ข้ามไปเนื้อหา

พรหมโลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พรหมภูมิ)
อรูปพรหม (ฉบับกรุงศรี)

พรหมภูมิ หรือ พรหมโลก ถือเป็นดินแดนของพระพรหม ซึ่งเป็นภพภูมิที่สถิตย์อยู่เสวยสุขของพระพรหมผู้อุบัติเกิดในพรหมวิมาน ณ พรหมโลก อันเป็นแดนซึ่งมีแต่ความสุขอันเกิดจากฌานเท่านั้น (แบ่งชั้นตามอำนาจฌานที่ได้บรรลุ) ในภพภูมินี้ตามคัมภีร์กล่าวว่าปราศจากความสุขที่เนื่องด้วยกามราคะ

พรหมภูมิอาจแบ่งออกเป็น 2 พวก ได้แก่ รูปพรหม และ อรูปพรหม

รูปพรหม

[แก้]

รูปพรหม หรือ รูปาวจรภูมิ คือ ชั้นที่พระพรหมผู้วิเศษมีรูป หากแต่เป็นรูปทิพย์ มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถ มองเห็นได้ จักเห็นได้ก็โดยทิพยวิสัยเท่านั้น ประกอบด้วยวิมาน 16 ชั้น

  • ชั้นที่ 1 - ชั้นที่ 3 รวมเรียกว่า ปฐมฌานภูมิ ด้วยพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยปฐมฌาน ทั้งสามชั้นนี้ ความจริงตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น 3 เขต
  • ชั้นที่ 4 - ชั้นที่ 6 รวมเรียกว่า ทุติยฌานภูมิ ด้วยเหล่าพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยทุติยฌาน ทั้งสามชั้นนี้ ความจริงตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น 3 เขต
  • ชั้นที่ 7 - ชั้นที่ 9 รวมเรียกว่า ตติยฌานภูมิ ด้วยเหล่าพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยตติยฌาน ทั้งสามชั้นนี้ ความจริงตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น 3 เขต
  • ตั้งแต่ชั้นที่ 10 ขึ้นไป รวมเรียกว่า จตุตถฌานภูมิ ด้วยเหล่าพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยจตุตถฌาน ชั้นที่ 10-11 ตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่กันอยู่ และมีระยะห่างไกลกันมาก
  • หากแต่เฉพาะเหล่าพระพรหมในชั้นที่ 12 – 16 เรียกว่า ปัญจสุทธาวาส หรือ สุทธาวาสภูมิ อันเป็นชั้นที่เหล่าพระพรหมในชั้นนี้ ต้องเป็นพระพรหมอริยบุคคลในพุทธศาสนา ระดับอนาคามีอริยบุคคล เท่านั้น ต่างจาก 11 ชั้นแรก แม้พระพรหมทั้งหลายจะได้สำเร็จฌานวิเศษเพียงใด ก็อุบัติในสุทธาวาสภูมิไม่ได้อย่างเด็ดขาด สุทธาวาสภูมินี้มีอยู่ 5 ชั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางอากาศ และตั้งอยู่เป็นชั้นๆ ขึ้นไป ตามลำดับภูมิไม่ตั้งในระดับเดียวกันเช่นชั้นแรกๆที่ผ่านมา
ปฐมฌาณภูมิ3

ชั้นที่ 1 พรหมปาริสัชชาภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้เป็นบริวารแห่งท้าวมหาพรหม พรหมโลกชั้นที่ 1 พรหมปาริสัชชาภูมิ เป็นพรหมโลกชั้นแรก เป็นพรหมชั้นล่างสุด ตั้งอยู่เบื้องบนสูงกว่าปรนิมมิตวสวัตตีสวรรค์ขึ้นไปถึง 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ คือไกลจากมนุษยโลกจนไม่สามารถนับได้ ซึ่งหากเอาก้อนศิลาขนาดเท่าปราสาทเหล็ก (โลหปราสาท) ทิ้งลงมาจากชั้นนี้ ยังใช้เวลาถึง 4 เดือนจึงจะตกถึงแผ่นดิน พระพรหมในที่นี้มีคุณวิเศษ โดยเคยเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ปฐมฌาน ขั้นปริตตะ คือ ขั้นสามัญมาแล้วทั้งสิ้น เสวยปณีตสุขอยู่ มีความเป็นอยู่อย่างแสนจะสุขนักหนา ตราบจนหมด พรหมายุขัย มีอายุแห่งพรหมประมาณส่วนที่ 3 แห่งมหากัป (1 ใน 3 แห่งมหากัป) มีท้าวสหบดีพรหม เป็น พรหมบดี

