พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
แผนที่
พิกัด13°44′18.4″N 100°31′54.3″E / 13.738444°N 100.531750°E / 13.738444; 100.531750
ที่ตั้งด้านหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ผู้ออกแบบอาจารย์ไข่มุกต์ ชูโต
รศ. ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี รองประธาน
อ.เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี กรรมการ
อ.กี ขนิษฐานันท์ กรรมการและเลขานุการ
ประเภทพระบรมราชานุสาวรีย์
วัสดุโลหะผสม
ความสูง330 เซนติเมตร
สร้างเสร็จพ.ศ. 2530
การเปิด23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
อุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หรือพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล เป็นอนุสรณ์สถานที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร [1]

ภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เคยถูกใช้พิมพ์บนธนบัตรไทยแบบที่ 14 สกุลเงินบาท ชนิดราคา 100 บาท ผลิตออกใช้วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2537[2]และธนบัตรไทยแบบที่ 15 รุ่นแรก ชนิดราคา 100 บาท ผลิตออกใช้วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสื่อถึงพัฒนาการด้านการศึกษาครั้งใหญ่ในสยาม เมื่อครั้งประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[3]

ที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ตรงกับทางเข้าด้านหน้าและหน้าบันของหอประชุมจุฬาฯ เป็นการออกแบบตำแหน่งตามหลักการทางภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) โดยทำให้พื้นที่เปิดโล่งด้านหน้าเสาธงและหอประชุมจุฬาฯ มีจุดสนใจ (Focal Point) เป็นการส่งเสริมภูมิทัศน์ให้หอประชุมจุฬาฯ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาวชิราวุธ พื้นที่เปิดโล่งบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์จึงมองเห็นได้ง่ายจากถนนพญาไทและกลายเป็นจุดสนใจของเขตปทุมวันและกรุงเทพมหานครไปพร้อมกัน[4]

พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล เป็นอนุสรณ์สถานที่ใช้ประกอบพิธีสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น พิธีปฐมนิเทศและถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ พิธีถวายบังคมหลังรับพระราชทานปริญญาบัตรหรือถวายบังคมลา และเป็นสถานที่เคารพสักการะของนิสิต บุคคลากรและผู้มาเยือน เป็นที่ถวายสักการะของพระบรมวงศานุวงศ์เมื่อเสร็จพระราชดำเนินเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโอกาสต่าง ๆ พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายที่เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบ่อยครั้ง ถือเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่มหาวิทยาลัย[5]

ประวัติ[แก้]

ในวาระครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประชาคมจุฬาฯ และผู้มีจิตศรัทธาจึงจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองรัชกาล เพื่อรำลึกถึงพระผู้พระราชทานกำเนิดและพระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่วมรำลึกเหตุการณ์ที่เป็นรากฐานของการอุดมศึกษาในประเทศไทย ทุนสนับสนุนการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์มาจากประชาคมจุฬาฯ[6] นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบันขณะนั้นและประชาชนทั่วประเทศและได้รับความร่วมมือจากศิลปินหลายท่าน โดยมีประติมากรหลักคือไข่มุกด์ ชูโต เป็นผู้ปั้นหล่อพระบรมรูป สุเทพ นวลนุช ประติมากรผู้ช่วยปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มานพ สุวรรณปิณฑะ ประติมากรผู้ช่วยปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จินตรัตน์ พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ดำเนินการหล่อพระบรมรูป มีบุคลากรจุฬาฯ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ร่วมออกแบบ โดยมีภิญโญ สุวรรณคีรีและเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรีเป็นสถาปนิกออกแบบฐานพระบรมราชานุสาวรีย์[7] กี ขนิษฐานันท์เป็นภูมิสถาปนิก และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 [8]

สถาปัตยกรรมและกายภาพ[แก้]

แบบพระบรมรูป[แก้]

พระบรมสาทิสลักษณ์หมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ลักษณะของพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปหล่อประทับนั่งบนพระอาสน์ คือ เก้าอี้องค์ใหญ่ (Throne) ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมทัพกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือกระบี่ พระบรมรูปมีต้นเค้าจากพระบรมสาทิสลักษณ์ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งเป็นภาพเขียนหมู่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ช่างเขียนภาพชาวต่างชาติเขียน แต่ประติมากรได้นำมาปรับองค์ประกอบใหม่ โดยมิได้ปั้นแบบให้มีพระมาลาภู่ขนนกวางบนพระหัตถ์แต่เปลี่ยนพระหัตถ์ขวาให้ทรงถือคฑาแทน ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 เป็นรูปหล่อของพระองค์ในช่วงเวลาขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประทับยืนอยู่ด้านซ้ายของสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์[9]

สถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์[แก้]

