหมายเหตุฉบับที่ 11[แก้]

ฉะบับที่ ๑๑ หนังสืออุปฮาดเมืองหลวงมูเลง มาถึงเจ้าเมืองหลวงมูเลง พระนครพนม ท้าววรบุตร (ต้นฉะบับเป็นอักษรไทยเหนือ เจ้าอุปราช เจ้าเหม็น แปล) หน้า ๔๙ -๕๐ ความว่า

หนังสืออุปฮาดผู้น้อง อุทิศสวัสดีมาเถิงเจ้าพี่เจ้าน้องและตาลุงทั้งปวงได้แจ้ง ข้าอยู่ข้านี้ก็อยู่ด้วยบุญด้วยคุณแก้วทั้งสามพระรัตนตรัยและบารมีเจ้าฟ้าสามกว้านหลวง ซึ่งว่าบ้านเมืองของเรานี้ใครก็ไม่ได้เคืองทำอะไรแก่กัน หากเป็นบาปบ้านเวรเมืองหากจำพรากจากกัน ข้าก็ทุกข์ยากไม่มีใครข้าก็ขออาศัยพึ่งบุญเจ้าพี่เจ้าน้อง อย่าให้ข้องขัดสน คนทั้งปวงก็หากได้ลงมาสู่พระราชสมภารสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ข้างนี้หมดแล้ว ข้าอยู่โน่นบ่าวไพร่ยังมีมากน้อยเท่าใด ก็ขอไว้อยู่กับข้าทำราชการกับเจ้าฟ้าสามกว้านหลวงไปก่อน สุดแต่บุญเราเจ้าข้าทั้งหลายเถิด ข้อหนึ่งรายข้าวเรากับข้าวเจ้าพระนคร เจ้าวรบุตรมาจัดแจงให้ศรีลามวัดกับบิดา นายกองรักษาไว้มีข้าว ๔๑ ยุ้งนั้น แต่ข้ามาเถิงข้าวยังมีแต่ ๔ ยุ้ง ข้าแบ่งปันกับพวกอยู่บ้านกินก็หมดแล้ว อย่าว่าข้าไม่ให้ไม่ปันกันกิน ข้าก็ไม่ได้ว่าบ่าวไพร่ข้างโน้นข้างนี้ แม้นว่าคนอยู่กับข้างนี้จะไปหาข้างโน้นข้าก็ไม่ว่าอะไร และทิตด้วงกับตาพรมขึ้นมากับเจ้าพระนคร เขาเจ็บไข้ลงไปไม่ได้ ข้าไม่ได้เกาะกุมไว้ ถ้าที่พระนครเป็นบ้านเป็นเมืองปกติดีแล้วเมื่อใด ข้าไม่ว่าจะเอาของพี่ของน้องดอก และนางออนให้ลงไปหานั้นข้าไม่ว่าอะไร นางออนก็ลงไปไม่ได้ นางออนก็ยังไม่มาเถิงข้า ยังอยู่ข้างใต้โน้น เอาแต่ใจนางออนจะอยู่ข้างนี้ก็ตามจะไปข้างโน้นก็ตาม

หนังสือมา ณ วันเสาร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ทุติยาษาฒ ปีมะเมียฉอศก หนังสืออุปฮาดเมืองหลวงมูเลง มาเถิงเจ้าเมืองหลวงมูเลง พระนคร ท้าววรบุตร ซึ่งมาตั้งอยู่ ณ บ้านอุเทน[10]

พระราชโอรสพระราชธิดา พระราชนัดดา และพระราชปนัดดา[แก้]

  • พระนางสอนเทวี พระชายาในเจ้าอนุวงศ์พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ทรงมีพระราชโอรสกับเจ้าอนุวงศ์ 1 พระองค์ คือ
    • เจ้าหมื่นนาม หรือท้าวหมื่นนาน
  • พระยาพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (บุญมาก) เจ้าเมืองนครพนม
    • เจ้าอุปฮาต (จันทร์ทองทิพย์) ว่าที่เจ้าเมืองนครพนม และเจ้าเมืองท่าแขก ประเทศลาว
      • อาชญานางอุปวรรณา
      • อาชญานางสีหาโณราช
      • อาชญานางนารถ
      • อาชญานางอนุวรรณา
      • อาชญานางสุมามาตย์
      • อาชญาท้าวกิตติลุนนา
    • พระยาพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (ยศวิชัย) เจ้าเมืองนครพนม
      • พระศุลากรพนมกิจ (ภูมิ) กรมการเมืองนครพนม
      • อาชญานางบานเย็น
      • อาชญานางจำปาอ่อน
      • อาชญานางบุศดี
    • พระศรีวรวงษ์ (แสง) กรมการเมืองนครพนม
      • อาชญาท้าวทอก
      • อาชญานางจะ
      • อาชญานางทะ
      • อาชญาท้าวทอน
      • อาชญาท้าวแว่น
      • อาชญานางนีรบล
      • อาชญานางติ๋ว
      • อาชญาท้าวเม็ง
    • อาชญานางคำมณีจัน
      • อาชญาท้าวศรีจันทร์
      • ขุนอนุสรณกรณีย์ (ทะ) กรมการเมืองนครพนม
      • อาชญานางบุศบง
      • อาชญานางกัลยา
    • อาชญานางจันลี
      • อาชญานางบัวเพ็ง
      • อาชญานางแตงอ่อน
    • อาชญานางพรหมาวดี
      • อาชญาท้าวประนอ
      • อาชญานางศรีคำ
    • อาชญานางอราวดี
      • อาชญานางคาย
      • อาชญาท้าวสุมัง
      • อาชญาท้าวข่าง
      • อาชญานางมาลากร
      • อาชญาท้าวเกรื่อง
      • อาชญาท้าวเนื่อง
      • อาชญานางเลื่อง
    • อาชญานางทีตา
      • อาชญานางเทียง
      • อาชญาท้าวเทพ[11]
  • เจ้าราชวงษ์ (โถง) เจ้านายในคณะอาญาสี่เมืองนครพนม
    • ท้าวบัวเทพ
      • พระประดิษฐานานนท์