ชั้นที่ 2 พรหมปุโรหิตาภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้เป็นปุโรหิต (อาจารย์ใหญ่) ของท้าวมหาพรหม พรหมโลกชั้นที่ 2 พรหมปุโรหิตาภูมิ เป็นที่อยู่ของพระพรหมผู้ทรงฐานะประเสริฐ คือเป็นปุโรหิตของท่านมหาพรหม ความเป็นอยู่ทุกอย่างล้ำเลิศวิเศษกว่าพรหมโลกชั้นแรก รัศมีก็รุ่งเรืองกว่า รูปทรงร่างกายใหญ่กว่า สวยงามกว่า พรหมทุกท่านล้วนมีคุณวิเศษ ได้เคยเจริญสมถกรรมฐานจนได้ บรรลุ ปฐมฌาน ขั้นมัชฌิมะ คือขั้นปานกลาง มาแล้วทั้งสิ้น มีอายุแห่งพรหมประมาณครึ่งมหากัป

ชั้นที่ 3 มหาพรหมาภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ยิ่งใหญ่ พรหมโลกชั้นที่ 3 มหาพรหมาภูมิ ที่อยู่แห่งท่านพระพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย มีความเป็นอยู่และรูปกายประเสริฐยิ่งขึ้นไปอีก ได้เคยเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุปฐมฌานขั้น ปณีตะคือขั้นสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 1 มหากัป

ทุติยฌาณภูมิ3 (ฉบับกรุงศรี)

ชั้นที่ 4 ปริตรตาภาภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีรัศมีน้อยกว่าชั้นพรหมที่สูงกว่าตน พรหมโลกชั้นที่ 4 ปริตรตาภาภูมิ ที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลายผู้มีรัศมีน้อยกว่าพระพรหมที่มีศักดิ์สูงกว่าตน ได้เจริญภาวนากรรมบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ทุติยฌาน ขั้นปริตตะ คือ ขั้นสามัญมาแล้ว มีอายุแห่งพรหมประมาณ 2 มหากัป มีท้าวจตุรพักตร์หรือธาดาพรหม เป็นพรหมบดี

ชั้นที่ 5 อัปปมาณาภาภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีรัศมีรุ่งเรืองหาประมาณมิได้ พรหมโลกชั้นที่ 5 อัปปมาณาภาภูมิ ที่อยู่ของพระพรหม ผู้มีรัศมีรุ่งเรืองมากมายหาประมาณมิได้ เคยเจริญภาวนาการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ทุติยฌาน ขั้นมัชฌิมะ คือขั้นปานกลางมาแล้ว มีอายุแห่งพรหมประมาณ 4 มหากัป มีท้าวมหาอัฐปาลพรหม เป็นพรหมบดี

ชั้นที่ 6 อาภัสราภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีรัศมีเป็นประกายรุ่งเรือง พรหมโลกชั้นที่ 6 อาภัสสราภูมิ เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญ สมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ทุติยฌาน ขั้นปณีตะ คือ ประณีตสูงสุดมาแล้ว มีอายุแห่งพรหมประมาณ 8 มหากัป มีท้าวมาลีวราช เป็นพรหมบดี

"...ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังว่า เทวดาชั้นอาภัสสรา มีอายุยืน มีวรรณะมากด้วยความสุข เธอมีความ ปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เราเมื่อตายไปแล้วพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นอาภัสสรา เถิด เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้ว อย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้มรรค นี้ปฏิปทา เป็นไปเพื่อความสำเร็จในความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น อาภัสสรา ฯ..." (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๑๗๖ ข้อที่ ๗๒๖)

ชั้นที่ 7 ปริตตสุภาภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีรัศมีสง่างามน้อยกว่าชั้นพรหมที่สูงกว่าตน พรหมโลกชั้นที่ 7 ปริตตสุภาภูมิ ที่อยู่ของพระพรหม ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมีเป็นส่วนน้อย คือน้อยกว่าพระพรหมในพรหมโลกที่สูงกว่าตนนั่นเอง ได้เคยเจริญภาวนากรรม บำเพ็ญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุตติยฌาน ขั้นปริตตะ คือขั้นสามัญมาแล้วทั้งสิ้น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 16 มหากัป