ภาพกว้างของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ

พระบรมรูปสองรัชกาลตั้งอยู่บนฐานที่สูงจากพื้นสนามหญ้ารวมสี่ชั้น มีน้ำพุและสวนอยู่ด้านข้างทั้งสองด้าน ฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งอยู่ด้านหน้าวงเวียนเสาธงชาติ และตรงพอดีกับมุขด้านหน้าของหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบกับพื้นที่มหาวิทยาลัยส่วนนี้เป็นพื้นที่เปิดโล่งหน้ากว้าง สังเกตได้ตั้งแต่ถนนพญาไท บริเวณนี้จึงทำหน้าที่เส้นนำสายตาที่ชัดเจน รวมถึงยังมีจุดสนใจอยู่ใจกลางพื้นที่ด้วย อาจารย์กี ขนิษฐานันท์เป็นผู้ออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรม ท่านเคยกล่าวถึงการออกแบบภูมิทัศน์ของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าเอาไว้ว่า [10]

พระบรมราชานุสาวรีย์และเสาธงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

...การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลทำให้พื้นที่โล่งตรงกลางมีจุดสนใจ (Focal Point) ส่วนคณะอักษรศาสตร์เก่าสองหลังปัจจุบันนี้เรียกว่าเทวาลัย ทางส่วนกลางก็กำลังจะปรับ แล้วเอามาใช้ประโยชน์ส่วนกลาง...

— กี ขนิษฐานันท์

นอกจากจะเป็นจุดสนใจทางภูมิสถาปัตยกรรม (Focal Point) บริเวณโดยรอบลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชยังเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เป็นแกนสีเขียว (Green Axis) บนที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามผังแม่บทจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 100 ปี เป็นพื้นที่ซับน้ำที่มีพืชปกคลุมดินเป็นบริเวณกว้างจึงลดการสะท้อนความร้อนจากแสงแดด และเป็นที่เปิดโล่งไม่กี่แห่งในย่านธุรกิจของเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร[11] โดยอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นส่วนหนึ่งของแกนสีเขียวในแผนแม่บทดังกล่าวด้วย ทำให้พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ตั้งตรงกับจุดกึ่งกลางทางเข้าด้านหน้าของอุทยาน 100 ปีฯ พอดี และมีระยะการกระจัดระหว่างทั้ง 2 สถานที่ราว 740 เมตร

อ้างอิง[แก้]

  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (23 พฤศจิกายน 2530). สูจิบัตรเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2530. สูจิบัตร , หน้า 1-39.
  2. ธนาคารแห่งประเทศไทย BOT. (2558). ธนบัตรแบบ ๑๔. Retrieved เมษายน 9, 2559, from เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย:https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryAndSeriesOfBanknotes/Pages/Banknote_Series14.aspx เก็บถาวร 2015-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. ธนาคารแห่งประเทศไทย BOT. (2558). ธนบัตรแบบ 15. Retrieved เมษายน 20, 2559, from เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย:https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryAndSeriesOfBanknotes/Pages/Banknote_Series15.aspx เก็บถาวร 2015-08-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. ขนิษฐานันท์, ก. (2549, มิถุนายน 22). ภูมิทัศน์อนุสาวรีย์ พระราชานุสาวรีย์ และพระบรมราชานุสาวรีย์. (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Interviewer) คณะกรรมการจัดทำหนังสือ 9 ทศวรรษ พัฒนาการทางกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. ผู้จัดการออนไลน์ MGR. (2556, พฤษภาคม 30). เรื่องริม ม. Retrieved เมษายน 9, 2559, from ปฐมนิเทศจุฬา’56 นิสิตใหม่พร้อมเพรียง “ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬา” : http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9560000064948 เก็บถาวร 2017-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (23 พฤศจิกายน 2530). สูจิบัตรเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2530. สูจิบัตร , หน้า 1-39.
  7. สุวรรณคีรี, ภ. (2549). thai-architecture . Retrieved เมษายน 9, 2559, from http://www.thai-architecture.com/: http://www.thai-architecture.com/download/pinyo_cv.pdf
  8. ศูนย์บริหารกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (23 พฤศจิกายน 2530). ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ . เรียกใช้เมื่อ 9 เมษายน 2559 จาก ศูนย์บริหารกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: http://www.cca.chula.ac.th/protocol/yensira/385-monument.html
  9. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (23 พฤศจิกายน 2530). สูจิบัตรเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2530. สูจิบัตร , หน้า 14-21.
  10. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2550). 9 ทศวรรษ พัฒนาการทางกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพ: คณะกรรมการจัดทำหนังสือ 9 ทศวรรษ พัฒนาการทางกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  11. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2558). โครงการผังแม่บทภูมิสถาปัตยกรรม. Retrieved เมษายน 9, 2559, from เว็บไซต์ โครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: http://www.green.chula.ac.th/campus01.html

ดูเพิ่ม[แก้]