พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร
Uthayan Phumisathian2.png
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร องค์ปัจจุบัน
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทพระที่นั่ง
ที่ตั้งพระราชวังบางปะอิน
เมืองตำบลบ้านเลน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2420
ปรับปรุงพ.ศ. 2537
บริเวณด้านข้างของพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร องค์ปัจจุบัน
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร องค์ที่สอง
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรองค์แรก


พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ตรงข้ามกับสระทางด้านตะวันออก ของพระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งองค์นี้สร้างด้วยไม้ สไตล์ยุโรป แบบสวิสชาเล่ต์ 2 ชั้น มีกำแพงแก้ว จดหมายเหตุได้กล่าวไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงิน 90 ชั่งเพื่อสร้างพระที่นั่งองค์นี้ และรั้วพระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2420[1]

ต่อมา พ.ศ. 2481 ได้มีการซ่อมแซมใหญ่พระราชวังบางปะอิน แต่ผู้รับเหมาประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดไฟไหม้พระที่นั่งทั้งองค์ คงเหลือแต่หอยุโรปข้าง ๆ เท่านั้น หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นใหม่ ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้ไม่เปิดให้เข้าชม

ประวัติ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2420 โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นผู้ออกแบบ[2] โดยพระราชทานเงิน 70 ชั่ง หรือประมาณ 5,600 บาท ทุกปีในฤดูฝน พระองค์จะเสด็จมาประทับที่พระที่นั่งองค์นี้ปีละ 3 ครั้ง[3]

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรเป็นพระที่นั่งเรือนไม้ 2 ชั้น มีสถาปัตยกรรมแบบชาเล่ย์ของสวิตเซอร์แลนด์ โดยทาสีเขียวอ่อนและสีเขียวแก่สลับกันทั้งองค์ ประดับประดาไปด้วยลวดลายฉลุไม้แบบยุโรปที่แสนงดงาม มีระเบียงแล่นโดยรอบพระที่นั่ง ภายในมีการตกแต่งแบบยุโรปด้วยเครื่องเรือนฝรั่งเศสสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่เข้าชุดกันทั้งหมด พระที่นั่งองค์นี้ถือได้ว่าเป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานมากที่สุด[4]

เมื่อปี พ.ศ. 2433 แกรนด์ดุ๊กซาร์วิตส์แห่งรัสเซีย (พระยศขณะนั้น) ได้เสด็จเยือนประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับของแกรนด์ดุ๊กซาร์วิตส์ และในปี พ.ศ. 2452 ยังใช้เป็นที่ประทับของดยุคโยฮัน อัลเบรตแห่งเยอรมันด้วย[1]

ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมพระที่นั่งต่าง ๆ ในพระราชวังบางปะอิน ขณะดำเนินการทาสีพระที่นั่งนั้นได้เกิดเหตุเพลิงไหม้พระที่นั่งทั้งองค์ ซึ่งเหลือเพียงหอน้ำข้างพระที่นั่งเท่านั้นที่ไม่ถูกเพลิงไหม้ เมื่อปี พ.ศ. 2531 สำนักพระราชวังจึงสร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นมาใหม่เลียนแบบพระที่นั่งองค์เดิม เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพเขียนและวัตถุโบราณ[2]

จนกระทั่ง เมื่อปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้จัดสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ ขึ้นโดยใช้คอนกรีต แทนไม้ โดยทาสีขาวสลับเขียวตามแบบเดิมทั้งองค์พระที่นั่ง ต่อมาได้มีการรื้อดัดแปลงสร้างใหม่อีกครั้งหนึ่งตามลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรในคราวเสด็จเยือนประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2539 การดัดแปลงใหม่ครั้งนี้ได้ใช้ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียน ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นกรุกระจกโดยรอบองค์พระที่นั่ง องค์พระที่นั่งทาสีม่วงชมพูอย่างงดงาม[1][4]

ภายในพระที่นั่ง[แก้]

ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังบางปะอิน และเป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะ เป็นสถานที่เดียวในพระราชวังบางปะอินที่ไม่เปิดให้เข้าชม

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
  2. 2.0 2.1 พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร อาลัยชาเลต์สวิส
  3. "พระราชวังบางปะอิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-14. สืบค้นเมื่อ 2007-06-02.
  4. 4.0 4.1 พระราชวังบางปะอิน ตอน พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 14°13′59″N 100°34′47″E / 14.232922°N 100.579587°E / 14.232922; 100.579587