ชั้นที่ 8 อัปปมาณสุภาภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้รัศมีสง่างามหาประมาณมิได้ พรหมโลกชั้นที่ 8 อัปปมาณสุภาภูมิ ที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมีมากมายไม่มี ประมาณ สง่าสวยงามแห่งรัศมีซึ่งซ่านออกจากกายตัว มากมายสุดประมาณได้เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ตติยฌาน ขั้นมัชฌิมะ คือขั้นปานกลางมาแล้วทั้งสิ้น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 32 มหากัป

ชั้นที่ 9 สุภกิณหาภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีรัศมีสง่างามสุกปลั่งทั่วสรรพางค์กาย พรหมโลกชั้นที่ 9 สุภกิณหาภูมิ ที่อยู่ของพระพรหม ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมี ที่ออกสลับ ปะปนกันอยู่เสมอเป็นนิตย์ ทรงรัศมีนานาพรรณ เป็นที่น่าเพ่งพิศทัศนาได้เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ตติยฌาน ขั้นปณีตะ คือขั้นประณีตสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 64 มหากัป

"....ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่า หนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพสุภกิณหกะ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๔...." (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๑๗๘ ข้อที่ ๔๘๐)

ชั้นที่ 10 เวหัปผลาภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้รับผลแห่งฌานอันไพบูลย์ พรหมโลกชั้นที่ 10 เวหัปผลาภูมิ เป็นที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลาย ผู้ได้รับผลแห่งฌานกุศลอย่างไพบูลย์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 500 มหากัป

อนึ่งผลแห่งฌานกุศล ที่ส่งให้ไปอุบัติเกิดในพรหมโลก 9 ชั้นแรกนั้น ไม่เรียกว่า มีผลไพบูลย์เต็มที่ ทั้งนี้ก็โดยมี เหตุผลตามสภาวธรรมที่เป็นจริง ดังต่อไปนี้

  • เมื่อคราวโลกถูกทำลายด้วยไฟนั้น พรหมภูมิ 3 ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปด้วย
  • เมื่อคราวโลกถูกทำลายด้วยน้ำนั้น พรหมภูมิ 6 ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปด้วย
  • เมื่อคราวโลกถูกทำลายด้วยลมนั้น พรหมภูมิทั้ง 9 ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปไม่มีเหลือเลย

ชั้นที่ 11 อสัญญีสัตตาภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้หาสัญญามิได้ (คือมีแต่รูป) พรหมโลกชั้นที่ 11 อสัญญีสัตตาภูมิ เป็นที่อยู่ของพระพรหมผู้อุบัติเกิดด้วยอำนาจแห่งสัญญาวิราคภาวนา เสวยสุขอัน ประณีตนักหนา เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้สำเร็จจตุตถฌาน อันเป็นรูปฌานขั้นสูงสุดสถิตย์อยู่ในปราสาท แก้ววิมานอันมโหฬารกว้างขวาง มีบุปผชาติประดับประดาเรียบ ไม่รู้แห้งเหี่ยว มีหน้าตาสวยสง่าอุปมาดังรูปพระปฏิมากรพุทธรูปทองคำขัดสี แต่มีอิริยาบถไม่เหมือนกัน บางองค์นั่ง บางองค์นอน บางองค์ยืน มีอิริยาบถใดก็ เป็นอย่างนั้นตลอดไป ไม่เคลื่อนไหว จักษุทั้งสองก็มิได้กะพริบเลย สถิตย์เสวยสุขเป็นประดุจรูปปั้น อยู่อย่างนั้นชั่วกาล มีอายุแห่งพรหมประมาณ 500 มหากัป

อวิหาสุทธาวาส อตัปปาสุทธาวาส

สุทธาวาส

[แก้]

ชั้นนี้เป็นที่เกิดของพระอนาคามี

ชั้นที่ 12 อวิหาสุทธาวาสภูมิ ( *ผู้ได้สมาบัติที่ 9 ไม่ใช่ตติยมรรค )