การพระราชทานนามสกุล[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ของสยาม ทรงพระราชทานนามสกุลของทายาทผู้สืบเชื้อสายมาจากพระบรมราชา (มัง) ว่า มังคลคีรี เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Mangalagiri นามสกุลเลขที่ 1373 ทรงพระราชทานแก่พระพิทักษ์นครพนม (โต๊ะ) นอกราชการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย อดีตกรมการเมืองนครพนม มีศักดิ์เป็นหลานปู่ของพระบรมราชา (มัง) ปัจจุบันทายาทบางส่วนนิยมเขียนนามสกุลเป็นภาษาไทยว่า มังคละคีรี [12] อนึ่ง คำว่า มังคลคีรี หมายถึง ภูเขามงคล มังคละ หมายถึงพระนามเดิมของพระบรมราชา (มัง) คีรี แปลว่า ภูเขา หมายถึงนามเมืองนครพนม

สายสกุลที่เกี่ยวเนื่อง[แก้]

  • ณ นครพนม
  • มังคละวงศ์
  • มังคลคีรี (พระราชทาน), มังคละคีรี, มังคละคีรี ณ นครพนม
  • ศรียาวงศ์
  • พรหมประกาย (พระราชทาน), พรหมประกาย ณ นครพนม
  • พิมพ์พานนท์ (พระราชทาน)[13], พิมพานนท์ ณ นครพนม
  • สูตรสุคนธ์ (พระราชทาน), สูตรสุคนธ์ ณ นครพนม
  • สิทธิรัตน์, สิทธิรัตน์ ณ นครพนม
  • ภัทรฉดิศรณ์ ณ นครพนม
  • ผาด่านแก้ว ณ นครพนม
  • ประสิทธิ์สา, ประสิทธิสา
  • จันทรสาขา (พระราชทาน)[14]
  • สิงหะวาระ
  • พรหมอาสา
  • หงษ์ภักดี
  • หน่อสวรรค์ (หน่อสะหวัน)
  • พรหมสาขา ณ สกลนคร (พระราชทาน)
  • ปะทุมชาติ (พระราชทาน)[15], ปทุมชาติ
  • นาครทรรภ (พระราชทาน)
  • ทุมมานนท์ (พระราชทาน)[16]
  • พิทักษ์พนม (พระราชทาน)
  • ศักดิ์เจริญ
  • บรมสำลี
  • เหมหงส์
  • ไชยตา

อ้างอิง[แก้]

  1. ดูรายละเอียดใน เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค): พิมพ์แจกเปนที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงวงษานุประพัทธ์ (ตาด สนิทวงศ์ ณอยุธยา) วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2481 ณเมรุวัดเทพศิรินทราวาส, (กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒธนากร, 2481).
  2. คุรุสภา, "จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ 3 ฉะบับที่ 11 หนังสืออุปฮาดเมืองหลวงมูเลง พระนครพนม ท้าวรบุตร (ต้นฉบับเป็นอักษรไทยเหนือ เจ้าอุปราช เจ้าเหม็น แปล)" ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม 42 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 67 (ต่อ) 68) จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ 3 ตอนที่ 1 (ต่อ) และ ตอนที่ 2, (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, 2512), หน้า 8.
  3. เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์ลาว: A history of Laos, (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2530), หน้า 108.
  4. เทพ สุนทรศารทูล, มงคลนามตามตำราโหราศาสตร์, (กรุงเทพฯ: พระนารายณ์, 2534), หน้า 201.
  5. สุพร สิริพัฒน์, นครพนม: ศรีโคตตะบูรณ์นคร, พิมพ์ครั้งที่ 2, (นครพนม: องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม, 2560), หน้า 102-103.
  6. สุพร สิริพัฒน์, นครพนม: ศรีโคตตะบูรณ์นคร, หน้า 109.
  7. ทรงพล ศรีจักร์, เพ็ชรพื้นเมืองเวียงจันทน์ : พงศาวดารลาวตอนเวียงจันทน์แตก, (พระนคร : บางขุนพรหม, 2479), หน้า 89-91.
  8. ทรงพล ศรีจักร์, เพ็ชรพื้นเมืองเวียงจันทน์ : พงศาวดารลาวตอนเวียงจันทน์แตก, (พระนคร : บางขุนพรหม, 2479), หน้า 62-64.
  9. จดหมายเหตุฉบับที่ 1[ลิงก์เสีย]
  10. จดหมายเหตุฉบับที่ 11[ลิงก์เสีย]
  11. พรหม ส. ณ นครพนม, ประวัตินครพนมกับประมวลเครือญาติตระกูล ณ นครพนม : พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพรองอำมาตย์เอก พระราชกิจภักดี ณ วัดศรีเทพ นครพนม วันที่ 17 ธันวาคม 2504, (ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2504), หน้า 16-20.
  12. เอกสาร การพระราชทานนามสกุล
  13. นามสกุลคนไทย (ต้นสกุล (ต้นวงศ์), ต้นราชสกุล)
  14. นามสกุลคนไทย (ต้นสกุล (ต้นวงศ์), ต้นราชสกุล)
  15. นามสกุลคนไทย (ต้นสกุล (ต้นวงศ์), ต้นราชสกุล)
  16. นามสกุลคนไทย (ต้นสกุล (ต้นวงศ์), ต้นราชสกุล)