ข้ามไปเนื้อหา

พระธรรมวงศาจารย์ (สุข สุขโณ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระธรรมวงศาจารย์

(สุข สุขโณ)
ชื่ออื่นหลวงปู่สุข
ส่วนบุคคล
เกิด6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 (96 ปี)
มรณภาพ3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
นิกายมหานิกาย
การศึกษานธ.เอก ปธ.๔
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดกลาง กาฬสินธุ์ กาฬสินธุ์
อุปสมบท30 พฤษภาคม พ.ศ. 2477
พรรษา77
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดกลาง กาฬสินธุ์
อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์

พระธรรมวงศาจรย์ (สุข สุขโณ) หรือ หลวงปู่สุข (6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457-3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554)พระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเถรวาท คณะมหานิกาย ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม มีราชทินนามตามสัญญาบัตรว่า พระธรรมวงศาจารย์ สุวิธาน ปริยัติกิจ อนุสิฐธรรมสุนทร ปสาทกร ภาวนาวิสิฐ มหาคณิสรร บวรสังฆาราม คามวาสี อดีตเจ้าอาวาสวัดกลาง จังหวัดกาฬสินธุ์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์

ประวัติ

[แก้]

ชาติกำเนิด

[แก้]

เดิมชื่อ สุข กายาผาด เกิดวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 ตรงกับวันศุกร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 12 ปีขาล บิดาชื่อ นายนนท์ กายาผาด มารดาชื่อ นางแพง กายาผาด ภูมิลำเนา หมู่ที่ 5 บ้านบึงวิชัย ตำบลไผ่ อำเภอหลุบ (อำเภอเมือง ) จังหวัดกาฬสินธุ์[1]

อุปสมบท

[แก้]

บรรพชา-อุปสมบท เมื่อวันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ณ วัดวิเศษไชยาราม ตำบลวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ พระอุปัชฌาชื่อพระครูกาฬสินธุ์ธวาจารย์ (ติ่ง ธรรมปัญโญ) ณ วัดกลางกาฬสินธุ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์

การศึกษา

[แก้]
  • พ.ศ. 2469 สำเร็จการศึกษาชั้น ป.4 จากโรงเรียนวัดบ้านบึงวิชัย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2481 สอบได้นักธรรมเอก จากสำนักเรียนวัดวิเศษไชยาราม จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2485 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค จากสำนักเรียนวัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2487 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดศรีนวล จังหวัดขอนแก่น
  • การศึกษาพิเศษ สามารถอ่าน-เขียน อักษรลาว อักษรธรรม หนังสือผูก ได้เป็นอย่างดียิ่ง มีความเชี่ยวชาญในการปกครองคณะสงฆ์ การศึกษาพระธรรมวินัย งานด้านศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีโบราณ งานเขียนรวบรวมเอกสารหนังสือโบราณ ผญา-สุภาษิต และงานสาธารณูปการ

ผลงาน

[แก้]

ผลงานด้านการศึกษา

[แก้]
  • พ.ศ. 2481 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม สำนักวัดวิเศษไชยาราม
  • พ.ศ. 2491 ได้รับแต่งตั้งเป็นศึกษาธิการอำเภอเมืองกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2492 ได้รับแต่งตั้งเป็นศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2494 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดกลาง จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ พัฒนาสำนักเรียนจนกรมศาสนาคัดเลือกให้เป็นสำนักเรียนดีเด่น
  • พ.ศ. 2495 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2496 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตอำเภอเมือง
  • พ.ศ. 2515 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2516 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2517 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดกลางกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2528 โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมในโครงการ ทุนการศึกษา ของมูลนิธิหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
  • พ.ศ. 2532 ได้รับการคัดเลือกจากกรมการศาสนา ให้เป็นสำนักเรียนดีเด่น
  • พ.ศ. 2534 ได้รับการแต่งตั้งจากกรมการศาสนา ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ วัดกลางกาฬสินธุ์

งานเผยแพร่พระพุทธศาสนา

[แก้]
  • พ.ศ. 2489-พ.ศ. 2506 ได้ออกไปเทศนาอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่ของ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งกลางวัน-กลางคืน โดยการเดินเท้าและใช้เกวียน
  • พ.ศ. 2505 จัดตั้งพุทธสมาคมจังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้นที่วัดกลางกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2518 เป็นประธานอำนวยการอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.บ.ต.) กาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2525 เป็นประธานโครงการพัฒนาเยาวชนภาคฤดูร้อนของจังหวัดทุกโครงการ
  • พ.ศ. 2528 เป็นประธานอำนวยการพระธรรมทูต จังหวัดกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2531 เป็นประธานจัดหาทุนสงเคราะห์นักเรียนประถมศึกษา-มัธยมศึกษา
  • พ.ศ. 2532 เป็นประธานพระนักเผยแพร่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดกาฬสินธุ์