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ไม่เสื่อมคลายในสมบัติแห่งตน สูงขึ้นไปจากอสัญญีสัตตาภูมิประมาณ 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามีอริยบุคคลที่ไม่ละทิ้งสมบัติ เป็นผู้มีวาสนาบารมี กิเลสธุลีเหลือติดอยู่ในจิตสันดานน้อยมาก ด้วยได้เคยเป็นสาวกแห่งพระพุทธองค์ พบพระบวรพุทธศาสนาแล้วมีปกติเห็นภัยในวัฏสงสาร อุตสาหะจำเริญ วิปัสสนากรรมฐาน จนยังตติยมรรคให้ เกิดในขันธสันดานได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลจะสถิตย์อยู่จนอายุครบกำหนด ไม่จุติเสียก่อน ต่างจากพระพรหมในสุทธาวาสภูมิที่เหลืออยู่อีก 4 ภูมิ คือพระพรหมในอีก 4 สุทธาวาสภูมิที่เหลือ ซึ่งอาจมีการจุติหรือนิพพานเสียก่อนอายุครบกำหนด มีอายุแห่งพรหมประมาณ 1000 มหากัป

ชั้นที่ 13 อตัปปาสุทธาวาสภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร สูงขึ้นไปต่อจากอวิหาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี ผู้ละซึ่งเป็นกิเลสอันทำให้ จิตเดือดร้อน ทั้งทางกาย วาจาและใจเลย ย่อมเข้าฌานสมาบัติ หรือผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมซึ่งเป็นกิเลสอันทำให้ จิตเดือดร้อนไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ฉะนั้นจิตใจของท่านเหล่านั้นจึงมีแต่สงบเยือกเย็นได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีวิริยินทรีย์ คือมี วิริยะแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 2000 มหากัป

สุทัสสาสุทธาวาส สุทัสสีสุทธาวาส

ชั้นที่ 14 สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีความเห็น (สภาวธรรม) อย่างแจ่มแจ้ง สูงขึ้นไปต่อจากอตัปปาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี ผู้มีความแจ่มใส สามารถเห็นสภาวธรรมได้โดยแจ้งชัดเพราะบริบูรณ์ ด้วยประสาทจักษุ ทิพพจักษุ ธัมมจักษุและปัญญาจักษุ จึงเห็นสภาวธรรมได้แจ่มใส ชัดเจน ท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยัง ตติยมรรคให้บังเกิดในขันธสันดาน ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีสตินทรีย์ คือมี สติแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 4000 มหากัป

ชั้นที่ 15 สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีความเห็น (สภาวธรรม) อย่างแจ่มแจ้งยิ่ง สูงขึ้นไปต่อจากสุทัสสาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใสมากกว่า มีประสาทจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ ทั้ง 3 นี้มีกำลังแก่ กล้ากว่าพระพรหมในสุทัสสาสุทธาวาสภูมิ ทำให้ท่านมีความเห็นในสภาวธรรมได้ชัดเจนแจ่มใสยิ่ง ท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยังตติยมรรค ให้บังเกิดในขันธสันดานได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล และในขณะที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มี สมาธินทรีย์ คือมีสมาธิแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 8000 มหากัป

ทุสสะเจดีย์ ชั้นอกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ

ชั้นที่ 16 อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ

[แก้]

ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ทรงคุณพิเศษไม่มีใครเป็นรอง สูงขึ้นไปต่อจากสุทัสสีสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีวาสนาบารมี มีกิเลสธุลีเหลือติดอยู่น้อยนักหนาโดยท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยัง ตติยมรรคให้บังเกิดในขันธสันดาน ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญินทรีย์ คือมี ปัญญาแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น ฉะนั้น ท่านพระพรหมอนาคามีบุคคลที่อุบัติเกิดในอกนิฏฐพรหมโลกนี้ จึงมีคุณสมบัติวิเศษยิ่งกว่า บรรดาพระพรหมทั้งสิ้นในพรหมโลกทั้งหลายรวมทั้งสุทธาวาสพรหมทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้ว มีอายุแห่งพรหมประมาณ 16000 มหากัป

พรหมโลกนี้ มีพระเจดีย์เจ้าองค์สำคัญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นพรหมโลกที่เคารพนับถือพระบวรพุทธศาสนา องค์หนึ่งมีนามว่า ทุสสะเจดีย์ ซึ่งเป็นที่บรรจุผ้าขาวของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จออกผนวช โดยพระพรหมทั้งหลายได้นำบริขารและไตรจีวรลงมาถวาย และพระองค์ได้ถอดผ้าขาวที่ทรงอยู่ยื่นให้ พระพรหมจึงรับเอาและนำมาบรรจุไว้ยังเจดีย์ที่นฤมิตขึ้นนี้ และเป็นที่สักการบูชาของพระพรหมทั้งหลายในปัจจุบัน

พระพรหมอนาคามีทั้งหลายในสุทธาวาสพรหมแรกทั้ง 4 หากยังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และละสังขารเข้าสู่นิพพาน พอสิ้นพรหมายุขัย ก็ต้องจุติจากสุทธาวาสพรหมภูมิที่ตนสถิตอยู่มาอุบัติในชั้นที่ 16 นี้ เพื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานโดยทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมภูมินี้ เป็นพรหมภูมิที่มีศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ อย่างประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าพรหมโลกชั้นอื่นๆ ทั้งหมด

อรูปพรหม

[แก้]

อรูปพรหม หรือ อรูปาวจรภูมิ สมัยที่โลกยังว่างจากพระพุทธศาสนา บรรดาโยคี ฤๅษี ชีไพรดาบส ที่บำเพ็ญตบะเดชะภาวนา รำพึงว่าอันว่าตัวตน กล่าวคืออัตภาพร่างกายนี้ไม่ดีเป็นนักหนา กอปรไปด้วย ทุกข์โทษหาประมาณมิได้ ควรที่ตูจะปรารถนากระทำตัว ให้หายไปเสียเถิด แล้วก็เกิดความพอใจเป็นนักหนา ในภาวะที่ไม่มีตัวตนไม่มีรูปกาย ปรารถนาอยู่แต่ในความไม่มีรูป

อรูปภูมิมี 4 ชั้น คือ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ พรหมในชั้นนี้ไม่มีรูปร่าง มีแต่จิตเจตสิก เพราะเห็นว่าหากมีร่างกายอยู่นั้นจะมีแต่โทษ อาจจะไปทำร้ายซึ่งกันและกันได้ จึงบริกรรมด้วยความว่างเปล่า ยึดเอาอากาศซึ่งเป็นความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ จนได้ฌานที่มีอากาศเป็นอารมณ์เรียกว่า อากาสานัญจายตนภูมิ ซึ่งมีอายุอยู่ได้สองหมื่นกัปป์ จากนั้นก็อาจภาวนาเพื่อจะได้ไปอยู่ในพรหมโลกขั้นสูงต่อไปอีกได้ อายุของพรหมเหล่านี้จะยืนอยู่ได้สี่หมื่น หกหมื่น และแปดหมื่นสี่พันกัปป์ ตามลำดับ

อรูปพรหม (ฉบับกรุงธน)

ชั้นที่ 17 อากาสานัญจายตนภูมิ

[แก้]

ชั้นที่ทรงอากาศไม่มีที่สิ้นสุด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึดเอา อากาศ เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งอยู่แห่งพระพรหม ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยอากาสบัญญัติ ไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ตั้งอยู่พ้นจากอกนิฏฐสุทธาวาสพรหมโลกไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 20000 มหากัป

ชั้นที่ 18 วิญญาณัญจายตนภูมิ

[แก้]

ชั้นที่ทรงภาวะวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึด วิญญาณ เป็นอารมณ์ พ้นจากอากาสานัญจายตนภูมิขึ้นไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ วิญญาณัญจายตนภูมิ เป็นที่อยู่ แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย วิญญาณบัญญัติ พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป และปฏิสนธิด้วยวิญญาณัญจายตนวิบากจิต มีอายุแห่งพรหมประมาณ 40000 มหากัป

ชั้นที่ 19 อากิญจัญญายตนภูมิ

[แก้]

ชั้นที่ทรงภาวะไม่มีอะไรเลย ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึดเอาความไม่มีอะไรเลย เป็นอารมณ์ เป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย นัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป และปฏิสนธิด้วยอากิญจัญญายตนวิบากจิตพ้นจากวิญญานัญจายตนภูมิขึ้นไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 60000 มหากัป

ชั้นที่ 20 เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

[แก้]