งานแต่งหนังสือ

[แก้]
  • พ.ศ. 2513 แต่งหนังสืออานิสงส์การสร้างพระอุโบสถ พิมพ์แจก 2,000 เล่ม
  • พ.ศ. 2515 แต่งหนังสือคู่มือพ่อบ้าน พิมพ์แจก 5,000 เล่ม
  • พ.ศ. 2520 แต่งหนังสือสาสน์วัดกลาง พิมพ์แจก 2,000 เล่ม และแต่งหนังสือคู่มือ ปฏิบัติกรรมฐานแบบดั้งเดิมขั้นพื้นฐาน พิมพ์แจก 1,000 เล่ม
  • พ.ศ. 2524 แต่งหนังสือ หลักการแต่งกาพย์ กลอนต่างๆ พิมพ์แจก 1,000 เล่ม
  • พ.ศ. 2525 แต่งหนังสืออุบาทว์ 8 ประการ จำนวน 3,000เล่ม
  • พ.ศ. 2528 แต่งหนังสือบาลีไวยากรณ์ พิมพ์ขึ้นเป็นคู่มือครูและผู้เรียนปริยัติธรรม จำนวน 2,000 เล่ม
  • นอกจากนี้ยังมีหนังสือเบ็ดเตล็ด เกร็ดความรู้อื่นๆ อีกมากมาย และพิมพ์เพื่อแจกประชาชนในโอกาสต่างๆ และที่สำคัญคือ รวบรวมผญาสุภาษิต คำสอนโบราณ ให้จัดพิมพ์แจก ในงานฉลองอายุครบ 7 รอบ 84 ปี พระเทพวิสุทธาจารย์ (สุข สุขโณ) เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2540

งานส่งเสริมด้านการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน

[แก้]
  • พ.ศ. 2515 ก่อตั้งศูนย์อบรมวิปัสสนากรรมฐาน ขึ้นที่วัดกลางกาฬสินธุ์ เพื่อให้ภิกษุ สามเณร ประชาชนทั่วไปเข้ารับการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานขั้นพื้น ฐานอย่างถูกวิธี
  • พ.ศ. 2520 ได้ริเริ่มอนุรักษ์ที่สาธารณประโยชน์ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดที่มิ ใช่เจ้าของ เพื่อให้เป็นสมบัติของสาธารณชน และเชิญชวนให้ร่วมกัน ปลูก ดูแลรักษาต้นไม้ในพื้นที่เพื่อใช้เป็นที่ฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน

งานสาธารณูปการ

[แก้]
  • พ.ศ. 2529 เป็นประธานหาทุนบูรณปฏิสังขรณ์โรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังเก่า ลักษณะเป็นศาลาทรงไทย จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง ราคา 253,000 บาท
  • พ.ศ. 2530 จัดทุนสร้างห้องน้ำ-ห้องสุขา แบบก่ออิฐถือปูน ที่วัดกลางกาฬสินธุ์ ราคา 45,000 บาท
  • พ.ศ. 2530 จัดหาทุนบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดกลาง ลักษณะเป็นทรงไทย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก บานประตู-หน้าต่างเป็นไม้ประดู่สลัก ภาพพุทธประวัติ และศิลปวัฒนธรรมอีสาน มูลค่า 3,640,000 บาท
  • พ.ศ. 2531 จัดหาทุนสร้างวิหารวัดกลางกาฬสินธุ์ แบบทรงไทย 2 ชั้น คอนกรีต เสริมเหล็ก มูลค่า 2,964,000 บาทจัดหาทุนสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม หลังใหม่ แบบทรงไทย 2 ขั้น คอนกรีตเสริมเหล็ก ค่าก่อสร้าง 10,650,000 บาท
  • พ.ศ. 2532 จัดหาทุนสร้างกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถวัดกลางแบบก่ออิฐถือปูน มีลายปูนปั้นนูนต่ำ ด้านนอก เป็นเรื่องคติธรรมคำสอนในวัฒนธรรม อีสานโบราณ ด้านในเป็นภาพนิทานชาดกในพระพุทธประวัติ รอบ พระอุโบสถ สิ้นค่าก่อสร้าง 295,500 บาท
  • พ.ศ. 2533 จัดหาทุนซ่อมแซมปฏิสังขรณ์โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดกลางหลังเก่า สิ้นเงิน 250,000 บาท
  • พ.ศ. 2524 จัดหาทุนซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ ศาลาการเปรียญวัดกลาง แบบทรงไทย 2 ชั้น ค่าปฏิสังขรณ์ 564,500 บาท

การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

[แก้]
  1. เป็นผู้สนับสนุนร่วมมือกับทางราชการ สร้างสถานที่พักผ่อนในบริเวณ หรือสถานที่ที่ราชการกำหนด เช่น ศาลาพักร้อนในเขตเทศบาล ที่พักในสวนสาธารณะแก่งดอนกลาง ชักชวน ให้ประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ และจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ป่าไม้ร่วมกับจังหวัดกาฬสินธุ์ 12 แห่ง
  2. ปี พ.ศ. 2534 เกิดอุทกภัยขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รวบรวมปัจจัยต่าง ๆ เพื่อนำไปแจกจ่ายพระภิกษุ สามเณร และประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน คิดเป็นมูลค่า 25,000 บาท การพัฒนาวัด ได้ดำเนินการปรับปรุง บูรณะและพัฒนาวัดกลางกาฬสินธุ์ ตลอดมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับผลเป็นที่ปรากฏ ดังนี้
  • พ.ศ. 2509 ได้รับคัดเลือกจากกรมการศาสนา ให้เป็น วัดพัฒนาตัวอย่างและวัดพัฒนาดีเด่น
  • พ.ศ. 2515 ได้รับยกย่องจากกรมการศาสนา ให้เป็น วัดพัฒนาตัวอย่างเกียรตินิยมดีเด่น
  • พ.ศ. 2521 ได้รับการยกฐานะ ให้เป็น พระอารามหลวง ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์

งานพิเศษ

[แก้]
  1. พ.ศ. 2511 ได้เป็นผู้ริเริ่มการจัดวาง หลักการทำบุญที่ถือว่าเป็นงานสำคัญต่าง ๆ เช่น งานพิธีวางศิลาฤกษ์ งานพิธียกช่อฟ้าใบระกา งานผูกพัทธสีมา (ขอดสิม) งานพระราชทานเพลิงศพพระมหาเถรานุเถระ และงานที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญทุก ๆ อย่าง ไม่ให้มีมหรสพทุกชนิด ให้งดการพนัน งดการสูบบุหรี่หรือกินหมาก และงดดื่มสุราเมรัย สิ่งเสพติดทุกประการ ให้งดการฆ่าสัตว์ ให้จัดอาหารมังสะวิรัติ (อาหารเจ) ห้ามแต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อยเข้าวัด และในสิ่งที่เห็น ว่าไม่เหมาะสมต่าง ๆ ติดต่อกันมานานถึงกว่า ๓๐ ปีแล้ว จนกลายเป็นตัวอย่างของจังหวัดใกล้เคียง
  2. พ.ศ. 2519 ได้จัดวางหลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ให้เจ้าคณะสังฆาธิการระดับอำเภอ ตำบล ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ปฏิบัติเป็นแบบแผนเดียวกันตามหลักปฏิบัติที่ถูกต้องแต่ดั้งเดิมและร่วมปฏิบัติเป็นหมู่คณะ ในงานผูกพัทธสีมา (ขอดสิม) รวม 9 วัน 9 คืน หรืองาน พระราชทานเพลิงศพพระมหาเถระ 7 วัน 7 คืน ให้เป็นแบบปฏิบัติที่ถูกต้องมาจนปัจจุบัน

สมณศักดิ์

[แก้]

เกียรติคุณที่ได้รับ

[แก้]
  • พ.ศ. 2534 ได้รับคัดเลือกจากกรมศิลปากร ให้เป็น พระนักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ให้ได้ รับเข็มและโล่เกียรติคุณ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ. 2535 ได้รับคัดเลือกจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็น ผู้ส่งเสริม และ อนุรักษ์วัฒนธรรมมรดกไทยทางพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ. 2539 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ทรงรับไว้ใน พระราชานุเคราะห์ โดยให้ได้รับการเอาใจใส่ดูแลด้านสุขภาพอนามัย จากคณะ แพทย์ในพระองค์
  • พ.ศ. 2540 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้น "ธรรม" ที่ "พระธรรมวงศาจารย์"

มรณภาพ

[แก้]

พระธรรมวงศาจารย์ (สุข สุขโณ) ละสังขารเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 19.14 น.ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ สิริอายุรวม 96 ปี 77 พรรษา

โดยพระธรรมวงศาจารย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ทรงรับไว้ในพระราชานุเคราะห์ โดยให้ได้รับการเอาใจใส่ดูแลด้านสุขภาพอนามัยจากคณะแพทย์ในพระองค์ ในปี 2539 จากนั้นคณะแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ได้ถวายการรักษาอาการอาพาธที่ห้องไอซียูมาตั้งแต่ปี 2549 ด้วยโรคชรา และโรคภูมิแพ้จนกระทั่งมรณภาพอย่างสงบ ท่ามกลางความเสียใจบรรดาญาติ ลูกหลานและศิษยานุศิษย์จำนวนมาก รวมถึงคณะแพทย์พยาบาลที่ถวายการรักษาตลอดระยะเวลา 5 ปี

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นผู้แทนพระองค์นำพวงมาลาพระราชทานวางหน้าหีบศพพระธรรมวงศาจารย์ [7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ปราชญ์ชาวบ้าน:กาฬสินธุ์ [ลิงก์เสีย][ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 มกราคม 2555.
  2. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๙๕ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๘
  3. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ฉบับพิเศษ หน้า ๘ เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๑๐๒ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๐๓
  4. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ฉบับพิเศษ หน้า ๓ เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๖๓ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘
  5. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนฉบับพิเศษ หน้า๕ เล่ม ๑๐๙ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๖ ข ๒ ธันวาคม ๒๕๔๐
  7. [1][ลิงก์เสีย] 19 กุมภาพันธ์ 2554. ค้นหา 19 มกราคม 2555.