ชั้นที่ทรงภาวะที่มีสัญญาไม่ปรากฏชัด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้เข้าถึงภาวะมี สัญญา ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ (ในทัศนะนี้แปลว่า ยังไม่หมด ยังมีอยู่ แต่ไม่มาก ไม่ยึดมั่นเหมือนปถุชนทั่วไป) เป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้เกิดจากฌานที่อาศัย ความประณีตเป็นอย่างยิ่ง พระพรหมวิเศษแต่ละองค์ในชั้นสูงสุดนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้สำเร็จยอดแห่งอรูปฌาน คืออรูปฌานที่ 4 มาแล้ว มีอายุยืนนานเป็นที่สุดด้วยอำนาจแห่ง อรูปฌานกุศลอันสูงสุดที่ตนได้บำเพ็ญมา เพราะเหตุที่ตนปฏิสนธิด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิตทั้ง อยู่พ้นจากอากิญจัญญายตนภูมิขึ้นไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 84000 มหากัป

ผู้ที่เกิดเป็นอรูปพรหมนั้นไม่มีรูปขันธ์ 1 มีเพียงนามขันธ์ 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จึงไม่มีอวัยวะร่างกายใดๆ แต่มีความรู้สึกนึกคิดในฝ่ายนามธรรม (มีผู้บรรยายว่า สภาวะของอรูปภพ มีทั้งข้อดีกับข้อเสีย ข้อดีก็คือจะไม่มีอายตนะห้าประการคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายมากระทบหรือไม่รับรู้อะไร มีแต่จิตเจตสิกที่รับอากาศเป็นอารมณ์รับรู้ ไม่ได้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่แต่อาศัยปลีกวิเวก และอยู่เสวยสุขได้นานหลายกัปจนนับประมาณไม่ได้ แต่ข้อเสียก็คือจะไม่สามารถสื่อสารกับใครหรือพบเห็นอะไรเลย นอกจากนั้นจะไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลยตอนที่ยังเป็นอรูปพรหมเพราะไม่มีอายตนะห้าประการเป็นตัวรับรู้ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน (แต่มีปรากฏในหลักฐานปริยัติว่า ผู้ที่ได้ถึงพระนิพพานในลำดับแรก คือ โสดาปัตติผล สามารถเจริญวิปัสสนาต่อในอรูปภพต่อจนถึงความเป็นพระอรหัตผลได้)) นอกจากนั้นเมื่อได้สิ้นกาลอายุขัยก็จะต้องลงไปเกิดในกามาวจรภูมิ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่จบไม่สิ้นอีกครั้งด้วยอำนาจกิเลส ในอรูปภพนี้ไม่มีปรากฏในหลักฐานทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดจะเสด็จขึ้นมาโปรดเหล่าอรูปพรหมที่อรูปาวจรภูมินี้เลย เรื่องนี้มีกล่าวไว้ในพุทธประวัติว่า อสิตดาบสได้ทำนายเจ้าชายสิทธัตถะกุมารว่าเมื่อเจริญวัยก็จะเสด็จออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ดีใจ แต่ก็คิดได้ว่าตัวเองชราภาพมากก็คงไม่ได้มีโอกาสได้อยู่ดูและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แม้จะละสังขารไปเกิดเป็นอรูปพหรมก็ไม่สามารถฟังธรรมได้เลยจึงร้องไห้ หรือหลังจากพระพุทธเจ้าได้ตัดสินพระทัยว่าจะแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ก็ทรงระลึกถึงอุทกดาบสและอาฬารดาบสผู้เคยเป็นพระอาจารย์สอนวิชาสมาบัติแก่พระพุทธองค์ ที่สามารถจะเข้าใจฟังธรรมได้แต่ก็น่าเสียดาย เพราะดาบสทั้งสองก็ได้ละสังขารไปเกิดเป็นอรูปพรหม พระพุทธองค์ก็ไม่สามารถไปโปรดดาบสทั้งสองได้เลย

อ้างอิง

[แก้]
  • นิตย์ จารุศร (รวบรวม และ เรียบเรียง). สารธรรม. กรุงเทพฯ : เหรียญบุญ การพิมพ์, 2547.
  • พระพานิช ญาณชีโว. ไตรภูมิพระร่วง (ฉบับย่อความ) . กรุงเทพฯ : ตรงหัว, 2539.
  • เสฐียรโกเศศ. ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ในพญาลิไทย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2545.
  • เสฐียรโกเศศ. เล่าเรื่องในไตรภูมิ. ธนบุรี : โรงพิมพ์อักษรเพชรเกษม, 2512.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]